วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

กรมประมง เร่งสร้างจิตสำนึกประมงพื้นบ้าน จัดการทรัพยากรลูกหอยแครงในธรรมชาติ ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม สูงสุด


 

จากกรณีที่มีข่าว เรือตรวจการของกรมประมง ถูกกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านซึ่งทำผิดกฎหมาย บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี ขับเรือพุ่งชน จนเป็นเหตุให้เรือตรวจการประมงเสียหาย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย โดยสาเหตุของความผิดนั้นคือ การลักกลอบทำการประมงหอยแครง ด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ทั้งเครื่องมือคราดลูกหอยแครง  อวนลากคานถ่าง มุ้งทำถุงอวนลากเก็บลูกหอยแครง ซึ่งเป็นการทำประมงที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินอย่างมาก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่มักเจออยู่เป็นประจำในกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มเล็กๆ แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงจะมีมาตรการกำกับดูแลทั้งในด้านกฎหมายและการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมงแล้วก็ตาม



นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า โดยปกติแล้ว ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล กรมประมงได้แบ่งเขตการประมงออกเป็นการทำประมงนอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป หรือเรียกว่าสถานีเรือประมงพาณิชย์ และการทำประมงชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นการทำประมงพื้นบ้าน ที่ปัจจุบันกรมประมงได้รับขึ้นทะเบียนไว้แล้วประมาณ 56,000 ลำ โดยการทำประมงในเขตชายฝั่งนั้น กรมประมงได้ออกกฎหมายประมงฉบับใหม่มาบังคับใช้ ห้ามเรือประมงขนาดใหญ่เข้าทำการประมงในเขตพื้นที่นี้ จึงได้ส่งผลให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และก่อให้เกิดพันธุ์สัตว์น้ำมากมาย โดยเฉพาะลูกหอยแครง ที่เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการพบว่า หอยแครงสามารถวางไข่ได้ตลอดปี แต่ช่วงที่วางไข่มาก จะอยู่ระหว่างช่วง ต.ค. ธ.ค. และช่วง มี.ค. ส.ค. ซึ่งเมื่อวางไข่แล้วลูกหอยแครงจะมีโอกาสแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำที่พัดพาในรัศมี 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ และจะตกลงพื้นเคลื่อนตัวเพื่อหาแหล่งอาหารหรือสภาพที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตเพื่อเติบโตเป็นหอยแครงเต็มวัยต่อไป  




โดยที่ผ่านมา กรมประมงได้มีมาตรการในการอนุรักษ์หอยแครง เดิมเป็นมาตรการที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้กำหนดห้ามมิให้ทำการประมงคราดหอยประกอบเรือกล ในเขต 3,000 เมตร นับจากฝั่ง และห้ามจับลูกหอยแครงที่มีขนาดต่ำกว่า 6 มิลลิเมตร ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม แต่เมื่อมีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ออกมาบังคับใช้  ได้มีการกำหนดให้สามารถทำการประมงหอยแครงในเขตทะเลชายฝั่งได้โดยการจับด้วยมือหรือเครื่องมือที่ไม่ใช้ประกอบเรือกล แต่ยังคงห้ามเครื่องมืออวนลากหรือคราดหอยในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงเช่นเดิม ส่วนในเขตทะเลนอกชายฝั่งให้ใช้คราดหอยประกอบเรือกลได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงประมงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งเป็นการผ่อนผันให้มีความสอดคล้องกับวิถีประมงในปัจจุบัน แต่ในกรณีของชาวประมงพื้นที่มีการลักลอบทำการประมงหอยแครง ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ถือเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และยังเป็นการทำประมงที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ชุกชุมของลูกหอยแครง

“แม้ที่ผ่านมา กรมประมงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยึดหลักการมีส่วนร่วมที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนประมงท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้พี่น้องชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นกำลังหลักในการวางแผนเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้อง และร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการ งดเว้นการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดความสูญเสีย ลดความขัดแย้ง สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพประมงได้ แต่จะมีเพียงชาวประมงกลุ่มเล็กๆ ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือและขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมประมงจะต้องสร้างความเข้าใจ เพื่อดึงกลุ่มเล็กๆ ที่เหลือเหล่านี้ให้เข้ามาสู่ในระบบ ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายประมงอย่างเคร่งครัด โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการชุมชนประมงของตนในการจัดการทรัพยากร การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนต่อไป”รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย

                                    

 

 

 

กรมหม่อนไหมชูคุณภาพความปลอดภัย “ถั่งเช่าไหมไทย" ยืนหนึ่ง พร้อมเร่งถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่เกษตรกรสร้างรายได้ช่วงโควิด-19


