กรมประมงจัดกิจกรรมย้ายพันธุ์สัตว์น้ำสู่บ้านใหม่ที่ปลอดภัย ภายใต้โครงการคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำก่อนการบังคับใช้มาตรการฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวในวัยอ่อน ของกรมประมงประจำปี 2563 ประเดิมที่แรก อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณภูกระแตบ้านโนนสว่าง ต.โนนเมือง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน โดยว่าคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5% ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติรวมถึงอ่างเก็บน้ำต่างๆ อาจมีปริมาณลดน้อยลงหรือเกิดการแห้งขอดซึ่งจะกระทบต่อปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำได้จากปัญหาดังกล่าวกรมประมงได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น พร้อมจัดส่งนักวิชาการประมงลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ได้มีนโยบายกำหนดแนวทางคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะพ่อ-แม่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อสงวนไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำให้อยู่รอดได้จนสามารถสืบพันธุ์วางไข่ในช่วงฤดูฝน ดังนี้
1.มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำที่อาจเกิดการแห้งขอดหรืออาจมีปริมาณน้ำต่ำเสี่ยงต่อการให้ประชาชนเข้ามาจับสัตว์น้ำจนเข้าข่ายทำลายหรือตัดตอนวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำจนเกินความจำเป็น จึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยแล้งออกมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำในพื้นที่ หรือเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำไปเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอต่อการอยู่อาศัยก่อนการออกประกาศบังคับใช้มาตรการคุ้มครองฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวในวัยอ่อนของกรมประมง (ฤดูน้ำแดง)
2.เนื่องด้วยในช่วงฤดูแล้งก่อนการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองดังกล่าว บางพื้นที่ที่แหล่งน้ำแห้งขอดสัตว์น้ำจืดมักอพยพไปอาศัยอยู่รวมกันในบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำ (วังปลา) ทำให้ง่ายต่อการจับโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำลายปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่อย่างรุนแรง กรมประมงจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) กำหนดให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสามารถออกประกาศฉุกเฉินโดยร่วมกันพิจารณากำหนดเขตพื้นที่ในการอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำ (Fish Stock) ซึ่งประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว ระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน โดยกำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงทุกชนิดทำการประมงในแหล่งน้ำตามประกาศ
ทั้งนี้ จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดหนองบัวลำภูได้จัดทำโครงการ “คุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำก่อนการบังคับใช้มาตรการฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวในวัยอ่อน ของกรมประมง ประจำปี 2563” โดยมีหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น (เขื่อนอุบลรัตน์) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เขต 4 (อุดรธานี) และหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนอุบลรัตน์ ขอนแก่น ลงพื้นที่ร่วมกันสำรวจแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยพบว่า มีพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำอย่างเร่งด่วน จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ได้แก่ เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำชุมชนบ้านท่าลาด และเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำชุมชนบ้านโนนสว่าง พร้อมกันนี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการ
ออกประกาศดังกล่าว
กรมประมงได้จัดกิจกรรมย้ายพันธุ์สัตว์น้ำสู่บ้านใหม่ ภายใต้โครงการคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำฯ บริเวณภูกระแต บ้านโนนสว่าง ต.โนนเมือง อ.โนนสัง โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครในพื้นที่ในการรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำจืดชนิดต่างๆ อาทิ ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ปลากาดำ และกุ้งก้ามกราม ฯลฯ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ อวนล้อมกร่ำ อวนลากทับตลิ่ง และแห (**อวนล้อมกร่ำและอวนลากทับตลิ่งจัดเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้เพื่อประโยชน์ทางการวิจัย หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยหน่วยงานราชการเท่านั้น และต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ) สำหรับขบวนรถในการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำได้รับการปล่อยขบวนจากเขตอนุรักษ์ชุมชนบ้านโนนสว่าง ออกเดินทางไปยังจุดรับพันธุ์สัตว์น้ำที่กำหนดไว้เพื่อนำสัตว์น้ำไปปล่อยในพื้นที่เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำชุมชนบ้านหนองเหมือดแอ่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการด้านประมงและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้แก่เยาวชน นักเรียน และพี่น้องชาวประมง ให้เกิดการรับรู้เชิงประจักษ์อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือในการ อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงอยู่สืบต่อไป
อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า “กิจกรรมย้ายพันธุ์สัตว์น้ำสู่บ้านใหม่ที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในโครงการที่กรมประมงมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อชุบชีวิตสัตว์น้ำคืนสู่แหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่สร้างรายได้สู่ชุมชน โดยหวังกำไรอย่างเดียวนั่นคือ รอยยิ้มแห่งความสุขในการประกอบอาชีพประมง เพียงเท่านี้ถือเป็นการให้กำลังใจที่คุ้มค่ากับเจ้าหน้าที่กรมประมงแล้ว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น