วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

รร.บ้านคลองเรือ จ.กำแพงเพชร อีกหนึ่งความสำเร็จถ่ายทอดองค์ความรู้เลี้ยงไก่ไข่ หนุนประสบการณ์น้องๆ พึ่งพาตนเองได้ในอนาคต



 

ผืนดินที่เคยว่างเปล่าของ โรงเรียนบ้านคลองเรือ หมู่ 11 ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ถูกพลิกฟื้นให้กลายเป็นฐานเรียนรู้อาชีพเกษตร หลังจากผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ประจักสิน บึงมุม​ มีแนวคิดที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่เพียงเน้นให้นักเรียนรู้หลักวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้พื้นฐานอาชีพเป็นทักษะชีวิตสำหรับใช้ในอนาคตของพวกเขาด้วย



ผอ.ประจักสิน เล่าว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่ไม่มีใครนำมาปฏิบัติจริง เมื่อครูและชุมชนมาหารือร่วมกัน จึงพบว่าแทบทุกบ้านทำอาชีพเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ต้องประสบปัญหาราคาพืชผลการเกษตรที่ผันผวนแทบทุกปี และเมื่อพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ทุกคนเชื่อว่าจะกลายเป็นทางรอดของคนในชุมชน อย่างน้อยก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และยังมีอาหารปลอดภัย พืชผักปลอดสารให้รับประทาน เกิดภูมิต้านทานทั้งแง่เศรษฐกิจ สุขภาพ และสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชนได้ ปลายปี 2562 พื้นที่ 16 ไร่ของโรงเรียน จึงถูกแบ่งเป็นบ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลา มีสวนผักผลไม้ เพาะเห็ด และทำเกษตรปศุสัตว์ เริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา แต่ทั้งหมดยังเป็นไปอย่างไม่มีแบบแผนชัดเจน



จนกระทั่งโรงเรียนได้เข้าร่วม โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ และ บมจ.สยามแม็คโคร เข้ามาสนับสนุนนักเรียนให้เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 150 ตัว เพื่อผลิตไข่ไก่อาหารโปรตีนคุณภาพดีสำหรับปรุงเป็นอาหารกลางวันได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการวางแผนการเลี้ยง มีระบบการจัดการที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้และเทคนิควิชาการที่ถูกต้อง ทำให้ครู นักเรียน และชาวชุมชนเข้าใจเรื่องการจัดการที่เป็นมาตรฐาน เข้าใจการลงทุนและจุดคุ้มทุน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 



จากนั้นเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านคลองเรือ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนอยู่ 27 คน ในระดับชั้นอนุบาล 1- ประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ถูกประยุกต์ให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยใช้โมเดลการเลี้ยงไก่ไข่ฉบับย่อที่มีการจัดการที่ดี มีหลักวิชาการ ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวคิดที่ซีพีเอฟและมูลนิธิฯให้ไว้ ต่อยอดสู่การบริหารกิจกรรมเกษตรอื่นๆอย่างเป็นระบบ มีวิธีคิด รู้ต้นทุน รู้ตลาด นำไปสู่ธุรกิจเล็กๆของโรงเรียนที่สามารถดำเนินงานต่อได้อย่างมั่นคง เด็กๆได้เรียนรู้ มีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริง เมื่อโครงการในโรงเรียนเข้มแข็ง จึงขยายผลสู่การสร้าง ศูนย์ดาวล้อมเดือนบนพื้นที่อีกแปลงของโรงเรียน จำนวน 20 ไร่ เพื่อให้เป็นทั้งคลังอาหารของชุมชนและเป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยชาวชุมชนอย่างแท้จริง โดยยกรูปแบบของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาสานต่อในผืนดินนี้ ทั้งฐานเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 200 ตัว การปลูกผักปลอดสารพิษ (ผักออร์แกนิค) เพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงปลา เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ และเพาะเลี้ยงไส้เดือน โดยมีครูและผู้ปกครองของนักเรียนร่วมกันเป็นคณะกรรมการศูนย์ฯ และดำเนินการโดยผู้ปกครองและน้องๆนักเรียน เพื่อให้ศูนย์มีรายได้ต่อยอดกิจการในรุ่นถัดไปได้ 



จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนที่มูลนิธิฯ ซีพีเอฟ และแม็คโคร ส่งมอบให้ เมื่อผนวกเข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นพื้นฐานอันเข้มแข็ง สู่โมเดลธุรกิจของชุมชนในนามศูนย์ดาวล้อมเดือน ที่พัฒนาจนกระทั่งได้รับการรับรอง GAP วันนี้ยังต่อยอดความสำเร็จไปสู่อีกกว่า 20 ครอบครัว ที่เริ่มเลี้ยงไก่ไข่ 20-25 ต่อครอบครัว ควบคู่กับการเลี้ยงปลาและปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง เมื่อได้ผลผลิตไข่ไก่ ปลา และผักได้เก็บเกี่ยว ทำให้แต่ละครัวเรือนมีอาหารไว้บริโภคโดยไม่ต้องซื้อหา ที่เหลือก็แบ่งปันญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน หรือนำไปแปรรูป เมื่อมีมากเกินจากบริโภคจึงนำไปจำหน่ายในตลาดชุมชน กลายเป็นธนาคารอาหารที่ทุกคนร่วมกันสร้างด้วยตนเอง บรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนที่ได้ตั้งไว้ และชาวชุมชนภูมิใจที่ชุมชนเล็กๆของพวกเขา ได้รับการประเมินให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อันดับที่ 2 ของจังหวัดกำแพงเพชร และยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมและดูงานให้กับคณะบุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ควบคู่กับองค์ความรู้ที่ทุกคนได้รับจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ทำให้ทุกครัวเรือนไม่มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน ทุกบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการไปตลาด จึงไม่เสี่ยงกับโรคโควิด และไม่เสี่ยงกับสารเคมีในพืชผัก ไข่ไก่ก็สะอาดปลอดภัย เพราะทุกคนดูแลผลผลิตด้วยตัวเอง โครงการฯนี้ จึงตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงผอ.ประจักสิน กล่าว 

