วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กรมปศุสัตว์ มีมาตรฐานผลิตอาหารเข้มงวด มั่นใจอาหารปลอดภัย สินค้าปลอดโควิด



   นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อรายงานว่า พบพนักงานในโรงงานชำแหละไก่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากทางผู้ประกอบการได้ร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในการตรวจค้นหาเชื้อเชิงรุก เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้รับการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง โดยผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง ได้ถูกคัดแยกออกเพื่อเข้ารับการรักษาและกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้หยุดการผลิตพร้อมทั้งทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทันที รวมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่าง (swab) และตามพื้นที่ที่เกี่ยวข้องแล้วไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น โดยกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การเตรียมวัตถุดิบ การแปรรูป การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้าเพื่อป้องกันการปนเปื้อน



   อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่เพื่อส่งออก เพื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานตรวจโรคสัตว์และกำกับดูแล
การผลิตเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดตามหลักสุขอนามัยที่ดีมาโดยตลอด รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กรมปศุสัตว์
ได้จัดทำแผนสุ่มตัวอย่างเนื้อสัตว์ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออก และจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามตลาดสดเพื่อสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ไปแล้ว จำนวน 2,251 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 หากพบสินค้าที่มีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออก ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่าเนื้อไก่มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน โดยผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากร้านค้าที่ได้รับการตรวจสอบและรับรอง เช่น ร้านค้าที่มีป้ายตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องนำเนื้อไก่ไปผ่านกระบวนการความร้อนจนสุกก่อนรับประทาน ซึ่งเป็นระดับความร้อนที่สามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการรับประทาน



    ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 3134

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยัน "หมูไทย" ปลอดภัย



   อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยัน "หมูไทย" ปลอดภัย แจงส่งออกหมูไปเวียดนามตามข้อกำหนด ผลตรวจโรค ASF ก่อนการส่งออกไม่พบเชื้อ สั่งเข้มยกระดับมาตรการตรวจสอบที่ด่านท่าออกเข้มงวดขึ้น



   น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากกรณีที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้ส่งจดหมายถึงสถานเอกอัครราชฑูตไทยในกรุงฮานอย แจ้งว่าเวียดนามจะห้ามนำเข้าสุกรขุนมีชีวิตจากประเทศไทย มีผลวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป สาเหตุสืบเนื่องจากตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนั้น ในประเด็นดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับพบว่าสุกรสล๊อตดังกล่าวพบผลการสุ่มตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทางห้องปฏิบัติการตามข้อกำหนดก่อนการส่งออกไปยังเวียดนามนั้น ปรากฏว่าไม่พบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาหรือASF

   อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า ในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพสุกรของประเทศไทย กรมปศุสัตว์ได้สั่งชะลอการส่งออกสุกรมีชีวิตของฟาร์มและบริษัทฯที่ประเทศเวียดนามแจ้งว่าตรวจพบผลบวกดังกล่าวแล้วและจะเร่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้วสรุปรายงานให้ทางประเทศเวียดนามทราบ

   นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ยกระดับมาตรการตรวจสอบสุกรมีชีวิตก่อนการส่งออกให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกสุกรทุกรายได้ทราบว่า สุกรมีชีวิตทุกชนิดที่จะส่งออกไปยังเวียดนามต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ด่านกักกันสัตว์ท่าออกอีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ส่งออก โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสุกรบนรถขนสุกรทุกคันบริเวณจุดขนถ่ายสุกร ณ ท่าส่งออก หรือจุดที่ด่านกักกันสัตว์กำหนดจำนวน 10 ตัวอย่าง/คัน 

   ทั้งนี้ มาตรการที่ยกระดับขึ้นมานี้ ให้มีผลบังคับใช้ในทันที เพิ่มเติมจากข้อกำหนดเดิมของประเทศเวียดนามที่กำหนดไว้ว่า สุกรขุนมีชีวิตต้องมาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สุกรขุนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) และโรคกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ (PRRS) รวมทั้งต้องได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ว่าสุกรขุนปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกร (ASF) โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) โรคฉี่หนู (Leptospirosis) และปลอดจากสารเร่งเนื้อแดง (Beta-Agonist) โดยหลังจากนี้เป็นต้นไป หากพบว่ายังมีปัญหากับเวียดนาม ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม กรมปศุสัตว์ จะพิจารณาระงับการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังเวียดนามโดยทันทีต่อไป

   น.สพ.สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรอย่างเข้มงวด ที่ผ่านมารัฐบาลได้ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันการลักลอบนำสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เข้าประเทศ เฝ้าระวังและค้นหาโรคเชิงรับและเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวังทางอาการในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงฆ่าสัตว์ การเฝ้าระวังในซากและผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาด การประเมินความเสี่ยงระดับอำเภอทั่วประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละระดับความเสี่ยง ตลอดจนดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการทำลายสุกรในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงมาก เป็นต้น 



   ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสุกรของประเทศไทย โดยการกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์นั้น มีการพัฒนามาตรฐานการผลิตเนื้อสุกรตลอดห่วงโซ่การผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (Good Agricultural Practices : GAP) โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (Good Manufacturing Practice : GMP) จนถึงโรงงานแปรรูปที่ต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic Practice : GHP) และการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP)

   “สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการความมั่นใจในความสะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐานขอแนะนำให้เลือกซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยจากกรมปศุสัตว์ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของแหล่งผลิตได้ และจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตพัฒนาการผลิตเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานต่อไปอีกด้วย”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว


วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"เฉลิมชัย" สั่งเดินหน้าลุยปราบโรคใบด่างมันสำปะหลัง เน้นตัดวงจรและควบคุมพื้นที่ระบาด พร้อมแนะเกษตรกรใช้พันธุ์สะอาด ทนทานโรค


