วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เกษตรฯ เตรียมจัดมหกรรม “เกษตร อัจฉริยะ” โชว์นวัตกรรมทางการเกษตร ที่สุพรรณบุรี


             นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรม เกษตร อัจฉริยะครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 โดยมี นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายมนัส กำเนิดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นางสมรัก บุษปธำรง รองผู้อำนวยการด้านบริหาร องค์การสะพานปลา และนายประพันธ์ ลีปายะคุณ ผู้ตรวจราชการกรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี





นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับภาคเอกชน จัดงานมหกรรม เกษตร อัจฉริยะครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน ถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือ เกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิดสามประการ ได้แก่ ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบด้วย 1) เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น 2) เกษตรปลอดภัย 3) เกษตรชีวภาพ 4) เกษตรแปรรูป และ 5) เกษตรอัจฉริยะ



นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า งานมหกรรม เกษตร อัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้นำนิทรรศการนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ อาทิ การจัดกิจกรรมประกวดสัตว์ที่เลี้ยงผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การประกวดกระบือ ไก่พื้นเมืองสวยงาม โคเนื้อ และแพะ จากกรมปศุสัตว์ การจัดแสดงผลงานวิจัยพันธุ์ข้าว นวัตกรรมการลดต้นทุน การแปรรูปและจำหน่ายข้าว จากกรมการข้าว กิจกรรมสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพในระยะสั้น เช่นการเลี้ยงจิ้งหรีดครบวงจร จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) IoT เกษตรนอนตีพุง พื้นที่ ส.ป.ก.ทองคำ จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การจัดแสดงนิทรรศการฝนหลวง พร้อมจัดแสดงเครื่องบินฝนหลวง จากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการวันดินโลก สาธิตการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา จากกรมพัฒนาที่ดิน การจัดแสดงนิทรรศการด้านน้ำ จากกรมชลประทาน การจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีเรื่องกุ้งก้ามกราม

การประกวดปลาสวยงาม ปลากัด จากกรมประมง การจัดแสดงนิทรรศการสารชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช จากกรมวิชาการเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการและการปล่อยสินเชื่อเงินกู้แก่เกษตรกร จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นิทรรศการ Application Smart ME จากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การจัดแสดง Application พยากรณ์ จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการทำการเกษตรในพื้นที่แคบ โรงภาพยนตร์ 2 มิติ จากพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดแสดงการปลูกพืชในโรงเรียน (ทำน้อยได้มาก) จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) การจัดแสดงนิทรรศการศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NBAC) และ Application กระดานเศรษฐี จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตผล ผลิตภัณฑ์ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสินค้าอุปโภคในราคาถูก อาทิ การประกวดและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร จากกรมส่งเสริมการเกษตร การจำหน่ายสินค้ากลุ่มประมง จากองค์การสะพานปลา การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา จากการยางแห่งประเทศไทย การแปรรูป หม่อน ถั่งเช่า และจำหน่ายสินค้า ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อน จากกรมหม่อนไหม นวัตกรรมเลี้ยงโคนม เครื่องรีดนมโค และแจกผลิตภัณฑ์นม จากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ OTOP จากพัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี การแสดงแปรอักษรผ่านอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และจำหน่ายสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหาร จากหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้เข้าชมงาน ได้ชมและศึกษาความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัย รวมไปถึงการเป็นสื่อกลางในการพบปะ แลกเปลี่ยนทรรศนะทางด้านการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค ด้วยการนำผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างใกล้ชิด




นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรีถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก มีแหล่งน้ำธรรมชาติ การชลประทานเหมาะสมแก่การเกษตร พื้นที่อุดมสมบูรณ์ นับได้ว่าเป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา และปศุสัตว์ ที่เป็นอาชีพหลักของประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงหรือ เกษตรอัจฉริยะมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จะส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และในโอกาสนี้ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงโชว์แปรอักษรด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และที่สำคัญมีการจัดกิจกรรมงานเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรี ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...