“เฉลิมชัย” ชวนเกษตรกร เปลี่ยน “ปลูก”
ให้ “ใช่” สู่พืชเศรษฐกิจรายได้สูงที่ตลาดต้องการ นำร่อง กล้วยหอมทอง อ.แม่แตง
การันตีราคาขาย พร้อมเตรียมจับมือ Beisia นำเข้าผลผลิตสู่ญี่ปุ่น
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า
ภาคเกษตรมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยที่ผ่านมา ได้ยึดหลัก “ตลาดนำการเกษตร” ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายอย่างเหมาะสมเพื่อให้ก้าวทันยุคสมัย
ซึ่งนอกจากการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแล้ว
สินค้าเกษตรต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย และแน่นอนว่า
สิ่งสำคัญที่ถือเป็นหัวใจหลักของการผลิต คือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้เหมาะสม
โดยผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่พืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก
(Zoning by Agri-Map) ที่ตลาดมีความต้องการสูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จึงได้เตรียมวางแนวทางเพื่อดำเนินโครงการ เปลี่ยน “ปลูก” ให้ “ใช่” เพื่อให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับแน่นอน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
และยังให้ผลตอบแทนที่สูง คุ้มค่าแก่เกษตรกร โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ
สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร และรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป
รวมถึงยังลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร ด้วยการร่วมมือกับบริษัทประกันภัยสินค้าเกษตร
รองรับกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน
สามารถคงคุณภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยืดอายุของสินค้าเกษตร
สร้างโอกาสในการส่งออกไปสู่ตลาดโลก อีกทั้งยังก่อเกิดการจ้างแรงงานภาคเกษตรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
โดยปัจจุบัน มีสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ผลผลิตไม่เพียงพอและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
อาทิ กล้วยหอมทอง โกโก้ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วลันเตา ข้าวโพดฝักอ่อน มะปราง มะยงชิด
การดำเนินโครงการดังกล่าว
ขณะนี้ได้มีการศึกษาและเริ่มนำร่องแล้วในพืชเศรษฐกิจ กล้วยหอมทอง เป็นชนิดแรก
กำหนดพื้นที่เป้าหมายจำนวน 300 ไร่ อ.แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ตามแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning)
เหมาะสมกับการเพาะปลูกกล้วยหอมทอง
โดยเบื้องต้นมีการหารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอมทอง
เกษตรกรแปลงใหญ่ Young Smart Farmer
ผู้ประกอบการ และเกษตรกรรายอื่นๆ ในพื้นที่ ที่สนใจปรับเปลี่ยนการผลิตสู่กล้วยหอมทองร่วมกัน
ซึ่งพบว่า พื้นที่ดังกล่าว สามารถให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน
64 ราย พื้นที่รวม 167 ไร่ กลุ่มเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 21,077 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตในเดือนที่ 9 - 11
และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 ปี) มีการจำหน่ายตามเกรดต่างๆ
ของผลผลิต โดยเกรด A ราคาที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่ 14 บาท/กก. ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 4,160 กก./ไร่
สร้างรายได้ 54,080 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 33,000 บาท/ไร่
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สำหรับผลผลิตกล้วยหอมทองที่ได้
นอกจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่น ทั้งรสชาติ และคุณประโยชน์
จึงทำให้กล้วยหอมทองไทย เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น
ซึ่งล่าสุดได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น Beisia
Supermarkets ที่มีความต้องการกล้วยหอมทองเฉลี่ย 1,125 ตัน/เดือน หรือ 13,500 ตัน/ปี นอกจากนี้
กระทรวงเกษตรฯ ยังร่วมกับทาง Beisia
และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ส่งเสริมองค์ความรู้ในการเพาะปลูก ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ เทคนิคการปลูก
การเก็บเกี่ยว โดยนำเทคโนโลยีน้ำนาโน (Fine
Bubble Technology) ที่มีการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น
เพื่อรักษาสภาพและยืดอายุของสินค้าเกษตรในการส่งออกอีกด้วย
เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือ MOU ร่วมกันระหว่างกลุ่มเกษตรกร
Beisia Supermarkets และบริษัทประกันภัย ในช่วงต้นปี 2564 โดยกระทรวงเกษตรฯ
จะเป็นผู้ดำเนินการหลักในการประสานความร่วมมือ MOU ดังกล่าว
และหลังจากนั้นจะขยายผลการดำเนินโครงการไปยังกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ Young
Smart Farmer กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการผลิตพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ
ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในระยะต่อไป
เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะยังคงขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตร อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง
ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่
ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big data และ Agri – Map Online เพื่อให้เกษตรกรมีการวางแผนและเลือกเพาะปลูกพืชได้อย่างเหมาะสม
ได้ผลตอบแทนสูง อีกทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โดยยังคงเน้นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์เพื่อให้สอดรับยุค
New Normal เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน GDP ภาคเกษตรเติบโต
อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพ และความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร ตลอดจนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
อย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพร่วมกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น