วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือ สันนิบาตสหกรณ์ฯ และพันธมิตรจัดงานวันออมแห่งชาติ ประจำปี 63


             ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และสหกรณ์ทั่วประเทศ จัดงานวันออมแห่งชาติประจำปี 2563 เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมให้กับสมาชิกสหกรณ์ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยได้รับเกียรติจาก นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด ในวันเสาร์ ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมงานวันออมแห่งชาติกว่า 1,000 คน

นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า การออม นอกจากจะทำให้ประชาชนผู้ออม มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ยังส่งผลต่อสถานการณ์การออมในภาพรวมของประเทศ ให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืนตามไปด้วย เพราะถ้าประเทศเรามีเงินออมที่เพียงพอ  ก็จะเป็นแหล่งเงินทุนแห่งหนึ่งของประเทศที่นำไปใช้ในการพัฒนาต่อไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทย มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามคนไทยมีการออมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเพิ่มขึ้น เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ และการออมผ่านช่องทางต่างๆ ไว้สำหรับคนหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งสหกรณ์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของประชาชน ที่ก่อตั้งและดำเนินการโดยประชาชน แม้จะเป็นโดยอ้อมในฐานะสมาชิกของสหกรณ์สมาชิก แต่ก็ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อขบวนการสหกรณ์เข้มแข็งก็จะส่งผลต่อความเข้มแข็ง มั่นคงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของประชาชนด้วย



พลตำรวจโท วิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล ประธานฯ ชสอ. กล่าวว่า ในปี 2562 สหกรณ์ไทยมีเงินออมและเงินออมเฉลี่ยต่อสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงินออมกว่า 2.44 ล้านล้านบาท และเงินออมเฉลี่ยต่อสมาชิกกว่า 207,000 บาท โดย ชสอ. ได้จัดงานวันออมแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยในระยะแรกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดงานวันออมแห่งชาติในวันนี้ ชสอ. ร่วมกับร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล FSCT Savings Run ครั้งที่ 1 ณ บริเวณลานทะเลสาบเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมเดิน วิ่งฯ มอบให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ และกิจกรรมสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ทางรอดหลังวิกฤตโควิด–19” โดยคุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เจ้าของแบรนด์ศิริวัฒน์แซนด์วิช อดีตนักธุรกิจพันล้านและพลิกฟื้นจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และ ทอล์คโชว์ คุณค่าของการออม ทางรอดหลังวิกฤตโควิด–19” โดย ดร.อภิชาติ ดำดี นักพูดระดับชาติ ทายาทสหกรณ์ และการมอบโล่เกียรติคุณให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีการส่งเสริมการออม ประจำปี 2563 โดยตั้งเป้าการรณรงค์ให้สหกรณ์ทั่วประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการออมในภาคสหกรณ์เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท

ทางด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์นิคม รวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 สหกรณ์ สมาชิกกว่า 12 ล้านคน โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นสหกรณ์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการออมโดยตรง อย่างไรก็ตามสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ อีกทั้ง 5 ประเภท ก็ได้ดำเนินการส่งเสริมการออมให้กับสมาชิกเช่นเดียวกัน แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของสหกรณ์ที่แตกต่างจากสหกรณ์ออมทรัพย์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรนำของขบวนการสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ไปสู่ความเข้มแข็ง โดยร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมของขบวนการสหกรณ์

กรมประมง โชว์ผลสำเร็จ “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” หนองซับสมบูรณ์ – หนองทานตะวัน สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืน


วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณหนองซับสมบูรณ์ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์  กรมประมง ร่วมกับ จังหวัดบุรีรัมย์ คณะกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำหนองซับสมบูรณ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งจังหัน จัดงาน หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์ปีที่ 3  โชว์ผลสำเร็จจากโครงการ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมซึ่งกรมประมงส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืน จนคว้ารางวัลเลิศรัฐ 2 ปีซ้อน ในโอกาสนี้ นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่บริเวณหนองซับสมบูรณ์ให้การต้อนรับ



นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีความมุ่งหวังที่จะให้ชุมชนได้มีผลผลิตสัตว์น้ำเพียงพอต่อการบริโภค สามารถสร้างรายได้ - ลดรายจ่ายในครัวเรือนให้กับประชาชน รวมทั้งชุมชนมีศักยภาพสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนได้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้หลักการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงได้มุ่งผลักดันโครงการดังกล่าวฯ จนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบและมีการนำไปต่อยอดขยายผล ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ  ดังจะเห็นได้จากโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองซับสมบูรณ์ หมู่ที่ ๗ ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2560 โดยมีคณะทำงานของชุมชน 14 คน  มีนางหนูแดง ทองใบ  เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ  และมีสมาชิกในชุมชนร่วมเป็นหุ้นส่วนจำนวน 81 คน  มีผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 285 หุ้นๆ ละ 100 บาท โดยการดำเนินงานเน้นใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การร่วมคิดวางแผน ดำเนินการ ติดตาม และประเมินผลโดยมีเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงการฯ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการจับผลผลิตสัตว์น้ำขึ้นใช้ประโยชน์กว่า 13 ตัน มีรายได้จากโครงการฯ ทั้งสิ้น 392,764 บาท รายได้ดังกล่าวมาจากการขายบัตรจับปลาและทยอยจับผลผลิตสัตว์น้ำ เป็นเงิน 304,125 บาท การขายปลาสด 75,009 บาท การแปรรูป (ปลาส้ม, ปลาแดดเดียว) 6,140 บาท การขายลูกพันธุ์ปลา 5,490 บาท เป็นสถานที่ดูงาน 2,000 บาท และยังมีการปันผลรายได้เฉลี่ยคืนแก่สมาชิกทุกปี




