วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

กรมหม่อนไหมชูคุณภาพความปลอดภัย “ถั่งเช่าไหมไทย" ยืนหนึ่ง พร้อมเร่งถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่เกษตรกรสร้างรายได้ช่วงโควิด-19


กรมหม่อนไหมสบช่องกระแส ถั่งเช่าตลาดบูม  เร่งดันผลงานวิจัย ถั่งเช่าไหมไทย" ที่ผลิตจากดักแด้ไหมไทยถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ช่วงวิกฤติโควิด-19 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นการันตีคุณภาพและความปลอดภัยเต็งหนึ่ง ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ว่าปลอดภัย เร่งต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้อนสู่ตลาดผู้รักสุขภาพ



นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า เพื่อรองรับกระแสการนิยมบริโภคการของตลาด ถั่งเช่าในประเทศและส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้มอบหมายให้ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ (ศมม.เชียงใหม่) จัดฝึกอบรมหลักสูตร "การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยเพื่อผลิตเป็นถั่งเช่าไหมไทย" ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ต.หนองควาย อ.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยเพื่อผลิตเป็นถั่งเช่าไหมไทยแก่เกษตรกรให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตถั่งเช่าไหมไทย สร้างรายได้ สร้างอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้  โดยดำเนินการภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัด สำหรับการผลิตถั่งเช่าไหมไทย เป็นความสำเร็จจากการศึกษาวิจัย ระหว่างกรมหม่อนไหม ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เมื่อปี 2556 และได้รับอนุสิทธิบัตรการผลิตถั่งเช่าไหมไทย เมื่อปี 2558 โดยการผลิตถั่งเช่าไหมไทยนั้น เป็นการนำผลผลิตจากไหม (ดักแด้ไหมไทย) มาเพิ่มมูลค่าโดยแปรรูปเป็นถั่งเช่าเรียกว่าถั่งเช่าไหมไทย เป็นเห็ดที่เจริญบนดักแด้ไหม ประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น อะดีโนซีน (Adenosine) คอร์ไดเซปิน (Cordycepin) และสารหลายชนิด มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังสามารถป้องกันรังสี UVB และช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้




กรมหม่อนไหมได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังในหนู พบว่าสามารถบริโภคด้วยปริมาณ 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนัก นอกจากนี้ การบริโภคอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักต่อวัน พบว่าไม่มีผลต่อสุขภาพและอวัยวะต่าง ๆ ของหนูที่ทดสอบแต่อย่างใด ดังนั้น ถั่งเช่าไหมไทยจึงเหมาะสมที่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้อนสู่ตลาดผู้รักสุขภาพในอนาคตต่อไปเพื่อเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน”  นายปราโมทย์  กล่าว  



นายปราโมทย์  กล่าวถึงกรณีการที่จะดูว่าถั่งเช่านั้นๆ เป็นถั่งเช่าแท้หรือปลอมนั้น    สามารถดูได้จากค่าวิเคราะห์คอร์ไดซิปินกับอะดีโนซินเป็นหลัก ซึ่งแหล่งซื้อขายถั่งเช่าในเมืองไทยขณะนี้ส่วนใหญ่ขายถั่งเช่าสีทองและถั่งเช่าหิมะบ้างบางแห่ง โดยจำหน่ายเป็นแคปซูล และชาถั่งเช่า  ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองอยู่หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงบนอาหารอื่นที่ไม่ใช่หนอนไหม หรือดักแด้ไหม เช่น เลี้ยงบนข้าวกล้อง หรือข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งถั่งเช่าที่ผลิตจากดักแด้ไหมนั้นจะมีราคาสูงกว่าถั่งเช่าที่ผลิตจากอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดอื่น 

"กรมหม่อนไหมยังคงพัฒนาการผลิตถังเช่าโดยคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และความปลอดภัยด้านสุขภาพเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปหม่อนไหมที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตอีกด้วย" นายปราโมทย์ กล่าวย้ำ   

ผู้สนใจ   สามารถซื้อได้ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ จ.น่าน  และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ จ.เชียงใหม่  ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิธีการผลิตให้กับ 2 คือ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ จ.น่าน  และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ จ.เชียงใหม่  หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม โทรศัพท์ 0 2558 7924-6 ต่อ 404 หรือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ 05 3114 096-7

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...