วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

สสท.จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ 2565 ระดมพลเสวนา สหกรณ์จะหยุดวิกฤตเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร



    สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติประจำปี 2565 ระดมพลมือเศรษฐกิจเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจจะฟื้น หรือทรุด สหกรณ์จะหยุดวิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร” พร้อมเปิดศูนย์แสดงสินค้าอาเซียนและชิม ช้อป มหกรรมสินค้าสหกรณ์ราคาถูก โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน มี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย



     นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีนโยบายและทิศทางในการพัฒนาระบบสหกรณ์ในโอกาสครบรอบ 106 ปี เพื่อให้สหกรณ์เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับฐานรากของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพมีความพร้อม สร้างสหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอที่มีความแข็งแกร่ง ส่งเสริมการรวมกลุ่ม  พัฒนากระบวนการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ และการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุน เช่น ฉาง โกดัง ลานตาก ฯลฯ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ยกระดับสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล รวมทั้งดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร อาทิ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพทางการเกษตร โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ พร้อมยกระดับศักยภาพสถาบันเกษตรกรให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นกลไกหลักในระดับชุมชนในการรวบรวมและแปรรูป การขยายช่องทางตลาด เชื่อมโยงสินค้าเกษตรระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สมาชิกมีความกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป



    นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สันนิบาตสหกรณ์ฯได้จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้สหกรณ์ไทยครบรอบการก่อตั้ง 106 ปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ "พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย" และเป็นการแสดงถึงความรู้รักสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของขบวนการสหกรณ์ไทย ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ระบบสหกรณ์ให้แพร่หลาย ทั้งนี้การสหกรณ์ในประเทศไทยนั้นได้มีการพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนางานสหกรณ์ในประเทศต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับเป็นลำดับแรก สหกรณ์จำเป็นต้องนำระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ มาปรับใช้ในสหกรณ์ โดยการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์เป็นงานที่ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันสันนิบาตสหกรณ์ฯได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์



    “สำหรับการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติประจำปี 2565 ได้เชิญผู้บริหารระดับแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และคุณรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ มาเสวนาในหัวข้อ เศรษฐกิจจะฟื้น หรือทรุด สหกรณ์จะหยุดวิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร โดยมีคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรและนักข่าวมืออาชีพ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการเสวนาดังกล่าวจะพูดถึงเรื่องของปากท้องของชาวบ้าน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าโดยใช้ระบบสหกรณ์ หรือแม้แต่ระดับเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นระบบสหกรณ์จะมีส่วนเข้าไปช่วยได้อย่างไร ต่างๆเหล่านี้มันเกี่ยวพันถึงเศรษฐกิจระดับชุมชน เรามาฟังความเห็นและมุมมองจากคนนอกระบบสหกรณ์ ซึ่งมีความรู้ความสามารถและบริหารงานด้านเศรษฐกิจของประเทศมาแล้ว ก็จะได้แนวคิดใหม่ๆมาปรับใช้กับงานสหกรณ์ของเราต่อไปได้” นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าว



    นอกจากงานเสวนาแล้ว สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ยังได้จัดพิธีเปิดศูนย์แสดงสินค้าสหกรณ์ไทย ซึ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้ชมหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อกับสหกรณ์ผู้ผลิตได้โดยตรง นอกจากนี้ยังได้จัดงานมหกรรมสินค้าสหกรณ์จากทั่วทุกภูมิภาค มีสินค้าให้จับจ่ายใช้สอยในราคาประหยัดมากมายหลายอย่าง ภายในงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565 อีกด้วย

อาหารสัตว์เตรียมหยุดไลน์ผลิต เหตุไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน จากสงครามยูเครนพ่นพิษ

    สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำระดับราคาอาหารพุ่งทั่วโลกรวมถึงไทย สัญญาณส่อเค้ารุนแรง เหตุขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างหนัก เมื่อผนวกอุปสรรคจากมาตรการรัฐยิ่งปิดตายโรงงาน หลายแห่งเริ่มหยุดไลน์การผลิต คาดปริมาณอาหารสัตว์ปีนี้จะลดลง 4 ล้านตัน กระทบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ส่งผลปริมาณเนื้อสัตว์ในตลาดลดลง และไทยอาจไม่สามารถส่งออกอาหารให้ลูกค้าต่างประเทศได้ตามออเดอร์ 

    นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า ในฐานะต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์สงครามยูเครน ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตอาหารของประเทศ ตั้งแต่ระดับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไปจนถึงมาตรการรัฐของไทยที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบ 

    ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก เมื่อเกิดสงครามทำให้ระดับราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันที เป็น 12.75 บาท/กก. จากราคา 8.91 บาท/กก.ในปี 2564  ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย พุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กก. แม้จะราคาแพงขนาดไหน แต่ก็ไม่มีผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดแล้ว จากความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทน ซึ่งได้แก่ “ข้าวสาลี” ที่กำลังมีราคาพุ่งสูงสุดจากสงครามดังกล่าวข้างต้น 



    อย่างไรก็ตาม แม้ราคาจะสูงเพียงใดก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีมาได้ เนื่องจากมีอุปสรรคจากมาตรการ 3:1 ที่รัฐบังคับให้ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน แต่ประเด็นคือไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อแล้ว จึงทำให้โรงงานอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 

     “เมื่อไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อ 3 ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนตามเงื่อนไข 3:1 จึงเท่ากับเป็นการบล็อกกระบวนการผลิตของโรงงานอาหารสัตว์ไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน ล่าสุด โรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลือง อ้างผลกระทบจากสงครามยูเครนประกาศราคาขายกากถั่วเหลืองที่ 22.50 บาท/กก. จากราคา 18.91 บาท/กก.ในปี 2564 เท่ากับปิดทางเดินต่อของโรงงานอาหารสัตว์ทันที โดยที่ยังไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น” นายพรศิลป์กล่าว  

    มาตรการรัฐอีกข้อคือการควบคุมบังคับไม่ให้อาหารสัตว์ขายได้ในราคาตามกลไกตลาด เป็นเหตุให้ราคาขายไม่สอดคล้องต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นรอบด้าน ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังคงมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลืองที่ 2% เป็นภาระต้นทุนซ้ำเติมโดยใช่เหตุ ทั้งๆที่การงดภาษีนี้ไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองแต่อย่างใด เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้หรือแม้จะหามาผลิตได้แต่ก็ต้องขายในราคาขาดทุน ดังนั้น ทางออกของสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตและปิดไลน์การผลิตอาหารสัตว์ลงบางส่วน



     “สมาพันธ์ฯ ส่งสัญญานเตือนรัฐบาลแล้วหลายครั้ง ทั้งที่ผ่านกระทรวงพาณิชย์และทำหนังสือด่วนที่สุดถึงท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงรอบด้านจากสถานการณ์นี้ การผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละปีที่มีประมาณ 22 ล้านตัน เป็นไปได้ที่ปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 17-18 ล้านตัน หรือหายไปกว่า 4 ล้านตัน”  นายพรศิลป์กล่าวและว่าการลดลงของอาหารสัตว์หลายล้านตันเช่นนี้ จะส่งผลต่อเนื่องไปทั้งห่วงโซ่ปศุสัตว์ นั่นคือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจำเป็นต้องพักเล้างดการเลี้ยง กระทบปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทั้งเพื่อผู้บริโภคในประเทศและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของชาติ ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสสงครามยูเครนที่กำลังเกิดขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก กลับต้องชะลอปริมาณการผลิตอาหารเพราะอุปสรรคจากมาตรการรัฐ ก็ได้แต่หวังว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเร่งแก้ปัญหานี้โดยด่วนที่สุดตามที่สมาพันธ์ฯได้เสนอผ่านหนังสือถึงท่านไปแล้ว ก่อนจะเกิดวิกฤตอาหารซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ” นายพรศิลป์กล่าวทิ้งท้าย  

 

 

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

'ชินกร ขจรแสง' ต้นกล้าพลเมืองดี “โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ" ส่งต่อความสำเร็จสู่ชุมชน


    
 เป้าหมาย “การสร้างพลเมืองดีชายแดน" ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มุ่งสนับสนุนให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดารที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการติดอาวุธทางปัญญา ผ่านการส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับพวกเขา เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานการศึกษาให้เข้มแข็ง สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเอง สู่การสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในอนาคต



     ชินกร ขจรแสง นักเรียนทุนรุ่นที่ 2 “โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ” คือหนึ่งในภาพสะท้อนความสำเร็จ สู่การเป็นพลเมืองดีชายแดนที่สามารถต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในระบบการศึกษา ผสานเข้ากับการเรียนรู้วิธีจัดการชีวิต และการจัดการอาชีพเกษตรขั้นพื้นฐานที่ได้สั่งสมตลอด 6 ปี จากการร่วมเป็นครอบครัวนักเรียนทุนฯ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และส่งต่อความสำเร็จสู่ชุมชนบ้านเกิดไปพร้อมๆกัน



