วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565

เปิดตัวปราชญ์เกษตรของแผ่นดินประจำปี 2565 เป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ


 

กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัวปราชญ์เกษตรของแผ่นดินประจำปี 2565 เป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณความดี มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ สมควรเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อให้ได้รับการดูแล และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และความสามารถสู่สังคม 



นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กระบวนการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินได้ดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดในทุกๆปี โดยสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม  ผ่านกระบวนการสรรหา ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต เพื่อสรรหาผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม  ได้รับแต่งตั้งเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรลพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2565  จำนวน 3 สาขาดังนี้คือ นายอเนก สีเขียวสด นายสงวน มงคลศรีพรรณเลิศ และนายสุพจน์ สิงโตศรี  



ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายอเนก สีเขียวสด บ้านเลขที่ 57/1 หมู่ที่ 2 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง นายอเนก เกษตรกรวัย 64  ปี มีประสบการณ์ในการทำงานภาคการเกษตร 38 ปี เป็นผู้ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 30  ปี มีการดำเนินกิจกรรมการเกษตรด้านการเลี้ยงนกกระทาอย่างครบวงจรตั้งแต่เพาะพันธุ์นกกระทาไข่  นกกระทาเนื้อ  ผลิตอาหารนกกระทา แปรรูปนกกระทา ผลิตปุ๋ยจากมูลนกกระทา รับซื้อไข่นกกระทา นกกระทาเนื้อ พร้อมทั้งจำหน่ายไข่นกกระทาสดแปรรูปไข่นกกระทาขยายพันธุ์ โดยนายเอนกได้ทำการเกษตรที่มีคุณูปการต่อภาคเกษตรกรไทย 4  ด้าน ได้แก่เป็นผู้นำอาชีพด้านการเลี้ยงนกกระทาโดยนำความรู้มาคัดเลือกสายพันธุ์เพาะเลี้ยงและขยายสู่เครือข่าย  ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องต้มไข่ขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านไม้ร้อยเปอร์เซ็นต์  คิดค้นเครื่องกระเทาะเปลือกไข่เพื่อลดความเสียหายของไข่นกกระทาได้เป็นอย่างดี ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องถอนขนนกกระทา ทั้งนี้ นายอเนก เคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการเลี้ยงสัตว์เมื่อปี  2543  อีกด้วย



ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง  ได้แก่ นายสงวน มงคลศรีพรรณเลิศ บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ที่ 7  ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ นายสงวน เกษตรกรวัย 62 ปี  มีประสบการณ์ทำเกษตรมานาน 24 ปี เป็นผู้ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 24 ปี และสามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ 20 ปี ทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยมีแนวคิดในการหาวิธีทางการเกษตรเพื่อให้เกิดการทำงานที่ครบวงจรสามารถใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสามารถพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีการปลูกพืช การเลี้ยงวัว แพะ แกะ เป็นการปลูกพืชผสมผสาน การเลี้ยงปลาและยังได้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ปี 2548



ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุพจน์ สิงโตศรี บ้านเลขที่  95/1  หมู่ที่ 9 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี นายสุพจน์ เกษตรกรวัย  57  ปี มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตร 31 ปี เป็นผู้ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 20 ปี  โดยกิจกรรมการเกษตรที่ดำเนินการประกอบกิจการฟาร์มหมูหลุมปลอดยาปฏิชีวนะ เป็นเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงหมูหลุมที่ประสบความสำเร็จ ใช้แนวทางการเลี้ยงแบบพึ่งพาธรรมชาติ  มีการบริหารจัดการแบบ zero waste ตั้งแต่กระบวนการผลิตการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการด้านการตลาดเป็นฟาร์มหมูหลุมที่มีขนาดใหญ่ นายสุพจน์สร้างศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุมให้กับผู้สนใจทั่วไปและยังเป็นผู้ริเริ่มจัดงานรวมพลคนเลี้ยงหมูหลุมระดับประเทศ   ยังได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ประจำปี 2558  อีกด้วย

แก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ถูกทาง รัฐต้องเร่งคลายปมทุกอุปสรรค..ก่อนสาย


 

แก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ถูกทาง รัฐต้องเร่งคลายปมทุกอุปสรรค..ก่อนสาย

เขียนโดย : เนื่องนที ฤกษ์เจริญ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร 

คำสั่งนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตำรวจ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ สนธิกำลังกันลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ พ่อค้าคนกลางทั่วประเทศโดยด่วน เพื่อแก้ปัญหาโรงงานผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้  หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดฯ เพื่อขายเข้าสู่ตลาดแล้ว แต่ปริมาณข้าวโพดฯในตลาดกลับมีน้อยผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับผลผลิตที่พ่อค้ารับซื้อจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ผลักดันให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งขึ้นทุกวัน ซึ่งเข้าข่ายพฤติกรรม การกักตุนสินค้ารวมทั้งเป็นการกดดันภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ต้องจ่ายราคาพิเศษเพิ่มขึ้นอีก ถือเป็น การซ้ำเติมผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่กำลังเดือดร้อนในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก นายกฯ ย้ำว่า หากพบมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กักตุนสินค้า ปั่นราคาแพง ฉวยโอกาสทำกำไรในสภาวการณ์ที่ราคาวัตถุดิบสูงในขณะนี้ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทุกรายโดยไม่ละเว้น แม้ว่าทุกหน่วยงานจะรับคำสั่งมาเร่งดำเนินการในทันทีก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นการตรวจสต๊อกข้าวโพดฯของพ่อค้าคนกลาง กลับเข้าตรวจสอบสต๊อกของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่โดยปกติต้องรายงานสต๊อกข้าวโพดฯ ให้กับทางการทราบเป็นประจำทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าภาครัฐจะเลือกปฏิบัติเช่นนี้ไปถึงเมื่อใด

ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าข้าวโพดอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางหมดแล้ว โรงงานผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ ราคาสินค้าจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์วัตถุดิบราคาแพง จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน สองประเทศผู้เพาะปลูกและส่งออกธัญพืชรายสำคัญของโลก ที่สำคัญจากข้อมูลของ กรมปศุสัตว์ ยังเห็นชัดเจนว่าปริมาณความต้องการด้านอาหารสัตว์ตามชนิดสินค้าปศุสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2565 นี้มีประมาณ 22.41 ล้านตัน และในปี 2566 คาดว่ามีความต้องการประมาณ 23.27 ล้านตัน โดยอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อมีความต้องการใช้อาหารสัตว์มากถึง 40% อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรต้องการใช้ 34% และอุตสาหกรรมไก่ไข่ต้องการใช้ 11% ทำให้ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักๆ ทั้งข้าวโพดเมล็ด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว และปลาป่น เพิ่มขึ้นในปี 2565 – 2566



ในเมื่อปริมาณความต้องการใช้ธัญพืชอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณผลผลิตกลับลดลงและราคาก็ขยับแพงขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาปรับจากกิโลกรัมละ 8-9 บาท เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นกิโลกรัมละ 13 บาทในปัจจุบัน หากแต่ผลผลิตทั้งประเทศที่มีอยู่เพียง 5 ล้านตันต่อปี ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่มากถึง 8 ล้านตันต่อปี ในการผลิตอาหารสัตว์ ปริมาณที่ขาดหายไปกว่า 3 ล้านตัน ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องเสาะหาวัตถุดิบทดแทน ตัวอย่างเช่น ข้าวสาลีที่ปกติจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่วันนี้ราคากลับสูงขึ้นเป็น 13 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว จึงไม่จูงใจในการนำเข้ามาใช้ และถึงแม้จะต้องการใช้ข้าวสาลีทดแทนเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังติดประเด็นมาตรการรัฐ 3:1 ที่กำหนดให้ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศก่อน 3 ส่วน จึงจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน ซึ่งวันนี้ไม่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดแล้ว เท่ากับไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อ นั่นคือไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ไปโดยปริยาย ส่วนจะหันไปพึ่งพากากถั่วเหลืองนำเข้า ก็สุดจะสู้กับราคามหาโหด ที่ปรับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 23 บาทแล้ว และยังมีอุปสรรคจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 2% ด้วย นั่นหมายความว่า ภาคผู้ผลิตต้องมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับราคาขายอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ที่ถูกภาครัฐตรึงไว้ ไม่สามารถขายในราคาสะท้อนต้นทุนได้ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อเนื่อง มาตั้งแต่กลางปี 2563 แต่เสียงเกษตรกรไม่ดังพอที่จะทำให้ภาครัฐเห็นใจได้



ข้อกังวลสำคัญในเรื่องนี้คือ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน ที่สุดแล้วโรงงานอาหารสัตว์หลายแห่งอาจต้องหยุดไลน์การผลิต เพราะไม่มีวัตถุดิบเข้าโรงงานด้วยปัญหาขาดแคลนและราคาที่ไม่สามารถจับต้องได้ ย่อมกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ซึ่งจำต้องหยุดการเลี้ยง ผลผลิตเนื้อสัตว์ย่อมน้อยลง และราคาจะขยับสูงขึ้น หรืออย่างที่เลวร้ายที่สุด คือทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรพากันเลิกกิจการทั้งหมด สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ คือการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ  เพื่อลดภาระต้นทุนอาหารสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ ทั้งการยกเลิกมาตรการ 3:1 ที่ใช้ควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%  พิจารณาเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO และ AFTA โดยยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียม ให้สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณขาดแคลนในปี 2565 และรัฐต้องเร่งระงับการส่งออกเสรีข้าวโพดและกากถั่วเหลือง เพื่อรักษาปริมาณวัตถุดิบในประเทศ

ทั้งหมดนี้ต้องทำทันที เพราะปริมาณผลผลิตในปัจจุบันนั้นเพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์เพียงแค่ไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น หากไม่อยากให้คนไทยเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และปัญหาข้าวยากหมากแพง รัฐต้องตัดสินใจ ฟันธงแก้ปัญหาอย่างไม่รีรอ ก่อนจะสายเกินแก้

นักวิชาการชี้พบไนเทรตได้ในธรรมชาติ แนะตรวจสอบแหล่งที่มาไส้กรอกก่อนสร้างความตระหนก


 


รศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึง การเปิดเผยผลการตรวจพบสารไนเทรตในไส้กรอกหลายยี่ห้อในปริมาณที่แตกต่างกันตามที่มีข่าวออกมา อาจสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมประเทศไทยใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) ซึ่งกำหนดให้มีไนไทรต์ในอาหารได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือ ไนเทรตได้ ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สะท้อนให้เห็นว่าสารทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ได้มีอันตรายหากมีการเติมตามที่กฏหมายกำหนด

ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้กฏหมายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 418 พ.ศ.2563 ทดแทนฉบับเดิม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ไส้กรอกมีสารไนไทรต์ได้ในปริมาณไม่เกิน 80  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรท ซึ่งบริษัทผู้ผลิตอาหารทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพื่อความถูกต้องตามกฏหมายและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สารไนเทรต เป็นสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในพืชผัก ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักกาด ผักชี พืชหัว เช่น มันสำปะหลัง พืชที่รับประทานทานหัว หรือ ราก เช่น หัวหอม กระเทียม ขิง และผักอื่นๆ เช่น พริก เครื่องเทศต่างๆ เช่น พริกไทย นอกจากนี้ ส่วนผสมอาหารอื่นๆที่ต้นทางมาจากธรรมชาติก็มีไนเทรต เช่น โปรตีนถั่วเหลือง แม้แต่ในน้ำบริโภคก็มีไนเทรต เช่นกัน  ดังนั้น แม้จะไม่มีการเติมสารไนเตรทลงในอาหาร แต่หากมีการใช้เครื่องเทศ ส่วนผสม หรือน้ำ ที่มีไนเตรทอยู่แล้วเข้ามาเป็นส่วนประกอบการในการผลิตอาหาร เมื่อนำอาหารนั้นๆไปตรวจก็จะพบไนเทรตด้วย ดังนั้น ถึงแม้จะไม่มีเติมสารไนเทรตลงในอาหาร แต่เมื่อมีการใช้วัตถุดิบ เครื่องเทศ หรือ น้ำ ที่มีไนเทรตอยู่แล้วตามธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนผสม  หากมีการตรวจย่อมพบไนเทรตด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอาหารกลุ่มไส้กรอกที่กฎหมายไม่อนุญาตให้เติมสารไนเทรต การพบไนเทรตจึงมาจากไนเทรตตามธรรมชาติที่มีในวัตถุดิบ-ส่วนผสมที่ใช้ และจากการเปลี่ยนแปลงของไนไตรต์ซึ่งสามารถเติมได้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกัน การเติมไนเทรตในอาหาร ยังสามารถเติมได้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่กฎหมายอนุญาต เช่น เนยแข็งบ่ม เนื้อหมัก เนื้อผ่านการทำแห้งโดยไม่ใช้ความร้อน ดังนั้น การตรวจพบไนเทรตในอาหารจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าอาหารนั้นไม่ปลอดภัย จำเป็นต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับการใช้ส่วนประกอบอาหาร และกระบวนการผลิตเพื่อหาที่มาของไนเทรตเสียก่อน

ทั้งนี้ ผู้ผลิตไส้กรอกที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพมาตรฐาน จะมีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับกฎหมายและความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น สามารถเลือกซื้อไส้กรอกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ โดยอ่านฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ สังเกตสัญลักษณ์ อย. ก็จะมั่นใจได้ในความสะอาด ปลอดภัย

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

กยท. เตรียมจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” อย่างยิ่งใหญ่ โชว์นวัตกรรมแปรรูปยางพารา


 

     วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นายไกรศร วิศิษฎิวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวงาน “มหกรรมยางพารา 2564” ณ ห้องประชุม อาคารข่าวสด โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช



    นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อผู้ขาย ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ตลาด นำการผลิต รวมถึงการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนัวตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตและการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เพื่อรองรับ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาล สู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจรครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ



    ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์และแนวทางของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เนื่องด้วย กยท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถือเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการปลูกยางพาราในประเทศไทย สำหรับการจัดงานมหกรรมยางพาราในครั้งนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน ฯลฯ ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานมหกรรมยางพาราอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย และกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา เกิดแนวคิดในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางพาราให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

โดยแนวทางการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อโชว์ศักยภาพไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราของโลก และเป็นเวทีการเจรจาธุรกิจเพื่อแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราระดับนานาชาติ

    “ในวันงานทุกท่านจะได้เห็นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการดูแลจัดการมาตรฐานในสวนยางพารา วันนี้มาตรฐานในสวนยางพาราถือเป็นเรื่องสำคัญ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีการผลักดันในเรื่องของมาตรฐาน FSCTM ซึ่งในงานเราก็จะมีการจัดโชว์เคส แนะนำในเรื่องของการแสดงปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับพี่น้องชาวสวนยางไม่เฉพาะแค่ชาวนครศรีธรรมราช แต่เป็นของทั้งประเทศ ให้สอดคล้องกับที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก และกำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระของโลก ส่งเสริมให้ยางพาราที่เป็นพืชหลักในการผลักดัน ตามที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ทาง กยท.ผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี”

    ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมยางพาราในหลายรูปแบบ เช่น 1. การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น เพื่อปรับพฤติกรรมของเกษตรกรให้ทันสมัยมากขึ้น และเพื่อยืนยันว่าการจัดการดูแลสวนยางพาราของเกษตรกร ทันตามมาตรฐานโลก และสิ่งนี้จะเป็นการสร้างความสามารถทางการแข่งขันโดยการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสนับสนุน 2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต/ผลิตยางกั้นล้อ ระดมแปรรูปยางเป็น “ยางกั้นล้อรุ่นพิเศษของ พีทีทีโออาร์” ให้บริษัทในเครือ ปตท. 3. โชว์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เช่น นวัตกรรมสระน้ำยางพารา เก็บกักน้ำสู้ภัยแล้ง 4. ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ กยท. เตรียมเปิดบริการตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าแบบส่งมอบจริง และเปิดเวทีเจรจาธุรกิจ ให้แก่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปพร้อมๆ กัน

    ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ามาเที่ยวชมงานและร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช



    สำหรับความสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎิวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในฐานะจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกยางเป็นอันดับต้นๆ ส่งผลให้จังหวัดมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยางพาราอย่างมาก โดยยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับหนึ่งของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกถึง 1,880,560 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30.26 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 6,214,064 ไร่ ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่นครศรีธรรมราช สามารถให้ผลผลิตน้ำยางคุณภาพดีติดอันดับโลก ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในที่ตั้งตลาดกลางยางพาราที่มีความสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยางพาราในนครศรีธรรมราชก็มีปัจจัยหนุนด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัด ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับจังหวัดอื่นๆ ได้โดยสะดวก

