วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

"จูอะดี" ลงนามส่งมอบงานต่อ ก่อนโบกมืออำลาตำแหน่งเลขาฯ มกอช. ขณะที่ จนท. ร่วมมอบดอกกุหลาบอย่างชื่นมื่น


        วันที่ 30 กันยายน 2563 ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ลงนามในบันทึกส่งมอบงานในหน้าที่ราชการ เนื่องในโอกาสอำลาตำแหน่งเลขาธิการ มกอช. และปฏิบัติราชการเป็นวันสุดท้าย โดยมี นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. เป็นผู้ลงนามในบันทึกรับมอบงาน และมีผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์ ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องพระพิรุณ 111 อาคาร 1 มกอช.



        จากนั้นได้นำดอกไม้และพวงมาลัยเข้ากราบสักการะลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหน่วยงาน ศาลพระภูมิและศาลตายาย เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสอำลาตำแหน่งเลขาธิการมกอช. โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ มกอช. เข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณภายในสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ โอกาสนี้ เลขาธิการ มกอช. ได้กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ มกอช. ที่ได้ร่วมปฏิบัติงานด้วยกันมาตลอดระยะเวลา 2 ปี และได้ฝากให้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมต่อไป ทั้งนี้ ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ คนที่ 12 โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 รวมระยะเวลาปฏิบัติงาน 2 ปี


 

ส่องสถานการณ์ตลาด ‘พริกเขียวมัน’ พืชเศรษฐกิจ จ.สงขลา ส่งออกตลาดมาเลเซีย เฉียด 2 พันตัน/ปี


 

            นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพริกขี้หนูผลใหญ่พันธุ์จินดา (พริกเขียวมัน) เป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง เนื่องจากตลาดในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มความต้องการพริกเขียวมันอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจังหวัดสงขลาเป็นอย่างมาก ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ส่งจำหน่ายประเทศมาเลเซีย โดยผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นผู้รวบรวมส่งผ่านด่านศุลกากรสะเดา และด่านตรวจพืชปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศมาเลเซียจะนำไปใช้ ในการบริโภคผลสดภายในประเทศ ทำเครื่องเทศ และเป็นวัตถุดิบในการผลิตซอสพริก บางส่วนมีการส่งต่อไปยังประเทศสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณการส่งออกพริกเขียวมันของจังหวัดสงขลาสูงถึงประมาณ 1,969 ตัน/ปี ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 10 ส่งจำหน่ายตลาดในประเทศ ได้แก่ ตลาดราชบุรี ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท โดยผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นผู้รวบรวม ซึ่งมารับซื้อถึงแหล่งผลิต สำหรับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตพริกแต่อย่างใด ราคาสินค้ายังคงเป็นไปตามกลไกของตลาด อีกทั้งด่านสินค้าเกษตรยังคงมีการขนส่งได้ตามปกติ ประกอบกับจังหวัดสงขลามีการส่งเสริมองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร จึงส่งผลให้เกษตรกรมีการตื่นตัวและมั่นใจที่จะทำการเพาะปลูก รวมถึงเกษตรกรบางส่วนมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพริกเขียวมันเพิ่มขึ้น   



                                               

ด้าน นายสุธรรม ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ของ สศท.9 เพื่อศึกษาสถานการณ์การผลิตและการตลาดพริกขี้หนูผลใหญ่พันธุ์จินดา (พริกเขียวมัน) ในจังหวัดสงขลา พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกช่วงต้นเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ -ตุลาคม ระยะเก็บเกี่ยว 7-8 เดือน (ใน 1 รอบการผลิต สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 8-10 ครั้ง) ผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ประมาณร้อยละ 39 และผลผลิตส่วนที่เหลือจะกระจายออกในเดือนอื่นๆ ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกพริกเขียวมัน ในจังหวัดสงขลา จำนวน 569 ราย ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในอำเภอระโนด และอำเภอกระแสสินธุ์ รวมประมาณ 1,064 ไร่ ผลผลิตรวม 2,188 ตัน โดยต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 56,859 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,056 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทน 59,520 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 2,661 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรขายได้ ปี 2563 (กุมภาพันธ์ - สิงหาคม) 22 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ ราคาขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของตลาด     


                                  

สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการผลิต และยังสามารถนำไปช่วยเกษตรกรใช้เป็นแนวทางวางแผนการผลิตในการบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม และพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควบคุมคุณภาพการผลิต และควรเฝ้าระวังโรคระบาด เช่น แอนแทรคโนส หรือ โรคกุ้งแห้งในพริก ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum spp พบการระบาดในช่วงฤดูฝน หรือในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิตได้ หากท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดพริกเขียวมันจังหวัดสงขลา สามารถสอบถามได้ที่ สศท.9 โทร. 0 7431 2996 หรือ อีเมล zone9@oae.go.th

สภาเกษตรกรแห่งชาติ “ทบทวนอดีตเพื่อวางแผนเดินในอนาคต”


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในปี 2564 ว่า ได้ขอให้สภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศทบทวนการทำงานทั้งหมดตลอดรอบปีที่ผ่านมาว่าที่ปฏิบัติหน้าที่ไปนั้นได้ผลการดำเนินการเป็นอย่างไร มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรอยู่ และมีแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร ทบทวนอดีต เพื่อวางแผนเดินในอนาคต”  ซึ่งเวทีสัมมนา / การประชุมของสภาเกษตรกรจังหวัดระดับภาค 4 จังหวัดช่วงกลางเดือนกันยายน 2563 ถึงแม้ไม่ได้ลงไปร่วมงานทุกเวทีแต่รับทราบจากรายงานว่าผลการสัมมนา / การประชุมนั้นดีมาก หลายจังหวัดมีความกระตือรือร้น ด้วยอยากเห็นงานก้าวเดินของสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดบังเกิดผลกับเกษตรกรอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม  และทราบว่าหลายจังหวัดได้นำเสนอผลงานที่เป็นประโยชน์มากซึ่งสามารถจะขยายผลได้เป็นอย่างดี  ตามบทบาทภารกิจของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการจัดทำข้อเสนอด้านภาคเกษตร ความร่วมมือและประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ  การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร   อาทิเช่น  “หัวบุกป่า”  พืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งถูกทิ้งไปนานแล้ว  กำลังให้ทีมงานศึกษาข้อมูลทั้งหมด หากตลาดเปิดกว้างสภาเกษตรกรฯ จะเร่งผลักดันส่งเสริมมากขึ้น  ไผ่”  สภาเกษตรกรฯกำลังเจรจากับกระทรวงพลังงานเพื่อให้มีโครงการนำร่องเรื่องพลังงานชุมชนโดยใช้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ และปลัดกระทรวงพลังงานรับปากว่าจะพยายามผลักดันให้เกิดโครงการให้ได้ทั่วประเทศ  

กัญชา”  “กัญชง”   สภาเกษตรกรฯผลักดันมาโดยตลอดหลายปี กฎหมายใหม่ หรือกฎกระทรวงฉบับใหม่น่าจะมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งมีการปรับปรุงกฎหมายทั้งอยู่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและอยู่ในสภานิติบัญญัติ เข้าใจว่าภายในปีหน้า 2564 น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น การปลูกของพี่น้องเกษตรกร/ผู้ประกอบการ/ผู้สนใจ เป็นไปตามขั้นตอนแต่จะลดขั้นตอนลง การขออนุญาตปลูกจะเร็วขึ้น ง่ายขึ้น เช่น มีคำสั่งซื้อที่แน่นอนจากต่างประเทศ ก็นำคำสั่งซื้อนั้นมาขออนุญาตปลูกโดยไม่จำเป็นต้องร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือส่วนราชการ  สามารถขออนุญาตได้เลย แต่ต้องมีตลาดรองรับชัดเจนก่อน  เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายหลังการจัดเวทีระดับภาคทบทวนอดีต มุ่งมั่นสู่อนาคต สภาเกษตรกรฯก็จะได้แนวทางในการทำงานร่วมกันในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด ที่สุดคือสภาเกษตรกรแห่งชาติจะได้แนวทางในการขับเคลื่อนอนาคตในฤดูปีงบประมาณถัดไป  โดยต้องรอการสรุปผลการประชุมเพื่อนำเข้าสู่การประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติได้รับทราบ แล้วจึงสรุปเป็นเอกสารทั้งหมดนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยา เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก


โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยพะเยา แก่ผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเป็นเส้นขนมจีนอบแห้งของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บจ.พะเยา ในโครงการ การพัฒนาระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเส้นขนมจีนอบแห้งสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรไทย และมีคุณภาพถูกต้องตามหลักอาหารปลอดภัย

รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา


รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายสำคัญของโลก ทั้งในรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ซึ่งอย่างหลังพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะมีผู้ประกอบการรายเล็กในขนาด small และ very small ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.พะเยา มีจำนวนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เกษตรและแปรรูปรายเล็กเป็นจำนวนมากเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นกิจการแบบธุรกิจเจ้าของคนเดียว หรือการรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ต่างประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนต้นทุนพลังงานและสาธารณูปโภค และยังมีโจทย์ความต้องการในการแก้ไขปัญหากระบวนการผลิตและแปรรูปที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการนำเทคโนโลยีที่มีฟังก์ชั่นการทำงานไม่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบรายปีไม่สูง เข้ามาปรับใช้ในกิจการ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจท้องถิ่นรายเล็ก ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง และเหมาะสมกับการนำมาใช้ในสภาวะภูมิอากาศของประเทศไทย โดยผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาระบบ IoT  ที่เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน และสามารถควบคุมกระบวนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการพัฒนาท้องถิ่นตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน (Wisdom for Community Empowerment)” อย่างแท้จริง

นางวารัทชญา อรรถอนุกูล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ


ด้านผู้ประกอบการ นางวารัทชญา อรรถอนุกูล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ กล่าวว่า ขนมจีนเป็นอาหารคาวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของคนไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานแต่เดิมในกระบวนการแปรรูปเส้นขนมจีนจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขนมจีนแป้งหมัก และขนมจีนแป้งสด ซึ่งในการผลิตขนมจีนดังกล่าว มีลักษณะการผลิตที่นานและเสียง่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ จึงมีการประยุกต์ดัดแปลงพัฒนาเส้นข้าวโพดอบแห้ง ที่ผลิตจากแป้งข้าวโพด ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งอาหารคาวและหวาน เช่น นำไปใช้แทนเส้นขนมจีนในเมนูขนมจีน หรือน้ำเงี้ยว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูไส้อั่ว ปอเปี๊ยะทอด หรือนำไปใช้ทำเมนูของหวาน เช่น สลิ่มในน้ำกะทิได้ ซึ่งหลังจากได้เข้าร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP ม.พะเยา และทำการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ช่วยให้กิจการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเส้นข้าวโพดได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเส้นข้าวโพดแบบเดิมที่ต้องตากเส้นไว้กลางแจ้ง ซึ่งหากเป็นวันที่มีฝนตกจำเป็นต้องหยุดการผลิต หรือในวันที่สภาพอากาศมีเมฆมาก จะทำให้เส้นข้าวโพดไม่เรียงตัวเป็นเส้นตรงสวยงาม การตากเส้นข้าวโพดแบบเดิมจะใช้เวลา 1 - 2 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่เมื่อนำเส้นข้าวโพดไปอบในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาเพียง 3 - 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ มีความสะอาด ไม่ปนเปื้อนจากฝุ่นหรือแมลงวัน รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าของกิจการได้อีกด้วย เช่น พริก ดอกอัญชัน ดอกงิ้ว ขมิ้น เป็นต้น




ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ (ซ้าย) และ นายสุรศักดิ์ ใจหลัก (ขวา)


ในส่วน ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลังงานทดแทน และ นายสุรศักดิ์ ใจหลัก นักวิจัย คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวร่วมกันว่า โปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยา ได้ให้ความช่วยเหลือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ ในด้านการออกแบบและการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมาตรฐาน ศึกษาต้นแบบจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะการปฏิบัติงานในพื้นที่ของผู้ประกอบการ และมีความเหมาะสมสำหรับกระบวนการแปรรูปเส้นข้าวโพดอบแห้งที่มีส่วนผสมของพืชผลทางการเกษตรท้องถิ่น เช่น ข้าวหอมมะลิพะเยา ข้าวโพด มันม่วง ขมิ้น เป็นต้น โดยเฉพาะระบบการระบายความชื้นได้ทำการติดตั้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมการระบายความชื้น เพื่อให้มีความเหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบที่นำมาอบแห้ง โดยมี นายศุภฤกษ์ ขาวแดง ที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) เป็นตัวกลางสำคัญประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลไกการให้ความช่วยเหลือจาก ITAP รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการลดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีระว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ




การดำเนินโครงการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตเดิม เป็นผลจากการลดความชื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งมีอุณหภูมิของโรงอบอยู่ระหว่าง 45 - 55 องศาเซลเซียส ซึ่งในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ พัดลมระบายอากาศหรือระบายความชื้น เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในการควบคุมอุณหภูมิของอากาศในโรงอบ ผลการดำเนินโครงการ พบว่า ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาในการอบที่น้อยกว่าแบบเดิมจากการตาก 1 - 2 วัน เหลือไม่เกินครึ่งวัน อีกทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า และยังได้คุณภาพของสินค้าที่ไม่ต่างจากแบบเดิม ทำให้ หจก. สามารถพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีที่ช่วยในกระบวนการผลิตเส้นข้าวโพดอบแห้ง เพิ่มศักยภาพ และมีความเหมาะสมกับการผลิตเส้นอบแห้ง ทดแทนการตากแห้งแบบดั้งเดิม ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสะอาด สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค รองรับการขอรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เส้นอบแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ทั้งนี้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ระยะถัดไป จะเป็นการประยุกต์ใช้ระบบ Internet of Things (IoT) ร่วมกับระบบระบายความชื้น ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นและอุณหภูมิ ซึ่งระบบสามารถทำงานได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการแสดงผลข้อมูลผ่าน Web application และ Mobile Application รวมถึงหน้าจอแสดงผลบนกล่องควบคุมการทำงาน ที่เหมาะสมกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ม.พะเยา กล่าว

 

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

กรมประมง เสริมเขี้ยวเล็บอาสาสมัครป้องกันปราบปรามประมงผิดกฎหมาย


  


 


       ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมงเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมสัมมนาอาสาสมัครป้องกันปราบปรามประมงผิดกฎหมายแรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับ รุ่นที่ 5 ในระหว่างวันที่ 29 กันยายน-1 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรมระนองการ์เด้นท์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สำหรับการสัมมนาดังกล่าวสำนักบริหารนโยบายนายกรัฐมนตรีร่วมกับกรมประมงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อให้อาสาสมัครประมงชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือและเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังให้เจ้าหน้าที่รัฐในการป้องกันปราบปรามประมงผิดกฎหมายแรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับ

 

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เผยรายงานระดับโลกกับทางออกโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมหนุนสวัสดิภาพสัตว์ป้องกันโรคสัตว์สู่คน


องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) เผยรายงานระดับโลกในเรื่องทางออกโรคพิษสุนัขบ้าในคนให้หมดไปภายในปี ค.ศ.2030 (All Eyes on Dogs) พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 59,000 คน และเกือบ 50% ของผู้ถูกกัดโดยสัตว์ที่อาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นเงินกว่า 8.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีการคาดการว่าจะมีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกถึง 67,000 คนต่อปี หรือมีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านคนในช่วงระหว่างปีค.ศ. 2020 และ ค.ศ. 2035 ด้วยทุกวันที่ 28 กันยายนของทุกปีได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (World Rabies Day) เพื่อเป็นการตระหนักและการสร้างความเข้าใจถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ในการป้องกันโรคพิษสุนัขและโรคสัตว์สู่คนจากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด 19 อีกด้วย



สัตวแพทย์หญิงชนัดดา เครือประดับ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้เผยรายงานที่ทางองค์กรฯได้จัดทำขึ้นว่าองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการจำนวนประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมและทางออกสำหรับการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป เนื่องจากที่ผ่านการกำจัดสุนัขเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะกับสุนัขจรจัดด้วยการฆ่าสุนัขและฉีดวัคซีนในคนไม่ได้ช่วยหยุดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เราได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีสุนัขจำนวนกว่า 10 ล้านตัวทั่วโลกจะถูกกำจัดไปอย่างโหดร้าย หรืออาจมีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีจากโรคนี้มีประมาณ 160 คนในแต่ละวันทั่วโลก หรือทุก ๆ 9 นาทีจะมีผู้เสียชีวิต 1 คนจากโรคนี้นั่นเองสัตวแพทย์หญิงชนัดดากล่าว



รายงานนี้ได้สำรวจความคิดเห็นใน 5 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย อินเดีย จีน บราซิลและเคนยา ในเรื่องการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อสุนัขจรจัดทั่วโลกซึ่งครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย เช่น จำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ ทัศคติต่อการกำจัดสุนัข เปอร์เซ็นต์ของการฉีดวัคซีน การทำหมัน การใส่ปลอกคน การติดป้ายและฝังไมโครชิพ รวมไปถึงการแยกแยะว่าสุนัขนั้นมีเจ้าของหรือเป็นสุนัขจรจัด ซึ่งพบว่ามากกว่าหนึ่งในสองที่ให้สัมภาษณ์เป็นเจ้าของสุนัขอย่างน้อยหนึ่งตัว



