วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กรมชลวางเป้าส่งน้ำ 6 จังหวัด เร่งศึกษาปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย/ท่าล้อ-อู่ทอง

    กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย และโครงการท่าล้อ-อู่ทอง ตั้งเป้าส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด




   นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลัง ร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ว่า โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย ครอบคลุมพื้นที่ 8 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพนมทวน  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสองพี่น้อง  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากำแพงแสน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก ซึ่งทั้ง 8 โครงการก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 50 ปี  ปัจจุบันพบว่า โครงสร้างอาคารชลประทานต่างๆ เกิดการชำรุดเสียหาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ที่ดิน ระบบการเพาะปลูก รวมถึงบริบทของการใช้น้ำด้านต่างๆ ทำให้โครงการไม่สามารถตอบสนองตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำในพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ




    กรมชลประทาน จึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อวางแนวทางและแผนงานในการปรับปรุงโครงการที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา สภาพการเกษตร และการใช้น้ำในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อจัดทำแผนการปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้ายให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้ายทั้ง 8 โครงการส่งน้ำบำรุงรักษา และโครงการท่าล้อ – อู่ทอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านการลงทุน และด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2567 รวมระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน 



    สำหรับการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการดังกล่าว เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการฯ มีการนำเสนอสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหาในพื้นที่ศึกษา และแนวคิดเบี้องต้นในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้ประกอบในการศึกษาโครงการ ตั้งแต่การรับฟังปัญหา ความต้องการของเกษตรกร แนวทางการปรับปรุงโครงการ เพื่อให้ได้แผนการปรับปรุงที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยในวันนี้ได้ดำเนินการจัดประชุมฯ 2 เวที ซึ่งในช่วงเช้า  จัดขึ้นที่ หอประชุมอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และในช่วงบ่ายจัดขึ้นที่ ที่ว่าการอำเภอสองที่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร และผู้สนใจในพื้นที่เข้าร่วมการประชุมฯ อย่างพร้อมเพรียงกัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดผลงาน BCG Model ภาคการเกษตร พร้อมดันเป้า ปี 66 ทุกพื้นที่ขับเคลื่อนด้วย BCGModel

       นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจBCG .. 2564 - 2570 ซึ่งจะใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG” อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสมดุลและยั่งยืน มีการบูรณาการและการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูงมาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ นำร่อง 5 จังหวัด คือ จังหวัดลำปางขอนแก่น ราชบุรี จันทบุรี และจังหวัดพัทลุง เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป




 อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยจะขับเคลื่อน BCG Model ด้วยกระบวนการส่งเสริมเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area -Based) มีการกำหนดขอบเขตในการดำเนินการอย่างชัดเจน ทั้งมิติพื้นที่ คน และสินค้า ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ บูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาคีระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Young Smart Farmer Smart Farmer ศพก. ศจช. ศดปช. ให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจนต่อเกษตรกรและชุมชน สร้างรายได้ กระจายผลประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งตัวอย่างกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรมานำเสนอเป็นกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรจากพื้นที่ภาคตะวันตก ประกอบด้วย





 กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 12 ตำบลเเพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ใช้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เน้นส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน และสร้างอัตลักษณ์เป็น GI มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวการแปรรูป และวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือทิ้ง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ซึ่งมีจุดเด่น คือ การแปรรูปขั้นสูง และเชิงพาณิชย์ มีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตลาดออนไลน์

นายภิญญา ศรีสาหร่าย และ นางสาวภีรดา ศรีสาหร่าย YSF จังหวัดราชบุรี ที่พัฒนาการทำเกษตรสู่ Smart Organic Tourism Farm อย่างยั่งยืนด้วยBCG Model โดยทำอาชีพปลูกผักผลไม้ไร้สารเคมีนำความรู้ด้าน BCG มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง มีจุดเด่นที่ทำการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดของฟาร์ม วิเคราะห์และวางแผนการปลูกผักแบบประณีตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพนำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ย เพื่อลดต้นทุน มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตร Young Smart Farmer และถ่ายทอดความรู้เกษตรอินทรีย์บนพื้นฐาน BCG Model

 วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ ปี 2549 เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตก นำผลผลิตกล้วยที่ปลอดภัย โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของในชุมชนมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีงานวิจัยและผลการทดสอบรองรับ ทำการตลาดเน้นช่องทางออนไลน์ และจุดเด่นของที่นี้คือ สร้างมูลค่าเพิ่มจากกล้วยทุกระยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาด และมีการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วยอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณของเสียในกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero waste)

 อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่าBCG ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการทำงานส่งเสริมการเกษตร แต่เป็นการนำสิ่งที่ทำอยู่แล้ว มาร้อยเรียงกันใหม่ เรียกชื่อใหม่ จัดกระบวนการขับเคลื่อนใหม่และมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และให้ใช้แนวคิดของ BCG Model ในการดำเนินงานทุกโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับงานส่งเสริมการเกษตรให้สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้นเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

 

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กรมการข้าวยืนเคียงข้างพี่น้องชาวนาไทย ย้ำชาวนาต้องได้ประโยชน์สูงสุด​


   
 นายกฤษ อุตตมะเวทิน โฆษกกรมการข้าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้มีการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวใหม่จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ กข93 กข95 กข97 และ กข101 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ผู้แทนสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผู้แทนสมาคมค้าข้าวไทย ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว ตลอดจนผู้บริหารกรมการข้าว ร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวในครั้งนี้



     โฆษกกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวในแต่ละปีนั้น จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากสมาคมต่างๆด้านข้าว ให้เข้ามาร่วมพิจารณาพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องด้านข้าวและใกล้ชิดกับพี่น้องชาวนา ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวในแต่ละปี ซึ่งรวมไปถึงสมาคมต่างๆด้านข้าวที่เปรียบดั่งภาคีเครือข่ายที่กรมการข้าวได้มีการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ที่ประกอบด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมชาวนาชาวไร่ สมาคมชาวนาอีสานสมาคมชาวนาและโรงสี สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) สมาคมเกษตรกรไทย สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก สมาคมชาวนาเศรษฐกิจพอเพียง สมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย 




     "กรมการข้าวเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านข้าว มีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้พี่น้องชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยหนึ่งในภารกิจหลักคือการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ ต้านทานต่อโรคแมลง และที่สำคัญคือตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องชาวนา ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองเจตนารมณ์ดังกล่าว กรมการข้าวจึงปฏิบัติภารกิจอย่างสุจริต โปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องชาวนาเป็นลำดับแรก ให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" โฆษกกรมการข้าว กล่าว

กรมหม่อนไหมเดินหน้าจัดงาน “ตรานกยูงพระราชทาน ฯ ครั้งที่ 17” มุ่งผลักดันมาตรฐานไหมไทย สร้างชื่อ สร้างรายได้ให้ประเทศ


         
 กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย พร้อมผลักดันมาตรฐานไหมไทย มุ่งสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 



          นายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ไหมไทย เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทยและเพื่อให้ผ้าไหมไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องหมายนกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ที่เน้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และที่สำคัญต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสนองพระราชปณิธานอันแน่วแน่ รวมถึงร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จึงได้กำหนดจัดงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 17 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้ทอผ้า เอกชน นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับลายผ้าไหมไทยและประวัติลายผ้าไหมไทย การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ไหมและการแปรรูป เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม รวมทั้งเป็นการตอกย้ำสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เชื่อมั่นในสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่มีเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผู้ประกอบการ ให้มีความมั่นคงทางอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป




          การจัดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทยฯ เป็นงานที่กรมหม่อนไหมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 กิจกรรมภายในงานมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงตรานกยูงพระราชทาน พร้อมขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ผลงานการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2565 ผลงานของกรมหม่อนไหม และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม เป็นต้น รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า โดยไฮไลท์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะได้เลือกชม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมที่การันตีคุณภาพมาตรฐานหาชมยากแล้ว ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ภายใต้เรื่อง “สืบสานภูมิปัญญา พระมารดาแห่งไหมไทย” ที่กรมหม่อนไหมได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มหาวิทยาลัย กรมราชทัณฑ์ สำนักงานจังหวัด บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ให้คงอยู่สืบไป




          สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วม “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ในระหว่างวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2565 ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

อาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง ตอบโจทย์วิถีคนยุคใหม่ “สะดวก สะอาด ปลอดภัย คงคุณค่าอาหาร”


 

    นักวิชาการ ย้ำชัด อาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็ง เป็นกระบวนการถนอมอาหารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น แต่ยังคงรักษาสภาพ สี กลิ่น รส และคุณค่าทางสารอาหารไว้ได้อย่างครบถ้วน ใกล้เคียงกับอาหารสดมากที่สุด แนะเลือกซื้อแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ 

    ผศ.ดร.รชา เทพษร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ความปกติใหม่ (New Normal) จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนในสังคมไทย หลายคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องของการบริโภคอาหารสะอาด ปรุงสุก ปลอดภัย จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ตัวเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้คืออาหารที่สะดวก รวดเร็ว หรืออาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี



    “อาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็ง หรือ Freezing เป็นเทคโนโลยีการแปรรูปที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อยืดอายุการเก็บอาหารอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการลดอุณหภูมิของอาหารสด หรืออาหารที่ปรุงสุก ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ลดการเจริญของจุลินทรีย์ ทำให้อายุการเก็บรักษานานขึ้น โดยยังคงรักษาสภาพ สี กลิ่น รส และคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ใกล้เคียงกับอาหารสดมากที่สุด” ผศ.ดร.รชา กล่าว

    ปัจจุบัน การเก็บรักษาอาหารแช่แข็งส่วนใหญ่ จะให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส ในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปี ด้วยความเย็นระดับนี้จะไม่มีจุลินทรีย์กลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และกลุ่มที่เป็นสาเหตุให้อาหารเสื่อมเสียชนิดใดสามารถเจริญเพิ่มจำนวนได้ โดยเฉพาะจุลินทรีย์ชนิด Psychrophile Organism ที่สามารถเจริญได้ในอุณหภูมิต่ำถึง -5 องศาเซลเซียส ทำให้การแช่เย็นทั่วไปป้องกันไม่ได้ เพราะอุณหภูมิจะอยู่ที่เพียง 0-5 องศาเซลเซียส 



     “คุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับการควบคุมกระบวนการแช่แข็ง ความระมัดระวังในขั้นตอนการเตรียม เก็บรักษา การขนส่ง ตลอดจนการวางจำหน่ายสินค้าจนกว่าถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้และเข้าใจในกระบวนการแช่แข็งอย่างถูกต้อง และผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็งจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ มีฉลากอาหารที่ชัดเจน และบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง” ผศ.ดร.รชา กล่าว

    สำหรับหลักการของการแช่แข็งอาหารคือ ลดอุณหภูมิของอาหารหรือการเก็บอาหารในอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส) เปลี่ยนน้ำในอาหารให้เป็นผลึกน้ำแข็ง เมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็งคุณสมบัติต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การแช่แข็งและการละลาย (Thawing) ของอาหารมีลักษณะที่ต่างกัน การลดอุณหภูมิของอาหารลงเพื่อแช่แข็งนั้น จะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนสถานะของน้ำเป็นน้ำแข็ง  ส่วนขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการแช่แข็งคือ ละลายผลึกน้ำแข็งให้อาหารกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้วจึงนำไปปรุงอาหารเพื่อบริโภค โดยหลักการแล้วการละลายที่รวดเร็ว (Quick Thawing) ย่อมทำให้อาหารที่คืนตัวมีคุณภาพดีกว่าการละลายแบบใช้เวลานาน (Slow Thawing) เพราะหากใช้เวลานานจะก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำจากอาหาร ซึ่งมักจะเป็นผลเสียต่อสี รสชาติ คุณค่าทางอาหาร และเนื้อสัมผัสของอาหาร อย่างไรก็ตาม 