     ที่มาของการเป็นนักเรียนทุนฯ ชินกร เล่าว่า ตอนที่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนวังศรี ทอง ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว มีโอกาสได้สอบคัดเลือกที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 และได้เป็นนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้เป็นนักเรียนทุนในโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาฯ ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ทำให้ตลอด 6 ปีการศึกษา นับตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จนกระทั่งจบวิทยาลัยเกษตรเพชรบุรี เขาได้เรียนฟรีโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน ช่วยแบ่งเบาพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี




    ชินกร เล่าย้อนไปในวันแรกที่ได้เข้าไปเป็นเด็กพักค้าง ที่ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร จ.เพชรบุรี ว่าช่วงแรกคิดถึงบ้านมาก เพราะไม่เคยห่างบ้านไปไกล แต่เพราะมีทั้งพี่ๆนักเรียนทุนรุ่นแรก ครูฝึกตชด. และพี่จากมูลนิธิฯ ช่วยแนะนำในทุกเรื่อง ทำให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญนอกจากได้ศึกษาในรั้วโรงเรียนแล้ว การอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต และได้ฝึกอาชีพการทำเกษตร ทั้งเลี้ยงแพะนม เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารสำหรับทุกคน ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานความรู้ที่นำมาถ่ายทอดให้กับครอบครัวและใช้ประกอบอาชีพในปัจจุบัน



      “การได้เป็นนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิทยาลัยเกษตรเพชรบุรี รวมทั้งเป็นครอบครัวของนักเรียนทุนมูลนิธิฯ ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง เกิดการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และนำความรู้จากการเรียนทั้งหมด ไปต่อยอดในอาชีพการเกษตรของครอบครัว จากที่พ่อแม่เลี้ยงวัวนมอย่างเดียว ผมนำสิ่งที่ได้เรียนมาถ่ายทอดให้ที่บ้าน และหันมาทำไร่ข้าวโพด-มันสำปะหลัง ทำสวนยาง สวนลำไย มะพร้าวน้ำหอม ปลูกผัก และเลี้ยงไก่พื้นเมือง ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี และผมยังริเริ่มปลูกกล้วยไข่เป็นคนแรกของหมู่บ้านจนประสบความสำเร็จ จากนั้นชาวชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ ทำให้ตอนนี้ทุกบ้านปลูกกล้วยไข่เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ผมภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้พี่น้องในชุมชนที่เราอยู่มีอาชีพและมีรายได้ที่ดี ทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่หล่อหลอมให้ผมกลายเป็นพลเมืองดีชายแดน ที่สามารถส่งต่อความสำเร็จแก่ดินแดนบ้านเกิดได้ในวันนี้” ชินกร พูดพร้อมรอยยิ้ม

     ตลอดระยะเวลา 33 ปีของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนงาน 4 ด้านหลัก ทั้งด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านชุมชนและขจัดความยากจน ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี ชุมชนสิ่งแวดล้อมดี”

     "โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ" เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ที่มูลนิธิฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน ที่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือเท่าที่มีการเปิดการเรียนการสอน ได้มีโอกาสศึกษาต่อ ได้พัฒนาตนเองให้เป็นคนดี พึ่งพาตนเองได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกลับไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ให้พวกเขาร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

แม็คโคร ยังคงเดินหน้าลุยสร้าง “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” อย่างต่อเนื่อง


     แม็คโคร ยังคงเดินหน้าลุยสร้าง “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ประกาศจัดงานสำคัญ “
SME Online Business Matching ครั้งที่ 1” ในวันที่ 17 - 18 มีนาคม 2565  ซึ่งเป็นกิจกรรมเจรจาธุรกิจ ในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรกที่สำคัญ เพราะเป็นการผนึกกำลังธุรกิจในเครือซีพี ไม่ว่าจะเป็น แม็คโคร  Lotus’s และ เซเว่น อีเลฟเว่น สร้างโอกาสให้ SME และเกษตรกรไทย เข้าถึงช่องทางการตลาดที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ข่าวว่างานนี้มี แอปพลิเคชั่น ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อเป็น “ทางลัด!” ให้ SME และเกษตรกร พร้อมแจงประเภทสินค้าที่ตลาดต้องการให้เป็น “ลายแทง” ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาหารสด กลุ่มอาหารแห้ง-เครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าอุปโภค 



     หากมีคุณสมบัติ เป็น SME ตามหลักเกณฑ์ของ สสว. หรือเป็นเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน, พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนา, มีนวัตกรรมและความแตกต่างที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการจัดส่งให้โมเดิร์นเทรด  คลิกและสแกน เพื่อเข้าร่วม   กิจกรรมได้ที่ https://portal.originsme.com/recruit/campaign/13  หรือสแกน QR Code จากสื่อประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 2 มีนาคมนี้เท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