 ซึ่งที่ผ่านมามีการปันผลคืนแล้ว 2 ครั้งเป็นเงิน 36,705 บาท (ปันผลคืนให้หุ้นละ 175 บาท) ผลจากความสำเร็จของชุมชนบ้านซับสมบูรณ์ดังกล่าว จึงเป็นต้นแบบ ซับสมบูรณ์โมเดลจนสามารถคว้ารางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้ถึง 2 รางวัล ในระยะเวลา 2 ปีซ้อน ดังนี้ 1. รางวัลเลิศรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2561 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วมระดับดีโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงบ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ 2. รางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) “ระดับดีเด่นนางหนูแดง ทองใบ ประธานโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงบ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์

นอกจากนี้ ยังมีผลสำเร็จของโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองทานตะวัน หมู่ที่ 9 ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี พ.ศ.2563 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารโครงการฯ จำนวน 16 คน มีนายเฉลิม  แก้รัมย์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งชุมชนได้ร่วมกันกำหนดกฎกติกาเพื่อดูแลบริหารจัดการแหล่งน้ำ และมีการระดมหุ้นเพื่อตั้งกองทุน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 94 คน มีผู้ถือหุ้นจำนวน 154 หุ้น มีเงินในกองทุนรวมทั้งสิ้น 15,400 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม กรมประมงให้คำแนะนำคอยเป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน พร้อมร่วมกับชุมชนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่ปล่อยอย่างต่อเนื่อง และยังได้ทำการศึกษาดูงานจากแหล่งน้ำหนองซับสมบูรณ์ นำความรู้มาประยุกต์ใช้จนเกิดรายได้ตั้งแต่ในปีแรกที่ดำเนินการ เป็นเงิน 21,917 บาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายลูกพันธุ์ปลานิล 500 ตัว เป็นเงิน 1,500 บาท การขายปลาดุก 278 กิโลกรัม เป็นเงิน 19,467 บาท และการขายปลาในคอก 450 บาท โดยมีแผนจะปันผลคืนแก่สมาชิกหลังจากเปิดจับปลาประมาณเดือนเมษายน 2564 ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปีต่อไป ทางชุมชนจะมีการสร้างโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ บ่ออนุบาลลูกปลา  เปิดจำหน่ายลูกปลาแก่สมาชิก และบุคคลทั่วไป สร้างโรงเรือนแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์มากขึ้น และให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้นำไปต่อยอดดำเนินการในแหล่งน้ำอื่นต่อไป



ด้านนายสุริยันต์ วรรณวงษ์ ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงาน หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์" ปีที่ 3 ถือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของโครงการ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมซึ่งในพื้นที่หนองซับสมบูรณ์ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้กำหนดจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจัดงานปี 2563 จึงเลื่อนมาจัดในเดือนตุลาคมนี้ โดยทำการเปิดขายบัตรในราคา 500 บาท ให้กับสมาชิกและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อมาร่วมจับสัตว์น้ำในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งในปี 2563 นี้ มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ รายได้ที่ได้รับจะนำเข้ากองทุนโครงการฯ และจัดสรรการใช้ประโยชน์ตามกฎระเบียบของโครงการฯ ที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น  โดยจะจัดสรรผลประโยชน์คืนแก่สมาชิกโครงการฯ และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการบริการจัดการแหล่งน้ำ เพื่อเป็นต้นทุนสวัสดิการและพัฒนาชุมชนต่อไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ความสำเร็จของโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม นอกจากจะส่งผลให้ชุมชนมีผลผลิตสัตว์น้ำไว้บริโภคอย่างยั่งยืนสามารถลดรายจ่าย - สร้างรายได้ในครัวเรือนและนำไปสู่การพัฒนาอาชีพได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นต้นแบบของการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้กับชุมชนอื่นได้ ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ประชาชนในชุมชนมีความสงบสุข อยู่ดีกินดี สร้างรากฐานความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

 

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรชวนท่องเที่ยวงาน “ดอกไม้บานที่เหมืองแก้ว ครั้งที่ 2” รับลมหนาว จ.เชียงใหม่

 

