วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ประธานฯสสท.ร่วมแสดงความยินดี เปิดแพรคลุมป้ายสสจ.พะเยาและศูนย์ประสานงานด้านกฎหมายสหกรณ์ฯ

         นายปรเมศวร์  อินทรชุมนุม กล่าวว่า "สันนิบาตสหกรณ์มีนโยบายในการ ให้ความรู้ และช่วยเหลือสหกรณ์ด้านกฎหมาย ประกอบกับที่ผ่านมา สหกรณ์มีปัญหาและข้อสงสัยด้านกฎหมายมากมายหลายข้อ และอาจจะต้องเดินทางเสียเวลามาปรึกษาหารือ ที่ศูนย์ประสานงานด้านกฎหมายที่กรุงเทพ สันนิบาตสหกรณ์จึงลงพื้นที่ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือด้านกฎหมายกับสหกรณ์สมาชิก เรายืนยันพร้อมจะเคียงข้างไปกับสหกรณ์ และจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง"



         โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการฯ สันนิบาตแห่งประเทศไทย สสท. ได้เดินทางมาพบปะพูดคุยกับสหกรณ์ในจังหวัดพะเยา และบรรยายเรื่องโครงสร้างกฎหมายสหกรณ์ โดยมีสมาชิกสหกรณ์ให้ความสนใจตั้งกระทู้ถามเป็นจำนวนมาก ซึ่งประธานฯสสท.ก็ได้กรุณาให้คำแนะนำหารือ และตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายสหกรณ์ และระเบียบข้อบังคับนายทะเบียน กฎกระทรวงที่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของสหกรณ์  และในโอกาสนี้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการสหกรณ์ในจังหวัดพะเยา โดยมีนายปรีชา ยะตา ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดพะเยา และคณะกรรมการฯ จึงได้เรียนเชิญประธานฯสสท.เป็นประธานพิธีเปิดแพรคลุมป้ายสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดพะเยาและศูนย์ประสานงานด้านกฎหมายสหกรณ์เครือข่ายสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา จำกัด อ.เมือง จ.พะเยา

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

มกอช. ยกนิ้ว “จิ้งหรีดแปลงใหญ่ท่าชัย” พร้อมดันฟาร์มลูกข่ายสู่ระบบมาตรฐาน

      นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายเกษตรกรแปลงใหญ่จิ้งหรีด ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายเกษตรกรแปลงใหญ่ เพื่อมอบนโยบายและรับฟังปัญหาเกษตรกร 3 จังหวัด ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา



      นายประภัตร โพธสุธน รมช.กษ. กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมพบปะเกษตรกรในครั้งนี้ได้ชี้แจงแนวทางการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสนับสนุนปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งมีสินค้าที่พร้อมให้การสนับสนุนเป็นลำดับต้น เช่น จิ้งหรีด ไก่ไข่ เป็ดไข่ และปลาดุก และแสดงความยินดีต่อการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดแปลงใหญ่ ต.ท่าชัย ที่สามารถยกระดับไปสู่การดำเนินธุรกิจทางการเกษตรแบบ “ตลาดนำการผลิต” พร้อมทั้งแถลงให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของเครือข่ายแปลงใหญ่ โดยมอบหมายกรมปศุสัตว์เร่งรัดดำเนินการ และได้หารือผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรถึงแนวทางให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “ล้านละร้อย” เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนากิจการบนเงื่อนไขการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและการตลาดรองรับ



       เลขาธิการ มกอช.กล่าวว่า จิ้งหรีดถือเป็นสินค้าปศุสัตว์เศรษฐกิจที่มีความต้องการบริโภคสูงและใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย โดยในส่วนของแปลงใหญ่จิ้งหรีดท่าชัยซึ่งผลิตและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งเป็นฟาร์มต้นแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ มกอช. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนต่อการเข้าสู่ระบบมาตรฐานของฟาร์มลูกข่าย ผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาระบบเอกสารคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าปลายทาง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่มีมาตรฐานสูงหรือมีกฎระเบียบการตามสอบที่เข้มงวดจนถึงระดับฟาร์ม




        ด้านนางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชน ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของการผลิตจิ้งหรีดมาตรฐานเพื่อตอบสนองความต้องการโปรตีนในฐานะปศุสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศไทยและของโลก ปัจจุบันฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์สามารถผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ตั้งแต่การอบแห้งและบดผงจิ้งหรีดภายใต้มาตรฐาน GMP การสกัดน้ำมันจิ้งหรีด การผลิตสินค้าแปรรูป เช่น ขนมอบกรอบ น้ำพริกกากหมู ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้มีความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลก รวมทั้งที่เพิ่งเปิดตลาดได้อย่างเป็นทางการ คือ สหรัฐเม็กซิโก 

