วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชี้สมาชิกเป็นเจ้าของสหกรณ์ แนะใช้ประโยชน์จากรายงานการสอบบัญชี ร่วมสร้างสหกรณ์ให้เข้มแข็ง


นางสาวอรุณี วงศ์ราเชน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเงินสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า สมาชิกสหกรณ์ทุกคน ถือเป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ โดยเฉพาะมีความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสมาชิก ซึ่งเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเอง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการตรวจสอบบัญชีและแสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและผู้ใช้งบการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมากยิ่งขึ้น งบการเงินก็เปรียบเสมือนใบรายงานผลสุขภาพทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รายการและตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงิน ซึ่งประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสดหรืองบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ จะชี้ให้ผู้ใช้งบการเงินทราบในเบื้องต้นว่า สหกรณ์มีฐานะการเงินอย่างไร ผลการดำเนินงานในรอบปีของสหกรณ์เป็นอย่างไร  มีกำไรหรือขาดทุน กระแสเงินสดที่ใช้หมุนเวียนในรอบปีมีสภาพคล่องเพียงไร และที่สำคัญคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่อยู่ในส่วนท้ายของงบการเงิน ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยนโยบายการบัญชีที่สำคัญ และรายละเอียดประกอบรายการต่าง ๆ ที่ปรากฏในงบการเงิน

               ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเงินสหกรณ์ กล่าวอีกว่า งบการเงินที่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจัดทำให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบนั้น จะตรวจสอบตามหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสมว่า สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้ปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์อย่างถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญหรือไม่ และแสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์ หลังจากนั้นผู้สอบบัญชีจะส่งรายงานการสอบบัญชีให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำเสนอไว้ในรายงานกิจการประจำปี ประกอบด้วยรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานผลการตรวจสอบบัญชีประจำปี เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบและทำความเข้าใจ ดังนั้น สิ่งแรกที่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรต้องให้ความสำคัญคือ รายงานของผู้สอบบัญชี ที่ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สอบบัญชี จะแสดงความเห็นต่องบการเงินแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งแปลว่า สหกรณ์มีการดำเนินการที่ถูกต้อง เรียบร้อย แต่ในบางสหกรณ์ผู้สอบบัญชีอาจเพิ่มวรรคเน้นให้ผู้ใช้งบการเงินได้ทราบว่าสหกรณ์ได้มีการดำเนินการบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสหกรณ์ควรแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไข สมาชิกต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจว่าสิ่งใดที่ผู้สอบบัญชีได้ระบุเป็นเงื่อนไขไว้ในรายงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นความเสี่ยง ที่สหกรณ์ต้องเพิ่มความระวังและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง และหากสมาชิกมีข้อสงสัย ก็สามารถซักถามผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบบัญชี จะเป็นการสรุปข้อสังเกตและวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้

๑.) ข้อสังเกตที่ตรวจพบจากการตรวจสอบเกี่ยวกับจุดอ่อนของการควบคุมภายใน ผู้สอบบัญชีจะแจ้งให้สหกรณ์ทราบว่าจากการตรวจสอบบัญชี ยังมีจุดใดบ้างที่สหกรณ์ควรควบคุมดูแลให้ถูกต้องและเหมาะสม และกำหนดมาตรการในการป้องกัน ป้องปราม หรือแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป ข้อสังเกตที่ผู้สอบบัญชีตรวจพบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง เงินสดขาดบัญชี สินค้าขาดบัญชี การไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสหกรณ์ ทั้งด้านสินเชื่อ เงินรับฝาก การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การจัดทำบัญชีและงบการเงินไม่เรียบร้อย ไม่ครบถ้วน และการไม่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูล 

๒.) ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน ผู้สอบบัญชีจะวิเคราะห์ข้อมูลใน ๖ มิติ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้

                  ด้านความเพียงพอของเงินทุน เป็นการบอกให้ทราบถึงโครงสร้างเงินทุนที่สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรได้มาเพื่อใช้ในการดำเนินงานว่า ได้มาจากทุนของตัวเองหรือจากหนี้สิน (ส่วนใหญ่จะเป็นเงินรับฝากและเงินกู้ยืม) เงินทุนเหล่านี้ถ้ามีความเพียงพอและเข้มแข็ง ก็อาจนำไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวได้ อัตราส่วนสำคัญที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์ ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน อัตราทุนสำรองต่อสินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน หรือ ROE สิ่งที่สหกรณ์ต้องพึงระวังคือ การได้มาและการใช้ไปของเงินทุนควรมีความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาและจำนวนเงิน มิฉะนั้นอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ เช่น สหกรณ์ได้เงินทุนมาจากการก่อหนี้โดยการกู้ยืมระยะสั้นแต่ได้นำเงินไปใช้ลงทุนในระยะยาว ซึ่งอาจทำให้สหกรณ์มีเงินไม่เพียงพอ เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายชำระคืนเจ้าหนี้

