วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กรมปศุสัตว์ยกระดับมาตรฐานส่งออกจิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจมุ่งไทยเป็นฮับแมลงโลกแหล่งโปรตีนไทยส่งออกทั่วโลก ใน 3 ขั้นตอนจบ



       นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตแมลง “ฮับแมลงโลก” รับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) เจาะตลาดโลกกว่า 3 พันล้านบาท สอดรับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ที่ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก” ซึ่งทาง FAO คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า ในตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 23.8% ระหว่างปี 2018-2023 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



​       กรมปศุสัตว์ขานรับนโยบายสนับสนุนการส่งออก “จิ้งหรีด” เป็นตัวเลือกแมลงที่เหมาะสมที่สุด แมลงเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย โดยยกระดับมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงที่ฟาร์ม การแปรรูปที่โรงงาน จนถึงการส่งออก เพื่อตรวจสอบและรับรอง กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้มีความปลอดภัยอาหารและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า โดยขั้นตอนในการส่งออกจิ้งหรีด ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

​ขั้นตอนที่ 1 ฟาร์มได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จากกรมปศุสัตว์ ตาม มกษ. 8202-2560 



       การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ขอบข่ายในจิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง และจิ้งหรีดทองแดงลายหรือสะดิ้งหรือจิ้งหรีดบ้าน ข้อกำหนด 5 ข้อ ประกอบด้วย 1) องค์ประกอบฟาร์ม ได้แก่ ที่ตั้ง ผังและลักษณะ และโรงเรือน 2) การจัดการฟาร์ม ได้แก่ คู่มือการปฏิบัติงาน การจัดการจิ้งหรีด การจัดการน้ำและอาหาร บุคลากร การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา 3) สุขภาพสัตว์ ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรค การบำบัดโรคมีการควบคุมการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม 4) สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ

สิ่งปฏิกูลและน้ำ และ 5) การบันทึกข้อมูล มีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี

​ขั้นตอนที่ 2 การขึ้นทะเบียนโรงงานเพื่อการส่งออก (EST.) กับกรมปศุสัตว์ในขอบข่ายแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลง ได้การรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) มีการแยกกระบวนการผลิตระหว่างส่วนดิบและส่วนสุกที่ชัดเจน และสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้า ขั้นตอนที่ 3 การขอใบรับรองสุขอนามัย HEALTH CERTIFICATE จากกรมปศุสัตว์ มีเอกสารครบถ้วนและผ่านการตรวจสอบจากสัตวแพทย์ประจำโรงงาน เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและมั่นใจในสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีคุณภาพมาตรฐานและสอดคล้องตามระเบียบและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า




​        ปัจจุบันสามารถส่งออกไปประเทศแม็กซิโก ในรูปแบบจิ้งหรีดผง จิ้งหรีดแปรรูป และจิ้งหรีดแช่แข็ง และประเทศอื่นๆ สำหรับการเปิดตลาดขยายการส่งออกไปกลุ่มสหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาด คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ภายในปลายปี 2564 นี้ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้เกษตรกรช่วยให้ฝ่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 รับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ในยุควิถีชีวิต New Normal โดยพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการผลิตและแปรรูปจิ้งหรีดให้มีคุณภาพมาตรฐานรองรับการขยายส่งออกตลาดโลกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...