วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

มกอช. แนะเกษตรกรใช้ know how ระบบตามสอบย้อนกลับ QR Trace on Cloud ยกระดับทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค


 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยสูงที่สุด โดยคาดว่าการส่งออกทุเรียนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจีน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค กับสินค้าทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเป็นอย่างมาก จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรไทย มีความปลอดภัยต่อการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ



จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีทุเรียนที่ขึ้นชื่อ คือ ทุเรียนภูเขาไฟมีพื้นที่ปลูกครอบคลุมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยสภาพแวดล้อมของแหล่งผลิตที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟ ทำให้ได้รับแร่ธาตุครบถ้วน ทุเรียนศรีสะเกษจึงมีรสชาติดี และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว มีกลิ่นหอมเฉพาะ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยทุเรียนภูเขาไฟในปัจจุบันได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพจนได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)




ทั้งนี้ มกอช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร จึงขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ผ่านระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace On Cloud) ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี QR Code มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบสู่ผู้บริโภค โดยจัดอบรมการใช้งานระบบ QR Trace On Cloud ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และ GI เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบการตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ สามารถจัดทำ QR Code เพื่อติดบนสินค้า และเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าในตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ (DGT Farm) ได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น



มกอช. มีนโยบายที่จะสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจ ให้ใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตร QR Trace on Cloud และ เว็บไซต์สินค้าเกษตรออนไลน์ (DGT Farm) โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นเลขาธิการ มกอช.กล่าว



ด้านนางเพ็ญภรณ์ นะวะคำ ผู้จัดการสกรณ์ผู้ปลูกพืชผักผลไม้กันทรลักษ์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ตำบลชำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีสมาชิกจำนวน 337 ราย  มีพื้นที่ปลูกกว่า 8,000 ไร่ ซึ่งจุดเด่นของสหกรณ์ฯ คือ มีทั้งเกษตรกรที่เป็นกลุ่มแปลงใหญ่และเกษตรกรทั่วไป โดยทางกลุ่มได้ดำเนินการผลิตทุเรียนตามมาตรฐาน GAP จนมีสมาชิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 75 แปลง พื้นที่ 360 ไร่ และได้รับการรับรองมาตรฐาน GI จำนวน 58 ราย พื้นที่ 276 ไร่ ซึ่งทุเรียนของที่นี่เป็นทุเรียนพรีเมี่ยม  มีทั้งส่งขายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ทั้งนี้ ทาง มกอช. ได้เข้ามาแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบตามสอบสินค้าเกษตร QR Trace On Cloud ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของสินค้าโดยสามารถใช้โทรศัพท์สแกน QR Code ตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรได้

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

มกอช. ติวเข้มผู้ประกอบการผลิตและแปรรูป ผู้นำเข้า รู้ทันการบังคับใช้กฎหมาย FSMA ของสหรัฐฯ


 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มกอช. เป็นหน่วยงานที่ผ่านการรับรองสมรรถนะในฐานะหน่วยรับรองระบบงานความปลอดภัยอาหาร โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) มีบุคลากรที่มีศักยภาพในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาหารระดับภูมิภาค และยังเป็นหน่วยงานประสานเครือข่ายฝึกอบรม Training Provider สำหรับการควบคุมเชิงป้องกันความปลอดภัยอาหารของสหรัฐฯ ร่วมกับนิติบุคคล 18 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งการขยายเครือข่ายฝึกอบรมของ มกอช. ทำให้ประเทศไทยมีเครือข่าย PCQI ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ที่มีความพร้อมต่อการจัดทำเอกสารควบคุมเชิงป้องกันในสถานประกอบการผลิตและแปรรูปเพื่อการส่งออก



ทั้งนี้ มกอช. โดยกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (กนม.) ได้ติดตามศึกษา จัดทำข้อคิดเห็น ตลอดจนถึงเผยแพร่ข้อมูลแนวทางดำเนินการเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายการปรับปรุง               ความปลอดภัยของอาหารให้ทันสมัย (FSMA) ของสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละระเบียบสำคัญพบว่าระเบียบว่าด้วยการทวนสอบซัพพลายเออร์ต่างประเทศ (Foreign Supplier Verification Program: FSVP) ซึ่งเป็นระเบียบบังคับให้ผู้นำเข้าต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารระบบคุณภาพและแผนปฏิบัติภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนควบคุมเชิงป้องกัน และแผนการเรียกคืนสินค้า ผู้นำเข้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เอกสารประกอบการลงทะเบียนในระบบบริการกลาง FSVP Portal ของ U.S.FDA ที่สามารถตามสอบได้จนถึงผู้ผลิตขั้นต้น (ในกรณีสินค้าสดหรือเน่าเสียง่าย) หรือผู้ประกอบการแปรรูป ในขณะที่กระบวนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังต่างประเทศ ทั้งในการขนส่งสินค้าทางเรือหรือทางอากาศ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการจัดหา รวบรวม ขนส่ง เก็บรักษา ตลอดจนถึงพิธีการทางศุลกากรเพื่อนำเข้าและตรวจปล่อยสินค้าในหลายขั้นตอน โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงจรการค้าจำนวนมาก เช่น พ่อค้าคนกลาง ผู้รวบรวมสินค้า หรือผู้จัดหาที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง จึงทำให้ผู้นำเข้าบางรายไม่สามารถจัดหาหลักฐานหรือเอกสารที่จำเป็นสำหรับการตามสอบได้