    “ในแต่ละปีจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งปีคิดเป็นมูลค่า 180,000 ล้านบาท อันดับหนึ่งเป็นผลผลิตด้านการเกษตร ที่มีมูลค่าประมาณ 47,000 ล้านบาทต่อปี อันดับ 2 เป็นค้าปลีก ซึ่งทั้ง 2 ภาคนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและพร้อมที่จะไปแข่งขันในระดับนานาชาติ นี่คือศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรนครศรีธรรมราชในทุกมิติ อย่างอำเภอนาบอน มีโรงงานอุตสาหกรรมการยาง ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปยางพาราชนิดต่างๆ ทั้งโรงงานน้ำยางข้น โรงงานยางแผ่น และโรงงานผลิตยางแผ่นอบแห้ง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทขึ้นไป ราว 5 แห่ง และนครศรีธรรมราชถือเป็นหมุดหมายในแผนฉบับที่ 13 ที่จะต้องพัฒนาในเรื่องของพลังงานต่างๆ เพราะฉะนั้นการปูพื้นเรื่องยางพาราจะเป็นศักยภาพที่จะก้าวกระโดดไปการแข่งขันนานาชาติได้”



    สุดท้าย นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราว่า พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างมาก ซึ่งทางคาราบาวกรุ๊ปขอร่วมชื่นชมและยกย่องพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และเพื่อมอบสิ่งดีๆ กลับคืนให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป ทางคาราบาวกรุ๊ปขอถือโอกาสนี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการมอบความสุขและความสนุกสนาน ด้วยการขนทัพบู๊ธจัดกิจกรรมแจกของมากมาย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมกรีดยาง โดยมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคาราบาวแดงแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1-3 แล้วพบกันที่งาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” นายกมลดิษฐ กล่าวทิ้งท้าย


วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565

YANMAR 357A-L1 ตัวจริงเรื่องงานไร่ ด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือกว่า


 

ยันม่าร์ผู้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น พัฒนาแทรกเตอร์ YM357A-L1 เครื่องยนต์แรง รอบจัด ประหยัดน้ำมัน ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ ล้อใหญ่ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย เน้นตอบสนองงานนารวมถึงงานไร่ เพิ่มแรงฉุดลากรับงานหนักๆ ได้เต็มที่



นายธัชพล ชวินธนโชติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เปิดเผยว่า พื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรในประเทศไทยส่วนใหญ่ คือ นาข้าว คิดเป็นร้อยละกว่า 50 ส่วนพืชไร่และพืชประเภทอื่น คิดเป็นร้อยละกว่า 40 ซึ่งผลจากการสำรวจกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โดยรวมพบว่า จำนวนเกษตรกรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 มักจะทำการเกษตรแบบผสม ระหว่างการทำนาและการทำไร่ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้แทรกเตอร์ที่มีกำลังเครื่องยนต์สูง แรงม้าสูง หากแทรกเตอร์มีน้ำหนักมากเกินไปก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อแปลง หรือมีน้ำหนักน้อยเกินไป แรงฉุดลากก็ไม่เพียงพอ  ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าแทรกเตอร์ยันม่าร์ YM357A-L1 รุ่นนี้จะตอบโจทย์และตอบสนองการทำงานอย่างคุ้มค่า ให้กับเกษตรกรอย่างแน่นอน



จุดเด่นที่สำคัญของ YM357A-L1 ใช้ล้อยางขนาดใหญ่ขนาด14.928L นิ้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีก 15-20% และสามารถเพิ่มแรงฉุดลากได้มากขึ้น เมื่อเพิ่มน้ำหนักเหล็กถ่วงสูงสุด 240 กก. (ข้างละ 120 กก.) ปรับระยะฐานล้อทั้งล้อหน้าและล้อหลังได้ถึง 4 ระดับ ให้เหมาะกับประเภทการใช้งานและชนิดของพืชที่เพาะปลูก นอกจากนี้ แขนล่างยังสามารถรองรับอุปกรณ์ต่อพ่วงได้ทั้งประเภท 1 (Category 1) และประเภท 2 (Category 2) ช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุน โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมได้ ทั้งหมดนี้ เป็นคุณสมบัติพิเศษที่มีในแทรกเตอร์ล้อใหญ่ ยันม่าร์ YM357A-L1 เท่านั้น



นอกจากนี้ยังคงมีจุดเด่นในเรื่องของการประหยัดน้ำมันเช่นเดิม มาพร้อมฟังก์ชั่นลุยงานนางานไร่พร้อมกับคุณสมบัติพิเศษซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะจากยันม่าร์ อันได้แก่ ระบบควบคุมแขนยกอัตโนมัติ (Draft Control Systems) เมื่อทำงานในสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันหรือมีสิ่งกีดขวางในพื้นที่ ระบบจะปรับระดับการทำงานของ แขนยกอุปกรณ์หลบหลีกขึ้นลงโดยอัตโนมัติทันที ทำให้ได้คุณภาพงานที่ดี งานเรียบร้อย สม่ำเสมอกัน



สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อทดลองขับได้แล้ววันนี้ ที่ผู้แทนจำหน่ายยันม่าร์ใกล้บ้าน หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร.1638 พร้อมรับชมวิดีโอการทำงาน ได้ที่ www.yanmar.com/th , facebook, YouTube, TikTok  ในชื่อบัญชี Yanmar Thailand Fan club

รมช.มนัญญา ชูสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ต้นแบบพัฒนาอาชีพการเกษตรในพื้นที่คทช.


การรักษาผืนดินให้ยั่งยืนคือการทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรได้เห็นถึงคุณค่าของที่ดินที่อาศัยทำกิน และช่วยกันรักษาหวงแหนไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ได้อยู่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นสร้างอาชีพทำการเกษตรทั้งปลูกพืชปลูกผักเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลา ไว้เพื่อแบ่งปันกันและขายให้กับคนในชุมชนหมู่บ้าน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ให้เป็นคณะอนุกรรมการคณะที่ 3 มีหน้าที่พัฒนาอาชีพให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินให้จากคทช. ซึ่งนำที่ดินที่ถูกบุกรุกจากนายทุนกลับมาจัดสรรให้ประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินและได้ผลกระทบจากโครงการรัฐได้เข้าอยู่อาศัยและทำการเกษตร ดังเช่นกรณีสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งชุดความสำเร็จของการพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมตลาดผลผลิตการเกษตรให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คทช.



นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ได้รับการจัดสรรที่ดินจากคทช. และมีการนำระบบสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตของคนในชุมชน โดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด มีบทบาทในการส่งเสริมสมาชิกให้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์และมีการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน  โดยมีเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบตลาดและมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ร่วมถึงการทำการตลาดที่สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน ซึ่งผลจากการติดตามพบว่า สหกรณ์มีการพัฒนาตลาดประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์สินค้าอินทรีย์ของตนเองในชื่อ”Maetha”  ทำให้สมาชิกสามารถขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ต่อเนื่องทั้งปีภายใต้การคุมคุณภาพของทีมสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา ซึ่งถือเป็นอีกพื้นที่ต้นแบบที่จะสร้างกำลังใจให้เกษตรกรและประชาชน  ในพื้นที่คทช.อีกหลายแห่งจะใช้เป็นตัวอย่างในการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืน



“ ที่ดิน คทช.เป็นพื้นที่ป่าที่รัฐรวบรวมกลับมาและสรรให้เกษตรกรคนละ 10  ไร่ ซึ่งจำนวนที่ดินอาจไม่มากแต่เพียงพอสำหรับการทำมาหากิน ต้องอาศัยความตั้งใจของทุกคนที่จะสู้เพื่อครอบครัวของตัวเองในการสร้างอาชีพ ซึ่งรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงให้ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะอนุกรรมการชุดที่ 3  ที่ได้รับมอบหมายจากคทช.ให้พัฒนาอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่คทช.  เชื่อว่าเมื่อทุกคนร่วมใจกันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสหกรณ์ที่เราเป็นสมาชิกและส่งผลต่อเศรษฐกิจครัวเรือนที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืนในถิ่นที่อยู่ที่รัฐและประชาชนทั่วประเทศจัดให้กับพี่น้องที่เดือดร้อน “  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า  กรมฯได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดินคทช.ผ่านระบบสหกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ปี   2558   โดยได้เข้าพัฒนาแล้ว 6  ชุมชนใน   4   จังหวัด  เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนผ่านระบบสหกรณ์ ทั้งนี้ กรมได้รับมอบที่ดินจากคทช.ที่จัดคนลงแปลงที่ดินแล้วจำนวน 3.2 แสนไร่  64 จังหวัด และได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ในพื้นที่คทช.เนื้อที่ 2.9 แสนไร่ โดยในปี 65  จะเข้าดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 30 แห่งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ภายใต้แผนปฏิบัติ 3 ปีเป้าหมายคือเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20  ทั้งนี้จะมีตัวชี้วัด  6 ด้านคือ การพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์บนพื้นฐานโซนนิ่งพื้นที่เกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำและปัจจัยพื้นฐาน การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การทำบัญชีครัวเรือน ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง




สำหรับพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ทา มีพื้นที่รับมอบจากกรมป่าไม้  2,323 แปลง 1,190 ราย รวมพื้นที่ 7,282 ไร่  คทช.จังหวัดอนุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ 1,374 ราย 2,693 แปลง พื้นที่ 5,586 ไร่ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริม สหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพและแปรรูปผลผลิตในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร (ไทยนิยม ยั่งยืน) ดังนี้ 1. อุปกรณ์ตัดแต่งผลลิตการเกษตร จำนวน 127,000 บาท 2. ห้องเย็นจัดเก็บผลผลิตการเกษตร จำนวน 400,000 บาท และ 3. ปรับปรุงอาคารรับซื้อผลผลิตการเกษตร จำนวน 369,500 บาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมด้านการผลิตพืชผักอินทรีย์ของชุมชน ทั้งในด้านการวางแผนการผลิต การวิเคราะห์สำรวจตลาด การสำรวจภาวะเศรษฐกิจ โดยให้สหกรณ์เป็นเจ้าของโรงเรือน และให้บริการไปยังสมาชิกชุมชน ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก โดยมี อบต.แม่ทา เป็นที่ปรึกษา ขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 70 คน โดยตั้งแต่ปี 2558 – 2564 ที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถบริการชุมชนในเรื่องของการส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์ จำนวนทั้งสิ้น 158 ชนิด.



นางบัวใส กันธะดา อายุ 58 ปี เกษตรกร ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่   เป็นเกษตรกรที่ได้รับที่ดินตามโครงการ คทช. กล่าวว่า อยู่ในพื้นที่มานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่ไม่มีความมั่นคงในพื้นที่ดินทำให้ไม่กล้าพัฒนาอะไรมาก หลังจากคทช.ให้อยู่ทำให้มีความมั่นคงมากขึ้น จึงทำเกษตรหลากหลายมากขึ้นมีรายได้เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว นอกจากนั้นบุตรสาวอายุ 38 ปี ทำอาชีพพนักงานบริษัททัวร์แต่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับมาอยู่บ้าน 2 ปี ช่วยทำการเกษตรขณะนี้ไม่คิดกลับไปเป็นลูกจ้างบริษัทแล้ว แต่ช่วยพ่อแม่ทำการเกษตร เพราะเห็นว่าอาชีพเกษตรคืออาชีพที่เลี้ยงตัวได้ดีและมีความยั่งยืนปัจจุบันรายได้ครัวเรือนมาจากการขายผักทุกวันผ่านสหกรณ์ ขายตลาดนัดในพื้นที่ และผ่านระบบออนไลน์ที่ลูกสาวช่วยกันทำ นางบัวใสบอกว่า  20  ปีก่อนหน้าทำข้าวโพดใช้สารเคมี และ 19 ปีที่ผ่านมาหันมาทำเกษตรอินทรีย์ทำให้มีสุขภาพดีและมีรายได้ต่อเนื่องทุกวันเพราะปลูกผักสวนครัวขายได้ทุกวัน 