“สยามคูโบต้า” ยกระดับที่สุดแห่งมาตรฐานบริการใหม่ เปิดตัว “KUBOTA Excellence Service” ให้ลูกค้า เชื่อมือ เชื่อมั่น เชื่อใจ พร้อมกัน 213 สาขาทั่วประเทศ


 

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัว “KUBOTA Excellence Service” มาตรฐานบริการใหม่จากสยามคูโบต้า ชูศักยภาพบริการหลังการขายเต็มรูปแบบด้วยทีมช่างและเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ภายใต้คอนเซปต์หลัก เชื่อมือ เชื่อมั่น เชื่อใจ ยึดถือคุณภาพด้วยการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ครอบคลุมทุกมิติของงานบริการ พร้อมเปิดตัวระบบนัดหมายงานบริการออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง หวังสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าคือบริการหลังการขาย ซึ่งสยามคูโบต้าให้ความสำคัญกับการพัฒนางานบริการหลังการขายอย่างต่อเนื่อง เพราะงานบริการถือว่าเป็นหนึ่งหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นที่มาของมาตรฐานบริการใหม่ KUBOTA Excellence Service ด้วยความร่วมมือกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ หรือ MASCI สถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนามาตรฐานงานบริการโดยอ้างอิงมาตรฐานสากล ซึ่ง KUBOTA Excellence Service จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าได้อย่างแท้จริง อีกทั้งในปีนี้ สยามคูโบต้าได้มุ่งเน้นกลยุทธ์การทำการตลาดแบบ Personalized Marketing ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการผ่านคอนเทนต์ รวมไปถึงช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ แบบเฉพาะบุคคล และยังให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงมั่นใจว่า มาตรฐานบริการใหม่ KUBOTA Excellence Service จะเข้ามาสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดด้วยบริการที่ดีที่สุดจากสยามคูโบต้า ให้ลูกค้าเชื่อมือ เชื่อมั่น และมั่นใจ ในมาตรฐานเดียวกันของเราตลอด 213 สาขาทั่วประเทศ



ขณะที่ นายไวพจน์ หามาลา ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้า บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของสยามคูโบต้าในการดูแลลูกค้าคือ เขาจะเป็นลูกค้าที่อยู่กับเราตลอดไป สยามคูโบต้าจึงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าทุกรายให้ได้รับความประทับใจจากการใช้สินค้าและบริการของสยามคูโบต้าตลอดระยะเวลาการเป็นลูกค้า ซึ่งสยามคูโบต้าได้นำเสียงสะท้อนของลูกค้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดอยู่เสมอ รวมถึงมีการส่งเสริมมาตรฐานการทำงานของผู้แทนจำหน่ายเพื่อยกระดับความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านการแนะนำ ส่งมอบ การตรวจเช็คตามระยะงานซ่อมและการบำรุงรักษาให้ครอบคลุม ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานงานบริการให้เหมือนกันทั่วประเทศ 



สำหรับมาตรฐานบริการใหม่ KUBOTA Excellence Service ที่จะนำเข้ามาเพื่อสร้างจะประกอบด้วย ช่างบริการได้รับการอบรมจากศูนย์อบรมสยามคูโบต้า ทั้งด้านทักษะการให้บริการตรวจเช็ก การซ่อมบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริการที่ได้มาตรฐานจากคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) พร้อมให้บริการลูกค้าด้วยมาตรฐานเดียวกันจากร้านผู้แทนจำหน่าย 84 ราย และศูนย์บริการ 129 สาขา รวม 213 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงการให้บริการนอกสถานที่ ด้วยเครื่องมือในการบริการที่ได้มาตรฐานและอะไหล่แท้จากสยามคูโบต้า ตลอดจนความใส่ใจจากทีมช่างในทุกขั้นตอนการบริการ ด้วยมาตรฐานอะไหล่แท้จากสยามคูโบต้า พร้อมการรับประกันคุณภาพงานซ่อมนาน 6 เดือน หรือ 100 ชั่วโมง นอกจากนี้ภายในศูนย์บริการฯ ยังมีการจัดการด้านความปลอดภัย และการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในศูนย์บริการฯ อาทิ การแยกขยะ มีระบบบำบัดน้ำเสียจากงานซ่อม และจัดเก็บน้ำมันที่ใช้แล้ว เพื่อเป็นความรับผิดชอบต่อชุมชนที่ศูนย์บริการตั้งอยู่



