วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กรมประมง...เปิดตัว “ปม.2 หัวเชื้อจุลินทรีย์ สูตรใหม่”ใช้เพิ่มประสิทธิภาพ “การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล”



​            กรมประมง...เปิดตัวหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ผลสำเร็จภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมประมง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมขยายผลสู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งทะเลให้เกิดความยั่งยืน



นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยยังมีอุปสรรคหลายด้าน ทั้งสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งผลผลิตที่ได้ยังมีความเสี่ยงจากการตกค้างของสารปนเปื้อนต่างๆ ที่ใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคในสัตว์น้ำอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ลดปริมาณเชื้อก่อโรคในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและในสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำลงได้ ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแต่อย่างไรก็ตาม สภาวะปัจจุบันเชื้อก่อโรคยังทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยลดต้นทุน และไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลผลิตของสัตว์น้ำสูงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก (probiotic) ที่มีประสิทธิภาพในการใช้ป้องกันและควบคุมโรค ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารในสัตว์น้ำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ กุ้งทะเลซึ่งมีโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio parahaemolyticus สายพันธุ์ที่สามารถสร้างสารพิษ ทำให้เกิดโรคตายด่วน หรือ EMS



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563  ที่ผ่านมา กรมประมง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมลงนามความร่วมมือ การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อพัฒนาการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 ให้มีประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากยิ่งขึ้น  โดยได้ผลิตเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 จนสำเร็จ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก สามารถป้องกันและควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารได้ สำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ตลอดสายการผลิตกุ้งทะเล ตั้งแต่การเตรียมบ่อ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การอนุบาล จนถึงในระหว่างการเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกุ้งทะเล เพิ่มอัตรารอด ลดต้นทุน ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี



ด้าน นายชาลี จิตประสงค์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรที่กรมประมงได้นำร่องในการทดลองใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 เปิดเผยว่า ได้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ร่วมกับการบริหารจัดการฟาร์มที่เหมาะสมทั้งระบบ ตั้งแต่โรงเพาะฟัก โรงอนุบาล และบ่อเลี้ยง เป็นเวลากว่า 5-6 เดือน ผลปรากฏว่า กุ้งมีการเจริญเติบโตดี มีความแข็งแรง และมีอัตรารอดมากขึ้น สามารถช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมทั้งช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำที่เกิดจากกิจกรรมการเพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างดีด้วย

 สำหรับสูตรการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ในแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

1. โรงเพาะฟัก ให้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ผสมกับอาหารเสริมสำหรับเลี้ยงลูกกุ้งทะเลในระยะซูเอี้ย จะช่วยให้ลูกกุ้งมีความแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น

2. โรงอนุบาล ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 เพื่อเป็นโพรไบโอติกในการอนุบาลลูกกุ้งทะเล ตามอัตราส่วนดังนี้ หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ปริมาณ 20 มิลลิกรัม น้ำตาลกลูโคส ปริมาณ 10 กรัม น้ำ ปริมาณ 1 ลิตร และอาหารกุ้งปริมาณ 2 กรัม เติมอากาศนาน 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปผสมกับอาหารกุ้งในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่ออาหารกุ้ง 1 กระสอบ สามารถเพิ่มจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์ม อันเป็นสาเหตุหนึ่งในขบวนการสร้างสารพิษในระบบทางเดินอาหารของกุ้งทะเล โดยเฉพาะการเกิดโรคตายด่วน หรือ โรค EMS/AHPND และโรคเรืองแสงในกุ้งทะเลได้เป็นอย่างดี

3. บ่อเลี้ยง สูตรมาตรฐานที่แนะนำ คือ อาหารกุ้ง ปริมาณ 200 กรัม จุลินทรีย์ ปม. 2 ปริมาณ 200 มิลลิลิตร น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลกลูโคส ปริมาณ 500 กรัม ต่อน้ำ ปริมาณ 200 ลิตร เติมอากาศ 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงเติมลงในบ่อกุ้ง ในอัตราส่วน 50-200 ลิตร/ไร่ ก็จะช่วยให้ย่อยสลายสารอินทรีย์ลดการเกิดไบโอฟิล์มและลดการสะสมของเชื้อก่อโรคภายในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ



รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการตั้งหน่วยผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 และสนับสนุนให้ศูนย์จุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 ไปแล้ว ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และจะกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมเขตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกุ้งทะเลทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2564 กรมประมงได้ตั้งเป้าหมายการผลิตจุลินทรีย์ ปม.2 จำนวน 143,110 ซอง/ขวด โดยจะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทรศัพท์ 0 2561 3997 หรือที่ Facebook Page : กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...