วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เฉลิมชัยฯ เผยแจกเมล็ดผักแล้ว 81.84% จากโครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19


             ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการส่งมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวภายใต้โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID– 19 ที่ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด, บริษัท เจียไต๋ จำกัด ร่วมให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป จำนวน 300,000 ชุด ใช้ปลูกบริโภคในครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ขณะนี้สามารถจัดส่งเมล็ดพันธุ์ผักให้กับผู้ลงทะเบียนแล้วจำนวน 245,524 ราย เหลือ 54,476 ราย คิดเป็น 81.84% โดยเมล็ดพันธุ์ ประกอบด้วย ผักคะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง แตงกวา พริกขี้หนู กระเพรา เป็นต้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ตามโครงการดังกล่าวผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และส่งมอบแก่ประชาชนโดยตรง และคาดว่าจะจัดส่งถึงประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ครบภายในเดือนธันวาคม 2563

สำหรับประชาชนที่ได้รับเมล็ดพันธุ์สามารถดาวน์โหลดคำแนะนำการปลูกพืชได้ที่เพจเฟสบุ๊ค กองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร

แม็คโคร ผุดโมเดลเกษตรยั่งยืน หนุนผู้เลี้ยงวัวไทย ผลิตเนื้อพรีเมียม ชูจุดแข็งตลาดนำการผลิต ปรับระบบการเลี้ยง สร้างรายได้เพิ่มกว่า 2 หมื่นต่อตัว


             บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผุดโมเดลเกษตรกรรมยั่งยืน ส่งเสริมผู้เลี้ยงโคเนื้อ ปรับวิธีเลี้ยงแบบขุน ปรับสูตรอาหารสัตว์และสภาพแวดล้อม รับความต้องการบริโภคเนื้อวัวพรีเมียมเติบโต ด้วยการเชื่อมโยงตลาดผ่านสาขาของแม็คโครสู่ผู้ประกอบการร้านอาหาร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 20,000 บาทต่อตัว พร้อมวางแผนการตลาดและพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ การตลาดนำการผลิต



นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  ด้วยกระแสความนิยมบริโภคเนื้อวัวคุณภาพที่มีลายไขมันแทรก หลังจากธุรกิจร้านอาหารประเภทชาบู ปิ้งย่าง หมูกระทะ เติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้แม็คโครมองเห็นโอกาสในการพัฒนาเนื้อวัวของไทยให้เข้าสู่ตลาดพรีเมียม โดยทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนทั่วประเทศและกรมปศุสัตว์  ยกระดับการเลี้ยงขุนโดยให้ทานอาหารที่ปรับสูตรอย่างเหมาะสมและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้วัวมีไขมันแทรกในชั้นกล้ามเนื้อมาก ซึ่งเป็นไขมันดี มีรสชาติที่ดีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค



แม็คโครทำงานร่วมกับเกษตรกรและกรมปศุสัตว์ อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อไทยทั้งระบบ เพื่อให้เกิดรูปแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยแม็คโครได้นำความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านอาหาร มาพัฒนาสินค้าร่วมกันภายใต้แบรนด์ โปรบุชเชอร์ซึ่งมีกระแสการตอบรับที่ดีและได้รับการบอกต่อในโลกโซเชียลถึงรสชาติ ความนุ่ม ทำให้เนื้อพรีเมียมของไทยมีสัดส่วนการขายและอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ด้าน นายวิบูลย์ ไวยสุระสิงห์ เจ้าของสุระสิงห์ฟาร์ม และประธานสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางโคเนื้อโดยรวมยังสดใส และมีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะการนำโคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์ยุโรปมาเข้าสู่ระบบการเลี้ยงขุนเพื่อให้มีอัตราการเจริญเติบโตในระยะเวลาที่กำหนด ให้ได้คุณภาพเนื้อที่มีความนุ่ม มีไขมันแทรก เหมาะสำหรับทำสเต็ก อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น ซึ่งในกลุ่มนี้ ตลาดมีความต้องการประมาณปีละ 500,000 ตัว สำหรับที่ฟาร์มสุระสิงห์ จะซื้อวัวอายุปีกว่าๆ จากเกษตรกรมาขุนต่อ และให้กินอาหารตามสูตรที่คำนวณไว้ จากนั้นจะคัดตัวเลือกวัวที่มีลักษณะดี ไปเลี้ยงต่อในโรงเรือนระบบปิด (Evaporative Cooling Systems) หรือ Evap เพื่อเลี้ยงต่ออีก 3-4 เดือน ในอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส เพื่อให้มีน้ำหนักประมาณ 600-800 กิโลกรัมต่อตัว และทำให้เกิดรายได้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 20,000 บาทต่อตัว