กรมหม่อนไหมสบช่องกระแส ถั่งเช่าตลาดบูม  เร่งดันผลงานวิจัย ถั่งเช่าไหมไทย" ที่ผลิตจากดักแด้ไหมไทยถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ช่วงวิกฤติโควิด-19 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นการันตีคุณภาพและความปลอดภัยเต็งหนึ่ง ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ว่าปลอดภัย เร่งต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้อนสู่ตลาดผู้รักสุขภาพ



นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า เพื่อรองรับกระแสการนิยมบริโภคการของตลาด ถั่งเช่าในประเทศและส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้มอบหมายให้ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ (ศมม.เชียงใหม่) จัดฝึกอบรมหลักสูตร "การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยเพื่อผลิตเป็นถั่งเช่าไหมไทย" ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ต.หนองควาย อ.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยเพื่อผลิตเป็นถั่งเช่าไหมไทยแก่เกษตรกรให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตถั่งเช่าไหมไทย สร้างรายได้ สร้างอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้  โดยดำเนินการภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัด สำหรับการผลิตถั่งเช่าไหมไทย เป็นความสำเร็จจากการศึกษาวิจัย ระหว่างกรมหม่อนไหม ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เมื่อปี 2556 และได้รับอนุสิทธิบัตรการผลิตถั่งเช่าไหมไทย เมื่อปี 2558 โดยการผลิตถั่งเช่าไหมไทยนั้น เป็นการนำผลผลิตจากไหม (ดักแด้ไหมไทย) มาเพิ่มมูลค่าโดยแปรรูปเป็นถั่งเช่าเรียกว่าถั่งเช่าไหมไทย เป็นเห็ดที่เจริญบนดักแด้ไหม ประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น อะดีโนซีน (Adenosine) คอร์ไดเซปิน (Cordycepin) และสารหลายชนิด มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังสามารถป้องกันรังสี UVB และช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้




กรมหม่อนไหมได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังในหนู พบว่าสามารถบริโภคด้วยปริมาณ 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนัก นอกจากนี้ การบริโภคอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักต่อวัน พบว่าไม่มีผลต่อสุขภาพและอวัยวะต่าง ๆ ของหนูที่ทดสอบแต่อย่างใด ดังนั้น ถั่งเช่าไหมไทยจึงเหมาะสมที่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้อนสู่ตลาดผู้รักสุขภาพในอนาคตต่อไปเพื่อเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน”  นายปราโมทย์  กล่าว  



นายปราโมทย์  กล่าวถึงกรณีการที่จะดูว่าถั่งเช่านั้นๆ เป็นถั่งเช่าแท้หรือปลอมนั้น    สามารถดูได้จากค่าวิเคราะห์คอร์ไดซิปินกับอะดีโนซินเป็นหลัก ซึ่งแหล่งซื้อขายถั่งเช่าในเมืองไทยขณะนี้ส่วนใหญ่ขายถั่งเช่าสีทองและถั่งเช่าหิมะบ้างบางแห่ง โดยจำหน่ายเป็นแคปซูล และชาถั่งเช่า  ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองอยู่หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงบนอาหารอื่นที่ไม่ใช่หนอนไหม หรือดักแด้ไหม เช่น เลี้ยงบนข้าวกล้อง หรือข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งถั่งเช่าที่ผลิตจากดักแด้ไหมนั้นจะมีราคาสูงกว่าถั่งเช่าที่ผลิตจากอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดอื่น 

"กรมหม่อนไหมยังคงพัฒนาการผลิตถังเช่าโดยคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และความปลอดภัยด้านสุขภาพเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปหม่อนไหมที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตอีกด้วย" นายปราโมทย์ กล่าวย้ำ   

ผู้สนใจ   สามารถซื้อได้ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ จ.น่าน  และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ จ.เชียงใหม่  ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิธีการผลิตให้กับ 2 คือ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ จ.น่าน  และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ จ.เชียงใหม่  หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม โทรศัพท์ 0 2558 7924-6 ต่อ 404 หรือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ 05 3114 096-7

 

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ปีนี้ “ลิ้นจี่ค่อมแม่กลอง” แทงช่อสะพรั่ง ผลผลิตพร้อมออกตลาด เม.ย.นี้