              ด้านคุณภาพของสินทรัพย์  เป็นการวิเคราะห์ว่าสหกรณ์ได้นำเงินทุนที่ได้มาไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือผลตอบแทนในสินทรัพย์ใดบ้าง เช่น ให้สมาชิกหรือสหกรณ์กู้ ลงทุนในหลักทรัพย์ ฝากที่สหกรณ์อื่น สินค้าหรือลงทุนในครุภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร รถยนต์ หรืออุปกรณ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและให้บริการสมาชิกได้อย่างรวดเร็ว อัตราส่วนสำคัญที่นำมาวิเคราะห์ เช่น อัตราหมุนของสินทรัพย์  อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA  อัตราหนี้ค้างชำระ ดังนั้น หากสินทรัพย์ที่สหกรณ์นำไปลงทุนมีปัญหา เช่น ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา ถอนเงินฝากสหกรณ์อื่นไม่ได้  สถาบันการเงินที่นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์มีปัญหา มีสินค้าคงเหลือมาก หรือใช้ครุภัณฑ์ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ต่อการลงทุน ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนและผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

                ด้านความสามารถในการบริหารธุรกิจและความสามารถในการทำกำไร  เป็นการวิเคราะห์ว่าในรอบปีบัญชีสหกรณ์มีมูลค่าการดำเนินธุรกิจอย่างไร มีการเติบโตเพิ่มขึ้น หรือถดถอยจากปีก่อนเพียงใด ซึ่งจะสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของสหกรณ์ว่าธุรกิจใดบ้างที่ทำแล้วมีกำไร หรือ ขาดทุน  หรือมีกำไรแต่ลดลงจากปีก่อน  สาเหตุเกิดจากอะไร รายได้ลดลง ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากรายการใด เพื่อสหกรณ์จะได้ควบคุมให้เหมาะสมต่อไป อัตราส่วนที่สำคัญ เช่น อัตรากำไรสุทธิ อัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เป็นต้น

              ด้านสภาพคล่อง เป็นการวิเคราะห์ว่าสหกรณ์มีสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นเหมาะสมเพียงใด                โดยเปรียบเทียบสินทรัพย์ระยะสั้นกับหนี้สินระยะสั้นของสหกรณ์ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด สินทรัพย์ระยะสั้นของสหกรณ์มีเพียงพอต่อการชำระคืนเจ้าหนี้ระยะสั้นหรือไม่ ซึ่งจะสัมพันธ์กับคุณภาพของสินทรัพย์ด้วย เพราะถ้าสินทรัพย์ระยะสั้นของสหกรณ์ไม่มีปัญหาใด ก็จะมีความคล่องตัวที่จะแปรสภาพเป็นเงินสดได้ง่าย อัตราส่วนที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนทุนหมุนเวียน อัตราหมุนของสินค้า อัตราหมุนของลูกหนี้การค้า อัตราลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด เป็นต้น

          ผลกระทบของธุรกิจสหกรณ์ เป็นปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของสหกรณ์ อาทิ กฎ ระเบียบ เทคโนโลยี ภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเมือง นโยบายรัฐบาล ความเชื่อมั่น ศรัทธาในระบบสหกรณ์ ปัจจัยเหล่านี้สหกรณ์ควรนำพิจารณาประกอบการบริหารจัดการและการดำเนินงานของสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง

        “กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นเพียงผู้อยู่เบื้องหลังการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 12.8 ล้านคน มูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น 3.56 ล้านล้านบาท  แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหน้าการดูแลรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่แท้จริงก็คือสมาชิกทุกคน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความตอนหนึ่งว่า “...ช่วยกันสร้าง  ทำให้สหกรณ์แข็งแรง  มีความก้าวหน้า เมื่อสหกรณ์ก้าวหน้า แข็งแรง แต่ละคนที่เป็นสมาชิก ก็มีความสุข  มีความภูมิใจได้ว่า สร้างตัวเองขึ้นมา...สมาชิกแต่ละคนจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างและดูแลรักษาสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรของท่านให้เข้มแข็ง และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”  

 

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กรมประมงสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำ แก่ สปป.ลาว


   

           วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เวลา 11.00 น. นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมกับ นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์  ได้มีการประชุมร่วมทางโทรศัพท์กับ ดร.กาวิพอน พุดทะวง รองอธิบดีกรมเลี้ยงสัตว์และประมง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ในการสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจในมาตรการของไทย โดย ประเทศไทยได้มุ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยในสินค้าประมงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมาโดยตลอดมีการเข้มงวดมาตรการในการควบคุมและการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำก่อนถึงมือผู้บริโภคเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุดสำหรับสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงจะต้องมีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีหรือ GAP ของกรมประมงส่วนที่มาจากการทำประมงต้องผ่านการประเมินสุขอนามัยบนเรือประมง อีกทั้งยังมีการส่งตรวจสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่วางจำหน่ายในท้องตลาด  เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทยที่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว




กรมประมงสร้างความเชื่อมั่นสินค้าสัตว์น้ำไทย ออกมาตรการเฉพาะกิจเสริมความมั่นใจตัดวงจรแพร่ระบาด COVID – 19 พร้อมคุมเข้มตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค


 

วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่เพื่อมอบหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19 ) สำหรับ Modern Trade ของกรมประมงให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่1) ของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19 ) สำหรับ Modern Trade ของกรมประมงภายในพิธีเปิด โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2563 /64” โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นประธานในพิธีฯ



                    นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีที่ประชาชนกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่จนกระทบต่อความเชื่อมั่นต่ออาหารทะเลไทย ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรชาวประมงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดห่วงโซ่การผลิต อย่างไรก็ตามถึงแม้กรมประมงได้มีการออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการว่าสัตว์น้ำสามารถรับประทานได้เนื่องจากไม่ใช่พาหะในการแพร่กระจายโรค รวมถึงได้มีการบังคับใช้ข้อกำหนดมาตรฐานด้านการแพร่ระบาดของโรคและสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขในทุกกระบวนการการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการขนส่งจากแหล่งเลี้ยง แหล่งจับ แหล่งกระจายสินค้า จนกระทั่งการเข้าสู่ระบบจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างๆ แต่ประชาชนต่างก็ยังมีความกังวลในเรื่องความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างกระบวนการขนส่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการบริโภคสัตว์น้ำให้แก่พี่น้องประชาชน กรมประมงจึงได้มีการออกกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID – 19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยมาตรการเฉพาะกิจดังกล่าวมีผลบังคับใช้กลุ่มผู้ประกอบการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง  5 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการกระบวนการผลิต (ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง/เรือประมง) 2) ผู้ประกอบการกระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์น้ำ 3.) ผู้ประกอบการสะพานปลา 4) ผู้ประกอบการร้านค้า Modern trade และ 5) ผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการทั่วไปที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข และมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจที่กรมประมงกำหนด จะได้รับหนังสือรับรองการปฏิบัติที่ดีในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากกรมประมง



สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกที่ยื่นความประสงค์ขอเข้ารับการตรวจประเมิน โดยกรมประมงได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่จากกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เข้าตรวจประเมินสถานที่การบริหารจัดการสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าตามมาตรการเฉพาะกิจฯ ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 โดยผลการตรวจพบว่าทางบริษัทฯ มีมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID – 19 ในสถานที่วางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ มีการควบคุมแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ชัดเจน โดยผู้ขายส่งส่วนใหญ่มาจากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับทางกรมประมง และมีการสุ่มตรวจเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในสัตว์น้ำจากผู้ขายส่ง มีมาตรการการควบคุมการปนเปื้อนจากพาหนะขนส่ง มีการบริหารจัดการการวางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำจัดแยกตามชนิด  การล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่ที่จำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ฯลฯ กรมประมงจึงเห็นควรมอบใบรับรองฯ ให้กับทางบริษัท            สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ได้




อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยในทุกด้านและขอให้ทุกท่านให้โอกาสพี่น้องเกษตรกรชาวประมงร่วมกันซื้อสินค้าสัตว์น้ำไปบริโภค และขอย้ำว่าสัตว์น้ำไทยโดยเฉพาะกุ้งทะเลสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าสัตว์น้ำจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสโควิดแต่อย่างไรก็ตามทุกครั้งก่อนนำมาบริโภคขอให้ล้างน้ำให้สะอาดและปรุงให้สุกอยู่เสมอ

สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์ขอรับการตรวจประเมินสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมประมง โทร. 0 2562 0600 หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ทั่วประเทศ

กตส.ออกมาตรการป้องกันโควิด 19 ย้ำบุคลากรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หากเกิดสภาวะวิกฤต

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ หรือที่เรียกว่า เป็นการระบาดระลอกใหม่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดของโรค และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอย่างเป็นวงกว้าง โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ติดตามรายงานสถานการณ์รายวันและประกาศ หรือคำแนะนำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรค และได้ออกประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) อย่างเคร่งครัด รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรคในบุคลากรกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Anywhere) พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต



            อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและความปลอดภัยของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนและความแออัดในการเดินทาง จึงกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Anywhere) เพื่อเตรียมความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ อาทิ มอบหมายให้ผู้บริหารพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ปฏิบัติงานตามปกติ หรือปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง  (Work from Anywhere) ตามความเหมาะสม โดยหากเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ในส่วนกลาง ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด สำหรับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1-0 และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด โดยมีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น กำกับและดูแลการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชา มอบหมายงานซึ่งเป็นงานประจำ หรืองานอื่น (เพื่อการพัฒนางาน) หรือ E-learning/ การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง เพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง และกำหนดช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและคล่องตัว



       สำหรับการให้บริการหน่วยงานและประชาชนที่มาติดต่อราชการ สามารถติดต่อศูนย์บริการประชาชนของ               กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ที่ Call Center โทร 0 2016 8888 โทรสาร 0 2282 0889 และ Email: cad@cad.go.th เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ที่ Call Center โทร 0 2281 0694 โทรสาร 0 2282 2848 และ Email: techplan@cad.go.th นอกจากนี้ ได้ดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยใช้เครื่องพ่นยาความดันสูง ฉีดฆ่าเชื้อบริเวณภายในอาคารสำนักงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกอาคาร และจัดตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของเจ้าหน้าที่ และผู้มาติดต่อภายในอาคารสำนักงานกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ติดตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือและอ่างล้างมือ ในทุกอาคาร กำหนดให้เจ้าหน้าที่บุคลากรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) อย่างเคร่งครัด และติดตามรายงานสถานการณ์รายวันและประกาศ หรือคำแนะนำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรค

 

CPF ร่วมกับมูลนิธิ LPN ส่งอาหารจากใจ ช่วยแรงงานต่างด้าวในสมุทรสาคร ต้านวิกฤติ COVID-19


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย มอบให้มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network : LPN) ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” เพื่อนำไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานต่างด้าวและประชาชนที่ต้องกักตัวในหอพักที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้บริโภคอาหารปลอดภัยอย่างเพียงพอ และร่วมสนับสนุนจังหวัดสมุทรสาครกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว 



พิธีมอบผลิตภัณฑ์อาหารและไข่ไก่ จัดขึ้นที่สำนักงานมูลนิธิ LPN ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร 30,800 แพ็ค และไข่ไก่สด 10,000 ฟอง โดยมีนายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ LPN เป็นผู้รับมอบจาก นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนายศรกฤษณ์ วัตตศิริ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ด้านบริหารงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ

นายสมพงค์ กล่าวว่า อาหารที่ได้รับการสนับสนุนจาก ซีพีเอฟ เป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่สำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแรงงานที่ต้องกักตัวและประชาชนที่อยู่ในบริเวณตลาดกลางกุ้ง มหาชัย รวมทั้งผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการประมาณ 4,000 คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตประจำวันจากการหยุดงานเป็นระยะยาว และไม่สามารถออกจากพื้นที่ควบคุมได้จนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างเพียงพอ ในช่วงเวลาที่พื้นที่ดังกล่าวถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ตามมาตรการของจังหวัดสมุทรสาคร 

การร่วมสนับสนุนของ ซีพีเอฟ ครั้งนี้ แสดงถึงความเอื้ออาทรของคนไทยที่มีต่อแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคมได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม นอกจากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศแล้ว ยังตอกย้ำการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทุกครั้งที่เกิดวิกฤตินายสมพงค์กล่าว 

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักในการทำหน้าที่พลเมืองดีของสังคม (Good Corporate Citizen) และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยของบริษัทฯ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดขยายวงกว้างขึ้น ซีพีเอฟ ถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบต่อสังคมในการมีส่วนร่วม เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้อย่างเพียงพอ



ก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟ ได้ส่งมอบอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ จำนวน 55,000 แพ็ค เพื่อสนับสนุนการทำงานและเป็นกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย  ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการทำหน้าที่รักษาและป้องกันการระบาด

ซีพีเอฟ ใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของการเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำ ส่งมอบอาหารคุณภาพดีให้กับคนไทย และพี่น้องแรงงานทุกคนทั้งในยามปกติและทุกสถานการณ์วิกฤต ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราเชื่อว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและการร่วมแรงร่วมใจกันของคนไทย จะช่วยให้ประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโรคและผ่านวิกฤตได้อย่างรวดเร็วนายประสิทธิ์ กล่าว 

ซีพีเอฟ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19  ด้วยความเคร่งครัด ตลอดจนเข้มงวดกับมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของการผลิตอาหารในทุกขั้นตอน เพื่อให้พนักงานทุกเชื้อชาติได้ทำงานในสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนในประเทศไทยได้บริโภคอาหารคุณภาพ มีโภชนาการอย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน 

สวนสุนันทา RIDC โพล เผยคนไทยส่วนใหญ่พอใจผลงานรัฐบาล ปลื้ม“โครงการคนละครึ่ง-ประกันราคาพืชผลการเกษตร”มากที่สุด