            เกษตรฯ ร่วมเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวดอกไม้บานที่เหมืองแก้ว ครั้งที่ 2 ชวนนักท่องเที่ยวชมดอกไม้งามหลากสีสันหลายสายพันธุ์ ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้เพื่อการค้าและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จ.เชียงใหม่ มุ่งสร้างรายได้สู่ชุมชน



            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเปิดงานฤดูการท่องเที่ยว ดอกไม้บานที่เหมืองแก้ว ครั้งที่ 2 ณ สวน I love Flower Farm อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2563 – 30 เมษายน 2564 โดยมีนายกฤตพล รชตเมธานนท์ ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทนนายอำเภอแม่ริม เป็นประธานเปิดงาน และมอบหมายให้นางสาวชฎารัตน์ เมฆเจริญ เกษตรอำเภอแม่ริม ในนามสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริม กล่าวรายงาน ซึ่งเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตไม้ตัดดอกเพื่อการค้า ตำบลเหมืองแก้ว ถือเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเพื่อการค้าที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกไม้ดอกประมาณ 1,038 ไร่ เกษตรกร 353 ราย ทั้งในพื้นที่ตำบลโป่งแยงและตำบลเหมืองแก้ว เช่น กุหลาบ มากาเร็ต พีค็อก สร้อยไก่ เบญจมาศ สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริมได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพไม้ดอกโดยผ่านกระบวนการแปลงใหญ่ ส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิตของกลุ่มและเชื่อมโยงการตลาดในรูปแบบการขายแบบออนไลน์ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทำให้แหล่งปลูกไม้ดอกอำเภอแม่ริมเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  และในส่วนของตำบลเหมืองแก้วมีเกษตรกรจำนวน 78 ราย มีพื้นที่ปลูกไม้ดอกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 203 ไร่ โดยมีนางสาวณวิสา มูลทา Smart Farmer ต้นแบบด้านการผลิตไม้ดอกเพื่อการค้าแบบครบวงจร และกลุ่มสมาชิกผลิตไม้ดอกจำหน่าย โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” การติดต่อผู้ซื้อหรือ Organizer โดยตรง มีการสั่งซื้อล่วงหน้าจึงสามารถวางแผนการผลิตไม้ดอกเป้าหมายให้แก่ตนเองและสมาชิก สามารถผลิตไม้ดอกตามความต้องการของผู้ซื้อหรือตลาดต้องการ เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี 




            เมื่อเปิดสวนดอกไม้ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายภาพความงดงาม พร้อมชมวิถีชีวิตของคนปลูกดอกไม้ในชุมชนได้อย่างใกล้ชิดในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้เกิดกระแสแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ก่อนจะมีการตัดช่อดอกเพื่อส่งถึงมือผู้รับซื้อ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บค่าเข้าชมสวนของนักท่องเที่ยวคนละ 50 บาทเพื่อเป็นค่าบำรุงสวน รวมทั้งการขายอาหาร ของฝาก ของที่ระลึก และเมื่อมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้นก็กระจายรายได้สู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยสวนดอกไม้ในบริเวณนี้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมได้ไปจนถึงเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากมีหลายสวนและวางแผนการผลิตให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอก เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนในชุมชน ทั้งนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่กว่า 4,000-5,000 คนต่อวัน สูงสุด 10,000 คนต่อวัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและคนในชุมชนมากถึง 80-100 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมความสวยงามของดอกไม้บานและสัมผัสกับเทศกาลฤดูหนาวของปีนี้ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริม โทร.053-297323 

 

ซีพีเอฟได้รับมาตรฐานองค์กรจัดการนวัตกรรม ISO56002 เป็นรายแรกของประเทศไทย


         บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดย โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา ได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 เป็นองค์กรแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรองมาตรฐานการบริหารจัดการนวัตกรรมในระดับสากล  โดยได้รับเกียรติ จากนางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นำใบรับรองมาตรฐาน ISO 56002 มอบแก่นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ ณ อาคารซีพี ทาวเวอร์ สีลม 



         นางพรรณี อังศุสิงห์ กล่าวว่า มาตรฐานไอเอสโอ 56002 (ISO 56002)  เป็นมาตรฐานใหม่ ที่สถาบันฯ ส่งเสริมให้กับองค์กรได้มีแนวทาง กระบวนการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้องค์กรได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงการพัฒนานวัตกรรม  โดยซีพีเอฟ เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารนวัตกรรมขององค์กรตามแนวทางมาตรฐานไอเอสโอ 56002  อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนเป็นองค์กรรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติบัตร ไอเอสโอ 56002 จากสถาบันฯ ช่วยตอกย้ำว่าซีพีเอฟเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของโลก ที่มีการดำเนินธุรกิจที่มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและของโลกได้อย่างรวดเร็ว เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สู่ Thailand 4.0



          นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า การได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 นับเป็นความสำเร็จของคณะผู้บริหารและเพื่อนพนักงานของซีพีเอฟทุกท่านและทุกหน่วยธุรกิจ ที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมในกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมมาตลอดระยะเวลา 12 ปี  และ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกบางนา ซีพีเอฟ  มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนและประสบความสำเร็จเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับรองมาตรฐานไอเอสโอ และยังเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆ ของซีพีเอฟในการพัฒนาระบบบริหารจัดการนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล    