นายเหรียญทอง พัดอุ อายุ 66 ปี  ได้ที่ดินคทช. 2  ไร่เศษ  ซึ่งดีใจมากเพราะมีความมั่นคงในที่ดินมากขึ้น สามารถที่จะขุดบ่อน้ำได้ ขุดบ่อบาดาลได้ จากเดิมที่ทำอะไรไม่ได้ แม้จะอยู่กันมาแต่สมัยตายายอยู่กันมา 30 ครัวเรือน ทำถนนก็ไม่ได้ พอมาเป็นที่ดินคทช. และบางจุดได้โฉนดชุมชนด้วยก็ดีขึ้นทำถนนได้ พอมีน้ำก็สบายขึ้น  คนในแม่ทาจึงดีใจมาก  ขณะนี้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทำเกษตรผสมผสาน  จะมีรายได้ตามฤดูกาล และบางช่วงก็จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะในพื้นที่เลี้ยงโคนมกันเยอะ ตอนนี้พออยู่พอกินเรียกว่ารวยล่ะ ถ้าเราพอเพียงก็ถือว่าผมก็รวย  



 

CPF ประเดิมปล่อยคอนเทนเนอร์ “เนื้อไก่ตู้ปฐมฤกษ์” ของไทยในรอบ 18 ปี ไปซาอุฯ ต่อยอดผลสำเร็จสานสัมพันธ์สองประเทศ


    กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ฤกษ์ปล่อยขบวนตู้คอนเทนเนอร์เนื้อไก่เที่ยวแรกของไทยไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย หลัง 5 โรงงานผลิตเนื้อไก่ของ CPF ผ่านรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา ซาอุฯ (Saudi Food & Drug Authority : SFDA) เป็นผลจากความสำเร็จของการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ  บริษัทฯ คาดจะส่งออกไก่ไปซาอุฯ ได้ 30 ตู้ จำนวน 600 ตันภายในเดือนมีนาคมนี้ 



    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้ง นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร และคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ร่วมปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ปฐมฤกษ์ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ออกจากโรงงานแปรรูปไก่เนื้อ มีนบุรี 2 ไปยังซาอุดิอาระเบีย นับเป็นไก่ล็อตแรกของไทยในรอบ 18 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ตามมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อไก่ ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์ไก่จากประเทศไทย ล่าสุด รัฐบาลซาอุฯ ได้ประกาศรับรองอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยจากโรงงาน 11 แห่ง ในจำนวนนี้ มีโรงงานของซีพีเอฟ 5 แห่ง สามารถผ่านการรับรองมาตรฐาน ประกอบด้วย โรงงานชำแหละไก่มีนบุรี  โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 1 โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 2  โรงงานชำแหละไก่สระบุรี และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อสระบุรี   



    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการส่งออกไก่ไทยไปซาอุฯ เป็นผลสำเร็จที่สำคัญจากการเยือนซาอุฯของ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และการผนึกพลังของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศในการฟื้นความสัมพันธ์การค้าของสองประเทศ ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการประสานงานในด้านมาตรฐานการผลิตไก่ไทยเป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล  



    “ขอแสดงความยินดีกับ ซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกที่ได้ส่งออกสินค้าไก่ตู้ปฐมฤกษ์  ถือเป็นศักราชใหม่ของโลกการค้าไทยและซาอุฯ ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าส่งออกไก่ไปซาอุฯ ในปีนี้ 1 หมื่นตัน ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าและตัวเลขการส่งออกไก่เนื้อของไทยไปต่างประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าส่งออกไก่เนื้อไปทั่วโลกรวม 9.8 แสนตันเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนซึ่งซาอุฯ เป็นตลาดที่สำคัญและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล มั่นใจว่า สินค้าของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก” นายจุรินทร์กล่าว  

    นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ เปิดเผยว่า การปล่อยขบวนตู้คอนเทนเนอร์เนื้อไก่ในวันนี้ จำนวน 5 ตู้  ปริมาณ 100 ตัน เป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ล็อตแรกจาก 5 โรงงานของบริษัทฯ และภายในเดือนมีนาคมนี้ บริษัทฯ จะมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่ของซาอุฯ ปริมาณรวม 600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 47 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งให้ความร่วมมือช่วยกันประสานงาน จนสามารถฟื้นการส่งออกไก่ไทยไปยังตลาดซาอุฯ ได้สำเร็จ นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกไก่ของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  



     “บริษัทฯ คาดว่าในปีนี้ ซีพีเอฟจะส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ได้ 300 ตู้ ปริมาณรวม 6,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าจากการส่งออกรวม 473 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายการส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปไปซาอุฯ ได้ 3,000 ตู้ ปริมาณรวม 60,000 ตัน ช่วยทำรายได้เข้าประเทศ 4,200 ล้านบาท" นายประสิทธิ์ กล่าว  

    ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปของซีพีเอฟ ผ่านกระบวนการผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด อาทิ GMP, HACCP, ISO 9001, IFS(International Food Standard), BRC (British Retail Consortium, ISO 14001 (Environment Management System) รวมถึง Thai Labor Standard TLS 8001 (มาตรฐานแรงงานไทย-มรท. 8001), ISO 45001 (Occupational Health and Safety Management Systems) ที่สำคัญ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม หรือ Halal และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งแต่การเชือดไก่โดยพนักงานที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือการแปรรูปเนื้อไก่โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่มีของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูงมาก ทั้งมาตรฐานฟาร์มและการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 