       ทั้งนี้ พื้นที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีสินค้าปศุสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ จิ้งหรีด ซึ่งมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมการผลิตแบบแปลงใหญ่จำนวน 37 ฟาร์ม ทั้งภายในพื้นที่ ต.ท่าชัย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์ เป็นทั้งศูนย์กลางเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ฟาร์มต้นแบบที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร “Q” และยังเป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีกำลังการผลิตและรวบรวมสินค้าจากทั้งเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่และเกษตรกรฟาร์มมาตรฐานทั่วประเทศ เช่น จิ้งหรีดแปลงใหญ่บ้านแสนตอ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อนำมาแปรรูปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดไม่ต่ำกว่า 15 ตัน/เดือน

 

 

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสหกรณ์ใน จ.เชียงใหม่ จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ 26 ก.พ.64 รำลึก 105 ปี สหกรณ์ไทย


        นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ และขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่ ลานอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีพิธีวางพวงมาลา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” โดยได้มีการจัดริ้วขบวน และฟ้อนรำ การแสดงต่างๆ เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบิดาสหกรณ์ และเพื่อ เป็นการแสดงถึง ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยในครั้งนี้ มีขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง ร่วมจัดนิทรรศการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากสหกรณ์ เช่น ไข่ไก่, ผลิตภัณฑ์นม, ผลิตภัณฑ์กาแฟ, ข้าวสาร, พืชผักเมืองหนาว, ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป และสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ มากมายในราคาย่อมเยาว์



          โดยในปีนี้ สหกรณ์ ครบ 105 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญ ที่ขบวนการสหกรณ์ และสหกรณ์ จะต้องช่วยกันพยุงระบบฐานราก โดยใช้สหกรณ์เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เพื่อให้พี่น้องสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสันนิบาตสหกรณ์ จะเร่งจัดอบรม พัฒนาบุคลากรสหกรณ์ให้มีความรู้ และสร้างเครือข่ายธุรกิจสหกรณ์ให้เข้มแข็ง โดยจะเร่งจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัด ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ




         ในการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564  สันนิบาตสหกรณ์ฯ จึงได้เข้าร่วมในเวทีการพบปะพูดคุย โดยผ่านเครือข่ายสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย พบปะสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สมาชิกในเขตจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง มาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำข้อมูลไปพัฒนาสหกรณ์ และรับฟังปัญหา ตลอดจนข้อกฎหมายต่างๆ ที่หลายสหกรณ์ อาจจะประสบปัญหา หรือยังมีความไม่เข้าใจ เพื่อให้สหกรณ์ สามารถเติบโต และเป็นองค์กร ที่สำคัญ ในการพยุงเศรษฐกิจ ช่วยเหลือสมาชิกใน ยุค New Normal ถึงสันนิบาตสหกรณ์มีความห่วงใยสมาชิก และพร้อมที่จะเคียงข้างไปกับสหกรณ์สมาชิก ในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป

สาส์นจากนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564

ปีนี้สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ covid-19และสันนิบาตสหกรณ์มีนโยบายในการกระจายอำนาจไปสู่ทุกสหกรณ์ภูมิภาคทั่วประเทศ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จึงเน้นให้มีการจัดกิจกรรม วันสหกรณ์แห่งชาติ ในแต่ละภูมิภาคโดยให้สหกรณ์ในแต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมในจังหวัดนั้นๆ และให้กรรมการ สันนิบาตสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละจังหวัดเพื่อให้งานสหกรณ์แห่งชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจับมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ประธานฯ สสท. ย้ำ! พร้อมส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ไทยให้เป็นกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน

  


สันนิบาตสหกรณ์ฯได้จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติประจำปี 2564 ณ ลานพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ และอาคารยรรยง สิทธิชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ "พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย" และเป็นการแสดงถึงความรู้รักสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของขบวนการสหกรณ์ไทย ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ระบบสหกรณ์ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้สหกรณ์ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของประชาชนในระดับฐานรากเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยวิธีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ เช่น การมีส่วนร่วมของสมาชิก ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ การเอื้ออาทรต่อชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก และการสหกรณ์ในประเทศไทยนั้นได้มีการพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนางานสหกรณ์ในประเทศต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับเป็นลำดับแรก สหกรณ์จึงจำเป็นต้องนำระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ มาปรับใช้ในสหกรณ์ให้สมาชิกสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง วันสหกรณ์แห่งชาติในปีนี้ สันนิบาตสหกรณ์ฯ จัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลางยังคงมีการวางพุ่มสักการะเหมือนเช่นทุกปี เพื่อให้สหกรณ์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมาร่วมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ในส่วนภูมิภาคเราจัดที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะมีการอ่านสาส์นวันสหกรณ์แห่งชาติจากท่านนายกรัฐมนตรี การรำเทิดพระเกียรติ การวางพวงมาลาสักการะบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย การเสวนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยพบปะสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สหกรณ์สมาชิกในเขตจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงมาร่วมงาน เป็นการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำข้อมูลไปพัฒนาสหกรณ์ เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในมิติที่กว้างขวางขึ้น รวมทั้งร่วมกันพัฒนาระบบสหกรณ์โดยมีสันนิบาตสหกรณ์ฯเป็นแกนกลาง ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งนำไปสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป  

สำหรับการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติประจำปี 2564 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยยังคงให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมของแต่ละจังหวัด พร้อมให้งบอุดหนุนแก่จังหวัดต่างๆที่แสดงความจำนงในการจัดงานมายังสันนิบาตสหกรณ์ และมอบหมายให้คณะกรรมการฯ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ชุดที่ 25 เข้าร่วมกิจกรรมในส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดตาก ปราจีนบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช นนทบุรี พิจิตร บุรีรัมย์ ขอนแก่น เพชรบุรี เชียงใหม่ จึงขอชวนเชิญพี่น้องในขบวนการสหกรณ์ มาร่วมงานวันสหกรณ์แห่งชาติที่จัดขึ้นในแต่ละจังหวัดในครั้งนี้ด้วย

                        

 

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“ประภัตร” เชิญเชฟโชว์ปรุง 8 เมนูอาหาร “จิ้งหรีด-แมลงกินได้” หนุนส่งเสริมเกษตรกรไทยเลี้ยงจิ้งหรีด เตรียมพร้อมรับตลาดส่งออก

          นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เชิญเชฟโอ๊ต อิทธิกร สรศาสตร์ จากร้าน Insect In The Backyard และ เชพ เกษร แม่นแก้ว จากร้าน CnC café มาแนะนำวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของแมลงกินได้และจิ้งหรีดสำหรับนำมาประกอบอาหาร รวมทั้งเคล็ดลับ เทคนิคในการปรุงเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของแมลงกินได้และจิ้งหรีด ให้อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งมีเมนู ดังนี้ 1.ซีซาร์สลัด ด้วงสาคู 2.นาโชส์แมลง 3.แมลงรวมผัดพริกเกลือ 4.พาสต้าเส้นสะดิ้งผัดแห้งด้วงสาคู 5.มัลเบอร์รี่ชีสพายสะดิ้ง 6.ข้าวจี่ 7.น้ำพริกเผา 8.ข้าวผัดจิ้งหรีด โดยมีนายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯ พร้อมด้วยนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองเลขาธิการ มกอช. นายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 3 มกอช. และกรมปศุสัตว์ ร่วมชมการแนะนำและ สาธิตการปรุงอาหารในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



          นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้สู้ภัยแล้ง โดยต้องการผลักดันให้มีโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการค้าและการส่งออก และพร้อมสนับสนุนด้านการอบรมให้ความรู้ จัดสรรอุปกรณ์การเลี้ยง อาหารเลี้ยงจิ้งหรีดต้นทุนต่ำ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการประกันราคา นอกจากนี้ยังร่วมหารือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะนำผลงานวิจัย "นวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและสัตว์แบบครบวงจร ด้วยระบบ Modern insect faming และ Zero-waste process" มาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร




          “ในส่วนของ มกอช. ปัจจุบันได้จับมือกรมปศุสัตว์ ประสบความสำเร็จในการเจรจาผลักดันการเปิดตลาดจิ้งหรีดไปเม็กซิโก ทำให้สามารถส่งออกจิ้งหรีดเพิ่มไปยังเม็กซิโกได้ โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้จัดทำข้อมูลทางเทคนิค ตามแบบสอบถามการประเมินความเสี่ยงสุขภาพสัตว์ของสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัยและคุณภาพของการเกษตรและอาหารของเม็กซิโก (SENASICA)  ซึ่งหลังจากที่เอกสารของไทยผ่านการพิจารณาจากฝ่ายเม็กซิโก ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมจัดทำรูปแบบใบรับรองสุขอนามัยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของเม็กซิโก โดยปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปในรูปแบบของใบรับรองสุขอนามัยร่วมกันแล้ว และ SENASICA อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดของไทยอย่างเป็นทางการ”รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว  

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ หนุนรัฐเร่งส่งออกไข่ระบายส่วนเกิน สร้างเสถียรภาพราคาในประเทศช่วยเกษตรกร


             บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) เร่งส่งออกไข่ไก่ สร้างสมดุลปริมาณกับการบริโภค หวังสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ทั้งอุตสาหกรรม ช่วยพยุงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ลดผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ



นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากภาวะราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำ เนื่องจากการบริโภคที่ลดลงของประชาชน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ห้างร้านต่างๆ ร้านอาหาร และตลาดบางแห่งต้องปิดทำการ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร อยู่ที่ราคาฟองละ 2.50 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ในไตรมาสที่ 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) เฉลี่ยสูงขึ้นมาฟองละ 2.66 บาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