นอกจากนี้ ยังพบว่า U.S.FDA ไม่มีนโยบายเผยแพร่รายงานการปฏิเสธนำเข้าหรือกักกันสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งฝั่งไทยและผู้นำเข้าปลายทางในกรณีที่             เกิดปัญหาจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ FSVP ดังนั้น มกอช. เห็นควรให้มีการสร้างเสริมองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปต้นทาง ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทย และผู้ประกอบการในวงจรการค้าที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดโครงการสัมมนา ทบทวนกฎหมาย FSMA เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทย มั่นใจส่งออกสหรัฐขึ้นผ่านระบบ Zoom เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมรวมทั้งมี               ความตระหนักต่อความสำคัญของการจัดทำ รวบรวม ตามสอบ และรายงานข้อมูลการปฏิบัติให้สอดคล้อง            ตามกฎหมาย FSMA ตลอดวงจรการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งส่งเสริมโอกาสที่จะใช้              การตรวจรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนภายใต้โปรแกรมการตรวจประเมินโดยหน่วยงานบุคคลที่สาม



จากการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปต้นทาง            ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทย และผู้ประกอบการในวงจรการค้าที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับพื้นฐานและความสัมพันธ์ของระเบียบสำคัญภายใต้กฎหมาย FSMA ที่เป็นกฎหมายแม่บท                      ความปลอดภัยอาหารของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อกระบวนการตามสอบและจัดทำเอกสารระบบคุณภาพ เอกสารด้านการควบคุมเชิงป้องกัน ตลอดจนถึงการประสานข้อมูลระหว่างวงจรการค้าเลขาธิการ มกอช. กล่าว

"ประภัตร”เตือนเกษตรกรระวังการแอบอ้างหาผลประโยชน์ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร”


    นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกลุ่มบุคคล/บริษัทแห่งหนึ่ง ที่ดำเนินการขายผลิตภัณฑ์ด้านเกษตร มีการเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมอบรม โดยแอบอ้างโครงการสานฝันสร้างอาชีพและยกระดับรายได้เกษตรกร พร้อมทั้งให้เกษตรกรลงทะเบียนและแจ้งเก็บเงินค่ามัดจำ จำนวน 6,500 บาท เพื่อแลกผลิตภัณฑ์ของบริษัท มูลค่า 40,000 บาท โดยจะเก็บเงินอีก 20,000 บาท เมื่อเกษตรกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านแล้ว ซึ่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 3 ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ปกยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ 



    ทั้งนี้ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ และโครงการสานฝันสร้างอาชีพยกระดับรายได้เกษตรกร ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐ ไม่ได้ทำข้อตกลงหรือความร่วมมือกับกลุ่มบุคคล/บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ให้เข้ามาช่วยเหลือ และเรียกเก็บค่ามัดจำล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ต้องขอเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ต่างๆ และขอให้เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรช่วยกันเฝ้าระวังอย่าหลงเขื่อหากพบการกระทำความผิดให้รีบแจ้งหน้าที่เพื่อดำเนินคดีและขอให้กำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการสานฝันฯ ให้กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ และแนะนำขั้นตอนกระบวนการทางกฏหมาย เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทันทีกับกลุมบุคคลดังกล่าวต่อไป

    สำหรับ โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ เมนูอาชีพด้านพืช และเมนูอาชีพด้านประมง โดยสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย  ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้ที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในภูมิลำเนา ได้แก่ สำนักงานเกษตร สำนักงานปศุสัตว์ หรือสำนักงานประมง ในท้องที่ มีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย


 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

รองนายกฯ จุรินทร์ ชมบูธ CPF โชว์นวัตกรรมอาหารเพื่ออนาคต ตอบโจทย์สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022


 

รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เยี่ยมชมบูธ ซีพีเอฟ ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 ภายใต้แนวคิด “FOOD FOR THE NEXT DECADE” ชู 5 เทรนด์อาหารเพื่ออนาคตคุณภาพ ปลอดสาร ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์วิถีบริโภคยั่งยืน



นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 โดยมี นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ให้การต้อนรับ ซึ่งในปีนี้ ซีพีเอฟ โชว์ศักยภาพผู้นำธุรกิจอาหารของโลก ภายใต้แนวคิด “FOOD FOR THE NEXT DECADE” อาหารเพื่ออนาคต ชู 5 เทรนด์อาหารยอดนิยม ในอีก 10 ปีข้างหน้า ตอบโจทย์วิถีบริโภคยั่งยืน โดยเฉพาะนวัตกรรมเนื้อจากพืช แบรนด์ “MEAT ZERO” ซึ่งได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมอาหาร (THAIFEX-ANUGA Taste Innovation Show 2022) ผลสำเร็จจากการคิดค้นนวัตกรรม PLANT-TEC หรือเทคนิคการสร้างรสสัมผัส กลิ่น และรสชาติเสมือนเนื้อสัตว์จริง ได้คุณค่าโภชนาการโปรตีนจากถั่วเหลือง มีไฟเบอร์สูง ปราศจากคอเลสเตอรอล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



ภายในบูธ รองนายกฯ เดินชมสินค้าและผลิตภัณฑ์คุณภาพ ไฮไลท์คือ “MEAT ZERO” เนื้อจากพืช นวัตกรรม PLANT-TEC ที่ CPF RD Center พัฒนาร่วมกับศูนย์วิจัยชั้นนำระดับโลก เป็นระยะเวลามากกว่า 4 ปี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีรสสัมผัสเสมือนเนื้อสัตว์จริง ทั้งลักษณะและกลิ่น คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงสินค้าเนื้อสัตว์ ทั้งนวัตกรรมไก่เบญจา และหมูชีวา และสินค้าในกลุ่ม “CP SELECTION” ที่นำนวัตกรรมโปรไบโอติกมาใช้ในอาหารสัตว์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้สินค้า ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของงานในปีนี้ว่า บรรยากาศการจัดงานกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่เราห่างหายไป 2 ปี การจัดงานเป็นรูปแบบไฮบริด มีทั้งการจัดนิทรรศการในพื้นที่จริง (On Ground) ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ควบคู่กับรูปแบบเสมือนจริง (Virtaul) ทางออนไลน์ สำหรับบูธของซีพีเอฟ เป็นตัวแทนของผู้ผลิตอาหารจากประเทศไทยเป็นความภูมิใจของคนไทย ที่มีความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาอาหารเทียบเท่าสากล ทั้งนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ เนื้อจากพืช รวมถึงสินค้ากลุ่มฮาลาล ล่าสุดได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นส่วนสำคัญช่วยสร้างความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย



ซีพีเอฟ จัดแสดงสินค้าคุณภาพสูง รวม 5 โซน ได้แก่ 1.) เนื้อจากพืช แบรนด์ MEAT ZERO ที่ทำให้ "พืช...อร่อยแบบเนื้อสัตว์" 2.) กลุ่มของสด แบรนด์ U-FARM ได้แก่ "ไก่เบญจา" และ "หมูชีวา" รวมทั้งเนื้อไก่ เนื้อหมู และไข่สด “CP SELECTION” ยกระดับความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมโปรไบโอติก 3.) กลุ่มอาหารพร้อมทาน และเมนูเพื่อสุขภาพไฟเบอร์สูง-แคลอรีต่ำ 4.) กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แบรนด์ INNOWENESS ลดอาการภูมิแพ้และหวัด พร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่ Jelly BlackBit เยลลีที่ผสมสมุนไพร กระชายขาว วิตามินซี และวิตามินดี เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และ 5.) กลุ่ม Cooking Helper ได้แก่ ซุป ซอส และผงปรุงรส ช่วยให้การปรุงอาหารเองที่บ้านสะดวกขึ้น

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังจัดกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารจากเชฟชั้นนำ พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Fanpage CPF : https://www.facebook.com/CPFGroup/ และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจและผู้สนใจเยี่ยมชมสินค้าที่บูธแบบเสมือนจริง ทาง https://cpfvirtualexpo.com/ สำหรับเลือกซื้อสินค้า ตลอดจนนัดหมายเจรจาธุรกิจที่ บูธ CPF (U01-U15) ทุกวันตั้งแต่ 2428 พ.ค. 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 28 พ.ค. 2565 พบกับขบวนสินค้าคุณภาพส่งตรงจากโรงงาน พร้อมโปรโมชั่นราคาพิเศษ แบบจัดเต็ม ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธาน

กระทุ้งรัฐ กวาดล้างขบวนการลักลอบนำเข้าหมูระบาดหนักทั่วไทยบ่อนทำลายชาติ เติมทุกข์เกษตรกร แบกปัญหาต้นทุนสูง


 

กระทุ้งรัฐ กวาดล้างขบวนการลักลอบนำเข้าหมูระบาดหนักทั่วไทยบ่อนทำลายชาติ เติมทุกข์เกษตรกร แบกปัญหาต้นทุนสูง