    "เฉลิมชัย" สั่งเดินหน้าลุยปราบโรคใบด่างมันสำปะหลัง เน้นตัดวงจรและควบคุมพื้นที่ระบาด พร้อมแนะเกษตรกรใช้พันธุ์สะอาด ทนทานโรค



    ดร.เฉลิมชัย   ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผมได้สั่งการ กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าแก้ปัญหา โรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งให้ยึดถึงความเดือดพี่น้องเกษตรกรเป็นเรื่องเร่งด่วน และดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยได้กำชับให้ กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งเตรียมแผนขับเคลื่อนโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด เน้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินโครงการให้ทันกับระยะเวลาที่กำหนด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ควบคู่กับการดำเนินโครงการด้วย

    ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ วงเงิน 1,329.22 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งมีเป้าหมาย          ในการตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์สะอาดและทนทาน  ต่อโรค  ควบคุมไม่ให้การระบาดของโรคขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ และดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 400,000 ไร่ เกษตรกร จำนวน 40,000 ราย โดยจะดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ 1) การทำลายพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังและจ่ายค่าชดเชยการทำลายให้กับเกษตรกรหลังตรวจสอบผลการทำลายไปแล้ว 30 วัน 2) การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค โดยจะสนับสนุนท่อนพันธุ์ จำนวนไร่ละ 500 ลำ 3) ใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ในกรณีที่เกษตรกรเจ้าของแปลงไม่ยินยอมให้ทำลาย ต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค เพื่อตัดวงจรการระบาด 



    อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ การดำเนินงานโครงการอยู่ในส่วนของขั้นตอนการสำรวจพื้นที่การระบาดและทำลายแปลงที่เป็นโรค เพื่อยืนยันพื้นที่ระบาดจริงที่เป็นปัจจุบัน โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังระดับตำบล จะลงพื้นที่ ปูพรมสำรวจเพื่อชี้เป้า เมื่อพบแปลงที่ระบาดจะแจ้งให้เกษตรกรเจ้าของแปลงดำเนินการทำลายพื้นที่ที่พบโรค พร้อมยื่นความประสงค์ขอรับการสนับสนุนท่อนพันธุ์สะอาด หลังจากนั้นคณะทำงานฯ ระดับอำเภอ/จังหวัด จะส่งข้อมูลขอจัดสรรค่าทำลายและค่าท่อนพันธุ์ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อรวบรวมเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ในกรณีที่เกษตรกรเจ้าของแปลงไม่ยินยอมให้ทำลาย กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำข้อมูลจากคณะทำงานฯ ในพื้นที่แจ้งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการทางกฎหมายต่อไป



    สำหรับขั้นตอนการชดเชยการทำลาย ภายหลังจากที่ทำลายแปลงที่ติดโรคแล้ว 30 วัน คณะทำงานฯ ระดับตำบล จะดำเนินการตรวจสอบแปลงอีกครั้ง และส่งข้อมูลให้คณะทำงานฯ ระดับอำเภอ/จังหวัด ส่งข้อมูลผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยทำลายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการตรวจสอบแล้วแจ้ง ธกส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเจ้าของแปลงที่เป็นโรค ส่วนขั้นตอนการสนับสนุนท่อนพันธุ์สะอาด จะมีการรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมแปลงพันธุ์สะอาดเพื่อเป็นแหล่งแปลงพันธุ์สนับสนุนให้แก่เกษตรกรและเป็นแหล่งจำหน่ายพันธุ์ในพื้นที่และเกษตรกรใกล้เคียงทั้งร่นระยะเวลาการขนส่ง ได้ท่อนพันธุ์มันสะอาดที่มีคุณภาพ ในราคาย่อมเยา เมื่อผ่านการประเมินจะดำเนินการขึ้นทะเบียนแปลง เพื่อดำเนินการในขั้นตอนการผลิต และส่งมอบท่อนพันธุ์ตามที่ได้รับการจองไว้ต่อไป 



    นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนต่อโรค ซึ่งจะเป็นการควบคุมไม่ให้การระบาดของโรคขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอความมือเกษตรกรให้เลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดจากแปลงพันธุ์ที่ไม่พบการระบาดของโรค และควรเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคใบด่าง เช่น ระยอง 72 ระยอง 90 KU50 และห้วยบง 60 รวมถึงงดใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 เป็นต้น 


วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ-เซเว่น ส่งอาหารจากใจ ช่วยหมอ อสม. และชาว จ.ตาก ฝ่าวิกฤตโควิด



   บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผนึกกำลัง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ เซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้ามอบอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานและน้ำดื่ม ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” และโครงการ "คนไทยไม่ทิ้งกัน" แก่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวชุมชนในหมู่บ้านผาผึ้ง ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า จ.ตาก จำนวน 526 หลังคาเรือน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก จนต้องปิดพื้นที่ชั่วคราว พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในชุมชน โดยมี นายประสิทธิ์ สุนทราวิฑูร รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ พร้อมด้วย ผู้แทน ซีพี ออลล์ และชาวซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมส่งมอบ ณ ศาลากลางจังหวัดตาก 



   ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้กล่าวขอบคุณแทนประชาชน ที่ภาคเอกชนอย่างเครือซีพีและซีพีเอฟ นำผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน ตลอดจนน้ำดื่มและหน้ากากอนามัยมามอบในครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้โดยเร็วและยังสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ อสม. ที่เสียสละตนเองในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง 

   ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ สุนทราวิฑูร รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ และชาวซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมกันส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมทานหลากหลายเมนู ให้แก่ นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง เพื่อแทนคำขอบคุณและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก 

   นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง กล่าวขอบคุณซีพี ซีพีเอฟ และเซเว่น อีเลฟเว่น ที่เดินหน้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดครั้งแรก ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นเสบียงสำคัญที่ช่วยเสริมพลังกายและเติมกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยสู้ภัยโควิดตลอด 24 ชั่วโมง 



   ด้าน นายประสิทธิ์ สุนทราวิฑูร รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตลอดจนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้า ทั้งหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ อสม. ฮีโร่ที่ลืมไม่ได้ บริษัทจึงนำความเชี่ยวชาญด้านอาหารมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ ภายใต้หลักปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือซีพี ด้วยการสนับสนุนอาหารพร้อมทาน อาทิ เกี๊ยวกุ้งรสต้มยำ ข้าวกะเพราไก่ ข้าวน้ำพริกอกไก่ และข้าวกล้องต้มทรงเครื่อง มามอบให้ท่านผู้ว่าฯ จ.ตาก เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนชุมชนดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนแก่ รพ.ท่าสองยาง บริษัทฯ หวังว่าอาหารเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนมีแรงกายและแรงใจสู้กับวิกฤตินี้ 

   โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” นับจากวันแรก...ถึงวันนี้ เครือซีพีและซีพีเอฟมอบอาหารพร้อมทานเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องคนไทยแล้วหลายล้านแพ็ค รวมถึงน้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ iMU ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรส สำหรับนำไปปรุงอาหาร แก่โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม กลุ่มเปราะบาง และหน่วยงานต่างๆ กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมเคียงข้างคนไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระดมสมองเร่งแก้ปัญหาโรคลัมปี สกิน

   


   อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระดมสมองเร่งแก้ปัญหาโรคลัมปี สกิน พร้อมกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนตามหลักวิชาการ พร้อมตั้ง “วอร์รูม” เกาะติดสถานการณ์ เร่งควบคุมโรค กระจายวัคซีน ออกมาตรการเยียวยาเกษตรกร

   นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีคณะกรรมการ ประกอบด้วยทุกภาคส่วนจากภาครัฐและเอกชน คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษา องค์กรวิชาชีพ และเกษตรกร ร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ และแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และกำหนดแนวทางการใช้วัคซีน 



   ในโอกาสนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนว่า กรมปศุสัตว์ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือของเกษตรกรว่า ต้องขอชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะตั้งแต่พบว่า โคเนื้อของเกษตรกรที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด มีอาการป่วยคล้ายกับโรคลัมปี สกิน กรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ พร้อมเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจนมีผลยืนยันในช่วงปลายเดือนมีนาคมว่าโคป่วยด้วย โรคลัมปี สกินจริง ช่วงรอผลตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนั้น ได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและแก้ไข เข้มงวดการเฝ้าระวัง และมาตรการป้องกันและควบคุมโรค กรณีสงสยโรคลัมปี สกิน เป็นต้น โดยผลการดำเนินการนั้นได้รายงานให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจากการประชุม คณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64  ที่ผ่านมาที่มีรัฐมนตรีวาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีข้อสั่งการให้ กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมต้นตอของการระบาดของโรคลัมปี  สกิน โดยให้เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดนทุกแห่ง ดังนั้นหากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่หากปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบเคลื่อนย้าย และเกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น จะดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาด

   นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน  ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตาม สถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกรตามมาตรการการช่วยเหลือ และขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายท้องถิ่นที่ช่วยดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหนะของโรคลัมปี สกิน      



   “ส่วนกรณีของวัคซีน ด้วยโรคลมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงยังไม่เคยมีการใช้ วัคซีนในสัตว์สำหรับควบคุมและป้องกันโรคในประเทศมาก่อน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานจัดส่งวัคซีน หลังจากวัคซีนเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จะต้องดำเนินการขอหนังสือรับรองรุ่นการผลิต  จากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา จึงจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้           กรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก ประมาณ 300,000  โดส เพื่อการควบคุมโรคและเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว



   สถานการณ์การเกิดโรคล่าสุด ปัจจุบันพบใน 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วย จำนวน 7,200  ตัว ตาย 53 ตัว และที่สำคัญสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด  โดยตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการกระจายหรือการระบาดเพิ่มในจังหวัดใหม่ ดังนั้น ขอฝากถึงเกษตรกร หากมีข้อสงสัย หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-225-6888 หรือแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชั่น   DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวของ ได้ที่ เว็บไซต์ https://sites.google.com/view/dldlsd/home


วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มกอช. จัดสัมมนาออนไลน์ การออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร

    


    มกอช. จัดสัมมนาออนไลน์ การออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ เสริมความรู้เจ้าหน้าที่ มกอช.-กรมปศุสัตว์



   นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. เป็นหน่วยงานด้านการมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร โดยอาศัยกลไกภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ในการดำเนินงาน เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร โดยครอบคลุมสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ พืช และประมง รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตรสามารถใช้ในการส่งเสริม ตรวจสอบและรับรอง รวมถึงกำกับดูแลสินค้าเกษตร ให้สามารถได้รับความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคในประเทศและประเทศคู่ค้าของประเทศไทย



   ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลสินค้าเกษตรดังกล่าวมีความเบ็ดเสร็จภายในหน่วยงาน และอำนวยความสะดวกในการให้บริการ มกอช. จึงได้มีการมอบภารกิจให้หน่วยงานของรัฐที่มีความสามารถดำเนินการออกใบอนุญาต                 เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานแรกที่มีความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมายภารกิจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเรียบร้อยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มกอช. จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับการพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (TAS-License) และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติและวิธีการดำเนินงานตามมาตรฐานบังคับการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ตลอดจนแนะนำแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามมาตรฐานบังคับ โดยจัดการสัมมนาในรูปแบบการบรรยายทางระบบออนไลน์ จำนวน ๓ รุ่น ระหว่างวันที่ 25-28 พฤษภาคม 2564