ต้องขอขอบคุณแม็คโครที่ช่วยพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 



ทั้งนี้ แม็คโครได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนไทยกว่า 5,000 ครัวเรือน เพื่อพัฒนาสู่ตลาดเนื้อพรีเมียม โดยนำเนื้อโคขุนไทยแองกัส และไทยวากิว ที่มีลายไขมันแทรก (Marbling Score)  MS4+, MS5+ ซึ่งเป็นเนื้อคุณภาพดีมาจำหน่าย รองรับกระแสความนิยมในการบริโภคเนื้อวัวของคนไทยที่มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 2.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางศิริพร กล่าวอีกว่า ตลาดของเนื้อวัวพรีเมียมยังมีการเติบโตอีกมาก แม็คโครได้วางแผนส่งเสริมการขาย การพัฒนาต่อยอดสินค้า ร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดโปรโมชั่น แม็คโคร แหล่งรวมเนื้อคุณภาพ (Beef Destination)’ เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มเข้าถึงเนื้อวัวพรีเมียมคุณภาพดี มีความหลากหลาย ราคาเข้าถึงง่าย ทุกสาขาทั่วประเทศ

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เชิญเที่ยว งานวันดินโลกปี 2563 วันที่ 4-8 ธ.ค.ที่ปากช่อง


             ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานวันดินโลกปี 2563 “Keep soil alive, protect soil biodiversity : รักษ์ปฐพีคืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดินณ ห้องประชุม 801 กรมพัฒนาที่ดินว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานวันดินโลก ประจำปี 2563 มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน เกษตรกร เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวันดินโลก และสร้างความตระหนักเรื่องความสำคัญของทรัพยากรดิน มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน วัด โรงเรียน ชุมชน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 4–8 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา



ทั้งนี้ จากการที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences–IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ประกาศนียบัตรและประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศพระเกียรติคุณโดยให้การรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลกตามข้อเสนอของประเทศไทย ส่งผลให้วันดินโลก ได้รับการบรรจุในปฏิทินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO ซึ่งประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ ด้าน FAO โดยกลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก หรือ Global Soil Partnership : GSP ได้จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปีเพื่อให้เป็นวาระในการสื่อความสำคัญของทรัพยากรดินให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ไม่จำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มของนักวิชาการหรือเกษตรกรเท่านั้น ด้วยเล็งเห็นว่า ทรัพยากรดินมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ใช้ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่ตั้งของบ้านเรือน ร้านค้าโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งน้ำ รวมถึงวัตถุดิบสำหรับสิ่งก่อสร้างและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้นและดินเมื่อถูกใช้ประโยชน์โดยปราศจากการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว จะเกิดความเสื่อมโทรมไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์ได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงมีความจำเป็นในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดินอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง



ในการจัดกิจกรรมวันดินโลกนั้น กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP) จะกำหนดหัวข้อหลักการจัดงานในแต่ละปี โดยคัดเลือกประเด็นสำคัญ ที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือส่งผลต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก โดยประเทศต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน สำหรับวันดินโลกในปี 2563 นี้ GSP ได้กำหนดหัวข้อ “Keep soil alive, protect soil biodiversity : รักษ์ปฐพี คืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดินเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมขององค์กรและบุคคล ในรูปแบบของการร่วมมือและสร้างเครือข่ายมากขึ้น ผ่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้ร่วมกับเครือข่ายดังที่กล่าวมาแล้ว ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรดินตามศาสตร์พระราชาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ภายในงานวันดินโลก มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น ภาคนิทรรศการ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นิทรรศการพระราชปณิธานการทรงงาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นิทรรศการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) นิทรรศการโมเดล ดิน หิน แห่งประเทศไทย นิทรรศการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร สปก. ทองคำ นิทรรศการฝนหลวง ตำราพระราชทาน ร.9 นิทรรศการทหารผลิตพันธุ์พืชดี นิทรรศการ Smart Tumbon ตอบโจทย์แก้จนและนิทรรศการไฮไลต์ของงาน นิทรรศการ Keep soil alive, protect soil biodiversity รักษ์ปฐพีคืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ความหลากหลายทางชีวภาพในดินที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดิน ทั้งที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ และที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่างกันในกระบวนการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตให้ประชาชนได้เข้าชม อาทิเช่น การจัดการดินไม้ผลพืชไร่พืชหมุนเวียน ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ผสมผสานอย่างยั่งยืน หญ้าแฝกกำแพงที่มีชีวิต สวนเกษตรพอเพียงพ้นภัยโควิด ระบบนิเวศดินน้ำป่าสัตว์อาศัย อนุรักษ์ดินและน้ำสู่ความยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพ สัมผัสใกล้ชิดจุลินทรีย์มีชีวิตในดิน อนุรักษ์พันธุกรรมพืช และยังมีจุดเช็คอิน ดินโลกปี 63 ที่ทุกท่านไม่ควรพลาด ได้แก่ Landmark วันดินโลก สัญลักษณ์ลูกโลก World Soil Day ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทุ่งทานตะวัน เหลืองสะพรั่งหันตามตะวัน ประติมากรรมถ้ำดิน หินงอก ทุ่งปอเทือง ชูดอกเหลือง หยั่งรากตรึงปุ๋ย ซุ้มไม้เลื้อย ทุ่งเลี้ยงสัตว์ แนวขั้นบันได