 

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หรือ RIDC โพล เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อผลงานของรัฐบาล ประจําปี พ.ศ. 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การถดถอยของ เศรษฐกิจ และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จํานวนท้ังสิ้น 4,121 ตัวอย่าง ระหว่าง วันที่ 21 – 25 ธันวาคม 2563 พบว่า ประชาชนร้อยละ 62.11% พอใจภาพรวมผลงานและการทํางานของรัฐบาล



ส่วนกระทรวงที่ประชาชนพอใจกับผลงานและการทำงานมากที่สุดได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 65.62%  กระทรวงพาณิชย์ 65.51% และกระทรวงสาธารณสุข 64.20% กระทรวงแรงงาน 62.98% และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 60.01%



ขณะเดียวกันผลงานของรัฐบาลที่ท่านชื่นชอบหรือรับรู้มากที่สุดได้แก่โครงการ คนละครึ่ง” 36.55% โครงการประกันราคาพืชผลการเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร 35.13% โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 34.67%  โครงการ เราเที่ยวด้วยกัน” 34.11% โครงการแก้ไขปัญหาโรคระบาดสุกรและโรคระบาดพืช 33.95%  การแก้ไขปัญหา COVID – 19 28.17% โครงการ ช็อปดีมีคืน” 22.35%  โครงการตลาดออนไลน์เพื่อการเกษตร 12.27%  โครงการ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่” 11.78%  และโครงการสินเชื่อ Soft Loan และลดภาระสินเชื่อ 11.40% .

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

แม็คโคร ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน ฉะเชิงเทรา ปรุงดิน บำรุงผักปลอดภัย ใต้รอยยิ้มจากรายได้มั่นคง

ผัก ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่เราใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น แตงกวา ผักบุ้ง ผักกาด กระเพรา หรือแม้กระทั่งพริกขี้หนูสวน สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ไม่น้อย หากเกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายที่แน่นอน โดยยังคงรักษาคุณภาพของผลผลิตได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย เช่นเดียวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผัก ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีสมาชิกจำนวน 31 ราย ชีวิตพวกเขาพลิกผัน หลังส่งผลผลิตผักสารพัดชนิด ไปจำหน่ายยังแม็คโคร สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 40-50%!

ปรุงดิน บำรุงผักปลอดภัย หลักคิดใหญ่ชาวท่ากระดาน

นายดวงจันทร์ ชาบรรทม อายุ 49 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน เล่าว่า เดิมทีเกษตรกรในกลุ่มปลูกผักจำหน่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีเกษตรกรอยู่ในกลุ่ม 31 ครัวเรือน พื้นที่รวมกันประมาณ 140 ไร่ ปลูกพืชผักกว่า 60 ชนิด อาทิ แตงล้าน แตงกวา พริก มะเขือ บวบงู บวบเหลี่ยม และผักพื้นบ้าน อย่าง ดอกมะรุม ผักแขยง ชยา ผักปรัง แต่มาประสบปัญหาในการเพาะปลูก



เมื่อการเพาะปลูกประสบปัญหาก็ส่งผลต่อผลผลิต ทางกลุ่มจึงได้ระดมความคิด ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงสภาพดิน และการบำรุงพืชผัก เน้นให้มีคุณภาพและความปลอดภัย แต่ก็ยังพบปัญหาด้านการตลาดอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากต้องส่งผลผลิตไปจำหน่ายโดยผ่านคนกลาง ทำให้พวกเราเกษตรกรไม่ได้รับรายได้อย่างที่ต้องการ” 

แม็คโคร เสริมแกร่งช่องทางจำหน่าย  

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน เกิดขึ้นจากการทำงานประสานระหว่าง แม็คโครและกรมส่งเสริมการเกษตร  โดยแม็คโครเข้าไปดูศักยภาพที่มีอยู่ของเกษตรกร พร้อมแนะนำข้อมูล การบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการส่งผลผลิตเข้ามาจำหน่าย อาทิ การบริหารจัดการการเพาะปลูก การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด การบรรจุ-ขนส่ง  ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักท่ากระดาน ให้ความสนใจในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการส่งสินค้าเข้ามาขายที่แม็คโครกันมาก ทำให้สามารถส่งผลผลิตได้ตามมาตรฐานและปริมาณที่แม็คโครต้องการ



เมื่อเกษตรกรทำได้ นั่นหมายความว่า ทั้ง 31 ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ มีความมั่นคงในเรื่องรายได้มากขึ้น! ช่วงแรกที่เกษตรกรกลุ่มนี้ส่งผลผลิตให้แม็คโคร เริ่มที่ประมาณ 1 ตันต่อเที่ยว โดยส่งวันเว้นวัน หรือเดือนละ 15 ตัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ทุกวันนี้ชาวท่ากระดานสามารถส่งผักมาจำหน่ายได้มากขึ้นเท่าตัว หรือ 2 ตันต่อเที่ยว หรือราว 30 ตันต่อเดือน เมื่อส่งผักตรงกับเราโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรกลุ่มนี้จึงมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนางศิริพรกล่าว

