วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

มกอช. ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค COVID-19 สร้างความมั่นใจผู้มาติดต่อราชการ


         สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค COVID-19 รอบพื้นที่ มกอช. สร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องมาติดต่อราชการ และผู้ปฏิบัติงานของ มกอช.


       ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มอบหมายให้นายกฤษ อุตตมะเวทิน เลขานุการกรม สำนักงานเลขานุการกรม ดูแลความเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ในการดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค COVID-19 โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งทีมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ โดยมอบหมาย นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิสุขสกุล  ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ นำน้ำยาสารกลูตารัลดีไฮด์ มาฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อโรค COVID-19 รอบพื้นที่อาคาร สำนักงานของ มกอช. 


       ทั้งนี้ ดำเนินการฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อโรค COVID-19 ตั้งแต่ห้องประชุม ห้องปฎิบัติงาน ทางเดินร่วม ลิฟต์ขนส่ง ห้องสุขา และพื้นที่ภายรอบอาคารที่ใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องมาติดต่อราชการ และรวมถึงผู้ที่จำเป็นต้องมาปฏิบัติงานที่สำนักงาน มกอช. ซึ่งการฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อโรค COVID-19 เป็นหนึ่งในมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของ มกอช.


        ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. ออกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้สั่งการและมอบเป็นนโยบายให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด  โดยจัดระบบคัดกรองและควบคุมการ เข้า – ออก  จัดสถานที่เพื่อลดการแออัดในที่ทำงาน  จัดจุดบริการเจลล้างมือ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  ขอความร่วมมือ อย่าออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น  งดกิจกรรมทางสังคม  และกำหนดให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของ มกอช. จัดระบบเหลื่อมเวลาในการปฎิบัติงานและการปฎิบัติราชการที่บ้านทดแทนภาวะปกติ (Work From Home) เพื่อลดการแพร่ระบาดและการกระจายเชื้อ COVID-19

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ยันไข่เพียงพอกับการบริโภค ชี้ร้อนแล้งกระทบผลผลิต เกษตรกรมีต้นทุนค่าน้ำ-ไฟร่วม 10 สตางค์ต่อฟอง



นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เปิดเผยถึงสถานการณ์ไก่ไข่ในขณะนี้ว่า ปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนก่อนหน้านี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์เร่งตรวจสอบจับกุมและดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายไข่ไก่ทั่วประเทศ ที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคา ขายไข่ไก่ในราคาแพง และมีพฤติกรรมกักตุนสินค้า ทำให้ผู้ค้าไม่กล้าฉกฉวยโอกาสและผู้บริโภคมีความเข้าใจในสถานการณ์และเริ่มซื้อไข่ไก่ในปริมาณที่เพียงพอกับการบริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้สมาคมฯและเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกคนยังคงร่วมมือกันบริหารจัดการการเลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีผลผลิตไข่ไก่เพียงพอกับการบริโภคของคนไทยและยืนยันว่าไข่ไก่จะไม่ขาดแคลน ตลอดจนกำชับให้สมาชิกสมาคมฯดูแลราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มให้เป็นไปตามที่ตกลงกับกระทรวงพาณิชย์คือไม่ให้เกิน 3 บาทต่อฟอง และเกษตรกรได้ยืดอายุแม่ไก่ไข่ยืนกรงออกไปตามที่แต่ละฟาร์มเห็นว่าเหมาะสม จากเดิมที่กำหนดให้ปลดแม่ไก่ยืนกรงที่อายุ 80 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มปริมาณไข่ไก่เข้าสู่ตลาดตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ


ปัจจุบันทุกภาคทั่วประเทศนอกจากจะเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้แม่ไก่ให้ไข่ลดลงประมาณ 10-15% และอากาศเช่นนี้ส่วนใหญ่ไข่จะมีแต่ขนาดกลางถึงเล็กประมาณเบอร์ 3-4-5 เท่านั้น จากปกติมีไข่ไก่  6 ขนาด คือเบอร์ 0 ใหญ่สุด - เบอร์ 5 เล็กสุด ส่งผลให้เกษตรกรขายไข่ได้ราคาลดลงตามไปด้วย เมื่อผนวกกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าน้ำที่ต้องซื้อ ซึ่งน้ำมีหลายราคาตามคุณภาพของน้ำ และยังมีค่าไฟที่เพิ่มขึ้นจากการต้องเปิดระบบน้ำพ่นฝอยเพื่อลดความร้อนภายในโรงเรือน รวมถึงระบบน้ำและพัดลดระบายอากาศของโรงเรือนอีแวป ช่วงนี้เกษตรกรทุกคนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากค่าน้ำค่าไฟที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10 สตางค์ต่อฟอง จึงขอให้ผู้บริโภคเข้าใจเกษตรกรด้วยนายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง กล่าว


