วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การ์ดตก พบโรคใบด่างระบาดกว่าแสนไร่ ชี้ต้นตอปลูกพันธุ์อ่อนแอ ใช้ท่อนพันธุ์ติดโรค



กรมวิชาการเกษตร  เร่งกระชับพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง  หลังพบพื้นที่ระบาดเพิ่มกว่าแสนไร่ใน 22 จังหวัด   ชี้เป้าปลูกพันธุ์อ่อนแอและใช้ท่อนพันธุ์ติดโรค  วอนเกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์มันสะอาดจาก 30 จังหวัดปลอดโรคใบด่าง  พร้อมปลูกมันพันธุ์ทนทานโรค ระยอง 72 และ KU 50
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยสถานการณ์การระบาดโรค ใบด่างมันสำปะหลังล่าสุดพบโรคใบด่างระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย รวมจำนวน  22 จังหวัด คือ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี  มหาสารคาม ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุทัยธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร  และลำปาง รวมพื้นที่การระบาดทั้งหมดจำนวน 111,549  ไร่ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคใบด่างมันสำปะหลังระบาดเพิ่มขึ้นเนื่องจากการมีการใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของโรค


นอกจากนี้ ยังพบเกษตรกรบางพื้นที่ยังคงปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เคยแจ้งเตือนไปแล้วว่าแม้จะเป็นพันธุ์ที่โตได้ดีและให้น้ำหนักดี แต่เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อทุกโรคของมันสำปะหลัง เช่น โรคหัวเน่า  พุ่มแจ้ และใบด่าง ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 หรือ KU 50  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรคใบด่าง  และต้องเป็นพันธุ์ที่มาจากแปลงที่ผลิตต้นพันธุ์สะอาดและปลอดโรค รวมทั้งไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากอาจมีโรคใบด่างติดเข้ามากับท่อนพันธุ์ด้วย   ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้



อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การใช้ท่อนพันธุ์ทีมีแหล่งที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนเกษตรกรให้เลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่ยังไม่พบการระบาดของโรคใบด่างจำนวน 30 จังหวัด คือ กำแพงเพชร จันทบุรี  ชัยนาท เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครนายก นครพนม นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานีและอุตรดิตถ์ รวมทั้งขอความร่วมมือให้เกษตรกรหยุดปลูกพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค จึงจะสามารถหยุดวงจรการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากโรคใบด่างจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์  เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้  ที่สำคัญโรคนี้สามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต  จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่การระบาดขยายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้นอีกต่อไป


เกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ดอก จ.เลย ปรับตัวช่วงโควิด-19 เปิดเพจขายไม้มงคลออนไลน์สร้างรายได้สู่ชุมชน



สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ยอดจำหน่ายไม้ดอกของอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ลดลงเป็นอย่างมาก นางณัฐริกา ศรีสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่ไม้ดอก เลขที่ 47 หมู่ที่ 3 บ้านแก่งไฮ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย จึงได้มีการปรับตัวปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและจำหน่าย โดยหันมาผลิตไม้ใบที่เป็นไม้มงคล ซึ่งสามารถนำไปประดับในอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการได้ พร้อมกับหากลุ่มลูกค้าใหม่ทดแทนกลุ่มลูกค้าเก่าซึ่งมารับซื้อแบบขายส่งปริมาณมาก ๆ เพื่อนำไม้ดอกไปใช้จัดสวน
จากวิกฤตดังกล่าวจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับสมาชิก และได้ให้ลูกหลานสมาชิกแปลงใหญ่ ซึ่งเรียนในระดับมหาวิทยาลัย สร้างเพจจำหน่ายไม้ดอกทางเฟซบุ๊ก จำนวน 3 เพจ คือ 1. เพจ สวนต้นไม้มงคล ต้นไม้ดอกไม้ประดับ ต้นไม้จิ๋ว ต้นไม้ฟอกอากาศ BY nmco 2. เพจ ไร่ภูซำเตย สวนปูไม้ดอกไม้ประดับและ 3. เพจ จำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับไม้มงคล ไร่ภูซำเตยโดยจะมีลูกหลานของสมาชิกแปลงใหญ่เป็น Admin ของเพจรับออเดอร์การสั่งซื้อจากลูกค้าผ่านทางออนไลน์ รายการไม้ประดับที่ถ่ายรูปลงเพจประชาสัมพันธ์การจำหน่าย ประกอบด้วย นางพญาคล้าทอง คล้านกยูงแดง คล้านกยูงเขียว คล้าแตงโม มอนสเตอร่าไจแอนท์ เฟิร์นราชินีเงิน คาเมรอน หน้าวัว ว่านนกคุ้ม เสน่ห์ขุนแผน ใบละพัน คล้าเสือโคร่ง เอื้องหมายนาด่าง ว่านพญามือเหล็ก และม่วงนารี โดยพันธุ์ไม้บางส่วนเป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอภูเรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว)