กิจกรรมที่สำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งในวันดินโลกปี 2563 คือ การจัดเสวนาวิชาการ ซึ่งเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องบูรณาการงานวิชาการด้านดินเพื่อขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) และยังมีศูนย์ฝึกเกษตร สร้างอาชีพมั่นคงและมั่งคั่ง ให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษาดูงาน ทั้งด้านปรุงดินด้วยวัสดุอินทรีย์เทคโนโลยีกรมพัฒนาที่ดิน สูตรพิเศษสร้างอาชีพ ด้านการแยกขยายเชื้อจุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติ สร้างดินให้มีชีวิตจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆด้านระบบน้ำระบบปุ๋ย ต้นทุนต่ำ ผลตอบแทนยาว ด้านเครื่องมือ เครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรเข้าสู่ Smart Agriculture 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมร่วมเล่านิทาน ชิงรางวัลระดับเยาวชน การเดิน Trail ดินโลก 63 การประกอบอาหาร ขนม พื้นบ้าน และการจำหน่ายสินค้า OTOP ของดีประจำเมืองและอาหารอร่อย และภายในงานจะมีบริการรถพ่วงรับส่ง พร้อมมัคคุเทศก์ และวิทยากรเพื่อนำประชาชนทุกท่านเที่ยวชมอย่างจุใจ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน วันดินโลก” (World Soil Day) ปี 2563 ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

เกษตรฯ เตรียมจัดมหกรรม “เกษตร อัจฉริยะ” โชว์นวัตกรรมทางการเกษตร ที่สุพรรณบุรี


             นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรม เกษตร อัจฉริยะครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 โดยมี นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายมนัส กำเนิดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นางสมรัก บุษปธำรง รองผู้อำนวยการด้านบริหาร องค์การสะพานปลา และนายประพันธ์ ลีปายะคุณ ผู้ตรวจราชการกรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี





นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับภาคเอกชน จัดงานมหกรรม เกษตร อัจฉริยะครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน ถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือ เกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิดสามประการ ได้แก่ ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบด้วย 1) เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น 2) เกษตรปลอดภัย 3) เกษตรชีวภาพ 4) เกษตรแปรรูป และ 5) เกษตรอัจฉริยะ



นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า งานมหกรรม เกษตร อัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้นำนิทรรศการนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ อาทิ การจัดกิจกรรมประกวดสัตว์ที่เลี้ยงผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การประกวดกระบือ ไก่พื้นเมืองสวยงาม โคเนื้อ และแพะ จากกรมปศุสัตว์ การจัดแสดงผลงานวิจัยพันธุ์ข้าว นวัตกรรมการลดต้นทุน การแปรรูปและจำหน่ายข้าว จากกรมการข้าว กิจกรรมสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพในระยะสั้น เช่นการเลี้ยงจิ้งหรีดครบวงจร จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) IoT เกษตรนอนตีพุง พื้นที่ ส.ป.ก.ทองคำ จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การจัดแสดงนิทรรศการฝนหลวง พร้อมจัดแสดงเครื่องบินฝนหลวง จากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการวันดินโลก สาธิตการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา จากกรมพัฒนาที่ดิน การจัดแสดงนิทรรศการด้านน้ำ จากกรมชลประทาน การจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีเรื่องกุ้งก้ามกราม

การประกวดปลาสวยงาม ปลากัด จากกรมประมง การจัดแสดงนิทรรศการสารชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช จากกรมวิชาการเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการและการปล่อยสินเชื่อเงินกู้แก่เกษตรกร จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นิทรรศการ Application Smart ME จากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การจัดแสดง Application พยากรณ์ จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการทำการเกษตรในพื้นที่แคบ โรงภาพยนตร์ 2 มิติ จากพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดแสดงการปลูกพืชในโรงเรียน (ทำน้อยได้มาก) จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) การจัดแสดงนิทรรศการศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NBAC) และ Application กระดานเศรษฐี จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตผล ผลิตภัณฑ์ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสินค้าอุปโภคในราคาถูก อาทิ การประกวดและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร จากกรมส่งเสริมการเกษตร การจำหน่ายสินค้ากลุ่มประมง จากองค์การสะพานปลา การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา จากการยางแห่งประเทศไทย การแปรรูป หม่อน ถั่งเช่า และจำหน่ายสินค้า ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อน จากกรมหม่อนไหม นวัตกรรมเลี้ยงโคนม เครื่องรีดนมโค และแจกผลิตภัณฑ์นม จากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ OTOP จากพัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี การแสดงแปรอักษรผ่านอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และจำหน่ายสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหาร จากหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้เข้าชมงาน ได้ชมและศึกษาความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัย รวมไปถึงการเป็นสื่อกลางในการพบปะ แลกเปลี่ยนทรรศนะทางด้านการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค ด้วยการนำผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างใกล้ชิด




นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรีถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก มีแหล่งน้ำธรรมชาติ การชลประทานเหมาะสมแก่การเกษตร พื้นที่อุดมสมบูรณ์ นับได้ว่าเป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา และปศุสัตว์ ที่เป็นอาชีพหลักของประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงหรือ เกษตรอัจฉริยะมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จะส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และในโอกาสนี้ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงโชว์แปรอักษรด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และที่สำคัญมีการจัดกิจกรรมงานเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรี ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน

 

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“ซีพี เฟรชมาร์ท สาขาศรีโสธร ฉะเชิงเทรา” ฉลองร้านรูปแบบใหม่ รวมพลความสด-คุณภาพดี-ราคาเป็นกันเอง

        นายพูลทรัพย์ สมบูรณ์ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จะเป็นประธานเปิดร้านรูปแบบใหม่ “ซีพี เฟรชมาร์ท สาขาศรีโสธร” ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 น. มินิซูเปอร์มาร์เก็ตใจกลางเมืองแปดริ้ว ที่ปรับโฉมให้มีความทันสมัย รับวิถีปกติใหม่หรือ New normal ด้วยแนวคิด “รวมพลความสด คุณภาพดี ราคาเป็นกันเอง” พร้อมบริการส่งถึงบ้าน โดยมี นายสุจริต มัยลาภ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมด้วย ณ ร้าน ซีพี เฟรชมาร์ท สาขาศรีโสธร ถ. ศรีโสธรตัดใหม่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา



         ร้านซีพี เฟรชมาร์ท สาขาศรีโสธร เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษเอาใจชาวแปดริ้ว เลือกชิม-ช้อปอย่างจุใจ ทั้งไข่ไก่เบอร์ 3 แพ็ก 30 ฟอง, เนื้ออกไก่, เนื้อสะโพกหมู, เกี๊ยวกุ้งสับ และปลาแพนกาเซียสดอร์รี่แล่ ตั้งแต่วันนี้ – 30 พฤศจิกายน 2563

ทุกฝ่ายเข้มแข็ง ยกระดับตรึงกำลังป้องกัน ASF ในสุกร


ทุกฝ่ายเข้มแข็ง ยกระดับตรึงกำลังป้องกัน ASF ในสุกร

โดย ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสุกรในอาเซียนและจีน

         นอกจากโควิด-19 ที่ประชาคมโลกยังคงต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งแล้ว ในวงการหมูทั่วโลกก็ยังคงต้องเกาะติดกับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่แพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมหมูในหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2451 ปัจจุบันมีการระบาดในกว่า 34 ประเทศทั่วโลก และยังคงพบรายงานการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและเป็นวงกว้าง สำหรับละแวกเพื่อนบ้านเรา พบการระบาดทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา

        ขณะที่ประเทศไทยยังคงสถานะประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ “ปลอดจากโรคนี้” แต่ด้วยความเสี่ยงที่ ASF อาจเล็ดลอดเข้ามาไทยได้ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่มีช่องทางติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน “การ์ดที่ตั้งไว้สูงอยู่แล้ว ยิ่งต้องยกให้สูงขึ้นไปอีก” เพื่อให้สามารถป้องโรคนี้ให้ได้อย่างเด็ดขาด เกิดเป็นความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคผู้ผลิต รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศ จำนวน 192,889 ราย ในการเฝ้าติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมกันวางแผนเตรียมความพร้อม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้อย่างเข้มแข็ง ดังที่ฟันฝ่าทุกปัจจัยเสียงทำให้หมูไทยกว่า 12.99 ล้านตัว ปลอดภัยจากโรคนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

        ที่น่ายินดีกว่านั้นคือ ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติให้ “ยกระดับมาตรการขั้นสูงสุด” เพื่อสะกัดกั้นไม่ให้โรค ASF เข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างเด็ดขาด เริ่มจากการเสนออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เร่งด่วน เพื่อป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบเสนอของบประมาณจำนวน 1,111.557 ล้านบาท

        ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการป้องกันโรค อาทิ เข้มงวดการตรวจสอบนักท่องเที่ยวห้ามนำผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในประเทศไทย การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแก่สาธารณชน เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างความตระหนักและการรับรู้ที่ถูกต้องทันสถานการณ์ ควบคู่กับการตรวจสอบและเฝ้าระวังข่าว การรับแจ้งโรค และการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity system)