เรื่องโดย จิตรา ศุภาพิชญ์ นักวิชาการอิสระ ศึกษาทางด้านการเกษตร

การทำลายซากหมูแช่แข็ง 21,473 กิโลกรัม โดยกองสารวัตรและกักกัน ที่จับมือกับด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี ดำเนินการ หลังจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จากที่ได้รับรายงานว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรมาจากต่างประเทศและเก็บซุกซ่อนไว้ ถือเป็นภารกิจการเร่งตัดวงจรแหล่งเนื้อหมูเถื่อน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสุกรผิดกฎหมาย

ที่สำคัญหลังจากตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ไม่พบว่ามีการแสดงแหล่งที่มา ไม่มีเอกสารการเคลื่อนย้าย และเมื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อโรคระบาดสัตว์ในห้องปฏิบัติการยิ่งน่ากังวล เพราะตรวจพบว่ามีเชื้อโรคระบาด ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมายมีอยู่จริง และไม่เพียงซากหมู 2 หมื่นกว่ากิโลกรัม ที่ถูกทำลายนี้เท่านั้น แต่ชิ้นส่วนหมูเถื่อนจากการลักลอบนำเข้าโดยขบวนการทำลายชาติเช่นนี้ กำลังแพร่ระบาดทั่วประเทศ พบมากในเขตเมืองหลวงของอุตสาหกรรมหมูอย่างนครปฐม และในตลาดหลายแห่งในกรุงเทพฯ แถมยังมีการโพสต์ขายอย่างโจ่งแจ้ง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีสถานที่เก็บแถวแหลมฉบัง และมหาชัย สินค้าลักลอบเหล่านี้มักสำแดงเป็นอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

วันนี้ไทยกลายเป็นตลาดกระจายชิ้นส่วนหมูเถื่อน ในรูปแบบชิ้นส่วนสดแช่แข็ง (Frozen) ทั้งเนื้อแดง สามชั้น ซี่โครง หนังหมู ไส้ ตับ ขั้วตับ และเครื่องในส่วนอื่นๆ ที่เป็นเศษเหลือทิ้งจากการบริโภค หรือ ขยะของประเทศต้นทาง ทั้งบราซิล เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สเปน และประเทศอื่นๆ ที่วันนี้ถูกเทลงมาที่ไทย การบริโภคหมูลักลอบนำเข้านี้ ไม่ต่างอะไรกับ การป้อนยาพิษให้คนไทย เพราะความเสี่ยงในการได้รับสารอันตรายที่ปนเปื้อนมาด้วย เนื่องจากซากหมูทั้งหมดไม่ผ่านการสุ่มตรวจสอบความปลอดภัย และกระบวนการตรวจสอบโรคตามข้อกำหนดของภาครัฐ โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง ที่ในหลายประเทศอนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงหมูได้อย่างเสรี แต่สารนี้ผิดกฎหมายไทย เพราะห้ามไม่ให้ใช้ในการเลี้ยงหมูมานานกว่า 20 ปี ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546 และคนไทยยังต้องเสี่ยงรับเชื้อโรคเชื้อต่างๆที่มาพร้อมหมูเถื่อน ซึ่งเชื้อโรคทุกชนิดนั้นทนทายาท สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์หมูสดแช่แข็งในอุณหภูมิติดลบได้นานนับปี ยิ่งวันนี้ทั้งโรคโควิด-19 ฝีดาษลิง และโรคติดต่อต่างๆ ก็แพร่กระจายจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกได้อย่างง่ายดาย ยิ่งกลายเป็นความเสี่ยงของคนไทยมากขึ้นดูอย่างผลการตรวจซากหมูเถื่อนข้างต้นในห้องปฏิบัติการ ก็เห็นได้ชัดว่าในชิ้นส่วนหมูนอกผิดกฎหมายที่ไม่รู้แหล่งที่มานั้น มีเชื้อโรคระบาดสัตว์ปะปนมาด้วย เรื่องนี้ยิ่งน่าเป็นห่วงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย ที่จำต้องรับเอาโรคต่างถิ่นที่กลายเป็นภัยคุกคาม อย่างที่ไม่อาจป้องกันใดๆได้เลย



ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้ภาคผู้เลี้ยงก็ประสบปัญหารุมเร้าอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของ ASF ในหมู โรคที่สร้างบาดแผลแสนสาหัสกับอุตสาหกรรมหมูทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย นับตั้งแต่รับรู้การมาของโรคจากจีนเมื่อปลายปี 2561 คนเลี้ยงหมูต่างกังวลต่อภาวะโรคที่ไม่มีแม้แต่ยารักษาหรือวัคซีนป้องกัน หากพบโรคนี้ก็ต้องทำลายหมู 100% เท่านั้น และไม่สามารถเลี้ยงหมูต่อได้ไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูไทยจากกว่า 2 แสนราย เริ่มหายไปทีละน้อย เพราะไม่อยากเสี่ยงกับภาวะขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาภาวการณ์เลี้ยงแทบหยุดชะงักเกือบเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ จนกระทั่งโรคนี้เข้ามาเจาะไข่แดงประเทศไทยได้ ถึงวันนี้คนผู้เลี้ยงเหลือเพียงแสนกว่ารายเท่านั้น จำนวนหมูจึงลดลงไปเกินกว่าครึ่งของทั้งประเทศ  ส่วนคนที่ยังสู้เลี้ยงหมูต่อ ก็ต้องแบกภาระทั้งการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปี และยังเจอกับปัญหาใหญ่เมื่อโลกถูกฉาบด้วยภาวะสงคราม ระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ธัญพืชทั่วโลกขาดแคลน ราคาพืชสำคัญทุกชนิดปรับตัวขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ กลายเป็นแรงกดดันสำคัญต่อภาคผู้ผลิตสัตว์ที่ต้องรับต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สงครามยังมีผลกระทบต่อต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง เป็นอีกต้นทุนก้อนใหญ่ของทั้งภาคขนส่งและภาคการเลี้ยงสัตว์ จึงไม่แปลกที่ต้นทุนการเลี้ยงหมูไทยจะสูงถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

การเข้ามาของเนื้อหมูผิดกฎหมายที่หลั่งไหลมาจากหลายประเทศ จึงซ้ำเติมทุกข์ของเกษตรกร ทั้งเรื่องโรคระบาดสัตว์ที่ติดมาด้วย และความบิดเบี้ยวของตลาดหมู จากการที่เนื้อหมูเหล่านี้มาปะปนขายรวมกับหมูไทย คนไทยยังต้องตายผ่อนส่งจากสารปนเปื้อนอันตราย ที่มองไม่เห็นและไม่มีโอกาสป้องกันตัวเองเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้ จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ หมูผิดกฎหมายนี้จึงสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายกาจ เกินกว่าจะประเมินความเสียหายได้ วันนี้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงต้องเดินหน้าภารกิจตรวจติดตามสต๊อกการผลิตหมูและปริมาณหมู ตามฟาร์ม โรงเชือด และห้องเย็นต่างๆเท่านั้น แต่ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องเร่งกวาดล้าง ไอ้โม่งเหล่านี้ให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ขบวนการนี้มาบ่อนทำลายชาติ กัดกินสุขภาพคนไทย และกลืนกินอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมูได้อย่างเด็ดขาด

เครือซีพี ผนึกกำลังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า “อมก๋อยโมเดล” ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ 10,000 ไร่ สร้างอาชีพ-รายได้-เสริมชุมชนเข้มแข็ง หนุนคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน


 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน อมก๋อยโมเดล”  ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หวัง "สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ" ถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี สนับสนุนเงินทุน และการตลาด มุ่งส่งเสริมการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน



นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าต้นนำที่เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำลำธารตามธรรมชาติ จึงผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาทิ โลตัส แม็คโคร ทรู ซีพีเอฟ ฯลฯ และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 2564-2568อมก๋อยโมเดลเพื่อมุ่ง "สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ" ด้วยการปกป้องรักษาป่าต้นน้ำในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่เป้าหมาย 10,000 ไร่  ด้วยเกษตรกร 710 ครัวเรือน เพื่อสร้างกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) ใน 6 วิสาหกิจชุมชน พร้อมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนใน 20 โรงเรียน ด้วยโมเดลการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน ผ่านการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน บนพื้นฐานชุมชนเข้มแข็ง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน 



โครงการอมก๋อยโมเดล เกิดจากดำริของ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือซีพี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าอมก๋อย ซึ่งพื้นที่ 99% เป็นป่าต้นน้ำ ดังที่มาของชื่อ อมก๋อย ที่มาจากคำว่า อำกอย เป็นภาษาเลอเวือะ หรือ ภาษาละว้า แปลว่า ขุนน้ำหรือต้นน้ำ โดยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ทั้งลำน้ำแม่ต๋อม และลำน้ำแม่ตื่น ที่เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกลับมีสภาพที่เสื่อมโทรม และยังนับเป็นการสนองแนวพระราชดำริ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พื้นที่อมก๋อยมีวิถีแห่งชาติพันธุ์ เพราะถือเป็นอำเภอที่มีชุมชนกระเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี เงินทุน และการตลาด จึงเกิดแนวคิดในการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนที่สูง โดยให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง พื้นที่เป็นตัวตาม แล้วซีพีเป็นตัวเติม ให้ชาวบ้านเข้าใจ เข้าถึง สู่การพัฒนานายจอมกิตติ กล่าว




นายจอมกิตติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันดำเนินตาม 3 แผนยุทธศาสตร์ ทั้ง ยุทธศาสตร์ 1 ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่าต้นต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ ด้วยการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) มีเป้าหมายพื้นที่ปลูกกาแฟรวม 1,000 ไร่ สำหรับในปี 2564 มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกจำนวน 130 ไร่ โดยดำเนินการในบ้านเกียนใหม่ ต.นาเกียน บ้านปิตุคี ต.ยางเปียง และบ้านยางเปียงใต้ ต.ยางเปียง โดยมีเกษตรกรร่วมโครงการ 72 ราย  พร้อมมีแผนสนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟชุมชน จำนวน 1 โรง ในนามโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชน กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) อมก๋อยโมเดล สนับสนุนโดยเครือซีพี ซึ่งถือเป็นกิจการเพื่อสังคม (SE) โดยมีเป้าหมายสร้างกำไรสุทธิ 10,000 บาท/ไร่ ส่วน ยุทธศาสตร์ 2 สร้างอาชีพรายได้ที่ยั่งยืน เกษตรมูลค่าสูง และกิจการเพื่อสังคม โดยในปี 2564 ดำเนินการส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมด้วยพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ได้แก่ ฟักทอง เพื่อจำหน่ายแก่โลตัส (LOTUS’s) และตลาดเครือข่าย โดยดำเนินการในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ต.นาเกียน มีเกษตรกรร่วมโครงการ จำนวน 15 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ปริมาณผลผลิตฟักทอง ประมาณ 64 ตัน ใน 32 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร 960,000 บาท หรือประมาณ 64,000 บาท ต่อราย และยุทธศาสตร์ 3 สร้างชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยโครงการข้าวไร่ 1-2-3 ในแปลงไร่หมุนเวียน เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย ดำเนินการในบ้านปิตุคี ต.ยางเปียง จำนวน 2 ราย ควบคู่กับโครงการการศึกษา (ทรูปลูกปัญญา) โดยดำเนินการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียนในพื้นที่อำเภออมก๋อย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 20 โรงเรียน



            อมก๋อยโมเดล มุ่งสนับสนุนให้ "คนอยู่ร่วมกับป่า" อย่างสมดุล ผลักดันให้ "ธรรมชาติและระบบนิเวศน์ได้รับการฟื้นฟู" ด้วยการเพิ่มจำนวนต้นไม้ราว 850,000 ต้น บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ช่วย "ลดการใช้สารเคมี" ในป่าต้นน้ำสำคัญ สนับสนุนการเกษตรแบบ "ไม่เผา" แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ สร้าง "เกษตรกรรมแบบยั่งยืน" ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยส่งเสริมให้ "ชาวบ้านมีอาชีพรายได้ที่มั่นคง" มีรายได้สุทธิ 10,000 บาท/เดือน หรือ 120,000 บาท/ปี หรือ 45 ล้านบาท ภายใน10ปี เกิด "เศรษฐกิจโดยชุมชน" มูลค่า 136 ล้านบาท ภายใน 10 ปี ใน 710 ครัวเรือน ควบคู่กับการ "พัฒนาการศึกษา" ผ่านทรูปลูกปัญญา แก่ 20 โรงเรียน นักเรียน 3,380 คน ส่งเสริมให้เด็กนักเรียน สามารถดึงศักยภาพของตนเอง สู่การเป็น "เด็กดีและเด็กเก่ง" ทั้งหมดนี้เพื่อ "ตอบแทนคุณแผ่นดิน" สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริงนายจอมกิตติ กล่าวทิ้งท้าย

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

งานวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 59 ปี “ทีมดี ดินดี 59 ปี กรมพัฒนาที่ดิน”


 

กรมพัฒนาที่ดิน จัดงานวันสถาปนากรมฯ ครบรอบ 59 ปี วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “ทีมดี ดินดี 59 ปี กรมพัฒนาที่ดิน” โชว์ผลงานกว่า 5 ทศวรรษมุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ ได้อย่างเหมาะสม สร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่งคั่งให้กับภาคการผลิตอย่างยั่งยืน ตามนโยบายกระทรวงเกษตร และสหกรณ์โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดงาน วันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 59 ปี ณกรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ



ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดี ใจความว่า ผมขอชื่นชมกรมพัฒนาที่ดินที่ตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยยึดมั่นในประโยชน์สุขของประชาชน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด
  และเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญมากของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรากฐานของการผลิตภาคการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตพืช ซึ่งมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ การวางแผนกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาที่ดิน ด้วยการอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดการดินและปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะในสถานการณ์ปุ๋ยเคมีราคาแพงนอกจากนั้นในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกรผ่านเครือข่ายและการสร้างการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ทำให้การทำงานของกรมพัฒนาที่ดินประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมและช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยให้บรรลุตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า “ภาคเกษตรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่งทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” การดำเนินการของกรมพัฒนาที่ดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับว่าประสบผลสำเร็จตามภารกิจที่ได้รับผิดชอบอย่างดียิ่ง ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศมีความมั่งคงทางเศรษฐกิจ และช่วยดูแลรักษาทรัพยากรดิน ของประเทศให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน



นางสาวเบญจพร  ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ได้กำหนดให้มีการจัดงานในวันที่ 23 พฤษภาคม2565  ภายใต้หัวข้อ ทีมดี  ดินดี 59 ปี กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย  อาทิ  พิธีมอบรางวัลประกวดผลงานดีเด่น มอบทุนการศึกษามูลนิธิพัฒนาที่ดินสงเคราะห์ และ ทุนการศึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์  นิทรรศการ 3 มิติ วันดินโลก 2565 ในธีม Soil : Where Food Begins ชมและศึกษาดินชนิดต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ดินของประเทศไทย  นิทรรศการ LDD Value Chain นำเสนอประวัติความเป็นมากรมพัฒนาที่ดิน แอนิเมชันน้องดินดีเล่าเรื่องกระบวนการทำงานของกรม การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการน้ำ เทคโนโลยี การจัดการดิน น้ำ และ ปุ๋ย และการยกระดับเป็นองค์กรอัจฉริยะทางดิน  นิทรรศการปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงทางเลือกทางรอดเกษตรกรไทย พบกับต้นแบบผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพเร่งการเจริญเติบโตพืช และน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง ที่ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 - 12 และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ และผลผลิตทางการเกษตร  นิทรรศการภายในอาคารศูนย์อัจฉริยะ LDD Excellence  กิจกรรม Soil Art @Din room อาทิ ภาพวาดจากสีดิน” “สับปะรดเป็นศรี ดินดีที่ประจวบฯ” “กิจกรรมสัมผัสดิน บูธแสดงสินค้าเกษตร ผัก/ผลไม้ปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย  นอกจากนี้ยังมีการประกวด Din Dee Ambassador ผู้ซึ่งจะเป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดิน ทำหน้าที่สื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูล กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และภารกิจที่สำคัญของกรมพัฒนาที่ดิน ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป



"เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมฯ ได้กำหนดจัดงานโดยให้ความสำคัญภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่การระบาดของโรค โดยหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคได้แก่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดิน 77 จังหวัด และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถรับชมพิธีเปิดงานได้พร้อมกันผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) และ Facebook Live กรมพัฒนาที่ดิน" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว./

 

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ARV และ VARUNA เปิดรับสมัครนักศึกษา สตาร์ทอัพ นักวิจัย และนวัตกรทั่วโลก ร่วมแข่งขัน AI & Robotics Hackathon 2022


 


บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ผู้นำด้านการพัฒนา และให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ในเครือ ปตท.สผ. และบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (VARUNA) ผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ภายใต้เครือ ARV จัดงาน AI & Robotics Hackathon 2022: Open House เปิดตัวการแข่งขัน Hackathon ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ Enabling AI for Zero Hunger and Climate Action การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้าน AgriTech เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และแนวทางการต่อยอดเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมต่อยอดการแข่งขันจากระดับประเทศสู่ระดับนานาชาติ เปิดโอกาสให้ผู้สมัครทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา Start-up, Programmer, Innovator หรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ทั้งชาวไทยและผู้สมัครจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ และนับเป็นก้าวสำคัญสู่โอกาสที่จะได้ร่วมงานกับ ARV ในอนาคต



ดร. ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) กล่าวว่า “ARV มีความมุ่งมั่นในการเฟ้นหาโซลูชั่นต่างๆ ที่จะมาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ตอบโจทย์บรรลุตามเป้าหมายและนำพาสังคมโลกไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เห็นได้จากความสำเร็จในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาใน ด้วยจำนวนบุคลากรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงกว่า 300 คนในปัจจุบัน การก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC และโครงการ 5G x UAV SANDBOX ที่วังจันทร์ วัลเลย์ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาต่อยอดทางธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนการจัดแข่งขัน AI & Robotics Hackathon อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งหมดนี้คือส่วนสำคัญในการสร้างสนามทดลองนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่จะนำมาซึ่งเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้า คู่ค้า และสังคมโลก โดยบริษัทมีความพร้อมในทรัพยากรด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยี หรือการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและธุรกิจในอุตสาหกรรมการเกษตร แก้ไขวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก ลดความอดอยากหิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่สำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งหวังผลในประเทศไทย แต่ครอบคลุมไปถึงระดับนานาชาติ



