วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

เกษตรกรหมู ชี้ ASF-โควิด ทำต้นทุนป้องกันโรคขยับ 300 บาท/ตัว โอดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งซ้ำเติม

             น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร มาตลอดเวลากว่า 2 ปี ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 กระทั่งมีการระบาดรอบใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดเพื่อป้องกันฝูงสัตว์ พร้อมทั้งยกระดับการป้องกันโรคโควิดในบุคลากรที่ทำงานภายในฟาร์ม เพื่อไม่ให้กระทบกับการเลี้ยงสุกรอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ทุกฟาร์มมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 300 บาทต่อตัว ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเช่นกัน ทั้งความกังวลของตลาดต่อปริมาณสต๊อกถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐฯ ที่อาจจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 175 ล้านบุชเชล จากที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯคาดการณ์ไว้ และการเพาะปลูกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศอย่างเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง รำ-ปลายข้าว ราคาขึ้นเช่นกัน จากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ เพื่อพยุงราคาพืชเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะอากาศแล้งและภัยพิบัติในช่วงปีที่ผ่านมา



              ขณะที่การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ที่ต้องทำตามมาตรฐาน GMP อย่างเคร่งครัด และฟาร์มขนาดเล็กที่ต้องมีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ประกอบกับการต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่ม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้การเลี้ยงสุกรต้องควบคุมน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดส่งผลต่อภาพรวมต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่ปรับตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

             “ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกร ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท ขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มเกษตรกรตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร อยู่ที่ 76-80 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้องจับตาประกาศต้นทุนของ สศก. ในไตรมาสที่ 1/2564 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 78 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่น่าจะเพิ่มขึ้น ภาวะภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคมต่อเมษายน การป้องกันโรคทั้ง ASF และโควิด-19 และยังมีความสูญเสียจากโรคในสุกรที่สำคัญอย่างโรคเพิร์สทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ภาวะอากาศแปรปรวนจะรุนแรงกว่าทุกปี ฝนจะมาเร็วและหมดเร็ว ส่งผลให้ช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยชาวหมูยังคงร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการร่วมใจกันตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัมทั่วประเทศ แม้ต้นทุนจะเพิ่มเกือบเท่าราคาขายที่ 80 บาทแล้วก็ตาม วอนผู้บริโภคเข้าใจในกลไกตลาดที่แท้จริง และสุกรเป็นสินค้าปศุสัตว์เดียวในยามวิกฤตินี้ที่สามารถนำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ” อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...