วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565

กสส . ตั้งคณะทำงานศึกษาการลงทุนเพิ่มทุนของ 87 สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย เตรียมเสนอ คพช. พิจารณาเดือน มี.ค. นี้

            นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการการลงทุนใน คพช. เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการขอลงทุนของ 87 สหกรณ์เจ้าหนี้เพื่อเพิ่มทุน บมจ.การบินไทย ตามข้อเสนอของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ที่ต้องการให้สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย ซึ่งมีมูลหนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท สามารถที่จะลงทุนในหุ้นกู้เพื่อเพิ่มทุนให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และแปลงหนี้เป็นการลงทุนในหุ้นสามัญ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และสร้างโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์จากการบริหารงานของผู้บริหารแผนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจากผลการพิจารณาเบื้องต้นพบว่า การดำเนินการดังกล่าวน่าจะมีช่องทางที่จะช่วยเหลือสหกรณ์เจ้าหนี้ในการลดปัญหาหนี้เสียได้โดยอาศัยอำนาจของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) แต่ทั้งนี้              ต้องมีเพื่อลดความเสี่ยงควรจะต้องมีข้อมูลในการพิจารณาให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น เนื่องจากหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ



            “ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อไปศึกษาสภาพคล่องของสหกรณ์เจ้าหนี้เฉพาะ 87 เจ้าหนี้การบินไทยว่าสามารถลงทุนเพิ่มเติมได้เท่าไหร่ ที่จะไม่กระทบต่อการดำเนินงานและความมั่นใจของสมาชิก ซึ่งสหกรณ์จะลงทุนได้หรือไม่นั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์นั้น ๆ เสียก่อน  รวมไปถึงต้องพิจารณาความเสี่ยงในการลงทุน ให้รอบด้านตามข้อสังเกตของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้รวบรวมผลการศึกษาทั้งหมดเสนอคณะอนุกรรมการฯ ภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ในเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งตามข้อเสนอของตัวแทนคณะสหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทยได้ยกประเด็นว่า หุ้นกู้ที่จะออกในครั้งนี้ทาง บมจ.การบินไทย จะมีหลักประกันเต็มจำนวน โดยมีระยะเวลาชำระคืน 6 ปี หากการบินไทยสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นก็จะสามารถชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์เจ้าหนี้ได้ก่อนกำหนดตามแผนได้อีก 10% ด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว



            ทั้งนี้ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนสำนักงาน ก.ล.ต. ผู้แทนสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยมีกลุ่มพัฒนาสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเลขานุการ



            สำหรับข้อเสนอของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ที่เสนอต่อคณะกรรมการการลงทุนได้พิจารณาประกอบด้วย 1. ขอให้พิจารณาเห็นชอบให้สหกรณ์ลงทุนในหุ้นกู้ของ บมจ.การบินไทย 2. ขอให้พิจารณาเห็นชอบให้สหกรณ์สามารถซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.การบินไทย ได้เพื่อใช้สิทธิ์ในการแปลงหนี้เป็นทุน โดยข้อเสนอของ บมจ.การบินไทย ประกอบด้วย 1. กรณีการออกหุ้นกู้จะมีหลักประกันเต็มจำนวน และสหกรณ์เจ้าหนี้จะได้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของ บมจ. ได้ในจำนวนเดียวกับที่ให้สินเชื่อใหม่ที่ราคาหุ้นละ 2.5452 บาท และ 2. จะได้สิทธิในการรับชำระภาระหนี้เดิมก่อนกำหนดสัดส่วนร้อยละ 10

 

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565

มก. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมจุดตรวจคัดกรองเข้างานเกษตรแฟร์ 65 สร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน ข


        นับถอยหลังการจัดงานเกษตรแฟร์ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้มาตรการเข้มข้นตามแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโควิด-19  โดยผู้เข้าร่วมงาน จะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือผลตรวจ ATK / PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงแก่เจ้าหน้าที่ พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิ หากอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียสไม่อนุญาตให้เข้าภายในงานนอกจากนี้เพื่อลดความแออัดของผู้เข้าร่วมงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้เปิดเว็บไซต์ virtual kasetfair เพื่อให้ผู้สนใจเข้าชมบรรยากาศของงานเกษตรแฟร์ 2565 เข้าชมร้านค้าและสั่งซื้อสินค้าตามช่องทางการสั่งซื้อสินค้าที่ร้านค้าแจ้งไว้ตลอดระยะเวลาการจัดงานและหลังการจัดงานได้อย่างต่อเนื่อง