ขณะที่ มนัส แสงเมล์ ผู้ปกครองของ ด.ญ.ณัฐนิชา หรือน้องปาล์ม และด.ญ.ณัฐชยา หรือน้องปอย สองฝาแฝดที่กำลังช่วยกันเลี้ยงไก่ไข่ 20 ตัว ให้อาหารปลา และดูแลแปลงผักในบ้าน บอกว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับโรงเรียนและชุมชน แต่กลับสร้างประโยชน์มากมายให้กับทุกคน เด็กๆก็ได้บริโภคไข่ไก่ทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รวมทั้งได้เรียนรู้และมีทักษะอาชีพ ทั้งการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืชผัก แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพ่อแม่ ยิ่งเมื่อผู้ปกครองได้เข้าไปเรียนรู้ว่าโรงเรียนประสบความสำเร็จในการสร้างแหล่งอาหารของตนเอง ชุมชนก็ตัดสินใจต่อยอดสร้างคลังอาหารชุมชนในศูนย์ดาวล้อมเดือน ที่วันนี้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของชุมชนรอบข้างและผู้ค้าในท้องถิ่น โดยจำหน่ายผ่านออนไลน์ ที่สำคัญคือ ผู้ปกครองนำสิ่งที่ลูกๆบอกมาทำต่อที่บ้าน กลายเป็นคลังอาหารของบ้านช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้โดยเฉพาะในวิกฤตโควิดเช่นนี้

ส่วนน้องปาล์มและน้องปอย บอกว่า ดีใจมากที่ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา และปลูกผักปลอดสารที่ได้รับ ได้นำมาปฏิบัติจริงทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เกิดเป็นทักษะชีวิต ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมตามฐานต่างๆ ที่โรงเรียนและที่ศูนย์ฯ ที่สำคัญคือความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอาหารปลอดภัยให้กับเพื่อนๆในโรงเรียน พ่อแม่พี่น้องชาวชุมชน และผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปบริโภค  

โรงเรียนบ้านคลองเรือ นอกจากจะเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ที่มุ่งพัฒนาทักษะวิชาชีพควบคู่กับทักษะวิชาการ โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง เพื่อปลูกฝังเด็กๆให้เข้มแข็ง มีองค์ความรู้และวิชาชีพติดตัว แม้ไม่มีหน่วยวัดผลความสำเร็จ แต่เด็กๆจะซึมซับและก่อเกิดทักษะชีวิตติดตัวพวกเขา และโรงเรียนนี้ยังเป็นตัวอย่างของการสร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งในชุมชน เพื่อร่วมกันสามารถสร้างแหล่งอาหารมั่นคงและยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กรมประมง...เปิดตัว “ปม.2 หัวเชื้อจุลินทรีย์ สูตรใหม่”ใช้เพิ่มประสิทธิภาพ “การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล”



​            กรมประมง...เปิดตัวหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ผลสำเร็จภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมประมง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมขยายผลสู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งทะเลให้เกิดความยั่งยืน



นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยยังมีอุปสรรคหลายด้าน ทั้งสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งผลผลิตที่ได้ยังมีความเสี่ยงจากการตกค้างของสารปนเปื้อนต่างๆ ที่ใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคในสัตว์น้ำอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ลดปริมาณเชื้อก่อโรคในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและในสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำลงได้ ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแต่อย่างไรก็ตาม สภาวะปัจจุบันเชื้อก่อโรคยังทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยลดต้นทุน และไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลผลิตของสัตว์น้ำสูงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก (probiotic) ที่มีประสิทธิภาพในการใช้ป้องกันและควบคุมโรค ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารในสัตว์น้ำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ กุ้งทะเลซึ่งมีโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio parahaemolyticus สายพันธุ์ที่สามารถสร้างสารพิษ ทำให้เกิดโรคตายด่วน หรือ EMS



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563  ที่ผ่านมา กรมประมง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมลงนามความร่วมมือ การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อพัฒนาการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 ให้มีประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากยิ่งขึ้น  โดยได้ผลิตเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 จนสำเร็จ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก สามารถป้องกันและควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารได้ สำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ตลอดสายการผลิตกุ้งทะเล ตั้งแต่การเตรียมบ่อ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การอนุบาล จนถึงในระหว่างการเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกุ้งทะเล เพิ่มอัตรารอด ลดต้นทุน ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี



ด้าน นายชาลี จิตประสงค์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรที่กรมประมงได้นำร่องในการทดลองใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 เปิดเผยว่า ได้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ร่วมกับการบริหารจัดการฟาร์มที่เหมาะสมทั้งระบบ ตั้งแต่โรงเพาะฟัก โรงอนุบาล และบ่อเลี้ยง เป็นเวลากว่า 5-6 เดือน ผลปรากฏว่า กุ้งมีการเจริญเติบโตดี มีความแข็งแรง และมีอัตรารอดมากขึ้น สามารถช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมทั้งช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำที่เกิดจากกิจกรรมการเพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างดีด้วย

 สำหรับสูตรการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ในแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

1. โรงเพาะฟัก ให้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ผสมกับอาหารเสริมสำหรับเลี้ยงลูกกุ้งทะเลในระยะซูเอี้ย จะช่วยให้ลูกกุ้งมีความแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น

2. โรงอนุบาล ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 เพื่อเป็นโพรไบโอติกในการอนุบาลลูกกุ้งทะเล ตามอัตราส่วนดังนี้ หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ปริมาณ 20 มิลลิกรัม น้ำตาลกลูโคส ปริมาณ 10 กรัม น้ำ ปริมาณ 1 ลิตร และอาหารกุ้งปริมาณ 2 กรัม เติมอากาศนาน 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปผสมกับอาหารกุ้งในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่ออาหารกุ้ง 1 กระสอบ สามารถเพิ่มจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์ม อันเป็นสาเหตุหนึ่งในขบวนการสร้างสารพิษในระบบทางเดินอาหารของกุ้งทะเล โดยเฉพาะการเกิดโรคตายด่วน หรือ โรค EMS/AHPND และโรคเรืองแสงในกุ้งทะเลได้เป็นอย่างดี