ปัญหาภาวะขาดทุนดังกล่าว ส่งผลกับเกษตรกรในทุกระดับทั้งฟาร์มเล็ก กลาง และผู้ประกอบการรายใหญ่ ภาครัฐโดยเอ้กบอร์ด จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยการออกมาตราการเร่งผลักดันไข่ส่วนเกินภายในประเทศ จำนวน 100 ล้านฟอง โดยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ (ภาคสมัครใจ) ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 50 ล้านบาท และให้เกษตรกรสมทบอีก 100 ล้านฟอง รวมเป็น 200 ล้านฟอง



ซีพีเอฟในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไข่ไก่ ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยการผลักดันการส่งออกในเฟสแรกรวม 60 ล้านฟอง (จำนวน 185 ตู้) บริษัทจะดำเนินการส่งออก 16 ล้านฟอง (จำนวน 50 ตู้) แม้ว่าในการส่งออกจะต้องขาดทุนถึงฟองละ 40-50 สตางค์ ก็ตาม แต่บริษัทก็ยินดี เพื่อสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิต ให้สอดคล้องกับการบริโภคของประชาชน ช่วยให้เกิดเสถียรภาพราคาไข่ไก่ทั้งอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายอื่นๆ ร่วมกันสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศที่ประสบปัญหาขาดทุน ทำให้มีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถต่อยอดอาชีพเดียวที่มี ให้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันนายสมคิด กล่าว

อ.ส.ค.ปลื้มธุรกิจธุรกิจแฟรนไชส์“ร้านมิลล์แลนด์” แรงดีไม่มีตก คึกหนักวางเป้า5ปีขยายเพิ่ม 500 สาขาทั่วประเทศ


                 อ.ส.ค.ปลื้มธุรกิจแฟรนไชส์ “ร้านมิลล์แลนด์” โตพรวดสวนกระแสวิกฤติโควิด-19  เผยคนแห่สมัครเปิดกว่า 100 ราย   เตรียมสบช่องเตรียมปั้นขึ้นแท่นBrand   Love มัดใจแฟนคลับนมไทย-เดนมาร์คเพิ่มขึ้น พร้อมวางเป้าภายใน 5ปีขยายเพิ่ม 500สาขาทั่วประเทศ  หวังดันรายได้ธุรกิจนมอ.ส.ค.เพิ่มขึ้น 10%



 นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์  รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า  ภายหลัง อ.ส.ค.ได้มอบหมายให้บริษัท ทีสตอรี่ พระราม ๙ จำกัด เข้ามาเป็นผู้รับสิทธิ์บริหารธุรกิจแฟรนไชส์ Thai-Denmark Milk Land แทน อ.ส.ค. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น   ส่งผลให้การดำเนินงานบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ Thai-Denmark  Milk  Land ได้รับการยอมรับและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมที่มีอยู่ 102 สาขา หลังจากบริษัท ทีสตอรี่ฯ เข้ามาบริหารสามารถขยายสาขาเพิ่มได้อีก  30สาขา ซึ่งทาง อ.ส.ค. ได้มีการวางเป้าหมายไว้ว่าจะขยายสาขาไว้ปีละ 70 สาขา  และภายใน 5ปีจะขยายสาขาให้ครบ ประมาณ 500 สาขา



     “ปัจจุบันร้าน Thai-Denmark Milk Land หรือ คาเฟ่นม ได้รับกระแสตอบรับจากผู้บริโภคดีเกินคาด ในปี 3 เพิ่มขึ้นอีก 30 สาขาและอยู่ขั้นตอนพิจารณาอีก 100 ราย แม้ในช่วงนี้ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขยายสาขาแฟรนไชส์ Thai-Denmark Milk Land แต่อย่างใด  นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยหันมาดูแลสุขภาพในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 มากขึ้นโดยการบริโภคนมซึ่งมีสารอาหารครบถ้วนในการบำรุงสุขภาพร่างกาย  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คทุกชนิดนั้นเราผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100%ไม่ผสมนมผง  จึงทำให้ผู้บริโภคให้ความมั่นใจมากขึ้นและทำให้เป็นจุดได้เปรียบของอ.ส.ค. ” นายสุชาติ  กล่าว   



  นายสุชาติ   กล่าวอีกว่าแผนขยายธุรกิจแฟรนไชส์ Thai-Denmark Milk Landในปี 2564 ยังมีเป้าหมายเปิดรับแฟรนไชส์ประมาณ 80 สาขา  โดยมุ่งทำเลเป้าหมายย่านชุมชน สถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า  ออฟฟิศ โรงพยาบาล ทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและต่างจังหวัด  โดยขณะนี้บริษัท ทีสตอรี่ฯก็ได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ รวมไปถึงแผนการส่งเสริมการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ Thai-Denmark Milk Land โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวมิวสิควิดีโอชื่อเพลง “ Ma Ma Milk “ ภายใต้สโลแกน From Farm To You  นำโดย BNK48 ซึ่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ของร้าน THAI-DENMARK MILK LAND   เพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนในการสร้างการจดจำ ส่งเสริม และรณรงค์การบริโภคนมในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป  สามารถรับชมได้ทางYouTube, เพจ MilkLand  Story  นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโฆษณากลางแจ้ง อาทิ โฆษณาบิลบอร์ดแบบดิจิทัล ,รถไฟฟ้า BTS ,สื่อเคลื่อนที่ (Mobile) ผ่านโฆษณาบนตัวรถประจำทางในกรุงเทพฯ (Bus Media) กว่า 30 คันและ เป็นต้น




นายสุชาติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า การหันมาจับธุรกิจแฟรนไชส์ Thai-Denmark Milk Land ของอ.ส.ค.ในช่วงที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพและเห็นความสำคัญในการดื่มนมมากขึ้น   ถือเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสที่ลงตัวพอดี   พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าร้านMilk Landจะช่วยทำให้ อ.ส.ค. เข้าถึงลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างแบรนด์ไทย-เดนมาร์คและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยอ.ส.ค.วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดกระแสแบรนด์เป็นที่รักในใจของลูกค้า(  Brand Love)  เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความผูกพันกับแบรนด์และต่อยอดเป็น Customer Lifetime Value (CLV) หรือการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว 

สำหรับ บริษัท ทีสตอรี่ฯ เป็นผู้รับสิทธิ์บริหารธุรกิจแฟรนไชส์แทน อ.ส.ค. เริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาโดยมีสัญญา 5 ปี ก่อนนี้ทาง อ.ส.ค. ได้ดำเนินการร้าน Thai-Denmark Milk Land มาตั้งแต่ปี 2561 โดยลงทุนเองและเปิดขายแฟรนไชส์ แต่จากนี้ อ.ส.ค. จะโอนร้านที่มีอยู่ให้ทีสตอรี่ฯ ดำเนินการบริหาร ต่อไป โดย อ.ส.ค.ได้วางเป้าหมายธุรกิจดังกล่าวจะทำรายได้ให้ อ.ส.ค. ประมาณ 10% จากสาขาทั้งหมด  

 


วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“ส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้” แม็คโคร เน้นปลอดภัยต้นน้ำถึงปลายน้ำ ชูจุดเด่น ผู้บริโภคสอบย้อนกลับได้ ผ่าน QR code


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ยกระดับโครงการ ส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้จับมือ กระทรวงเกษตรฯ และสองมหาวิทยาลัย  เดินหน้าพัฒนากระบวนการปลูก-เก็บเกี่ยวปลอดภัย หนุนใช้สารชีวภัณฑ์ ลดการใช้ยาฆ่าแมลง พร้อมตรวจเข้มสารเคมีตกค้างตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่แปลงปลูกถึงมือผู้บริโภค ช่วยเกษตรกรไทยระบายผลผลิตส้มคุณภาพกว่า 4,000 ตันต่อปี

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ในบรรดาสินค้าผักผลไม้ที่แม็คโครรับซื้อจากเกษตรกร ส้มติดอันดับหนึ่งในห้าที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนต้องการบริโภคผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  ซึ่ง แม็คโคร ได้ยกระดับ โครงการส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้ที่ทำมานานกว่า 6 ปี ด้วยการเพิ่มข้อมูลด้านความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ง่ายผ่าน QR code makro i-Trace”



ส้ม เป็นสินค้าที่ลูกค้ามีความต้องการบริโภคมาก  แต่ละปี แม็คโคร จำหน่ายส้มจากเกษตรกรไทยไม่น้อยกว่า 4,000 ตันต่อปี ฉะนั้นความปลอดภัยของส้มจึงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง เราจึงได้ริเริ่มโครงการส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้ ขึ้นเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการพัฒนาให้ส้มจากเกษตรกรไทยที่เราจัดจำหน่าย มีความปลอดภัยสูงสุดเพื่อความมั่นใจในการบริโภค โดยมีกระบวนการหลักๆ ดังนี้

-จับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการให้ความรู้ และลงพื้นที่แนะนำวิธีการปลูกและใช้สารกำจัดแมลงที่ปลอดภัย ให้กับเกษตรกรกว่า 60 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ 

-ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาสวนส้มให้ผ่านมาตรฐาน GAP และแนะนำให้บริหารจัดการตลอดกระบวนการอย่างปลอดภัย เช่น เข้มงวดเรื่องการเก็บเกี่ยวในระยะปลอดภัยหลังจากการใช้สารกำจัดแมลง

-ส่งเสริมให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลง โดยเน้นใช้สารชีวภัณฑ์จากสะเดาทดแทน 

-ผลผลิตต้องผ่านการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง ตั้งแต่ต้นฤดูกาล จนถึงปลายฤดู ด้วยห้องปฎิบัติการรับรองมาตรฐานระดับสากล ISO/IEC 17025 ตลอดจนเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสินค้าทุกล็อตก่อนออกจากสวน และที่ศูนย์กระจายสินค้า 

