วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

สสท. แถลง ผลการดำเนินงาน 4 ปี ภายใต้การกรอบส่งเสริมพัฒนา สหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ


   
  สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าว ผลการดำเนินงานคณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 25 รอบ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) ณ ศูนย์การแสดงสินค้าสหกรณ์ไทย ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ       



    นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) เปิดเผย ต่อสื่อมวลชน  ว่า คณะกรรมการดำเนินการฯ สสท. ชุดที่ 25 บริหารงาน มาครบระยะเวลา 4 ปี โดยมุ่งเน้น พัฒนาส่งเสริมสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคมจนสำเร็จเป็นรูปธรรม อาทิ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น โดยให้การ ฝึกอบรมภายใต้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 คณะกรรมการฯชุดนี้ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การฝึกอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้สหกรณ์ยังคงได้รับความรู้อย่างทั่วถึง โดยในปีงบประมาณ 2565  จัดโครงการฝึกอบรมไปแล้วทั้งสิ้น  19 หลักสูตร รวม 53โครงการ มีสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ เข้าร่วมอบรมจำนวน 2,521 สหกรณ์ มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 4,241 คน คิดเป็น 153.66 %  ระยะเวลา 4 ปี มีผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น  12,605 คน รวมถึงเร่งจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านวิชาการและเชื่อมโยงกระจายสินค้า ปัจจุบัน มีสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดที่จัดตั้งแล้วจำนวน 73 จังหวัด อยู่ระหว่างการจัดตั้งฯ จำนวน 4 จังหวัด โดยในปี 2562-2565 สันนิบาตสหกรณ์จังหวัดมีบทบาทในการให้องค์ความรู้ด้านการศึกษา อบรมแก่สหกรณ์ในส่วนภูมิภาคโดย จัดโครงการอมรมสัมมนา แล้วทั้งสิ้น 40 จังหวัดทั้งหมด 14 หลักสูตรมีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการอบรมสัมมนา 1,864 สหกรณ์ รวม 5,870 คน  




    นอกจากนี้  สสท. ยังได้จัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาและช่วยเหลือสหกรณ์ทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือด้านกฎหมายและรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมกว่า 100 คดี อยู่ระหว่างรอการฟ้องร้องและดำเนินคดีอีกกว่า 150 คดี  และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างภาครัฐ ผลักดันเรื่องที่ดินทำกินของสหกรณ์ประเภทนิคม โดยการช่วยเหลือสหกรณ์นิคมในพื้นที่ 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ในการเรียกร้องเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน รวมถึงพัฒนาชุมนุมสหกรณ์ประเภทนิคม ร้านค้า ประมง และบริการ ให้มีคุณสมบัติตามหลักหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ด้านการส่งเสริมธุรกิจสหกรณ์และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมารองรับการบริการสหกรณ์สมาชิก  โดยการเปิดศูนย์แสดงสินค้าสหกรณ์ไทยเพื่อนำเสนอสินค้าให้เป็นศูนย์รวมข้อมูลของสหกรณ์ทั้งในและต่างประเทศ  พัฒนาโปรแกรมค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์ฯ -ระบบโปรแกรมทะเบียนสหกรณ์ฯ -โปรแกรมบริหารงานฝึกอบรมและวิชาการ-Application CLT Smart  เป็นต้น




     นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมทำให้สหกรณ์สมาชิกทั่วประเทศเกิดความเลื่อมใสศรัทธาส่งผลให้ มีการส่งเงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์มากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับค่าบำรุงฯ ประจำปี 2565  เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 61 ล้านบาท คิดเป็น 103.21% ของประมาณการรับในปี งบประมาณ 2565 อย่างไรก็ตาม เงินค่าบำรุงฯ ที่ได้รับ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้จัดสรรคืนให้กับสหกรณ์สมาชิกโดยผ่านทางสันนิบาตสหกรณ์จังหวัด เพื่อใช้ในการจัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่สหกรณ์สมาชิกทั่วประเทศ ตามนโยบายที่ว่า เราจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง           

    ทั้งนี้ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กำหนดจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต อำเภอลำลูกกา จังหวัดประทุมธานีเพื่อให้สหกรณ์สมาชิกทั่วประเทศรับทราบผลการดำเนินงานและ ภายในงานมีการจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ ,นิทรรศการ รวมถึง จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการฯ สสท. โดยในปีนี้ มีผู้สมัครจากทีมพลังรักษ์สัตตะสหกรณ์ (เบอร์ 2 ยกทีม และเบอร์ 5)  ประกอบด้วย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ผู้แทนสหกรณ์ประเภท   ออมทรัพย์  นายนพดล วรมานะกุล ผู้แทนสหกรณ์ประเภทร้านค้า นายเจียง นาอุดม ผู้แทนสหกรณ์ประเภทนิคม นายวงศกร เอการัมย์ ผู้แทนสหกรณ์ประเภทประมง นายจรัล เอี่ยมสำอางค์ ผู้แทนสหกรณ์ประเภทเครดิต ยูเนี่ยน นายประภาส งามสงวน ผู้แทนสหกรณ์ประเภทเกษตร และ นายวงศ์วรัณ แนวพานิช   เบอร์ 5  ผู้แทนสหกรณ์ประเภทบริการ.