รายได้สร้างรอยยิ้ม   

นายดวงจันทร์ กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า เมื่อเราไม่ต้องส่งผักผ่านพ่อค้าคนกลาง  แต่ส่งตรงมาขายให้กับแม็คโครเลย ก็ทำให้พวกเราได้เงินจากการขายผักอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีรายได้เพิ่มขึ้น 40-50%  นอกจากนี้ แม็คโครยังได้เข้ามาช่วยให้ความรู้ในการสร้างมาตรฐานต่างๆ  ทั้งการทำความสะอาดผักก่อนส่งจำหน่าย การรักษาคุณภาพ การทำแพ็คแกจจิ้งแบบเล็กๆ สำหรับจำหน่ายให้ครัวเรือน



สิ่งที่น่าสนใจของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้คือ ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตกลงกันเลือกใช้วัสดุธรรมชาติเป็นบรรจุภัณฑ์ และช่วยกันคนละไม้ละมือในการบรรจุผักสดคุณภาพ ในกาบกล้วย หรือใบตอง โดยใส่ใจทุกรายละเอียด เพื่อให้ผู้บริโภคประทับใจผักชุมชนนานาชนิดของพวกเขา  

นางศิริพร กล่าวอีกว่า แม็คโคร พร้อมเคียงข้างเกษตรกรไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้พวกเขามีศักยภาพในการเพาะปลูก และส่งผลผลิตคุณภาพเข้ามาจำหน่ายตามที่ตลาดต้องการ โดยสิ่งที่เราเน้นย้ำกับเกษตรกรที่ส่งผลผลิตให้กับเราก็คือ ความสม่ำเสมอในการรักษาคุณภาพ ความเข้มงวดในการรักษามาตรฐานความปลอดภัย การส่งผลผลิตในปริมาณที่แน่นอน ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทยได้รับประทานผักสด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย  ช่วยสนับสนุนผลผลิตเกษตรกรไทย สอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตของภาครัฐที่ได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่ง




ทุกวันนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่ากระดานมีรายได้จากการจำหน่ายผักหลัก และผักพื้นบ้าน ให้กับแม็คโคร โดยผลผลิตของชาวบ้านกลุ่มนี้ แม็คโครนำส่งที่ศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อยและมหาชัย เพื่อกระจายไปยังสาขาต่างๆ ขณะเดียวกันเกษตรกรส่งตรงให้กับ 5 สาขา ที่กรุงเทพฯ สองสาขาคือ สาทร ศรีนครินทร์  สาขาฉะเชิงเทรา สาขาสระแก้ว และสาขากบินทร์บุรี 

ลูกค้าแม็คโครเห็นผักของชาวบ้านกลุ่มนี้ก็สนใจมาก  ทั้งรูปแบบการบรรจุสินค้าจากวัสดุธรรมชาติ  ชนิดของผักที่หาไม่ค่อยได้ซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ ดอกมะรุม ผักแขยง  แม็คโครเองก็ดีใจที่สามารถทำให้เกษตรกรไทยได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำธุรกิจเกษตร สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืนนางศิริพร กล่าว ทิ้งท้าย

 

กรมประมง ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบ คุมเข้มกุ้งไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง


 

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบ ตั้งแต่การเลี้ยง กระทั่งการแปรรูปเพื่อส่งออก หนุนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทย พร้อมยืนหยัดและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก


 

            ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กุ้งทะเลถือเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกและนำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่าปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลเพื่อให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ในปัจจุบันต่างหันมาใส่ใจต่อความปลอดภัยทางด้านอาหารมากยิ่งขึ้น




สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตกุ้งทะเลในจังหวัดสงขลาครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก  โดยในระดับฟาร์มเลี้ยงได้ทำการตรวจฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี หรือ GAP  ซึ่งพบว่าเกษตรกรได้ดูแลและบริหารจัดการฟาร์มตามหลักการต่าง ๆ ของ GAP อย่างเข้มงวด  อาทิ ด้านสถานที่ การเลี้ยง การให้อาหารและปัจจัยการผลิต การจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ รวมถึงสุขอนามัยฟาร์ม  เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งในฟาร์มเลี้ยงและร้านค้า  ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกรมประมงที่มีการควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ยารวมทั้งสารเคมีในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งทะเลอย่างสม่ำเสมอ  ทั้งนี้ จึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตกุ้งทะเลจากมาตรฐาน GAP  มีคุณภาพ ถูกหลักสุขอนามัย ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 