    ทั้งนี้ ซาอุฯ เป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยมีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) และจะเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทยรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง การกลับเข้าสู่ตลาดซาอุฯ ในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของผู้ส่งออกเนื้อไก่ไปยังซาอุฯ ได้ประมาณ 10-15% ของตลาดรวมเนื้อไก่ 


 

จ.ชัยภูมิ โชว์ ‘กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน’ สร้างกำไรให้กลุ่มปีละ 223 ล้านบาท เตรียมเปิดจอง พ.ค. นี้


    นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดชัยภูมิมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงและคุ้มค่า สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิต และให้เกษตรกรเป็นผู้บริหารจัดการ แบบครบวงจรทั้งด้านการผลิต แปรรูปและการตลาด รวมถึงสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยในปี 2562 จังหวัดชัยภูมิร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเทพสถิต ดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต          เกษตรกรส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน GAP แล้ว ซึ่งในปี 2565 อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับรองมาตรฐาน GAP ในนามเกษตรแปลงใหญ่ต่อไป



    ทั้งนี้ จากการที่ สศท.5 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน พบว่า ปี 2564 มีเนื้อที่ปลูกทั้งหมด 1,063 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 655 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิก 51 ราย โดยมี นายสมพงษ์ ดีเดิม เป็นประธานแปลงใหญ่ สำหรับพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนโอโซนของกลุ่มแปลงใหญ่มีความเหมาะสม เนื่องจากปลูกบนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 800 กว่าเมตร ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์เย็นสบายตลอดทั้งปี ลักษณะพื้นดินภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีรสชาติเฉพาะตัว หวานละมุน กรอบอร่อย กลิ่นเบากว่าทุเรียนพันธุ์อื่น เนื้อละเอียดไม่มีเส้นใย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ยอดนิยมที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศชื่นชอบ



    ด้านต้นทุนการผลิตทุเรียนโอโซนของกลุ่มแปลงใหญ่เฉลี่ย 27,196 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 6 และเก็บเกี่ยวได้ระยะยาว) เกษตรกรนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน (เดือนเมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี) เริ่มติดดอกช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์  เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ผลผลิตเฉลี่ย 2,460 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือคิดเป็นผลผลิตรวมของทั้งกลุ่มอยู่ที่ 1,611 ตัน/ปี ราคาที่เกษตรขายทุเรียนโอโซนได้ในรอบปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 150 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 369,042 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 341,846 บาท/ไร่ หากคิดเป็นผลตอบแทนทั้งหมดของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซนจะได้กำไรปีละ 223 ล้านบาท โดยการจำหน่ายผลผลิตจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ร้อยละ 70 ขายที่หน้าสวนโดยตรง และร้อยละ 30 จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ อาทิ Face book และ Line ของเกษตรกรเอง



    ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเทพสถิต ได้ส่งเสริมให้กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน (ซุปเปอร์ฟาร์ม) โดยจัดให้มีการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยั่งยืน มีกิจกรรมเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสวนทุเรียน สินค้าของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเครือข่าย ซึ่งในส่วนของการบริหารจัดการทุเรียนของกลุ่มแปลงใหญ่ ทางกลุ่มมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดทุเรียนยังเปิดกว้าง และผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค 



    “สำหรับปีนี้ ลูกค้าสามารถสั่งจองผลผลิตได้แต่ตั้งเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มติดผล หรือลูกค้าท่านใดอยากมาเลือกซื้อผลผลิตด้วยตนเองในช่วงที่ผลผลิตออกเต็มที่แล้ว สามารถซื้อได้ที่หน้าสวนของเกษตรกรได้ช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย เช่น โทรสั่งซื้อหรือสั่งออนไลน์ ซึ่งมีบริการจัดส่งจากสวนส่งตรงถึงหน้าบ้าน หากท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตทุเรียนโอโซน ของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน สามารถสอบถามเพิ่มเดิมได้ที่ นายสมพงษ์ ดีเดิม ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 9 ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โทร 08 1723 3075 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา โทร 0 4446 5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย


วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565

มก.เปิดร้านค้า THE PREMIUM @ KU สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสินค้าเกษตรคุณภาพสูงและบริการ


    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดร้านค้า THE PREMIUM @ KU สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสินค้าเกษตรคุณภาพสูงและบริการ พร้อมแนะนำร้านอาหาร KU KIN DEE U-DEE ตามแนวคิด KUniverse เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี มก.ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรและอาหารคุณภาพของภูมิภาคเอเชีย



    วันที่ 28 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวร้านค้า THE PREMIUM @ KU เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นร้านค้าจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต้นแบบครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทดสอบระบบการจัดทำตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ของมหาวิทยาลัย โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน ภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีผลงานวิจัย และนวัตกรรมทางด้านสินค้าเกษตร แบบครบวงจร 360 องศา 



   โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม และสังคมไทย ภายใต้นโยบายเชิงรุก KUniverse ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมผ่านสินค้าเกษตรคุณภาพสูงและบริการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตาม BCG Model ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรและอาหารคุณภาพของภูมิภาคเอเชียและของโลก โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี XR หรือ Extended Reality ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่รวมเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality - VR) ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality – AR) และ มิกซ์เรียลริตี้ (Mixed Reality – MR) เข้าด้วยกัน มาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าได้อย่างเหนือจินตนาการ  นอกจากนี้ เทคโนโลยีเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ ยังสามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ ผลผลิตของชุนชน เกษตรกร Smart farmer, AgriPrenuer และ SME ได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่พัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย



    ดร.กฤษพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ร้านค้า THE PREMIUM @ KU เป็นรูปแบบร้านค้าที่ส่งมอบคุณค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากผลงานค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม องค์ความรู้ของหน่วยงานภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายทั้งหมดในร้าน THE PREMIUM @ KU เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่มีมูลค่าเพิ่ม และคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค สร้างความยั่งยืนให้กับสังคม และเศรษฐกิจ  