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

มูลนิธิอาสารักษาดินแดน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศล ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2565


 

                    มูลนิธิอาสารักษาดินแดน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย และสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง จัดแข่งขันกอล์ฟการกุศล มูลนิธิอาสารักษาดินแดน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ประจำปี 2565 ในวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ สนามฟลอร่า วิลล์ กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ชิงพระราชทานถ้วยรางวัล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 จำนวน 1 ถ้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอาสารักษาดินแดนฯ ในความช่วยเหลือสมาชิก อส. ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือประสบภัยพิบัติต่าง ๆ และการมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน รวมทั้งการจัดหาสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพ เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับสมาชิก อส. รายได้ส่วนหนึ่งจากการแข่งขันฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย



นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช รองประธานกรรมการมูลนิธิอาสารักษาดินแดน ฯ เปิดเผยว่า การจัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศลในครั้งนี้/นอกจากทุกท่านจะได้ทำบุญกุศล/ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนและสนับสนุนกิจการของมูลนิธิอาสารักษาดินแดนแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจะได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย





     “ด้วยความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระเมตตาต่อมูลนิธิอาสารักษาดินแดนในพระบรมราชินูปถัมภ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานถ้วยรางวัลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงสำหรับมอบแก่ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนี้/นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”นายกองเอก เปล่งศักดิ์ กล่าว



    ด้าน นายหมวดตรี ไพรัตน์  เอื้อชูยศ กรรมการมูลนิธิ ฯ ประธานกรรมการจัดการแข่งขัน ฯ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 มูลนิธิอาสารักษาดินแดนในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมกับกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนกระทรวงมหาดไทยและสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง กำหนดจัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศลมูลนิธิอาสารักษาดินแดนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรราชชนนีพันปีหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอาสารักษาดินแดน ฯ ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ สงเคราะห์ช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือภัยพิบัติต่าง ๆ การมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนรวมทั้งการจัดหาสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพเพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนและครอบครัว โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย ฯสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย




และเพื่อความเป็นสิริมงคลกับมูลนิธิอาสารักษาดินแดนในพระบรมราชินูปถัมภ์และผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ฯ มูลนิธิอาสารักษาดินแดน ฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลพร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เชิญอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ประดิษฐานบนถ้วยรางวัลสำหรับมอบเป็นรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน ฯ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ/จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานถ้วยรางวัล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงสำหรับมอบแก่ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนี้ โดยการแข่งขันในครั้งนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 80 ทีม ประกอบด้วยทีมกิตติมศักดิ์ จำนวน 20 ทีมและทีมทั่วไป จำนวน 60 ทีม โดยมีรางวัลพิเศษ HOLE IN ONE เป็นรถยนต์ ISUZU MU-X จาก อีซูซู อึ้ง ง่วน ไต๋ เป็นผู้ให้การสนับสนุนจำนวน 1 คัน 


วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จัดงานสุดยิ่งใหญ่วันดินโลก World Soil Day ปี 2565 "อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน"


       นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย  นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมแถลงข่าวเปิดงาน "วันดินโลก World Soil Day” ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งงานวันดินโลกปีนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 4-7 ธันวาคม 2565 ณ สถานีพัฒนาที่ดินตาก ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 




      นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย พระราชทานแนวพระราชดำริด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร โดยผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ จนเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถและยอมรับไปทั่วโลก สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (IUSS) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรม(Humanitarian Soil Scientist)" เป็นพระองค์แรกของโลก ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ โดยรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก และบรรจุในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และประเทศสมาชิกทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ ทั้งนี้วันที่ 5 ธันวาคม นอกจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันพ่อแห่งชาติยังเป็นวันดินโลกอีกด้วยซึ่งกลุ่มสมัชชาให้ความร่วมมือทรัพยากรดินโลก ได้กำหนดหัวข้อการจัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2565 กำหนดหัวข้อ Soils, where food begins




       การจัดงานวันดินโลกปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้อ “Soils, where food begins: อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน” ระหว่างวันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2566ณ สถานีพัฒนาที่ดินตากจังหวัดตาก เพื่อเทิดพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร รวมทั้งสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญ ของการสร้างสุขภาพดินดี ซึ่งจะส่งผลถึงการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารเลี้ยงประชากรโลกและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

          นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานในจังหวัดตาก จัดงานวันดินโลก ปี 2565 โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการดินโลก นิทรรศการ “มหัศจรรย์พืชพันธุ์จากดินทั่วถิ่นไทย” จัดแสดงความหลากหลายของทรัพยากรดิน และพืชอาหารทั่วประเทศไทย นิทรรศการมีชีวิต แสดงแปลงองุ่นและเสาวรสปลอดภัย แปลงผักบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง แปลงข้าวสรรพสี สตรอเบอร์รี่ และกะหล่ำปลี พืชผัก 4 ภาค  นิทรรศการนวัตกรรมและเกษตรอัจฉริยะ นิทรรศการวิชาการผลิตผลเกษตรที่สูง เสวนาระดับนานาชาติ เสวนาหมอดินอาสา ฐานเรียนรู้ด้านการปรุงดิน เรื่องอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น กิจกรรมประกวดแข่งขันต่างๆ อาทิ ประกวดภาพถ่าย ประกวดวาดภาพจากดิน แข่งขันจัดกระเช้าพืชผัก/ผลไม้อินทรีย์ แข่งขันทำอาหาร เป็นต้น กิจกรรมเดินเทรล เช็คอินกับสัญลักษณ์วันดินโลกขนาดใหญ่ พร้อม “ชิม ช้อป ชา กาแฟ ชนเผ่า” และเลือกซื้อสินค้าผลผลิตจากเกษตรกรเป็นของฝากกลับบ้าน




           อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อว่า ขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศได้เข้าร่วมงานวันดินโลกประจำปี 2565  ในระหว่างวันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2565 ณ สถานีพัฒนาที่ดินตาก อำเภอเมือง จังหวัดตากซึ่งโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ  สัมผัสกับบรรยากาศที่สวยงาม  ได้รับความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกิจกรรมที่มาพร้อมความสนุกสนานอีกมากมาย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง เพจ Facebook กรมพัฒนาที่ดิน , เพจ Facebook World Soil Day วันดินโลก หรือโทร 1760 นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินกำหนดให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด โดยบูรณาการเครือข่ายการพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้อง     ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป จัดงานวันดินโลกตลอดเดือนธันวาคม 2565 เพื่อทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมตระหนักรู้ และปกป้อง รักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าดินมีคุณภาพดี ย่อมผลิตพืชผลที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อันจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามเป้าหมายของการขจัดความอดอยากหิวโหย (Zero hunger) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ


 

ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ “Young Smart Farmer” เกษตรกรรุ่นใหม่ กับการพลิกแนวคิด เพิ่มมูลค่าผลผลิต ตอบเทรนด์ผู้บริโภค


    
 “ชนะอะไรไม่เท่าชนะใจตัวเอง” นี่คือจุดเริ่มต้นของ ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่พลิกฟื้นผืนดินจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคและใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในการสร้างแปลงผักออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานส่งถึงมือผู้บริโภคผ่านสาขาต่างๆ ของแม็คโคร

     “ครอบครัวผมเป็นเกษตรกรชาวไร่ ที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้ง เมื่อเรียนจบออกมา จึงมองหาช่องทางที่จะปลูกพืชผักชนิดอื่น เพื่อหารายได้หมุนเวียนเข้ามาเสริม” ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ วัย 27 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกผักเสริมรายได้จากการทำไร่อ้อยและมันสำปะหลัง 

พลิกชีวิตสู่วิถีเกษตรอินทรีย์




    ช่วงแรกเขาลองผิดลองถูกกับการปลูกผักหลายชนิดที่ต้องใช้สารเคมี เพราะให้ผลตอบแทนดี ตามคำบอกเล่าที่ว่า … จะทำให้มีรายได้ มีโอกาสรวยเหมือนถูกหวย... ซึ่งเมื่อลงมือทำ สิ่งที่เขาต้องเจอหลังจากนั้น ทำให้ “ธนวัฒน์” เปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรไปอย่างสิ้นเชิง

     “การเริ่มต้นปลูกผักของเรา ยอมรับว่า ใช้สารเคมีเยอะมาก จนตัวผมเองได้รับผลกระทบ จากการฉีดพ่น ทำให้แสบและคันไปทั้งตัว เห็นถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี จึงมองหาวิธีใหม่ในการทำเกษตร และเห็นว่าผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษเป็นคำตอบ”

    ธนวัฒน์ จึงเริ่มหาความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์แบบเจาะลึก ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเรียนรู้จากวิสาหกิจชุมชน จนพบกับเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายผู้ส่งผลผลิตให้กับแม็คโคร จึงได้แลกเปลี่ยน พูดคุย รวมถึงให้คำแนะนำภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” 

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ที่ทีมงานผู้เชี่ยวชาญของแม็คโคร บอกเขาว่า หลังจากสถานการณ์โควิด ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ความต้องการผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษในกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภคทั่วไป ก็มีมากขึ้นตามลำดับ