 ด้าน นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย มีภูมิประเทศที่เหมาะสมและภูมิอากาศที่ดีเย็นสบายตลอดปี อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงขึ้นชื่อ ลานคริสต์มาสภูเรือซึ่งมีการปลูกต้นคริสต์มาสโดยเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ดอกอำเภอภูเรือ ในงานเทศกาลวันคริสต์มาสที่จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน พฤศจิกายน - มกราคม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยสดงดงาม พร้อมทั้งถ่ายรูปกับต้นคริสต์มาสสีแดงสดใสสวยงาม ซึ่งเป็นพืชหลักที่มาทดแทนการปลูกพืชไร่สร้างรายได้ที่ดีมากให้กับเกษตรกร หลังจากปลูกต้นคริสต์มาสเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ดอกตำบลหนองบัว ได้มีการผลิตไม้ใบและไม้มงคลในการจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอภูเรือ เข้ามาสนับสนุนพันธุ์ไม้ใบให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษา การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ (กระถาง) ในการเพิ่มและยกระดับมูลค่าของไม้ใบ รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย ในการพัฒนาการจำหน่ายทางเพจออนไลน์ และกล่องบรรจุภัณฑ์ในการส่งสินค้าให้ลูกค้า ปัจจุบันเป็นที่นิยมของลูกค้าในพื้นที่และลูกค้าที่ส่งทางเพจออนไลน์ว่า ไม้ดอกของอำเภอภูเรือมีความสวยงาม คงทน มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของลูกค้าเป็นอย่างดี และสามารถสร้างรายได้จนพัฒนาให้เป็นอาชีพหลักที่มั่นคงของเกษตรกร



นางนันทิยา ศรีทัดจันทา เกษตรอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคาและวิธีการส่งสินค้าให้ลูกค้าที่ซื้อผ่านเพจ ประธานแปลงใหญ่ไม้ดอกและลูกหลานสมาชิกแปลงใหญ่จะเป็น Admin รับออเดอร์สั่งซื้อไม้ประดับจากลูกค้า โดยมีการตั้งราคาจากปกติขายส่งที่สวนต้นละ 10 บาท เมื่อขายออนไลน์ผ่านเพจราคาจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นต้นละ 50 บาท เมื่อลูกค้าซื้อต้นแรกคิดราคาส่งต้นละ 60 บาท และหากซื้อต้นต่อไปจะคิดค่าขนส่งต้นละ 10 บาท ใช้บริการขนส่งจากภาคเอกชนที่ดูแลเรื่องการส่งต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ 2 บริษัท คือ บริษัท J&T และบริษัท Flash Express เนื่องจากให้บริการดี สะดวก รวดเร็ว และมีความเชี่ยวชาญในการบรรจุลงกล่อง (Packing) ไม้ดอกไม้ประดับไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคำสั่งเคอร์ฟิวมาบังคับใช้ในการห้ามเดินทางค้าขายข้ามจังหวัดจนถึงปัจจุบัน ทางกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกได้มีการปรับตัว ปรับกระบวนการผลิต วิธีจำหน่ายดังกล่าวข้างต้น และจำหน่ายต้นไม้ผ่านเพจออนไลน์ คิดเป็นมูลค่าได้ประมาณ 8,000 ต้น ราคาต้นละ 50 บาท รวมรายได้เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ทำให้สามารถมีรายได้มาประคองดูแลครอบครัวบรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ หากสนใจไม้ดอกไม้ประดับ หรือไม้มงคลสามารถติดต่อโดยตรงกับนางณัฐริกา ศรีสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โทร.08 4709 2889 หรือผ่านเพจเฟซบุ๊กข้างต้นได้

ซีพีเอฟ เคียงข้างคนไทยสู้ภัยโควิด-19 ส่งเสริมอาหารมั่นคง หนุนการเข้าถึงอาหารปลอดภัย



กว่า 3 เดือนแล้วที่คนไทยต้องเผชิญกับโควิด-19 ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องยากลำบากทั้งเรื่องความเป็นอยู่ หลายคนว่างงาน หลายคนต้องอดมื้อกินมิ้อ หากแต่ในห้วงวิกฤตินี้กลับทำให้เห็นน้ำใจของคนไทย จากการออกมาช่วยเหลือกัน ตามกำลังความสามารถ หนึ่งในหน่วยงานที่เรียกว่าเริ่มช่วยคนไทยตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เกิดวิกฤติจนถึงปัจจุบัน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
โครงการ "อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน" เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นต้นทางของผู้ผลิตอาหารที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ร่วมกับ ซีพีเอฟ ในฐานะภาคเอกชนที่นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องอาหารของทั้งสององค์กรมาร่วมกันจัดทำโครงการ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหาร ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมอบอาหารปลอดภัยมาตรฐานส่งออก อุ่นร้อนพร้อมทาน จากรถ CPF Food Truck แก่ประชาชนใน 6 เขต พื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางกอกน้อย เขตบางพลัด ห้วยขวาง บางบอน หนองแขม และบางขุนเทียน รวมถึงคนขับรถแท็กซี่ 1,000 คัน ในเขตกรุงเทพฯ


