นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงมีความรุนแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่New normal มีการใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้น (Work From Home) ทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกของการใช้ชีวิต เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวและเพื่อนแก้เหงาตามไปด้วย ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีการขยายเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงต้องการดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีที่สุดไม่ต่างไปจากตัวเอง โดยหันมาสนใจในอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น “รายงานตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกปี 2020-30: COVID- 19 ผลกระทบและการฟื้นตัวจาก ResearchAndMarkets.com คาดการณ์ว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะเติบโตจาก 74.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 75.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 1.3% และเติบโตต่อปีที่ 6% จากปี 2564 และแตะ 88.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566”
กรมปศุสัตว์โดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับดูแลกระบวนการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) เพื่อการส่งออก โดยครอบคลุมการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก (VCN.) ควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงงานให้มีระบบรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) การตรวจสอบกระบวนการผลิต และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (เมษายน 2564) มีจำนวนโรงงานที่ได้รับขึ้นทะเบียนเพื่อการรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกและมีการผลิตส่งออก รวมทั้งสิ้น 82 แห่ง โดยภาพรวมการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2563 มีปริมาณ 535,994,346.47 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 44,792.98 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คิดเป็น 22.21% (จากปี 2562 มีปริมาณ 465,717,695.49 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 36,650.74 ล้านบาท) ประเภทอาหารสัตว์ที่ส่งออกประกอบด้วย อาหารสัตว์เลี้ยง (Dog chews) อาหารเม็ดสำหรับสัตว์เลี้ยง (Dry pet food) อาหารกระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยง (Canned pet food) อาหารขบเคี้ยวและอาหารว่างสำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet treats) และอาหารเสริมอื่นๆ โดยพบว่าอาหารกลุ่มประเภทอาหารกระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าที่มูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 73% และประเทศคู่ค้าที่นำเข้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา (31%) และสหภาพยุโรป (25.38%) และประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ประเทศที่ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 5 อันดับแรกของโลก คือ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไทย และเนเธอร์แลนด์ สำหรับในปี 2564 นี้ อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงยังคงมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งออกเพียงแค่ช่วง 4 เดือนแรก มีปริมาณรวมแล้ว 240,440,070.10 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,736.72 ล้านบาท เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากประเทศไทย ประกอบกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ของคนทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตัว นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่ในปีนี้จะก้าวขึ้นสู่ Top 3 เป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ สวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น