             นางสาวรัชนี นาคบุตร รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ลิ้นจี่นับเป็นผลไม้ทางการเกษตร ที่มีรสชาติหวาน หอม อร่อย และมีกลิ่นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคกันอย่างแพร่หลาย โดยจังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งผลผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญอันดับ 1 ในภาคกลาง เกษตรกรนิยมปลูกลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศท.10 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตลิ้นจี่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา คาดว่า ในปี 2564 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ วันที่ 22 เดือนมกราคม 2564) มีเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผล 5,194 ไร่ ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 5,203 ไร่ (ลดลง 9 ไร่ หรือร้อยละ 0.17) เนื่องจากไม่ให้ผลผลิตทุกปีเกษตรกรจึงโค่นสวนลิ้นจี่ไปปลูกส้มโอและมะพร้าวน้ำหอมแทน ส่วนผลผลิตรวม 2,415 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 998 ตัน (เพิ่มขึ้น 1,417 ตัน หรือร้อยละ 41.33) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา (ธ.ค.63 - ม.ค.64) มีอากาศหนาวเย็นนานติดต่อกันกว่า 15 วัน จึงทำให้มีโอกาสที่ลิ้นจี่จะติดผลผลิตกว่าร้อยละ 80 ซึ่งขณะนี้ผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงแทงช่อดอกแล้วร้อยละ 70 ของพื้นที่ ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนหลงฤดูในช่วงที่กำลังติดดอก ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ปีนี้ โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม พฤษภาคม 2564 และจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในสงกรานต์เดือนเมษายน 2564 ประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิตในจังหวัด



สำหรับความพิเศษของลิ้นจี่พันธุ์ค่อมหรือหอมลำเจียก นอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงดั่งราชินีผลไม้ของจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ในชื่อ ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามซึ่งมีจุดเด่นที่เมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงเข้ม รูปร่างกลมรูปไข่หรือรูปหัวใจ เมล็ดทรงยาว เปลือกมีหนามตั้งหรือหนามแหลมห่างเสมอกันทั้งลูกและไม่เป็นกระจุก หนังตึง เปลือกบาง เนื้อหนากรอบสีขาวอมชมพูเรื่อๆ เนื้อแห้ง รสชาติหวานอมฝาด มีกลิ่นหอม โดยตามปกติลิ้นจี่สมุทรสงครามจะให้ผลผลิตปีละครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ไม่ได้ให้ผลผลิตทุกปี ซึ่งบางครั้งให้ผลผลิตปีเว้นปี บางครั้งอาจทิ้งระยะห่างนานถึง 3 ปี แล้วแต่สภาพอากาศ การที่จะให้ติดผลนั้นจะต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาต่อเนื่องกันเกิน 15-20 วัน มีอายุการเก็บเกี่ยว 120 วันจะทำให้ลิ้นจี่มีรสชาติอร่อยที่สุด




ทั้งนี้ จึงฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ให้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้คุณภาพ และขอเชิญชวนผู้บริโภคสนับสนุนผลผลิตลิ้นจี่ของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งช่องทางการกระจายผลผลิตมีทั้งการจำหน่ายให้กับผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ และการจำหน่ายแบบออนไลน์โดยกลุ่มเกษตรกรเอง เพื่อกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคได้รวดเร็วและมากยิ่งขึ้น สำหรับการเลือกซื้อลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามของแท้รสชาติอร่อยนั้น ให้ดูที่ลักษณะผลจะต้องสีแดงจัด ผลจะเป็นทรงกลมไม่มากนักจะมีเหมือนบ่าสองข้าง ผิวเปลือกด้านในสีชมพูออกแดง รสชาติอาจมีติดฝาดเล็กน้อย หากแก่จัดเต็มที่รสชาติ จะหวานไม่ติดฝาด ส่วนเปลือกหนามจะต้องไม่คมมากนัก และหนามจะไม่ถี่มาก ขั้วของลูกลิ้นจี่หากมีลูกเล็ก ๆ เป็นสีเขียวแสดงว่ายังมีติดฝาดและอมเปรี้ยวอยู่บ้าง ซึ่งหากเป็นสีแดงแปลว่ารสฝาดนั้นหมดไปแล้ว หากท่านที่สนใจข้อมูลลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 โทร 0 3233 7951-54 หรืออีเมล zone10@oae.go.th

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

อ.ส.ค.ชิงนำเปิดเกมเขย่าตลาดนมรับปีฉลู วางเป้าดันยอดปี 64 ทะลุ 1.1 หมื่นล้าน

ตลาดนมในประเทศส่อแข่งเดือด อ.ส.ค.ชิงนำเปิดเกมเขย่าตลาดรับปีฉลู เตรียมดันผลิตภัณฑ์นมเย็นขายในตลาดโมเดิร์นเทรด พร้อมเร่งติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีด (High Speed) เพิ่ม2 โรงงานเพิ่มกำลังผลิตรองรับแนวโน้มการเติบโตนมไทย-เดนมาร์คในตลาดวางเป้าดันยอดปี 64 ทะลุ 1.1 หมื่นล้าน               

นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ระลอกใหม่ อ.ส.ค.ได้ปรับทิศทางการดำเนินงานของอ.ส.ค.ใน 3 ด้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบด้วย ด้านอุตสาหกรรมนม ด้านส่งเสริมด้านการตลาดและด้านกิจการโคนม    


               

   สำหรับด้านอุตสาหกรรมนม ขณะนี้ได้เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตโดยติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีด (High Speed) เพิ่มเติมจำนวน 2 เครื่องที่โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และโรงงานนม อ.ส.ค.ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำลังการผลิต 24,000 กล่อง/ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าเครื่องบรรจุเดิม รวมทั้งได้เร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 1-2 ผลิตภัณฑ์  เพื่อเพิ่มสัดส่วนตลาดธุรกิจตลาดนมพร้อมดื่มดั้งเดิมกับตลาดโมเดิร์นเทรดเป็น 50:50 ภายในปี 2564  โดยหลังจากส่งผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มปราศจากไขมัน ยูเอชที กลิ่นเสาวรสผสมบุก ตราไทยเดนมาร์ค ชิวดี ออกสู่ตลาดเมื่อกลางปี 2563 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อ.ส.ค.ได้วางตำแหน่งการตลาดจำหน่ายเดิมไว้ที่Tops Supermarket และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาขอจำหน่ายที่ 7-ELEVEN (เซเว่น-อีเลฟเว่น)เพิ่มอีก1ช่องทางตลาด          



   ส่วนด้านส่งเสริมด้านการตลาด   จากการศึกษาพบว่าเทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มนมแช่เย็น ดังนั้นภายในปีนี้ อ.ส.ค.จึงมีแผนที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์กลุ่มนมแช่เย็น  อาทิ นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม หรือดริงค์กิ้งโยเกิร์ต และไอศกรีม เป็นต้นจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดค้าขายปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade ) เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดที่มีแนวโน้มต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นไปในทิศทางเดียวกับเทรนด์การบริโภคของต่างประเทศที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์นมเย็นกันมาก  โดยต้นปีใหม่ล่าสุดได้ส่งนมโยเกิร์ตพร้อมดื่มกลิ่นเลมอนและกลิ่นสตรอเบอร์รี่เข้าไปวางจำหน่ายใน 7- ELEVEN (เซเว่น-อีเลฟเว่น)ซึ่งก็ได้ผลตอบรับในทางที่ดี           

    ทั้งนี้ แม้ปีนี้อ.ส.คจะหันมารุกตลาดขยายช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดModern Trade และ Convenience Store มากขึ้น แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการขายผ่านระบบการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ผ่านลาซาด้า(LAZADA) และช้อปปี้ (Shopee)  เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ครอบคลุมเป้าหมายมากทุกกลุ่ม เพื่อขยายช่องทางตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนมของ อ.ส.ค. ให้มากที่สุด 

ส่วนด้านกิจการโคนมได้นำกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามมาตรควบคุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างเข้มงวด รวมทั้งได้บูรณการความร่วมมือกับบริษัท เบทาโกร จำกัดและบริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) ด้านส่งเสริมการเลี้ยงโคนมโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาฟาร์มโคนมของสมาชิกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น            

   “สำหรับยอดจำหน่ายในปี 2563 ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ทำยอดขายได้ 9,500 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายปี 2564 จากการปรับทัพการบริหารและปรับแผนการตลาดเชิงรุกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เรามั่นใจว่าจะสามารถผลักดันยอดขายได้ตามเป้าคือ 11,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน  นายสุชาติ กล่าว          

 

อ.ส.ค.เตรียมเปิดศูนย์เรียนรู้ฟาร์มโคนมแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ

อ.ส.ค.เตรียมเปิดฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงพ.ค.64นี้ผลักดันเป็นฟาร์มต้นแบบอัจฉริยะและแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงโคนมของประเทศ  วางเป้าจะมีประชาชนเข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10%จากปัจจุบันบันที่ 60,000 คนต่อปี  



นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm)ว่า   ตามที่คณะรัฐมนตรี( ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ อ.ส.ค.ยืมเงินจำนวน51.7ล้านบาท จากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สำหรับลงทุนในการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) ในอำเภอมวกเหล็ก  จังหวัดสระบุรี  เมื่อปี  2562 ที่ผ่านมานั้น    


