วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมปศุสัตว์โชว์ศักยภาพผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งสุกรในฟาร์มเกษตรกรให้ลูกต่อครอกสูงสุด 15 ตัว


         นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนางานวิจัยต่อยอดนำไปใช้จริงในฟาร์มเกษตรกร จากโครงการพัฒนาเทคนิคการผลิตน้ำเชื้อสุกรแบบแช่แข็งเพื่อการผสมเทียมและโครงการวิจัยผลของตำแหน่งการผสมเทียมและความเข้มข้นของน้ำเชื้อแช่แข็งต่ออัตราการผสมติดในสุกรที่ได้รับงบประมาณคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้ง 2 โครงการ

 โดยน้ำเชื้อแช่แข็งสุกรที่ผลิตได้นั้นมีอัตราการเคลื่อนที่หลังทำละลายเฉลี่ยร้อยละ 40 และ สูงสุดถึงร้อยละ 80 ในสุกรบางพ่อและบางสายพันธุ์ ซึ่งคณะผู้วิจัยได้นำมาต่อยอดโดยการพัฒนาเทคนิคการผสมเทียมให้เหมาะสมกับการใช้งานของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ 

       ในเบื้องต้นได้มีการนำไปผสมเทียมในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อย โดยนำน้ำเชื้อพ่อสุกรพันธุ์แท้ผสมกับแม่สุกรพันธุ์แท้ของเกษตรกรโดยใช้เดือยสอดแบบปกติและเดือยสอดแบบลึก ในเบื้องต้นให้จำนวนลูกต่อครอกในการผสมเดือยสอดแบบลึกถึง 15 ตัว และลูกสุกรที่เกิดมามีขนาดใกล้เคียงกันน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรที่ได้รับการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

        อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ จะมีการพัฒนาเทคนิคการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งสุกร และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงวิธีการผสมให้มีความเหมาะสมแก่การใช้งานในพื้นที่บริการต่างๆต่อไป เพื่อจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย หรือนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างพันธุ์สุกรต่อไปได้ หากเกษตรกรรายใดสนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-9679739 สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562

มก.วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เก็บเกี่ยวดอกกัญชาล็อตแรก

          มก.วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เก็บเกี่ยวดอกกัญชาล็อตแรก เผยคุณภาพสมบูรณ์ดี พร้อมนำไปผลิตยาแผนไทย 7 ตำรับ 

        ดร.ณธกร ทัศนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาและพืชเสพติดสมุนไพรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินโครงการว่า การปลูกกัญชาในรอบแรกนี้ได้ถูกวางแผนเพื่อให้ได้วัตถุดิบสำคัญ 4 ส่วนคือ ดอก ใบ ก้านใบและราก นับตั้งแต่เพาะเมล็ดเมื่อวันที่ 6 กันยายน จนถึงวันนี้รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ต้นกัญชามีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ดี 

         ดอกกัญชามีลักษณะที่พร้อมเก็บเกี่ยวตามความต้องการของตำรับยาแผนไทยคือเกสร (Pistil) เปลี่ยนจากสีขาวใสเป็นสีน้ำตาลมากกว่า 50% ทีมงานเก็บเกี่ยวดอกกัญชาล็อตแรก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 จำนวน 99 ต้น มีน้ำหนักสดรวม 103 กก.พร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนไทยต่อไป
      ดร.หทัยรัตน์  โชคทวีพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายของพืชคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์กัญชาที่ปลูก ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ในล็อตนี้ ประกอบด้วยกัญชาสายพันธุ์หางกระรอกและสายพันธุ์หางเสือ ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์มีทั้งดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกกะเทย โดยต้นที่ปรากฏดอกเพศผู้ และดอกกะเทยได้ถูกกำจัดไปแล้ว เนื่องจากทางทีมผลิตต้องการช่อดอกเพศเมียที่ไม่ถูกผสมเกสร เป็นวัตถุดิบส่งให้แก่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เนื่องจากมีรายงานว่าช่อดอกเพศเมียมีการสะสมของสารสำคัญมากกว่าดอกเพศผู้และกะเทย ทั้งนี้กัญชาสายพันธุ์หางกระรอก และสายพันธุ์หางเสือ มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่ใกล้เคียงกัน และความสูงไม่แตกต่างกัน แต่สามารถจำแนกได้โดยใช้ลักษณะช่อดอก คือ กัญชาสายพันธุ์หางกระรอก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก เรียงชิดและอัดกันแน่นเป็นช่อดอกขนาดใหญ่ หากเมื่อสัมผัสช่อดอกจะได้กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะม่วง ในขณะที่กัญชาสายพันธุ์หางเสือ ประกอบด้วยดอกย่อย เรียงชิดกัน แต่กระจายเป็นหย่อมๆ ตามก้านช่อดอก ส่วนปลายจะอัดกันแน่น และหากเมื่อสัมผัสช่อดอกจะได้กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นเลม่อน อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการที่จะพัฒนาเทคนิคทางเครื่องหมายโมเลกุล เพื่อช่วยในการจัดจำแนกกัญชาทั้งสองสายพันธุ์ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