ทั้งนี้อากาศร้อนจัดโดยเฉพาะในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้แม่ไก่ไข่มีความเครียด กินอาหารได้น้อย และให้ผลผลิตไข่น้อยลงจากปกติ ที่สำคัญภาวะแล้งทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม ทั้งเพื่อให้แม่ไก่กิน รวมถึงน้ำที่ใช้สำหรับฉีดพ่นละอองฝอยตามโรงเรือนเลี้ยงไก่และบนหลังคาโรงเรือน เพื่อลดความร้อนให้ไก่ไข่ได้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่เลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ในการปรับสภาพอากาศในการเลี้ยงไม่ให้ร้อนจัดจนส่งผลกระทบกับตัวสัตว์ ขณะที่การเลี้ยงในโรงเรือนปิดแบบอีแวปก็ต้องเปิดระบบทำความเย็นที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

เกษตรฯ เร่งหาตลาดและแนวทางรองรับผลผลิตช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19



            กรมส่งเสริมการเกษตรเผยวิกฤติสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะไม้ผลอย่างมะม่วงผลผลิตส่วนใหญ่จะทยอยออกช่วงเมษายนแต่ส่งตลาดต่างประเทศไม่ได้ เร่งหาแนวทางรองรับผลผลิตและตลาดช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมประสานหน่วยงานต่าง ๆ ในการกระจายสินค้าเกษตรให้อยู่รอด


         นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจโลก การดำรงชีวิต รวมถึงการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรของเกษตรกร ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการติดตามแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และมอบหมายให้จัดเตรียมมาตรการรองรับ วางแผนกระจายผลผลิต และจัดหาช่องทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ และจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการเกษตรในครั้งนี้


    กลุ่มสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมี 4 กลุ่ม เป็นผลผลิตสดเน่าเสียง่ายและกำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ประกอบด้วย 1) ผลไม้ ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน และมังคุด โดยเฉพาะมะม่วงเข้าสู่ช่วงผลผลิตออกมากในหลายจังหวัด ผู้รับซื้อมะม่วงเกรดคุณภาพเพื่อการส่งออกหยุดรับซื้อ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้ทั้งตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งต้องส่งทางเครื่องบินแต่ขณะนี้ไม่มีเที่ยวบินไปยังประเทศเหล่านี้ รวมทั้งตลาดในประเทศชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคเดินตลาดน้อยลง และเน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่า ส่วนทุเรียนและมังคุด ผลไม้ภาคตะวันออกขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลที่ผลผลิตออกมาก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป และผลไม้ภาคใต้ จะเข้าสู่ฤดูการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน ขนส่งทางรถเป็นหลักยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การรับซื้อเพื่อการส่งออกยังดำเนินการได้ ส่วนตลาดภายในประเทศ หากในช่วงที่ผลผลิตออกมากและประชาชนยังไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อหา หรือจัดงานเทศกาลบริโภคผลไม้ได้ จะทำให้ผลไม้เกรดเพื่อการบริโภคในประเทศมีปัญหาล้นตลาดได้
            2) พืชผัก โดยกลุ่มพืชผักแปลงใหญ่ที่ผลิตภายใต้ข้อตกลงกับห้างค้าปลีก เพื่อวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ แม้ลูกค้าจะมาซื้อไม่บ่อยเหมือนเดิม เนื่องจากบริษัทมีระบบห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิ สามารถเก็บรักษาคุณภาพได้นาน ส่วนพืชผักทั่วไปที่ขายส่งตามตลาดได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้รวบรวมซึ่งไม่มีห้องเย็นเก็บรักษาจะซื้อในปริมาณน้อยลง และเน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่า พืชผักเช่น กะหล่ำปลี ที่ผลิตตามข้อตกลงกับร้านอาหาร บาบิคิวพลาซ่า ขณะนี้ร้านอาหารปิดบริการ ทำให้มีสินค้าในมือเกษตรกรจำนวนมาก 3) ไม้ดอก สินค้าไม้ดอก ไม้ประดับ ได้แก่ ดาวเรือง กล้วยไม้ มะลิ กุหลาบ เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือสักการบูชาบรรพบุรุษ และประดับตกแต่งตามโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ได้มีการวางแผนให้ออกในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลวันหยุด เช่น สงกรานต์ เชงเม้ง ไม่สามารถจำหน่ายได้ตามแผน เนื่องจากหลายวัดปิดหรืองดกิจกรรมรวมทั้งการงดการเดินทางของประชาชน และ 4) สมุนไพร หลายชนิดกำลังเป็นที่ต้องการของประชาชน เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง ขมิ้นชัน เป็นต้น แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์


            สำหรับแนวทางและมาตรการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนรองรับในส่วนของผลไม้ คือ 1) ประสานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้เข้าไปรับกระจายผลผลิตมะม่วงผ่านระบบของไปรษณีย์ไทย (ThailandPostmart) 2) การให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่ได้รับการพัฒนาถ่ายทอดการขายแบบออนไลน์ เข้าไปคัดเลือกสินค้าและแนะนำเกษตรกรให้สมัครเปิดขายสินค้าเกษตรออนไลน์ในทุกช่องทางบน Platform ต่าง ๆ 3) ประชาสัมพันธ์สินค้าของเกษตรกรที่ขายผ่านระบบออนไลน์ให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ 4) จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสินค้าไม้ผล ภายใต้แนวคิดให้ส่วนราชการ และประชาชน ช่วยกันซื้อมะม่วงคุณภาพดีเพื่อเป็นของขวัญ กำลังใจ หรือฝากคนที่รักและห่วงใย เช่น จัดกิจกรรม CSR ส่งผลไม้ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ หรือซื้อผลไม้ฝากครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกันให้ได้บริโภคมะม่วงสดคุณภาพดีในช่วงนี้
            นอกจากนี้ จะสนับสนุนการกระจายผลผลิตจากสวนไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ด้วยระบบของรถเร่ ภายใต้โครงการ “รถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป” ซึ่งจะให้ผู้มีรถเร่รับซื้อผลไม้มาขึ้นทะเบียนแจ้งความจำนงในการรับซื้อผลไม้ไว้กับสำนักงานเกษตรจังหวัด พร้อมอบรมแนะนำขั้นตอนในการขนส่ง ดูแลรักษาคุณภาพผลไม้ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดหรือศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจผลไม้ระดับเขตจะคอยเชื่อมโยงระหว่างรถเร่กับกลุ่มเกษตรกรเจ้าของสวนให้เกิดการรับซื้อให้ทั่วถึง ไม่เกิดการตัดราคา และควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค 
            “ในส่วนของพืชผักจะประสานกับหน่วยงานราชการที่มีการประกอบอาหารเลี้ยง เช่น โรงพยาบาล ค่ายทหาร เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร หรือเตรียมหาตลาดใหม่รองรับโดยประสานโรงงานแปรรูป กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อแปรรูปและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้านไม้ดอกจะประชาสัมพันธ์สินค้าของเกษตรกรที่ขายผ่านระบบออนไลน์ให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ และช่วยประชาสัมพันธ์การใช้ดอกไม้สดส่งให้คนที่รัก เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามวิกฤติ สำหรับสมุนไพรจะมีแนวทางในการให้ความรู้ คำแนะนำการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขผ่านช่องทางต่างๆ และใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสที่ตลาดมีความต้องการในขณะนี้ แนะนำการผลิตสมุนไพรที่ได้คุณภาพแก่เกษตรกร เพื่อเข้าสู่ตลาดสมุนไพรในอนาคต” อธิบดีกล่าว

เทสโก้ โลตัส เปิดช่วงเวลาและช่องทางพิเศษ อำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้พิการและสตรีมีครรภ์



เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต ทุกสาขาทั่วประเทศ เปิดช่วงเวลาพิเศษ (Priority Hour) ตั้งแต่เวลา 8.00 – 9.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ สำหรับผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้พิการ และสตรีมีครรภ์ เพื่อเว้นระยะห่างที่ปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าพิเศษได้ซื้อสินค้าก่อน นอกจากนั้น ยังเปิดช่องทางชำระเงินพิเศษ (Priority Lane) สำหรับลูกค้ากลุ่มพิเศษตลอดทั้งวันอีกด้วย ตั้งแต่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลูกค้าและประชาชนจำนวนมากมีความต้องการหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เทสโก้ โลตัส มุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้าของเราอย่างดีที่สุดและทั่วถึงที่สุด เราเล็งเห็นว่ามีลูกค้ากลุ่มพิเศษ กล่าวคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงได้จัดสรรช่วงเวลา 8.00 – 9.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ให้เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเลือกซื้อสินค้าในสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตของเราทั่วประเทศได้อย่างสะดวกสบาย โดยขอความร่วมมือให้ลูกค้าทั่วไปใช้บริการในช่วงเวลาอื่นแทน ซึ่งมาตรการนี้นอกจากจะเพิ่มความสะดวกแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัยตามหลัก social distancing ให้ลูกค้าสามารรักษาระยะห่างตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขได้ นอกเหนือจากช่วงเวลาพิเศษแล้ว เรายังเปิดช่องทางชำระเงินพิเศษสำหรับลูกค้าทั้ง 4 กลุ่มนี้โดยเฉพาะ สามารถใช้บริการได้ตลอดทั้งวัน ทุกวัน เราขอความร่วมมือลูกค้าทั่วไป ใช้บริการในช่วงเวลาอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ากลุ่มพิเศษนี้ และขอขอบคุณในความเข้าใจและร่วมมือ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ยังได้ออกประกาศกำหนดให้ลูกค้าเข้าใช้บริการในร้านไม่เกิน 15 คนต่อครั้ง เพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย และขอให้ลูกค้าเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งก่อนเข้าใช้บริการ เพื่อป้องกันลูกค้าและพนักงานจากไวรัสโควิด-19 อีกด้วย เทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในสาขาของเราทั่วประเทศ และได้ดำเนินมาตรการป้องกันต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานและลูกค้า การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตะกร้าและรถเข็นช้อปปิ้ง เคาน์เตอร์แคชเชียร์ ราวบันไดเลื่อน และจุดสัมผัสต่างๆ รวมถึงมีการติดตั้งเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือตามจุดต่างๆ ภายในสาขาและศูนย์อาหาร การปฏิบัติตามหลัก social distancing ในทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้าทุกท่าน

ใกล้ไกล...ก็ไปถึง CPF ส่งอาหารปลอดภัย ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ใน รพ.รัฐ กว่า 70 แห่งทั่วไทย



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศไทย เดินหน้าส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยให้โรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตามโครงการ "CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัย COVID-19" โดยส่งมอบแล้วกว่า 70 แห่งทั่วทุกภาคของไทย อาทิ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อร่วมสนับสนุนให้แพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในต่างจังหวัด ได้มีกำลังกายและกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยและสามารถเอาชนะไวรัสร้ายนี้ได้ เพื่อขอบคุณความทุ่มเท-เสียสละ แบ่งเบาภาระในการจัดเตรียมอาหารของทุกคน


จากสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายจนพบผู้ป่วยเกือบทั่วประเทศนั้น แสดงให้เห็นความเหนื่อยยากของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมแพทย์ที่เป็นทัพหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วย    ซีพีเอฟ จึงได้ริเริ่มจัดโครงการ "CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัย COVID-19" ส่งมอบอาหารเพื่อบุคลากรทางการแพทย์มาระยะหนึ่ง และได้ขยายผลส่งมอบอาหารปลอดภัยไปยังโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการผลิตอาหารคุณภาพ ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยให้ซีพี เฟรชมาร์ท ซึ่งมีสาขากระจายในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของไทยและเครือข่าย จัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในแต่ละจังหวัดเป็นประจำทุกวัน ตลอด 1 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถใช้เวลาทุ่มเทดูแลผู้ป่วยและป้องกันโรคได้มากขึ้น