    ผศ.ดร.รชา แนะนำว่า การเลือกวิธีทำละลายที่เหมาะสมเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อลักษณะคุณภาพของอาหารแช่แข็ง ซึ่งการทำละลายมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การละลายในตู้เย็นแม้จะเป็นการทำละลายที่ใช้เวลานาน แต่เหมาะกับอาหารทะเลแช่แข็ง หรือเนื้อสัตว์แช่แข็งที่บรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุ โดยการนำอาหารออกจากช่องแช่แข็งมาไว้ในช่องแช่เย็นล่วงหน้า 1 คืน เทคนิคนี้จะทำให้ไม่เสียรสชาติ และรสสัมผัสที่ดีของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีการละลายในไมโครเวฟซึ่งเป็นวิธีที่เร็ว และก่อให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของผลึกน้ำแข็งอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากไมโครเวฟจะให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแพร่เข้าสู่อาหาร โมเลกุลน้ำในอาหารจะเคลื่อนที่ตามระดับความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เกิดการชนกันอย่างไร้ทิศทางก่อให้เกิดพลังงาน และพัฒนาเป็นความร้อน แต่การใช้ไมโครเวฟอาจทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอของเนื้ออาหารภายใน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพอาหารได้ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องไมโครเวฟอย่างถูกต้อง

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สหกรณ์ฯเซกา ส่งเสริมอาขีพสร้างรายได้ มุ่งเป้าสมาชิก“แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา”


   
 “แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา” สโลแกนเด่นของสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพแก้หนี้แก้จนของคนสหกรณ์ ถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก จนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้  จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็นผลงานดีเด่นเพื่อเสนอเข้ารับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ปี 2565 ประเภทร่วมใจแก้จนอีกด้วย 

    นางสาวนิ่มนวล ศรีรักษา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด เปิดเผยว่า แต่ก่อนสหกรณ์ฯได้ดำเนินธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดภาวะหนี้ค้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสมาชิกไม่มีเงินส่งคืนสหกรณ์ แต่หลังจากมีโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้สหกรณ์ฯมีภาวะหนี้ค้างลดลง จากเดิมที่มีหนี้ค้างจำนวน 58 ล้านบาท ขณะนี้คงเหลือยอดหนี้ค้างเพียง 20 ล้านบาท ทั้งนี้การเกิดหนี้ค้างดังกล่าวเป็นผลมาจากการเกิดวิกฤติราคายางพาราตกต่ำเมื่อปี 2559 ทำให้สมาชิกไม่สามารถชำระเงินคืนได้ จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว



    “ชาวเซกาส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำสวนยางพารา แต่พอมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สหกรณ์จึงทำโครงการส่งเสริมอาชีพ“แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา”โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ  เป็นการกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์ฯเซกาหันมาประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้มากขึ้นไม่ต้องพึงพารายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว”

    ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด เผยต่อว่าหลังจากเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯในปี 2560 จากนั้นได้จัดทำสมาชิกเป็นหมวดหมู่  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสมัครใจของแต่ละราย อาทิ กลุ่มนาเฮาผลิตข้าวอินทรีย์ กลุ่มคนเลี้ยงสุกร  กลุ่มเกษตรผสมสาน เป็นต้น จากนั้นทางเจ้าหน้าที่สหกรณ์ก็จะเข้าไปส่งเสริมอาชีพสมาชิกแต่ละรายในแต่ละกลุ่ม



