วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2566

แม็คโคร - โลตัส จับมือ กรมการค้าภายใน ผนึกกำลังช่วยชาวสวนไทย รับซื้อผลไม้ตามฤดูกาลกว่า 54 ล้านกิโลกรัม สร้างเม็ดเงินสู่เกษตรกรกว่า 2,200 ล้านบาท


 


            แม็คโคร - โลตัส ขานรับนโยบาย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รวมพลังสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาด โดยปี 2566 นี้ ตั้งเป้าหมายการรับซื้อรวมกันกว่า 54 ล้านกิโลกรัม หรือ 54,000 ตัน กระจายผ่านสาขาของแม็คโครและโลตัส กว่า 2,800 แห่งทั่วไทย รวมถึงช่องทางออนไลน์ คาดสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 2,200 ล้านบาท พร้อมจับมือกันกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รับการท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยมี นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้เกียรติเปิดงาน



นายสมนึก ยอดดำเนิน ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารสินค้าอาหารสด แม็คโคร กล่าวว่า แม็คโครและโลตัส ได้ผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น มะม่วง เงาะ ลำไย มังคุด ลิ้นจี่  ทุเรียน ลองกอง สละ ฯลฯ  โดยทั้งแม็คโคร และโลตัส เป็นช่องทางกระจายสินค้าให้กับเกษตรกรได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี สำหรับปีนี้แม็คโคร ได้วางแผนการรับซื้อผลไม้ฤดูกาลกว่า 36 ล้านกิโลกรัม หรือ 36,000 ตัน เพิ่มขึ้น 20 % จากปีก่อน พร้อมจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายต่อเนื่องทุกเดือน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Amazing Thai Taste ตั้งแต่ เมษายน – สิงหาคม เพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องกับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่มีความต้องการวัตถุดิบไปใช้ในการสร้างสรรค์เมนู รับกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังคึกคัก ตามนโยบาย ‘แม็คโคร เคียงข้างเกษตรกรไทย’ ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนาและสร้างโอกาสการเติบโตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน



ด้าน นางสาวจิราภรณ์ เลาหะรัตนะวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสดและอาหารพร้อมปรุงพร้อมทาน โลตัส กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ โลตัสได้วางแผนการรับซื้อผลไม้จากชาวสวนตลอดทั้งปี ประมาณ 18 ล้านกิโลกรัม หรือ 18,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 20 % เช่นกัน โดยจะกระจายสินค้าไปยังทุกสาขาทั่วประเทศและช่องทางออนไลน์ ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับว่าเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของธุรกิจเพื่อช่วยเกษตรกรไทยระบายผลผลิตสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนคนไทยได้บริโภคผลไม้คุณภาพดีแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรอีกด้วย





สำหรับความร่วมมือระหว่าง แม็คโคร - โลตัส และ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในครั้งนี้ จะช่วยระบายผลไม้ตามฤดูกาลให้เกษตรกรชาวสวนมากกว่า 101,850 ราย เพื่อลดปัญหาผลิตล้นตลาดหรือราคาตกต่ำ ซึ่งผลไม้ยอดนิยมของไทย อาทิ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด สละ นอกจากจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ผลไม้ไทยเหล่านี้ ยังถือเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งการกระจายผลไม้คุณภาพจากเกษตรกรไทย ไปยังสาขาต่างๆ ของทั้งแม็คโครและโลตัสทั่วประเทศ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคัก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว ที่คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 1.25 แสนล้านบาทด้วย

วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566

ทส. เปิดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” รำลึกและสืบสานพระราชปณิธานร่วมดูแล รักษา ปกป้องน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืน



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จัดงาน “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” ภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากร  น้ำบาดาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวันที่ 3 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันน้ำบาดาลแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศ



วันที่ 3 เมษายน 2566 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดา กรุงเทพฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายน้ำบาดาล รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า น้ำบาดาล มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จากข้อมูลแหล่งน้ำบาดาลในประเทศไทยมีแอ่งน้ำบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 27 แอ่ง รวมปริมาณน้ำบาดาลกว่า 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ถือได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลปริมาณมากเพียงพอ สามารถนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ตอบสนองความต้องการใช้น้ำบาดาลของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 


นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล   ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล และบริหารจัดการน้ำบาดาล ได้กำหนดนโยบายจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี โดยวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวันน้ำบาดาลแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศ อาทิ การนำเสนอนิทรรศการด้านน้ำบาดาล การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การเสวนาทางวิชาการ และการบรรยายผลงานวิชาการด้านน้ำบาดาล

สำหรับผลการตัดสินเพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น 4 ประเภท มีดังนี้

1) ประเภทสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในพื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 10,000,001 บาท ขึ้นไป ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 5,000,000-10,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 2,000,000-5,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตราด

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล น้อยกว่า 2,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล

2) ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่

​​- โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

​​- โครงการศึกษานำร่องรูปแบบระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำในพื้นที่ขอบแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง ตำบลทะเลวังวัด อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ตำบลโบสถ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ (โครงการตามมาตรการสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่หาน้ำยาก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

​​- โครงการศึกษาพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝน ปี 2563 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลหนองเป็ด อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ตำบลเขามีเกียรติ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

3) ประเภทกลุ่มผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลภาคเอกชน จำนวน 3 บริษัท

​​- ธุรกิจขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต ตั้งแต่ 5,000 ลบ.ม./วัน ขึ้นไป ได้แก่ บริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด

​​- ธุรกิจขนาดกลาง มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต ตั้งแต่ 1,000 ถึง 5,000 ลบ.ม./วัน ได้แก่ บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด

​​- ธุรกิจขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม./วัน ได้แก่ บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด

4) ประเภทช่างเจาะน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจำนวน 12 ราย ได้แก่ นายทองสุข คานจันทึก ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4/หัวหน้า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 (ลำปาง)นายสุธินทร์ ศรีจันทร์ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)นายปรีชา สีหอม ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) นายวิชัย หาญรบ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4/หัวหน้า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 (ขอนแก่น) นายเกียรติศักดิ์ ไกรมณี ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 (นครราชสีมา)นายทวิชัย จันทร์เลื่อน ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 (ตรัง) นายมงคล บุญสืบ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 (กำแพงเพชร) นายไชยา วงษ์เอี่ยม ช่างเจาะบ่อบาดาล ช3 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) นายเสน่ห์ แก้วคำมี ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 (ระยอง) นายประจักษ์ พิมสะกะ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 (อุดรธานี) นายคมเพชรรัตน์ พันธ์พิบูลย์ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) และนายนิพัฒนะสุวรรณโน ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 (สงขลา)



ส่วนในช่วงของการเสวนา เรื่อง บทบาทของน้ำบาดาลในการพัฒนาประเทศและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ หัวหน้าสำนักงานผู้เชี่ยวชาญ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นางศศิพร ปานิกบุตร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขาธิการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อดีตคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม และนายศศิน เฉลิมลาภประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยในภาคบ่ายเป็นการบรรยายเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการน้ำบาดาลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...