นอกเหนือไปจากการสนับสนุนด้านอาหาร บริษัทฯ ยังลดภาระแพทย์-พยาบาล ด้วยการสนับสนุนให้คนไทยกักตัวหลังกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 1 หมื่นคน เป็นการช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการที่ภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนมากมาย หลั่งไหลให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานอย่างเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เป็นการสะท้อนถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ซึ่งซีพีเอฟขอยืนยันว่าจะจับมือเดินเคียงข้างกับคนไทยทุกคนเพื่อก้าวฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน




กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าวช่วงแล้ง



            นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะประธานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเขตภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งข้าวส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะตั้งท้องถึงออกรวง ขอให้ระมัดระวังการระบาดทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown Plant hopper) โดยรูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยจะมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีชนิดปีกยาว (บินได้) และชนิดปีกสั้น (บินไม่ได้) สามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลม ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4.0-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4.0 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 รุ่น


             ลักษณะการทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าว โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก อาการไหม้ hopper burn’ โดยทั่วไปมักพบในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่มีความชื้น นอกจากนี้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคใบหงิกข้าว หรือที่เรียกว่า โรคจู๋ โดยจะทำให้ข้าวต้นเตี้ยแคระแกรน ไม่ออกรวง หรือมีรวงแต่สั้น และยังเป็นเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไมโครพลาสมา สาเหตุของโรคเขียวเตี้ยด้วย




            กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปฏิบัติดังนี้ หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ในแหล่งที่มีการระบาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะข้าวตั้งท้องขอให้ควบคุมระดับน้ำในนา ให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยน้ำขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไปจะช่วยลดการระบาดได้ หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีขอแนะนำให้ใช้ไทอะมิโทแซม ไดโนทีฟูเรน หรือไดทีโนฟูแรน อัตราตามคำแนะนำในฉลากสารเคมี สำหรับในฤดูปลูกถัดไปแนะนำให้ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 60 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 ชัยนาท 2 กข29 และ กข31 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูงกับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอ ปานกลาง โดยพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง และไม่ควรหว่านข้าวแน่นเกินไป ให้ใช้อัตราประมาณ 15 กก./ไร่ หรือปลูกแบบนาดำ เพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรง และพ่นสารทั่วถึง ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 50 กก./ไร่) เนื่องจากทำให้ใบข้าวเขียว หนาแน่น ต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำซึ่งเหมาะแก่การเข้าดูดกินและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้งเหมาะแก่การระบาดโรคพืชหลายชนิดอีกด้วย หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ตำบลและเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน
อัจฉรา : ข่าว, มีนาคม 2563, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล

“กรมประมง” เตรียมปิดทะเลอันดามัน 3 เดือน ในฤดูปลามีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ



กรมประมง เตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2563 ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563  เผยผลการศึกษาพบมาตรการฯ ที่บังคับใช้ เหมาะสมสอดคล้องกับข้อมูลการแพร่กระจายของสัตว์น้ำ สามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน


นายมีศักดิ์  ภักดีคง  อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน  ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนของทุกปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนที่กรมประมงได้มีการประกาศใช้มาอย่างยาวนานกว่า 35 ปี (เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2528) โดยได้มีการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากสถิติการเก็บข้อมูลทางวิชาการ จำนวน และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำพบว่ามีจำนวนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งมาจากด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน ทั้งความเสื่อมโทรมของแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ สภาพแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้ง อาจจะมีเรือประมงที่ใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ด้วย ประกอบกับจากการติดตามสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในแต่ละปีหลังจากมาตรการปิดอ่าวพบว่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุของปริมาณสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลงทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมประมง จึงได้มีการออกประกาศ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในมาตรการปิดฝั่งทะเลอันดามันให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยพื้นที่การประกาศใช้มาตรการฯ ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ระยะเวลา 90 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ของทุกปี และได้กำหนดชนิดของเครื่องมือประมงซึ่งไม่กระทบกับพันธุ์สัตว์น้ำในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ ให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ดังนี้
            1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และทำการประมงในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง 2.เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางวันและทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 3.เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก 5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาเฉพาะท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 7. ลอบหมึกทุกชนิด 8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง 9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่คราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน ต่อเรือกล 1 ลำ ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560
            10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 , 11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เป็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น 12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง 13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือทำการประมงตามประเภทที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ยกเว้นอวนครอบอวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องมือเครื่องมือทำการประมงที่กำหนดห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมงวิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้าใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่  9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560


