วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

กรมปศุสัตว์ เตรียมจัดงานย้อนรำลึก 8 ทศวรรษ 80 ปี วิถีชาวปศุสัตว์สู่การพัฒนาประเทศ สืบสานงานตามพระราชปณิธานตามรอยพ่อของแผ่นดิน


 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานวันสถาปนากรมปศุสัตว์ครบรอบ 80 ปี โดยมีนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล นายสัตวแพทย์โสภัชย์  ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการแถลงข่าว ในวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ ลานน้ำพุ หน้าตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์



         นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์  แถลงว่า งานวันสถาปนากรมปศุสัตว์ ครบรอบ 80 ปี จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2565 ณ กรมปศุสัตว์ พญาไท โดยมีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ย้อนรำลึก 8 ทศวรรษ 80 ปี วิถีชาวปศุสัตว์สู่การพัฒนาประเทศ สืบสานงานตามพระราชปณิธานตามรอยพ่อของแผ่นดินรวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ พิธีไถ่ชีวิตโค กระบือจำนวนทั้งสิ้น 80 ตัว โดยนำไปมอบให้เกษตรกรในโครงการธนาคารโคกระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดําริ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโคจำนวน 30 ตัว จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโคจำนวน 30 ตัวและจังหวัดนครราชสีมา เป็นกระบือจำนวน 20 ตัว การมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ โดยการมอบโล่รางวัล "คนดีศรีปศุสัตว์ "  รางวัล " DLD Award " รางวัล " โครงการธนาคารโค - กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ" แก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ทั้งยังมีนิทรรศการ ภาพเก่าเล่าประวัติ เกี่ยวกับความเป็นมากรมปศุสัตว์ รวมทั้ง ผลงานที่โดดเด่นของกรมปศุสัตว์ในหลากหลายหัวข้อ เช่น ลดต้นทุนอาหารสัตว์ ทางรอดแก้วิกฤติวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพง ของสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ IFarmer  แอพพลิเคชั่นสำหรับการจัดการฟาร์มโคนม ของสำนักพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ การผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันโรคลัมปีสกิน ของสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ของกองควบคุมอาหารและยาสัตว์  การตรวจประเมินสถานประกอบการเพื่อการส่งออก (Human food และ Pet food) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19)  โดยการตรวจประเมินแบบระยะไกล (Remote audit)  ของสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์  



อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมเนื่องในโอกาสกรมปศุสัตว์ครบรอบ 80 ปีกรมปศุสัตว์ได้จัดกิจกรรม CSR ผ่านโครงการแบ่งปันความสุข แต่งเติมรอยยิ้ม คืนความดีสู่สังคม โดยนำเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นมอบแก่ มูลนิธิ สมาคมและสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน จำนวน 9 แห่ง รวมทั้งกิจกรรม CSR ผ่านโครงการ DLD Smart heart Pet  โดยนำอาหารสัตว์และสิ่งของจำเป็นไปมอบแก่สถานสงเคราะห์สัตว์ จำนวน 9 แห่ง นอกจากนี้ ในงานนี้มีการจำหน่ายสินค้าคุณภาพดีราคาถูกในราคา 80 บาท เช่น เนื้อหมู ราคากิโลกรัมละ 80 บาท  ไข่แผงละ 80 บาท  นมโหลละ 80 บาท ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านปศุสัตว์ ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ  จึงถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่สร้างความเข้มแข็งของภาคปศุสัตว์ไทย ซึ่งในปี 2565 กรมปศุสัตว์มีแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ อาทิ  ด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ด้านการป้องกันและควบคุมโรค ด้านการสร้างมาตรฐานการผลิตปศุสัตว์เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและเป็นไปตามมาตรฐานสากล  และนอกจากนี้  ยังมีการใช้ระบบการตลาดนำการผลิต การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้ง การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์สามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ  ซึ่งการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์นั้น เป็นการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

ปล่อย "กลไกตลาด" ทำงานเสรี ทางออกสินค้าปศุสัตว์ นักวิชาการแนะ ‘ไก่ ไข่ ปลา’ ทางเลือกผู้บริโภค


 ปล่อย "กลไกตลาด" ทำงานเสรี ทางออกสินค้าปศุสัตว์ นักวิชาการแนะ ‘ไก่ ไข่ ปลา’ ทางเลือกผู้บริโภค

โดย : กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์

    ภาวะราคาเนื้อหมูที่ปรับขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เกษตรกรต้องตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้งว่าเป็นต้นเหตุ ทั้งที่จริงๆแล้วคนเลี้ยงหมูต้องแบกภาระขาดทุน จากต้นทุนการผลิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 99 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 96-98 บาทต่อกิโลกรัม แต่เหตุไฉนเมื่อราคาหมูหน้าฟาร์มไปถึงผู้บริโภค กลับต้องซื้อเนื้อหมูราคาแพง 

    เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในห่วงโซ่การผลิตจนถึงการขายเนื้อหมูไปยังผู้บริโภค ทุกขั้นตอนมีต้นทุนทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มราคา 96-98 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะขายขาดที่หน้าฟาร์มได้กำไรหรือขาดทุนตามแต่จะตกลงกับพ่อคาจับหมูที่มารับซื้อ โดยส่วนนี้พ่อค้าจะทำการขนหมูเข้าโรงเชือดซึ่งมีค่าขนส่งและมีค่าน้ำหนักหมูที่หายไประหว่างขนส่ง (จากส่วนของมูล และปัสสาวะ) ต้นทุนส่วนนี้ประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อถึงโรงเชือด จะมีค่าจ้างเชือดและมีน้ำหนักสูญเสีย (เลือดและขน) กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นหมูซีกจะถูกขนส่งต่อไปที่แม่ค้ามีค่าขนส่งอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อรวมต้นทุนแม่ค้าและค่าบริหารจัดการ-วัสดุ-อุปกรณ์ในการขาย เช่น ค่าเช่าแผง ค่าลูกจ้าง ค่าน้ำแข็ง ประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับต้นทุนที่เขียงรวม 111-113 บาทต่อกิโลกรัม

    ทั้งนี้การคำนวณราคาเนื้อหมูโดยปกติจะใช้สูตร ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม คูณด้วย 2 เท่ากับราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงควรจะอยู่ที่ 192-196 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาแต่ละพื้นที่อาจจะสูงหรือต่ำกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด จากอัตราการบริโภคในพื้นที่นั้นๆ กับปริมาณผลผลิตหมูที่ออกสู่ตลาดว่าสอดคล้องกันหรือไม่ โดยการขึ้นหรือลงของราคา เป็นไปตามกลไกตลาดนั่นเอง

    มาถึงตรงนี้เราๆท่านๆคงเข้าใจที่มาที่ไปของราคาหมูหน้าเขียงแล้ว และต้องทำความเข้าใจว่าเหตุที่เกษตรกรจำเป็นต้องขายหมูราคานี้ก็เพราะต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงขึ้นไปอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งสาเหตุหลักๆเกิดจาก ปัญหาโรค ASF ที่พบเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และความวิตกของเกษตรกรที่มีต่อภาวะโรค จึงมีเกษตรกรเลิกเลี้ยงหมูไปมากกว่าครึ่ง ทำให้ปริมาณหมูหายไปจากระบบ จนถึงวันนี้การเลี้ยงหมูก็ยังไม่ได้กลับมาเต็มกำลังการผลิตของทั้งประเทศ ปัจจุบันปริมาณหมูลดลงไปมากกว่า 40-50% จากภาวะปกติ



    ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบสำรหับผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ต่างปรับราคาขึ้น สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบราคาเมื่อปี 2563 กับปัจจุบัน พบว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ราคาสูงขึ้นถึง 41% ขณะที่ข้าวสาลีนำเข้าราคาปรับไปถึง 76% กากถั่วเหลืองนำเข้าราคาสูงขึ้น 67% และปลาป่น ราคาเพิ่มขึ้นถึง 30% คิดเป็นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว 25-30% และยังมีต้นทุนค่าพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก ยังไม่นับผลกระทบภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม รวมถึงอัตราเสียหายในฟาร์มที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและหมูโตช้าต้องเลี้ยงนานขึ้น กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

    เกษตรกรขอให้ผู้บริโภคเข้าใจในภาระที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับ และขอให้ปล่อยกลไกตลาดทำงานต่อไป เพื่อให้ราคาหมูสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างที่แท้จริง หากราคาปรับขึ้น ตลาดจะปรับตัว การบริโภคจะลดลงจนกลับสู่สมดุลเอง วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ ที่สำคัญ กลไกตลาดทำงานที่ทำงานอย่างเสรี โดยไม่มีใครมาควบคุม คือ “สูตรสำเร็จ" ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าทุกประเภท 

    สำคัญที่สุด ผู้บริโภคคือหัวใจหลักของเรื่องนี้ เพราะวันนี้ราคาสินค้าทุกประเภทต่างปรับตัวขึ้นทั่วทั้งโลก จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและผลกระทบสงคราม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย และต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคยังมีทางเลือกอีกมากมายในการบริโภคเนื้อสัตว์ หรืออาหารโปรตีนต่างๆ ทั้งเนื้อไก่ ซึ่งถือเป็นอาหารในหมวดหมู่โปรตีน ที่นำมาใช้ทดแทนเนื้อหมูอยู่แล้ว รวมถึงไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลาหลากหลายชนิด หรือแม้แต่กุ้งและสัตว์น้ำต่างๆ ให้สามารถเลือกซื้อหามาบริโภคได้ ซึ่งถือเป็นการช่วยเกษตรกรทั้งผู้เลี้ยงหมูและเกษตรกรเลี้ยงสัตว์อื่นๆด้วย

    ในทางกลับกันเกษตรกรไม่มีทางเลือก เพราะเขายึดการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเดียวในการเลี้ยงตัวเอง ความเห็นใจ ความเข้าใจ และความช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรกำลังเรียกร้องจากทั้งผู้บริโภคและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำที่ให้ผู้บริโภคเลือกโปรตีนหลากหลายทดแทนกันนี้ ก็เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องและให้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้าเห็นว่าหมูแพงก็แค่เปลี่ยนไปบริโภคอย่างอื่นแทน เท่านี้ปริมาณหมูก็กลับสู่สมดุลการบริโภค ราคาก็จะปรับสู่ปกติได้อย่างแน่นอน


วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

ปลื้ม! APAC ให้การยอมรับความเท่าเทียมกันด้านการรับรองระบบงาน ขอบข่าย Product Certification และ Food Safety Management System ของ มกอช.



    นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body : AB) ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการจัดองค์การตามมาตรฐานสากล  ปัจจุบัน มกอช. ได้เปิดให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรอง (Certification Body : CB) และหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) ในขอบข่ายต่างๆ ได้แก่ การรับรองผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065  การรับรองระบบการจัดการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17021-1 การรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารตามมาตรฐาน ISO/TS 22003 และการรับรองระบบงานหน่วยตรวจตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลการรับรองระบบงานของ มกอช. ในขอบข่ายที่เปิดให้บริการ   มกอช. จึงได้ยื่นขอการยอมรับความเท่าเทียมด้านการรับรองระบบงานขอบข่ายการรับรองผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการบริการ (Certification - Product Process and Services) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065 และขอบข่ายการรับรองระบบการบริหารจัดการ ขอบข่ายย่อยการจัดการด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety Management System (ISO TS 22003/ISO 22000)) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17021-1 จากองค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Asia Pacific Accreditation Cooperation, APAC) เพื่อสร้างการยอมรับความเท่าเทียมด้านการรับรองระบบงานจากหน่วยงานในระดับสากล 



    มกอช. ได้รับการตรวจประเมินความสามารถจาก APAC ณ สถานประกอบการ (Witness Evaluation) เมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2564 และ 9-10 มิถุนายน 2564 และตรวจประเมินณ สำนักงาน (Office Evaluation) เมื่อวันที่ 21-25 มิถุนายน 2564 โดยวิธีการตรวจประเมินระยะไกล (Remote Evaluation) ซึ่งทีมตรวจประเมินของ APAC (APAC Peer Evaluator) ประกอบด้วย 1.Mr. Giang Minh Duc  หัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 2.Ms.Linda Peterson ผู้ตรวจประเมินจากประเทศมาเลเซีย 3.Mr.Abdel Kassou ผู้ตรวจประเมินจากประเทศแคนาดา



    ภายหลังจากการตรวจประเมินคณะผู้ตรวจประเมินของ APAC ได้เสนอผลการตรวจประเมินของมกอช. ให้คณะ ERP (Evaluation Review Panel ) พิจารณาให้การยอมรับ และได้เวียนให้ประเทศสมาชิก APAC ลงคะแนน (Vote ) เพื่อพิจารณาให้การยอมรับ มกอช. ซึ่งผลการพิจารณาและลงคะแนน พบว่าประเทศสมาชิกทุกประเทศ ที่ได้รับการยอมรับร่วมจาก APAC แล้ว ได้ลงคะแนนเพื่อให้การยอมรับ มกอช.  จึงทำให้ มกอช.ได้รับการปรับสถานะจากสมาชิกสมทบเป็นสมาชิกสมบูรณ์ (Full member) โดย Ms. Chang Kwei Fern ประธาน APAC ได้ลงนามในใบรับรองการยอมรับร่วม เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๕  โดยขอบข่ายและมาตรฐานที่ มกอช. ได้รับการยอมรับจาก APAC ได้แก่ ขอบข่ายการรับรองผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการบริการ (Certification- Product, Process and Services) มาตรฐาน ISO/IEC 17065 และขอบข่าย การรับรองระบบการบริหารจัดการ ขอบข่ายย่อยการจัดการด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety Management System (ISO TS 22003/ISO 22000)) มาตรฐาน ISO/IEC 17021-1 



    “ทั้งนี้ จากการได้รับการยอมรับจาก APAC ตามขอบข่ายและมาตรฐานดังกล่าว จะส่งผลให้ มกอช. ได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The International Accreditation Forum : IAF) ในฐานะสมาชิกสมบูรณ์ (Full member) ด้วย ซึ่งจะทำให้ มกอช. มีสิทธิ์เข้าร่วมกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองระบบงานที่กำหนดโดย IAF รวมทั้งสามารถเข้าร่วมประชุมในกิจกรรมต่างๆและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้อย่างเต็มที่  นอกจากนี้ผลจากการที่ มกอช. ได้รับการยอมรับร่วมจากองค์การสากลนี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศไทย และระดับสากล  อันเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ลดขั้นตอนการตรวจสอบซ้ำที่ประเทศปลายทาง ส่งผลให้เกิดความคล่องตัวทางการค้าของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว 




"ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์" ดัชนีชีวัด "ราคาสินค้าปศุสัตว์"


 "ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์" ดัชนีชีวัด "ราคาสินค้าปศุสัตว์"

เขียนโดย บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการอิสระ 

    สถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางปี 2563 เรื่อยมา จนกระทั่งวิกฤติปะทุหนักพร้อมเสียงปืนนัดแรกที่รัสเซียยิงตกในแผ่นดินยูเครน การสู่รบในครั้งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาธัญพืชทั่วโลกพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสองประเทศเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญของโลก 



    แม้ว่าไทยจะห่างไกลจากพื้นที่สงคราม แต่หางเลขก็ตกมาถึงเช่นกัน โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาปรับตัวอย่างไม่อาจคาดเดา ว่าจะสิ้นสุดที่จุดไหน วิเคราะห์ข้อมูลราคาวัตถุดิบ (แสดงในตาราง) เมื่อเทียบราคาปี 2563 กับปัจจุบัน จะเห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาสูงขึ้นถึง 41.48 % ส่วนธัญพืชนำเข้า อย่างข้าวสาลี ราคาพุ่งไปถึง 76.15% ส่วนกากถั่วเหลืองราคาเพิ่มขึ้น 67.66% ขณะที่ปลาป่นที่เป็นวัตถุดิบสำคัญอีกชนิด ราคาก็ขึ้นไปแล้วถึง 30.20% ทั้งหมดนี้คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว 25-30%



    สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับขึ้นไปขนาดนี้ นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกแล้ว ปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญคือ ปัญหาขาดแคลนผลผลิต จากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทยราว 8 ล้านตันต่อปี แต่มีผลผลิตในประเทศเพียง 5 ล้านตันต่อปี ขาดแคลนถึง 3 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 1.3-1.5 ตันนำเข้าจากประเทศอาเซียนภายใต้กรอบ AFTA (ภาษีเป็นศูนย์) ส่วนที่ยังขาดไปอีกครึ่งหนึ่ง ผู้ผลิตจำเป็นต้องหาวัตถุดิบทดแทน แต่กลับมีมาตรการของรัฐที่เป็นอุปสรรค ทั้งมาตรการ 3:1 ที่กำหนดให้ต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนได้ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 

    ขณะเดียวกัน รัฐมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพด ด้วยโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่มีมาตรการควบคุมราคาขั้นต่ำ (Floor Price) กิโลกรัมละ 8.50 บาท (ความชื้นไม่เกิน 14.5%) แต่รัฐกลับไม่ได้กำหนดเพดานราคา (Ceiling Price) เป็นที่มาของราคาข้าวโพดที่สูงเกือบ 13 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลก นอกจากนี้ การนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) มียังมีภาษีที่สูงมาก โดยการนำเข้าภายใต้โควตาเก็บภาษีนำเข้า 20% กรณีนำเข้านอกโควตาเก็บภาษีสูงถึง 70% ซึ่งแพงเกินกว่าจะนำเข้าได้ รวมทั้งรัฐยังมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% กลายเป็นต้นทุนการผลิตที่ผู้ผลิตต้องแบกรับมาตลอด



    เรื่องนี้ภาคผู้ผลิตได้ทำหนังสือแสดงถึงความเดือดร้อนถึงกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ วันที่ 19 มีนาคม 2564  จนเกิดความประชุมหลายครั้ง จนถึงการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และโรงงานอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้ยกเลิก มาตรการ 3 : 1 เป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิต และบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตของต้นน้ำ ที่เชื่อมโยงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กลางน้ำก็ตาม แต่การประชุมวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา กลับมีมติให้ยกเลิกมาตรการชั่วคราวดังกล่าว จนถึงวันนี้ก็ไร้บทสรุป และยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ต่ออย่างเป็นรูปธรรม พูดง่ายๆ “ยังไม่มีข้าวโพดแม้แต่เมล็ดเดียวที่นำเข้ามาได้” เป็น 13 เดือนที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

    ภาคผู้ผลิตและเกษตรกรกำลังรอคอยคำตอบจากภาครัฐ ว่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตและเกษตรกร ก่อนที่ราคาข้าวโพดจะขยับขึ้นไปสูงกว่านี้ เพราะต้องไม่ลืมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้ในสูตรอาหารสัตว์มากกว่า 50%  จึงถือเป็นตัวแปรสำคัญและเป็นตัวชี้วัดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลง หากราคาข้าวโพดฯ ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตในส่วนนี้ต่ำลง ทั้งหมดนี้ต้องรอให้รัฐลงมือปลดดล็อกปัญหา คลายมาตรการที่รัดตรึง รวมทั้งปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี เพื่อให้เกษตรกรหายใจหายคอสะดวกขึ้น เพราะคนสุดท้ายที่จะได้ประโยชน์นจากเรื่องนี้ ก็คือผู้บริโภคคนไทย


วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

ชาวสวนทุเรียนยิ้มออก แม็คโคร จับมือกระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงพาณิชย์ เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรจำหน่ายตรง ใน 135 สาขา ตั้งเป้ารับซื้อ 1,500,000 กิโลกรัม เพิ่มจากเดิม 5 เท่าตัว


 


บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยชาวสวนระบายผลผลิต รับวิกฤตทุเรียนล้นตลาด เปิดพื้นที่ให้ชาวสวนมาขายในสาขา ส่งตรงถึงมือลูกค้าทั้ง 135 สาขา พร้อมวางแผนเชิงรุกส่งเสริมการบริโภคต่อเนื่อง ตั้งเป้ารับซื้อ 1,500,000 กิโลกรัม มากกว่าปีที่แล้วเกือบ 5 เท่า 



นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่า ปีนี้ผลไม้ฤดูกาลมีแนวโน้มออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน โดยเฉพาะ ทุเรียน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง ทำให้ชาวสวนต้องเร่งระบายผลผลิต แม็คโคร จึงร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแนวทางเชิงรุกช่วยเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เข้ามาขายตรงถึงมือผู้บริโภคที่สาขาของแม็คโคร 135 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงจัดเทศกาลผลไม้ตามฤดูกาล รณรงค์ส่งเสริมการบริโภคอย่างต่อเนื่อง 




ปัญหาผลไม้ล้นตลาดยังเป็นประเด็นสำคัญที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญทุกปี โดยเฉพาะ ทุเรียน ที่ปีนี้มีผลผลิตออกมากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ชาวสวนระบายผลผลิตไม่ทันและอาจส่งผลให้ราคาตก แม็คโคร จึงได้วางแผนการรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยปีนี้คาดว่าจะรับซื้อทุเรียนประมาณ 1,500,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 5 เท่าตัว เป็นผลผลิตจากเกษตรกรกว่า 70 ราย ใน 11 จังหวัด โดยแม็คโครได้ส่งทีมจัดซื้อลงพื้นที่สวนทุเรียน เพื่อคัดเลือกทุเรียน สดใหม่ ให้ชาวสวนมาขายตรงกับลูกค้า โดยมีพื้นที่ในสาขาเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง ชาวสวนกับผู้บริโภค เพื่อเป็นการระบายผลผลิตและสร้างบรรยากาศให้เกิดความคึกคัก ด้วยการจัดเทศกาลผลไม้ตามฤดูกาล กระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง




โดยทุเรียน 5 สายพันธุ์หลักที่แม็คโครนำมาจำหน่าย ประกอบด้วย หมอนทอง ชะนี พวงมณี กระดุม ก้านยาว จากแหล่งผลิตคุณภาพในจังหวัด จันทบุรี ระยอง ตราด นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อุตรดิตถ์ ซึ่งทุเรียนพันธุ์ หมอนทอง ได้รับความนิยมสูงสุด มีสัดส่วนถึง 95% ของยอดขายทุเรียนทั้งหมด 

นอกจากทุเรียนแล้ว เรายังวางแผนรับซื้อผลไม้ฤดูกาลที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ลำไย ลองกอง มังคุด เงาะ โดยตั้งเป้าการรับซื้อผลไม้ฤดูกาลกว่า  8,000,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบเท่าตัว เพื่อช่วยชาวสวนระบายผลผลิตได้ทันท่วงที ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ไทยคุณภาพดีในราคาที่ย่อมเยานางศิริพร กล่าว



ทั้งนี้ แม็คโคร มุ่งมั่นดำเนินพันธกิจในการเคียงข้างเกษตรกรไทย พร้อมตอกย้ำการเป็นผู้นำอาหารสดมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย  สำหรับการเปิดพื้นที่ให้ชาวสวนนำทุเรียนมาจำหน่ายโดยตรงในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่ง ในการผนึกกำลังของธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565

เอสซีจี สยามคูโบต้า และคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ผนึกกำลังเปิดตัวบริษัทใหม่ “เกษตรอินโน”มุ่งสู่การเป็นผู้นำโซลูชั่นแพลตฟอร์มบริการด้านนวัตกรรมเกษตรครบวงจร


     เอสซีจี บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ผนึกกำลังก่อตั้ง บริษัท เกษตรอินโน จำกัด ภายใต้คอนเซ็ปต์ ออกแบบโลกเกษตร เพื่อทุกความเป็นไปได้ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรครบวงจร เดินหน้าการเป็น Smart Farming หวังยกระดับวิถีเกษตรของไทยให้ทัดเทียมกับวิถีเกษตรโลก ด้วยแพลตฟอร์มบริการด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรและสร้างโอกาสให้คนที่สนใจเข้าถึงโลกของการเกษตรได้ง่ายขึ้น มุ่งสู่การต่อยอดและสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้กับภาคการเกษตรของไทยในอนาคต พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน



    นางสาวนันทภรณ์ อังศุกุลธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงในภาคการเกษตรเพื่อตอบโจทย์เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยจุดแข็งของ 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ เอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเครื่องจักรกลและนวัตกรรมการเกษตรเพื่ออนาคต ตลอดจนเทคโนโลยี IoT ที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมไปถึงพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อตอบสนองรูปแบบชีวิตของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ เทรนด์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security รวมถึงสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะกลับภูมิลำเนาเพื่อมาทำการเกษตร และกลุ่มคนเมืองที่หันมาสนใจทำการเกษตรมากขึ้น จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ประกอบกับการส่งเสริมเรื่อง Smart Farming จะต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ จึงได้ผนึกกำลังเปิดตัว บริษัท เกษตรอินโน จำกัด ขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นคือ เอสซีจี 51 % สยามคูโบต้า 25 % และคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น 24 %



    สำหรับสินค้าและบริการของเกษตรอินโน จะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก คือ เกษตรอินโน โซลูชั่น (KasetInno Solutions) ประกอบด้วย Farm Design, Farm Development และ Farm Care บริการออกแบบ พัฒนา และดูแลฟาร์มเกษตรครบวงจร เพื่อช่วยวางแผนในการทำเกษตร ให้แก่กลุ่มคนที่สนใจการทำเกษตรแต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเริ่มต้น รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีพื้นที่ว่างเปล่าหรือกลุ่มองค์กรธุรกิจการเกษตรที่ต้องการองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้บริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกลุ่มเกษตรกรมืออาชีพที่มีพื้นที่ทำเกษตรเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องการระบบการจัดการรวมถึงเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ไปช่วยให้การทำเกษตรง่ายขึ้น และส่วนที่สอง คือ Farm & Machinery Management Platform ระบบบริหารจัดการฟาร์มและเครื่องจักร ด้วยแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มและเครื่องจักรกลฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ K-iField Application ระบบบริหารจัดการฟาร์ม บันทึกข้อมูลสำคัญของฟาร์ม การเพาะปลูก การจัดการรายได้ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างเกษตรกร และการประเมินสุขภาพพืช K-iQ Application ระบบบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร ตัวช่วยสำหรับธุรกิจรับจ้างที่ต้องการจัดคิวงาน และบริหารจัดการค่าใช้จ่าย                KIN RENT บริการเช่าใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำการเกษตรแต่ยังไม่พร้อมลงทุนเครื่องจักรฯ และ KIN MATCH บริการเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรพร้อมคนขับ เพื่อเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มและการใช้เครื่องจักรฯ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด



     นอกจากนี้ยังมี เกษตรอินโน มาร์เก็ต (KasetInno Market) แพลตฟอร์มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็น Highlight สำคัญหนึ่งของเกษตรอินโน โดยจะมี 2 ส่วน ประกอบด้วย แพลตฟอร์ม e-Commerce “เกษตรอินโน มาร์เก็ต” จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรในเครือข่าย ภายใต้ชื่อสินค้าแบรนด์เกษตรสุข (KasetSook) โดยเรามีความตั้งใจสนับสนุนเกษตรกรในการกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสแข่งขันมากขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรพรีเมียม นอกจากนี้ยังมีสินค้าแบรนด์อื่นๆ จากเกษตรกรในเครือข่าย และส่วนที่สอง คือ แพลตฟอร์ม KUBOTA Store จำหน่ายอะไหล่แท้คูโบต้าและอุปกรณ์การเกษตรอีกด้วย

    นางสาวนันทภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราให้ความสำคัญในเรื่องการบริการ และการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเกษตร เน้นวางแผน และนำเครื่องมือมาใช้ในการบริหารธุรกิจการเกษตรด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจการเกษตร โดยมีแผนการตลาดที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการให้บริการที่มีคุณค่าและเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างครบวงจร รวมถึงเน้นการสื่อสารออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ลูกค้าของ เกษตรอินโน (KasetInno) หรือ KIN จะไม่จำกัดแค่เพียงเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้คนทุกกลุ่มที่มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในโลกการเกษตร ขยายขีดความสามารถในการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Farming ภายใต้แนวคิดออกแบบโลกเกษตรเพื่อทุกความเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นรูปแบบของแพลตฟอร์มให้บริการด้านนวัตกรรมการเกษตร สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการเกษตรยุคใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาส และรายได้ที่มั่นคง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับเป้าหมายและแผนธุรกิจในอนาคตนั้น เราจะผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าในด้านการเกษตร ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ผลักดันให้เกษตรกรมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น ยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง”


 

เกษตรกร กระทุ้งรัฐเร่งกวาดล้าง ‘ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู’ บ่อนทำลายเกษตรกร-ผู้บริโภค-เศรษฐกิจชาติ


    นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันว่า จากปัญหา ASF โรคระบาดในสุกรที่พบในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังคงพบปัญหานี้บางพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต่างระมัดระวังและบริหารความเสี่ยงด้วยการหยุดเข้าเลี้ยงสุกรไปก่อน ส่วนในรายที่ยังคงเลี้ยงสุกรอยู่ต้องปรับวิธีการเลี้ยงและการจัดการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 300 บาทต่อตัว ซึ่งเกษตรกรยินดีแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในฝูงสัตว์ของตนเอง อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ายังคงมี “ขบวนการลักลอบ” นำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมายจากหลายประเทศ อาทิ เยอรมัน บราซิล แคนาดา อิตาลี เกาหลี เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น อาทิ เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเล นำมากระจายขายปะปนกับหมูไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดแถวนครปฐมและราชบุรี ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายเกษตรกรไทย ผู้บริโภค และเศรษฐกิจชาติ



     “ในขณะที่ทุกคนในวงการเลี้ยงหมูต่างพยายามป้องกันโรค ASF และพยายามผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด ซึ่งทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และทุกคนในแวดวงผู้เลี้ยงได้ช่วยกันในทุกด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรกลับเข้าสู่ระบบอย่างมั่นใจและรวดเร็ว แต่กลับมี “ไอ้โม่ง” ที่ทำมาหาทำกินบนความทุกข์ของคนเลี้ยงหมูและคนไทย ขบวนการนี้ใช้วิกฤติเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง โดยไม่สนใจว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้านั้น มีโรคหมูที่เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการเลี้ยงหมูของไทย และยังปนเปื้อนสารอันตรายอย่างเช่นสารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารต้องห้ามและผิดกฎหมายไทย ตามพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ และยังก่อผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ เกษตรกรจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เร่งสกัดกั้นและกวาดล้างขบวนการนี้ให้สิ้นซาก ถ้ายังปล่อยให้หมูเถื่อนลอยนวล คนเลี้ยงหมูก็ตายสนิท คนไทยก็ตายผ่อนส่ง เศรษฐกิจไทยย่ำแย่แน่นอน” นายสิทธิพันธ์ กล่าว 



    สำหรับสถานการณ์ราคาสุกร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ราคาสุกรยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 94-98 บาทต่อกิโลกรัม โดยการปรับราคาขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตและการบริโภคในแต่ละภูมิภาคเป็นตัวกำหนด ตามกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ และคงระดับราคาไว้ไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้ว่าจะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากการปรับปรุงระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรค ต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ค่าไฟ ค่าพลังงานโดยเฉพาะค่าน้ำมันที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคา 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ และยังมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำใช้ ที่เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำใช้แล้วจากผลกระทบของภัยแล้ง รวมถึงอากาศร้อนและแปรปรวนส่งผลต่ออัตราสูญเสียในฟาร์มเลี้ยงที่สูงขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนสูงถึงกว่า 98 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร


 

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

เกษตรกรพ้อ ต้นทุนเลี้ยงหมูสูงเป็นประวัติการณ์ ซ้ำต้องขายขาดทุน ชี้ร้อน-เลี้ยงนานขึ้น ทำผลผลิตออกตลาดน้อย

    นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 94 - 98 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าเกษตรกรยังคงแบกรับภาระขาดทุน แต่ผู้เลี้ยงยังยืนหยัดสู้เพื่อรักษาอาชีพเดียวนี้ไว้และประคับประคองการผลิตสุกรต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค ทั้งที่ในภาคการเลี้ยงต่างได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนการเลี้ยงที่สูงมาก จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2563 และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติสงครามในยูเครน ที่ผลักดันให้ธัญพืชอาหารสัตว์ทุกชนิดราคาเพิ่มขึ้น และกระทบกับปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย ทั้งยังมีปัญหาสภาพอากาศร้อนแล้งและอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อผลผลิต ทำให้มีอัตราเสียหายเพิ่มขึ้น สุกรโตช้า จำนวนสุกรจับออกน้อยลง ต้นทุนการเลี้ยงจึงสูงขึ้น และยังต้องซื้อน้ำสำหรับใช้ในฟาร์มในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย



    “ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดสดขณะนี้ประมาณ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ขายหน้าเขียง และผู้บริโภค ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภูมิภาคต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือกับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง จำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคา 154-155 บาทต่อกิโลกรัม เป็นทางเลือกและช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เกษตรกร และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ต่างร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ด้วยการซื้อข้าวโพดภายในประเทศ แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงทั่วโลก เกษตรกรก็ยังคงช่วยกันประคับประคองราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกินกิโลกรัมละ 100 บาท มาโดยตลอด หากเปรียบเทียบราคาหมูของไทยแล้ว ยังถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชาที่ราคาขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 100 กว่าบาทแล้ว ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริงจากปริมาณหมูที่ไม่เพียงพอกับการบริโภค” นายสุนทราภรณ์ กล่าว



    นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงจากปัญหาโรคระบาดเมื่อช่วงก่อนหน้า ผู้เลี้ยงที่มีระบบการป้องกันโรคที่ไม่ดีพอก็จะเสียหายมาก และกว่าจะกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ได้ต้องใช้เวลาอีก 6-12 เดือน รายที่ยังสามารถเลี้ยงต่อไปได้ ก็เพราะให้ความสำคัญกับการยกระดับด้านการป้องกันโรคและระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐาน ทั้งเกษตรกรรายเล็กและรายกลาง ที่ปรับสู่มาตรฐาน GFM รวมถึงผู้ประกอบการและบริษัทเอกชน ที่ใช้มาตรฐาน GAP ตามที่กรมปศุสัตว์ผลักดัน ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ยังคงมีกลุ่มผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงยังปรับตัวกับสถานการณ์ ด้วยการเลี้ยงสุกรใหญ่ขึ้น จากปกติสุกรขุนจับออกจำหน่ายที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เป็น 110-120 กิโลกรัม ทำให้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาก็ต้องจับออก ไม่มีการกักหมูไว้เพื่อเก็งกำไร เพราะนั่นคือต้นทุนการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขอให้ผู้บริโภคเข้าใจภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ ซึ่งการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยที่ 19 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือราว 1 กิโลกรัมกว่าๆต่อเดือนนั้น ทำให้ค่าครองชีพในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่บาท แต่กลับช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรได้มีแรงทำอาชีพนี้ต่อ ไม่ต้องเลิกเลี้ยงไปจนหมด ซึ่งจะกระทบกับความมั่นคงอาหารของประเทศอย่างแน่นอน


 

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

“FlexiFarm” ต้นแบบ “ฟาร์มสำเร็จ” กับโมเดลธุรกิจคอนเทนเนอร์ฟาร์ม นวัตกรรมการปลูกผักสด

    “FlexiFarm” (เฟล็กซี่ฟาร์ม) นวัตกรรมการปลูกผักในตู้คอนเทนเนอร์ ทางเลือกใหม่สุดสมาร์ทของการทำฟาร์มในไทย ต้นแบบฟาร์มเคลื่อนที่ได้ โยกย้ายสะดวก ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตคุ้มค่า สร้างโมเดลการบริหารจัดการธุรกิจแบบสำเร็จรูปที่ยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและอาหารการกินที่ดี ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพท่ามกลางสถานการณ์โลกในปัจจุบัน



    คุณยุทธพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ก่อตั้ง FlexiFarm กล่าวว่า “สถานการณ์ความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม สภาพเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ โรคระบาดและมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัย 4 โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ FlexiFarm จึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในยุคปัจจุบันให้ดีขึ้น ส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหาร รับมือกับผลกระทบและทลายข้อจำกัดต่างๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ สะดวกสบายและปลอดภัยได้ อีกทั้งยังเป็นโมเดลธุรกิจการปลูกผักที่ดีในอนาคต ภายใต้โซลูชั่น “คอนเทนเนอร์ฟาร์ม” ซึ่งเป็นการปลูกผักในตู้คอนเทนเนอร์ โดยคำว่า ‘Flexi’ ย่อมาจาก ‘Flexibility’ ที่สื่อถึงความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยน โยกย้าย เพื่อเข้าถึงทุกพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันโดยเฉพาะในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด แต่ในความกะทัดรัดและสะดวกสบายนั้น อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยซึ่งจะช่วยให้เจ้าของตู้สามารถบริหารจัดการระบบฟาร์มได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถได้ผลผลิตที่ดี ควบคุมได้ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอีกด้วย”         



    

    FlexiFarm มีแนวคิดและจุดเด่นสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต 5 ด้านหลัก ได้แก่ สร้างเสริมสุขภาพ (Better Health) ผักจาก FlexiFarm มีความสด สะอาดและปลอดภัย เนื่องจากเป็นการปลูกในระบบปิด ซึ่งเป็นการตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมและมลภาวะภายนอก อาทิ ฝุ่น ควัน และฝนกรด ปราศจากแมลงรบกวน จึงไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง ไร้พยาธิและเชื้อรา และด้วยการควบคุมกระบวนการปลูก ทั้งอุณหภูมิ น้ำ อากาศและแร่ธาตุตลอด 24 ชั่วโมง  ทำให้ผักเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ อีกทั้งยังมีรสชาติที่ดีอีกด้วย สร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร (Better Food Security) การปลูกผักในระบบปิดทำให้สามารถคำนวณปริมาณผลผลิตที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ได้ผักได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติภายนอกที่จะทำให้พืชผลเสียหายได้ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม และความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศ อีกทั้งช่วยลดโอกาสการเน่าเสียจากแบคทีเรียในกระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวได้ ทำให้ผักเก็บได้นานขึ้น มีผักไว้บริโภคในทุกสถานการณ์ตลอดทั้งปี สร้างเสริมสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (Better Work-life Balance) 




    การปลูกผักในคอนเทนเนอร์ฟาร์มของ FlexiFarm นอกจากจะได้ผลผลิตเป็นเสบียงที่เก็บได้ใกล้ตัวเพราะสามารถยกไปตั้งใจกลางเมืองหรือแหล่งชุมชนได้ ยังสามารถต่อยอดเป็นได้ทั้งงานอดิเรกที่สร้างสรรค์และทางเลือกสำหรับการทำธุรกิจที่ดี ด้วยธรรมชาติของผักซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง บวกกับโมเดลการบริหารจัดการที่ไม่ต้องอิงสภาพอากาศหรือปัจจัยภายนอกจึงทำให้ผู้ปลูกสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ได้ ลดปริมาณใช้น้ำ ประหยัดเวลาที่ใช้ล้างผัก ทั้งยังใช้สมาร์ทเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในการควบคุมดูแลได้จากทุกที่ทุกเวลา จึงเป็นลักษณะธุรกิจที่เอื้อต่อการจัดสรรเวลาให้สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต สร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี (Better Environment) ด้วยปริมาณการใช้น้ำที่น้อยกว่าการปลูกผักแบบดั้งเดิมถึง 95% และใช้พื้นที่น้อยกว่า สร้างเสริมการเชื่อมต่อกับชุมชน (Better Community) เกษตรกร FlexiFarm สามารถนำผลผลิตไปแจกจ่ายให้ชุมชนรอบข้างได้ หรือแม้กระทั่งต่อยอดให้เป็นวิสาหกิจชุมชน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่คนในชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ใช้เวลาอย่างมีประโยชน์ได้ร่วมกัน เป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกผักที่ดีให้กับลูกหลานในชุมชน รวมถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ได้



    ทั้งนี้ คอนเทนเนอร์ฟาร์มของ FlexiFarm ติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยและเชื่อมโยงระบบทั้งหมดเข้ากับสมาร์ทโฟน ทำให้เจ้าของตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นเกษตรกรยุคดิจิทัลที่สามารถควบคุมกระบวนการทุกอย่างได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส อาทิ สั่งเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติผ่านมือถือ ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ LED พัดลม แอร์, ตั้งเวลาเปิด-ปิดล่วงหน้า, ตรวจสอบและปรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แบบเรียลไทม์ ตลอดจนสั่งควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาวะของพืช นอกจากนี้ ตัวตู้ยังถูกออกแบบให้สามารถปลูกผักได้เต็มศักยภาพของพื้นที่ มีการจัดวางจำนวนชั้นปลูกที่เหมาะสมเพื่อผลผลิตที่มากที่สุดต่อ 1 ตู้ โดยตู้มีขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 2.8 เมตร สามารถติดตั้งได้แม้ในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดและหากต้องการผลผลิตที่มากขึ้น ก็สามารถซ้อนตู้กันได้โดยไม่ต้องใช้พื้นที่เพิ่ม



    “คอนเทนเนอร์ฟาร์มของ FlexiFarm สามารถเป็นแหล่งอาหารคุณภาพสูงให้กับทุกชุมชนได้ ไม่ว่าจะใจกลางเมืองหรือพื้นที่ใดๆ  ผักที่สดสะอาด ปลอดภัยและใกล้บ้าน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนได้อย่างแน่นอน นั่นคือจุดหมายสูงสุดของเรา” คุณยุทธพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

     รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FlexiFarm ได้ที่ https://flexifarmtech.com/ และhttps://www.facebook.com/flexifarmtech/ สนใจสั่งซื้อผักและคอนเทนเนอร์ฟาร์ม กรุณาติดต่อ : Line@FlexiFarm หรือ โทร. 080-9259620


 

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

ใกล้เข้ามากับงาน AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA 2022 ลงทะเบียนให้พร้อม แล้วเจอกันพฤษภาคมนี้


 

งาน AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA งานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งภูมิภาค จัดพร้อมกันกับงานงานแสดงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและนวัตกรรมด้านการปลูกพืชผัก ไม้ผล และดอกไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ภายในงานพบกับ 300 แบรนด์ชั้นนำทางด้านการเกษตร จาก 26 ประเทศทั่วโลก - ไฮไลท์ Smart Farming Pavilion โดยจะมีการสาธิตการบินโดรนเพื่อการเกษตรภายในบริเวณสถานที่จัดงาน - งานประชุมเชิงวิชาการที่ีเนื้อหาเข้มข้นสำหรับการปลูกข้าว - เสริมด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการเกษตรเยอรมันผู้สนับสนุนการจัดการประชุมเพื่อธุรกิจ ปิดท้ายด้วยพาวิลเลียนใหม่ Vertical Farming  การทำเกษตรแนวตั้ง และพาวิลเลียนกัญชาใน Cannabis Production

เนื่องจากมีการคลี่คลายมาตรการและข้อจำกัดต่างๆในการเดินทางระหว่างประเทศและภูมิภาคข้างเคียง ในเดือนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 จึงเป็นกำหนดการจัดงานที่เหมาะสมที่สุดของงาน AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA 2022 ที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ มุ่งเน้นการจัดงานภายใต้ธีมการจัดงาน เกษตรอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน (sustainability-led smart farming) ภายในงานประกอบด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรรุ่นใหม่ล่าสุดโดยผู้ประกอบการมากกว่า 300 แบรนด์ชั้นนำจาก 26 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังส่งต่อความรู้ และ เครือข่ายระดับมืออาชีพ ผ่านงานประชุมสัมมนา ในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การทำการเกษตรแนวตั้ง (vertical farming), การผลิตกัญชงกัญชา (cannabis cultivation) และ เกษตรอัจฉริยะ (smart farming)