        “เป็นแนวทางที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม บุคลากรทุกลำดับชั้นสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ กระบวนการทำงานใหม่ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างยั่งยืนอีกด้วย  ช่วยให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์การ “ครัวของโลก”​ นายสิริพงศ์กล่าว  

       ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรที่เป็นระบบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการจัดอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมประยุกต์นวัตกรรมเข้ากับกระบวนการทำงาน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งการดำเนินโครงการ CPF CEO Award เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับองค์กร และเป็นกิจกรรมแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่รวมไม่น้อยกว่า 45,000 ผลงาน และมีนวัตกรรมที่นำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วรวมถึง 294 ผลงาน 

         บริษัทฯ ยังได้ต่อยอดพัฒนาพนักงานเป็นนวัตกรตามแนวทาง TRIZ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถมี นวัตกรในองค์กรรวมถึง 1,020 คนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรมีการพัฒนานวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาชุดทดสอบแบคทีเรียกลุ่ม Listeria monocytogenes ที่ก่อโรคในอาหาร ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาการตรวจเหลือเพียง 1 วัน  นอกจากนี้ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของคนไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เหมาะสมกับคนในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น 

        ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ (CPF Food Research and Development Center) ณ อำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ผ่ายการคิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ โดยมีโรงงานต้นแบบเป็นพื้นที่ในการทดลองผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งมี ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึงนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพิ่มโอกาสในการตอบสนองตลาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว บนพื้นฐานของความยั่งยืน 

      มาตรฐาน ISO 56002 Innovation Management  เป็นมาตรฐานใหม่ที่สถาบันรับรองไอเอส เริ่มประกาศใช้และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา  ใช้รับรององค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการที่นำเอานวัตกรรมเข้าไปสู่การดำเนินองค์กรในทุกลำดับชั้น สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมได้ เป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถปรับตัวตามทันตลาดและแนวโน้มของสังคม และบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


 

กรมประมงชวนร่วมงานลอยกระทงสไตล์ “ New Normal ” สร้างระยะห่างกัน COVID – 19 เลือกใช้วัสดุย่อยสลายง่าย ลดขยะ รักษ์สัตว์น้ำ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


ประเพณีลอยกระทง...ประเพณีสำคัญของประเทศไทยที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ตามคติความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น เชื่อว่าเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในแหล่งน้ำเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด เชื่อว่าเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เชื่อว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ รวมถึงเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ลอยความทุกข์ ออกจากตนเอง งานลอยกระทงจึงเป็นหนึ่งในประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย โดยในวันงานประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างออกมาร่วมลอยกระทงริมฝั่งของแม่น้ำและลำคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงนี้เราไม่อาจสามารถปฏิเสธได้ว่ามีอีกมิติที่ต้องคำนึงถึงนั่นคือการร่วมสร้างขยะที่ยากต่อการย่อยสลายปริมาณมากในวันถัดไป  

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีมานี้ตลาดนิยมทำกระทงจากวัสดุอาหารสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ขนมปัง ข้าวโพดย้อมสีกรวยไอศครีม เนื่องจากมีความคิดว่าเมื่อลอยเสร็จแล้วกระทงเหล่านั้นจะเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นต่อไปได้ ความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่ดีแต่อย่างไรก็ตามควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวังที่สำคัญไม่ควรนำกระทงไปลอยในแหล่งน้ำปิด อาทิ สระน้ำวัด สระน้ำในสถาบันการศึกษา เพราะหากในแหล่งน้ำไม่มีสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำกินไม่หมดก็จะเกิดการตกตะกอนหมักหมม ส่งผลทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียและอาจทำให้สัตว์น้ำตายได้ อีกทั้งปลาที่จะกินอาหารเหล่านี้มีเพียงปลากินพืชเท่านั้น ปลากินเนื้อ อาทิ ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ ก็จะไม่กินอาหารเหล่านี้ ดังนั้นหากต้องเลือกใช้กระทงเหล่านี้ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ควรเลือกแหล่งน้ำเปิดที่เหมาะสม กรณีเลือกกระทงควรเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ สามารถเก็บขึ้นไปกำจัดได้ทัน หลีกเลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก และ โฟม และวัสดุที่หลากหลายเกินไปเพื่อลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด นอกจากนี้ควรลดขนาดกระทงให้เล็กลงเพราะจะใช้วัสดุน้อยกว่า และหากมาลอยกระทงเป็นครอบครัวหรือคู่รัก ขอให้ใช้กระทงร่วมกันเพียง 1 กระทงเพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันและเป็นการช่วยกันลดปัญหาดังกล่าวข้างต้น