            ทั้งนี้ การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่  9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67  69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย


อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายในมาตรการปิดอ่าวทะเลอันดามัน จนกระทั่งท้องทะเลค่อยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อน โดยดูได้จากผลการศึกษาของกรมประมง พบว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำในกลุ่มปลาหน้าดิน เช่น ปลาเก๋า ปลาใบขนุน ปลากระเบน ปลาจักรผาน ปลาเห็ดโคน ปลาตะเภาข้างลาย ปลาสาก ปลาจวด และ ปลาครืดคราด ฯลฯ มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ผนวกกับข้อมูลของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่และช่วงเวลาของการประกาศใช้มาตรการฯ จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน นั้นมีส่วนช่วยทำให้ประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลได้ อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ เมื่อภาครัฐดำเนินการและภาคประชาชนขานรับให้การสนับสนุน  การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะเกิดความสมดุลของกำลังการผลิตจากธรรมชาติ เกิดความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และเกิดความยั่งยืนของการประกอบอาชีพประมง ถึงแม้ในปีนี้ กรมประมงจะไม่ได้ประกอบพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2563 เนื่องจากการเกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 แต่การใช้มาตรการตามประกาศฯ ยังคงเป็นไปตามเดิม จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วย

“หนองเม็กโมเดล” ต้นแบบผักอินทรีย์แห่งแรก จ.อำนาจเจริญ ยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์คุณภาพสูง



            นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็กถือเป็นต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์แห่งแรกของจังหวัดอำนาจเจริญ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ภายใต้การนำของประธานกลุ่มคือ นางจำปา สุวะไกร ปัจจุบันมีสมาชิก 15 ราย โดยทางกลุ่มมีเป้าหมายในการปลูกผักอินทรีย์เพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร สด สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาสินค้าผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ให้เป็นสัญลักษณ์ เมืองธรรมเกษตรตามนโยบายของจังหวัดอำนาจเจริญ

 นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี (สศท.11) ได้สำรวจข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทนจากการผลิตผักอินทรีย์ ปี 2563 ของเกษตรกรกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ พบว่า มีต้นทุนการผลิต 5,708 บาท/โรงเรือน/รอบการผลิต ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 45-50 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 200-270 กก./โรงเรือน/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ 50 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 6,792 บาท/โรงเรือน/รอบการผลิต ด้านการเพาะปลูก เกษตรกรจะปลูก  ในโรงเรือนขนาด 30x6 เมตร มีจำนวน 100 โรงเรือน สามารถปลูกผักอินทรีย์ได้จำนวน 200-270 กก./โรงเรือน นอกจากนี้ ผักอินทรีย์ ยังเป็นพืชทางเลือกที่เกษตรกรนำมาปลูกทดแทนการผลิตข้าวนาปี และมันสำปะหลังทั่วไปในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) รวมถึงพื้นที่ปลูกยางพาราที่ประสบปัญหาด้านราคา


            ปัจจุบัน สินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มฯ จำหน่ายในชื่อแบรนด์ ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์มจังหวัดอำนาจเจริญ ผลผลิตร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายให้กับคู่ค้าหลักคือ บริษัท S&B food supply จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดส่งผักขายให้กับห้าง Tops supermarket ทั่วประเทศ ส่วนร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายตลาดในท้องถิ่น อาทิ ตลาดสีเขียวอำนาจเจริญ ตลาดปลอดสารพิษ ตลาดบุญนิยม และจุดจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ ปั้มน้ำมัน ปตท. อำนาจเจริญ เป็นต้น ซึ่งทางกลุ่มฯ สามารถส่งผลผลิตได้ 1.5-2 ตัน/5 วัน ทำให้มีรายได้หมุนเวียนกว่า 100,000 บาท/5 วัน นอกจากนี้ ผักอินทรีย์บ้านหนองเม็กยังได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล คือ Organic Thailand และ IFOAM เป็นโรงเรือนผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร ดังนั้น จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าได้ว่าผักอินทรีย์ของกลุ่มฯ ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการ สศท.11