3. บ่อเลี้ยง สูตรมาตรฐานที่แนะนำ คือ อาหารกุ้ง ปริมาณ 200 กรัม จุลินทรีย์ ปม. 2 ปริมาณ 200 มิลลิลิตร น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลกลูโคส ปริมาณ 500 กรัม ต่อน้ำ ปริมาณ 200 ลิตร เติมอากาศ 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงเติมลงในบ่อกุ้ง ในอัตราส่วน 50-200 ลิตร/ไร่ ก็จะช่วยให้ย่อยสลายสารอินทรีย์ลดการเกิดไบโอฟิล์มและลดการสะสมของเชื้อก่อโรคภายในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ



รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการตั้งหน่วยผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 และสนับสนุนให้ศูนย์จุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ไปแล้ว ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และจะกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมเขตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกุ้งทะเลทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2564 กรมประมงได้ตั้งเป้าหมายการผลิตจุลินทรีย์ ปม.2 จำนวน 143,110 ซอง/ขวด โดยจะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทรศัพท์ 0 2561 3997 หรือที่ Facebook Page : กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง


วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

รถตะกร้าปันสุข เติมเต็มชีวิตคนยากไร้ ให้ก้าวผ่านโควิด


   ก๊อต-กรีฑา อ่อนลำยอง อดีตพ่อค้าเสื้อผ้ามือสองตามตลาดนัด เจ้าของรถตะกร้าปันสุข เปิดใจว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่ยากลำบาก ไม่มีที่อยู่อาศัย  นอนในตลาดสด  ดิ้นรนสู้ชีวิตมาตลอด กระทั่งคุณพ่อมีโอกาสทำงานที่การท่าเรือ  จึงมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งย่านคลองเตย และทำมาหากินด้วยการขายเสื้อผ้ามือสอง  แต่สถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ทำให้ต้องปิดร้านเสื้อผ้ามือสอง ต้องพยายามตั้งสติ เพื่อหาลู่ทางในการเอาชีวิตรอด  เพราะยังมีแม่และหลานอีก 2 คนที่ต้องดูแล  จึงนำเงินเก็บไปซื้อรถจักรยานยนต์พ่วงตระเวนขายข้าวไข่เจียว  ในราคากล่องละ 20 บาท เพื่อช่วยให้คนยากจน ซื้อหา กินได้ง่าย พร้อมกับแบ่งปันให้คนตั้งครรภ์ คนชรา และคนไร้บ้านกินฟรี พ่วงไปกับตะกร้าปันสุขที่ใส่ของจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยารักษาโรค อาหารแห้งต่างๆ  ให้ทุกคนหยิบได้ฟรี 



   สามล้อพ่วงพาก๊อตไปยังจุดต่างๆ  ได้เห็นผู้คนมากมายข้างทาง  หลายคนไม่มีเงินซื้อข้าว  หลายคนเดือดร้อนทั้งบ้าน หลายคนตกงานอยู่  ด้วยความเข้าใจ  ความเห็นใจ   จึงเปลี่ยนจากการขาย เป็นแจกฟรีให้กับทุกคนจนถึงทุกวันนี้  เราทำอะไรไม่เดือดร้อนตัวเรา หยิบยื่นและแบ่งปันให้เขาได้กินอิ่ม    เราทำความดีก็จะเกิดความสุข และมีความภาคภูมิใจ  ขอขอบคุณซีพีเอฟที่มอบข้าวสาร ไข่ไก่ และอาหารอื่นๆ มาร่วมแบ่งปันให้กับสังคม โดยมีตนเป็นสะพานบุญนำไปมอบให้คนไร้บ้านได้สู้โควิดไปด้วยกัน  เราเติมเต็มให้เขา เราก็มีความสุข  

ชมคลิป : https://youtu.be/jp_7cFBa3Gk 

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ซีพีเอฟ เดินหน้าอาชีพต่อเนื่อง สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย ในวิกฤตโควิด-19


 

   วิกฤตโควิด -19 เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ใส่ใจความปลอดภัยของอาหาร ตลอดกระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค     เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ  นอกจากเป็นอาชีพที่ไม่มีความเสี่ยง สร้างหลักประกันความมั่นคงในอาชีพแล้ว   ยังสร้างหลักประกันความปลอดภัยในอาหารที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย  

   เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ หรือคอนแทรคฟาร์ม กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โควิด-19 ทำให้ยิ่งต้องเข้มข้นเรื่องมาตรการความปลอดภัยสูงกว่าเดิม นี่คือ สิ่งที่พวกเราต้องปรับตัวเช่นกัน ถึงแม้ว่าอาชีพที่ทำจะมั่นคง ยั่งยืน เป็นอาชีพที่สามารถส่งต่อสู่ลูกหลาน แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ “ความปลอดภัย” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด    


         

   เวทย์  ผิวพิมพ์ หรือ ลุงเวทย์ เจ้าของรัตนะฟาร์ม ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่ผันตัวเองจากอาชีพทำนา  เพราะผลผลิตและราคาข้าวที่ไม่แน่นอน จึงตัดสินใจร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุุกรขุนกับซีพีเอฟ มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นฟาร์มส่งเสริมแห่งแรกของอ.อู่ทอง 

   ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้     ลุงเวทย์มีโรงเรือนเลี้ยงสุกรขุน 9 หลัง ความจุรวม 6,000 ตัว ทั้งหมดควบคุมผ่านกล้องวงจรปิด ทำให้สามารถดูแลสุกรได้ทุกที่ทุกเวลา และยังเป็นการลดการเข้าไปในโรงเรือน ลดความเสี่ยงที่คนจะนำโรคเข้าฝูงสุกรได้เป็นอย่างดี เพื่อเสริมความปลอดภัยในอาหารอีกขั้นหนึ่ง ปัจจุบันลุงเวทได้ส่งต่ออาชีพให้ลูกชายเข้ามาดูแลสุกร จำนวน 6 โรงเรือน ลุงเวทย์บอกว่า การร่วมโครงการกับบริษัทเป็นการการันตีถึงความมั่นคงในอาชีพ การมีรายได้ที่แน่นอน และมีทีมงานมืออาชีพมาให้คำแนะนำดูแลใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตดีที่สุด  โดยเฉพาะในวิกฤตโควิดที่ซีพีเอฟให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคสำ หรับบุคลากรภายในฟาร์ม และการป้องกันโรคสุกรต่างๆ ด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) เต็มรูปแบบ เพื่อให้คนปลอดภัยจากโควิดและสัตว์ปลอดโรค 



   “การร่วมเป็นคอนแทรคฟาร์มกับซีพีเอฟ ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด เพราะบริษัทเป็นตลาดรองรับผลผลิตทั้งหมด อาชีพนี้จึงไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดเช่นนี้ เกษตรกรยังเดินหน้าอาชีพต่อได้  แต่เราก็ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยให้ดีกว่าเดิม เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค”  ลุงเวทย์ กล่าว  



   ส่วน พิทักษ์พงศ์ เนื่องแก้ว เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 24 ปี เล่าจุดเริ่มต้นการร่วมเป็นคอนแทรคฟาร์มว่า เกิดจากการตัดสินใจของพ่อไพบูลย์ และ แม่อิงอร เนื่องแก้ว ที่ต้องการมีอาชีพที่มั่นคง จากคำแนะนำของญาติที่ร่วมโครงการเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟอยู่แล้ว จึงลงทุนทำฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ 120 ตัว ในชื่อ หจก.อิงอรไพบูลย์ฟาร์ม ที่ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2544 จากนั้น ได้ขยายฟาร์มเพิ่มขึ้นจนเป็น 350 แม่ ในปี 2555 และมีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอดจนได้รับเลือกให้เป็นฟาร์มต้นแบบคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟในภาคอีสาน ที่เปิดรับคณะศึกษาดูงานทั้งไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 

   จากการที่พิทักษ์พงศ์เห็นความสำเร็จของพ่อแม่มาตลอด และคลุกคลีกับการเลี้ยงสุกรมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากว่า 18 ปี และ จึงตัดสินใจสร้างฟาร์มสุกรขุน หจก.พิทักษ์พงศ์ วิชุดา รุ่งเรืองฟาร์ม ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ของตนเอง 2 หลัง ความจุ 1,600 ตัว เมื่อปี 2563 ในรูปแบบสมาร์ทฟาร์มควบคุมการเลี้ยงผ่านระบบอัตโนมัติ พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อมอนิเตอร์สุขภาพสัตว์และตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการเลี้ยง 

   “ความสำเร็จของครอบครัวผม มีซีพีเอฟเป็นผู้ผลักดัน แม้ในวิกฤตโควิดอาชีพก็ไม่มีสะดุด เพราะบริษัทให้ความรู้ทั้งเรื่องการป้องกันโรคคนและโรคสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ทำซีล (Seal) แก่พนักงานของฟาร์ม ด้วยการจัดที่พักไว้ภายในฟาร์ม เพื่อช่วยป้องกันพวกเขาจากความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคจากภายนอก เป็นการยกระดับความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสุกรที่มีคุณภาพ ปลอดโรค ส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ซึ่งพวกเราเกษตรกรทุกคน ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย และเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตอาหารให้ทุกคนได้บริโภคอย่างเพียงพอในทุกๆสถานการณ์” พิทักษ์พงศ์ กล่าว

   ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ วิง บุญเกิด หรือ ผู้ใหญ่วิง เจ้าของบุญเกิดฟาร์ม ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากว่า 23 ปี กับอาชีพเลี้ยงไก่ไข่กับซีพีเอฟ นับจากที่หันหลังให้อาชีพเลี้ยงปลาช่อน และการเลี้ยงไก่ไข่แบบอิสระ ที่ตลาดมีความผันผวนสูงมาก ต้องรับภาระความเสี่ยงด้านการตลาดเองทั้งหมด รายได้จึงไม่แน่นอน เรียกว่าท้อจนเกือบถอย แต่มีซีพีเอฟยื่นมือเข้ามาช่วย จนกลายเป็นเกษตรกรรุ่นบุกเบิก ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่แบบประกันราคา มาตั้งแต่ปี 2541 

   การตัดสินใจครั้งนั้น ช่วยพลิกชีวิตจนสามารถปลดหนี้ที่ติดตัวมาก่อนกว่า 20 ล้านบาท ได้สำเร็จ จากชีวิตที่ติดลบก็ยืนหยัดได้อย่างมั่นคง  เพราะไม่ต้องเสี่ยงทั้งการผลิตและการตลาด มีบริษัทจัดหาพันธุ์ไก่ อาหาร วัคซีนให้ในราคาประกัน พร้อมส่งสัตวบาลมาดูแลการเลี้ยงไก่ 50,000 กว่าตัว ใน 10 โรงเรือน และแนะนำการป้องกันทั้งโรคคน และโรคสัตว์อยู่ตลอด  โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เราป้องกันเรื่องความปลอดภัยในระดับสูงสุด พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญอาชีพนี้ยังสร้างโอกาสและศักยภาพของเรา  ในการเป็น “ผู้ให้  โดยเฉพาะช่วงโควิด -19  โดยได้ใช้เงินทุนของตนเองและขอสนับสนุนจากซีพีเอฟบางส่วน  นำไข่ไก่มาแจกให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่เดือดร้อน  