      ในส่วนของโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร โดย พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ กล่าวว่า สำหรับวัตถุดิบช่อดอกกัญชาที่ได้รับไปในวันนี้จำนวนทั้งสิ้น 103 กิโลกรัมนั้น จะถูกนำไปคัดแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นช่อดอก หรือ กะหลี่กัญชา และนำไปแปรรูปโดยวิธีการพึ่งแดดให้แห้ง ก่อนจะนำไปทำการสะตุและนำไปเข้าตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชาจำนวน 7 ตำรับที่โรงพยาบาลจะดำเนินการผลิตจากวัตถุดิบล๊อตนี้ได้แก่ ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาไฟอาวุธ ตำรับยาอัมฤตยโอสถ ตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูงและตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ นอกจากนี้ พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า จากการที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้นำวัตถุดิบประเภทใบกัญชาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปผลิตตำรับยาศุขไสยาศน์เพื่อให้บริการกับผู้ป่วยนั้นพบว่าผลการตรวจวัตถุดิบใบกัญชาดังกล่าวไม่มียาฆ่าแมลง โลหะหนักหรือเชื้อจุลชีพที่เป็นอันตรายปนเปื้อนแต่อย่างใด รวมทั้งผลการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับยาศุขไสยาศน์ ก็มีผลการรักษาที่ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ


CR. งานประชาสัมพันธ์ มก.ฉกส.
นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / 27 ธันวาคม 2562

กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดแหล่งท่องเที่ยว 21 แห่ง ส่งสุขปีใหม่ให้บริการเกษตรกรและประชาชน ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น

            กรมส่งเสริมการเกษตรส่งสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกรและประชาชน พร้อมเปิดให้บริการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของศูนย์ปฏิบัติการในสังกัด 21 แห่ง เชิญชวนท่องเที่ยวฟรี!!! 28 ธ.ค. 2562 – 5 ม.ค. 2563 นี้ 

            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดได้ดำเนินการโครงการส่งความสุขปีใหม่ มอบให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความสุขให้กับคนในชาติด้วยการดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างความสุข กระตุ้นการใช้จ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน

            ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการที่เป็นแหล่งเรียนรู้และมีความพร้อมให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนเข้าชมและเรียนรู้ฟรีในช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย 

            • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จังหวัดกาญจนบุรี, ดอยผาหม่นและดอยตุง จังหวัดเชียงราย, จังหวัดพะเยา, จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดลำพูน 

            • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พืชสวน) จังหวัดกระบี่, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสมุทรสาคร
            • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ผึ้ง) จังหวัดจันทบุรี

            • ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 
            • ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน, ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี

             ขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ารับบริการความสุขได้ฟรี!!! ตามสถานที่ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2562 – 5 มกราคม 2563 หรือสนใจข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอื่นๆ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS 

“แพะ” เลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ ราคาดี ตลาดต้องการต่อเนื่อง “สมานฟาร์ม”เขาบอกมา (เปิดดูคลิปที่ลิงค์ด้านล่าง)

