นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่รับสั่งให้กรมประมงฟื้นฟู และอนุรักษ์พันธุ์ปลาไทยหายากไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ กรมประมงจึงเริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากกว่าพันล้านตัว
“ปลากระทิงไฟ” เป็นปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง พบได้ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางและภาคใต้ และได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามทั่วโลก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ปลากระทิงไฟมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ปริมาณปลากระทิงไฟในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว กรมประมงจึงได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ภายใต้โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่นหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย เพื่อคงความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ ตลอดจน เพาะขยายพันธุ์และอนุบาลลูกพันธุ์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงประกอบอาชีพ พร้อมส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงปลากระทิงไฟเป็นปลาสวยงามเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวเสริมในรายละเอียดว่า ปลากระทิงไฟ (Fire spiny eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mastacembelus erythrotaenia มีลักษณะรูปร่างคล้ายงูหรือปลาไหล ลำตัวเรียวยาว แบน มีความยาวประมาณ 15 – 90 เซนติเมตร ส่วนหัวยาวแหลม ตามีขนาดเล็ก มีจะงอยปากล่างยื่นยาวกว่าจะงอยปากบน ลำตัวสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำและมีเส้นหรือจุดสีแดงเรียงตลอดความยาวลำตัว ครีบมีสีแดงสดเชื่อมติดกันเป็นครีบเดียว ขอบครีบเป็นกระดูกแหลมแข็งใช้สำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหลังส่วนหน้ามีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อยขนาดเล็ก ปลายหางโค้งมน มีนิสัยก้าวร้าวหวงถิ่น อาศัยอยู่ตามไม้น้ำ lซอกหินหรือซากปรักหักพังใต้น้ำ มักอยู่รวมกันเป็นฝูง และออกหากินในเวลากลางคืน อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก
เมื่อปี 2561 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี ได้รวบรวมพันธุ์ปลากระทิงไฟจากแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม และราชบุรี นำมาเลี้ยงขุนเป็นพ่อแม่พันธุ์ จากนั้น ทำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เพศพร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่มาเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนกระตุ้น โดยแม่พันธุ์ปลาจะฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกันครั้งละ 24 ชั่วโมง ส่วนพ่อพันธุ์ปลาฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 1 เข็ม พร้อมกับแม่พันธุ์ปลาเข็มที่ 2 โดยหลังจากฉีดฮอร์โมนประมาณ 48 ชั่วโมง จะสามารถรีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่ปลากระทิงไฟที่มีลักษณะเป็นไข่จมติด มีสีส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 2.7 มิลลิเมตร ประมาณ 1,450 - 2,500 ฟอง หลังจากนั้น รีดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์เพื่อนำมาผสมกับไข่แล้วนำไปฟักในน้ำที่อุณหภูมิ 27 - 28 องศาเซลเซียส ใช้เวลาฟัก 56 - 57 ชั่วโมงจะได้ลูกปลาแรกฟักที่มีความยาวประมาณ 6 - 7 มิลลิเมตร เมื่อลูกปลาอายุ 9 วัน ถุงไข่แดงยุบสามารถเริ่มให้ไรแดงร่อนเอาขนาดเล็กเป็นอาหาร และให้ไรแดงได้เมื่อลูกปลาอายุ 11 วัน หลังจากนั้น เมื่อลูกปลาอายุ 15 – 40 วัน สามารถพิจารณาให้ไรแดง ไรน้ำนางฟ้า หรือกุ้งฝอยขนาดเล็ก โดยพิจารณาตามขนาดของปากลูกปลาได้ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี มีการขับเคลื่อนการดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตลูกปลาที่มีความแข็งแรง และมีอัตรารอดสูงได้ประมาณ 1,500 ตัว ในปี 2563 และ 3,000 ตัว ในปี 2564 นอกจากนี้ ทางศูนย์ ฯ ยังได้มีการนำลูกปลากระทิงไฟขนาด 5 – 7 เซนติเมตรที่ได้จากการเพาะพันธุ์ชุดแรก จำนวน 1,000 ตัว ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่เขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นครั้งแรก ร่วมกับคนในชุมชนบริเวณรอบเขื่อน เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ คืนความหลากหลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ ตลอดจน สร้างการรับรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 2 เมษายน 2565 นี้ กรมประมงจะมีการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ขนาด 5 เซนติเมตร จำนวน 900 ตัว และปลาไทย 9 ชนิด จำนวน 590,000 ตัว เพื่อปล่อยเป็นพระราชกุศล พร้อมด้วยหนังสือ “กระทิงไฟ...ฟื้นฟูปลาไทย น้อมสืบสานพระราชเสาวนีย์ พระพันปีหลวง” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นถึงประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดของไทย ให้เป็นแหล่งโปรตีนอาหารชั้นดี สร้างรายได้ สร้างอาชีพ นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แห่งทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำของไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น