            และในโอกาสนี้  ยังได้เยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นโรงงานที่กรมประมงเคยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพร้อมแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตสินค้าให้ปลอดภัยอย่างเข้มงวด และในครั้งนี้ทางกรมประมงได้เดินทางมาทานสอบการดำเนินการซ้ำอีกครั้ง โดยผลปรากฏว่าทางโรงงานฯ มีการดำเนินการตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด และได้เข้มงวดในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาตรฐานของวัตถุดิบที่รับเข้ามาแปรรูป การขนส่ง  การนำวัตถุเข้าโรงงาน  ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพกุ้ง ความสด สะอาด  รวมถึงขั้นตอนในการควบคุมกระบวนการแปรรูป ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออก  ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าจนกระทั่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะส่งออกอีกทั้งยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางเคมีและจุลชีวะของโรงงานด้วย  นอกจากนี้ โรงงาน ยังได้เพิ่มเติมมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) สำหรับการคัดกรองบุคลากรก่อนเข้า - ออกโรงงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมประมงและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้   

            อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ดำเนินการสุ่มตัวอย่างสินค้าสัตว์น้ำที่จะส่งออกจากโรงงานแปรรูปเพื่อทวนสอบระบบการควบคุมการผลิต และติดตามคุณภาพสินค้า โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้า ณ โรงงานผลิต เพื่อตรวจวิเคราะห์ คุณภาพทางจุลินทรีย์เคมีและกายภาพ และเมื่อสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามข้อกำหนดก็จะออกใบรับรองสุขอนามัยสินค้าสัตว์น้ำ (Health Certificate) เพื่อให้สินค้าสามารถส่งออกได้ต่อไป

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า  จากการตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทยมีความพร้อมและศักยภาพที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งต่อไป  ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต  ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

บรรจุภัณฑ์ “Clay From Home” คณะอุตสาหกรรมเกษตร มก. คว้ารางวัลการออกแบบนานาชาติที่ญี่ปุ่น (Good Design Award 2020 : G Mark)


 

                บรรจุภัณฑ์ “Clay From Home” (เคลย์ฟรอมโฮม) ผลงานของ อาจารย์เจนณัช สดไสย์ นักออกแบบด้านบรรจุภัณฑ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Good Design Award 2020 : G Mark) ในหมวดการออกแบบผลิตภัณฑ์ Garden tools จากสถาบันส่งเสริมการออกแบบประเทศญี่ปุ่น (Japan Institute of Design Promotion : JDP) เพื่อยกย่องการออกแบบที่ดีและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 4,700 ผลงาน จากทั่วโลก และมอบรางวัลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น



          อาจารย์เจนณัช สดไสย์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นรางวัลการันตีด้านการออกแบบที่ดีจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และในอนาคตก็จะพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยการนำทรัพยากรที่มีในประเทศไทยมาทดลองสร้างสรรค์ เป็นแนวทางออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

          Clay from Home เป็นภาชนะบรรจุที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงล็อคดาวน์จาก Covid-19 โดยใช้วัสดุเป็นดินท้องถิ่นบริเวณบ้าน และใช้การเผาแบบ Pit Firing จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ ใบกล้วยแห้ง แกลบ ฟางข้าว และเปลือกหอย โดยคุณสมบัติของวัสดุจะช่วยสร้างลวดลาย สีสัน และพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกันในแต่ละชิ้นงาน สามารถนำภาชนะดังกล่าว ไปใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ อาทิ ปลูกไม้ประดับ ใส่อุปกรณ์เครื่องเขียน วางประดับบนโต๊ะทำงาน วางตกแต่งตามมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน เป็นต้น



          ที่ผ่านมา ผลงาน Clay from Home เคยได้รับรางวัลระดับชาติจากการประกวด Demark Design Excellence Award 2020 (DEmark 2020) ประเภท กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative items /Household items) จากกรมส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับตราสัญลักษณ์ DEmark เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ เพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยไปสู่ระดับนานาชาติ

          อาจารย์เจนณัช กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2019 เคยได้รับรางวัล DEmark จากผลงาน “Bio Bua” (ไบโอบัว) นับเป็น 2 ปีติดต่อกันที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ Good Design Award เป็นรางวัลการันตีด้านการออกแบบที่ดีจากประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นด้วยการออกแบบ เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสและรับรู้ถึงคุณค่าของ การออกแบบที่ดีโดยชื่อที่รู้จักกันในวงการออกแบบ คือ รางวัล "G Mark" เป็นรางวัลสำหรับสิ่งต่าง ๆ มากมายที่อยู่รอบตัวเรา เช่น สินค้าอุตสาหกรรม สถาปัตยกรรม ซอฟต์แวร์ ระบบการบริการ และอื่น ๆ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นของที่จับต้องได้หรือไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล จะสามารถใช้สัญลักษณ์ของ Good Design Award หรือ G Mark เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารในการเชื่อมต่อการออกแบบกับสังคม สัญลักษณ์ G Mark ได้ถูกออกแบบขึ้นในปี พ.ศ. 2500 โดย Yusaku Kamekura ซึ่งเป็นนักออกแบบกราฟิกชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น

