นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เห็นชอบกำหนดให้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน (Good Agricultural Practices : GAP) เป็นมาตรฐานบังคับ โดยมีขอบข่ายการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 ระยะ ตามขนาดการเลี้ยงสุกร ดังนี้
1) สุกรขุน ตั้งแต่ 1,500 ตัวขึ้นไป หรือ สุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 90 วัน หลังประกาศราชกิจจาฯ
2) สุกรขุน ตั้งแต่ 500 – 1,499 ตัว หรือ สุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 - 119 ตัว ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 180 วัน หลังประกาศราชกิจจาฯ
โดยขั้นตอนต่อไปสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะมีการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกรฟาร์มสุกรที่อยู่ในเกณฑ์บังคับดังกล่าว และประชาชนทั่วไปโดยประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน และให้เวลาแจ้งความคิดเห็นคัดค้าน ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน จากนั้นนำผลการแสดงความคิดเห็นนั้นเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อประกอบการพิจารณามาตรฐานบังคับต่อไป ซึ่งหากเกษตรกรมีข้อคิดเห็นให้ติดตามข่าวและรีบแจ้งได้
ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรฟาร์มสุกรมาโดยลำดับ ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานเดียวที่ให้บริการรับรองมาตรฐานฟาร์มสุกร GAP โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2542 จนล่าสุดฉบับปรับปรุงปี 2558 ซึ่งเป็นฉบับก่อนมาตรฐานบังคับนี้ โดยมียอดการรับรอง GAP ทุกขนาดฟาร์ม ณ เมษายน 2564 รวมจำนวน 4,768 ฟาร์ม ซึ่งในจำนวนนี้มี 4,531 ฟาร์มที่จะเข้าเกณฑ์มาตรฐานบังคับ นับเป็นร้อยละ 61.9 จากจำนวนฟาร์มสุกรทั้งหมดที่จะต้องเข้าสู่มาตรฐานบังคับรวม 7,314 ฟาร์ม สำหรับมาตรฐานบังคับ หากฟาร์มสุกรที่ได้รับรอง GAP อยู่ก่อนแล้วจะไม่กระทบเพราะไม่ต่างจากเดิมมากนัก หากแต่อีก 2,783 ฟาร์มที่ยังไม่ได้รับการรับรอง GAP หากมีผลบังคับใช้จะเกิดปัญหาตามมาได้ เนื่องจากมีผลบังคับตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีสาระสำคัญที่ฟาร์มสุกรต้องทำตาม ดังนี้
1) ตามมาตราที่ 20 ต้องขอใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โดยเมื่อมีการประกาศบังคับใช้มาตรฐานในราชกิจจานุเบกษา และประกาศจาก มกอช. สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ มกอช. หรือหน่วยงานรัฐที่ มกอช. มอบหมายหรือผ่านทางระบบออนไลน์ที่ http://tas.acfs.go.th/nsw/ เมื่อบังคับใช้หากฝ่าฝืนไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท
2) ตามมาตราที่ 27 ต้องขอรับการตรวจสอบและได้ใบรับรองตามมาตรฐานบังคับสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งสามารถยื่นขอรับรอง GAP ได้ฟรีกับกรมปศุสัตว์ทันทีโดยไม่ต้องรอประกาศมาตรฐานฉบับใหม่ เมื่อมีการบังคับใช้หากฝ่าฝืนยังไม่ได้รับรอง GAP ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
กรมปศุสัตว์จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรฟาร์มสุกรที่มีสุกรขุนตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป หรือมีสุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไปได้เตรียมความพร้อมการเข้าสู่ GAP ไว้ ซึ่งสามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด หรือเขต โดยกรมปศุสัตว์ให้บริการฟรีตั้งแต่การอบรมให้ความรู้ GAP แก่เกษตรกร หรือการตรวจรับรอง GAP ให้แก่ฟาร์มท่านฟรี ซึ่งการทำตามหลักมาตรฐาน GAP 7 ข้อ คือ องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม การบันทึกข้อมูล ถือเป็นสิ่งที่ให้ผลดีในยุค New normal นี้ เพราะช่วยให้มีระบบการป้องกันโรคที่เข้มแข็งขึ้นรับมือกับภาวะโรคระบาดสำคัญๆ ที่อาจมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรคอหิวาห์แอฟริกันสุกร (ASF) ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อฟาร์มหากเกิดปัญหาขึ้น การจัดการที่ดีขึ้นของ GAP ยังช่วยแก้ปัญหาเข็มคงค้างหรือลดอัตราการเกิดฝีหนองลง รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การร้องเรียนจากชุมชน อีกทั้งการอยู่ในระบบ GAP ยังได้รับสิทธิพิเศษจากกรมปศุสัตว์ในการบริการเฝ้าระวังโรค การเคลื่อนย้ายสุกร การทำฟาร์มปลอดโรค FMD การลดค่าใช้จ่ายในการตรวจห้องแลป ทั้งยังยกระดับทางการตลาดในประเทศได้กับโครงการ “ปศุสัตว์ OK” หรือเนื้อสุกรอนามัย Q และการต่อยอดการส่งออกทั้งสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์สุกรไปยังต่างประเทศ การทำ GAP จึงเป็นผลดีต่อฟาร์มสุกรของท่านทั้งสิ้น เกษตรกรที่สนใจ ขอรับรอง GAP ได้ฟรีที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัดที่ตั้งฟาร์มของท่าน หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์เขตหรือสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3158
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น