   

ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อ.ส.ค.จะซื้อแม่โคประมาณ จำนวน 100 ตัวเข้าสู่ฟาร์มเพื่อผลักดันเป็นฟาร์มสาธิต และถือเป็นฟาร์มสาธิตนำร่องแห่งแรกของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศ เป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยี เช่น การสแกนเบอร์โค เพื่อเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ระบบรีดนมแบบไปป์ไลน์ที่บันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวัน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (การจัดของเสียในฟาร์ม) และคำนึงถึงการกินอยู่ของแม่โคตามหลักสวัสดิภาพสัตว ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงเป็นการจัดตั้งฟาร์มสาธิตเชิงธุรกิจในพื้นที่ของอ.ส.ค.ที่มีจำนวนแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 100 ตัว มีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์ม  เช่น  การเลี้ยงแบบขังในคอกและใช้อาหารผสมสำเร็จที่มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของโคการจัดการคอกพักโคและระบบระบายความร้อนที่ทำให้แม่โคอยู่สบายตามหลักสวัสดิภาพสัตว์การบริหารจัดการและเก็บข้อมูลโครายตัวในระบบคอมพิวเตอร์  รวมทั้งระบบการรีดนมที่มีการบันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวันมีระบบทำความสะอาดโดยมีเป้าหมายให้มีการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงสำหรับนักวิชาการเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปีละไม่น้อยกว่า 680 คน และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มไม่น้อยกว่า 10%จากปัจจุบันบันที่ 60,000 คนต่อปี         

 

กรมประมง…แจงเหตุ “ข้อพิพาทเรือประมงหอยแครง จังหวัดชลบุรี” ฝ่าฝืน..ทำประมงผิดกฎหมาย ย้ำ ! จนท. ต้องรักษาทรัพยากรให้มีใช้อย่างยั่งยืน


จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่มีกลุ่มเรือประมงผิดกฎหมายจากพื้นที่คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี หลายสิบลำ เข้าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าตรวจการประมง ด้วยการล้อมเรือ และขับเรือพุ่งชน ขณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล ชลบุรี กำลังเข้าตรวจสอบเหตุลักลอบทำการประมงหอยแครง บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้เรือตรวจการประมงเสียหาย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย   

            นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานของกรมประมง ได้รับรายงานว่ามีเรือประมงกว่า 20 ลำ กำลังทำการประมงลูกหอยแครง บริเวณเขตทะเลชายฝั่ง ด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ทั้งเครื่องมือคราดลูกหอยแครง อวนลากคานถ่าง ที่ใช้มุ้งทำถุงอวนลากเก็บลูกหอยแครง เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตนเข้าตรวจสอบ และแจ้งให้เรือหยุดทำการประมง แต่เรือเหล่านั้นกลับไม่ยอมหยุด และพยายามขับเรือพุ่งชนเรือของเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เรือตรวจการประมง 106 ได้รับความเสียหาย น้ำรั่วเข้าภายในตัวเรือ  และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย หลังจากนั้น ศูนย์ประสานการปฏิบัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1 (ศรชล. ภาค 1) ได้ส่งเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 268 พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งพบกลุ่มเรือประมง ประมาณ 40 – 50 ลำ ทั้งจากพื้นที่คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี แสมขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร และคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม หลายสิบลำ พร้อมลูกเรือกว่า 100 คน ที่พยายามขับไล่และล้อมเรือของเจ้าหน้าที่ และพยายามที่จะขอเจรจาทำประมงต่อ แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันให้หยุดทำการประมงดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และยังเป็นการทำประมงที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรีนี้  เป็นพื้นที่ชุกชุมของลูกหอยแครง เพราะดินบริเวณชายฝั่งทะเลมีสภาพเป็นหาดโคลนหรือพื้นดินเลนละเอียด ซึ่งเป็นแหล่งที่หอยแครงชอบฝังตัว โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่า หอยแครงสามารถวางไข่ได้ตลอดปี แต่ช่วงที่วางไข่มาก จะอยู่ระหว่างช่วง ต.ค. ธ.ค. และช่วง มี.ค. ส.ค.  ซึ่งเมื่อวางไข่แล้วลูกหอยแครงจะมีโอกาสแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำที่พัดพาในรัศมี 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ และจะตกลงพื้นเคลื่อนตัวเพื่อหาแหล่งอาหารหรือสภาพที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตเพื่อเติบโตเป็นหอยแครงเต็มวัยต่อไป