ในขณะเดียวกัน การให้บริการของสยามคูโบต้ายังยึดหลักธรรมาภิบาลในงานบริการ (Service Good Governance) ที่มุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าบริการ หรือโปรโมชั่นกิจกรรมต่างๆ ซึ่งลูกค้าสามารถนัดหมายงานบริการออนไลน์           สำหรับเข้ารับบริการตรวจเช็ก เปลี่ยนถ่าย และแจ้งซ่อม รวมถึงช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้น โดยสามารถนัดหมายบริการได้ตามวันและเวลาที่ต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน LINE @siamkubota ซึ่งเชื่อมั่นว่า มาตรฐานบริการใหม่ KUBOTA Excellence Service จะสามารถสร้างความประทับใจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความสำเร็จในอนาคตของลูกค้าของสยามคูโบต้าต่อไปในอนาคต

แม็คโคร ผนึก กรมส่งเสริมการเกษตร รุกช่วยวิสาหกิจชุมชนปลูกขิง จ.เพชรบูรณ์ เร่งรับซื้อกระจายขายทั่วประเทศ หลังเกษตรกรประสบปัญหาหนัก ราคาตก– ตุ้นทุนพุ่ง


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมมือ กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกขิง ต.เข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ กว่า 647 ครัวเรือน หลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ ต้นทุนเพิ่มทำขาดทุนหนัก  คาดรับซื้อได้ 200 ตัน  กระจายผ่านแม็คโครทั่วประเทศ พร้อมเปิดโอกาสเข้าถึงแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ 



นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า แม็คโคร ได้รับการประสานจากกรมส่งเสริมการเกษตรถึงปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชมเกษตรกรผู้ปลูกขิง ต.เข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจาก ราคาขิงตกต่ำ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ส่งออกได้น้อย  ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง แม็คโครจึงให้ความช่วยเหลือ โดยเข้าไปรับซื้อผลผลิต เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน



กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขิงแห่งนี้ มีเกษตรกรเครือข่ายอยู่ประมาณ 647 ครัวเรือน เราคาดว่าจะช่วยรับซื้อขิงได้ประมาณ 200 ตัน นำไปจำหน่ายผ่านแม็คโครทุกสาขาทั่วประเทศ  พร้อมจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเชิญชวนลูกค้าอุดหนุนผลผลิตของเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน โดย ขิง เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและได้รับความนิยมบริโภคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

ด้าน นายเกรตศิรา แซ่หว้า รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกขิง ต.เข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ มีสมาชิกกว่า 647 ครัวเรือน กระจายพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3,000 ไร่ ที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงนี้ราคาต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ยิ่งซ้ำเติมให้ขาดทุนหนัก  ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น



ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี ราคาพลังงานปรับขึ้นมาก อีกทั้งการส่งออกก็ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ต้องเจอวิกฤติ ขายขิงไม่ได้ เกษตรกรเลยมารวมตัวกัน ประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ  เอกชน  อย่าง แม็คโคร นี่ก็ไม่ได้เข้ามารับซื้อแค่ผลผลิตอย่างเดียว  แต่ยังมาช่วยให้ความรู้ในเรื่องการเก็บเกี่ยว การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ทำให้เกษตรกรมีแนวทางในการพัฒนาต่อยอดได้อีกนายเกรตศิรา กล่าว

ที่ผ่านมา แม็คโคร ตระหนักถึงปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญในหลายด้าน จึงมีนโยบายสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดและยังเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ภายใต้พันธกิจ แม็คโคร เคียงข้างเกษตรกรไทย  รวมถึงเป้าหมายในการผลักดัน ส่งเสริม พัฒนา เกษตรกรไทย ให้เข้าถึง แพลตฟอร์มแห่งโอกาสยกระดับการทำธุรกิจเกษตรในทุกมิติ โดยเฉพาะ ช่องทางการตลาดใหม่ๆ อาทิ อีคอมเมิร์ซ ออฟไลน์-ออนไลน์  ที่จะนำพาผลผลิตเกษตรไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กรมการข้าว เร่งผลักดันข้าวสาลี ส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ สู่บทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจไทย



 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้จัดงาน วันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลีเพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานของโครงการวิจัย การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนาเพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบนและเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปธัญพืชเมืองหนาว สู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่า นำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ตาม BCG model โดยจัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่




นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ข้าวสาลีเป็นที่นิยมมาก ตลาดมีความต้องการสูงถึง 382 ตันต่อปี และในอนาคตตลาดข้าวสาลีในไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น งานนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานอย่าง กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานการพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. ที่ต้องการพัฒนาการผลิตข้าวสาลีในประเทศไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการของตลาด และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพราะเป็นพืชที่ปลูกหลังการทำนาได้ และสามารถแปรรูปได้อย่างหลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วน จึงมีการเร่งพัฒนาและผลักดันการผลิตข้าวสาลีในประเทศไทย