จากขาดทุนสู่กำไรชีวิต

    ด้วยความมุ่งมั่นของ ธนวัฒน์ ที่จะก้าวเดินสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เขาจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อสร้างผลผลิตที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยก้าวแรกของเขาเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ และด่านสำคัญที่เขาต้องผ่านไปให้ได้ ก็คือ การเปลี่ยนแนวคิดของครอบครัวที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์  

    จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรเครือข่ายผู้ส่งผลผลิตให้กับแม็คโคร ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่จะเดินหน้า เขาขอทางบ้าน เปลี่ยนพื้นที่กว่า 60 ไร่ มาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักออร์แกนิก โดยใช้เวลากว่า 2 ปี ในการพัฒนาและปรับสภาพแวดล้อม ให้ได้มาตรฐานออร์แกนิกและมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งต้องลงทั้งเงินทุน ช่วงแรกก็ขาดทุนไปเป็นหลักล้านบาท แต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจ จนได้พื้นที่เกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จอย่างปัจจุบัน 

     “ช่วงแรกผมปลูกผักที่มีอายุสั้น ให้ได้ผลตอบแทนเร็ว เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ก็โตบ้าง ไม่โตบ้าง เลยพยายามหาความรู้เพิ่มเติม และลองผิดลองถูก รวมทั้งไปศึกษาดูงานจากที่ต่างๆ จึงรู้ว่าตลาดมีความต้องการสินค้าชนิดใด เราก็ปลูกพืชชนิดนั้น ส่งผลให้มีรายได้ต่อเนื่องและมั่นคงมากขึ้น” ธนวัฒน์กล่าว




    ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ส่งผักปลอดสารพิษไปจำหน่ายยังสาขาต่าง ๆ ของแม็คโครมากกว่า 30 ชนิด  มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน โดยไม่หยุดที่จะพัฒนาพืชผักเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพ พัฒนาผักอินทรีย์ใหม่ๆ ป้อนตลาดที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พริกหวาน และมะเขือเทศโทมัส จาก จ.เชียงใหม่ 

    ล่าสุดธนวัฒน์ คิดทำผักดูโอ้ (Duo) ที่นอกจากจะนำมาประดับตกแต่งแล้ว ยังนำมาใช้ประโยชน์คู่กันและเป็นที่ต้องการของร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม อย่าง โรสแมรี่และเลมอน เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ยกระดับผัก ออร์แกนิกให้มีมูลค่าสูงขึ้น

     “การทำผักอินทรีย์ ทำให้ได้ราคาผลผลิตที่สูงขึ้น เหมือนเป็นรางวัลชีวิตให้กับเรา ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจของเราคิดว่า จะมุ่งมั่นและพัฒนาต่อไป อนาคตยังคิดที่จะแปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า โดยมีทีมงานของแม็คโครคอยให้คำแนะนำที่ดี  เรียกว่าเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับเราจริงๆ ” ธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย 




    ธนวัฒน์ กลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง เขาเป็น “Young Smart Farmer” ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ มีผู้คนเดินทางมาดูงาน ศึกษาแนวคิดของเขาและสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีโอกาสเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ และเขายังส่งผลผลิตอินทรีย์ขายให้แม็คโครในหลายเวที รวมถึงงานมหกรรมครบเครื่องเรื่องอาหารและอุปกรณ์ ครั้งที่  15 ที่เมืองทองธานี ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่านอกเหนือจากผลลัพธ์ที่เป็นรายได้ ความรู้ที่ธนวัฒน์ได้จากการลงมือทำจริง เป็นเหมือนกำไรที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เครือซีพี - ซีพีเอฟ ผนึกกำลัง หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนแก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล


   
 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ เจซีซี ร่วมส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ประจำปี 2565  ณ โรงเรียนบ้านนางแลใน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ได้รับเกียรติจาก นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี โดยมี นายโนริอากิ ยามาชิตะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ และประธานส่วนการศึกษาคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ  นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมมอบโครงการ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย ครู นักเรียน และผู้แทนโรงเรียนจากทั่วประเทศ 



    นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางนักเรียนอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 35 มุ่งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่สดคุณภาพดีที่นักเรียนช่วยกันดูแล เพื่อเสริมสร้างโภชนาการที่ดี เติบโตสมวัยทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา เป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู นักเรียนได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร ที่ประยุกต์ใช้กับอาชีพในอนาคต ขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชนให้มีรายได้หมุนเวียน ต่อยอดขยายผลเกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)” พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ โดยซีพีเอฟใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเลี้ยงไก่ไข่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คุณครูและนักเรียน พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลสุขภาพสัตว์และการป้องกันโรค การจัดการโรงเรือนตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล   ทำให้มีประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดี รวมถึงการพัฒนาระบบเพื่อติดตามประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง  โดยการเลี้ยงไก่ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป โรงเรียนจะได้รับพิจารณาให้สามารถซื้อพันธุ์ไก่ไข่ และอาหารไก่ไข่ในราคาพิเศษ โดยส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมีบริษัทเป็นผู้สนับสนุน  



    ปัจจุบันมีโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน 930 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 180,000 คน และชุมชน 1,900 ชุมชนได้รับประโยชน์ คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้จากโครงการฯ กว่า 1,000 คน ดำเนินงานใน 75 จังหวัดทั่วประเทศไทย และนอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากเจซีซี  มาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาด้วย ในปี 2565 นี้ได้รับสนับสนุน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านนางแลใน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย โรงเรียนเวียงห้าววิทยา ต.เวียงห้าว อ.พาน จ.เชียงราย โรงเรียนชุมชนบ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย โรงเรียนประชารัฐวิทยาคาร ต.ทุ่งแล้ง อ.ลอง จ.แพร่ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งตะแบก ต.พุทธบาท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์

    ด้าน นายโนริอากิ ยามาชิตะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่นฯ กล่าวว่า เจซีซีตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการในเด็กวัยเรียน และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 23 เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล ในด้านอาหารและโภชนาการโปรตีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนในการเติบโตที่ดี มีสุขภาพที่ดี และยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ธุรกิจจากการทำงานจริง โดยในปีนี้สนับสนุนอีก 5 แห่ง รวมทั้งสิ้นเป็น 142 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 38,000 คน ครอบคลุม 41 จังหวัด คิดเป็นมูลค่ากว่า 33 ล้านบาท โดยในอนาคตก็ยังคงมีแผนสนับสนุนโครงการดังกล่าวฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงเรือน การติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงไก่ไข่รุ่นแรก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีน มีไข่ไก่สดบริโภคในชุมชน และเกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน 




    ส่วน นายศราวุธ ธนาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนางแลใน กล่าวว่า โรงเรียนฯ มีนักเรียน 151 คน ครูและบุคลากรรวม 17 คน  การเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไข่ไก่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในครั้งนี้ ในนามตัวแทนโรงเรียน รู้สึกดีใจและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เด็กนักเรียนจะได้รับผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านอาหาร การฝึกวิชาชีพเลี้ยงไก่ไข่ ฝึกความรับผิดชอบ ตลอดจนโรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่ในชุมชนเพื่อนำมาบริหารจัดการโครงการในรุ่นต่อไป โดยที่ผ่านมาโรงเรียนดำเนินโครงการเกษตรพอเพียง มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว ปลูกข้าว โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จึงเข้ามาเติมเต็มด้านโภชนาการอาหารมื้อกลางวันให้นักเรียนมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญา เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน มีทักษะอาชีพด้านการเกษตร และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป

50 ปี สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ยึดมั่นธรรมาภิบาล ส่งเสริมภาคเกษตรไทย ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ


 
    สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ก่อตั้งเมื่อปี พุทศักราช 2514 ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการค้าปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ และสารกำจัดศัตรูพืช โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรที่จะยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเศรษฐกิจ สังคม ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย



    นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นเวลา 50 ปี สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะผนึกกำลังกันช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ ตามหลักวิชาการ รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี คือธาตุอาหารพืช ไม่ใช่สารพิษ ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร สร้างผลิตผลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างทัดเทียม และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการสนับสนุนเงินให้กับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สภากาชาดไทย สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล ฯลฯ



    ในโอกาสครบรอบ 50 ปี สมาคมฯ ได้ดำเนินงานภายใต้ความยึดมั่นในพันธกิจหลักอย่างมีจริยธรรม ธรรมาภิบาล เพื่อส่งเสริมให้ภาคการเกษตรของไทยได้มีการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการทำงานค้นคว้าวิจัยร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มพูนองค์ความรู้ในด้านการเกษตรของประเทศ จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อมอบให้เกษตรกรและสมาชิก ดังนี้ 1.จัดเสวนาวิชาการ เรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต การใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการรวบรวมรูปแบบการทำการเกษตรของประเทศไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีของไทย จากอดีต ปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนจากผลผลิตที่ได้รับจากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม Vector Club ชั้น 7 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ 2.การจัดทำหนังสือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต การใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศไทย ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เชิงวิชาการที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำการเกษตรของไทยและการใช้ปุ๋ยเคมีจากอดีต ปัจจุบันและอนาคต 3.การจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบ 50 ปี ซึ่งกำหนดจัดงานในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 เวลา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขอบคุณสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ ครูบาอาจารย์ รวมถึงสื่อมวลชน ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมและกิจการของสมาคมฯ ให้ก้าวหน้าอย่างมีหลักการตามแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่ถูกต้อง 4.การจัดกิจกรรมกอลฟ์การกุศลเพื่อนำเงินรายได้สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ เกี่ยวกับการพัฒนาภาคการเกษตรไทย