-ที่สำคัญข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด makro i-Trace ที่ติดอยู่ในบรรจุภัณฑ์ หรือป้ายแสดงคิวอาร์โค้ด ณ จุดจำหน่าย



โครงการดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาด้านอาหารปลอดภัย อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนตอกย้ำความเป็นผู้นำในการจำหน่ายสินค้าอาหารสดปลอดภัยของแม็คโคร และเรามีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนผลักดันและส่งเสริมการผลิตและจำหน่าย ส้มที่ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ แม็คโคร ได้คุมเข้มมาตรการด้านอาหารปลอดภัยตลอดกระบวนการจนถึงมือผู้บริโภค  และได้รับการรับรองจากกรมอนามัยในการเป็นสถานประกอบการปลอดภัยป้องกันโควิด-19 ในทุกสาขา สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าประชาชน ผู้ประกอบการ  ตอบโจทย์การซื้อขายสินค้าในยุคชีวิตวิถีใหม่ด้วย

คอมพาร์ทเม้นต์ ไก่เนื้อ ปราการสำคัญต้านหวัดนก-โรคสัตว์ปีก


 

คอมพาร์ทเม้นต์ ไก่เนื้อ ปราการสำคัญต้านหวัดนก-โรคสัตว์ปีก

โดย นายสัตวแพทย์ พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการด้านมาตรฐานอาหารสากล ซีพีเอฟ

การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง 5 ชนิด ได้แก่ H5N1 H5N5 H5N6 และ H5N8 รวมทั้ง H5Nx (ไม่สามารถแยก N ได้)  ในทวีปยุโรป ทั้งเยอรมนี โปแลนด์ ฯลฯ รวมถึงทวีปเอเชีย ในญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน อิหร่าน เวียดนาม อิรัก กัมพูชา และเกาหลีใต้ ตามประกาศขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health or Office International des Epizooties : OIE) รวมถึงเคสล่าสุด ที่ประเทศรัสเซีย ที่พบการติดเชื้อสายพันธ์ใหม่  H5N8  ในมนุษย์ เป็นครั้งแรกของโลก ทำให้ทุกประเทศต่างต้องตั้งการ์ดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างเข้มแข็งกันอีกยก หลังจากซ้อมฟุตเวิร์คอย่างต่อเนื่องมาตลอด



สำหรับประเทศไทย นำทัพโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ ที่ได้สั่งการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการคุมเข้มป้องกันเต็มพิกัดทุกพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ทุกฝ่ายต่างเข้มแข็ง และร่วมกันปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของเรา ไม่ให้ไข้หวัดนกเล็ดรอดเข้ามาได้ เพราะไทยมีความตื่นตัวนับตั้งแต่มีการระบาดในประเทศครั้งแรก เมื่อปี 2547 ซึ่งเวลานั้นกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาในทันที ทำให้ไทยสามารถป้องกันการระบาดของโรคนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่พบการติดเชื้อนี้ในคนตั้งแต่ปี 2549 และคงสถานะประเทศปลอดไข้หวัดนกตามรายงานของ OIE นับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยนำ ระบบคอมพาร์ทเม้นต์สัตว์ปีกปลอดโรคไข้หวัดนกมาประยุกต์ใช้ในการกระบวนการผลิตไก่เนื้อ โดยมีซีพีเอฟ เป็นรายแรกที่นำหลักการจัดทำคอมพาร์ทเม้นต์ของ OIE มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร ทั้งในธุรกิจไก่เนื้อและเป็ดเนื้อ ภายใต้โครงการ ปลอดโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ด้วยแนวคิดที่ว่า "วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง" เพื่อควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนก และสร้างความมั่นใจด้านอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

โครงการนี้ดำเนินการด้วยมาตรการเชิงรุกใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Common Biosecurity) ที่มีมาตรการป้องกันโรคที่สอดคล้องกันตลอดห่วงโซ่การผลิต 2. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก (Surveillance) ทั้งภายในคอมพาร์ทเม้นต์และพื้นที่กันชน รัศมี 1 กิโลเมตร รอบฟาร์ม 3. การควบคุมโรค (Control Measure) และ 4.การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ซึ่งหลักการทั้ง 4 ประการ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยการผลิตสัตว์ปีกปลอดไข้หวัดนก ที่สำคัญ บริษัทยังพัฒนามาตรการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) ด้วยหลักการ Hazard Analysis & Critical Control Point สำหรับโรคไข้หวัดนก ตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ เพื่อการป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในโครงการคอนแทร็คฟาร์มของบริษัท ให้จัดทำระบบคอมพาร์ทเม้นต์ โดยมีสัตวแพทย์ของบริษัทให้คำแนะนำใกล้ชิดและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์ตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการป้องกันโรคอย่างยั่งยืน