โครงการฯ นี้ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เดินทางมาถึงครั้งที่ 23 สู่เป้าหมายของโครงการ ในการร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการมอบอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีคุณภาพ ช่วยสร้างความสุขให้กับประชาชนในทุกๆ พื้นที่ที่รถคันนี้เคลื่อนที่ไปถึง นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรร่วมอุดมการความดีมาร่วมมอบเครื่องอุปโภค-บริโภค มากมาย อาทิ ข้าวตราฉัตร ทรูคอร์ปอเรชั่น แม็คกรุ๊ป และโอสถสภา สำหรับรถ CPF Food Truck มีอุปกรณ์ในการอุ่นร้อน สำหรับให้ทุกท่าน รับมอบอาหารและนำไปรับประทานได้ทันที โดยส่งมอบอาหารให้พี่น้องประชาชนได้อิ่มท้องในช่วงเวลายากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19


ทั้งนี้ยังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จำหน่ายอาหารปลอดภัยราคาโดนใจ 20 บาท 1 ล้านกล่อง ช่วยคนไทยลดภาระค่าครองชีพช่วงโควิต-19 ซึ่งมีจำหน่ายในร้านชีพีเฟรชมาร์ท 147 สาขาทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง พร้อมทั้งลดราคาสินค้าอีกหลายรายการในร้านชีพีเฟรชมาร์ท ก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟ ยังร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 ททน.5 เขตคลองเตย และ CPF ร่วมส่งอาหารคุณภาพจากใจ...สู่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือตร้อนให้แก่ประชาชนเป็น จำนวน 8.499 ครัวเรือน หรือ 41,280 คน ใน 22 ชุมชน


ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการ คูปองส่วนลดจากใจให้กับอสม.ทั่วประเทศ โดยทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจาก การมอบผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลของรัฐ 183 แห่ง ในโครงการ ซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิค-19” พร้อมกับส่งอาหารให้ประชาชนอีกกว่า 20,000 คน ที่แสดงความรับผิดชอบกักตัวเองอยู่บ้าน หลังกลับจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง  และต่อยอดสู่ โครงการ ซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาล และครอบครัว หมอ-พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อีกกว่า 20,000 ครอบครัว เพื่อให้คุณหมอและพยาบาลปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการรักษาผู้ป่วย 
การส่งมอบอาหารให้ประชาชนในครั้งนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ประเทศชาติ ประชาชน ให้ก้าวผ่านวิกฤตไวรัสโควิด19 ไปด้วยกัน โดยบริษัทขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างและดูแลสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าให้กับประเทศ

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เกษตรฯ เผยสถานการณ์ลิ้นจี่และลำไยภาคเหนือ ปี 2563 เพิ่มขึ้น พร้อมวางแผนบริหารจัดการผลผลิต



            นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต) เป็นประธานการประชุม ณ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อรับทราบรายงานผลการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่และลำไย) ครั้งที่ 3/2563 สถานการณ์การเก็บเกี่ยว รวมทั้งแผนบริหารจัดการลิ้นจี่และลำไย ปีการผลิต 2563 จากคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ สำหรับลิ้นจี่ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน ผลผลิตปีนี้มีจำนวน 28,676 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีผลผลิตรวม 26,278 ตัน ขณะนี้ผลผลิตเก็บเกี่ยวใกล้หมดแล้วภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก วางแผนบริหารจัดการเชิงปริมาณ แบ่งเป็น กระจายผลผลิตภายในประเทศ 24,029 ตัน ได้แก่ ล้งในประเทศ วิสาหกิจชุมชน ส่งตลาดภายในจังหวัด/สถานที่ท่องเที่ยว สหกรณ์การเกษตร ตลาดอื่น ๆ อาทิ รถเร่ รถขนส่งสินค้านิคมอุตสาหกรรม ตลาดไท ตลาดต่างจังหวัด Modern Trade จำหน่ายผ่านไปรษณีย์ไทยและตลาดออนไลน์ แปรรูป 2,854 ตัน เป็นลิ้นจี่กระป๋อง น้ำลิ้นจี่ และอื่น ๆ เช่น ลิ้นจี่อบแห้ง และลิ้นจี่แช่แข็ง และส่งออก 1,793 ตัน การจัดการเชิงคุณภาพเน้นส่งเสริมผลิตตามมาตรฐาน GAP การห่อผลลิ้นจี่ก่อนเก็บเกี่ยว การให้คำแนะนำทำลิ้นจี่คุณภาพ ส่งเสริมการดำเนินงานในรูปแบบแปลงใหญ่ ให้ความรู้ด้านการจัดการผลผลิตและเชื่อมโยงตลาด ประชาสัมพันธ์ลิ้นจี่คุณภาพ รวมทั้งสร้างเว็บเพจซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะปีนี้การขายผ่านออนไลน์มียอดสั่งซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนต้องอยู่บ้านตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผลผลิตมีคุณภาพดี เกษตรกรมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (packaging) พร้อมจัดเรียงผลผลิตเพื่อป้องกันความเสียหายได้ดีขึ้น 