     “มีความมุ่งหวังว่าสมาคมฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยด้วยการทำการเกษตรที่ถูกต้อง ด้วยแนวทางเกษตรปลอดภัย (Good Agricultural Practice) เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่วงการเกษตรไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป”นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าว

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รมช. ประภัตร นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นก้าวสู่เวทีโลก

    วันนี้ (23 พ.ย. 65) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ... โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 3 ประเภท และการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์  การรวบรวม การคัดบรรจุ แปรรูป และจัดจำหน่ายพืชอินทรีย์ (Organic) สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 2 ประเภท



    นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง ได้แก่ 1. หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ 2. องุ่น 3. เห็ดหูหนูขาวแห้ง 4. บรอกโคลี 5. การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน และ 6. การชันสูตรโรคนิวคาสเซิล เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป



    ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง ได้แก่ 1. หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เนื่องจากมีการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดเพื่อเร่งจำหน่าย ซึ่งเป็นการทำลายตลาดทุเรียนในภาพรวม ส่งผลกระทบทำให้ราคาทุเรียนทั้งตลาดภายในและต่างประเทศมีราคาตกต่ำ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทย ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ จะเป็นการควบคุม กำกับ ดูแลปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลทุเรียนที่แก่ มีคุณภาพตามมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและเวทีการค้า ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพทุเรียนของไทยเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก

    2. องุ่น องุ่นเป็นไม้ผลที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค จึงมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีการนำเข้าองุ่นสด ประมาณ 1.02 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,683 ล้านบาท รวมทั้งมีการขยายการปลูกในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศมากขึ้น การกำหนดมาตรฐานองุ่น จึงมีความสำคัญสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตผลสำหรับการบริโภค และใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงทางการค้า โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ครอบคลุมข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับองุ่น (table grapes) ที่มีการจัดเตรียมและบรรจุหีบห่อ ไม่รวมองุ่นที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม



    3. เห็ดหูหนูขาวแห้ง เห็ดหูหนูขาวแห้งเป็นสินค้าเกษตรที่นิยมบริโภค โดยเป็นสินค้านำเข้าที่ยังไม่มีมาตรฐานเฉพาะ ดังนั้น จึงจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้มีเกณฑ์คุณภาพสำหรับเห็ดหูหนูขาวแห้ง สำหรับใช้อ้างอิงทางการค้า และตรวจสอบคุณภาพเห็ดหูหนูขาวแห้งนำเข้า โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ใช้กับ เห็ดหูหนูขาวแห้ง (dried white jelly mushroom) ตามนิยามผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเพื่อจำหน่าย สำหรับนำไปปรุงอาหารหรือแปรรูปเป็นอาหาร 

     4. บรอกโคลี เป็นผักที่จัดอยู่ในกลุ่มของผักตระกูลกะหล่ำ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารที่ตลาดประเทศไทยต้องการ จึงมีการนำเข้าและมีการขยายพื้นที่ปลูกในประเทศมากขึ้น ประกอบกับ เมื่อปี 2559 คณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาเซียนสำหรับผลิตผลพืชสวนและพืชอาหารอื่นๆ ได้ประกาศมาตรฐานอาเซียน เรื่อง บรอกโคลี ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง บรอกโคลี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน สำหรับใช้ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ใช้กับหัว (ส่วนที่เป็นกลุ่มช่อดอกและลำต้น) ของบรอกโคลีประเภทหัว/พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค ไม่รวมบรอกโคลีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม

    5. การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ. 9037-2555) มีการประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2555 สำหรับนำไปใช้ควบคุมกระบวนการจัดการของลานเททะลายปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นควรให้มีการทบทวนมาตรฐานฉบับดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติของลานเททะลายปาล์มน้ำมันสอดคล้องกับการปฏิบัติในปัจจุบัน และปรับปรุงข้อกำหนดให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

    6. การชันสูตรโรคนิวคาสเซิล โรคนิวคาสเซิลเป็นโรคระบาดสัตว์ปีกตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และอยู่ในบัญชีรายชื่อโรคระบาดสัตว์บกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ซึ่งการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของประเทศ และก่อให้เกิดปัญหาทางการค้า จึงเห็นควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการชันสูตรโรคนิวคาสเซิลที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ OIE ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรคดังกล่าว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าอีกด้วย

 


 

จัดประชุมวิชาการครั้งใหญ่ด้านอารักขาพืช มุ่งเป้าขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วย”บีซีจี โมเดล”


    สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เป็นเจ้าภาพหลักจัดงานร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ผนึกเครือข่าย 7 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย จัดใหญ่ประชุมวิชาการอารักขาพืช ครั้งที่ 15  ภายใต้หัวข้อ”เกษตรยุคใหม่ ทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”มุ่งเป้าขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยบีซีจี โมเดล (BCG MODEL)   วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลลูน โรงแรมรามาการ์เด้น ถ. วิภาวดี กรุงเทพฯ 




    นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน ว่า การจัดประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้เป็นงานเกี่ยวกับการอารักขาพืชเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรเป็นอย่างมากและที่สำคัญมุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่แต่ละบริษัทที่มาร่วม ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาไปกว่าหลายสิบปี รวมไปถึงการนำจุลินทรีย์  ตัวห้ำและตัวเบียนมาประยุกต์ใช้ร่วมกับสารอารักขาพืช เพื่อใช้สารฯ เท่าที่จำเป็นตามนโยบาย BCG ของภาครัฐบาลที่ส่งเสริมลดการใช้สารเคมีและนำจุลินทรีย์มาผนวกใช้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงถึงภาคอุตสาหกรรมเรื่องการแปรรูปอาหารของสัตว์ ความปลอดภัยทางด้านอาหาร เกษตรอินทรีย์และเป็นที่ต้องการของตลาดโดยกระทรวงพาณิชย์คอยให้การแนะนำเกษตรกรและที่สำคัญสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลากหลายมิติอีกด้วย ปัจจุบันโลกมีการปรับเปลี่ยนแต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของประเทศนั้น ๆ แต่ท้ายที่สุดจะมุ่งไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน



           ด้าน นายจารึก ศรีพุทธชาดิ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า การประชุมวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2536 และจัดต่อเนื่องทุก ๆ 2 ปีจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละสมาคมหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้(2565)สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และสมาคมอื่นรวมเป็น 7 สมาคม จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ”เกษตรยุคใหม่ ทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่งานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์และความคิดในกลุ่มนักวิชาการด้านอารักขาพืชและผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยด้านกีฏและสัตววิทยา โรคพืชวิทยา วิทยาการวัชพืช วิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว 




            นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง”ทิศทางและนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรไทย”เพื่อเป็นเวทีการพูดคุยเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย บีซีจี โมเดล(BCG MODEL) การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น

           


 

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

จากที่ดินทำกินสู่โรงสีข้าวสหกรณ์ฟื้นชีวิตสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่สอด


   
 การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด อ.แม่สอด จ.ตาก ของนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วย นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 15, 16 และ 17 เร็ว ๆ นี้ ไม่เพียงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงสีข้าวของสหกรณ์ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวใน อ.แม่สอดเท่านั้น ยังเป็นประธานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) และหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ให้กับเกษตรกรสมาชิกที่อาศัยอยู่ในนิคมสหกรณ์แม่สอดอีกด้วย เปรียบยิงนัดเดียวได้นกสองตัวได้ทั้งโรงสีและที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เนื่องจากในพื้นที่ อ.แม่สอดยังไม่มีโรงสีข้าวเอกชนให้บริการ ทำให้โรงสีข้าวของสหกรณ์นิคมแม่สอด จึงเป็นแห่งเดียวที่ให้บริการสีข้าวแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป     



    ปัจจุบันสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด มีสมาชิก จำนวน 2,541 ครอบครัว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพด ถั่วเขียว และนาข้าว โดยเฉพาะนาข้าวที่มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากถึง 5,000 ไร่ ซึ่งสหกรณ์ได้ส่งเสริมการผลิตเพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี มีการจัดหาปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ดี เงินทุน และพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสมาชิก มีการทำการเพาะปลูกแบบพันธะสัญญา และทำการรวบรวมผลผลิต จึงทำให้สมาชิกมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งสหกรณ์ยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการช่วยเหลือพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ตกต่ำ เช่น โครงการชะลอการขายข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในแต่ละปีสหกรณ์ได้ดำเนินการรวบรวมข้าวเปลือกของสมาชิกมีปริมาณค่อนข้างสูง ปีละ 1,000 - 2,000 ตัน ส่วนหนึ่งได้ทำเมล็ดพันธุ์จำหน่าย และอีกส่วนหนึ่งรอราคาขายให้กับโรงสี ในขณะเดียวกันตามมติที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด โดยได้จัดสรรงบประมาณของสหกรณ์กว่า 1.96 ล้านบาท ทำการก่อสร้างโรงสีข้าว ขนาด 10 ตัน/วัน เพื่อแปรรูปข้าวสาร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดปัญหาการขาดทุนหากสหกรณ์จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม่หมดหรือราคาข้าวตกต่ำ ทั้งนี้ ในอำเภอแม่สอดมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 48,000 ไร่ แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 22,000 ไร่ ข้าวเหนียว 8,000 ไร่ ข้าวไร่ 18,000 ไร่  