แม็คโคร ผนึก กรมประมง หนุนอาหารทะเลปลอดภัย ปรุงสุก-ทานได้ เข้มตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิตและจำหน่าย


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ย้ำผู้นำอาหารสดปลอดภัย เดินหน้าให้ความร่วมมือ กรมประมง ผลักดันอาหารทะเลปลอดภัย ป้องกันโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ร่วมหารือแนวทางเฝ้าระวังขั้นสูงสุดในการคัดเลือกสินค้าและควบคุมคุณภาพ ตลอดห่วงโซ่การผลิตและจำหน่าย พร้อมรณรงค์บริโภคแบบปรุงสุกเพื่อสุขอนามัย โดย นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร, นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ ให้การต้อนรับ  นางสาวสุวิมล กีรติวิรยาภรณ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง และคณะ ในการตรวจเยี่ยมแม็คโคร สาขานครอินทร์ 



แฟนคลับ “นมวัวแดง” เตรียมเฮได้ช๊อปใกล้บ้าน อ.ส.ค.เข็นนมวัวแดงยกโหลขายใน7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศดีเดย์ 24 ธ.ค.นี้


             อ.ส.ค.สบช่วงวิกฤติโควิด-19 รุกหนักเจาะตลาดค้าปลีกเอาใจคนรักสุขภาพจับมือซีพี ออลล์ฯขายนมไทย-เดนมาร์คใน7-Eleven ทุกสาขา นำผลิตภัณฑ์นมยูเอชที3รสชาติ จำหน่ายแบบยกโหลเป็นครั้งแรก หลังเข็นนมเปรี้ยวพาสเจอร์ไรส์ 2 รสชิมรางตลาดกระแสตอบรับดีเกินขาด พร้อมอัดโปรโมชั่นตอบแทนลูกค้ารับปีใหม่ ซื้อ1แถม1ระหว่างวันที่ 25 -31 ธค. 63 ผ่านช่องทางออนไลน์ร้าน lazada และก็ร้าน shopee  



นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นการบริโภคนมของคนไทยมากขึ้นรวมทั้งเร่งขยายช่องทางตลาดผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค สู่ร้านค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คมากยิ่งขึ้น ในวันที่ 24 ธันวาคม 63 นี้ อ.ส.ค.ได้ตกลงร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า7-Elevenในประเทศไทยในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คที่ร้าน7-Eleven แบบยกโหลเป็นครั้งแรกในที่7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยเป็นผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที. 3 รสคือ รสจืด รสหวานและรสช็อคโกแลต โดยรสจืดจำหน่ายในราคาโหลละ 129 บาท รสช็อคโกแลตในราคาโหลละ 145 บาทและรสหวานในราคาโหลละ 145 บาท โดยวันที่ 19 ธันวาคม 63 ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ส่งผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวพาสเจอร์ไรส์ตราไทย-เดนมาร์คชิมลางใน ร้าน7-Eleven 2 รสชาติคือรสสตอเบอรี่และรสเลมอน ขนาด 180 มิลลิลิตร ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีมาก 


จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อ.ส.ค.เชื่อมั่นว่าการรุกขยายตลาดร้านค้าปลีกครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในปลายปีนี้และในปี 2564 เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากวิเคราะห์แล้วว่าผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและการเลือกจับจ่ายสินค้าที่สะดวกใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและการพบปะผู้คนในแหล่งชุมชนที่มีคนจำนวนมากนายสุชาติ กล่าว  



นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า นอกจากความเคลื่อนไหวทางการตลาดดังกล่าวแล้วอ.ส.ค. ยังมีแผนที่จะเจาะขยายช่องทางตลาดให้กว้างขวางและครอบคลุมผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับอ.ส.ค.และรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนสามารถซื้อผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คเป็นของขวัญหรือของกำนัลในช่วงปีใหม่ได้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงสุขภาพมีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นแล้วยังสร้างภูมิป้องกันในร่างกายได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากมีจำหน่ายใน 7-Eleven แบบยกโหลได้แล้ว ตอนนี้ยังมีได้จัดกิจกรรมโปรโมชั่นส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที.ในราคาซื้อ 1แถม1 ระหว่างวันที่ 25 -31 ธค. 63 นี้ผ่านช่องทางออนไลน์ร้าน lazada และก็ร้าน shopee อีกด้วย” นายสุชาติ กล่าว

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...