วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

รณรงค์ดื่มนมเพื่อสุขภาพที่ดีสู้กับโควิด – 19 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการ Friday Ku Milk Day มอบนมเกษตรให้บุคลากรและนิสิต ดื่มนมฟรีทุกวันศุกร์


 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบหลักการและนโยบายในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน นมเกษตรประสบปัญหาภาวะนมล้นเกิน สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอน นมเกษตรต้องหยุดส่งนมโรงเรียน ในขณะที่การรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรยังต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงได้มอบให้ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. จัดโครงการ Friday Ku Milk Day รณรงค์ให้บุคลากรและนิสิต ดื่มนมฟรีทุกวันศุกร์ ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด -19 และ โรงเรียนปิดการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่ วันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ในจำนวน 5,000 ถุงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรที่มาทำงานให้บริการประชาชน และนิสิตหอพัก ได้ดื่มนมฟรีทุกวันศุกร์ เพื่อสุขภาพที่ดีสู้กับโควิด – 19



อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากเรามีศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. หรือโรงนม ซึ่งเป็นศูนย์สาธิตการผลิตนมที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ การสอน การวิจัย และการส่งเสริมนิสิต อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย โดยศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ภายใต้ชื่อ นมเกษตรทำการผลิตนมด้วยระบบ Pasteurization  ผ่านการตรวจสอบระบบมาตรฐานคุณภาพซึ่งเป็นไปตามหลัก GMP (CODEX) และ HACCP (Hazard Critical Control Point) โดยรับชื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร เป็นปริมาณ 7.5 ตัน/วัน จากสหกรณ์ในจังหวัดสระบุรี จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. สหกรณ์ทรัพย์ขาม 2. สหกรณ์ทรัพย์สนุ่น             3. สหกรณ์เกรทมิลด์ โดยผลิตเป็นนมโรงเรียน จำนวน 5 ตัน/วัน คิดเป็นปริมาณการผลิต 2,737.5 ตัน/ปี การรับน้ำนมดิบเข้าโรงนม จะรับจากรถขนส่งนมดิบขนาด 15 ตัน/เที่ยว ซึ่งจะสามารถนำไปผลิตเป็นนมถุงได้ 4,800ถุง/ตัน ดังนั้นการผลิตจากน้ำนมดิบ 7.5 ตัน/วัน ทำให้นมเกษตรมีนมถุงที่ผสิตได้ 7.5*4,800 ถุง เท่ากับ 36,000 ถุง/วัน ในจำนวนนี้ส่งเป็นนมโรงเรียน 24,000 ถุง/วัน และจำหน่ายเป็นนมพาณิชย์ 12,000 ถุง/วัน



 เรามีทิศทางในการดำเนินงานต่างๆสนับสนุนและเป็นโมเดลต้นแบบให้ผู้ผลิตรายอื่นได้เห็นว่าเราสามารถจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ต่อไป โดยการบริโภคนม ผู้บริโภคหลักของประเทศก็คือนักเรียน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำแคมเปญเชิญชวนให้คนดื่มนมทุกวัน ในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ มีการเชิญชวนให้ซื้อนมและร่วมส่งต่อนมให้กับโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย กับกิจกรรมพิเศษ นมเกษตรเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ สู้ โควิดรอบใหม่ จำหน่ายนมเกษตรในราคาขาดทุน 5 บาทต่อถุง โดยท่านสามารถกำหนดได้ว่าจะร่วมสนับสนุนจำนวนเท่าใด และทางศูนย์ผลิตภัณฑ์นมจะจัดส่งให้ถึงโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่ร่วมโครงการ โดยไม่มีค่าจัดส่ง




ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผลิตนมในปริมาณไม่มาก วันละประมาณ สี่หมื่นกว่าถุง แต่ในภาพรวมของประเทศปริมาณเป็นล้านๆ ถุง อยากจะขอรณรงค์ให้จังหวัดทำโครงการเหล่านี้ เพราะนักเรียนเมื่อหยุดอยู่บ้านก็ต้องดื่มนม ฝากถึงผู้บริหารของประเทศว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้นมเหล่านี้ไปถึงมือนักเรียน ถึงมือของประชาชนทั่วไป



อย่างไรก็ตาม นมเกษตรมีต้นทุนการผลิต ถุงละ 7.10 บาทโดยประมาณ ดังนั้นการจำหน่ายในราคา 6 บาท หรือ 5 บาท จึงทำให้นมเกษตรอยู่ในภาวะขาดทุน แต่จากปณิธานของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ที่เน้นว่า "ขาดทุนคือกำไร" การที่นมเกษตรรับภาระขาดทุน แต่ส่งผลให้เกษตรกรขายน้ำนมดิบได้ตามสัญญา ผู้บริโภคได้ดื่มนมคุณภาพดีอย่างถั่วถึง เช่นนี้ก็เปรียบได้ว่า นมเกษตร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับกำไรจากการทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมไทยโดยรวม

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียด และร่วมกิจกรรมกับศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. ได้ที่ 02-579-9594  หรือสั่งซื้อทางเฟซบุ๊ค พิมพ์คำว่า นมเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...