และเนื่องจากในปีนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVIDกรมประมงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกท่าน ขอให้ท่านสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างให้เหมาะสม และพกแอลกอฮอล์เจลพร้อมหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และหากไม่สะดวกเดินทาง การลอยกระทงออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาชนเลือกใช้ในการสืบสานประเพณีไทยในแบบไม่สร้างขยะให้กับแหล่งน้ำและห่างไกลจากเชื้อไวรัสCOVID – 19 ได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ให้เลือกใช้วัสดุทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรณีต้องใช้สีในการตกแต่งกระทงควรใช้สีผสมอาหารไม่ใช้สีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและแหล่งน้ำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยร่วมใจกันสืบสานประเพณีไทยด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย 

 


 

อธิบดีกรมประมง ติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองทานตะวัน จังหวัดบุรีรัมย์


 

      วันที่​ 30 ตุลาคม​ 2563​  เวลา​ 09.00 น.​ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมประมงลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานในโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองทานตะวัน ณ บ้านหว้าใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์  โดยมีนายคำเคลื่อน พณะชัย นายอำเภอกระสัง และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ 



      โดยพื้นที่หนองทานตะวันได้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2563 มีนายเฉลิม  แก้รัมย์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งชุมชนแห่งนี้ได้ร่วมกันกำหนดกฎกติกาเพื่อดูแลบริหารจัดการแหล่งน้ำ และมีการระดมหุ้นเพื่อตั้งกองทุน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯแล้วจำนวน 94 คน มีผู้ถือหุ้นจำนวน 154 หุ้น มีเงินในกองทุนรวมทั้งสิ้น 15,400 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงได้ให้คำแนะนำคอยเป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน พร้อมร่วมกับชุมชนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่ปล่อยอย่างต่อเนื่อง จนเกิดรายได้ตั้งแต่ในปีแรกที่ดำเนินการ เป็นเงิน 21,917 บาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายลูกพันธุ์ปลานิล 500 ตัว เป็นเงิน 1,500 บาท การขายปลาดุก 278 กิโลกรัม เป็นเงิน 19,467 บาท และการขายปลาในคอก 450 บาท และมีแผนที่จะปันผลคืนแก่สมาชิกหลังจากเปิดจับปลาประมาณเดือนเมษายน 2564  



       ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปีต่อไป ทางชุมชนจะมีการสร้างโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ บ่ออนุบาลลูกปลา  เปิดจำหน่ายลูกปลาแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป สร้างโรงเรือนแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อให้โครงการมีความยั่งยืนและต่อเนื่อง และให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้นำไปต่อยอดสำหรับดำเนินการในแหล่งน้ำอื่นต่อไป ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมประมงยังได้พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำของชุมชนภายใต้การมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ    อีกทั้งยังได้ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่หนองทานตะวันจำนวนทั้งสิ้น 52,000 ตัว ได้แก่ ปลานิล 10,000 ตัว ปลาตะเพียนขาว 40,000 ตัว ปลาจีน 1,000 ตัว ปลาสวาย 1,000 ตัว และร่วมปลูกต้นไม้ริมหนองทานตะวันด้วย


 

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เปิดตัวแพลตฟอร์ม WAGRI-dev แรกของโลก เพื่อการเกษตรนวัตกรรมใหม่ของญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชีย


         องค์กรด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอาหารญี่ปุ่น เตรียมจัดสัมมนานานาชาติออนไลน์ “สมาร์ทฟู้ดเชน ประจำปี 2563  (International Smart Food Chain Symposium 2020)” การพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลระดับโลกที่จะช่วยให้การผลิต กระจายและบริโภคอาหารเกิดประสิทธิภาพสูงสุด       

         กลุ่มสมาร์ทฟู้ดเชน (Smart Food Chain Consortium) ซึ่งเป็นโครงการของเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพและการเกษตรที่ชาญฉลาดซึ่งบริหารงานโดยโครงการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ข้ามกระทรวงหรือ Cross-ministerial Strategic Innovation Promotion Program (SIP) และองค์การวิจัยเกษตรและอาหารแห่งชาติหรือ National Agriculture and Food Research Organization (NARO) และ Keio Research Institute at SFC ได้ร่วมมือกันจัดการประชุมสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับสมาร์ทฟู้ดเชน ประจำปี 2563 โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ตัวอย่างการใช้งานแพลตฟอร์มสมาร์ทฟู้ดเชนที่ชื่อ “WAGRI-dev” สู่นานาประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ใกล้ชิดกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมโครงการนี้ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการเกษตรแบบสมาร์ทในภูมิภาคเอเชีย โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะใช้ประโยชน์จากโปรแกรมการสร้างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ (อุตสาหกรรมสมาร์ตไบโอและเทคโนโลยีพื้นฐานด้านการเกษตร) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตทางการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ตลอดจนถึงขั้นตอนการบริโภค กล่าวคือช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ 

         โดยกำหนดจัดสัมมนาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ณ G-Lab, Mita Campus, Keio University ประเทศญี่ปุ่น และที่สำนักงานใหญ่ของ FAO ในกรุงโรม ประเทศไทย เวียดนาม และพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งเผยแพร่ข้อมูลพร้อมกันในระดับนานาชาติผ่านอินเทอร์เน็ต ไปยัง 20 ประเทศในเอเชีย (ประเทศสมาชิก Asian Productivity Organization) การจัดงานดังกล่าวประกอบด้วย 1.การบรรยายหลักโดย Dr. Rosa Rolle, Senior Enterprise Development Officer, Team Leader, Food Loss and Waste, Nutrition and Food Systems Division                                 เกี่ยวกับ Smart Food System และคุณโคบายาชิ โนริอากิ ผู้รับผิดชอบอุตสาหกรรมสมาร์ทไบโอและเทคโนโลยีพื้นฐานทางการเกษตรภายใต้ SIP 2.การบรรยายหัวข้อความปลอดภัยทางอาหารและสมาร์ทฟู้ดเชน และหัวข้อการแนะนำความพยายามในการใช้ประโยชน์ในการกระจายเครือข่ายสมาร์ทฟู้ดเชน 3.การอภิปรายเกี่ยวกับความเป็นไปได้และความคาดหวังในการพัฒนาสมาร์ทฟู้ดเชนในระดับนานาชาติ ผลกระทบจากระบบสมาร์ทฟู้ดเชน ไม่เพียงในแง่ของเศรษฐกิจและธุรกิจกระจายสินค้า แต่ยังรวมถึงมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด 19 และประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารด้วย โดยผู้บรรยายมาจากตัวแทนผู้จัดงานสัมมนา ตัวแทนนักวิชาการ ผู้บรรยายรับเชิญจากในประเทศญี่ปุ่นและประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ดร. นพดล คีรีเพ็ชร นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ร่วมเป็นผู้บรรยายในงานครั้งนี้ด้วย

         จุดมุ่งหมายหลักของการจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการเข้าร่วมแพลตฟอร์มข้อมูล “WAGRI-dev” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในโลก  จะช่วยให้เกิดความเป็นไปได้ที่แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความใกล้ชิดกับการเกษตรแบบสมาร์ทของญี่ปุ่น จะได้ใช้ประโยชน์จากสมาร์ทฟู้ดเชนในการพัฒนาการเกษตรนวัตกรรมใหม่ในประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียต่อไป

 


 

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ไข่ไก่ปรับราคา แต่เกษตรกรยังไม่พ้นวิกฤติ


 

ราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ที่ปรับขึ้นฟองละ 0.20 บาท มาอยู่ที่ 2.90 บาทต่อฟองนั้น เป็นผลจากความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม PS Support ที่ภาครัฐ โดยกรมปศุสัตว์ รับฟังเสียงเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่ในช่วงที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะราคาตกต่ำ จากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด

แผนกิจกรรมเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ จึงถูกขับเคลื่อนให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ ที่มีปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรงขนาด 1 แสนตัวขึ้นไป ร่วมกันควบคุมการปลดแม่ไก่แก่ จากเดิมที่ต้องปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุ 80 สัปดาห์ ให้ขยับเวลาปลดเร็วขึ้นที่อายุ 75 สัปดาห์ ส่วนเกษตรกรรายเล็กลงมาก็ปลดแม่ไก่ตามระยะเวลาที่กำหนดปกติที่ 80 สัปดาห์ ทำให้ปริมาณแม่ไก่ไข่ลดลง ผลผลิตไข่เข้าสู่สมดุลกับปริมาณการบริโภค ขณะเดียวกัน ทางการได้เร่งผลักดันกิจกรรมส่งออกไข่ไก่ ตามแผน PS Support โดยให้ผู้ผลิตลูกไก่ไข่ 16 ราย ร่วมกันส่งออกไข่ไปยังต่างประเทศ เพื่อระบายปริมาณไข่ไก่ส่วนที่เกินจากการบริโภคภายในประเทศ จำนวนรวม 200 ล้านฟอง



พบว่าจนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกไข่ไก่ไปแล้วถึง 330 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 107.34 ล้านฟอง โดยไข่ไก่ที่ส่งออกนี้ถือเป็นการเสียสละของผู้ผลิตลูกไก่ไข่ทั้ง 16 ราย ที่ช่วยกันสร้างสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและการบริโภค แม้จะต้องแบกรับภาระขาดทุนจากราคาไข่ไก่ส่งออกที่ฟองละ 1 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พุ่งสูงขึ้นไปถึงฟองละ 2.55 บาทแล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการทั้งหมดก็ยินดีช่วยกัน เพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั้งประเทศให้เดินหน้าต่อได้ ไม่ให้เกษตรกรต้องล้มหายตายจากเพราะภาวะราคาตกต่ำ ให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาไข่ไก่จะขยับขึ้นมา แต่ก็เพียงฟองละ 0.20 บาทเท่านั้น หากแต่เกษตรกรไม่อาจผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพราะยังต้องแบกรับภาระต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ โดยกากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าราคาปรับเพิ่มขึ้น จากกิโลกรัมละ 15.85 บาทในสัปดาห์ก่อน เป็นกิโลกรัมละ 16.35 บาทในปัจจุบัน ส่วนราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ของไทย ราคาอยู่ที่ 8.95 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดโลก แต่เกษตรกรก็จำต้องแบกรับภาระนี้เพื่อเดินหน้าอาชีพต่อไป



วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศต่างให้ความร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหากันเอง ด้วยการปลดแม่ไก่แก่ยืนกรงตามกำหนดของภาครัฐ ควบคู่กับแผน PS Support ที่เร่งเดินหน้าต่อ เพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงทั้งประเทศประสบภาวะขาดทุนจนต้องเลิกอาชีพ ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ในภาพรวม

ขณะที่ผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆ สามารถช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาและร่วมสร้างเสถียรภาพราคาไขไก่ให้กับประเทศได้ ด้วยการบริโภคไข่ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่การบริโภคไข่ของไทย ยังอยู่เพียง 221 ฟอง/คน/ปี ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อย่างเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ที่บริโภคเฉลี่ยสูงถึง 300 ฟอง/คน/ปี หรือมากกว่านั้น

แค่เพียงทานไข่ไก่คนละ 1 ฟองต่อวัน นอกจากจะช่วยกระตุ้นปริมาณการบริโภคของทั้งประเทศให้เพิ่มขึ้น และสามารถช่วยเกษตรกรได้เดินหน้าอาชีพต่อแล้ว ยังได้สุขภาพดีจากการบริโภคไข่ไก่ โปรตีนคุณภาพเยี่ยม ที่ราคาถูกที่สุด... วันนี้คุณทานไข่แล้วหรือยัง

โดย : นางสาวรัชนีวรรณ สุขสำราญ นักวิชาการด้านปศุสัตว์

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปศุสัตว์ย้ำเนื้อสัตว์ปลอดภัย แนะซื้อจากแหล่งผลิตมาตรฐาน สังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK"


 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกระแสความสนใจด้านการบริโภคอาหารปลอดภัยของผู้บริโภคในปัจจุบัน มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง 



จึงผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์มีการพัฒนากระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่จนถึงการจัดจำหน่ายให้มีมาตรฐานและร่วมกันยกระดับความปลอดภัยในอาหารสู่ผูhบริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว และไข่ไก่ที่ผลิตภายใต้มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์มีความปลอดภัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK” ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและมาตรฐานการจัดจำหน่าย ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ว่า มาจากการเลี้ยงในฟาร์มเลี้ยงมาตรฐาน ผ่านโรงฆ่าสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีใบอนุญาต และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากพนักงานตรวจโรคสัตว์แล้ว



ผู้บริโภคควรใส่ใจเลือกสินค้าเนื้อสัตว์ จากสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ภายใต้สัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK” ซึ่งมีการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร่วมโครงการนี้ทั้งในตลาดสด ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ร้านค้าโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ถือเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ จนถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ดีว่า เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ



ส่วนเนื้อไก่ที่สดต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมาก หรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น และสังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่ ที่สำคัญผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ได้เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัยอย่างแน่นอน

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ ปัญญาภิวัฒน์สานพลังพัฒนากำลังคน หวังสร้างผู้นำภาคเกษตรยุคใหม่



กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ผุดโครงการความร่วมมือ เน้นพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร รวมทั้งบุคลากรทั้งสองฝ่าย หวังให้เกิดการพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรในอนาคตที่มีองค์ความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายในการขับเคลื่อนงานพัฒนาการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างครอบคลุมทั่วถึง และยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ณ ห้อง Auditorium อาคาร CP ALL Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนภาคการเกษตร ส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาเด็ก และเยาวชน ยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer รวมทั้งพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย โดยเป็นการแบ่งปันทรัพยากรบุคลากร นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลการส่งเสริมการเกษตรซึ่งกันและกัน



สำหรับการพัฒนาบุคคลากรทางการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น มีการดำเนินการอย่างระบบบต่อเนื่องในทุกระดับผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่เยาวชนโดยผ่านกระบวนการพัฒนายุวเกษตรกร ปัจจุบันมียุวเกษตรกร จำนวน 5,292 กลุ่ม จำนวนสมาชิก 121,121 ราย ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ โดยพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer สู่ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ปัจจุบันมี Young Smart Farmer จำนวน 13,051 ราย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม นำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการผลิตและการตลาด ปัจจุบันมี Smart Farmer จำนวน 1,101,650 ราย ซึ่งการร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และประสบการณ์เพิ่มขึ้นในทั้งสองฝ่าย



            “การลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลกรภาคการเกษตรให้ขยายผลออกไปในวงกว้าง และประสบผลสำเร็จลุล่วงตามจุดประสงค์ที่วางไว้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไปอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว. 