          กรมปศุสัตว์ได้มีการสำรวจพบว่า มีแพะรวม 832,533 ตัว เกษตรกร 65,850 ครัวเรือน โดยในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีแพะเพิ่มขึ้น 387,759 ตัว เกษตรกรเพิ่มขึ้น 27,197 ราย ซึ่งกรมปศุสัตว์มีแผนงานโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะ โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ ตั้งแต่ปี 2552 จากการประมาณการพบว่าจำนวนแพะที่ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณปีละ 377,000 ตัว โดยมีการส่งออกเแพะไปยังตลาดมาเลเชีย ประมาณ 100,000 ตัว/ปี ตลาดลาว และเวียดนาม ประมาณ 40,000 ตัว/ปี นอกจากนั้น มีการนำเข้าแพะจากประเทศพม่า จำนวน 39,231 ตัว/ปี ซึ่งสรุปภาพรวมการผลิตแพะในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ประกาศ !!เปิดคลีนิกกัญชาทางการแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุข 6 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า จะดำเนินเปิดคลีนิกกัญชาทางการแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุข 6  มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยสารสกัดจากกัญชาขอเชิญที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

     ทั้งนี้ได้เชิญ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และ หมอพื้นบ้าน ที่มีความรู้และมีประสบการณ์รักษาผู้ป่วย ด้วยสารสกัดจากกัญชา มาบริการรักษาผู้ป่วย ฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีแพทย์ประจำคลีนิค คือ ศาสตราจารย์นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นพ.ประเสริฐ มงคลศิริ อาจารย์เดชา ศิริภัทร พร้อมด้วยแพทย์แผนไทย อีกหลายท่าน จะมาให้บริการรักษาผู้ป่วย ที่คลีนิคกัญชา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ท่านที่ประสงค์จะใช้บริการ 



      กรุณาจองคิวล่วงหน้า ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ เพราะในช่วงต้นนี้ รับได้วันละ 300 ท่าน เท่านั้น

รมว.เกษตรฯ แถลงแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2563


       นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2563 เพื่อให้สามารถนำไปดำเนินการต่อยอดได้ คือ
         1) การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยได้มีการสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะสามารถสร้างเป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้ โดยเน้นในส่วนของแก้มลิงในบริเวณลุ่มน้ำต่างๆ ที่ได้มีการทำแผนที่สำรวจเอาไว้แล้ว จะมีการเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผันน้ำ จากลุ่มน้ำตะวันตกมาช่วยเหลือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะมีการเพิ่มกำลังในการส่งน้ำจาก 800 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็น 2,000 ล้าน ลบ.ม./ปี เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและรักษาสมดุลระบบนิเวศของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

         2) การส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ จะมีการนำศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมีมาตรการในการ “ลด ละ เลิก” การใช้สารเคมี จะประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด สำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อม ก็จะขอให้ “ละ” การใช้สารเคมี และเป้าหมายสุดท้ายคือการเลิกใช้สารเคมี โดยจะมีการหาและพัฒนาสารชีวภัณฑ์ต่างๆ มาทดแทน รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทนเรื่องแรงงาน เป็นต้น
        3) การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต จากนโยบายที่ดำเนินการมาในปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงได้มีมาตรการในการหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มช่องทางในการขายให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตร Young Smart Farmer ที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็ง เพื่อนำร่องในการปฏิรูปภาคการเกษตร ซึ่งจะมีหน่วยงานเข้าไปแนะนำตลาด ในเรื่องออนไลน์ อาทิ การร่วมมือกับ LAZADA Thailand ในการจัดอบรมการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ การขายสินค้าเกษตรโดยตรง รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และจะ KICK OFF โครงการในเดือนมกราคม 2563 และหลังจากนั้นจะดำเนินการในทุกภาคของประเทศไทย เพื่อดำเนินการส่งเสริมและขยายตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกร

        4) การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต ได้มีการตั้งคณะกรรมการการปรับปรุงปุ๋ย การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการคือการลดต้นทุนในส่วนของค่าปุ๋ยลง 30% แต่ถ้าเกษตรกรมีความพร้อมในการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ ทั้งปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ ทางภาครัฐก็พร้อมเข้าไปส่งเสริม ให้ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาการจัดส่งสินค้า (ระบบโลจิสติกส์) เพื่อลดการใช้จ่ายในการลดค่าขนส่งทุกประเภท ซึ่งมีการเจรจาทั้ง Kerry ไปรษณีย์ไทย และการบินไทย ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งดำเนินการ
        5) การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน สำหรับประมงพื้นบ้านได้มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 50,000 กว่าลำ ส่วนประมงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมให้รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินการภายกันเงื่อนไขของ IUU ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้มีของขวัญให้พี่น้องชาวประมง โดยการเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรืออวนลากในอ่าวไทยอีก 30 วัน และในปี 2563 เรือประมงประเภทอื่น ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน (ยกเว้นเรืออวนลาก) จะทำการประมงได้ตลอดทั้งปี โดยกระทำภายใต้การรักษาสมดุลการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและภายใต้เงื่อนไขของ IUU
       6) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการที่จะส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร ทั้งการจ้างงานของกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในขณะที่ไม่สามารถทำการเกษตรตามปกติได้ อีกทั้งจะมีการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำทั่วประเทศ โดยเตรียมพันธุ์ปลา พันธ์กุ้งไว้ประมาณ 550 ล้านตัว และจะใช้เวลา 4 – 6 เดือน ทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถจับไปบริโภค หรือจับไปขาย เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความต้องการของตลาด ได้แก่ โค กระบือ แพะ และการแจกที่ดินทำกิน (ส.ป.ก.) ให้แก่เกษตรกรด้วย
       7) การตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC) โดยจะมีการตั้งศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (Big data) เป็นการเชื่อมโยงกับ 10 หน่วยงานหลัก ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ การตรวจสอบศักยภาพพื้นที่โดยใช้ Agri-Map เพื่อจัดทำ Zoning เป็นต้น

เกษตรฯ จัดงาน Field Day ส่งความสุขปีใหม่ให้เกษตรกรก่อนเริ่มฤดูกาลผลิต ปี 2563


            กรมส่งเสริมการเกษตรส่งสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกร จัดงาน Field Day ตลอดปี 2563 เชิญชวนเกษตรกรร่วมเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้เริ่มต้นฤดูกาลผลิตที่จะมาถึงนี้ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ฟรี!!! 

            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรจึงได้ดำเนินการโครงการส่งความสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกรตลอดปี 2563 โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างความสุขให้กับคนในชาติด้วยการดำเนินกิจกรรมสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน 
            กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มีบทบาทภารกิจในการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกรและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน จึงได้กำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 แห่งและเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ได้วิเคราะห์ปัญหา และมีฐานเรียนรู้ ซึ่งจะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจ ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด แหล่งข้อมูลความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น

            สำหรับแผนการเปิดงาน Field Day 19 จุดหลัก โดยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 16 ธ.ค. 2562 สินค้าหลัก : มะพร้าว ณ ศพก.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เป็นประธาน ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ม.ค. 2563 สินค้าหลัก : ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ศพก.ปง จ.พะเยา โดยมี รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) เป็นประธาน ครั้งที่ 3 วันที่ 16 ม.ค. 2563 สินค้าหลัก : ข้าว ณ ศพก.ละงู จ.สตูล โดยอธิบดีกรมการข้าว ครั้งที่ 4 วันที่ 20 ม.ค. 2563 สินค้าหลัก : จิ้งหรีด ณ ศพก.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยอธิบดีกรมชลประทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 23 ม.ค. 2563 สินค้าหลัก : พริกไทย ณ ศูนย์เครือข่ายแปลงใหญ่พริกไทย อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 6 วันที่ 7 ก.พ. 2563 สินค้าหลัก : ไร่นาสวนผสม ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านหนองแก อ.แก้งคล้อ จ.ชัยภูมิ โดยเลขาธิการ ส.ป.ก. ครั้งที่ 7 วันที่ 12 ก.พ. 2563 สินค้าหลัก : มะม่วงหิมพานต์ ณ ศพก.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โดยอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ครั้งที่ 8 วันที่ 14 ก.พ. 2563 สินค้าหลัก : ไม้ดอก ณ กลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอก อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ครั้งที่ 9 วันที่ 14 ก.พ. 2563 สินค้าหลัก : ลำไย ณ ศูนย์ ศพก.ขยายตำบลน้ำดิบและกลุ่มเกษตรกรลำไยแปลงใหญ่ ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ ครั้งที่ 10 วันที่ 12 มี.ค. 2563 สินค้าหลัก : มะม่วง ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยอธิบดีกรมประมง ครั้งที่ 11 วันที่ 12 มี.ค. 2563 สินค้าหลัก : มันสำปะหลัง ณ ศพก.เครือข่ายมันสำปะหลัง ม.8 ต.เฉลียง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยเลขาธิการ มกอช. ครั้งที่ 12 วันที่ 20 มี.ค. 2563 สินค้าหลัก : ข้าว ณ ศูนย์เครือข่ายนาแปลงใหญ่ ปี 2559 อ.เมือง จ.ยโสธร โดยเลขาธิการ สศก . ครั้งที่ 13 วันที่ 22 เม.ย. 2563 สินค้าหลัก : ข้าว ณ ศพก.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยอธิบดีกรมหม่อนไหม ครั้งที่ 14 วันที่ 7 พ.ค. 2563 สินค้าหลัก : ผลิตภัณฑ์ผึ้งโพรง ณ วสช.เลี้ยงผึ้งโพรงบ้านปังหวาน ศูนย์เรียนรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 15 วันที่ 10 พ.ค. 2563 สินค้าหลัก : ข้าว ณ ศพก.เมือง จ.อุทัยธานี โดยมี รมช.เกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์) เป็นประธาน ครั้งที่ 16 วันที่ 14 พ.ค. 2563 สินค้าหลัก : อ้อย ณ ศพก.หนองม่วง จ.ลพบุรี โดยอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 17 วันที่ 21 พ.ค. 2563 สินค้าหลัก : พืชผัก/เกษตรผสมผสาน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ม.2 ต.ลำภี  อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา โดยอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ครั้งที่ 18 วันที่ 22 พ.ค. 2563 สินค้าหลัก : ข้าว ณ ศพก.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โดยมี รมช.เกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) เป็นประธาน และครั้งที่ 19 วันที่ 18 มิ.ย. 2563 สินค้าหลัก : ลองกอง ณ ศพก.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

            กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรร่วมเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ ในการจัดงาน Field Day แต่ละพื้นที่โดยกิจกรรมหลักจะมีสถานีเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานซึ่งเน้นเนื้อหาและเทคโนโลยีที่จำเป็นในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรได้รับทราบ การให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ นิทรรศการของหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ กลุ่ม/สถาบันเกษตรกร รวมทั้งภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน และกิจกรรมเสริม เช่น การแสดงและจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งต่อความสุขให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563 นี้ 

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สยามคูโบต้า จัดคาราวานลงพื้นที่เหนือ – อีสาน ร่วมกับ กองทัพบก มอบเสื้อกันหนาว 10,000 ตัว ในโครงการ “KUBOTA พลังใจสู้ภัยหนาว”



บนเส้นทาง 20 ปี แห่งการแบ่งปัน บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด สานต่อความห่วงใย ส่งพลังใจความอบอุ่นแด่ผู้ประสบภัยหนาว ในโครงการ “KUBOTA พลังใจสู้ภัยหนาวปีที่ 20 จัดขบวนคาราวานร่วมกับกองทัพบก ลงพื้นที่มอบเสื้อกันหนาวให้แก่พี่น้องชาวไทยในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบภัยหนาว และยังขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มต่อเนื่อง 6 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม รวมทั้งสิ้นจำนวน 10,000 ตัว มูลค่า 4,000,000  บาท

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 41 ปี ของสยามคูโบต้า เราไม่เพียงมุ่งเน้นการเป็นผู้นำนวัตกรรมเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในการรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย ทั้งในด้านการศึกษา เยาวชน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย สำหรับโครงการ “KUBOTA พลังใจสู้ภัยหนาวซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านชุมชนและสังคม ที่จัดมาเป็นปีที่ 20 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยหนาว รวมทั้งสิ้นจำนวน 10,000 ตัว มูลค่า 4,000,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เยาวชน เกษตรกร และผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนปัจจัย ในการดำรงชีพเมื่ออากาศหนาวเย็น