โดยทาง คุณพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (Varuna) ได้กล่าวถึงแนวโน้มการใช้ AI และ Robotics ในการรับมือกับภาวะการขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ปัจจุบัน กว่า 25% ของประชากรวัยทำงานของโลกต้องแบกรับภาระในการผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรโลกกว่า 7,500 ล้านคน และด้วยแนวโน้มการเติบโตของประชากรโลกวันนี้ ในช่วงเวลาอีก 30 ปีนับจากนี้ โลกจะต้องผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูผู้คนในปริมาณที่เท่ากับอาหารที่ผลิตได้ช่วงเวลาถึง 5,000 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติโควิด-19 ยังส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกยากจนขึ้น เกิดเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่คือเราจะสร้างระบบอาหารของโลกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร



Varuna จึงมีพันธกิจในการนำเทคเทคโนโลยีอัจฉริยะ มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรและส่งเสริมระบบนิเวศ ภายใต้สองแนวทางที่สำคัญคือ การผลิตอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างผลผลิตที่สูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการลดการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มเกษตรกรรมอัจฉริยะแบบครบวงจร (End-to-End Smart Farm Management) ที่ใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่มี อาทิ Data Analytics, UAV, Remote Sensing และ Machine Learning (ML) ตลอดจนแพลตฟอร์มเพื่อใช้ตรวจวัดปริมาณคาร์บอนเครดิต มาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยนวัตกรรมต่างๆ เช่น บริการฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีอย่างแม่นยำโดยใช้โดรนในแปลงเกษตร การสร้างระบบวิเคราะห์ข้อมูลและแผนที่การใช้ที่ดิน ระบบการตรวจสอบสารอาหารในดินเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม และการคาดการณ์ผลผลิตเพื่อการบริหารจัดการด้านอุปสงค์-อุปทาน เป็นต้น รวมไปถึงการใช้ AI เพื่อการรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ



ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดหลักของการแข่งขัน AI & Robotics Hackathon 2022 ในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ Enabling AI for Zero Hunger and Climate Action เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้มีโอกาสได้พัฒนานวัตกรรมด้าน AgriTech ที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายจากภาวะขาดแคลนอาหาร จากสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมขยายขอบเขตการรับสมัครทีมผู้เข้าแข่งขันจากระดับประเทศสู่ระดับนานาชาติเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก มีโอกาสแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านคุณสาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล, Head of Technology, Amazon Web Services (Thailand) (AWS) กล่าวถึงอนาคตของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนว่า “Amazon มีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกในฐานะผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดย AWS ได้พัฒนาโซลูชั่นที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ตั้งแต่การติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจก การอนุรักษ์พลังงาน ไปจนถึงการลดปริมาณของเสีย โดยใช้บริการของ AWS เพื่อนำเข้า วิเคราะห์ และจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ

โดยในงาน AI & Robotics Hackathon 2022: Open House ยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ Reimagine the Future: How AI-ML Empowering Sustainable Agriculture ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในหลากหลายสาขาชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ Dr. Ravi Khetarpal Executive Secretary สมาคมสถาบันวิจัยการเกษตรแห่งเอเชียแปซิฟิก (APAARI) และผศ.พท.ดร. สรวิศ สุภเวชย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี AI และ ML ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน อนุรักษ์น้ำ และลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร ความท้าทายต่าง ๆ ทั้งทางเทคนิค ทางสังคม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะนำข้อมูลในระบบไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมมาทำแผนที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจำแนกประเภทพืชผลในพื้นที่เกษตรกรรม

ปิดท้ายที่การประกาศโจทย์การแข่งขัน โดยคุณธนากร ปัญญาเปียง Machine Learning Engineer, Varuna และผศ.ดร. อนุเผ่า อบแพทย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยโจทย์การแข่งขันครั้งนี้คือ “Create a machine learning model to classify crop types in fields using Sentinel-2 satellite images and crop data from Thailand's eastern region” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเฟ้นหาวิธีการจำแนกพืชผลโดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลและภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นฟีเจอร์ที่สำคัญของแพลตฟอร์ม Varuna ต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทยในอนาคต

การแข่งขัน AI & Robotics Hackathon 2022 เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก ในรูปแบบทีม 2 – 5 คน ไม่จำกัดอายุ ทั้งนักศึกษา สตร์ทอัพ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Remote Sensing และ ML ตั้งแต่ 18-31 พฤษภาคม 2565 และกิจกรรมการแข่งขันจะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 มิถุนายน 2565 และ Final pitching ในวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 20,000 บาท พร้อมโอกาสในการร่วมงานกับ ARV หรือบริษัทภายใต้เครือ ARVข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ https://www.arvhackathon2022.riseaccel.com/ หรืออีเมล sindy@riseaccel.com

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...