    “ในอนาคต ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็นบรรทัดฐานของร้านค้าแห่งคุณภาพ และการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานของสังคมไทย และระดับนานาชาติ นับว่าเป็นการเปิดมุมมองความคิดร้านค้าจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต้นแบบ  ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อสุขภาพของคนไทย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม และสังคมไทย มากกว่าที่จะเน้นเพียงยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์  และในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ก้าวเดิน ไปสู่องค์กรแห่งการให้ เพื่อความสุข ความยั่งยืนของสังคมไทยอย่างแท้จริง จากปรัชญาแนวคิด KUniverse ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”



    ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายเชิงรุกที่เรียกว่า KUniverse เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานทุกหน่วยงานให้สนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตาม BCG Model โดยอุตสาหกรรมการเกษตร จัดเป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งนี้ BCG Model ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกขับเคลื่อนในจักรวาล KUniverse ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  (Enhancing Our Quality of Life and the Environment) ด้วยบทบาทสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1). สร้างองค์ความรู้ให้นิสิต เกษตรกร และผู้ประกอบการ 2). มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาที่นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของ SMEs และเกษตรกรรม 3). บริการรับรองคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ ของสินค้าและบริการ 4). ติดอาวุธให้เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านงานบริการวิชาการ และปรึกษา  5). สร้าง KU Market Place ที่ใช้หลักการเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 6). สร้าง KU Business Ecosystem พร้อมทั้งผนึกกำลังการส่งเสริมผ่าน ทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   และ 7). จัดตั้ง Spin-Off Company ภายใต้ KU Holding Company เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สนับสนุนภาคเอกชนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น




    สำหรับร้านค้า THE PREMIUM @ KU ถือเป็นก้าวแรกของการจัดทำรูปแบบร้านค้าจำลองเพื่อทดสอบระบบการจัดทำตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน ภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัย ที่มีผลงานวิจัย และนวัตกรรมทางด้านสินค้าเกษตร ในระยะถัดไปจะมีการเชื่อมโยงกับสินค้าของเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐาน KU Standard เข้ามาเพิ่มในระบบอีกด้วย และการดำเนินงานครั้งนี้จะนำไปสู่บทเรียนแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญในการทำธุรกิจตลาดสินค้าเกษตรขนาดย่อม ซึ่งอาจเติบโตไปถึงขนาดใหญ่ในอนาคต ที่สามารถยกระดับสู่การวางแผนการดำเนินงานของการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ด้านถนนวิภาวดีรังสิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป




    ในอนาคตสินค้าของมหาวิทยาลัยจะถูกบริหารจัดการผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการคุณภาพสูงด้านเกษตรและอาหารแบบครบวงจร 360 องศา มีระบบการรับรองมาตรฐานคุณภาพขั้นสูง KU quarantine ด้วยการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และการผลิต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย สอดคล้องรองรับกับการจัดงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับสินค้า และผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงจากแหล่งกำเนิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภาคีเครือข่ายคณะทำงานนโยบายบูรณาการส่วนงานเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ คณะเกษตร คณะเกษตรกำแพงแสน คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตร และนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่



    ส่วนร้านอาหาร KU KIN DEE U-DEE “เคยู กินดีอยู่ดี” นั้น เปิดขึ้นมาเพื่อให้บริการแก่อาจารย์ บุคลากร นิสิต และบุคคลทั่วไป โดยใช้วัตถุดิบชั้นดีมีคุณภาพจากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือเกษตรกรและผู้ผลิตที่มีอยู่กับคณะ สถาบัน และสถานีวิจัยต่างๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการโดยภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านคหกรรมศาสตร์ อีกทั้งเป็นต้นแบบของการดำเนินการที่บูรณาการความรู้และเครือข่ายอย่างครบวงจร เพื่อเผยแพร่อาหารไทย อาหารนานาชาติ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ในรูปแบบของ food street ร้านอาหาร  และ food delivery ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารคุณภาพของภูมิภาคเอเชียและของโลกและเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    ร้านค้า THE PREMIUM @ KU ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ KU AVENUE ประตูงามวงศ์วาน 3 เปิดบริการทุกวัน เวลา 9.00 -17.00 น. และจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์ ผ่าน http://www.kubookol.com / โดยนำสินค้าเกษตรคุณภาพสูงและโดดเด่นด้วยนวัตกรรมงานวิจัย จากทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มารวมไว้ให้บริการ อาทิ เครื่องดื่มจากน้ำส้มสายชูผสมน้ำผลไม้หมักจากธรรมชาติ ช่วยในการย่อยอาหาร  เครื่องดื่มน้ำกัญชาโซดาคร้าฟ เครื่องดื่มคร้าฟโซดากลิ่นโซจู รสเหล้าบ๊วยสูตรกัญชาพิเศษ ช่วยให้ผ่อนคลาย บำรุงร่างกาย ทำให้หลับลึก และชะลอการสะสมของไขมันและน้ำตาลในเลือด กรีกโยเกิร์ตเสริมพรีไบโอติก ช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร และปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เป็นปกติ ลูกชิ้นหมูแท้ ไส้กรอกไก่รมควัน ไก่จ๊อ ปราศจากผงชูรส และสารกันเสีย เนื้อโคขุนอบกรอบ เนื้อโคพันธุ์กำแพงแสน ผักผลไม้อบกรอบด้วยนวัตกรรมเครื่องทอดสูญญากาศ ไข่ทองคำ ข้าวโพดสีม่วง น้ำนมข้าวโพดหวานไร่สุวรรณ นมเกษตร ไอศกรีม เป็นต้น


 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...