   “ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงพิจารณาการออกใบอนุญาตผ่านระบบ TAS-License และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานได้ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ทั้งในการนำเข้าและส่งออกมีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นไปตามแนวปฏิบัติของมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ – เซเว่น อีเลฟเว่น ร้อยเรียงใจ หนุน รพ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.สมุทรสาคร และ รพ.บ้านแพ้ว สู้ภัยโควิด



   จากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าเคียงคู่คนไทยก้าวพ้นวิกฤตด้วยกัน จากวันแรก...ถึงวันนี้ ด้วยการเดินหน้าส่งมอบอาหารพร้อมทานในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

   นายอุดมศักดิ์ แสงวณิช รองผู้อำนวยการ ภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ รับมอบผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานคุณภาพปลอดภัยจากซีพีเอฟ เพื่อเติมพลังกายและเสริมกำลังใจทีมนักรบชุดขาว ลดภาระการจัดเตรียมอาหาร เพื่อทุ่มเทเวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นอกจากกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ อย่างซีพีเอฟ ที่ได้นำอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานที่ปลอดภัย สะอาด และอร่อย มามอบให้ รวมถึงเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ด้วย พร้อมฝากประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงเว้นระยะห่างทางสังคม



   นอกจากนี้ ที่จังหวัดสมุทรสาคร นายสุวิทย์ ประภากมล ผู้บริหารอาวุโส ซีพีเอฟ นำทีมซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมมอบผลิตภัณฑ์อาหาร พร้อมกับทีมงานจิตอาสาจาก เซเว่น อีเลฟเว่น ที่นำครุภัณฑ์ทางการแพทย์ แอลกอฮอลล์ทำความสะอาด หน้ากากอนามัย และน้ำดื่ม มอบให้กับ นส.รัตติกรณ์ กาญจนะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสมุทรสาคร และ นส.ชนันท์ภัทร์ สุขประเสริฐ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เป็นตัวแทนโรงพยาบาล รับมอบ เพื่อนำไปสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในพื้นที่ต่อไป

   นายสุวิทย์ ประภากมล ผู้บริหารอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ วิกฤตโควิด จากวันแรก...ถึงวันนี้ CP-CPF มอบอาหารพร้อมทานเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องคนไทยแล้วหลายล้านแพ็ค รวมถึงน้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ iMU ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรส สำหรับนำไปปรุงอาหาร แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 100 แห่ง ผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยทั้งหมด จะส่งตรงถึงโรงพยาบาลสนาม โดยทีมโลจิสติกของซีพีเอฟ อาทิ เกี๊ยวกุ้ง, ข้าวอบธัญพืชและไก่, สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าและราเมนโฮลวีตผัดขี้เมาไก่



   ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ผนึกกำลังกับ เซเว่น อีเลฟเว่น ทยอยส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เจลแอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย เครื่องวัดอุณหภูมิ และ เครื่องอุปโภคบริโภค ภายใต้โครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

แม็คโคร ผนึกกระทรวงเกษตรฯ หนุนเกษตรกรผู้พิการและครอบครัวสู้โควิด รับซื้อฟักทองระบายผลผลิตล้น เพิ่มรายได้ 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน



   บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้พิการและครอบครัวภาคเหนือ หลังโดนพิษโควิด-19 ผลผลิตล้น รับซื้อ “ฟักทอง” 9 ตันต่อสัปดาห์ต่อเนื่อง  ส่งขายในแม็คโครทั่วประเทศ สร้างรายได้ 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ส่งกำลังใจฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

   นางสาวนฤมล ชุติปัญญาภรณ์  ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้ออาหารสด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ล่าสุด แม็คโครได้รับการประสานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากพบปัญหาของกลุ่มชมรมส่งเสริมอาชีพอิสระครอบครัวคนพิการ และพี่น้องชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ ที่ไม่สามารถระบายผลผลิตฟักทอง ที่ออกมาในฤดูกาลเป็นจำนวนมาก จึงเร่งให้ความช่วยเหลือ และรับซื้อฟักทองจากเกษตรกรกลุ่มนี้ในจำนวน 9 ตันต่อสัปดาห์ต่อเนื่อง พร้อมเตรียมพัฒนาองค์ความรู้ ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต หวังสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนอย่างยั่งยืน



   “เกษตรกรกลุ่มนี้มีผลผลิตฟักทองล้นตลาดเป็นจำนวนมาก จากสมาชิกกลุ่มที่มีพื้นที่เพาะปลูกใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และจ.แม่ฮ่องสอน รวมกว่า 200 ไร่ การเข้าช่วยรับซื้อเพื่อระบายผลผลิตไปขายในแม็คโครทั่วประเทศครั้งนี้ จะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน และจะทำให้พวกเขาผ่านวิกฤตโควิดในครั้งนี้ไปได้”



   สำหรับกลุ่มชมรมส่งเสริมอาชีพอิสระครอบครัวคนพิการและพี่น้องชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ มีสมาชิกจำนวน 574 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนพิการจำนวน 20 % อีก 80% เป็นครอบครัวที่ดูแลคนพิการ 

   นางสาวนฤมล กล่าวอีกว่า “โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก แม็คโครดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยา พี่น้องเกษตรกรให้มีช่องทางจำหน่ายผลผลิต  และยังวางแผนพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป”

ซีพีเอฟ ยึดหลัก 3 Rs ตอบโจทย์ใช้น้ำรู้คุณค่า รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

   


   บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิต ตามหลักการ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) มุ่งมั่นมีส่วนร่วมรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน  

    ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลกที่ยั่งยืน" ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  จึงนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯนำหลักการ 3 Rs ประกอบด้วย  ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำน้ำมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นแนวทางดำเนินการให้กับบุคลากรในทุกสายธุรกิจ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งผลให้ปี 2563 บริษัทสามารถลดการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตได้ 36% เมื่อเทียบกับปีฐาน ขณะที่ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่อยู่ที่ 42% ของปริมาณการดึงน้ำมาใช้ทั้งหมด

   นายไพโรจน์  อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า  บริษัทฯ ให้ความสำคัญการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงกุ้งที่ปลอดภัย โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน  และการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ด้วยการนำระบบรีไซเคิลมาใช้หมุนเวียนน้ำใช้ในฟาร์มกุ้ง โดยไม่มีการปล่อยน้ำออกจากฟาร์มสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Discharge) โดยใช้ ระบบกรองน้ำแบบอัลตราฟิเตรชั่น (Ultra Filtration: UF) ในการบำบัดน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกและน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง เพื่อหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ภายในฟาร์มกุ้ง ซึ่งบริษัทฯ ยังได้ขยายผลการใช้ระบบกรองน้ำแบบ UF กับโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เพื่อใช้กรองน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว หมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบทำความเย็นเช่นกัน 



   นอกจากนี้ ฟาร์มกุ้งของซีพีเอฟ ยังนำระบบไบโอฟลอค (Biofloc) ซึ่งเป็นการนำเชื้อจุลินทรีย์มาช่วยบำบัดของเสียในบ่อเลี้ยงกุ้ง ช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในระหว่างการเลี้ยง และช่วยลดการใช้น้ำในการผลิต รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับน้ำได้  ควบคู่เดินหน้าแนวทางเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาด คือ  กุ้งสะอาด (Clean Seed) คัดเลือกสายพันธุ์กุ้งปลอดโรคและโตเร็ว  น้ำสะอาด (Clean Water) บริหารจัดการน้ำโดยระบบน้ำหมุนเวียน  น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งสะอาดปราศจากเชื้อก่อโรค และมีการบำบัดเพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้ง บ่อสะอาด (Clean Pond Bottom) การจัดการบ่อเลี้ยงให้สะอาด มีระบบการจัดการพื้นบ่อที่ดี ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีความสด สะอาด และเป็นกุ้งที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนอีกด้วย



   นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตตามหลัก 3Rs ที่นำมาใช้กระบวนการเลี้ยงกุ้งแล้ว  ในสายธุรกิจต่างๆ ของซีพีเอฟ ที่มีการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของการลดการใช้น้ำ (Reduce) หาแนวทางการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพหรือนำเทคโนโลยีมาช่วยลดการใช้น้ำ เช่น โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นำระบบระบายความร้อนด้วยอากาศมาใช้แทนระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ  ในส่วนของการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ธุรกิจอาหารสัตว์บก นำน้ำที่เหลือจากการกรองกลับมาใช้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น รดน้ำต้นไม้  ล้างถนน   และในส่วนของการนำน้ำมาใช้ใหม่ (Recycle) ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถหมุนเวียนน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

   ซีพีเอฟ  ตระหนักถึงการเข้าถึงน้ำสะอาดที่เพียงพอ และคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในระยะยาว เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  ปลูกฝังและส่งเสริมให้พนักงานทุกคนในองค์กรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัด  รวมไปถึงการดูแลชุมชนรอบข้างสถานประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างพอเพียง ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ย โดยในปี 2563 ปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพและได้ตามมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดให้เกษตรกรกว่า 200 รายนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนการผลิตและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนภารกิจการสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานของความยั่งยืนร่วมกัน   

กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานวันผึ้งโลกผ่านระบบออนไลน์ หวังกระตุ้นเกษตรกรยุคใหม่ใช้ประโยชน์จากผึ้งและแมลงผสมเกสรเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต พร้อมต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยผลิตภัณฑ์จากผึ้ง


 

กรมส่งเสริมการเกษตรชูนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และ สิ่งแวดล้อม จัดงาน วันผึ้งโลก ครั้งที่ 4 ผ่านระบบออนไลน์ โดยถ่ายทอดสด (Live) จากประชุม 7 ชั้น 5 กรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านทาง Facebook หวังกระตุ้นเกษตรกรใช้ประโยชน์จากผึ้งและแมลงผสมเกสร เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต และส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และดูแลสิ่งแวดล้อม



นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมถ่ายทอดสด งานวันผึ้งโลก ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนเข้าร่วมชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร และเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร มากกว่า 1,000 ราย โดยการจัดงานในปีนี้จัดขึ้นในธีม “รักษ์ผึ้ง รักโลก” และถือเป็นการจัดงานที่พิเศษกว่าทุกปี เพราะเป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ โดยมีการถ่ายทอดสดให้เกษตรกรและผู้สนใจรับชมผ่าน Facebook Live เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปได้รับรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญ ประโยชน์ของผึ้งและแมลงช่วยผสมเกสร เป็นการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ผึ้งตามธรรมชาติ และสร้างความตระหนักถึงการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสม และประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์ของการต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผึ้งและแมลงช่วยผสมเกสร ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่อยู่ในกระแสโลก