พร้อมขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ลูกจ้างเหมาบริการ ตามโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ในการบันทึกข้อมูลและประสานงานด้านการเกษตรในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และยังแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์ และกำหนดมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคที่เหมาะสม โดยที่ประชุมอนุมัติในหลักการและให้กรมปศุสัตว์ ศึกษาโครงสร้างและขอบข่ายหน้าที่ภารกิจให้ชัดเจน และนำเสนอที่ประชุมครั้งหน้า

        การยกระดับมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวด ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินงานงบประมาณและบุคลากร ผ่านการร่วมมือกันบูรณาการดำเนินงานทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดนี้ เป็นภาพสะท้อนและช่วยตอกย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในวงการหมูทั้งหมด ที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์

         ตราบใดที่ทุกคนยังคงมุ่งมั่นในการสร้างค่ายกลป้องกันโรคที่แน่นหนา และร่วมกันสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะปกป้องไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทย ที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ได้อย่างแน่นอน


 

กรมประมง นำร่องดัน 4 ชุมชนประมงท้องถิ่น เข้าโครงการ Fisherman’s Village Resort เปิดท่องเที่ยววิถีประมง หวังสร้างรายได้ให้ชุมชน

            กรมประมง คัดเลือก 4 ชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน : ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปากพนัง  จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนประมงต้นแบบบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่  ชุมชนบ้านโคกไคร และ ชุมชนบ้านบางพัฒน์ จังหวัดพังงา  นำร่องเข้าโครงการ Fisherman’s Village Resort โชว์ของดีของวิถีประมงท้องถิ่น ดึงเสน่ห์ความเป็นชุมชนประมง ทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การทำอาชีพประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลสดๆ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวประมงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะปั้นเป็นโมเดลแหล่งเกษตรท่องเที่ยวในอนาคต



            นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า จากนโยบาย ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินภารกิจต่างๆ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย โดยนายอลงกรณ์  พลบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีดำริให้กรมประมงส่งเสริมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านให้มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ในรูปแบบของการนำผลผลิตสัตว์น้ำที่จับมาได้มาสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวพักผ่อนในแหล่งชุมชนประมงพื้นบ้าน



กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการ Fisherman ‘s Village Resort ขึ้น เพื่อดึงเอาศักยภาพของชุมชนประมงพื้นบ้านใน 22 จังหวัดชายทะเล และชุมชนประมงในแหล่งน้ำจืด ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ใกล้ตัว ทั้งอาหารทะเลที่สดใหม่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  วิถีการทำประมง รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ที่ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ซื้อหาและรับประทานอาหารทะเลสดๆ ราคาถูกไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยังช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากรายได้จากการทำประมงเพียงอย่างเดียวด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมงในชุมชน บนฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ ซึ่งถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับฐานราก สร้างธุรกิจชุมชน จากการจำหน่ายอาหารทะเลให้แก่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพในชุมชนเกิดการกระจายรายได้ อีกทั้งยังจะสร้างให้เป็นศูนย์เรียนรู้โมเดลเกษตรท่องเที่ยว (Agricultural Tour) แก่ชุมชนประมงแห่งอื่นๆ ต่อไป และอาจมีส่วนช่วยให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนมีงานทำในถิ่นฐานของตน ไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิด  อย่างไรก็ตาม โครงการฯ ดังกล่าว ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงานไว้ว่าจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนด้วย



            โดยขณะนี้ กรมประมงได้คัดเลือกหมู่บ้านชุมชนชาวประมงชายฝั่งทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และ ฝั่งทะเลอันดามัน รวมจำนวน 4 แห่ง นำร่องเข้าร่วมโครงการ Fisherman’s Village Resort แล้ว ประกอบด้วย

            1. ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จากจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 แห่ง คือ ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปากพนัง ซึ่งประกอบด้วย บริเวณบ้านปากพูน  บ้านท่าซัก (ปากพญา) อำเภอเมือง  และ  บ้านแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง  ซึ่งชุมชนทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวปากพนัง จึงมีจุดเด่นในวิถีการทำประมงแบบยั่งยืน  ชาวประมงในชุมชนอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ประมงหน้าบ้าน มีแพลอยน้ำเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกทั้ง ยังมีแหล่งอนุรักษ์หอยแครง ธนาคารปูม้า  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม มีกิจกรรมมากมายให้ได้สัมผัส เช่น การหาหอยจุ๊บแจง เดินชมอุโมงค์อเมซอนในป่าชายเลน  (Walk Way) และฝูงหิ่งห้อยที่ส่องแสงสว่างไปทั่วคุ้งน้ำ นอกจากนี้ ที่บ้านแหลมตะลุมพุก ยังมี Story เรื่องราวของแหลมตะลุมพุกที่โดนพายุแฮเรียตพัดขึ้นฝั่งจนสร้างความเสียหายประชาชนล้มตายจำนวนมากในเวลาไม่กี่ และมีจุด check in แหลมตะลุมพุก ที่สามารถไปปักธงชาติที่ปลายแหลม เป็นไฮไลท์ของชุมชนแห่งนี้อีกด้วย ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ภายใน 1 วัน หรือ จะพักค้างแรมก็มีโฮมสเตย์บริการ และหากอยากซื้อของฝากก็มีผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้านแปรรูป และอาหารทะเลสดๆ จำหน่ายอีกด้วย