 


วันที่ 27 มกราคม 2565 ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด” พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน ได้นำสื่อมวลชนนั่งรถราง ซึ่งเป็นรถโดยสารให้บริการผู้เข้าร่วมงานตลอดการจัดงานเกษตรแฟร์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ชมบรรยากาศการจัดพื้นที่ในโซนต่างๆ และจุดสำคัญด่านแรกของการเข้าชมงาน คือจุดตรวจคัดกรองรับวัคซีนโควิด-19 แล้ว และตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งมีจำนวน 6 จุดเข้างาน  ได้แก่ ประตูพหลโยธิน , ประตูงามวงศ์วาน (1), ประตูสวนวรุณาวัณ (สำนักพิพิธภัณฑ์ฯ) , แยกโครงการหลวง , แยกสำนักการกีฬา , แยกคณะเกษตร (อาคารวชิรานุสรณ์)  



โดยการคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน จะตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนด้วยแอป “หมอพร้อม”จากนั้นแสดงผลดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ สำหรับขั้นตอนต่อไปคือการตรวจวัดอุณหภูมิ หากอุณหภูมิเกิน37.5 องศาเซลเซียส        ไม่อนุญาตให้เข้าภายในงาน

กรณีที่ไม่ได้นำโทรศัพท์มา ให้ถ่ายสำเนาประวัติการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แสดงต่อเจ้าหน้าที่           หรือ แสดงผลตรวจ ATK / PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง แก่เจ้าหน้าที่ โดยจะต้องลงนามลายมือชื่อกำกับพร้อมหมายเลขโทรศัพท์

ข้อปฏิบัติที่จะต้องขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมงานอย่างเคร่งคัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา 100 % งดรับประทานอาหารขณะเดินชมงาน เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เดินชมงานตามระบบเดินทางเดียว (One way)ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ ตามจุดต่างๆที่ให้บริการในงาน โดยทิ้งขยะและ คัดแยกขยะอย่างเป็นระบบตามจุดต่างๆที่ให้บริการจำนวน 20 จุดภายในงาน


 

        สำหรับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และด้านสิ่งแวดล้อม โซนร้านค้างานเกษตรแฟร์ ปี 2565 มีดังนี้

1. มาตรการด้านบุคคล 

1.1 ผู้ประกอบการต้องรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างน้อย 2 เข็มขึ้นไป 

1.2 ผู้ประกอบการต้องตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ทุกวันโดยส่งผลการตรวจให้เจ้าหน้าที่โซน ทุกวัน 

1.3 ผู้ประกอบการต้องสวมหน้ากากอนามัย และรักษาสุขอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่จำหน่ายสินค้า 

1.4 กรณีมีความเสี่ยง/มีอาการไม่สบาย/พบผู้ติดเชื้อ ให้งดเข้าพื้นที่จำหน่ายสินค้าและรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โซนพื้นที่โดยด่วน 

1.5 ผู้ประกอบการภายในร้านจะต้องรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 

อย่างน้อย 2 เข็มขึ้นไป โดยต้องมีแสดงเอกสารหน้าร้าน

2. มาตรการด้านกายภาพร้านค้า 

2.1 ร้านค้าทุกร้านต้องจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับลูกค้า 

2.2 ในการจัดร้านค้าผู้ประกอบการต้องใช้ผ้าใบ แผ่นพลาสติก หรืออุปกรณ์อื่น กั้นพื้นที่รอยต่อระหว่างร้านค้า พร้อมจัดวางสินค้าในบริเวณที่สูงจากพื้นที่ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

2.3 ร้านค้าต้องคัดแยกขยะตามประเภท และขยะติดเชื้อเช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ชุดตรวจ ให้ใส่ถุงแดงและทิ้งในถังขยะติดเชื้อ และดูแลพื้นที่ให้สะอาดตามสุขอนามัยอยู่เสมอ 