ระบบคอมพาร์ทเม้นต์ของบริษัท ยึดหลักป้องกันตั้งแต่ต้นทาง โดยมีสัตว์เป็นศูนย์กลาง ด้วยการเลี้ยงในโรงเรือนปิดปรับอากาศ (EVAP) ใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุม เจ้าหน้าที่สัตวบาลจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปภายในโรงเรือน สามารถตรวจสอบการเลี้ยงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยการดูแลการเลี้ยงผ่านกล้องวงจรปิด ที่สำคัญยังแบ่งพื้นที่การเลี้ยงและพื้นที่อยู่อาศัยของบุคลากรออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะสัมผัสตัวไก่น้อยลง ถือเป็นการลดความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้าสู่ตัวสัตว์ จึงมั่นใจได้ว่าไก่ที่ผลิตด้วยระบบคอมพาร์ทเมนท์สะอาดและปลอดภัย ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟมีการพัฒนาระบบคอมพาร์ทเม้นต์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดเด่นของบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร เอื้อประโยชน์ให้สามารถควบคุมคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งช่วยป้องกันโรคสัตว์ปีกที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต (emerging disease) ตลอดจนช่วยสนับสนุนการค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกระหว่างประเทศ



ความสำเร็จทั้งหมดนี้ เข้าตาคณะผู้แทนอนุภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ OIE ที่ได้ชมความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบคอมพาร์ทเม้นต์ ของบริษัท โดยนำข้อมูล ความรู้ และความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดการจัดการตามระบบคอมพาร์ทเม้นต์ ของภาครัฐและเอกชนของไทย ไปถ่ายทอดให้ผู้เกี่ยวข้องในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก OIE ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการป้องกันโรคไข้หวัดนกในแต่ประเทศต่อไป

การป้องกันและตรวจสอบอย่าเคร่งครัดด้วย ระบบคอมพาร์ทเม้นต์ ถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของความสำเร็จ ในการป้องกันโรคไม่เฉพาะไข้หวัดนก แต่ยังเป็นปราการสำคัญในการป้องกันโรคสัตว์ปีกอื่นๆได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันการสร้างอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กรมหม่อนไหมจับมือกรมราชทัณฑ์หนุนสร้างอาชีพผู้ต้องขังในเรือนจำ ขยายผล “โครงการคืนคนดีสู่สังคม” ตามแนวทางพระราชดำริ


       กรมหม่อนไหมจับมืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ เร่งขยายผลโครงการคืนคนดีสู่สังคม ตามแนวทางพระราชดำริ เดินหน้าส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน  พร้อมตั้งเป้าปี 64 หนุนเพิ่มอีก 23 แห่งทั่วประเทศและผลักดัน โมเดลภาคเหนือครบวงจรนำร่องในพื้นที่ ลำปาง ลำพูนและเชียงใหม่ หวังสร้างรายได้มั่นคงแก่ผู้ต้องขังในอนาคต



นายปราโมทย์ ยาใจ   อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า  กรมหม่อนไหมได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์เดินหน้าเร่งขยายผลการดำเนินการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมภายใต้โครงการคืนคนดีสู่สังคม ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยกรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯทุกเขตและศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่โดยบูรณาการร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน ตั้งแต่การปลูกหม่อน ทั้งหม่อนใบและหม่อนผลสด การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อมสี การออกแบบลวดลาย การทอผ้าไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมที่หลากหลาย ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี 




สำหรับผลดำเนินการล่าสุดได้ดำเนินการในเรือนจำและทัณฑสถานไปแล้ว 16 แห่ง และมีแผนดำเนินการเพิ่มเป็น 23 แห่งในปี2564 ในส่วนของภาคเหนือจังหวัดลำปาง ลำพูนและเชียงใหม่ได้นำร่องจัดทำโมเดลภาคเหนือครบวงจร โดยเริ่มจากกระบวนการต้นน้ำ ดำเนินการโดยทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง คือ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวเส้นไหม และเป็นศูนย์กลางกระจายเส้นไหมไปยังเรือนจำอื่นๆ ถัดมาคือกระบวนการกลางน้ำ ดำเนินการโดยเรือนจำจังหวัดลำพูน มีการจัดทำจุดเรียนรู้ด้านหม่อนไหม และฝึกอบรมทอผ้าไหมยกดอกลำพูนเพื่อให้ได้ 2 มาตรฐานได้แก่ ตรานกยูงพระราชทาน และ GI ผ้าไหมยกดอกลำพูน และสุดท้ายคือกระบวนการปลายน้ำ ดำเนินการโดยทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนให้ได้มาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน การออกแบบ/พัฒนาลวดลายผ้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมรูปแบบต่างๆให้เหมาะสมกับตลาด ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถผลิตผ้าไหมและได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานสีน้ําเงิน จำนวน 680 เมตร อีกทั้งในอนาคตจะมีแผนส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม เช่น ชาใบหม่อน น้ำมัลเบอร์รี่ สบู่โปรตีนไหม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามศักยภาพพื้นที่ต่อไป



ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์  กล่าวว่า    กรมราชทัณฑ์ มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพ ภูมิศาสตร์ และประชากรศาสตร์ โดยมีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 143 แห่งทั่วประเทศ ที่พร้อมรับการฝึกอบรม โดยการสนับสนุนจากกรมหม่อนไหมในพื้นที่ ดำเนินการอบรม ให้คำแนะนำปรึกษาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขัง เมื่อหลังพ้นโทษไปแล้ว ผู้ต้องขังเหล่านี้ จะสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ตลอดจนเป็นการการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

 

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ฟาร์มวังสมบูรณ์ ของ CPF ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง เป็นรายแรกของไทย

         กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าด้านปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ พิจารณาให้ “ฟาร์มวังสมบูรณ์” ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) นับเป็นฟาร์มแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ไทยสู่สากล และสนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืนให้กับผู้บริโภคไทย



       ตามที่ กรมปศุสัตว์ ได้ประกาศใช้ฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช่ใช้กรง (Cage Free) อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2564 นี้ พร้อมให้บริการตรวจรับรองแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ ล่าสุด ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี มอบหมายกลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก ส่วนรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์เขต 1 และ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐาน สินค้าปศุสัตว์ เข้าตรวจประเมินฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช่ใช้กรง (Cage Free) ฟาร์มวังสมบูรณ์ อำเภอมวกเหล็ก และรับรองฟาร์มวังสมบูรณ์ ดำเนินตามมาตรฐาน ซึ่งนับเป็นฟาร์มแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี

         นายสัตวแพทย์ณัฐ สวาสดิ์รัตน์ สัตวแพทย์ชำนาญการ ผู้แทนจังหวัดสระบุรีและเป็นหัวหน้าทีมตรวจประเมินฟาร์มวังสมบูรณ์ กล่าวว่า จากผลการตรวจประเมิน ฟาร์มวังสมบูรณ์สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช่ใช้กรง ของกรมปศุสัตว์ จึงนับเป็นฟาร์มไก่ไข่เคจฟรีแห่งแรกของประเทศไทยและจังหวัดสระบุรีที่ได้รับรองมาตรฐานนี้ ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภค ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และยกระดับมาตรฐานในการผลิตไข่ไก่จากฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสัตว์สูงให้กับเกษตรกรไทยต่อไป



        ด้านนายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มวังสมบูรณ์ เป็นฟาร์มต้นแบบที่ซีพีเอฟพัฒนาเพื่อผลิตไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (เคจฟรี) ตั้งแต่ปี 2561 โดยประยุกต์ใช้มาตรฐานของสภาพยุโรปมาใช้ แม่ไก่ไข่ถูกเลี้ยงแบบธรรมชาติบนพื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อแม่ไก่ไม่เกิน 9 ตัว อยู่ในโรงเรือนระบบปิดขนาดใหญ่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และอัตโนมัติควบคุมการผลิต อุณหภูมิและการระบายอากาศอย่างเหมาะสมตลอดเวลา 



         โรงเรือนของฟาร์มวังสมบูรณ์มีการจัดสภาพแวดล้อมสอดคล้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมให้แม่ไก่ไข่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เช่น มีคอนสำหรับเกาะพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 15 เซนติเมตร/ตัว มีวัสดุปูรองพื้นเพื่อใช้สำหรับคุ้ยเขี่ยและไซร้ขนทำความสะอาดตัวเอง แม่ไก่มีอิสระในการปฏิสัมพันธ์กันเอง ควบคู่กับการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ติดตั้งระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มตามแนวทาง Biosecurity Hi-tech Farming ส่งผลให้แม่ไก่ไข่อยู่อย่างสุขสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี แข็งแรง และอารมณ์ดี ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง เป็นที่ยอมรับของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงอย่าง ร้านชาบูชาบู โมโม พาราไดซ์ ร้านเจ๊ไฝ สตรีทฟู้ดชื่อดัง เป็นต้น

           “การที่ฟาร์มวังสมบูรณ์ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช่ใช้กรง (Cage Free) จากกรมปศุสัตว์ เป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของภาคการผลิตไข่ไก่ของไทยสู่ระดับสากล การช่วยสะท้อนถึงความมุ่งมั่น ซีพีเอฟในการขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย และสวัสดิภาพสัตว์ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย และสนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืน” นายสมคิดกล่าว 

         ปัจจุบัน ฟาร์มวังสมบูรณ์ มี 12 โรงเรือน มีกำลังผลิตไข่ไก่ได้  10  ล้านฟองต่อปี และพร้อมขยายเป็น 15 ล้านฟองในปีนี้ เพื่อร่วมส่งมอบอาหารคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกฟอง ให้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสวัสดิภาพสูง ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...