“การจัดงานในครั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการป้องกันและกําจัดศัตรูแบบผสมผสาน หรือ IPM การกําจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี มาโดยตลอด เราจึงเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากผึ้งและแมลงผสมเกสร ซึ่งผึ้งนั้นถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะบ่งชี้คุณภาพของระบบนิเวศด้วย บทบาทของผึ้ง และการเลี้ยงผึ้งจึงเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อการผลิตอาหาร และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ด้วย การจัดงานในครั้งนี้เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดกิจกรรมงานวันผึ้งโลก ครั้งที่ 4 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดกิจกรรมงานวันผึ้งโลกด้วย เช่น ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดชุมพร ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี อุตรดิตถ์ และขอนแก่น โดยการจัดงานจะเน้นให้มีการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ผึ้งและแมลงผสมเกสร เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรและเครือข่ายในพื้นที่ ในการใช้แมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสวนไม้ผล และพืชไร่ชนิดต่างๆ การจัดกิจกรรมถ่ายทอดสดในครั้งนี้ยังได้มีการสาธิตการเลี้ยงและการจัดการรังผึ้งและชันโรงอย่างถูกวิธี และสาธิตการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากผึ้งชนิดต่างๆด้วย”



 เกษตรกรและผู้สนใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากผึ้ง ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์จากผึ้ง การสาธิตการปรุงอาหารโดยใช้น้ำผึ้งเป็นวัตถุดิบหลัก โดยเชฟจาร์กัว ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ สามารถย้อนชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก (Live) ได้ที่ลิงก์ https://fb.watch/5C_HbvHwLh/ หรือเข้าไปที่เฟซบุ๊ก สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร และหากสนใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งแท้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้ง รวมถึงพันธุ์ผึ้งและอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งต่างๆ สามารถเข้าไปติดตามได้ที่http://www.agriman.doae.go.th/homebee62/index.html และตลาดเกษตรกรออนไลน์ กรมส่งเสริมการเกษตร

 

 

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

แม็คโคร รวมพลังน้ำใจจากพนักงานทั่วประเทศ มอบชุด PPE ให้แก่ กรมอนามัย


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โดย นายเอกรัตน์ พิพัฒน์วรธรรม ผู้จัดการทั่วไป แม็คโคร สาขา แจ้งวัฒนะ  และคณะผู้บริหาร พนักงาน ร่วมส่งมอบชุดป้องกันการติดเชื้อ หรือ PPE ที่ได้จากโครงการ ส่งความห่วงใย จากใจชาวแม็คโครให้แก่ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย จำนวน 2,000 ชุด เพื่อนำไปใช้ยังหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19  ณ แม็คโคร สาขาแจ้งวัฒนะ 

สำหรับ โครงการส่งความห่วงใย จากใจชาวแม็คโคร เกิดขึ้นจากการรวมพลังของพนักงานแม็คโครทั่วประเทศ ร่วมกันบริจาคชุด PPE ได้จำนวนมากกว่า 25,000 ชุด ซึ่งมีการทยอยส่งมอบชุดป้องกันการติดเชื้อ ให้กับโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามต่างๆ  เพื่อส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้เป็นบุคลากรด่านหน้าในการต่อสู้กับโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

มหิดลนครสวรรค์ และซินเจนทา ขยายเครือข่าย “รักษ์ผึ้ง” ภาคกลางและตะวันออก สร้างความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน


 

สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพโดยปีนี้ มีแนวคิดสำคัญคือ เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการขจัดปัญหาอย่างยั่งยืน” (We’re part of the solution.) สอดคล้องกับแผนการเติบโตเชิงบวก (Good Growth Plan) ของซินเจนทา ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างยั่งยืน



นางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน ซินเจนทา เปิดเผยว่า หนึ่งในแผนงานสำคัญตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติ ซินเจนทาได้ร่วมกับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ดำเนินโครงการ รักษ์ผึ้งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายการเรียนรู้ รักษ์ผึ้งผ่านงานวิจัยและการอบรมส่งเสริมให้แก่กลุ่มเกษตรกร โรงเรียน และชุมชนรอบพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อเผยแพร่ความรู้ และสร้างความตระหนัก ในการรักษาระบบนิเวศ ดูแลแมลงผสมเกสร ตลอดจนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน



ดร.สิทธิพงษ์ วงศ์วิลาศ นักวิชาการศึกษา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ รักษ์ผึ้งกล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ของมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ได้จัดเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องผึ้งและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ BEE LAND เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนและการสอน เรื่องการเลี้ยง การเพิ่มผลผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รวมทั้งได้ประสานกับโรงเรียนระดับมัธยม เพื่อสร้างโรงเรียนเครือข่ายการเรียนรู้ รักษ์ผึ้งในเบื้องต้นมี 10 แห่งในจังหวัดนครสวรรค์ และ 5 แห่งในจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมเป็นโรงเรียนต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเกษตรกร อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนลำไยและผู้เลี้ยงผึ้งได้ประสานความร่วมมือ เพื่อรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพโดยได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้ง



นายอานพ วนามี เจ้าของฟาร์มผึ้งสอยดาว เป็นประธานศูนย์ประสานงานโครงการ รักษ์ผึ้งอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กล่าวเสริมว่า หัวใจสำคัญของโครงการ คือ ซินเจนทาและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามาสร้างความเข้าใจและตอบสนองความต้องการระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกับผู้ปลูกผลไม้ให้ได้ผลผลิตอย่างปลอดภัยตามระบบ GAP เพราะการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ โดยเฉพาะกลุ่มลำไย ซึ่งต้องการให้ผึ้งมาช่วยในการผสมเกสรดอก ยิ่งได้รับการผสมเกสรมากเท่าใด ผลก็ยิ่งติดลูกมากเท่านั้น การใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรสามารถเพิ่มอัตราการติดดอกได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 30 ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ต้องการนำรังผึ้งไปวางในสวนต่าง ๆ เพื่อนำน้ำหวานจากเกสรดอกลำไยมาผลิตน้ำผึ้ง ซึ่งน้ำผึ้งจากดอกลำไยเป็นที่นิยมในตลาดไทยและตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เพราะมีกลิ่นหอมและหวาน ดังนั้น หากเจ้าของสวนและผู้เลี้ยงผึ้งมีความรู้และความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคมากขึ้น  ปัจจุบันได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งประมาณ และชาวสวนลำไยเกือบ 100 ราย โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นางสาวกมลชนก บุญฤทธิ์ ครูผู้สอนวิชาชีววิทยา โรงเรียนเซนต์โยเซฟนครสวรรค์ หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินงานในโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายการเรียนรู้ รักษ์ผึ้งจะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาการเลี้ยงผึ้ง เข้าไปอยู่ในวิชาหมวดการงานอาชีพของนักศึกษาระดับมัธยมปลายในโรงเรียนเป้าหมาย โดยนักวิชาการจากซินเจนทาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลจะไปร่วมถ่ายทอดความรู้เชิงทฤษฎีและเปิดโอกาสให้ฝึกปฏิบัติจริงในหลายด้าน อาทิ การศึกษาสภาพแวดล้อม ชีววิทยาและพฤติกรรมของผึ้งต่าง ๆ การบริหารจัดการรังผึ้งและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเกิดความเข้าใจจากการปฏิบัติจริง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงได้มีการปรับรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์แทน