            2. ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลอันดามัน จากจังหวัดกระบี่ และ พังงา จำนวน 3 แห่ง ดังนี้

               2.1 ชุมชนประมงต้นแบบบ้านไหนหนัง  หมู่ที่ 3 ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน มีสัตว์น้ำและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวประมงต่างรักและหวงแหนทรัพยากรในพื้นถิ่น ประกอบกับกรมประมงได้เข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งในเรื่องของการใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย มีการรณรงค์ให้มีการยกเลิกใช้เครื่องประมงที่มีประสิทธิภาพ คนในชุมชนจึงได้ร่วมใจกันหยุดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างสูง นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นฟูทรัพยากรประมง เช่น การทำประมงด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น การทอดแห การใช้เบ็ดตกปลา การจัดทำเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูหอยชักตีน  หอยจุ๊บแจง หอยแครง ปูทะเล การจัดตั้งธนาคารปูม้าไข่ ธนาคารบ้านปลา และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำ  ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีการทำประมง ที่น่าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส นอกจากนี้ ที่ชุมชนบ้านไหนหนัง ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น หุบผาปีศาจ  ภาพเขียนโบราณ หน้าต่างมนุษย์โบราณ ณ เขากาโรส  แหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง แหล่งวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้ง  ไร่นาสวนผสม ฯลฯ ที่น่าสนใจอีกด้วย

2.2 ชุมชนบ้านโคกไคร หมู่ที่ 1 ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ซึ่งวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง บ้านโคกไคร จะมีการทำประมงเพื่อยังชีพ มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวพังงาด้วย โดยชาวประมงบ้านโคกไคร มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเกษตรกรชั้นนำศูนย์กลางการแปรรูปสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนำภูมิปัญญาและของดีในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชน มีผลิตภัณฑ์เด่น คือ "กุ้งย่าง" ซึ่งถือเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัดพังงา มีวิถีประมงเชิงอนุรักษ์ ด้วยการทำธนาคารปูม้า และ ธนาคารหอยนางรม ซึ่งพื้นที่บ้านโคกไคร เป็นแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่สำคัญของประเทศไทย  และมีวิถีธรรมชาติ "ปูมดแดง" บริเวณบนหาดตั้งเลน สปาโคลน คลองมะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกด้วย

               2.3 ชุมชนบ้านบางพัฒน์ หมู่ที่ 8 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นชุมชนบนเกาะในอ่าวพังงา ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีร้านและแหล่งอาหารทะเลสด วิถีการทำประมงที่เก่าแก่ กิจกรรมทางการประมง เช่น ปล่อยปู (ธนาคารปู) การตกปลา  เดินหาหอย  ปลูกป่าชายเลน ฯลฯ และมีโฮมสเตย์สำหรับบริการให้แก่นักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์อีกด้วย



            โดยจากนี้ กรมประมงเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการชุมชนประมงที่เข้าร่วมโครงการ Fisherman’s Village Resort เพื่อให้ชุมชนได้สามารถนำไปพัฒนาชุมชนให้มีระบบและมีการจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนประมงที่มีศักยภาพที่สมบูรณ์และกลายเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 จะดึงศักยภาพของชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีอยู่และนำมาพัฒนาให้สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ในทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล และจะขยายไปยังชุมชนประมงน้ำจืดอีก 4 แห่ง ด้วยในอนาคต

 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประกาศความสำเร็จกิจกรรม #วิ่งเพื่อไก่ “Change for Chickens RUN 2020” ครั้งแรกในประเทศไทย

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดงานวิ่งเพื่อร่วมรณรงค์ให้ไก่ได้มีคุณชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กิจกรรม “Change for Chickens RUN 2020” พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตะลุยฐานจำลองชีวิตไก่ในฟาร์ม เพื่อเรียนรู้สภาพชิวิตไก่ที่อาจไม่เคยได้รู้  ณ พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี การจัดกิจกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย โดยได้รับความสนใจพร้อมเสียงตอบรับในการเข้าร่วมวิ่งอย่างมากมาย ทั้งจากหน่วยงานราชการ เอกชน เยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวัสดิภาพไก่ในฟาร์ม พร้อมทั้งสานต่อโครงการ Change for Chickens



นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้เราดีใจมากที่มีผู้ที่ออกมาร่วมแสดงความใส่ใจในสวัสดิภาพไก่และใส่ใจในสุขภาพที่ได้มาร่วมวิ่งกับเราอย่างล้นหลาม ซึ่งเป็นการแสดงถึงพลังในการร่วมผลักดันในเกิดการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่โดยเร่งด่วน ที่ผ่านมาเราได้ทำงานรณรงค์เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพไก่มาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการพัฒนาสวัสดิภาพไก่ในฟาร์ม หรือ Change for Chickens ประชาชนให้การสนับสนุนโดยการร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมากและรวดเร็วกว่า 15,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันให้ฟาร์มเลี้ยงไก่และบริษัทฟาสต์ฟู้ดร่วมตอบสนองต่อกระแสสังคมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของไก่ให้มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมวันนี้จะเป็นการจุดประกายให้เกิดความร่วมมือระหว่างเราและผู้ประกอบกิจการต่างๆ อาทิ เคเอฟซีและบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำ ในร่วมปรับปรุงสวัสดิภาพไก่ไปด้วยกัน เพื่อเป็นต้นแบบที่น่าชื่นชมและเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีในวงกว้างต่อไป

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการด้านสวัสดิภาพไก่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจัดกิจกรรม #วิ่งเพื่อไก่ “Change for Chickens RUN 2020”  ครั้งนี้โดยเน้นการสร้างการเรียนรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของไก่ในฟาร์มในรูปแบบ Fun Run ระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งมีประชาชนทุกช่วงวัยร่วมกิจกรรมอย่างมากอีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ปกครองและคุณครูที่นำเด็กและเยาวชนมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวนหลายร้อยคนซึ่งถือเป็นการปลูกฝังทัศนติที่ดีในด้านสวัสดิภาพสัตว์พร้อมได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของไก่ในฟาร์ม ผ่าน 5 ฐานกิจกรรมตลอดเส้นทางการวิ่ง โดยแต่ละฐานจะเชื่อมโยงกับเรื่องราวชีวิตของไก่ในฟาร์ม ได้แก่ฐาน 1: ไก่ไม่เห็นตะวัน , ฐาน 2: ไก่อกโตจนเดินเซ , ฐาน 3: ไก่อึดอัด , ฐาน 4: ไก่ออดแอด , ฐาน 5: ไก่ชุปแป้งทอด




นอกจากกิจกรรม “Change for Chickens RUN 2020”  ที่ได้จัดขึ้นในวันนี้แล้ว องค์กรฯ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ Change for Chickens ผ่านเว็บไซด์เพราะทุกการสนับสนุนคือการร่วมแสดงออกถึงพลังในการขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการปรับปรุง รวมถึงการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมให้ดี่ขึ้น เพราะหากยิ่งมีจำนวน ผู้ร่วมการลงชื่อมากเพียงใด บริษัทฟาสต์ฟู้ด ฟาร์มอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ย่อมตระหนักถึงกระแสสังคมที่ต้องการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่โดยเร่งด่วนเพราะส่วนใหญ่ของผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการคือกลุ่มลูกค้าหลักที่สำคัญ โดยตั้งแต่เริ่มกิจกรรมรณรงค์จนถึงขณะนี้ได้มีผู้บริโภคและประชาชนสนใจร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการกว่า 15,000 รายชื่อแล้ว แต่เรายังต้องการแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพราะทุกท่านคือส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้ไก่ในฟาร์มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยสามาถติดตามกิจกรรมต่างๆขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ที่https://www.worldanimalprotection.or.th/ และทุกท่านที่สนใจสามารถร่วมรณรงค์หยุดการทรมานไก่ในฟาร์มระดับอุตสาหกรรมกับเราได้ด้วยการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะยกระดับสวัสดิภาพไก่ภายในปี 2563 นี้ ผ่านการลงชื่อสนับสนุนโครงการที่ https://rb.gy/y4suo1 ปัจจุบันมีผู้บริโภคและประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการกว่า 15,000 รายชื่อ

 

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วว. ดันอุตสาหกรรมชีวภาพ สร้างรายได้ สร้างประโยชน์สู่ชุมชน


             อุตสาหกรรมชีวภาพ  หรือ Bio Industry คือ อุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology ในการผลิตสินค้าเช่น เคมีภัณฑ์ อาหาร ยา อาหารสัตว์บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต และเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย ทำให้อุตสาหกรรมชีวภาพมีการเติบโตมากขึ้น



นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว.หน่วยงานสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ทาง วว.ได้มีการวิจัยและพัฒนางานอุตสาหกรรมชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากผลงานของนักวิจัยที่สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้แล้ว ยังมี งานบริการประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆอย่างเช่นการจัดตั้ง ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่น ขึ้นมา เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขอเอกสารได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ได้บูรณาการร่วมกันกับ อย. โดยเป็นไปตามมาตรฐานของ อย. ที่ได้กำหนดรูปแบบไว้แล้ว โดยมีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มีเครื่องมือที่ทันสมัย และมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการวิจัย บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ด้านอาหารฟังก์ชั่นอย่างครบวงจร ครอบคลุม 13 สาขาวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของผู้ประกอบการ ที่จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมตามหลักมาตรฐานสากล



นอกจากนี้ยังมี ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นศูนย์ วิจัยพัฒนา การผลิต และบริการจุลินทรีย์ โพรไบโอติกอย่างครบวงจร จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ทาง วว.ได้ให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์ โพรไบโอติก ตลอดจนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางด้านการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงโครงการวิจัยกับหน่วยงานต่างๆอีกด้วย และให้ความสำคัญด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกในบทบาทของการป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆของมนุษย์ เช่นความสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร การลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรังอย่างเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง  การป้องกันและลดอาการของโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร การปรับสมดุลระบบกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การป้องกันโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร การป้องกันฟันผุ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อมนุษย์ที่ทาง วว.ได้ศึกษาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง




ทาง วว.ยังมีผลงานอุตสาหกรรมชีวภาพที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมน้ำตาลสุขภาพ GI ต่ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอ้อยธรรมชาติ สู่กระบวนการแปรรูปทางชีวภาพ มีผลทำให้ระบบการย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างช้าๆและต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าสม่ำเสมอและคงที่  เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด และยังมีงานวิจัยและพัฒนาใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ มาผลิตเป็นน้ำหอมจากขนแพะ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ  ก่อให้เกิดรายได้และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชนให้มากขึ้น และยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำพุร้อนเค็ม จากจังหวัดกระบี่ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในรูปแบบของ สเปรย์น้ำแร่ ซีรั่มบำรุงผิว ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย เป็นการสร้างเอกลักษณ์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีนายสายันต์ กล่าว

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กรมประมงจัดแข่งขันตกปลาในแหล่งน้ำปิด สร้างความสมดุลของธรรมชาติ ลดปัญหาปลานักล่าทำลายปลาเศรษฐกิจ


             เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ณ เขื่อนชลประทานปราณบุรี หมู่ที่ 8 ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง เป็นประธานพิธีปิดการแข่งขันตกปลา "PRANBURI FISHING GAME PROFESSIONAL START UP" ครั้งที่ 2 พร้อมมอบถ้วยรางวัลจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้วยรางวัลจากผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท ให้กับนักกีฬาผู้ชนะการแข่งขันกิจกรรม



ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาแนวทางในการบริหารแหล่งน้ำปิดที่ขาดความสมดุลของธรรมชาติจากการมีปลานักล่าเป็นจำนวนมากส่งผลทำให้ปลาเศรษฐกิจในธรรมชาติลดจำนวนลง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานพบว่าบริเวณเขื่อนปราณบุรีมีปลาชะโด ปลากระสูบ (ปลานักล่า) แพร่กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก กิจกรรมดังกล่าวจึงถูกกำหนดจัดขึ้นเพื่อช่วยลดความหนาแน่นของปลาดังกล่าวและเป็นการช่วยเพิ่มอัตรารอดให้กับลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักตกปลาและชาวเรือในเรื่องเรือ-การตกปลา ตลอดจนเป็นการยกระดับกีฬาและนักกีฬาตกปลาของไทยให้ก้าวสู่การเป็นมืออาชีพและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย




สำหรับกิจกรรมได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2563 ณ เขื่อนปราณบุรี โดยมีนักกีฬาตกปลาโดยมีเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น จำนวน 95 คน เรือจำนวน 64 ลำสามารถจับปลาชะโดและปลากระสูบขึ้นจากแหล่งน้ำได้จำนวนทั้งสิ้น 65.6 กก. และในปีงบประมาณ 2563 กรมประมงได้มีแผนการปล่อยสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาทิ กุ้งก้ามกราม ปลาตะเพียน ปลายี่สก ฯลฯ ลงบริเวณเขื่อนฯ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ตลอดจนการดำเนินการตามแผนการควบคุมการทำประมงในช่วงฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน (1 มิถุนายน-31 สิงหาคม ของทุกปี)




อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับกติกาการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ที่ต้องเคียงคู่กับมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ  อาทิ  การกำหนดขนาดความยาวสัตว์น้ำ ปลาชะโดความยาว 45 ซม. ขึ้นไป ปลากระสูบความยาว 20 ซม. ขึ้นไป โดยผู้แข่งขันจะต้องมีคลิปวิดีโอยืนยันการจับในทุกขั้นตอน มีการกำหนดห้วงเวลาในการจับที่ชัดเจน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป

                                     

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...