2.4 ร้านค้าต้องจัดให้มีการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น โดยแสดงคิวอาร์โคดให้ชัดเจน เพื่อลดการสัมผัสและลดการใช้เงินสด 

2.5 กรณีร้านค้าที่มีพื้นที่ใหญ่ ให้กำหนดทางเข้า-ออกให้ชัดเจนและจำกัดจำนวนคนไม่ให้แออัดและจัดสรรพื้นที่ให้ถ่ายเท 

 


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย จะดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณจุดสัมผัสร่วมและบริเวณโดยรอบงานทุกวันหลังเลิกงาน รวมถึงฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรถราง ซึ่งเป็นรถโดยสารให้บริการผู้เข้าร่วมงานทุกรอบที่ให้บริการอีกด้วย

 


 

คกอช. เตรียมชง ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย


    คกอช. เตรียมชง ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 เดินหน้าขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ ดันไทยสู่ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ มุ่งสร้างแหล่งอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน

     นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมีนายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฏหมาย เป็นประธานการประชุม เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ณ ห้อง 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล



     นายพิศาล พงศาพิชณ์ กล่าวว่า มกอช. ร่วมบูรณาการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคงอาหาร 2.ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 3.ด้านอาหารศึกษา และ 4.ด้านการบริหารจัดการ



     พร้อมกันนี้ ได้กำหนดเป้าหมายของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ไว้ 6 ด้าน คือ 1.จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง 2.ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง 3.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น 4.มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น 5.จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง และ 6.มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ระยะ 5 ปี รองรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ  ดังกล่าว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ

     ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ถือเป็นกรอบการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนการปฏิบัติงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารตามภาระกิจและอำนาจหน้าที่ โดยการบูรณาการการดำเนินงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ มุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

     “การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในระยะ 5 ปี จำเป็นที่ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานร่วมกันแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และมีการบูรณาการ รวมทั้งการติดตามและประเมินผล อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในระยะ 5 ปี อย่างไรก็ดี แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว


 

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี เปิดโครงการอบรม สร้างผู้นำชุมชน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด


 

    รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง ผู้ช่วยอธิการบดี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  หัวหน้าโครงการเสริมพลังผู้นำชุมชน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ได้เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ ว่า โครงการ ฯ นี้จะเป็นการสร้างผู้เชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้กับตัวแทนชุมชนองค์กรส่วนท้องถิ่น ใน ๕ เขตพื้นที่โดยมีพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และ ใต้ พื้นที่ละ ๑๐๐ คนต่อภาค รวม ๕๐๐ คน  ให้ทุกคนได้เข้าใจถึง พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานชีวมวล ประกอบทั้งยังต้องการส่งเสริม ให้พลังงานสะอาดได้เข้าสู่ชุมชน ให้ชุมชนสามารถพัฒนา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเราจะมีการจัดอบรม และ ปฏิบัติรวม ๓ วัน 



    รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง กล่าวต่อว่า การอบรมครั้งนี้จะมีทั้งภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมอบรม จะเข้าใจถึงความสำคัญของแสงอาทิตย์และระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงาน ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  การออกแบบติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ประกอบกับการได้เรียนรู้จาก อุปกรณ์จริง ทั้งชุดฝึกปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ชุดฝึกโซล่ารูฟ  และชุดฝึกการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งความรู้ที่ได้จากภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เข้มข้น จะทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถเข้าถึงและเข้าใจหลักการทำงานของพลังงานแสงอาทิตย์ จนสามารถติดตั้ง ใช้ได้จริงด้วยตนเอง 