            ส่วนลำไยแหล่งผลิตหลักอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ และตาก คาดการณ์ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 635,394 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ให้ผลผลิต 620,379 ตัน หรือร้อยละ 2.42 แบ่งเป็นผลผลิตในฤดู 386,065 ตัน (ร้อยละ 60.76) และผลผลิตนอกฤดู 249,329 ตัน (ร้อยละ 39.24) โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม คิดเป็นร้อยละ 35.41 ของผลผลิตทั้งปี ด้านผลผลิตต่อไร่ของลำไยเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม โดยช่วงที่ลำไยติดดอกมีความหนาวเย็นพอเหมาะ ส่งผลให้ลำไยปีนี้ออกดอกและติดผลมากกว่าปีที่แล้ว สำหรับแผนบริหารจัดการลำไยจังหวัดได้วางแผนการบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยวจนถึงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ โครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ ปี 2563 โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่สำคัญ 5 ด้าน คือ การเตรียมต้นให้สมบูรณ์ การตัดแต่งช่อผล การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย และการปรับปรุงคุณภาพสีผิว รวมทั้งการจัดทำแปลงเรียนรู้ ส่งเสริมการรวมกลุ่มพัฒนาคุณภาพผลผลิตและการตลาด ถ่ายทอดความรู้การผลิตลำไยคุณภาพในรูปแบบแปลงใหญ่ จนถึงคำแนะนำการเตรียมต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่วนเชิงปริมาณลำไยภาคเหนือจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน เดือนกันยายน ช่วงที่ให้ผลผลิตมาก (ช่วง Peak) ต้องเฝ้าระวังในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม ซึ่งทั้ง 8 จังหวัดได้เตรียมการบริหารจัดลำไยในฤดูรวม 386,065 ตันแล้ว ทั้งการประชุมเชื่อมโยงตลาดลำไยล่วงหน้า การสนับสนุนให้มีจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยและกระจายผลผลิต จัดเตรียมข้อมูลความต้องการรับซื้อผลผลิตของผู้ประกอบการลำไยโดยประสานความร่วมมือกับพาณิชย์และอุตสาหกรรมจังหวัด สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตมีดังนี้ บริโภคสดภายในประเทศ 69,102 ตัน ด้วยวิธีกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ตลาดภายในจังหวัดและท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้ง Modern Trade และตลาดออนไลน์/ไปรษณีย์ แปรรูป 269,021 ตัน ด้วยวิธีการอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง แปรรูป เช่น การทำน้ำลำไยสกัดเข้มข้น ลำไยกระป๋อง และการส่งออกลำไยสด 47,942 ตัน ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้เตรียมเสนอแนวทางการกำกับ ติดตาม เฝ้าระวังผลผลิตลำไยปริมาณมาก (ช่วง Peak) ปี 2563 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ให้ความเห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือต่อไป      

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อ.ส.ค. เปิดท่องเที่ยว“ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” สไตล์ New Normal



อ.ส.ค.สบช่องมาตรการผ่อนคลายโควิด-19 เปิดให้นักท่องเที่ยวเช้าชมฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คสไตล์ New Normal พร้อมอัดโปรโมชั่นพิเศษเที่ยววันธรรมดา ลด 50% ส่วนเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ลด 20% เอาใจนักผจญภัยและนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้วิถีการเป็นชาวโคนมตามแนวทางพระราชดำริ


นายสุชาติ   จริยาเลิศศักดิ์   รองผู้อำนวยการ ทำการแทน ผู้อำนวยการ อ.ส.ค.  กล่าวว่า หลังรัฐบาลมีนโยบายผ่อนคลายเกี่ยวกับมาตรการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ลดลง โดยทางรัฐบาลมีประกาศให้สถานประกอบการสามารถเปิดกิจการได้ แต่ต้องอยู่ในมาตรการควบคุมและป้องกันโรคฯ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 7)   ดังนั้นต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อ.ส.ค. จึงได้มีการเปิดต้อนรับให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ณ ฝ่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.ส.ค. อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ได้ปกติ  ภายใต้รูปแบบท่องเที่ยวตามชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ด่านแรกคือนักท่องเที่ยว  จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิและใช้เจแอลกอฮอล์  จากนั้นเช็คอินผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะดอทคอมหลังจากที่เช็คอินแล้ว ก็มาสู่จุดที่จะให้ขึ้นรถนำเที่ยว เดิมในการท่องเที่ยวฟาร์มของเรา จะมีคนเข้ามาเที่ยวฟาร์มเป็นจำนวนมากฉะนั้นตามมาตรการที่จะต้องเว้นระยะห่าง DISTANCING จากรถพ่วงที่ได้บรรทุกคนเข้ามาเที่ยวชมฟาร์มรอบละ 50-70 คนปัจจุบันเราจะลดจำนวนที่นั่งลง คันรถหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 10-16 คนต่อรอบ วันหนึ่งจะรับได้ประมาณ 6 รอบ ในทุกๆ จุดก็จะมีอ่างล้างมือก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดแรกก็คือจุดของตัวศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ แล้วก็เข้าไปชมคอกวัวรีดนมและจุดต่างๆแล้วก็กลับมาที่ฟาร์มม้าเป็นจุดท้าย เมื่อออกจากสถานที่ท่องเที่ยวฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คแล้วเราก็จะให้เช็คเอาท์ไทยชนะดอทคอมเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด


อ.ส.ค.ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในมาตรการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ก็คือ New Normalของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คที่เป็นไปอย่างเคร่งครัดแต่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลินสนุกสนานเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราจะสบายใจมากกว่าถ้าเราได้เที่ยวอย่างปลอดภัยในลักษณะของการ DISTANCING นี้ด้วย    ซึ่งฟาร์มของเรานอกจากได้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับฟาร์มโคนมแล้วยังได้เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์อาชีพพระราชทานซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมไว้ให้กับปวงชนชาวไทยอีกด้วยนายสุชาติกล่าว 
              นายสุชาติกล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการผ่อนคลายล๊อคดาวน์ อ.ส.ค. ได้จัดโปรโมชั่นพิเศษ สำหรับวันธรรมดา ค่าเข้าชมฟาร์มฯ ลด 50% สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมฟาร์มฯ ลด 20% ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้การเลี้ยงโคนมและสัมผัสความสวยงามของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คให้มากขึ้น


สำหรับฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คมีแผนผลักดันให้ เป็นฟาร์มตัวอย่างและศูนย์กลางการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทย ปัจจุบัน อ.ส.ค. ยังเปิดให้ฟาร์มแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสและชื่นชมความงามของธรรมชาติ พร้อมแหล่งเรียนรู้วิถีโคนมอาชีพพระราชทาน และการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมการผลิตนมแบบครบวงจร ตั้งแต่การเลี้ยงโคนม การสาธิตรีดนมโค การนำน้ำนมดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตนม ยูเอชที และนมพาสเจอร์ไรส์ การทำปุ๋ยอินทรีย์นมสด เป็นต้น


โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา นอกจากจะได้ทำกิจกรรม ทดลองรีดนมแม่โคด้วยมือ ป้อนนมลูกวัวแล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศคาวบอยที่มีฝูงโคนมใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบธรรมชาติ เลือกเข้ามาเยี่ยมชมอันดับต้นๆ ของจังหวัดสระบุรี ซึ่งเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ในอัตราค่าบริการที่ถูกและคุ้มค่า   หากท่านต้องการเปิดประสบการณ์วิถีอาชีพการเลี้ยงโคนมในรูปแบบตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โทร 036-342-053 / 089-901-8035

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

แม็คโคร ชูนโยบาย “เคียงข้างเกษตรกรไทย” ย้ำหลัก 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน บูรณาการภาครัฐ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพ



บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ชูนโยบาย แม็คโครเคียงข้างเกษตรกรไทยตอกย้ำหลัก               3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน พร้อมบูรณาการภาครัฐ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร เพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร ปักธงธุรกิจสู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพ


นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า แม็คโครให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผลผลิตจากเกษตรกรไทยทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายสำคัญขององค์กร แม็คโครเคียงข้างเกษตรกรไทย            ยึดหลัก 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน  อันได้แก่ ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ เกษตรกร และลูกค้าของแม็คโครตามลำดับ โดยในแต่ละปีเราได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรใน 3  บริบทหลัก ๆ อันได้แก่ 1.การให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดธุรกิจร้านอาหารที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของแม็คโคร ที่มีความต้องการผลผลิตคุณภาพ มีความสม่ำเสมอเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินนโยบาย การตลาดนำการผลิตของภาครัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน 2.ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ จัดการอบรมให้ความรู้ พัฒนาและเลือกสายพันธุ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง ตลอดจนการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการอบรมไปแล้วกว่า 1,200 คน และ 3.การเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายรวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการบริโภคสินค้าเกษตรไทย ของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านแม็คโคร 134  สาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤติเช่น สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19  ส่งผลให้สินค้าเกษตรส่งออกได้น้อย จึงเกิดภาวะล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ เป็นต้น โดยในปีนี้ แม็คโครได้รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากเกษตรกรไทยโดยตรง มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มากว่า 20%



แม็คโคร มองการพัฒนาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร เนื่องจากเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การจัดจำหน่าย รู้ความต้องการของลูกค้า เราจึงได้นำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปถ่ายทอดและเน้นการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ เกษตรกรต้องมีรายได้เพียงพอ มั่นคง สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ระยะยาว  อีกทั้งยังขานรับนโยบายการตลาดนำการผลิตของภาครัฐ บูรณาการความร่วมมือกับ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แพลตฟอร์มกลาง เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของแม็คโคร