            ทั้งนี้ ปัจจุบัน ชาวประมงพื้นบ้านจะมีการเก็บรวบรวมลูกหอยแครงขนาด 18,000 - 20,000 ตัว/กิโลกรัม ขายเพื่อนำไปเลี้ยงต่อ 8 เดือน – 1 ปี จนตัวเต็มวัยแล้วจึงส่งขายตลาด โดยราคาลูกหอยแครง จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 800 – 1,000 บาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การทำประมงลูกหอยแครงจึงเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด โดยมาตรการในการอนุรักษ์หอยแครง เดิมเป็นมาตรการที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้กำหนดห้ามมิให้ทำการประมงคราดหอยประกอบเรือกล ในเขต 3,000 เมตร นับจากฝั่ง และห้ามจับลูกหอยแครง ที่มีขนาดต่ำกว่า 6 มิลลิเมตร ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม  แต่เมื่อมี  พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ออกมาบังคับใช้  ได้มีการกำหนดให้สามารถทำการประมงหอยแครงในเขตทะเลชายฝั่งได้โดยการจับด้วยมือหรือเครื่องมือที่ไม่ใช้ประกอบเรือกล แต่ ยังคงห้ามเครื่องมืออวนลากหรือคราดหอยในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงเช่นเดิม  ส่วนในเขตทะเลนอกชายฝั่งให้ใช้คราดหอยประกอบเรือกลได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงประมงพาณิชย์เท่านั้น  ซึ่งเป็นการผ่อนผันให้มีความสอดคล้องกับวิถีประมงในปัจจุบัน และสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำของลูกหอยแครง ที่จำเป็นต้องมีวิธีการกระจายปริมาณลูกหอยแครงไปยังแหล่งต่างๆ จึงจะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากลูกหอยแครงได้อย่างสูงสุด โดยใช้กฎหมายควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทำให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรอย่างทั่วถึง 




            ดังนั้น การที่กลุ่มชาวประมง ซึ่งมีเรือประมงพื้นบ้านที่ทำผิดกฎหมาย  อยู่ประมาณ 50 ลำ ซึ่งไม่ถึง 1% ของจำนวนเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมด ประมาณ 6,200 ลำ ที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายในเขตพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี) พยายามให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนในเชิงลักษณะกล่าวหาว่ากฎหมายประมงสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาชี้แจงกัน

            ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วานนี้ (วันที่ 25 มกราคม 2564) สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศรชล.ภาค 1  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพื้นที่  ชาวประมงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาร่วมประชุมหารือและได้ข้อสรุปว่า จะมีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงอย่างยั่งยืน โดยใช้รูปแบบการขับเคลื่อนของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในการกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดเครื่องมือ วิธี และพื้นที่ทำการประมงให้เหมาะสม ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 อีกทั้ง จะมีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในชุมชน และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย พรก.ประมง 2558 เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรลูกหอยแครงในธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม....รองอธิบดี กล่าว

 

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

“มนัญญา”ฟังเสียงผลกระทบร่างกฎกระทรวงจัดแถวสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยน เผยเบื้องต้นขยายเวลาตั้งค่าเผื่อหนี้สูญออกไป 5ปีให้เวลาปรับตัว

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการพบปะสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าพร้อมที่จะเปิดกระทรวงเกษตรฯเพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศต่อข้อกังวลในเรื่องผลกระทบของการออกร่างกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในพรบ สหกรณ์ 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พรบ สหกรณ์ 2562 ซึ่งร่างดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อ 6 ต.ค. 63 ขณะนี้ร่างอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ตามทั้งหมดอยากให้มาแสดงความเห็นเพื่อให้จบภายในรัฐบาลนี้ที่ได้ร่วมกันทำงานมาตั้งแต่ต้น เพื่อช่วยกันสร้างความแข็งแรงให้ระบบสหกรณ์ก่อนที่ครบกำหนด พ.ค. 64



"ขอให้สมาชิกไปหารือกันเองในสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ว่าจะมาหารือพร้อมกันที่กระทรวงเกษตรเมื่อไหร่ซึ่งดิฉันพร้อมทุกที่ไม่เคยหลบหรือหนีปัญหา เพราะก่อนหน้าท่านไปคุยกันเอง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการยื่นหนังสือถึงดิฉัน อย่างไรก็ตามเบี้องต้นได้ให้นโยบายไปว่ากรณีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญที่เกรงว่าจะกระทบกับการบริหารธุรกรรมทางการเงินของท่าน ก็ได้ให้ขยายเวลาออกไป5 ปีเพื่อให้เวลาปรับตัว"รมช.เกษตรฯกล่าว