   ขณะที่ นาลอน หารวย เจ้าของนาลอนฟาร์ม ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ที่ตัดสินใจ ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่กับซีพีเอฟ มาตั้งแต่ปี 2543 จากที่เห็นความสำเร็จของน้องชายที่เลี้ยงไก่ไข่กับบริษัท อยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับอยากมีอาชีพอิสระ ที่เป็นเจ้านายตัวเอง ทำงานที่บ้านไม่ต้องทิ้งครอบคัวไปทำงานที่อื่น ได้อยู่กับพ่อแม่และลูกๆ จึงได้สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ 1 หลัง ความจุ 5,000 กว่าตัว โดยมีแรงงานของคนในครอบครัวช่วยกัน ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา มีซีพีเอฟคอยสนับสนุนในทุกๆด้าน เพื่อให้มีอาชีพให้มั่นคง มีรายได้ที่พออยู่ได้ มีอยู่มีกิน ไม่เดือนร้อน ในช่วงโควิดก็ยังทำอาชีพได้ต่อเนื่องไม่ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่ของบริษัทยังคงให้การดูแลและติดตามการเลี้ยง ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพส่งมอบให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันนาลอนยังได้แบ่งปันให้กับชาวชุมชน โดยบริจาคไข่ไก่ที่ขอการสนับสนุนจากบริษัท สนับสนุน อบต. และสถานีอนามัย ซึ่งซีพีเอฟก็ยินดีช่วยในทุกๆครั้ง          

    ภาพความสำเร็จของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน เดินหน้าอาชีพต่อได้ในในสถานการณ์วิกฤต  ยิ่งไปกว่านั้น  เป็นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งบริษัทฯและเกษตรกรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยสู่ผู้บริโภค  

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สารทจีนนี้ เรื่องของไหว้ไว้ใจCP

    บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผนึกกำลัง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ แม็คโคร จัดแคมเปญ "สารทจีนนี้ เรื่องของไหว้ไว้ใจ CP" ตอกย้ำภาพลักษณ์เจ้าแห่งเทศกาล ยกขบวนสินค้าไหว้มงคลชั้นดี พร้อมโปรโมชั่นสุดคุ้ม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่และขยายช่องทางออนไลน์  เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้อีกระลอก เพราะการไหว้สารทจีน เป็นอีกเทศกาลสำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน ด้วยการยกทัพสินค้ามงคลชั้นดีที่ใช้ในการไหว้มาอย่างหลากหลาย 



   ไฮไลท์ชุดของไหว้ในปีนี้ ได้แก่ "เกี๊ยวกุ้งจักรพรรดิ" โฉมใหม่! มีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ เกี๊ยวกุ้งแพ็คสุดคุ้มและเกี๊ยวกุ้งดิบ อร่อยเต็มคำทำจากกุ้งทั้งตัว วางจำหน่ายที่แม็คโครเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมี “ไก่นางพญา” ไก่ต้มทั้งตัว เนื้อนุ่ม เพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน “เป็ดนางฟ้า” เป็ดพะโล้และเป็ดย่าง เสริมอำนาจและวาสนา มีเงินทองเหลือเก็บ “ขาหมูจักรพรรดิ” ขาหมูและคากิ เนื้อแน่น ถึงรสเครื่องพะโล้พร้อมน้ำจิ้มสูตรเด็ด เสริมความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งขาหมูเยอรมัน หมูดำ ซีพี-คูโรบูตะ เสริมความมั่นคง เงินทอง และสินค้าไหว้มงคลอื่นๆ อีกมากมาย ตามความเชื่อที่ว่าไหว้ของดีชีวิตเป็นมงคล 




   นายกฤษณ มรกต รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า สินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน ในราคาเหมาะสมและถูกต้องตามประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดต่อกันมายาวนานเป็นสิ่งสำคัญ ซีพีเอฟ จึงผลิตและพัฒนาสินค้าแช่แข็ง ในแพ็คที่บรรจุอย่างดี ปิดสนิท สะอาด ง่ายต่อการซื้อหาไว้ล่วงหน้า สามารถแช่แข็งไว้ได้โดยที่ยังคงคุณภาพที่ดี คงคุณค่าทางโภชนาการ และยังเตรียมสะดวกด้วยรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถต้มในน้ำเดือดได้ (Boiled-in Bag) ทำให้ง่ายต่อการปรุงและเตรียมของไหว้ ลดภาระและความยุ่งยากให้กับผู้บริโภค 



   สำหรับโปรโมชั่นพิเศษที่ห้างแม็คโคร เพียงซื้อชุดไหว้ครบ 999 บาท รับฟรี! กระเป๋าเก็บความเย็น มูลค่า 399 บาท หากซื้อครบ 1,500 บาท รับอั่งเปาส่วนลด 80 บาท และโปรโมชั่น ซื้อหมูกรอบชาชู  เมื่อซื้อ 1 แพ็ค แถมกระเป๋าคล้องแขน 1 ใบ มูลค่า 129 บาท เริ่มตั้งแต่วันนี้ จนถึง 21 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าของแถมจะหมด เฉพาะสาขาที่ร่วมกิจกรรมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนลดในช่องทางออนไลน์ ซื้อของไหว้ครบ 990 บาท รับส่วนลดทันที 80 บาท ติดตามได้ที่ Makro Click : https://www.makroclick.com/th/campaign/cpf 

   นอกจากนี้ ยังสามารถหาซื้อได้ที่ CP FreshMart โลตัส ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษรับสารทจีนนี้เท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ที่>> https://www.facebook.com/147486028615956/posts/4673724995992014/?d=n

ชมคลิป>> https://youtu.be/TpaNTgXROms


 

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

แม็คโคร จัดโครงการ “ลำไย ปันสุข...คืนสุข สู่ชุมชน ปี 2” ช่วยชาวสวนระบายผลผลิต พร้อมกระจายบุญซื้ออุปกรณ์การแพทย์สู้โควิด