    หัวหน้าโครงการเสริมพลังผู้นำชุมชน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การอบรมสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ เราจะมีการทดสอบผู้เข้าอบรมทั้งหมดภายหลังการอบรม เพื่อต้องการทราบว่า ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจเนื้อหาอย่างไร และ สามารถนำพลังงานทางเลือกไปติดตั้ง และ ต่อยอดในชุมชนได้หรือไม่  โดยหากใครผ่านบททดสอบและได้คะแนนสูงสุด ทางโครงการ ฯ จะมอบชุดฝึกปฏิบัติให้ ๑  ชุด ซึ่งจะสามารถทราบผลทันทีหลังการสอบเสร็จ  ส่วนการส่งมอบชุดฝึกปฏิบัตินั้น ทางโครงการ ฯ จะส่งมอบทันที เมื่อทางชุมชน ที่ได้รับเลือกมีความพร้อม และ เราจะทำอย่างนี้อีก ๔ แห่งที่เหลือที่จะมีการอบรมต่อไป  

 

 

 

 

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

มกอช. ชวนคนไทยเชื้อสายจีน เลือกซื้อสินค้าเกษตรติดเครื่องหมาย Q ไหว้เจ้าช่วงเทศกาลตรุษจีน เพิ่มความมั่นใจ ได้สินค้าสะอาด ปลอดภัย


 

     วันที่ 25 ม.ค.65 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน โดยการเลือกซื้อสินค้าสำหรับการไหว้เทพเจ้าและไหว้บรรพบุรุษที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน หรือเครื่องหมาย ซึ่งนอกจากจะต้องพิถีพิถันในเรื่องของความเป็นสิริมงคลแล้ว ควรคำนึงถึงเรื่องความสะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน 



     ทั้งนี้ สินค้าที่มีเครื่องหมาย ทุกชนิด สามารถการันตีได้ว่า เป็นสินค้าที่มีปลอดภัย ทั้งจากสารเคมีและสิ่งแปลกปลอม ผ่านการคัดคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ผลิตด้วยระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล เช่น GAP,GMP และเป็นสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองว่า เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้านั้นสะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคแน่นอน

"บิ๊กป้อม" ติดตามสถานการณ์น้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา


 


วันนี้ (25 ม.ค.65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 และแผนบริหารจัดการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการท่องเที่ยว อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท



นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (25 ม.ค.65) 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,252 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,556 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,485 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณที่มีอย่างจำกัดจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 5.36 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.63 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ (แผนวางไว้ 2.81 ล้านไร่) ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำด้วยการหมุนเวียนน้ำในพื้นที่ให้ทั่วถึง เพื่อไม่ให้พื้นที่ที่เพาะปลูกแล้วเกิดความเสียหาย ด้านการเพาะปลูกพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้ควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้



นอกจากนี้ กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นเครื่องแบบ Vertical Pump อัตราการสูบ 1.50 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องแบบ Sumersible Pump อัตราการสูบ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 2 เครื่อง มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,000 ไร่ โดยจะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเติมเข้าระบบชลประทานและรักษาระบบนิเวศในลำน้ำแม่ลา โครงการแก้มลิงหนองอ้อ พร้อมอาคารประกอบ ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เก็บกักน้ำได้ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ ในเขตตำบลทองเอน ตำบลท่างาม และตำบลงิ้วลาย และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ  0.30 ลบ.ม./วินาที พร้อมท่อส่งน้ำ ยาว 426 เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ 1,400 ไร่ 



ในการนี้ พล.อ.ประวิตรฯ ได้ทำพิธีเปิดใช้โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตำบลหัวป่า ซึ่งดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว พร้อมเร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมกำจัดผักตบชวาและวัชพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุดต่อไป

สยามคูโบต้า เดินหน้าผลักดันการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก GMB เปิดกลยุทธ์รับปี 2565 ด้วยคอนเซ็ปต์ “Essentials Innovator for Supporting Life” เน้นพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรด้วยแนวคิด ESG


 


สยามคูโบต้าเปิดรายรับปี 64 โตขึ้น 30% มั่นใจทิศทางตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรปี 65 ยังเติบโต ล่าสุดเตรียมพัฒนาสินค้ารับเทรนด์เกษตรสมัยใหม่ Smart Farm เน้นการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing เพื่อยกระดับการให้บริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน เน้นดูแลสังคมด้วยนโยบาย ESG เดินหน้าสู่แบรนด์ชั้นนำระดับโลก พร้อมเปิดตัวแคมเปญสื่อสารใหม่ “Renew your Agri-life together ก้าวสู่ชีวิตเกษตรใหม่ไปด้วยกัน



นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% โดยปัจจัยบวกมาจากสภาพอากาศปริมาณน้ำฝนสำหรับการเพาะปลูกมีเพียงพอ ส่งผลให้ผลประกอบการของสยามคูโบต้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวม 6.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 30% โดยปัจจัยหลักของการเติบโตมาจากแรงงานคืนถิ่นกลับสู่ภาคการเกษตรเพื่อต่อยอดการทำเกษตรของครอบครัว ทำให้มีความต้องการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานมากขึ้น  ซึ่งสินค้าหลักคือกลุ่มแทรกเตอร์ และรถเกี่ยวนวดข้าว รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกันราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับในปี 2565 สยามคูโบต้าตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท เนื่องมาจากในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีแรงผลักดันจากสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงยอดการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดการณ์ว่า ยอดขายยังคงเติบโตเท่ากับที่ตั้งเป้าไว้เมื่อเทียบกับปี 2563 จากแนวโน้มภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในความสนใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน เราก็จะสานต่อนโยบายของคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งมั่นทำให้คูโบต้าเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ Global Major Brand (GMB) ภายในปี 2573 โดยวางเป้าหมายเป็น “Essentials Innovator for Supporting life” สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าที่มีทั่วโลก พร้อมกับการเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคม ดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาสินค้าเพื่อสานต่อความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม

สยามคูโบต้าเชื่อว่า ในปี 2565 จะเป็นเทรนด์แห่งการเกษตรสมัยใหม่ Smart Farm เราจึงร่วมกับ เอสซีจี และคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท "เกษตรอินโน KasetInno" ให้บริการโซลูชั่นการเกษตรครบวงจร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IoT ที่ทันสมัย เพื่อให้การทำเกษตรก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ความเป็นไปได้สำหรับทุกคน



ด้าน นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เปิดเผยว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยภายในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การส่งออกสินค้าทางการเกษตรกลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดในปี 2565 ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรน่าจะยังเติบโตต่อไปได้ด้วยเทรนด์โลกในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพอย่างต่อเนื่องซึ่งเกษตรกรจะหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจของคูโบต้า

ขณะเดียวกัน สยามคูโบต้ายังคงเดินหน้าโครงการ KUBOTA On Your Side ที่เข้าไปช่วยเหลือและร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในวิกฤตโควิด-19 หรือแม้กระทั่งโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา เพื่อลดมลภาวะ PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการก้าวสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่ไม่ได้คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมด้วยนโยบาย ESG ที่มุ่งเน้นใน 3 มิติ ได้แก่  1.ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) นำเอาเทคโนโลยีผสานองค์ความรู้ มาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการคูโบต้าฟาร์ม และเกษตรปลอดการเผา 2.ด้านสังคม (Social) ผ่านกิจกรรม CSR ที่ช่วยเหลือสังคม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเกษตรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 27,000 ไร่ และมีเกษตรกรภายใต้โครงการกว่า 1,700 ราย และ3.ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ บริหารงานอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล  ทั้งนี้เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีอีกทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งในปีนี้สยามคูโบต้าจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการน้ำและปุ๋ยที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ดิจิทัลแพลตฟอร์มส่งเสริมเกษตรแม่นยำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยมลพิษลง โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero CO2 ในปี 2593 ตามแนวทางคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ “Renew your Agri-life together ก้าวสู่ชีวิตเกษตรใหม่ไปด้วยกัน" มุ่งหวังในการสื่อสารแบรนด์ในฐานะผู้นำนวัตกรรมการเกษตรที่เข้าถึงหัวใจทุกคน ทั้งเกษตรกร กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนเมืองที่สนใจด้านการเกษตร เพื่อสร้างจุดเปลี่ยน ด้วยการนำนวัตกรรมที่พร้อมพาผู้คนก้าวข้ามสู่โลกแห่งการทำเกษตรในรูปแบบใหม่ ที่จะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรไทยในอนาคต



นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ เปิดเผยว่า ในปี 2564 สยามคูโบต้ายังคงเป็นผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร และตลาดรถขุดเล็ก เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาด ในปีนี้จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชมูลค่าสูง อาทิ เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวล แทรกเตอร์ B2401 พร้อมเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower) โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตสูงถึง 60% ส่งผลให้เกษตรกรหันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนโตขึ้นเฉลี่ย 10% และพัฒนารถดำนาเดินตาม 6 แถวใหม่ นอกจากนี้ยังขยายฐานลูกค้าสู่นอกภาคเกษตรอย่างรถกระบะบรรทุกหนัก มุ่งรุกตลาดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ตราช้าง ซุปเปอร์ คอมมอนเรล โดยอาศัยกลยุทธ์การทำการตลาดแบบ Personalized Marketing รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ระบบ QROC หรือ Quick Response Operational Center ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์  ระบบ Scan QR code เพิ่มความสะดวกสบายในการจ่ายค่าบริการที่หน้างานของลูกค้า รวมถึงการเพิ่มฟีเจอร์แชทสอบถามข้อมูลอะไหล่ในเว็บไซต์ KUBOTA Store ทั้งนี้เพื่อมุ่งยกระดับการบริการให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าและรับบริการที่ดีเยี่ยม สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายศูนย์กระจายอะไหล่สยามคูโบต้าไปยังภูมิภาคต่างๆ อีก 2 แห่งที่จังหวัดนครราชสีมา และฉะเชิงเทรา รองรับการจัดส่งอะไหล่แท้พร้อมถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วและอุ่นใจยิ่งขึ้นพร้อมกันนี้สยามคูโบต้ายังมีกิจกรรมด้านความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จึงได้วางแผนสานต่อ โครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เฟส 2ทั้งการขยายจำนวนเพิ่มชุมชนต้นแบบบริหารจัดการเครื่องจักรแบบรวมกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฟสแรกมีวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 124 กลุ่ม ใน 48 จังหวัด และเสริมศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของสยามคูโบต้าที่จะร่วมขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สันนิบาตสหกรณ์ฯ ประชุมนำเสนอผลกระทบจากการลงทุนหุ้นกู้การบินไทย


 

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดประชุมการนำเสนอผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นกู้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและการระดมทุนเสริมสภาพคล่องให้บริษัทการบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์เจ้าหนี้ไม่ประสบภาวะหนี้สูญ



นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. เปิดเผยว่า สันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้จัดประชุมสหกรณ์เจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กว่า 87 สหกรณ์ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอถึงผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทย โดยเฉพาะการต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด จนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ เช่น กำไรลดลง ขาดทุน เป็นต้น



สำหรับการหารือดังกล่าวจะรวมไปถึงแนวทางการลงทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัท การบินไทย ว่ามีสหกรณ์ใดที่สนใจในข้อเสนอนี้บ้าง เนื่องจากตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติในปัจจุบัน สหกรณ์ไม่สามารถลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย ได้ เพราะไม่มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ซึ่งอาจต้องมีการขยายขอบเขตการลงทุนหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ

ทั้งนี้ความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ต้องได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อใหม่ จำนวน 50,000 ล้านบาท จากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้ จำกัด ในฐานะ ที่ปรึกษาทางการเงินได้ทำประมาณการทางการเงินว่าการได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ก็เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจของ บมจ.การบินไทย ซึ่ง บมจ.การบินไทย ได้จัดทำข้อเสนอสำหรับสหกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ ได้แก่ ข้อเสนอขอวงเงินสินเชื่อใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเป็นสินเชื่อที่มี หลักประกันเต็มจำนวน โดย บมจ.การบินไทย เสนออาคารสำนักงานใหญ่ อาคารที่ดอนเมือง รวมถึงที่ดินและสำนักงานอื่นๆ วางเป็นหลักประกัน นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิต่าง ๆ ดังนี้ 1.สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนที่ให้สินเชื่อใหม่ที่ราคาหุ้นละ 2.5452 บาท 2.สิทธิในการรับชำระภาระหนี้เดิมก่อนกำหนดในสัดส่วน 10% ของจำนวนที่ให้สินเชื่อใหม่ และสุดท้ายคือข้อเสนอการแปลงหนี้เป็นทุน