ด้านนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว  กล่าวว่า  ข้าวสาลี ธัญพืชเมืองหนาว มีบทบาทต่อคนในสังคมไทยในปัจจุบันมาก เพราะใช้เวลาในการปรุงน้อย แต่ให้คุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้นของข้าวสาลีไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นน้ำคั้นจากต้นอ่อน แปรรูปเป็นขนมปัง หรือแม้กระทั่งนำช่อข้าวสาลีมาทำช่อดอกไม้ รวมไปถึงการใช้ฟางมาทำหลอดดูดน้ำ หรืออาหารสัตว์ จึงทำให้ข้าวสาลีเป็นที่นิยมทางด้านการตลาดของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาวเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นิทรรศการด้านการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ นิทรรศการด้านเมล็ดพันธุ์และวิทยาการเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น การจัดกิจกรรม กาดมั่ว คัวฮอมสาธิต/แสดง/ชิม/จำหน่ายข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืชเมืองหนาว การจัดทำคู่มือการผลิตธัญพืชเมืองหนาวที่เหมาะสมสำหรับภาคเหนือตอนบน และการจัดทำคู่มือการผลิตและแปรรูปน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลี (wheat grass)




นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและเกษตรกรนาแปลงใหญ่ให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับของตลาดข้าวสาลีไทยที่ในอนาคตที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาให้ความร่วมมือ ไม่ใช่เพียงหวังแต่ให้ผลผลิตมีคุณภาพดี แต่เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจอีกด้วย



          หากต้องการติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ Facebook “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงและ Facebook “Rice News Channel” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 09-3312-1881 

กรมการข้าว โชว์ผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จ.เชียงใหม่


 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จในการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มนาแปลงใหญ่ ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามแผนงานที่ตั้งไว้  เพื่อลดต้นทุนในการปลูกข้าว พัฒนาการผลิตให้ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้ประกอบการค้าข้าว และมีอำนาจในการต่อรองมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการแปรรูปข้าวในรูปบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งออกสู่ตลาด เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร



นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กล่าวว่า การผลิตในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรผลิตข้าวไม่มีคุณภาพ และมีรายได้ไม่แน่นอน โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่กรมการข้าวให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้กรมการข้าวได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สารสนเทศในการจัดทำฟาร์ม เป็นต้น นอกจากนี้ กรมการข้าวได้มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และมีภารกิจที่สนับสนุนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ช่วยให้ชุมชนและองค์กรชาวนาเกิดความเข้มแข็งยั่งยืน




สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมการข้าวและเกษตรกร โดยกรมการข้าวยังคงดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่หยุดพัฒนา เพื่อเร่งผลักดันคุณภาพผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ตามวิสัยทัศน์คือ ข้าวไทยก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตชาวนาเข็มแข็ง



ด้าน นางสาวอัจฉรา จุมภูก๋า ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงในการผลิตไปทางที่ดีขึ้น เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากกรมการข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาให้องค์ความรู้ต่าง ๆเกี่ยวกับการผลิต การสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตร  เครื่องเกี่ยวนวดข้าว รถดำนา โดรนเพื่อการเกษตร และเครื่องสีข้าว ทำให้ต้นทุนลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และข้าวมีคุณภาพได้มาตรฐานนำไปสู่การมีรายได้ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิกทั้งหมด 41 ราย พื้นที่ในการเพาะปลูก 315 ไร่ ผลิตข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐาน GAP มีการผลิตข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมไปถึงข้าวญี่ปุ่นในบางครั้ง อีกทั้งยังแปรรูปข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารอีกด้วย



มีความประทับใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการข้าวเป็นอย่างมาก เพราะเห็นถึงความทุ่มเท มุ่งมั่น และใส่ใจในการช่วยเหลือเกษตรกร เข้ามาแนะนำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรได้รู้จักขีดความสามารถและศักยภาพของตนเอง สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองมากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะนางสาวอัจฉรา จุมภูก๋า ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว กล่าว

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

จินดาสมุนไพร ปรับขวดเซรั่มบำรุงเส้นผม โฉมใหม่ ใช้ง่ายกว่าเดิม

    จินดาสมุนไพร เปิดโฉมแพคเกจจิ้งใหม่  เซรั่มจินดาสมุนไพร ขวดใหม่ ใช้ง่ายกว่าเดิม ยังคงคุณภาพของวัตถุดิบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยยังคงราคาและคุณภาพไว้เหมือนเดิม เริ่มมีนาคมนี้