            ด้าน นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าวเสริมว่า กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก มีความต้องการขยายฐานการผลิตเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ประสานงานด้านการตลาดของกลุ่มฯ (นายศุภชัย มิ่งขวัญ) ได้บอกเล่าว่า ระยะแรกทางกลุ่มฯ ประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์มาตรฐานอินทรีย์คุณภาพ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ ผลผลิตลดลงไม่สามารถส่งออกได้ตามมาตรฐาน จึงได้ดำเนินการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์มาตรฐานอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของทางกลุ่มฯ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครรินทร์ (นำโดย ดร.นราทิพย์ หมวกกรอง นักปรับปรุงพันธุ์พืช) ทำการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์อินทรีย์คุณภาพ ต้านทานโรคและสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเสนอโครงการขอทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งได้รับทุนวิจัยจำนวน 1.6 ล้านบาท โดยพืชที่พัฒนาพันธุ์ ได้แก่  ผักตระกูลสลัด ข้าวโพด เมล่อน และมะเขือเทศ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี (2562-2564) และเมื่อสิ้นสุดโครงการ ทางกลุ่มฯ มุ่งหวังว่าจะเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพ ทั้งเมล็ดพันธุ์หลัก เมล็ดพันธุ์ลูกผสม และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสายพันธุ์พื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


            นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังมีนโยบายด้านการส่งเสริมความรู้และพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจทำการเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน รวมถึงเปิดรับนักศึกษา ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรด้านการเกษตรที่มีคุณภาพและพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตผักอินทรีย์กลุ่มบ้านหนองเม็ก ทางกลุ่มฯ ยินดีให้เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือสามารถขอคำปรึกษาได้ที่นายศุภชัย มิ่งขวัญ กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก  หมู่ 5 ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โทร. 090-932-7915 หรือ 095-6131411   


วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

เฉลิมชัย” สั่งลุยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อซ้ำทั่วกระทรวงฯ สร้างความมั่นใจให้กับผู้มาติดต่อราชการ

     “เฉลิมชัย”คุมเข้มมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลุยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อซ้ำทั่วกระทรวงฯ สร้างความมั่นใจให้กับผู้มาติดต่อราชการ


​        นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการ Kickoff จัดกิจกรรมทำความสะอาด Big Cleaning เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรที่มาติดต่อประสานงานเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน รวมถึงประชาชนทั่วไป ตลอดจนมีความห่วงใยจึงได้สั่งการฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 และ 28 มี.ค. 63 เพื่อสร้างความสะอาดตามมาตรการป้องกันและแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาทั่วบริเวณพื้นที่ภายในและรอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสต่างๆ เป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาติดต่อราชการและบุคลากรภายในหน่วยงาน โดยในการดำเนินการครั้งนี้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากบริษัทเอกชนผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนวัตกรรมล่าสุดจากเยอรมันที่มีประสิทธิภาพสูง อันประกอบด้วยเครื่องพ่นฝอยละเอียดเพื่อกำจัดเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการกำจัดเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์มาร่วมดำเนินการฉีดพ่นเพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับทุกฝ่ายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


​            นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มีมาตรการตั้งจุดคัดกรอง (จุดวัดไข้) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้ากระทรวง โดยขอความร่วมมือผู้ที่มาติดต่อราชการ แบ่งเป็น 1) กรณีนำรถยนต์ส่วนตัวมา หากมีผู้โดยสารน้อยสามารถลดกระจกลงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดไข้ แต่หากนำรถตู้และมีผู้โดยสารหลายคน ขอความร่วมมือให้ลงจากรถเพื่อตรวจคัดกรอง และ 2) กรณีเดินทางมาเอง ต้องผ่านจุดคัดกรองที่ ประตู 1 และ ประตู 3 อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการจัดวางเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคตามจุดต่างๆ ทั้งนี้ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการด้านอื่นๆ ตามแนวทางหรือคำแนะของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป


​       อย่างไรก็ตาม กรณีนักข่าวที่ร่วมเดินทางลงพื้นที่ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาจำนวน 11 คน และเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 11 คน รวม 22 คน นั้น รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้ทั้งหมดเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา และผลการตรวจระบุว่าไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง 22 คน


สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...