    “ที่เราส่งเสริมอาชีพก็คือจะดูวัตถุประสงค์พื้นเพของสมาชิกจริง ๆ ว่าเขาทำอาชีพอะไร ไม่ได้ยัดเยียดให้ อย่างกลุ่มคนเลี้ยงสุกร  เราก็ไม่สามารถส่งเสริมให้ได้ทุกราย เพราะด้วยสภาพพื้นที่และกลิ่นต้องไม่รบกวนชาวบ้านด้วย”

    นางสาวนิ่มนวลกล่าวถึงกลุ่มคนเลี้ยงสุกรว่าสมาชิกจะต้องมีความสนใจ และมีวินัยมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ  เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนการส่งเสริมจะดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มแรกการสร้างคอกโดยให้สมาชิกกู้รายละไม่เกิน 3 หมื่นบาทปลอดดอกเบี้ย จากนั้นก็สนับสนุนลูกสุกรขุนให้สมาชิกรายละ 10 ตัว จากพ่อแม่พันธุ์สุกรสายพันธุ์สวนยาง พร้อมกับหัวอาหาร โดยสหกรณ์ร่วมกับบริษัทผลิตอาหารสูตรเฉพาะสำหรับสุกรสายพันธุ์ดังกล่าวให้กับทางสหกรณ์โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง  

    “เรื่องตลาดก็จะมีคณะกรรมการฯดูแล พ่อค้ารายไหนให้ราคาแพงที่สุดเราก็จะให้รายนั้นจับในเดือนนั้น แต่สิ่งที่อยากจะต่อยอดต่อไปก็คือการตั้งกลุ่มแปรรูปสุกร บางครั้งเราไม่สามารถส่งออกนอกได้ ปกติสุกรของสมาชิกจะส่งไปนครพนม สปป.ลาวและเวียดนามพอเกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายสุกรตัวเป็น ๆ ได้ ก็อยากจะตั้งกลุ่มเพื่อแปรรูปเนื้อสุกรขึ้นมา เช่นการสไลด์เนื้อ การทำกุนเชียง เป็นต้น”ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด กล่าว 



    นายสมัคร พิมพิลา อายุ 46 ปี เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด อดีตเด็กช่างยนต์ที่หันมาเอาดีด้านอาชีพการเลี้ยงสุกร3 สายพันธุ์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธานกลุ่มคนเลี้ยงสุกร ของสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่จำนวน 52 รายเล่าว่าเริ่มเลี้ยงสุกรอย่างเต็มตัวมาตั้งแต่ปี 2558 หลังจากลาออกจากงานที่วิทยาลัยการอาชีพเซกา เริ่มแรกทำเป็นอาชีพเสริม เพราะต้องการมูลสุกรมาผลิตปุ๋ยชีวภาพใส่สวนยางพาราเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากวิกฤติราคาปุ๋ยเคมีแพง

    หลังเลี้ยงมาระยะหนึ่งเห็นว่าสร้างรายได้ดี ทำให้เขามีความคิดต่อยอดปรับปรุงพัฒนามาเป็นอาชีพหลัก จึงทำให้มีการศึกษาวิธีการเลี้ยงสุกรอย่างจริงจัง  โดยเริ่มต้นซื้อพ่อแม่พันธุ์ดูร๊อค ลาธุ์จไวร์และแลนด์เรซ                    จากฟาร์มสุกรในจ.บุรีรัมย์และราชบุรีจำนวน 10 ตัวเพื่อนำมาพัฒนาเป็นสุกร 3 สายพันธุ์เลือดนิ่ง ถึงวันนี้มี                 สุกรขุน3 สายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มพร้อมจำหน่ายจำนวน 160 ตัว นอกจากนี้ยังผลิตน้ำเชื้อสุกรจำหน่ายให้กับสมาชิกกับเกษตรกรที่สนใจทุกวันเฉลี่ยวันละ 5-10 หลอด สนนในราคาหลอดละ 200-300 บาท ส่วนสุกรโตเต็มวัยสนนในราคากิโลละ 98-100 บาทเฉลี่ยตัวละ 100-110 บาทต่อกิโลกรัม ระยะการเลี้ยงใช้เวลา 100-120 วันหรือประมาณ 4 เดือนก็สามารถจับจำหน่ายได้