นางศิริพร ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินตามพันธกิจและนโยบายที่ชัดเจนและเข้มแข็งของแม็คโคร จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดการกระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในอาหาร ในระยะยาวให้กับประเทศไทย


วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. เกษตร ผลิต ‘เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU’ เวอร์ชั่นล่าสุด เครื่องมือสร้างอาชีพที่ยั่งยืน



อาหารปิ้ง ย่าง เป็นอาหารการกินที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และได้รับความนิยมทุกระดับกลุ่มผู้บริโภค ร้านอาหารปิ้ง ย่าง มักจะเลือกใช้เตาปิ้งย่างที่ใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะได้กลิ่นหอมจากถ่าน แต่ปัญหาที่พบคือ ถ่านเชื้อเพลิงกระจายตัวในเตาไม่สม่ำเสมอ ทำให้การสุกของอาหารแต่ละชิ้นสุกไม่พร้อมกัน “เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU” เวอร์ชั่นล่าสุด ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการ และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ผลงานวิจัยและพัฒนาของ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิต และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยได้แก่ นายธนัตถ์ ศรีสุขสันต์ และน.ส.ต้องใจ สัตราศรี ซึ่งทำการพัฒนาทุกองค์ประกอบตั้งแต่ การพัฒนาสูตรหมักไก่ย่าง กระบวนการใช้งานเตา การพัฒนาสูตรน้ำจิ้มไก่ย่าง และปลาเผา ไปจนถึงการทดลองประกอบธุรกิจจริง (ออกขายอาหารปิ้งย่าง ตามตลาดนัด) รวมถึงการออกงานเพื่อการเผยแพร่ผลงานและทดสอบการตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค


            ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU ประกอบด้วย แผ่นสเตนเลส ฉนวนความร้อน สำหรับห่อหุ้มสเตนเลส (ฉนวนเส้นใยเซรามิคทนความร้อนได้มากกว่า 600 องศาเซลเซียส) กระจกสำหรับปิดเตาย่าง (กระจกทนความร้อน 500 องศาเซลเซียส) มอเตอร์ไฟฟ้า และพัดลมดูดอากาศ ทำการออกแบบเป็นถังรูปทรงกระบอก ขนาด กว้างxยาวxสูง = 844 x 890 x 1,640 มิลลิเมตร ด้านนอกเตาย่าง หุ้มด้วยฉนวนกันความร้อน พร้อมติดระบบดูดควันสำเร็จรูปในตัวมีฝาปิดไม่ให้ ควันออก ตัวเตาย่างจะวางขนานกับพื้น ตั้งอยู่บนขาตั้งที่แยกออกจากกันได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้าย ภายในเตาย่างทรงกระบอก จะมีวงล้อที่มีเดือย 6 รู รอบวง เพื่อรองรับการเสียบของแกนเหล็กสเตนเลสสำหรับใส่อาหารที่จะย่าง คือ ไก่ หรือ ปลา ในเตานี้จะมีแกนเหล็กทั้งหมด 6 แกน 1 แกนเหล็ก จะใส่ไก่ได้ 2 ตัว สามารถย่างไก่ได้ครั้งละ 12 ตัว (ปลาเผา 1 ตัว ต่อ 1 แกนเหล็ก) โดยวงล้อจะหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า



             นอกจากนี้ ยังมีถาดสำหรับใส่ถ่านเชื้อเพลิง 2 ถาด ภายในเตาย่างมีถาดใส่ถ่านเชื้อเพลิง 1 ถาด พร้อมล้อเลื่อนเพื่อความสะดวกในการดึงออกมาเปลี่ยนถ่านเชื้อเพลิง โดยจะอยู่ตรงแกนกลางของเตาย่างทรงกระบอก ส่วนอีก 1 ถาดสำหรับใส่ถ่านเชื้อเพลิงจะอยู่ด้านล่างนอกเตาย่าง เวลาย่างไก่จะได้รับความร้อนและสุกพร้อมกัน ทั้ง 2 ด้าน โดยไม่เสียเวลาในการพลิกไก่

การทำงานของ เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU’ ขณะย่างไก่ เมื่อไก่หมุนมาอยู่ในตำแหน่งแนวดิ่ง น้ำมันจากไขมันของไก่ในช่วงนี้ จะหยดใส่ผนังเตา แล้วน้ำมันจะไหลลงไปยังร่องเอียง เพื่อลำเลียงน้ำมันไปในถังใส่น้ำมันทั้ง 2 ด้านของเตา โดยน้ำมันดังกล่าวจะไม่หยดใส่ถ่านเชื้อเพลิงที่อยู่นอกเตาย่าง ทำให้ไม่มีควัน ส่วนฝาปิด-เปิดเตาทำด้วยกระจกจึงมองเห็นไก่ย่างภายในเตา เพื่อสังเกตอาหารที่ย่างว่าสุกหรือยัง มีปุ่มสวิตช์สำหรับปิด-เปิดพัดลมดูดอากาศ และมีปุ่มสวิตช์สำหรับปิด-เปิดมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อหยุดการหมุนของวงล้อ เพื่อที่จะดึงแกนเหล็กนำไก่ที่สุกแล้วออกจากเตา หรือนำไก่ดิบเสียบในแกนเหล็กใส่เข้าไปในเตาย่าง ส่วนระบบดูดควันสามารถดูดควันได้เกือบ 100% และสามารถต่อท่อดูดควันออกไปนอกร้านได้


