“กัญชา” พืชเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับพืชชนิดนี้ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการปลูกกัญชา โดยปลูกและผลิตกัญชาในระบบปิด (indoor) เพื่อทำวิจัยและเพิ่มศักยภาพเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเริ่มดำเนินการตามแนวทางการกำกับของคณะกรรมการพืชเสพติดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการวิจัยกัญชาจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเดินหน้าพัฒนาห้องปลูกและห้องสกัดสารสำคัญจากกัญชา ในอาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
รศ.ดร.ธานี
ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
คณะเกษตร เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้จะพัฒนาเป็นต้นแบบการปลูกกัญชาระบบปิด โดยมีทีมคณะนักวิจัยของคณะเกษตร
ประกอบด้วย รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร ภาควิชาพืชไร่นา รศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว ภาควิชาพืชสวน
รศ.ดร.ธิดา เดชฮวบ ภาควิชาโรคพืช นายนฤพนธ์ น้อยประสาร และ น.ส.อมรรัตน์ ม้ายอง
โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาห้องปลูกและห้องสกัดจาก บริษัท ทีเอช
แคนนา จำกัด จำนวน 6.5 ล้านบาท และเครื่องมือสกัดสาระสำคัญ จำนวน 2.0
ล้านบาท และงบดำเนินงานปี 2564 – 2566 อีกจำนวน
2.0 ล้านบาท จาก บริษัท กรีนคัลติเวชั่น จำกัด
โครงการวิจัยการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
คณะเกษตร ได้ใบอนุญาตการปลูกและนำเข้ากัญชา (ใบอนุญาตปลูกเลขที่ 30/2563) จากกองควบคุมวัตถุเสพติด กระทรวงสาธารณสุขแล้ว จึงได้สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์
CBD Charlotte Angle จากบริษัทเอกชน ประเทศเนเธอร์แลนด์
จำนวน 150 เมล็ด มาปลูกในระบบปิด (indoor) หรือ “plant factory with
artificial light (PFAL)” โดยใช้ห้องปลูก 2 ห้องในอาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร คือ ห้องปลูกเพื่อการเจริญเติบโตทางลำต้น
(vegetative growth room) ที่มีการควบคุมช่วงแสงยาว
คือมีการเปิดแสงสว่างนาน 18 ชั่วโมง และมืด 6 ชั่วโมงต่อวัน และห้องปลูกเพื่อการสร้างช่อดอก (reproductive
growth room) ที่มีการควบคุมช่วงแสงสั้น คือมีการเปิดแสงสว่างนาน 12 ชั่วโมง และมืด 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในสภาพแบบนี้จะทำให้ตายอด
(apical meristem) ของต้นกัญชาเปลี่ยนจากการสร้างใบมาเป็นการสร้างช่อดอกแทน
การปลูกกัญชาในระบบปิด (indoor) จะควบคุมสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิที่
24 – 28 °C ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50
– 60 % การเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซต์ที่ความเข้มข้น 1,000
ppm และมีพัดลมเพื่อการกวนอากาศให้มีการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้การปลูกในระบบปิดจะปลูกต้นกัญชาในวัสดุเพาะที่ไม่มีธาตุอาหารและสารปนเปื้อนอื่น
จึงต้องมีการให้ธาตุอาหารมากับระบบน้ำหยด หลังจากปลูกได้ต้นกล้าอายุได้ 3 -
4 สัปดาห์ หรือมีใบจริง 5 – 6 คู่ใบ
จึงเริ่มตัดแต่งทรงต้น (training) โดยใช้เทคนิคการตัดยอด (topping)
เพื่อให้ตาข้างแตกเป็นยอดออกมา และตัดยอดแบบนี้ประมาณ 3 – 4 ครั้งเพื่อให้ได้ยอดประมาณ 12 – 16 ยอดต่อต้น และเลี้ยงไว้ในห้องปลูกประมาณ
6 สัปดาห์ ซึ่งสามารถวางกระถางชิดกันได้
จากนั้นย้ายต้นที่ได้ไปอีกห้องปลูกเพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอก ในห้องปลูกจะจัดระยะระหว่างกระถางเป็น
40 x 40 เซนติเมตร มีการขึงตาข่ายและมีการใช้เทคนิคการปิดต้น
(super cropping) เพื่อช่วยบังคับแต่ละยอดให้กระจายเต็มพื้นที่
และทำให้ยอดอยู่ในระดับเดียวกัน หลังจากย้ายต้นเข้าห้องนี้มา 2 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นเพศของต้นกัญชา และทำการสำรวจเพศของต้นกัญชาทุกต้น ถ้าต้นใดเป็นตัวผู้จะคัดออก
ดังนั้นต้นกัญชาที่ปลูกทั้งหมด 108 ต้น จะเป็นเมล็ดพันธุ์ต้นตัวเมียเท่านั้น
(feminized seed)
เมื่อต้นกัญชาอยู่ในห้องปลูกครบ
11 สัปดาห์ ก็ทำการเก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรตัดที่โคนต้น
แล้วนำต้นที่ได้มาแขวนตาก (drying) ในห้องมืดที่ควบคุมอุณหภูมิ
22 – 24°C และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 60 %
เพื่อให้ช่อดอกกัญชาค่อยๆ แห้ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 – 14
วัน ช่อดอกที่แห้งจะมีความชื้นประมาณ 10 % แล้วนำไปบ่ม (curing) ในภาชนะปิดอีก 3 – 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำช่อดอกที่ผ่านการบ่มแล้วไปลงบันทึกจำนวน และน้ำหนัก
แล้วเก็บไว้ในห้องเก็บผลผลิตหรือนำไปสกัดสารสำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย
กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกกัญชาในระบบปิดที่ควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อม และธาตุอาหารที่ให้กับต้นพืช
การปลูกในวัสดุเพาะที่ปราศจากสารปนเปื้อนในดิน การควบคุมสภาพแวดล้อม
และการดูแลรักษาห้องปลูกให้ปราศจากศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช
และจากการควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของกัญชา
ส่งผลให้ได้ผลผลิตช่อดอกแห้งที่ได้จากการปลูกครั้งแรกจำนวน 162.85
กรัม/ต้น ทีมคณะนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อต้นให้มากกว่านี้
หากปรับปริมาณการให้ปัจจัยการเจริญเติบโต และการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไป
การปลูกในระบบปิดแบบนี้จะปลูกกัญชาได้ถึง 4 รอบต่อปี และผลผลิตที่ได้ออกมาแต่ละรอบจะสม่ำเสมอ
และมีคุณภาพเหมือนกัน ผลผลิตช่อดอกที่ได้ตรงตามคุณลักษณะของสายพันธุ์
ปราศจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช
และสารพิษจากเชื้อราที่จะเกิดที่ช่อดอก
เหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
หรือการใช้ประโยชน์อื่นต่อไป
วิธีการเพิ่มศักยภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตที่ได้ให้สูงขึ้น
ซึ่งทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการสกัดสารสำคัญด้วยวิธี cool ethanol เพื่อให้ได้น้ำมัน CBD ในระดับ medical grade
จากช่อดอกให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะเด่นเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เฉพาะ
รวมถึงการพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ การฝึกอบรม
การเรียนการสอนการผลิตกัญชาในระบบปิด และการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
หรือประโยชน์อื่น โดยมีหน่วยงานเครือข่าย อาทิ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร เป็นต้น
ผู้สนใจต้นแบบการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
คณะเกษตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทรศัพท์ 08
1390 0091 หรือ หรือ e-mail
: taneesree@yahoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น