    นายไชยกร นิธิคณาวุฒิ  ประธานกรรมการ บริษัทจินดาสมุนไพร จำกัด เปิดเผยว่า จินดาสมุนไพร ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จินดาสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2565 นี้ ถือโอกาสปรับปรุงแพคเกจจิ้งใหม่  “เซรั่มบำรุงเส้นผม” จากเดิมที่ใช้แบบหัวสเปรย์ธรรมดา มาเป็นสเปรย์หัวช้าง ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถกระจายเซรั่มให้ทั่วศีรษะได้มากขึ้น โดยสเปรย์ยังคงมีปริมาณเท่าเดิม และทำให้ประสิทธิภาพของเซรั่มเป็นไปอย่างมีคุณภาพ 

    “เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จินดาสมุนไพรในรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าจินดาสมุนไพร ทั้งใหม่และเก่า ที่จะช่วยให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ที่จะนำสเปรย์มาฉีดบริเวณศีรษะที่มีปัญหาเรื่องของเส้นผมและหนังศีรษะ สมุนไพรยังคงเป็นสมุนไพรใบหมี่สด ดอกอัญชัน วัตถุดิบหลักเช่นเดิม แต่ยังคงคุณภาพของสินค้าให้มีมาตรฐานมากขึ้นโดยเฉพาะระบบการผลิตที่มีมาตรฐานรองรับการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ เซรั่มบำรุงเส้นผมจินดาสมุนไพร เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเส้นผมทุกประเภท สามารถใช้ได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่อยากมีเส้นผมที่สวยขึ้น และการปรับแพ็คเกจจิ้งใหม่นี้ ทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในสินค้ามากขึ้นอีกด้วย” นายไชยกร กล่าว



    สำหรับ ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงเส้นผม จินดาสมุนไพร มีขนาด 120 ML ราคา 250 บาท เป็นขนาดที่พกพาสะดวก ไปได้ทุกที่ ใช้ง่าย และเห็นผลชัดเจน โดยจะเริ่มวางจำหน่ายประมาณต้นเดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้แพคเกจเก่ายังมีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปจนกว่าสินค้าจะหมด นอกจากนี้จินดาสมุนไพรยังได้เปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทรศัพท์   086-3442269 ,086-3442071 ,02-0041417 ,02-9871389

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

มก.กพส. มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้กับเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา

 


 

           วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้จัดพิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้กับเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม ในนามตัวแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ฯ และมี รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวรายงานวัถตุประสงค์ของพิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวในวันนี้ โดยมีที่มาจากโครงการปลูกข้าววันแม่ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564  เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564 ได้ใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ในการเพาะปลูก บนพื้นที่ 13.5 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และได้ดำเนินการเก็บเกี่ยว ในงานเกี่ยวข้าววันพ่อ ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ จำนวน 7,280 กิโลกรัม ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นับเป็นความภาคภูมิใจของทีมนักวิจัยที่เป็นผู้คิดค้นและปรับปรุงสายพันธุ์รวมถึงเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 


       


 

  ซี่งผลผลิตที่ได้มหาวิทยาลัยได้นำมาแจกจ่ายให้กับบุคลากรแล้ว ยังนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ส่วนหนึ่งมอบให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ประกอบกับในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ในหลายจังหวัด ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้นาข้าวเสียหาย เกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูกในปีต่อไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิททยาเขตกำแพงแสน ซึ่งได้มีการทำงานเชิงบูรณาการเรื่องข้าว ร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโภชนาการสูงทั่วประเทศ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดี ให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยอยู่แล้ว  จึงได้ทำการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเพื่อมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านเนินสบาย จังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มรักษ์ Organic จังหวัดอุทัยธานี กลุ่มคุรุอินทรีย์ จังหวัดกำแพงเพชร ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง จังหวัดชัยนาท และ นายประทีป สวัสรังศรี จังหวัดกำแพงเพชร รวมจำนวนทั้งสิ้น 27 ราย ณ โรงสีข้าวธัญโอสถ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

อ.ต.ก. จัดจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก คุณภาพคุณภาพ มาตรฐานปศุสัตว์ OK ก.ก.ละ 140 บาท


   
 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ จำหน่ายหมูราคาถูกเพื่อประชาชน ภายใต้โครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” ระหว่างวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 ณ บริเวณ ตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ได้บริโภคหมูที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม



    นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. กล่าวว่า โครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์หมูราคาแพง ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อหมูที่มีมากขึ้น และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้า และช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น 