             จุดเด่นของ “เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU” สามารถย่างไก่สุกทั่วถึงภายในโดยที่ยังคงความชุ่มฉ่ำและมีรสชาติดี หนังกรอบ ที่สำคัญไม่เกิดรอยไหม้ ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารย่างที่สดใหม่ต่อเนื่องทุก 6 - 8 นาที ประหยัดถ่านเชื้อเพลิงได้มากกว่าเตาย่างแบบเปิดทั่วไป 2 - 3 เท่า โดยไก่ย่างจะใช้เวลาในการย่าง 30 - 45 นาที ส่วนปลานิลเผา ใช้เวลา 10 - 12 นาที สามารถย่างไก่และปลาเผาได้ 20 ตัว / ชั่วโมง และที่สำคัญคือ ลดการใช้แรงงานมีความสะดวกสบาย ลดความร้อน และขนย้ายสะดวก

ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ “เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU” สำหรับย่างไก่ ปลา และอาหารอื่น ๆ ติดต่อได้ที่ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทรศัพท์ 08 1927 0098 และคุณธนัตถ์ ศรีสุขสันต์ โทรศัพท์ 08 3030 6609



องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ เดินหน้าโครงการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชี้เป็นการทรมานสัตว์และไม่ใช้การอนุรักษ์ที่แท้จริง



คุณปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า จากข้อมูลจำนวนเสือในประเทศไทย ที่อยู่ในกรงเลี้ยงพบว่ามีอยู่ประมาน 1,500 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเสือโคร่งเบงกอล หรือเสือโคร่งไซบีเรีย ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น โดยพบว่ามีการผสมพันธุ์เสือในกรง และทำให้จำนวนเสือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงกว่า 200 ตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์ แต่เป็นการเร่งเพิ่มจำนวนเสือ เพื่อนำเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาด้านต่างๆ ยังทำให้พบว่า การผสมพันธุ์เสือที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกต้องนี้ เป็นไปเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการค้า ทั้งเสือที่มีชีวิตและชิ้นส่วนของเสือ เพื่อใช้ทำยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานะละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามมิให้มีการค้าทั้งเสือที่มีชีวิต ชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์ และเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 คณะกรรมการอนุสัญญา CITES ได้มีหนังสือแจ้งเตือนมายังรัฐบาลไทย เพื่อให้ออกมาตรการในการควบคุมปริมาณเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง เนื่องจากมีมากเกินความจำเป็น และอาจมีการลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมายได้


องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงได้ดำเนินโครงการการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรง เพื่อเป็นการยุติการทารุณกรรมสัตว์จากกระบวนการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม ทั้งขนาดของกรง สถานที่เลี้ยง อาหาร รวมทั้งการฝึกเสือเพื่อนำมาแสดง เป็นภาพรวมที่ทำให้เสือแต่ละตัวต้องพบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส นับตั้งแต่ลูกเสือที่ถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้แม่เสือมีโอกาสผสมพันธุ์อีกครั้งได้เร็วขึ้น ซึ่งตามปกติ ลูกเสือจะหย่านมเมื่ออายุ 4-6 สัปดาห์ และแยกจากแม่เมื่ออายุ 1-2 ปี กลับถูกนำมาเลี้ยงโดยคนเมื่ออายุเพียงแค่ 2 เดือน และให้อาหารที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของลูกเสือ ทั้งยังต้องทำกิจกรรมเพื่อให้ความบันเทิงกับคน เช่น ถูกอุ้มถ่ายรูป และป้อนนมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ลูกเสืออ่อนแอและมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการแยกลูกเสือออกมาฝึกเพื่อการแสดง เช่น การลอดห่วงไฟ หรือการจัดแสดงที่ขัดกับหลักพฤติกรรม เช่น การขังรวมเพื่อให้ลูกเสือใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ชนิดอื่น เช่น การให้กินนมจากแม่หมู เสือที่โต จะถูกเลี้ยงด้วยโครงไก่และเนื้อหมูเนื้อวัวแล่ปรุงสุก ซึ่งทำให้สูญเสียวิตามินตามธรรมชาติไป บางครั้ง อาหารของมัน จะเป็นอาหารสำเร็จรูปของแมวและหมา ทำให้เสือส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหาร เพราะตามธรรมชาติ เสือจะกินซากสัตว์ทั้งตัว ที่รวมเนื้อ กระดูก และหนัง เพื่อให้ได้โปรตีน ไขมันและสารอาหารที่จำเป็น ในปริมาณสูงเท่าที่ร่างกายต้องการ