เช่นเดียวกับ โรงเรียนมะขามสรรเสริญ นายสุพร พงศ์วิฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนและที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนต้นแบบในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี กล่าวสนับสนุนว่า โครงการ รักษ์ผึ้งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้เป็นการเสริมความรู้และทักษะการประกอบสัมมนาอาชีพที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยโครงการดังกล่าว ให้ทั้งความรู้และแนวทางการปฏิบัติ อีกยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเข้าร่วมเป็นโรงเรียนต้นแบบแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดวังจะอ้าย โรงเรียนวัดหนองสลุด โรงเรียนวัดมะทาย โรงเรียนบ้านมะขาม และโรงเรียนมะขามสรรเสริญ รวมทั้งมีแผนจะขยายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วตะวันออกในอนาคต

ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ โรงเรียนต้นแบบเครือข่าย และศูนย์เครือข่ายทั้งหมดนี้ เป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจของซินเจนทา ในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย โดย โครงการรักษ์ผึ้ง เป็นหนึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการผสมผสานวิถีแห่งธรรมชาติเข้ากับนวัตกรรมการเลี้ยงผึ้งและการบริหารการเพาะปลูกผลไม้ได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ ทำให้สามารถดูแลและรักษาผลผลิต สร้างผลกำไร ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้แก่เกษตรกรและชุมชนโดยรอบได้อีกด้วยนางสาววัชรีภรณ์ กล่าวสรุป

สำหรับเกษตรกร โรงเรียน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รักษ์ผึ้งติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 088-445-6406 หรือ https://na.mahidol.ac.th/academic/

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ตลาด อ.ต.ก. ดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการทุกท่าน

 


   องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการทุกท่านและสร้างสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในที่ดี  เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)  

   ที่ผ่านมา อ.ต.ก.ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และยึดปฏิบัติตามประกาศของราชการ กำหนดจุดทางเข้า-ออก รอบตลาด  ตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิและการสวมหน้ากากอนามัย  ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เพิ่มจุดบริการล้างมือภายในตลาด ตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยของผู้ประกอบการ กำหนดการเว้นระยะห่างระหว่างสังคม Social Distancing  ทำความสะอาดบัตรจอดรถทุกครั้งหลังการใช้งานด้วยแอลกอฮอล์ และทำความสะอาดพื้นที่ตลาดทุกวันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 

   อ.ต.ก.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมอนามัยและกรมควบคุมโรค ตรวจหาเชื้อไวรัส Covid-19 ให้กับผู้ประกอบการค้าและผู้ช่วยค้าใน อ.ต.ก. ทุกราย พร้อมทั้งควบคุมเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยเป็นประจำ และเข้มงวดกับผู้ค้าและผู้ช่วยค้าในการสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือ หากฝ่าฝืนมีมาตรการสั่งหยุดจำหน่ายทันที  ทั้งนี้  อ.ต.ก. ได้ติดตามสถานการณ์ภายในตลาด อ.ต.ก. อย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ค้าหรือผู้ช่วยค้ารายใดที่มีความเสี่ยงจะให้หยุดขายทันทีและส่งผู้ค้าและผู้ช่วยค้าที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ พร้อมคุมเข้มชุมชนผู้ค้าป้องกันบุคคลภายนอกนำเชื้อเข้ามาในชุมชน นอกจากนี้  อ.ต.ก. ได้ร่วมกับสำนักงานเขตจตุจักรและมณฑลทหารบกที่ 11 ดำเนินการทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่ทั้งหมดของ อ.ต.ก. ทั้งอาคารสำนักงาน  จุดแจกบัตรทางเข้า - ออก ของเส้นทางการเดินรถ  ตลาดเกษตรอินทรีย์  ตลาดน้ำ  อาคารจอดรถ 6 ชั้น และตลาดสด อ.ต.ก. อย่างสม่ำเสมอทุกๆ 3 – 5 วัน 

   ดังนั้น ขอให้ทุกท่านมั่นใจในมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด และขอความร่วมมือผู้มาใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อและความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ  ทั้งนี้ ตลาด อ.ต.ก. ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ไม่เว้นวันหยุด



ไทยเจ๋ง คาดปี 64 ส่งออก “อาหารสัตว์เลี้ยง PET FOOD ติด TOP 3 ตลาดโลก” สวนทางในสถานการณ์วิกฤต COVID-19