            “รายได้ตอนนี้มาจากการขายน้ำเชื้อ  ส่วนหมูโตก็จะขายให้กับทางสหกรณ์ฯและสมาชิกที่มีเขียงประจำ ส่วนยางพารามีอยู่ 9 ไร่และปาล์มน้ำมันอีก 1 ไร่และกำลังทำแปลงปลูกเพิ่ม  แต่รายได้หลักตอนนี้กลายเป็นว่ามาจากการเลี้ยงหมู”ประธานกลุ่มคนเลี้ยงสุกรคนเดิมกล่าว



            ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวภายหลังเยี่ยมชมนิทรรศการและผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มอาชีพในโครงการ “แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา” โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยได้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้แก่ฝ่ายจัดการของสหกรณ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก  

    “ผมได้เน้นย้ำให้สมาชิกสหกรณ์อยู่แบบพอเพียง ให้ครอบครัวมีอาหารบริโภคได้เพียงพอ และสามารถต่อยอดนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ เน้นการทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้แบบหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี”   

    สำหรับสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2520 ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 2,087 ราย มีทุนดำเนินงานกว่า 43 ล้านบาท ธุรกิจหลักของสหกรณ์ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรับฝากเงิน  สมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยมีพืชหลักที่สำคัญได้แก่ ยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง  

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ผลสำเร็จโครงการส่งเสริมอาชีพการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนครพนม


   
 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการส่งเสริมอาชีพการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนครพนม โดยมี นางสาววัชรี ปุกหุต  สหกรณ์จังหวัดนครพนม นายชื่น คำมุงคุณ ประธานกรรมการสหกรณ์  และสมาชิกสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม



    โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ตรวจเยี่ยมและติดตามความหน้าของการส่งเสริมอาชีพและสนับสนุนด้านการตลาดให้กับเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนในเขตตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) จำนวน 1,524 ไร่ มีเกษตรกรได้รับจัดสรรที่ดิน 198 ราย จำนวน 210 แปลง พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากสมาชิกสหกรณ์  เช่น กลุ่มจักสานจากกก ซึ่งมีกระเป๋าจักสานตากกก ผ้าทอพื้นเมืองและแปรรูป ผ้าขาวม้าย้อมครามสีธรรมชาติ  รวมทั้งผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปูนาของนายสันติ สุนีย์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมสมาชิกโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรและค้าขาย มีพื้นที่ทำการเกษตร 8 ไร่ 




    จากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินทางไปเยี่ยมนางจันทร์ชนก ระเวงวรรณ เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คทช.ธาตุพนม ซึ่งเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ยึดอาชีพทำเกษตรผสมผสาน โดยได้รับจัดสรรที่ดินทำกินจำนวน 14 ไร่ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำนา และขุดบ่อเลี้ยงปลานิล 5,000 ตัว  จำนวน 2 บ่อ เมื่อสิ้นฤดูเกี่ยวข้าว ได้ปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกดาวกระจายเพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิก และพื้นที่อีกส่วนหนึ่งได้ปลูกผักสวนครัวผสมผสาน เลี้ยงกระบือและเลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 170,000 บาท

    ด้านนายวิภพ คำมุงคุณ เกษตรกรอีกหนึ่งรายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด และอาศัยอยู่ในพื้นที่คทช.ธาตุพนม มีที่ดินทำกิน 15 ไร่ ยึดอาชีพหลักทำสวนยางพารา และมีอาชีพเสริมเลี้ยงโค-กระบือ เลี้ยงไก่พื้นเมือง และทำนาปลูกข้าวเพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภค โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมได้ประสานเจ้าหน้าที่จากเกษตรจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัดเข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการประกอบอาชีพ เกษตรกรรายนี้ได้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ผ่านสหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด ตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 40,000 บาท เพื่อเป็นทุนและจัดหาปัจจัยการผลิต ในการประกอบอาชีพ ทำให้ปัจจุบันนายวิภพมีรายได้จากการทำสวนยางพาราและเลี้ยงโค-กระบือ ปีละประมาณ 340,000 บาท




     ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 136 ราย สหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ให้กับสหกรณ์ เพื่อใช้ในการจัดอบรมและจัดกิจกรรมประชุมกลุ่มสมาชิก พร้อมทั้งจัดสรรเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 3.1 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์ไปปล่อยกู้แก่สมาชิกได้นำไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพอีกด้วย  

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือกับ ไบโอม พัฒนาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ สร้างนักวิจัยและนวัตกรตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ


 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไบโอม จำกัด ในการสนับสนุนร่วมกันสร้างและพัฒนากำลังคนทางด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงนวัตกรที่มีสมรรถนะและทักษะขั้นสูง ในสาขาชีววิทยาสังเคราะห์ ให้มีจำนวนมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและเป็นเลิศระดับสากล



ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) เป็นคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ สร้างผลกระทบสูงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันตลาดชีววิทยาสังเคราะห์ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญต่อการยกระดับขีดความสามารถด้านชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ จึงได้ผนึกกำลังสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมกันบูรณาการนำองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นด้านชีววิทยาระบบและชีวสารสนเทศ วิศวกรรมเมแทบอลิก พันธุวิศวกรรม วิศวกรรมโปรตีน รวมถึงกระบวนการทางชีวภาพและเทคโนโลยี มาสร้างกำลังคนเฉพาะทางขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนางานวิจัยสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ



         นางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไบโอม จำกัด กล่าวว่า ในขณะที่ประชากรของเรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยด้านสุขภาพในวงกว้างอย่างรุนแรง ทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างกำลังจะหมดลง ซึ่งสวนทางกับความต้องการที่เพิ่มทวีคูณท่ามกลางวิกฤตินี้ ทั่วโลกจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ Bio Economy โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง Deep Biotechnology เช่น ชีววิทยาสังเคราะห์ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูง สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน ปัจจุบัน ตลาดของผลิตภัณฑ์ชีวภาพทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งใน 8 ประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดของโลก ถือว่ามีความพร้อมและความได้เปรียบด้านทรัพยากรในการที่จะดำเนินการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นสูง ซึ่งบริษัท ไบโอม จำกัด เป็นบริษัทแรกที่ spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์ โดยมีทีมงานนักวิจัยหลักและนักวิจัยร่วมที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวภาพ แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพสังเคราะห์ โดยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพประสิทธิภาพสูง ทั้งรูปแบบ Specialty enzyme และโรงงานเซลล์จุลินทรีย์ อีกทั้งให้บริการการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มนี้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันผลงานของนักวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตอบสนองต่อห่วงโซ่อุปทาน และขับเคลื่อนสินค้านวัตกรรมชีวภาพที่สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน



การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินงานด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ภายใต้ความร่วมมือจาก Thailand Synthetic Biology Consortium ที่จะสามารถยกระดับศักยภาพ งานวิชาการ งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จะช่วยสนับสนุน และผลักดันพันธกิจของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งหวังจะพัฒนาทั้งทางวิชาการ การวิจัย การบูรณาการองค์ความรู้จากหลายสาขานำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ในอนาคตต่อไป

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไบโอม จำกัด จึงวางแผนขยายความร่วมมือเพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนทางด้านวิชาการและการวิจัยในสาขาชีววิทยาสังเคราะห์ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ ในการขับเคลื่อนงานวิจัย และนวัตกรรม สู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่อยอดธุรกิจให้กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเหลือสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและโลกอย่างยั่งยืน

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...