สำหรับในประเทศไทย เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ถึง 10 คน  แต่ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 14 คน ส่วนในปี 2560-2562 พบผู้ป่วยจำนวนปีละ 3 คน ชี้ให้เห็นว่ามีการควบคุมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงกระนั้นตัวเลขของผู้ป่วยในแต่ละปียังไม่นิ่งอย่างที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุหลักคือ คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และตระหนักในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและการป้องกันอย่างถูกต้องทางองค์กรฯ ได้ทำงานภายใต้โครงการ Better Lives with Dogs ซึ่งใช้แนวทาง ด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และให้การสนับสนุนแนวปฏิบัติที่เรียกว่า CNVR ได้แก่ Catch คือ การจับสุนัขและแมว N คือ Neuter การทำหมัน V คือ Vaccinate การฉีดวัคซีน และ R คือ Return การนำกลับไปที่เดิม สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีควบคุมจำนวนประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมและยั่งยืน อีกสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญคือเรื่องสวัสดิภาพสัตว์และการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ คนและสัตว์มีความเกี่ยวข้องกัน ดังจะเห็นได้จากการเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การดูแลให้สัตว์มีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี เปรียบเสมือนการดูแลให้เรามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกันสัตวแพทย์หญิงชนัดดา กล่าวปิดท้าย

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกําไร ทำงานในการขับเคลื่อนสังคม นโยบาย และปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีบทบาทในการทำงานด้านสัตว์ในชุมชน เช่น สุนัขและแมว โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมและจัดการประชากรสุนัขให้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการ Better Lives with Dogs ซึ่งได้เริ่มการทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันโดยได้มีการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ เช่น การอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคพิษสุนัขและการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ การรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขจรจร รวมถึงการสร้างสวัสดิภาพที่ดีให้สุนัข

 

CPF พร้อมเป็นกองหนุน ส่งอาหารให้แพทย์-พยาบาล ต้านภัยโควิดชายแดน จ.ตาก


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งมอบอาหารเพื่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลของรัฐ 5 แห่งของจังหวัดตาก ตาม โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” เพื่อแบ่งเบาภารกิจทีมแพทย์ในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 บริเวณชายแดน หลังยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเมียนมาสูงเกินกว่า 9,000 คน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเมียนมาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 9,000 คน ส่งผลให้ประเทศไทยต้องคุมเข้มชายแดนเพื่อป้องกันคนไทยจากเชื้อไวรัสนี้ด้วย




ซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและได้แบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยและประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี วันนี้ ซีพีเอฟ ขอนำความเชี่ยวชาญด้านอาหารของบริษัทมาช่วยแบ่งเบาภารกิจของทีมแพทย์ในจังหวัดตากอีกครั้ง เพื่อเติมกำลังกายและเป็นกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดและมีความเสี่ยงอย่างมากในสถานการณ์นี้ เนื่องจากจังหวัดตากเป็นจังหวัดชายแดนที่มีแรงงานจากเมียนมาเข้าออกเป็นจำนวนมากนายประสิทธิ์ กล่าว



ทั้งนี้ ซีพีเอฟ จะจัดเตรียมอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานให้แก่ทีมแพทย์ในโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพบพระ โรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลแม่ระมาด และโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยทีมงานเดลิเวอรี่ของซีพี เฟรชมาร์ท จะจัดส่งอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ถึงที่ทุกโรงพยาบาล

"ได้เห็นข้อความของคุณหมอท่านหนึ่งในจังหวัดตากที่บอกกว่า คุณหมอมีหน้าที่ที่ต้องป้องกันเมืองหลวงหรือเมืองชั้นกลางของประเทศไว้ให้ได้ ถ้าทัพหน้าแข็งแรง ทัพหลวงก็อุ่นใจ... ผมก็อยากจะบอกคุณหมอว่า ซีพีเอฟ จะเป็นกองหนุนเติมเสบียง ส่งพลังให้ทัพหน้าของคุณหมอสู้ภ้ยโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นใจครับนายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ชสท. จับมือพันธมิตรด้านการขนส่ง เปิดศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ หวังลดต้นทุน และเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าสหกรณ์


    

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิดศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ ซึ่งชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) จัดขึ้น พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้คณะกรรมการดำเนินการ ชสท. และผู้สนับสนุนกิจการ ชสท. โดยมีแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ อาคารสำนักงานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.)  ถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพ ฯ ทั้งนี้ ศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ ตั้งอยู่ภายในศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทยและศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ ชั้น 1 อาคาร ชสท. โดยมีสินค้าสหกรณ์ อาทิ ข้าวสาร จากสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ ให้เลือกซื้อ



นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ รู้สึกยินดีที่ ชสท. ริเริ่มโครงการศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ขึ้น เพื่อบริการการรับส่งสินค้าแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักสหกรณ์ที่ต้องตอบสนองต่อมวลสมาชิกและก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่สังคม กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ และขอขอบคุณ ชสท. ที่ได้ริเริ่มโครงการ ฯ ที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้



ด้าน นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการดำเนินการ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะ ผู้ริเริ่มก่อตั้ง ศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชสท. เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของสหกรณ์การเกษตร  ที่ให้บริการแก่สมาชิกครบวงจรในทุกด้าน ชสท. ได้จัดตั้งศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทยและศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ขึ้น  ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายข้าวทุกชนิด ที่ผลิตและจำหน่ายโดยสมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ  เพื่อให้การดำเนินการซื้อขายข้าวของสหกรณ์การเกษตรประสบความสำเร็จในทุกด้าน ชสท. จึงได้ร่วมมือกับ พันธมิตรด้านการขนส่ง ก่อตั้ง ศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ขึ้นสอดคล้องตามหลักการวิธีการสหกรณ์ มีเป้าหมาย เพื่อลดต้นทุนการส่งสินค้าให้กับสหกรณ์และสมาชิก รวมถึงเป็นการต่อยอดจากศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทยและศูนย์กระจาย สินค้าสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงเพื่อก่อประโยชน์แก่สมาชิก บุคคลทั่วไป ในการใช้บริการสินค้าสหกรณ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย




นายศุภชัย นิลวานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูเปอร์เอส เซ็นเตอร์ จำกัด หนึ่งในพันธมิตรการขนส่ง ของ ชสท. กล่าวว่า ทางบริษัท ฯ ได้ดำเนินงานบริการรับส่งพัสดุไปรษณีย์และเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยมีสาขา บริการกว่า 200 สาขา ในการนี้ทางบริษัท ฯ ได้เล็งเห็นช่องทางการสนับสนุนการบริการสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ อันที่จะก่อประโยชน์แก่สหกรณ์โดยรวม จึงได้ร่วมมือกับ ชสท. โดยเช่าพื้นที่ เปิดศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็น โครงการตัวอย่าง ซึ่งในอนาคตจะขยายโครงการฯ ศูนย์รับส่งสินค้าไปยังสหกรณ์การเกษตรอื่นๆ ต่อไป




ขอเชิญชวนท่านที่สนใจเลือกซื้อสินค้าคุณภาพมาตรฐานสหกรณ์ ได้ที่ศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทยและศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ และใช้บริการศูนย์รับ-ส่งสินค้าเครือข่ายสหกรณ์ ในราคาพิเศษช่วงเปิดตัว ได้ที่ ชั้น 1 อาคาร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพ ฯ ได้ในเวลาทำการ ทุกวันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น. โทร. 02 591 4567 ต่อ 408

“รมช.ประภัตร” ลุยเมืองสุรินทร์ เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างมาตรฐานปางช้าง สั่งปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับ-ปฏิบัติได้จริง


 


                นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ว่า ปัจจุบันช้างมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ แต่พบว่าปางช้างบางส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้าง และการทารุณกรรมช้าง จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และมีนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานปางช้างของประเทศไทย



               นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง โดยศึกษาและค้นคว้าข้อมูลข้อกำหนดต่างๆ จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรฐานปาง (แค้มป์) ช้างของประเทศไทย พ.ศ. 2545 ของกรมปศุสัตว์ และมาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว พ.ศ. 2553 ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นแนวทางในการจัดทำร่างมาตรฐาน เพื่อให้มีความชัดเจน เหมาะสม และเพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของปางช้าง/บุคลากรที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติตาม หรือปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทำงานหรือโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามการปฏิบัติที่ดีได้ ตลอดจน ได้จัดให้มีการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานทั่วไปหรือมาตรฐานบังคับ เพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์

          อีกทั้ง จากการประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปางช้าง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563  นั้น ได้มีการเสนอให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานบังคับ โดยจะบังคับใช้กับปางช้างทุกขนาด อย่างไรก็ตาม จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนพิจารณาให้การรับรอง และประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป



               ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจมีมากถึง 6,000 เชือก นอกจากนี้ปัญหาที่พบคือ ชาวต่างชาติมองว่าการเลี้ยงช้างของไทยเป็นการทรมานสัตว์ ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับมารฐานปางช้าง ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อหารือร่วมกับกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง จ.สุรินทร์ ที่ถือเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุด โดยรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง โดยมี นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะด้วย อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความคิดเห็น พบว่ายังมีบางประเด็นในร่างมาตรฐานฯ ที่ยังไม่ครอบคลุม ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ เข้าสู่คณะกรรมการมาตรฐาน เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย ปฏิบัติได้จริง เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ จึงมอบหมายให้ มกอช. นำเรื่องดังกล่าวกลับไปพิจารณาอีกครั้งนายประภัตร กล่าว

         ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปางช้างจำนวนประมาณ 250 ปาง แบ่งเป็น 1. ปางช้างขนาดเล็ก (มีช้างไม่เกิน 10 เชือก) จำนวน 200 ปาง 2. ปางช้างขนาดกลาง (มีช้างตั้งแต่ 11 เชือก ถึง 30 เชือก) จำนวน 40 ปาง และ 3. ปางช้างขนาดใหญ่ (มีช้างตั้งแต่ 31 เชือกขึ้นไป) จำนวน 10 ปาง  ซึ่งศูนย์คชศึกษา เป็นสถานที่ดำเนินงานตามโครงการนำช้างคืนถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับมาอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ชาวบ้านมีความชำนาญในการฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง

รมช. แรงงาน รับมอบไข่ไก่จากซีพีเอฟ หนุนโครงการ "คลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่อคนไทยมีงานทำ"


 

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงแรงงาน รับมอบไข่ไก่สดจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อมอบแก่ชาวชุมชนคลองเตยล็อค 4-5-6 ที่ร่วมโครงการ "คลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่อคนไทยมีงานทำ" จัดโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โดยมี นางจินตนา วัลยเสวี ผู้จัดการ สำนักประสานงานประกันสังคม ซีพีเอฟ เป็นผู้มอบ



วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

CPF ชูแนวคิด FOOD FOR TOMORROW ในงาน Thaifex 2020 ตอบโจทย์ยุค New Normal ปลื้ม “หมูชีวา” คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรม ตอกย้ำครัวโลกยั่งยืน


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โชว์ศักยภาพผู้นำธุรกิจอาหารในงาน Thaifex-Anuga World of Food Asia 2020 ภายใต้แนวคิด “FOOD FOR TOMORROW” ปรับโฉม 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร รองรับการบริโภคเพื่อสุขภาพตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) นำทีมโดย หมูชีวานวัตกรรมหมูที่มีโอเมก้า 3 มากกว่าหมูทั่วไป 2.5 เท่า คว้ารางวัลสุดยอดสินค้านวัตกรรม ตอกย้ำเป็น ครัวโลกรองรับการบริโภคของประชากรโลกกว่าหมื่นล้านคนในปี 2050 ได้อย่างยั่งยืน



นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า หลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 กระแสการบริโภคของโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่ การบริโภคเพื่อสุขภาพอย่างชัดเจนมากขึ้น ความปลอดภัยและการเข้าถึงอาหาร กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ผู้คนมองหาอาหาร ที่ดีต่อสุขภาพ สะอาด ถูกหลักอนามัย ปลอดเชื้อ ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องง่ายในการปรุง สะดวกในการทาน และคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย รวมถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนสู่วิถี “Food delivery”, “Cooking at Home” และพฤติกรรมการซื้อสินค้าถูกเร่งเข้าสู่ “Online Streaming” และ “e-commerce” อย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นแนวคิด “FOOD FOR TOMORROW” ที่จะตอบโจทย์ความต้องการ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในมิติที่หลากหลาย ผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้แนวคิด FOOD FOR TOMORROW ของซีพีเอฟที่นำมาจัดแสดงภายในงาน Thaifex-Anuga World of Food Asia 2020 ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่ม INNOVATION + WELLNESS FOOD & BEVERAGES ซึ่งเป็นนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่อาหารสัตว์ (Feed) เทคโนโลยีการเลี้ยงและระบบฟาร์มป้องกันโรค (Farm) รวมถึงนวัตกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (Food)  กระทั่งได้มาซึ่งอาหารที่เพิ่มสารอาหารจากธรรมชาติ ช่วยบำรุงสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย (Functional Food & Beverage) ภายใต้แนวคิด “Food as a Medicine” อาทิ ผลิตภัณฑ์ “Cheeva Pork” ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศสุดยดสินค้านวัตกรรมระดับโลก จากงาน Thaifex 2020 เป็นเนื้อหมูนวัตกรรมที่มีโอเมก้า 3 มากกว่าเนื้อหมูปกติ 2.5 เท่าจากการเลี้ยงด้วยอาหารจากธรรมชาติที่อุดมด้วยโอเมก้าอย่าง Flax Seed, สาหร่ายทะเลธรรมชาติ และน้ำมันปลาทะเลลึก ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และยังปลอดสาร ปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ตลอดการเลี้ยงดู (รับรองโดย NSF) ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แบรนด์ INNOWENESS ที่ประกอบด้วยเครื่องดื่มเบต้ากลูแคน IMU ผลิตจากเห็ดสกัดธรรมชาติ เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดอาการภูมิแพ้ และหวัด เครื่องดื่มแอลธีอานิน DEEP ที่สกัดจากยอดชาเขียวจากญี่ปุ่น ช่วยปรับสมดุลคลื่นสมอง ช่วยให้นอนหลับลึก ตื่นสด ชื่น ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดก่อนนอน และเครื่องดื่ม FRESH สกัดจากน้ำทับทิม และชาเขียว ช่วยปลุกสมอง คืนความสดชื่น ระหว่างวัน โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั้ง 3 ชนิดนี้ สามารถเก็บรักษาคุณค่าทางอาหารในอุณหภูมิห้องปกติได้นานถึง 1 ปี ผลิตภัณฑ์ Chicken Rib มิติใหม่ของนวัตกรรมการผลิตเนื้อไก่แบบ Special Cut ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ในการกินเนื้อไก่ ให้อร่อยเพลิน ด้วยเนื้อเต็มคำ นุ่ม ฉ่ำ และกระดูกเดียว ทานง่าย ทั้งไก่สด และแบบหมักพร้อมปรุง