ภายในโซน “Thailand Smart Farming Pavilion”  เป็นโซนใหม่ของงานในปีนี้ที่ริเริ่มโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (MOAC) จะมีการสาธิตการบินโดรนเพื่อการเกษตรเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำในการทำงานของเทคโนโลยีโดรน โดยงานนี้จะจัดขึ้นที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ รวมพื้นที่ในการจัดแสดงทั้งหมด 2 โถงนิทรรศการ พร้อมกับการจัดแสดง เครื่องจักรการเกษตรหลากหลายประเภท ที่คลอบคลุมทุกการใช้งาน

อุปกรณ์ในการทำการฟาร์มแบบอัจฉริยะที่จะจัดแสดงในงานแสดงสินค้านี้ อาทิ เทคโนโลยีโดรน เทคโนลียีดาวเทียม และระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและต่อยอดการเกษตรที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทางเราจึงตั้งตารอที่จะได้เห็นสินค้า เครื่องจักร และ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะจัดแสดงในงานนี้ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ภูมิภาคเอเชีย นับเป็นภูมิภาคกลยุทธ์ที่มีความสำคัญกับบริษัท Maschio Gaspardo เป็นอย่างมาก เรามีการลงทุนกับโรงงานผลิตถึง 2 แห่งทั้งในประเทศจีนและประเทศอินเดีย ทางบริษัทของเราจะร่วมจัดแสดงภายในงาน AGRITECHNICA ASIA ทั้งในฐานะพันธมิตรและผู้แสดงสินค้า ทั้งนี้เพราะงานแสดงสินค้า มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าที่หลากหลาย คลอบคลุมทุกความต้องการของทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย พวกเราตั้งตารอที่จะนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องปลูกพืชที่มีความแม่นยำสูง เครื่องกระจายปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายคุณ Diego Ranzato, Sales Area Manager บริษัท Maschio Gaspardo China

ไฮไลท์ของการประชุมและสัมมนาที่น่าสนใจ

 ะ งทั้งในประเทศจีน

-การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การดูแลพืชผลหลังการเก็บเกี่ยว การเกษตรอัจฉริยะเพื่อกระบวนการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน โดยการประชุมนี้จะมีการจัดบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ การลดคาร์บอนในกระบวนการการผลิตและแปรรูปข้าวจัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ International Rice Research Institute (IRRI) โดยจะมีการบรรยายเกี่ยวกับ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้น และ รณรงค์การผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตที่ยั่งยืนและทันสมัยในประเทศเวียดนาม



-การประชุมสุดยอดการค้าสำหรับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค (Asia-Pacific Trading Summit) กระทรวงอาหารและการเกษตรแห่ประเทศเยอรมัน (German Ministry for Food and Agriculture ,BMEL) ได้ทำการสนับสนุนการประชุมสุดยอดการค้าสำหรับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการส่งออก โดยการประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้สร้างเครือข่ายทางการค้ากับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผลิต และคู่ค้าในภูมิภาค โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตรและนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับข้อกำหนดของแต่ละภูมิภาคในปัจจุบันด้านเทคโนโลยี คุณภาพ และบริการหลังการขาย ซึ่งงานนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้สร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผลิต และคู่ค้า ในแต่ละภูมิภาค

-งานสัมมนาภาษาไทย ในหัวข้อเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และ กระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าว โดยงานสัมมนานี้มีการบรรยายเป็นภาษาไทย เกี่ยวกับ ผลกระทบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หลังสถานการณ์โควิด-19” จะพูดถึงโอกาสที่เกษตรกรไทยจะได้ทดลองการทำเกษตรแม่นยำ และ ได้รับความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยหลังผลกระทบของโรคระบาด อีกทั้ง สถาบันวิจัยพืชสวน The Horticulture Research Institute (HRI) ได้จัดงานร่วมกับ ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ที่จะนำเสนอข้อมูลเรื่องกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวและสมุนไพรอื่นๆ

เยี่ยมชมพาวิลเลียนนานาชาติ

ภายในงานจะมีการนำเสนอศูนย์รวมพาวิลเลียนจากนานาประเทศ ได้แต่ พาวิลเลียนจีน ฟินแลนด์ เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ มีการนำเสนอด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรในภูมิภาคเอเชีย



การมีส่วนร่วมในงานจัดแสดงสินค้าผ่านทางดัตช์พาวิลเลียน จะช่วยเปิดโอกาศให้บริษัทเข้าร่วมงานในระดับประเทศ ภายใต้คำว่า เนเธอร์แลนด์” “การทำฟาร์มแห่งอนาคตและ การแก้ปัญหาในระดับโลกซึ่งทางบริษัทของเรา มีความรู้และประสบการณ์มากมาย ในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ได้มาตรฐาน ในอนาคตการสร้างผลผลิตทางการเกษตรอย่างฉลาด ล้ำสมัย และยั่งยืน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า ซึ่งบริษัทของเรามั่นใจว่าเราสามารถร่วมมือกัน และบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ในวันข้างหน้า” Dr.Gijs Theunissen อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย

เชื่อมต่อผู้คนด้วยแฟลตฟอร์มออนไลน์ ผ่านการสตรีมมิ่งและการจับคู่ธุรกิจแบบไร้พรมแดน

สืบเนื่องจากความสำเร็จของงานประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA Regional Summit ซึ่งผสมผสานการประชุมทั้งแบบออนไลน์ และออนไซค์ โดยมีการให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆกว่า 90 หัวข้อ และมีผู้เข้าร่วมถึง 1000 คน ที่งานแสดงสินค้าจะมีการถ่ายทอดผ่านระบบไลฟ์สตรีม กิจกรรมต่างๆ การจับคู่ธุรกิจ และสร้างเครือข่ายออนไลน์ในบรรยากาศที่น่าดึงดูด

เปิดตัวโซนใหม่ การเกษตรแนวตั้ง (vertical farming) และ กระบวนการปลูกกัญชา/กัญชง

ในงานปีนี้ พบกับสองโซนใหม่ โดยในโซนแรก การเกษตรแนวตั้ง (vertical farming)” จัดโดย สมาคมเกษตรกรรมแนวตั้ง (AVF) และในโซนที่สองนำเสนอเกี่ยวกับ กระบวนการปลูกกัญชา/กัญชง



AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA จัดโดย DLG International GmbH และ VNU Asia Pacific โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมอย่างเป็นทางการ งานแสดงสินค้าทางการเกษตรครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute) สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ขอเชิญชวนเกษตรกรไทยและผู้ที่สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับบัตรเข้าร่วมฟรีได้ที่ https://online-register.org/ata/register/index.php?code=media214

สำหรับสื่อมวลชน และ การเข้าชมงานแบบกลุ่ม กรุณาติดต่อ คุณแสงทิพ เตชะปฏิภาณดี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค | อีเมล saengtip@vnuasiapacific.com รายละเอียดงานเพิ่มเติม www.agritechnica-asia.com และ www.horti-asia.com โทร. 02-1116611 (วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค)