    “การที่สหกรณ์นิคมแม่สอดสร้างโรงสีขนาดเล็กกำลังการผลิตประมาณ 10 ตันต่อวัน เมื่อเราสร้างโรงสีขึ้นมาแล้ว คิดง่าย ๆ ในหนึ่งปีตีเสียว่า 300 วัน เราจะมีข้าวเข้ามา 3,000 ตัน แปลงเป็นข้าวสารประมาณ 50% เราได้ข้าวสารที่ 1,500 ตันต่อปี ผมเชื่อว่าแค่สมาชิกของสหกรณ์แม่สอดซึ่งมี 2,500 ครอบครัวปีหนึ่งก็ไม่พอขาย ดังนั้นเรามีโรงสี เรามีนา เรามีผลผลิตของสมาชิกในพื้นที่ของเรา เรามีเมล็ดพันธุ์ที่สหกรณ์ส่งเสริมให้ปลูก เมื่อปลูกแล้วเอาข้าวมาขายที่สหกรณ์ ปีนี้ข้าวราคาค่อนข้างดี สหกรณ์ก็ทำเป็นถุงขายสมาชิก สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นก็คือการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของสมาชิก  โดยที่สมาชิกมาอุดหนุนข้าวของสหกรณ์และเชื่อว่า ร้านค้าต่าง ๆ คนงานไทยพม่าในตัวแม่สอดก็ต้องการข้าวจากเราเช่นกัน” บางช่วงบางตอนที่นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวถึงผลประโยชน์จากโรงสีที่มีต่อสมาชิกสหกรณ์ฯระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด



    ไม่เพียงโรงสีข้าวเท่านั้นที่สมาชิกได้รับประโยชน์ แต่ยังมีเกษตรกรสมาชิกที่อาศัยพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่สอดประกอบอาชีพมาเป็นเวลานานได้รับเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของนิคมสหกรณ์ฯ อีกด้วย โดยในครั้งนี้มีเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่สอด จก. ได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) จากอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 6 ราย รวมเนื้อที่ 67 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา และหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) อีกจำนวน 9 ราย เนื้อที่รวม 64 ไร่ 3 งาน (เฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด) ซึ่งเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวสามารถนำมาออกเป็นโฉนดได้ในอนาคต

    “วันนี้ผมมามอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กสน.3 และกสน.5 ให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมแม่สอด ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ทำกินในพื้นที่ของนิคมสหกรณ์มาเป็นระยะเวลานาน จนได้รับสิทธิจะได้เอกสาร หลังจากนี้ถ้ายังมีการทำกินในพื้นทีก็จะออกโฉนดและมีสิทธิ์ในที่ดินทำกินอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่พี่น้องในประเทศไทยหลาย ๆ พื้นที่เรียกร้องกันมาก ที่สำคัญที่ดินเหล่านี้จะต้องใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น”



    อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ยอมรับว่าจากนี้ไปความเจริญของตัวอำเภอแม่สอดเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ที่ดินนับวันจะกลายเป็นพื้นที่เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่ดินในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์ฯ ตราบใดยังไม่ออกกฤษฎีกาหรือออกกฎระเบียบเลิกนิคมฯ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่นิคมฯ จะใช้เพื่อการเกษตรกรเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ยกเว้นกิจกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับการเกษตร อาทิ โรงสี ลานมัน ลานตาก เป็นต้น แต่หากกิจกรรมเหล่านี้เป็นของคนอื่น หรือขายให้กับคนนอกไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์นิคมฯ จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เท่านั้นในการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรม



    “ตราบใดที่ดินยังอยู่ในนิคมสหกรณ์ฯ จะเอาไปอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เช่นจะเอาไปทำโรงเรียนก็ต้องขออนุญาตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อนเช่นกัน แต่ถ้าทำการเกษตรก็สามารถทำได้ อันนี้คือความพิเศษที่รัฐบาลเขาดูแลพื้นที่ว่าที่ดินต้องเป็นของเกษตรกรและทำการเกษตรกรเท่านั้น” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กล่าวและย้ำว่าการใช้พื้นที่ของนิคมสหกรณ์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการส่งเสริมอาชีพเกษตรให้มีความหลากหลายจะได้เกิดความมั่นคงในพื้นที่นิคมแต่ละแห่ง ซึ่งแนวคิดนี้ตนอยากให้ขยายผลไปสู่นิคมสหกรณ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนิคมฯ ลำปาง นิคมสหกรณ์ที่เชียงใหม่ นิคมสหกรณ์ในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารและมีความหลากหลายในการปลูกพืชและการใช้ที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ฯ เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อพี่น้องเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์นิคมเหล่านี้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอาชีพที่มั่นคงอีกด้วย

 

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...