สำหรับปีนี้ สยามคูโบต้ายังเพิ่มกิจกรรมพิเศษ โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้าในพื้นที่ดำเนินกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เพื่อช่วยสร้างสรรค์พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นและ          น่าอยู่ภายใต้ โครงการ คูโบต้าพร้อมโดยทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ มอบอุปกรณ์การเรียน ทำแปลงเกษตรในโรงเรียน สร้างห้องน้ำ ปรับปรุงทัศนียภาพโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยการนำ Soil Mobile Laboratory หรือรถตรวจสอบคุณภาพดินเคลื่อนที่ ภายใต้โครงการคูโบต้า พลิกฟื้น ผืนดิน โดยให้บริการตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัสในดิน พร้อมแนะนำปริมาณการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดินและพืชให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สามารถนำตัวอย่างดินในแปลงเพาะปลูกของตัวเองมาทดสอบคุณภาพ
“เราภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันความอบอุ่น สร้างกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ที่เราได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการนำคณะผู้บริหาร ผู้แทนจำหน่าย และพนักงานสยามคูโบต้าที่มีจิตอาสา ร่วมกับกองทัพบก จัดคาราวานเดินทางไปมอบเสื้อกันหนาว เราจะได้พบกับรอยยิ้มที่สดใส และเสียงหัวเราะของเด็กๆ สะท้อนให้เห็นได้ถึงความสุข และกำลังใจที่ผู้ประสบภัยหนาวทุกคนได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการจัดโครงการ และในปีนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นความสุขของพี่น้องประชาชนและเด็กๆ เหมือนเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือจากกองทัพบกที่เข้ามาให้การสนับสนุนด้วยดีมาตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา สยามคูโบต้าต้องขอขอบคุณกองทัพบก ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือและอยู่เคียงข้างความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด

พลเอกจักรชัย โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 6 ที่กองทัพบกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “KUBOTA พลังใจสู้ภัยหนาวร่วมกับสยามคูโบต้า มอบเสื้อกันหนาวแก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักให้การดูแลพี่น้องประชาชน และให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกโอกาสเมื่อประสบภัยพิบัติตามนโยบายของกองทัพบก ซึ่งมีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่พร้อมดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย สำหรับความร่วมมือกับสยามคูโบต้าในปีนี้ กองทัพบกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และได้เตรียมความพร้อมดำเนินการลำเลียงเสื้อกันหนาวไปแจกจ่ายให้ประชาชนยังพื้นที่เป้าหมายโดยเร็วอย่างเต็มที่

ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิที่ลดลงในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เผชิญกับภัยหนาวรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งกองทัพบกมีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงได้คัดเลือกพื้นที่เสี่ยงภัยหนาว 6 จังหวัด ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารที่ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนยังประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเป็นจำนวนมาก
จากวันแรกของการริเริ่มโครงการจวบจนปีที่ 20 วันนี้สยามคูโบต้าได้บรรเทาความเหน็บหนาวให้พี่น้องประชาชนไปแล้วกว่า 130,000 ราย ด้วยความมุ่งหวังสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ภายใต้นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของสยามคูโบต้าที่มุ่งมั่นตอบแทนสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร และร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้น  

เกษตรฯ ขับเคลื่อนศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั่วประเทศ รณรงค์ผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชู สโลแกน “ปกป้องอนาคต ลดการเผา ลดการชะล้าง ลดต้นทุน”



กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน รณรงค์การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์ ปกป้องอนาคต ลดการเผา ลดการชะล้างดิน ลดต้นทุน เนื่องในวันดินโลก 5 ธันวาคม 2562 ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน นาแปลงใหญ่ ตำบลดู่ทุ่ง จังหวัดยโสธร เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันดินโลก รู้คุณค่าของทรัพยากรดินและการจัดการวัสดุการเกษตรเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก ที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกษตรกรรม ต้องร่วมกันดูแลรักษาให้สามารถใชช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี และก้าวสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งการทำเกษตรผสมผสาน รวมไปถึงการเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร มี ศูนย์จัดการ  ดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม  882 ศูนย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก รวม 26,204 ราย ที่สามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ย เห็นผลสำเร็จจากการส่งเสริมการใช้จริง ในพื้นที่ ศพก. และ แปลงใหญ่ ซึ่งปี 2562 สมาชิกของ ศูนย์ฯ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชต่างๆ ประมาณ 370 บาทต่อไร่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ รวมวัสดุอินทรีย์ ในปี 2562  เป้าหมาย 4 เพิ่ม 4 ลด ได้แก่ เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารพืช เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ และ ลดการเผา ลดโลกร้อน ลดการชะล้างดิน ลดต้นทุน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ ได้กว่า 1.47 ล้านตัน เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ กว่า 9 แสนไร่