​    นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงมีความรุนแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่New normal มีการใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้น (Work From Home) ทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกของการใช้ชีวิต เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวและเพื่อนแก้เหงาตามไปด้วย ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีการขยายเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงต้องการดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีที่สุดไม่ต่างไปจากตัวเอง โดยหันมาสนใจในอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น “รายงานตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกปี 2020-30: COVID- 19 ผลกระทบและการฟื้นตัวจาก ResearchAndMarkets.com คาดการณ์ว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะเติบโตจาก 74.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 75.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 1.3% และเติบโตต่อปีที่ 6% จากปี 2564 และแตะ 88.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566”



   กรมปศุสัตว์โดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับดูแลกระบวนการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) เพื่อการส่งออก โดยครอบคลุมการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก (VCN.) ควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงงานให้มีระบบรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) การตรวจสอบกระบวนการผลิต และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (เมษายน 2564) มีจำนวนโรงงานที่ได้รับขึ้นทะเบียนเพื่อการรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกและมีการผลิตส่งออก รวมทั้งสิ้น 82 แห่ง โดยภาพรวมการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2563 มีปริมาณ 535,994,346.47 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 44,792.98 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คิดเป็น 22.21% (จากปี 2562 มีปริมาณ 465,717,695.49 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 36,650.74 ล้านบาท) ประเภทอาหารสัตว์ที่ส่งออกประกอบด้วย อาหารสัตว์เลี้ยง (Dog chews) อาหารเม็ดสำหรับสัตว์เลี้ยง (Dry pet food) อาหารกระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยง (Canned pet food) อาหารขบเคี้ยวและอาหารว่างสำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet treats) และอาหารเสริมอื่นๆ โดยพบว่าอาหารกลุ่มประเภทอาหารกระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าที่มูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 73% และประเทศคู่ค้าที่นำเข้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา (31%) และสหภาพยุโรป (25.38%) และประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น



   อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ประเทศที่ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 5 อันดับแรกของโลก คือ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไทย และเนเธอร์แลนด์ สำหรับในปี 2564 นี้ อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงยังคงมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งออกเพียงแค่ช่วง 4 เดือนแรก มีปริมาณรวมแล้ว 240,440,070.10 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,736.72 ล้านบาท เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากประเทศไทย ประกอบกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ของคนทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตัว นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่ในปีนี้จะก้าวขึ้นสู่ Top 3 เป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ สวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 นี้

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เกษตรฯ ร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานเกลือทะเลไทย สร้างความมั่นใจผู้บริโภค

 


นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวถึง การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานเกลือทะเลของประเทศไทยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการยกระดับ แล้วจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อยกระดับการผลิตเกลือทะเลของไทยให้มีคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นในระบบการผลิตเกลือทะเลของประเทศไทยสู่สากล 



ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 84,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่มากที่สุด ร้อยละ 47 รองลงมาได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยละ 43.1 จังหวัดสมุทรสงคราม ร้อยละ 77 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 1.0 จังหวัดจันทบุรี ร้อยละ 0.6 จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 0.4 จังหวัดฉะเชิงเทราร้อยละ 0.2 (ข้อมูลจากสถาบันเกลือทะเล พ.ศ. 2560-2561) โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตเกลือทะเลประมาณเกือบ 1 ล้านตันเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและมาตรฐาน ต้องมีการดำเนินการอย่างครบวงจร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร จัดเตรียมความพร้อมรองรับการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน ครอบคลุมทุกภาคส่วนแล้ว ประกอบด้วย การพัฒนาต้นแบบการผลิตเกลือทะเลตามมาตรฐาน การพัฒนาพี่เลี้ยง (ที่ปรึกษาเกษตรกร) และการพัฒนาผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน 



นายพิศาลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา มกอช. ได้สร้างความรู้ความเข้าใจการผลิตเกลือตามมาตรฐานให้แก่ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 262 คน พร้อมทั้งยังได้จัดทำจัดโครงการนำร่องการพัฒนาแปลงนาเกลือทะเลต้นแบบตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาและปรับปรุงแปลงนาเกลือทะเลให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐาน เกษตรกรต้นแบบมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ในพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดแล้ว  สำหรับการพัฒนาที่ปรึกษาเกษตรกร ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐานเกลือทะเล ให้แก่ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในพื้นที่ผลิตเกลือทะเลจำนวน  42 คน รวมถึงการพัฒนาผู้ตรวจประเมิน ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานเกลือทะเล โดยมีนายชาญยุทธ์ ภานุทัตผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สถาบันเกลือทะเลไทย และ มกอช. ร่วมเป็นคณะทำงาน และได้ร่วมกันจัดทำระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การขอและออกใบรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติ ลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 29 มกราคม 2564 และคู่มือการปฏิบัติงานการตรวจสอบรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP การทำนาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติ ลงนามประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เรียบร้อยแลรวมถึงการจัดอบรม หลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานเกลือทะเล เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจตามข้อกำหนดของมาตรฐาน (มกษ.9055 และ มกษ. 8402) และฝึกทักษะการตรวจประเมิน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนหน่วยตรวจสอบรับรองจากกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และหน่วยรับคำขอฯ จากกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 48 ราย เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมไอธารา รีสอร์ท อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และแปลงนาเกลือต้นแบบ 



การดำเนินการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจาก เกษตรกรผู้ผลิต เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีความใกล้ชิดและควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกลือทะเลในแต่ละภูมิภาคข้อจำกัดในเรื่องรอบการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรวางแผนการยื่นขอการรับรองตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สำหรับหน่วยตรวจสอบรับรองอาจต้องมีการวางแผนการตรวจรับรองให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ที่ปรึกษาเกษตรกรควรส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรเห็นมุมมองการตรวจประเมินเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม การรับรองมาตรฐานเกลือ นับว่าเป็นเรื่องใหม่ ในช่วงระยะแรกของอาจทำในรูปแบบการตรวจในเชิงส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงต่อไป “ เลขาธิการ มกอช. กล่าว 

 

 


สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...