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2565

พิธีเปิดยิ่งใหญ่! มหกรรมยางพารา 2564 ชู “นครศรีธรรมราช” เมืองหลวงยางพารา หนุนนวัตกรรมต่อยอด ยกระดับรายได้ชาวสวนยาง


    เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 9 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน พร้อมกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “นวัตกรรมยางพาราไทย กับเศรษฐกิจยุคใหม่” โดยมี นายไกรศร  วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนการจัดงาน เข้าร่วมพิธีเปิด



    นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของพี่น้องชาวสวนยาง แม้จะประสบวิกฤต แต่ด้วยแนวนโยบายและความสามารถในการบริหารงานของ กยท. ทำให้สามารถรักษาระดับเสถียรภาพของยางพาราให้มีราคาดีที่สุดในรอบหลายปี และยังคงยืนราคาตรงนี้ได้ อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การทำงานขององค์กรต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากเอกชน ผู้ประกอบการ และพี่น้องชาวสวนยาง ทั้งหมดเพื่อให้ชาวสวนยางได้ราคายางที่พึงพอใจและอยู่ได้

    นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า แต่จริงๆ แล้ว ก็ยังไม่พอใจเท่าใด เพราะต้องการให้ราคายางสูงกว่านี้ เนื่องจากคุณค่าและมูลค่ายางพาราของไทยสูงกว่านี้ ยางพารามีประโยชน์สารพัดอย่าง เพราะฉะนั้น วันนี้สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถรักษาเสถียรภาพ และทำให้ยางพารามีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ อันดับแรก คือ พี่น้องเกษตรกร ที่ต้องดูแลรักษาคุณภาพของน้ำยาง กยท. เป็นพี่เลี้ยงและดูแลการบริหารในภาพรวมเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นที่พี่น้องเกษตรกร 



     “การที่เราจะเพิ่มมูลค่ายางพารา ต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการแปรรูป ต้องเป็นความร่วมมือของ กยท. ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ที่ต้องจับมือกัน ผมพูดตลอดเวลาว่า อยากเห็นพี่น้องผู้ประกอบการรวยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เพราะถ้าท่านรวย พี่น้องชาวสวนยางของผมต้องได้รับด้วย ท่านรวยคนเดียวอยู่ไม่ได้ ดังนั้น วันนี้นโยบายของเรา คือ การผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ส่วนต่างๆ มาเพิ่มมูลค่ายางพารา”

    รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า อยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก มั่นใจว่าเรามีศักยภาพ ยางพาราของไทยมีคุณภาพที่สุดในโลก ตราบใดที่ตนยังเป็นรัฐมนตรี ต้องผลักดันให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงยางพาราให้ได้ ไม่ใช่แค่คนนครศรีธรรมราชได้ แต่ทุกจังหวัดที่ปลูกยางจะได้รับตรงนี้หมด จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น และผลทั้งหมดจะตกกับเกษตรกรชาวสวนยาง ถ้าทำอย่างนั้นได้ ยางพารา 1 กิโลกรัม เกิน 100 บาทแน่นอน ตนในฝ่ายการเมืองก็กำกับดูแลผลักดันเต็มที่ ส่วน กยท. ก็กำหนดแนวทาง ทุกฝ่ายต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้เงินในกระเป๋าพี่น้องชาวสวนยางเพิ่มขึ้น 

    รมว.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า กยท. ยังต้องดูเรื่องสวัสดิการให้ชาวสวนยาง พี่น้องชาวสวนยางหลายคนอาจไม่ทราบว่า กยท. มีประกันต่างๆ จึงอยากให้ประชาสัมพันธ์ และอยากให้บอร์ด กยท. ลองดูว่า มีอะไรที่ช่วยเหลือเพิ่มได้อีก เพราะขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากพี่น้องชาวสวนยางมีขวัญและกำลังใจ ก็จะมีกำลังใจในการทำงาน ผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพ และจะเปลี่ยนแปลงวงการยางได้ 

“เราเริ่มเห็นสิ่งนี้แล้ว และจะเริ่มเดินไปข้างหน้า เราเดินมาถูกต้องแล้ว จากนี้ต้องทำให้มูลค่าของยาง ผลิตผลของยางมีราคาสูงขึ้น เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงของพี่น้องทั้งหมด เราอาจสะดุดนิดหน่อยจากสถานการณ์โลก และภาวะโควิด แต่ผมเชื่อมั่นว่า เราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

    “หลายคนถามว่า ผมเป็นรัฐมนตรี กล้าพูดว่าเอื้อผู้ประกอบการหรือ ผมเรียนว่า ถ้าเราบริสุทธิ์ใจและทำให้พี่น้องมีรายได้มากขึ้น ผมก็ทำ นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอดในฐานะรัฐมนตรี และจะพาอุตสาหกรรมยางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ผมยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ก็จะรักษาราคายางให้มีเสถียรภาพที่สุด ขอให้มั่นใจ เชื่อใจ ในการทำงานเป็นทีม ทั้ง กยท. และข้าราชการเกษตรทุกกลุ่ม ทุกกรม” 

    นายไกรศร กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด ทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวกรวดเร็ว นครศรีธรรมราชจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภาคใต้ ทั้งทางบก ทางอากาศ และรถไฟ ส่วนรายได้ส่วนใหญ่ของ จ.นครศรีธรรมราช ด้านการเกษตรมาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่า 47,263 ล้านบาท รองลงมา คือ ด้านการค้าและการลงทุน มูลค่า 20,997 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 18,790 ล้านบาท ด้านการศึกษา มูลค่า 14,778 ล้านบาท 

    ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าวต่อไปว่า ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของ จ.นครศรีธรรมราช ร้อยละ 12 ของประชากรเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง มีพื้นที่ปลูกยางพารา 1,888,000 ไร่ ให้ผลผลิต 4 แสนตันต่อปี และเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา โดยเฉพาะโรงงานที่จดทะเบียนด้วยทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 5 โรงงาน นับว่าภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเจริญเติบโต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดให้แข็งแกร่ง

     “ผมและชาว จ.นครศรีธรรมราช หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานครั้งนี้จะทำให้จังหวัดได้รับโอกาสในการพัฒนา ตลอดจนผลักดันนโยบาย และได้รับการสนับสนุนโครงการสำคัญ ที่จะส่งผลให้ชาวนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการยางพารา ได้รับประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” 



    ด้านนายณกรณ์ กล่าวว่า กยท. เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินของกองทุนพัฒนายางพารา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยจัดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับยางพารา ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ

    การที่ กยท. จะก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำระดับสากลในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ตั้งไว้ ต้องมีการบูรณาการจากหลายภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการยาง ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทของประชาชนคนไทยทุกคน ที่ต้องร่วมกันสนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทย

     “ด้วยเหตุนี้ กยท. จึงจัดงานมหกรรมยางพารา 2564 ‘นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา’ ขึ้น มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ มาตรฐาน การวิจัย และแนวคิดการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความหลากหลายในการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมไทย และเพื่อเป็นเวทีเจรจาธุรกิจ แสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพารา” 

    ผู้ว่าการ กยท. กล่าวด้วยว่า กยท. ขอขอบคุณหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ทำให้การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นและยิ่งใหญ่ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และหวังว่างานนี้จะสร้างคุณประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางพารา และอุตสาหกรรมยางพาราของไทยได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้


สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...