นอกจากนี้ ภายในงานยังมอบโล่เกียรติยศ ให้แก่ จังหวัดที่มีผลงานการขับเคลื่อนศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ดีเด่น 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ตราด บึงกาฬ สุรินทร์ ตรัง กระบี่ น่าน และพิจิตร และจังหวัดที่มีผลงานการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์ดีเด่น 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร อุบลราชธานี พิษณุโลก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และร้อยเอ็ด รวมถึงมีสถานีเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่มาร่วมงาน จำนวน 10 สถานี เช่น สถานีปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึง แปลงสาธิตการปลูกพืชหลังนา สาธิตการไถกลบตอซัง และหว่านปุ๋ยพืชสด

สศก.ระบุ ต้นปีหน้าราคามะพร้าวยังแพง จัดทัพลุยพื้นที่ประจวบ ชี้แจงต้นทุนมะพร้าว




นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เปิดเผยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้มอบหมายให้ สศก. ลงพื้นที่แหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตมะพร้าวผลแก่ของ สศก. แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว โดย สศก. ได้จัดเวทีชี้แจงและตอบข้อสงสัยต่างๆ ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ อำเภอบางสะพาน และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังรวมกว่า 60 ราย

การจัดเวทีชี้แจงครั้งนี้ สศก. โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์สารสนเทศการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนและกระบวนการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้คำนวณถึงปัจจัยค่าแรง/ค่าจ้าง ค่าวัสดุ ค่าเสียโอกาสของเงินลงทุน ค่าเช่าที่ดินต่อฤดูกาลผลิต และต้นทุนเฉลี่ยก่อนให้ผลผลิต ซึ่งในครั้งนี้ ได้มีการจัดเก็บและคำนวณต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วม เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบถึงต้นทุนต่อไร่ ต้นทุนรวมทั้งแปลง และต้นทุนต่อหน่วย สะท้อนไปถึงรายได้และผลตอบแทนในการผลิตสินค้าเกษตรของตนอย่างง่ายและรวดเร็ว

โอกาสนี้ กลุ่มเกษตรกรจากอำเภอบางสะพาน และอำเภอทับสะแก ได้ให้ความสนใจและซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆ จนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน รวมทั้งยังมีการยกตัวอย่างจริงจากข้อมูลของเกษตรกรที่มาร่วมรับฟังชี้แจง โดยทดลองคำนวณต้นทุนการผลิตมะพร้าวผลแก่ และคำนวณต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในรายที่ต้องการทราบให้เห็นทุกขั้นตอน ซึ่งกลุ่มเกษตรกรมีความเข้าใจ และเห็นพ้องกันว่า การคิดต้นทุนการผลิตของ สศก. นับว่ามีความละเอียดครบถ้วน ซึ่งเป็นประโยชน์ ใช้ในการวางแผนการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ในครั้งต่อไป

ด้าน นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีเนื้อที่ปลูกมะพร้าว (ยืนต้น) 828,614 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 757,798 ไร่ ผลผลิต 856,920 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,131 กก./ไร่  โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่ปลูกมะพร้าว (ยืนต้น) 342,532 ไร่ (อันดับ 1 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 41.34 ของเนื้อที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ) เนื้อที่ให้ผล 296,013 ไร่ ผลผลิต 318,592 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,076 กก./ไร่ 

สำหรับราคามะพร้าวผล (ใหญ่) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ผลละ 14.21 บาท เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ราคาผลละ 5.14 บาท  ส่วนราคามะพร้าวผล (คละ) เฉลี่ยที่ผลละ 9.48 บาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ราคาผลละ 4.13 บาท ซึ่งนับว่าราคาเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า  เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้บริโภคภายในประเทศ และภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการบริหารการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นความสมดุลของผลผลิตและความต้องการใช้ของผู้ประกอบการภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกตั้งแต่ต้นปี 2562 จึงส่งผลให้ราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยคาดว่า มกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 ผลผลิตมะพร้าวจะยังคงออกตลาดค่อนข้างน้อย ราคามะพร้าว  จึงยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตการตลาดมะพร้าว ราคาและต้นทุน สามารถสอบถามได้ที่ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร โทร. 0 2561 2870 ในวันและเวลาราชการ


สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...