นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมการดำเนินโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้เกิดความมั่นคง มีความเข้มแข็ง สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นให้แก่สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพ ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ทั้งนี้ บทบาทในการทำหน้าที่รวบรวมสินค้าเกษตร ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิก ใช้หลักตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด และผู้รับซื้อ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยอาศัยกระบวนการสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก และดำเนินธุรกิจตอบสนองสมาชิกโดยส่วนใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยท่านสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด และ ธ.ก.ส.ในการทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนและเชื่อมโยงธุรกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อมุ่งยกระดับรายได้ของเกษตรกร แก้ไขปัญหาหนี้สิน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน
สำหรับโครงการนี้ ถือเป็นตัวอย่างในการนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้ทำหน้าที่ ของตนเอง อย่างเต็มความสามารถและศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แบ่งปันผลกำไรอย่างเป็นธรรม และช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
นายภูมิ เกลียวศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ในส่วนของ ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ได้นำนโยบายจากทางรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารด้านการฟื้นฟูพัฒนา ยกระดับสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน และการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรนาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ภายใต้ BCG Model จึงได้จัดทำโครงการ "จัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน " เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเกษตร ให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
สำหรับ การจัดกิจกรรมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันในการเชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อสร้างประโยชน์เพิ่มแก่เกษตรกรผู้ผลิตให้มีตลาดสินค้าเกษตรรองรับอย่างแน่นอน ได้รับราคาอย่างเป็นธรรม โดยมีสถาบันเกษตรกรทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพขนส่ง พร้อมส่งมอบผลผลิตการเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ลานมันสำปะหลัง ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด และยาสูบ เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงการออกแบบและบริหารจัดการตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หรือ Design And Management By Area ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรสมาชิกได้ ผู้ประกอบการได้ผลผลิตการเกษตรตรงตามความต้องการและปริมาณที่เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป คาดว่าจะมีผลผลิตเกษตรที่ผ่านการรวบรวมในครั้งนี้ ปริมาณกว่า 5 แสนตัน และธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ ไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท
นางสาวอังคณา เพียรพัฒน์ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลก มีสหกรณ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรอย่างยั่งยืน กับ ธ.ก.ส. จำนวน 3 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 290 ล้านบาท คือ 1. สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พิษณุโลก จำกัด 2. สหกรณ์นิคมพันชาลี จำกัด 3. สหกรณ์วัดจันทร์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสหกรณ์ฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อ-ขาย ผลผลิตข้าวเปลือก ร่วมกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น