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงอยู่ระหว่างคณะกรรมการกษฏีกาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย   มีกำหนดจะต้องออกประกาศภายในเดือน พ.ค.2564  และมีผลบังคับใช้ ซึ่งกรณีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญที่จะขยายเวลาออกไป5ปีนั้น จะไปใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าให้เวลา 5 ปีเพื่อให้สหกรณ์ปรับตัวเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามที่กฎกระทรวงกำหนด  ทั้งนี้ก่อนหน้ากรมได้มีการออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์เมื่อปี  2563ให้สหกรณ์สามารถปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาการชำระหนี้ หรือการลดดอกเบี้ยให้สมาชิกเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาผลกระทบมาเป็นระยะๆ

สำหรับร่างกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 2.ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงิน หรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 3.ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 4.ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยุเนี่ยน 5.ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัว ธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน



       ทั้งนี้ นางสาวเกษราวรรณ จันทร์ฉาย ประธานสหกรณ์เครดิตยุเนี่ยนบ้านแสงอรุณ จำกัด ได้ยื่นหนังสือในประเด็นผลกระทบจากร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ต่อรมช มนัญญา ในประเด็นการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินและดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระหนี้ ว่าหากร่างดังกล่าวออกมาจะกระทบกับสมาชิก ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกร  และขณะนี้ได้รับผลกระทบจากผลผลิตราคาตกต่ำ สภาพฝนฟ้าอากาศที่แปรปรวน และโควิด 19 ทำให้กระทบต่อการชำระเงิน เพราะฉะนั้นหากกฎกระทรวงนี้ออกมา จะกระทบกับสมาชิกจำนวนมาก

 

กรมประมง...เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น “สัตว์น้ำไทย ปลอดภัย กินได้ไร้ COVID -19” หลังออกมาตรการเฉพาะกิจคุมเข้มกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค


           วันที่ 25 มกราคม 2564 เวลา 11.00 น. ณ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานพิธีมอบหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19 ) สำหรับ Modern Trade ของกรมประมงให้แก่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่1) ของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19 ) สำหรับ Modern Trade ของกรมประมง

         ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่และมีการพบแรงงานที่ทำงานในแพกุ้งและบางส่วนในอุตสาหกรรมแปรรูปติดเชื้อ COVID-19  ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่ออาหารทะเลไทย ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวประมงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดห่วงโซ่การผลิต กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวจึงได้มีกำหนดมาตรฐานเฉพาะกิจเพิ่มเติมจากมาตรฐานสุขอนามัยครอบคลุมในทุกกระบวนการการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการขนส่งจากแหล่งจับ แหล่งเลี้ยง แหล่งกระจายสินค้า จนกระทั่งการเข้าสู่ระบบจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างๆ และล่าสุดได้มีการออกกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID – 19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยมาตรการเฉพาะกิจดังกล่าวมีผลบังคับใช้กลุ่มผู้ประกอบการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง 4 ประเภท ได้แก่ 1.  เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. ชาวประมง-เรือประมง 3. ผู้ประกอบการสะพานปลา-ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ 4.ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade 



           สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า Modern  จะต้องปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขในส่วนของคำแนะนำสำหรับร้านค้าสะดวกซื้อ (ซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ร้านขายของชำ) กำหนดให้ผู้จำหน่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ให้กับสถานประกอบการต้องมีการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนฯ  ทำความสะอาดพาหนะที่ขนส่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ก่อนมีการขนถ่ายเข้าสู่สถานประกอบการด้วยคลอรีน หรือน้ำยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสม คัดกรองพนักงานที่มากับพาหนะขนส่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ โดยต้องบันทึกข้อมูลประวัติเสี่ยงก่อนเข้าสถานประกอบการและปฏิบัติตาม มาตรการทางสาธารณสุข และเปลี่ยนถ่ายภาชนะที่ขนส่งสัตว์น้ำจากผู้จำหน่ายเป็นภาชนะของสถานประกอบการวางสัตว์น้ำเพื่อรอจำหน่ายแยกตามชนิด ประเภทสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสดควรใช้น้ำแข็งในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาอุณหภูมิสัตว์น้ำให้เย็นอยู่เสมอ ใช้อุปกรณ์สำหรับจับสัตว์น้ำ หรือถุงมือแบบใช้ครั้งเดียว ในบริเวณที่วางจำหน่ายสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนฯ จากการสัมผัสของผู้ซื้อและสุ่มตรวจการปนเปื้อนของไวรัสโคโรนา 2019 ในสัตว์น้ำ ในความถี่ที่เหมาะสมโดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการเฉพาะกิจที่กรมประมงกำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วจะได้รับหนังสือรับรองในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 จากรมประมง (อายุหนังสือรับรอง 1 ปี)  เพื่อเป็นการยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค



         สำหรับในวันนี้นอกจากมีการมอบหนังสือรับรองฯ ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ทางกรมประมงนำโดยดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมโซนปลาและอาหารทะเล พบว่าโซนดังกล่าวมีมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID – 19 ในสถานที่วางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ มีการบริหารจัดการการวางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำจัดแยกตามชนิด  การล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่ที่จำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ฯลฯ จะเห็นได้ว่าความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคแล้วยังเป็นการยืนยันได้ว่าสัตว์น้ำไทยปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส COVID – 19 อย่างไรก็ตามถืงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะถูกกำหนดใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงการแพร่ระบาดฯ แต่หากพ้นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ กรมประมงยังขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการยังคงปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสัตว์น้ำ



        สำหรับรายละเอียดการออกใบรับรองฯ หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชาวประมง-เรือประมง สะพานปลา-ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade ดำเนินการตามกำหนดมาตรการดังกล่าว โดยสามารถขอรับการตรวจประเมินได้ที่สำนักงานประมงจังหวัด หรือ สำนักงานประมงอำเภอทั่วประเทศ หรือ ศูนย์วิจัยฯ ของกรมประมงในแต่ละจังหวัด โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น (กมป.) โทร. 0 2597 9710 หรือ 0 2579 8200 ในวันเวลาราชการ

สทนช.ดัน “SEA” กู้วิกฤติพื้นที่ลุ่มน้ำมูล 10 จว.ภาคอีสานอย่างยั่งยืน


             สทนช.”  เร่งเดินน้าสรุปผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ขีดเส้นแล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้   พร้อมดันเป็นทางเลือกบริหารจัดการปัญหาวิกฤติลุ่มน้ำมูลทั้งระบบ หวังช่วยคนอีสาน 10 จว.พ้นวิกฤติแล้ว-ท่วมซ้ำซากในอดีต



 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “SEA ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำมูลอย่างยั่งยืนว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำมูลครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 44 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 5.5 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ พื้นที่การเกษตรประมาณ 33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 74 ปัจจุบันพื้นที่เกษตรได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้วเพียง 2 ล้านไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ที่เหลืออีกกว่า 31 ล้านไร่หรือร้อยละ 94 เป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะที่มีปริมาณฝนรายปี เฉลี่ย 85,089 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำเฉลี่ยปีละ 13,410 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนความต้องการน้ำทุกภาคส่วนมีถึง 10,155 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความสามารถในการเก็บกักน้ำมีเพียง 5,350 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 % ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด จึงส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด ทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 



 ซึ่งพบว่าแต่ละปีมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกว่า 12.4 ล้านไร่  ปัญหาน้ำท่วมที่เคยท่วมสูงสุด 3.7 ล้านไร่ (ปี 2553) รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของชุมชน การเลี้ยงปลาในกระชัง  นอกจากนี้ยังมีสภาพดินตื้น ดินเค็ม น้ำเค็ม-น้ำกร่อย ป่าไม้เสื่อมโทรม พื้นที่ป่าต้นน้ำลดลง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกแนวใหม่ที่เรียกว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่ง สทนช. นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบในการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ



สำหรับขอบเขตพื้นที่ศึกษาครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 1,282 ตำบล 151 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้นำเสนอทางเลือก อาทิ การพัฒนาพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำชั่วคราว การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าด้วยกัน การเก็บกักน้ำส่วนเกินในฤดูฝนเพื่อใช้ในฤดูแล้ง แนวทางพัฒนาหาน้ำต้นทุนจากแหล่งที่มีน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ การผันน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง การสนับสนุนการวิจัยการลดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ  การจัดทำโครงสร้างใต้ดินเพื่อจัดเก็บน้ำส่วนเกิน (บ่อกักเก็บน้ำฝนใต้ดิน) และระบบเครือข่ายเชื่อมโยงสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำอัตโนมัติเพื่อติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำ (Real time)  เป็นต้น

โดยผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษา SEA ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580 ) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) 

 ในกระบวนการ SEA สทนช.เน้นย้ำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ แนวทางการแก้ไข และทางเลือกของแผนงาน โดยมีการประชุมแบบเวทีย่อย ประชุมกลุ่มย่อย การสำรวจเศรษฐกิจสังคมในเชิงพื้นที่ รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำประกอบด้วย เพื่อให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืนดร.สมเกียรติ กล่าว

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...