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ช่วยชาวสวนลำไยระบายผลผลิต  พร้อมเชิญลูกค้าประชาชนร่วมทำบุญกับโครงการ ลำไย ปันสุข...คืนสุข สู่ชุมชน ปี 2” โดยทุกการซื้อลำไย 1 กิโลกรัม เท่ากับเป็นการร่วมบริจาค 1 บาท เพื่อนำไปสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19 ให้แก่ 3 โรงพยาบาลทางภาคเหนือ  ประกอบด้วย โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลป่าซาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, โรงพยาบาลบ้างโฮ่ง  อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ทั้งนี้ แม็คโครได้จัดโครงการดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่  2 แล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเพาะปลูกและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่ชาวสวนลำไยภาคเหนือ นำรายได้จากชุมชน กลับคืนสู่ชุมชน ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคมนี้ ณ แม็คโคร  ทุกสาขาทั่วประเทศ




วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ ดูแลเกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม เดินหน้าอาชีพต่อเนื่อง พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้มาตรการความปลอดภัยในช่วงโควิด


 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้ามาตรการ Seal ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ดูแลสุขภาพพนักงานลดความเสี่ยง ป้องกันโรคโควิด-19 และโรคสำคัญในสัตว์ มุ่งดูแลเกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารแก่ผู้บริโภค

นายสมพร เจิมพงศ์ รอง​กรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด โดยฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัททุกแห่งมีการซีล (Seal) ให้บุคลากรทำงานที่ฟาร์มพักอาศัยอยู่ภายในฟาร์ม งดการออกนอกพื้นที่ เพื่อการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ได้ถูกยกระดับการป้องกันสูงสุดทั้งโรคในสุกรและบุคลากร โดยเฉพาะระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) ที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการป้องกันโรคต่างๆ ที่ซีพีเอฟปฏิบัติมาโดยตลอด ช่วยให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูง ควบคู่กับการอบรมและให้ความรู้แก่พนักงาน และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร หรือคอนแทรคฟาร์ม อย่างต่อเนื่อง



ซีพีเอฟ ถ่ายทอดเทคนิค วิธีการ และมาตรการป้องกันโรคในสุกร และโควิด-19 แก่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มกับบริษัทมาโดยตลอด ทั้งการแบ่งปันองค์ความรู้ในกลุ่มเกษตรกร การเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์ม และการอบรมผ่านออนไลน์ ทำให้เกษตรกรมีพื้นฐานความรู้และวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง สามารถนำไปปรับใช้ในฟาร์มของตนเอง ช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ทำให้เดินหน้าอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรทำ Seal ให้บุคลากรพักอาศัยอยู่ภายในบริเวณฟาร์ม โดยยังคงได้รับการดูแลความเป็นอยู่และอาหารการกินที่เหมาะสม ตลอดจนใช้กล้องวงจรปิดซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงการนำโรคต่างๆเข้าไปสู่ฝูงสัตว์ โดยคนไม่จำเป็นต้องเข้าไปในโรงเรือน เพราะสามารถมอนิเตอร์ผ่านกล้องได้ทุกที่ทุกเวลา ถือเป็นการสร้างความปลอดภัยในอาหาร และเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคนายสมพร กล่าว



ด้าน นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า นอกจากระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่เข้มงวดขึ้นในทุกๆฟาร์ม เพื่อเป็นการป้องกันโรคสัตว์ปีกต่างๆ ที่ทำควบคู่กับการซีลพนักงานในฟาร์มและห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาดแล้ว บุคลากรทุกคนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล การปฏิบัติตามแนวทางการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และหมั่นล้างมือ ซึ่งถือเป็นวิถีใหม่ (new normal) ที่ทุกคนถือปฏิบัติ จนกลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับกิจกรรมการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน ซึ่งจัดในสถานที่โล่งแจ้ง การรับประทานอาหารแบบเว้นระยะห่างและใช้ภาชนะส่วนตัว รับประทานเฉพาะอาหารปรุงสุกเท่านั้น และเน้นการทำความสะอาดในจุดสัมผัสร่วมให้บ่อยครั้งขึ้น



ซีพีเอฟ ยังคงเน้นมาตรการป้องกันสูงสุดอย่างเคร่งครัด มีการประยุกต์ใช้มาตรการป้องกันโรคต่างๆ อย่างเหมาะสม พร้อมให้ความรู้และรณรงค์การป้องกันโรค ทั้งแก่บุคลากรของบริษัทและเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคที่ดี จึงมีความพร้อมในการปฏิบัติงานและสามารถป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตเช่นนี้นายสมคิด กล่าว

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นักวิจัยคณะเกษตร มก. พัฒนาต้นแบบปลูกกัญชาในระบบปิด และวิจัยสกัดสารสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์


 

 “กัญชาพืชเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับพืชชนิดนี้ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการปลูกกัญชา โดยปลูกและผลิตกัญชาในระบบปิด (indoor) เพื่อทำวิจัยและเพิ่มศักยภาพเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเริ่มดำเนินการตามแนวทางการกำกับของคณะกรรมการพืชเสพติดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการวิจัยกัญชาจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเดินหน้าพัฒนาห้องปลูกและห้องสกัดสารสำคัญจากกัญชา ในอาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน



           รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คณะเกษตร เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้จะพัฒนาเป็นต้นแบบการปลูกกัญชาระบบปิด โดยมีทีมคณะนักวิจัยของคณะเกษตร ประกอบด้วย รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร ภาควิชาพืชไร่นา รศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว ภาควิชาพืชสวน รศ.ดร.ธิดา เดชฮวบ ภาควิชาโรคพืช นายนฤพนธ์ น้อยประสาร และ น.ส.อมรรัตน์ ม้ายอง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาห้องปลูกและห้องสกัดจาก บริษัท ทีเอช แคนนา จำกัด จำนวน 6.5 ล้านบาท และเครื่องมือสกัดสาระสำคัญ จำนวน 2.0 ล้านบาท และงบดำเนินงานปี 2564 – 2566 อีกจำนวน 2.0 ล้านบาท จาก บริษัท กรีนคัลติเวชั่น จำกัด



           โครงการวิจัยการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คณะเกษตร ได้ใบอนุญาตการปลูกและนำเข้ากัญชา (ใบอนุญาตปลูกเลขที่ 30/2563) จากกองควบคุมวัตถุเสพติด กระทรวงสาธารณสุขแล้ว จึงได้สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์ CBD Charlotte Angle จากบริษัทเอกชน ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 150 เมล็ด มาปลูกในระบบปิด (indoor) หรือ plant factory with artificial light (PFAL) โดยใช้ห้องปลูก 2 ห้องในอาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร คือ ห้องปลูกเพื่อการเจริญเติบโตทางลำต้น (vegetative growth room) ที่มีการควบคุมช่วงแสงยาว คือมีการเปิดแสงสว่างนาน 18 ชั่วโมง และมืด 6 ชั่วโมงต่อวัน และห้องปลูกเพื่อการสร้างช่อดอก (reproductive growth room) ที่มีการควบคุมช่วงแสงสั้น คือมีการเปิดแสงสว่างนาน 12 ชั่วโมง และมืด 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในสภาพแบบนี้จะทำให้ตายอด (apical meristem) ของต้นกัญชาเปลี่ยนจากการสร้างใบมาเป็นการสร้างช่อดอกแทน  




 การปลูกกัญชาในระบบปิด (indoor) จะควบคุมสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิที่ 24 – 28 °C ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50 – 60 % การเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซต์ที่ความเข้มข้น 1,000 ppm และมีพัดลมเพื่อการกวนอากาศให้มีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้การปลูกในระบบปิดจะปลูกต้นกัญชาในวัสดุเพาะที่ไม่มีธาตุอาหารและสารปนเปื้อนอื่น จึงต้องมีการให้ธาตุอาหารมากับระบบน้ำหยด หลังจากปลูกได้ต้นกล้าอายุได้ 3 - 4 สัปดาห์ หรือมีใบจริง 5 – 6 คู่ใบ จึงเริ่มตัดแต่งทรงต้น (training) โดยใช้เทคนิคการตัดยอด (topping) เพื่อให้ตาข้างแตกเป็นยอดออกมา และตัดยอดแบบนี้ประมาณ 3 – 4 ครั้งเพื่อให้ได้ยอดประมาณ 12 – 16 ยอดต่อต้น และเลี้ยงไว้ในห้องปลูกประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งสามารถวางกระถางชิดกันได้ จากนั้นย้ายต้นที่ได้ไปอีกห้องปลูกเพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอก ในห้องปลูกจะจัดระยะระหว่างกระถางเป็น 40 x 40 เซนติเมตร มีการขึงตาข่ายและมีการใช้เทคนิคการปิดต้น (super cropping) เพื่อช่วยบังคับแต่ละยอดให้กระจายเต็มพื้นที่ และทำให้ยอดอยู่ในระดับเดียวกัน หลังจากย้ายต้นเข้าห้องนี้มา 2 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นเพศของต้นกัญชา และทำการสำรวจเพศของต้นกัญชาทุกต้น ถ้าต้นใดเป็นตัวผู้จะคัดออก ดังนั้นต้นกัญชาที่ปลูกทั้งหมด 108 ต้น จะเป็นเมล็ดพันธุ์ต้นตัวเมียเท่านั้น (feminized seed)




เมื่อต้นกัญชาอยู่ในห้องปลูกครบ 11 สัปดาห์ ก็ทำการเก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรตัดที่โคนต้น แล้วนำต้นที่ได้มาแขวนตาก (drying) ในห้องมืดที่ควบคุมอุณหภูมิ 22 – 24°C และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 60 % เพื่อให้ช่อดอกกัญชาค่อยๆ แห้ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 – 14 วัน ช่อดอกที่แห้งจะมีความชื้นประมาณ 10 % แล้วนำไปบ่ม (curing) ในภาชนะปิดอีก 3 – 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำช่อดอกที่ผ่านการบ่มแล้วไปลงบันทึกจำนวน และน้ำหนัก แล้วเก็บไว้ในห้องเก็บผลผลิตหรือนำไปสกัดสารสำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

           รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกกัญชาในระบบปิดที่ควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อม และธาตุอาหารที่ให้กับต้นพืช การปลูกในวัสดุเพาะที่ปราศจากสารปนเปื้อนในดิน การควบคุมสภาพแวดล้อม และการดูแลรักษาห้องปลูกให้ปราศจากศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช และจากการควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของกัญชา ส่งผลให้ได้ผลผลิตช่อดอกแห้งที่ได้จากการปลูกครั้งแรกจำนวน 162.85 กรัม/ต้น ทีมคณะนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อต้นให้มากกว่านี้ หากปรับปริมาณการให้ปัจจัยการเจริญเติบโต และการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไป การปลูกในระบบปิดแบบนี้จะปลูกกัญชาได้ถึง 4 รอบต่อปี และผลผลิตที่ได้ออกมาแต่ละรอบจะสม่ำเสมอ และมีคุณภาพเหมือนกัน ผลผลิตช่อดอกที่ได้ตรงตามคุณลักษณะของสายพันธุ์ ปราศจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช และสารพิษจากเชื้อราที่จะเกิดที่ช่อดอก เหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการใช้ประโยชน์อื่นต่อไป



           วิธีการเพิ่มศักยภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตที่ได้ให้สูงขึ้น ซึ่งทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการสกัดสารสำคัญด้วยวิธี cool ethanol เพื่อให้ได้น้ำมัน CBD ในระดับ medical grade จากช่อดอกให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะเด่นเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เฉพาะ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ การฝึกอบรม การเรียนการสอนการผลิตกัญชาในระบบปิด และการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือประโยชน์อื่น โดยมีหน่วยงานเครือข่าย อาทิ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร เป็นต้น

           ผู้สนใจต้นแบบการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คณะเกษตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทรศัพท์ 08 1390 0091 หรือ หรือ e-mail : taneesree@yahoo.com

 

 

แรงงาน ผนึกกำลัง CPF-โอสถสภา สนับสนุนจุดฉีดวัคซีนแคมป์คนงานและช่วยพี่น้องแท็กซี่สู้โควิด


 

สถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด  ทำให้ประชาชนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานแคมป์ก่อสร้าง และพี่น้องแท็กซี่   ภาครัฐและเอกชน จึงผนึกกำลังให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน



 

ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับมอบไข่ไก่สด ปลอดสาร ปลอดภัย รวม 2 แสน อาหารพร้อมทาน ขนม และเครื่องดื่มจากซีพีเอฟ ซีพีอินเตอร์เทรด พร้อมพันธมิตรอย่างโอสถสภา ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทีมแพทย์และอาสาสมัคร ศูนย์ฉีดวัคซีน สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ที่ให้บริการแก่แคมป์คนงานทั้งชาวไทย และต่างชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ที่เดือดร้อนจากโควิด-19 เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟโคราชเสริมเสบียงทั้งบุคลากรทางการแพทย์-ชุมชนต่อเนื่อง

   นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ตั้งแต่ปี 2563 ไทยเผชิญวิกฤตโควิด   ซีพีเอฟนครราชสีมาได้นำความเชี่ยวชาญด้านอาหารเข้าช่วยเหลือสังคม ผ่านโครงการ "CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19"  โดยที่ผ่านมาซีพีเอฟนครราชสีมาได้นำอาหารพร้อมทานเมนูบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง จำนวน 1,000 แพ็ค มอบแก่โรงพยาบาลปากช่องนานา  เพื่อเป็นกำลังใจแก่ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์  



   พร้อมกันนี้ ยังได้มอบวัตถุดิบปรุงอาหาร ทั้งไข่ไก่สด สะอาด ปลอดสาร ปลอดภัย 6,600  ฟอง  เนื้อไก่สด 1,000 กิโลกรัม  ไก่ปรุงสุก 1,000 กิโลกรัม  เนื้อหมู 1,000 กิโลกรัม  ไส้กรอก 300 กิโลกรัม แก่โรงพยาบาลสนาม โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านหนองกะจะ  และโรงพยาบาลสนามในความดูแลของกาชาดจังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารหลากหลายเมนู เติมพลังและสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด   และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โค



   ขณะเดียวกัน ยังได้มอบอาหารและน้ำดื่มซีพี   สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชน ที่มาร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่  ณ เดอะมอลล์โคราช ภายใต้การดูแลของสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา 

   ซีพีเอฟโคราชขอเคียงข้างเป็นกำลังใจ เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน


วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"ทำดีด้วยหัวใจ" ซีพีเอฟทั่วโลก รวมพลังจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม


 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยโรงงานและฟาร์มทั่วประเทศไทย และกิจการในต่างประเทศ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสวันมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2564  เดินหน้าทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดี และน้อมถวายเป็นพระราชกุศล 



ผู้บริหารและพนักงานโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟทั่วประเทศ รวมพลังจัดกิจกรรมทำความดีเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสวันมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา  12 สิงหาคม 2564 รวมทั้ง กิจการของซีพีเอฟในต่างประเทศ ร่วมจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่แม่ของแผ่นดิน  



โรงงานอาหารสัตว์บก อาทิ โรงงานผลิตอาหารสัตว์พิษณุโลก จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด 15,000 ตัว ณ สวนสาธารณะบึงราชนก  ซึ่งได้รับการสนับสนุุนพันธุ์ปลาที่ปล่อยในครั้งนี้จากกรมประมง  นอกจากนี้  ยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ในโรงงาน  ได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดพิษณุโลก โรงงานผลิตอาหารสัตว์ราชบุรี จัดกิจกรรม "Good health by our hands 12 สิงหา มหาราชินีปลูกพืชสมุนไพรและไม้ยืนต้นในพื้นที่โรงงาน  โรงงานผลิตอาหารสัตว์โคกกรวด จัดกิจกรรมปล่อยปลาและปลูกผักสมุนไพร เช่นเดียวกับ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ลำพูน  ร่วมกันปลูกป่าและปล่อยพันธุ์ปลา โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย และ โรงงานผลิตอาหารสัตว์หาดใหญ่ จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว



กลุ่มธุรกิจสุกร จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ อาทิ โรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกร เชียงใหม่ (ห้วยส้ม) ร่วมกับวัดห้วยส้ม ตัวแทนชุมชน พร้อมด้วยหน่วยงานราชการในท้องถิ่น รพ.สต.บ้านห้วยส้ม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน รวมทั้งพัฒนาและทำความสะอาดพื้นที่ ปลูกกล้าไม้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานีเพาะกล้าไม้เชียงใหม่ ทั้งในพื้นที่โรงงานฯ ภายในวัดห้วยส้ม และพื้นที่ รพ.สต.บ้านห้วยส้ม ส่วน โรงงานชำแหละตัดแต่งและแปรรูปสุกร กาญจนบุรี ผู้บริหารและพนักงาน ร่วมกันปลูกไม้ยืนต้นภายในบริเวณฟาร์ม และ ฟาร์มสุกรโคกตูม จัดกิจกรรมพัฒนาความสะอาดและปลูกต้นไม้ภายในฟาร์ม ขณะที่ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พนักงานซีพีเอฟ จัดกิจกรรม "ปลูกต้นไม้วันแม่ปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ณ ป่านิเวศหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า 



ธุรกิจไข่ไก่ อาทิ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ พิษณุโลก  คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ นครราชสีมา และฟาร์มไก่ไข่ ขอนแก่น จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ภายในบริเวณฟาร์ม ส่วนธุรกิจไก่เนื้อ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ นครราชสีมา ร่วมร้อยเรียงดวงใจ จัดกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในพื้นที่โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง  ส่วน ธุรกิจไก่พ่อแม่พันธุ์โคราช จัดกิจกรรมปลูกไม้ยืน บริเวณพื้นที่โรงงาน อาทิ มะค่าโมง พะยูง  ประดู่  กฤษณา  เป็นต้น    ส่วนธุรกิจโรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก จ.ตราด ร่วมกับชาวตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จัดกิจกรรมปลูกข้าว "ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่แม่ของแผ่นดิน ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์ของพระราชา

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...