หลังจากที่สันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้รวบรวมนำข้อมูลต่างๆเรียบร้อยแล้ว จะนำข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะอนุกรรมการลงทุนและคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าว

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

เครือซีพี “ร้อยเรียงความดี ซีพี 100 ปี” ส่งมอบ หน้ากากอนามัย CP แก่กองกำลังผาเมือง

    พลตรี นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง รับมอบ “หน้ากากอนามัย CP” จำนวน 20,000 ชิ้น จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) โดย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นผู้แทน ส่งมอบความห่วงใยที่บริษัทมีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังระบาดและสร้างผลกระทบในปัจจุบัน ณ หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง จ.เชียงราย 



    พลตรี นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า กองกำลังผาเมือง มีภารกิจในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก รวมพื้นที่รับผิดชอบใน 24 อำเภอชายแดน ปัจจุบันจากเหตุโรคโควิด-19 ได้พบกับความท้าทายในการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ในการนี้ ขอขอบคุณเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ให้การสนับสนุนหน้ากากอนามัยในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง 



    ด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล เปิดเผยว่า เครือซีพี ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยซีพี ให้กองกำลังผาเมือง ในครั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์โควิด-19 อย่างราบรื่นและปลอดภัย โดยภารกิจดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายของท่านประธานอาวุโสเครือซีพี ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ที่มอบหมายให้กับทุกกลุ่มธุรกิจเข้าไปช่วยเหลือสังคม ภายใต้โครงการ “ร้อยเรียงความดี ซีพี 100 ปี” เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเสียสละ ทุกท่านถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อมั่นทุกหน่วยงานมีมาตรการการป้องกันต่างๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนแออัด ล้างมือ รวมถึงสวมใส่หน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น ยังพบว่าในบางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ฉะนั้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว เครือซีพีได้เดินหน้าส่งมอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเปราะบาง ที่ขาดแคลนทั่วประเทศแล้วกว่า 30 ล้านชิ้น 



    นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังส่งมอบอาหาร 2 ล้านกล่อง ให้ชุมชนภายใต้โครงการ “ครัวปันอิ่ม” 40 จุด ทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ล่าสุดดำเนินโครงการ “ซีพี ปันปลูก ฟ้าทะลายโจร”ภายใต้แนวคิด “ร้อยเรียงความดีซีพี 100 ปี”ด้วยการปลูกและผลิตยาสมุนไพร แจกฟรี 30 ล้านแคปซูล เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเครือซีพี มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ประชาชน และประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลฯ แจงกรณีชาวนาปากน้ำโพธิ์ ซื้อน้ำทำนาไร่ละ 500 บาท

    กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวจาก Website สื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ความว่า "น้ำแล้ง ข้าวส่อแห้งตาย ชาวนาปากน้ำโพโอด ต้องซื้อน้ำทำนา ไร่ละ 500 บาท" นั้น



    ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานนครสวรรค์ สำนักงานชลประทานที่ 3 ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง (อบต.บ้านแก่ง) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ พบว่าค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บเป็นค่ากระแสไฟฟ้าของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่จัดเก็บโดยอบต.บ้านแก่ง ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งอบต.บ้านแก่ง จะสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าสบทบ 60% ส่วนอีก 40% กลุ่มผู้ใช้น้ำจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง สำหรับสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าดังกล่าว กรมชลประทานได้ถ่ายโอนให้กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.บ้านแก่ง)ไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2547 



    กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานนครสวรรค์ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปติดตามสภาพปัญหา และร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อไปแล้ว จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำ ซึ่งกรมชลประทาน ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ "ประหยัดน้ำ เท่ากับ บริจาค" ภายใต้โครงการ "ประหยัดน้ำ ทางรอดต้านแล้ง" เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำ ก่อนที่วิกฤติภัยแล้งจะมาถึง และร่วมแรงร่วมใจใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด


 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...