    โครงการ“เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และกรมปศุสัตว์  จัดจำหน่ายหมูเพื่อประชาชน คุณภาพดี ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ถูกกว่าท้องตลาด การันตีด้วยมาตรฐานปศุสัตว์ OK  เพียงกิโลกรัมละ 140 บาทราคาเดียว จำนวน 150,000 กิโลกรัม  โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท  วี.ซี.มีท โปรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตเนื้อหมูมาตรฐานส่งออก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 19 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. หรือจนกว่าสินค้าจะหมด ณ ลานกิจกรรม ตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน กรุงเทพฯ โดยกำหนดซื้อได้ท่านละไม่เกิน 5 กิโลกรัม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซื้อสินค้ากันทั่วถึง



    ทั้งนี้ ตลาด อ.ต.ก. ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)                   ของกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด จึงขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการที่ อ.ต.ก. กำหนด และจำกัดผู้ซื้อในพื้นที่จำหน่ายเนื้อหมู ไม่เกิน 40 ท่าน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

รองฯ เฉลิมเกียรติ นำสื่อมวลชน ติดตามความก้าวหน้า โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร


   
 วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2565) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม จังหวัดชุมพร หวังบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชุมพรให้ได้มากที่สุด 



    นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์  รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า บริเวณอำเภอเมืองชุมพรมักเกิดน้ำท่วมหลากจากลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่ คลองท่าตะเภา และ คลองชุมพร พื้นที่รวมประมาณ 79,500 ไร่ แยกเป็น ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา 42,000 ไร่ ลุ่มน้ำคลองชุมพร 37,500 ไร่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวชุมพรเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวชุมพรเป็นอย่างยิ่ง  ทรงทราบถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับชาวชุมพร ได้มีพระราชดำริให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง – พนังตัก  ให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน อีกหลายอย่าง อาทิ 1. พิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ  เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร  และอุปโภค – บริโภคและในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง  “ หนองใหญ่ ”  เพื่อระบายน้ำสู่ทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตักได้อีกด้วย



     ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริด้วยการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัย ประกอบด้วย 15 กิจกรรม ดังนี้ 1. ขุดคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก  และก่อสร้างอาคารประกอบ   2. ประตูระบายน้ำหัววัง  3. ประตูระบายน้ำสามแก้ว (ใหม่)  4. ขุดลอกคลองท่าตะเภาและคลองสาขาในบริเวณลุ่มน้ำ  5. ขุดคลองระบายน้ำบ้านดอนทรายแก้วพร้อมปรับปรุงคันกั้นน้ำและอาคารประกอบ  6. ขุดคลองระบายน้ำท่านางสังข์ - บ้านบางตุ่มพร้อมอาคารประกอบ  7. โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ   8. ขุดลอกคลองละมุเชื่อมกับคลองท่าแซะ  9. ศึกษาและวางแผนระบบเตือนภัยน้ำท่วมเมืองชุมพร  10. คันกั้นน้ำคลองสามแก้วและคลองสาขาพร้อมอาคารประกอบ  11. ขุดลอกคลองชุมพรและคลองสาขา  12. ปรับปรุงคลองระบายน้ำสามแก้วพร้อมอาคารประกอบ  13. ปรับปรุงประตูระบายน้ำพนังตักและอาคารประกอบ  14. ประตูระบายน้ำท่าตะเภา และ 15. ประตูระบายน้ำท่าแซะ  



      ในส่วนของลุ่มน้ำคลองชุมพร เกิดจากต้นน้ำในเขตอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีความยาวลำน้ำประมาณ 75 กิโลเมตร สภาพท้องคลองมีความลาดชันสูง คดเคี้ยวและมีขนาดแคบ ทั้งสองฝั่งคลองมีบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชุมชนเมือง ช่วงปลายคลองเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อน้ำทะเลหนุนจะรุกล้ำเข้ามาในลำคลองเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ในขณะที่มีขีดความสามารถในการระบายน้ำได้ประมาณ 140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในคลองชุมพรเอ่อล้นตลิ่ง กรมชลประทาน ได้วางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองชุมพร โดยการตัดยอดน้ำของคลองชุมพรให้สามารถไหลออกสู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการท่วมขังบริเวณถนนสายเอเชีย 41 และบริเวณพื้นที่ตอนล่างในเขตอำเภอเมืองชุมพร พร้อมกับการขุดคลองผันน้ำ เพื่อผันน้ำจากคลองชุมพรผ่านคลองขุดใหม่เชื่อมต่อกับคลองนาคราช และขุดขยายคลองนาคราชให้สามารถระบายน้ำได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งขุดลอกคลองชุมพรเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขุดขยายคลองชุมพรเดิมช่วงปลายให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากคลองผันน้ำ จำนวน 1 แห่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองชุมพร จำนวน 3 แห่ง

    ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างอำเภอเมืองชุมพร และสามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำคลอง เพื่อใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้ง 6.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 6,875 ไร่

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...