2.กลุ่ม READY-TO-EAT FOOD ซีพีเอฟนำอาหารพร้อมทานหลากหลาย ทั้งเมนูไก่  เกี๊ยวกุ้ง สปาเก็ตตี้ เมนูข้าวแกง หรือ Snack Food และเมนูเพื่อสุขภาพ High Fiber-Low Calories  ที่เหมาะสำหรับการเก็บที่บ้าน ง่ายต่อการอุ่นพร้อมทานได้ทุกเวลา ด้วยรสชาติความอร่อยที่ลงตัว และมั่นใจได้ในเรื่องการผลิตที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อ เพราะอาหารทั้งหมดถูกปรุงและแพ็คจากโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับโลก ไม่ผ่านมือใครจนถึงมือคุณ 3.กลุ่ม FRESH DESTINATION MEAT  เนื่องจากโปรตีนเนื้อสัตว์ยังคงเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูอาหารของประชากรโลก ในยุค New Normal การเลือกเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคจะมีความพิถีพิถันมากขึ้นในเรื่องมาตรฐานการผลิต และความปลอดภัย ปลอดเชื้อ ความสดใหม่ของเนื้อไก่ เนื้อหมู กุ้ง ไข่ ปลา และเนื้อวัวที่มีคุณภาพ ซึ่งซีพีเอฟให้ความสำคัญในสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่งยวด เมื่อประกอบกับบริการ e-Commerce และการจัดส่งแบบ Home Delivery  จะช่วยให้การปรุงอาหารที่บ้านเต็มไปด้วยความสนุก ปลอดภัยและอร่อยถูกปากทั้งครอบครัว ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังคงมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็น ครัวของโลกที่ยั่งยืน” (Sustainable Kitchen of the World) เพื่อรองรับการบริโภคของประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10,000 ล้านคน ภายในปี 2050 โดยมุ่งมั่นทุ่มเทและพัฒนา การผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต (Value Supply Chain) ตั้งแต่ FEED-FARM-FOOD ภายใต้แนวทาง “PUT OUR HEART INTO FOOD” ด้วยการเอาใจใส่ในด้าน INNOVATION นวัตกรรมอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดี และชีวิตที่มีความสุขขึ้น ด้าน PEOPLE  โดยให้ความสำคัญกับผู้คน ทั้งผู้บริโภค พนักงาน และพันธมิตรทางธุรกิจ และด้าน PLANET ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยมลพิษจากการผลิต และลดขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และโลกที่เต็มไปด้วยความสุข

เพราะวิถีการบริโภคที่เปลี่ยนไปในวันนี้ ผู้บริโภคมิได้เลือกสรรเพียงแค่อาหารปลอดภัย มีคุณภาพและรสชาติที่อร่อยเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงแหล่งที่มา กระบวนการผลิต และจัดส่งถึงมือผู้บริโภค โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด... เพื่อการบริโภค และโลกที่ยั่งยืนนายประสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

                                   

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...