ทั้งนี้ ในปัจจุบันกฎหมายภายใต้ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2560 ยังมีช่องว่างและยังเปิดโอกาส ในการอนุญาตให้ผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงได้ ถึงแม้กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีมาตรการในการติดตามควบคุมและบังคับใช้กฎหมายในการผสมพันธุ์เสือดังกล่าว เช่น การแยกพ่อพันธุ์กับแม่พันธุ์ การตรวจดีเอ็นเอเสือ แต่จากข้อมูลก็ยังพบการลักลอบผสมพันธุ์เสืออย่างต่อเนื่อง การผสมพันธุ์ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง จะมีผลเสียทางด้านพันธุกรรมที่เกิดจากการผสมเลือดชิด ทำให้ร่างกาย ไม่สมบูรณ์ และมักจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน ด้วยเหตุนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงทำการรณรงค์เรียกร้องให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนนโยบาย ให้เกิดการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เพื่อป้องกันการเพิ่มจานวนเสือซึ่งเป็นสัตว์ป่า ที่จะถูกนำมาใช้ เพื่อความบันเทิงและทำการค้าในรูปแบบต่างๆ ในการรณรงค์นี้ เราต้องการผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนอย่างน้อย 10,000 ชื่อ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน เพื่อให้เป็นการเรียกร้องที่สมบูรณ์ตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด


การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงส่วนใหญ่ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ การผสมพันธุ์เสือในกรงไม่ช่วยในการอนุรักษ์ เสือเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอยู่ในป่าตามธรรมชาติได้ และไม่สามารถปล่อยกับคืนสู่ป่าได้ เนื่องจาก การเลี้ยงดูที่ถูกฝึกให้ใกล้ชิดกับคน หากปล่อยกับคืนสู่ป่ามีโอกาสถูกล่าได้ง่ายมาก และในการประชุม ไซเตส เมื่อ ปี 2007 ได้ระบุว่าการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงของสถานที่โชว์การแสดงสัตว์ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์ (Cites international regulation:2007) ทั้งนี้ไซเตสได้สนับสนุนให้มีการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงและการผสมพันธุ์เสือเพื่อใช้ในการแสดง ในการประชุมเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภายใต้โครงการรณรงค์ดังกล่าว มุ่งเน้นการห้ามผสมพันธุ์เพื่อนำเสือมาใช้ในความบันเทิงเท่านั้น แต่ไม่ได้ห้ามผสมพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ เช่น เสือสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานฯ หรือสวนสัตว์ของรัฐ ที่ทำการเพาะพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์ เช่น ศูนย์เพาะพันธุ์เสือของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือหน่วยงานวิจัยอื่นๆ”คุณปัญจเดช กล่าว

   


วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มกอช. บุกนครนายก ดึง Q อาสาแนะเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP สนับสนุนติด Q ยกระดับด้วย QR Trace ระบบตามสอบย้อนกลับ



ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ลงพื้นที่จังหวัดนครนายก พบเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง บ้านวังดอกไม้ พร้อมด้วยนายบุญส่ง ศิริมา ประมงจังหวัดนครนายก และนางสาวปทุมพร กรสุทธิโสภณ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครนายก ณ ศูนย์เรียนรู้ด้านประมงเชิงเกษตรและท่องเที่ยวบ้านวังดอกไม้ หมู่ 7 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยเลขาธิการ มกอช. พร้อมคณะ พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหา พร้อมทั้งให้คำแนะนำ เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP สนับสนุนให้ ติดตราสัญลักษณ์ Q ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ QR Trace เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้กับผู้บริโภค รวมถึง การเพิ่มโอกาส และช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยนำสินค้าเกษตรไปวางใน DGTfarm.com ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เพื่อยกระดับและสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน


ทั้งนี้ เลขาธิการ มกอช. ได้ให้คำแนะนำแก่ Q อาสา มกอช. ในการทำหน้าที่ ส่งเสริม ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร และการตรวจประเมินเบื้องต้นกับเกษตรกรในพื้นที่ในเรื่องของการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อที่จะให้เกษตรกรได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและสามารถขอการรับรองได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง






จากนั้น เลขาธิการ มกอช. พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมสวนส้มโอ ของนางพันธ์ทิพย์ พุมมีดี ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.เครือข่ายด้านประมง) ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ ซึ่งได้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร มกษ.9001-2556 จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ซึ่งนอกจากนี้ยังได้เลี้ยงปลาในกระชัง-เพราะพันธุ์ปลานิล/ปลาทับทิม เลี้ยงปลาสลิดในบ่อดิน เลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน และเพาะเลี้ยงปลาสวยงามอีกด้วย โดยโอกาสนี้ เลขาธิการ มกอช. ได้แนะนำให้เกษตรกรติดตราสัญลักษณ์ Q ที่ส้มโอ และใช้ QR Trace ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตร พร้อมแนะนำให้นำสินค้าเกษตรไปวางจำหน่ายใน DGTfarm.com ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่าย ให้มากยิ่งขึ้น


สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...