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ซีพีเอฟ ต่อยอดความสำเร็จหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ดันผลิต "Organic Eggs หนองหว้า"... ไข่ไก่สดจากหัวใจเกษตรกร


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผลักดันกลุ่มเกษตรกรหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ยกระดับมาตรฐานการผลิตไข่ไก่ออร์แกนิค (Organic) สำเร็จเป็นกลุ่มแรกของภาคตะวันออก สร้างอาชีพเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ หรือ Free Range สอดรับความต้องการผู้บริโภคที่ใส่ใจอาหารปลอดภัยและคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์

นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการผลักดันผลิตภัณฑ์ไข่ไก่จากการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ-เคจฟรี หรือ CP Selection Cage Free Egg จนเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์คุณภาพของผู้บริโภค จากความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ในการพัฒนาระบบการผลิตไข่ไก่ที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์และช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตามหลักสากล ล่าสุดบริษัทได้ต่อยอดสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันผลิตไข่ไก่แบบ Free Range นำร่องที่ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงสุกรภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟ มากว่า 43 ปี นับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา เพื่อให้การเลี้ยงไก่ไข่เป็นอีกอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 11 ราย จำนวนแม่ไก่ไข่ 8,000 ตัวสามารถให้ผลผลิตไข่ได้ 5,000-6,000 ฟองต่อวัน



เกษตรกรชาวหนองหว้า ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ ผนวกกับการที่บริษัทเล็งเห็นความสำคัญของ ทุกคนและความตั้งใจที่อยากให้เกษตรกรในชุมชนต่างๆได้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน จึงเกิดเป็นโครงการดีๆที่ซีพีเอฟได้คิดริเริ่มขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ผลิตไข่ไก่สด จากแม่ไก่ที่มีอิสระที่สุดภายใต้การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ด้วยกระบวนการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ กระทั่งสามารถผลิต ไข่ไก่ออร์แกนิคที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการบริโภคยุคใหม่ และถือเป็นการดึงศักยภาพของเกษตรกร สู่การสร้างอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ทั้งยังมีช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีรายได้ที่มั่นคงนายสมคิด กล่าว

ด้าน นายภักดี ไทยสยาม ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นของเกษตรกรชาวหนองหว้าทุกคน ในการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจต่อความปลอดภัยในอาหารอย่างยิ่ง เมื่อซีพีเอฟริเริ่มโครงการส่งเสริมการผลิตไข่ไก่ปลอดภัยขึ้น ชาวหนองหว้าจึงเข้าร่วมโครงการในทันที เกิดเป็น "Organic Eggs หนองหว้า" ไข่ไก่สดจากแม่ไก่ที่อยู่อย่างสบายตามธรรมชาติ ด้วยการเลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระ มีพื้นที่กว้างขวางให้ไก่ได้วิ่งเล่นในสวนยางพาราและสวนมะม่วง ทำให้แม่ไก่ได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ มีแสงแดดและร่มเงาที่เหมาะสม ทำให้ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ ทั้งการคุ้ยเขี่ย เกาะคอน และการวางไข่ ที่ช่วยลดความเครียดและส่งเสริมให้ไก่มีสุขภาพที่แข็งแรง



ขณะที่ซีพีเอฟมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการผลิตไข่ไก่ของเกษตรกร ทั้งด้านเทคนิควิชาการ การพัฒนาสูตรอาหารให้เหมาะสมกับการเลี้ยงไก่เพื่อให้ได้ไข่ไก่ออร์แกนิค พร้อมช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบอินทรีย์เพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ โดยช่วยประสานงานกับแหล่งผลิตถั่วเหลืองในประเทศอินเดีย ตลอดจนส่งสัตวแพทย์มาดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์ และที่สำคัญเกษตรกรไม่ต้องกังวลกับด้านการตลาด เนื่องจากซีพีเอฟดูแลการตลาดให้ทั้งหมด

เราเลี้ยงไก่ด้วยอาหารสูตรพิเศษ ที่มี Probiotics จากสมุนไพรหมัก ทำให้แม่ไก่แข็งแรง เมื่อไก่แข็งแรงก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะและไม่ใช้ฮอร์โมนหรือสารเคมีอื่นๆ ตลอดการเลี้ยงดู จากความใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ไข่ไก่สดหนองหว้า จึงได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และการรับรองรับรองระบบการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ (Layer Chicken and Chicken Egg Organic Production System Certification) จากกรมปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นการรับรองสูงสุดด้านเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และการผลิตไข่ไก่อินทรีย์ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ไข่ไก่ของเรา สด ปลอดภัย มีคุณภาพดี ที่สำคัญการที่ผู้บริโภคเลือกซื้อไข่สดจากเกษตรกรหนองหว้า ไม่เพียงได้รับประทานไข่ไก่ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้ และสนับสนุนการยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยให้กับคนไทยนายภักดี กล่าว

สำหรับผู้บริโภคที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ "Organic Eggs หนองหว้า" สามารถเลือกซื้อได้ทั้งที่ร้านซีพี เฟรชมาร์ท (CP Freshmart) ร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...