ดร.จูอะดี
พงศ์มณีรัตน์
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย
เชื่อมั่นด้วยมาตรฐาน เครื่องหมายรับรอง สถานที่จำหน่าย
และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ” เพื่อให้ความรู้ด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
การใช้เครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้อง ทั้งเครื่องหมาย Organic
Thailand และเครื่องหมายรับรองของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการภายใต้โครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการของสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์
และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อการตามสอบและการเพิ่มช่องทางการตลาด
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่
ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ โรมแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี
จังหวัดอุดรธานี
ดร.จูอะดี เปิดเผยว่า มกอช.
เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
เพื่อยกระดับเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์และนำไปใช้เพื่อการตรวจสอบรับรองตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 8 ฉบับ ครอบคลุมการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์
ทั้งพืชอินทรีย์ สัตว์น้ำอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ อาหารสัตว์น้ำอินทรีย์
และเส้นไหมอินทรีย์
ทั้งนี้ มกอช.
ได้ส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ทั้งในระดับต้นน้ำและกลางน้ำ โดยให้ความรู้
แก่เกษตรกรในการปฏิบัติให้ได้ตามข้อกำหนดของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการทำระบบการควบคุมภายใน
(internal Control System : ICS) เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรองตามมาตรฐานและแสดงเครื่องหมาย
Organic Thailand ส่วนในระดับปลายน้ำ
ได้มีการจัดทำโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2560
เพื่อให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ทั้งมาตรฐานระดับประเทศ (Organic Thailand) และมาตรฐานของประเทศคู่ค้าสำคัญ
เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ เข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่าย
และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 แห่ง 340 สาขา
อย่างไรก็ตาม
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างตลอดห่วงโซ่ มกอช.
ยังได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร เช่น
การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้ามาตรฐานผ่านเว็บไซต์ดีจีทีฟาร์มดอทคอม หรือ www.dgtfarm.com โดยที่ผ่านมา
ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและผู้ที่สนใจผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างอุปสงค์สินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ มกอช.
ได้จัดทำระบบการตามสอบสินค้าเกษตรมาตรฐาน ด้วยการใช้ระบบ QR Trace on Cloud ทำให้ผู้บริโภคสามารถทราบถึงข้อมูลของสินค้าเกษตรนั้นอย่างละเอียด
ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะผู้บริโภค
“การเชื่อมโยงเครื่องมือและโครงการต่างๆ
ของ มกอช. จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ
รวมทั้งผู้บริโภค ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการจัดการระบบของสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ที่จะทำให้เกิดการขยายผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
ส่งผลให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานได้มากขึ้น
สนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ตามหลักการข้อหนึ่งของเกษตรอินทรีย์
เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และของประเทศ” ดร.จูอะดี
กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น