วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565

แก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ถูกทาง รัฐต้องเร่งคลายปมทุกอุปสรรค..ก่อนสาย


 

แก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ถูกทาง รัฐต้องเร่งคลายปมทุกอุปสรรค..ก่อนสาย

เขียนโดย : เนื่องนที ฤกษ์เจริญ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร 

คำสั่งนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตำรวจ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ สนธิกำลังกันลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ พ่อค้าคนกลางทั่วประเทศโดยด่วน เพื่อแก้ปัญหาโรงงานผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้  หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดฯ เพื่อขายเข้าสู่ตลาดแล้ว แต่ปริมาณข้าวโพดฯในตลาดกลับมีน้อยผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับผลผลิตที่พ่อค้ารับซื้อจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ผลักดันให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งขึ้นทุกวัน ซึ่งเข้าข่ายพฤติกรรม การกักตุนสินค้ารวมทั้งเป็นการกดดันภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ต้องจ่ายราคาพิเศษเพิ่มขึ้นอีก ถือเป็น การซ้ำเติมผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่กำลังเดือดร้อนในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก นายกฯ ย้ำว่า หากพบมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กักตุนสินค้า ปั่นราคาแพง ฉวยโอกาสทำกำไรในสภาวการณ์ที่ราคาวัตถุดิบสูงในขณะนี้ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทุกรายโดยไม่ละเว้น แม้ว่าทุกหน่วยงานจะรับคำสั่งมาเร่งดำเนินการในทันทีก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นการตรวจสต๊อกข้าวโพดฯของพ่อค้าคนกลาง กลับเข้าตรวจสอบสต๊อกของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่โดยปกติต้องรายงานสต๊อกข้าวโพดฯ ให้กับทางการทราบเป็นประจำทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าภาครัฐจะเลือกปฏิบัติเช่นนี้ไปถึงเมื่อใด

ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าข้าวโพดอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางหมดแล้ว โรงงานผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ ราคาสินค้าจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์วัตถุดิบราคาแพง จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน สองประเทศผู้เพาะปลูกและส่งออกธัญพืชรายสำคัญของโลก ที่สำคัญจากข้อมูลของ กรมปศุสัตว์ ยังเห็นชัดเจนว่าปริมาณความต้องการด้านอาหารสัตว์ตามชนิดสินค้าปศุสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2565 นี้มีประมาณ 22.41 ล้านตัน และในปี 2566 คาดว่ามีความต้องการประมาณ 23.27 ล้านตัน โดยอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อมีความต้องการใช้อาหารสัตว์มากถึง 40% อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรต้องการใช้ 34% และอุตสาหกรรมไก่ไข่ต้องการใช้ 11% ทำให้ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักๆ ทั้งข้าวโพดเมล็ด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว และปลาป่น เพิ่มขึ้นในปี 2565 – 2566



ในเมื่อปริมาณความต้องการใช้ธัญพืชอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณผลผลิตกลับลดลงและราคาก็ขยับแพงขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาปรับจากกิโลกรัมละ 8-9 บาท เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นกิโลกรัมละ 13 บาทในปัจจุบัน หากแต่ผลผลิตทั้งประเทศที่มีอยู่เพียง 5 ล้านตันต่อปี ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่มากถึง 8 ล้านตันต่อปี ในการผลิตอาหารสัตว์ ปริมาณที่ขาดหายไปกว่า 3 ล้านตัน ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องเสาะหาวัตถุดิบทดแทน ตัวอย่างเช่น ข้าวสาลีที่ปกติจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่วันนี้ราคากลับสูงขึ้นเป็น 13 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว จึงไม่จูงใจในการนำเข้ามาใช้ และถึงแม้จะต้องการใช้ข้าวสาลีทดแทนเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังติดประเด็นมาตรการรัฐ 3:1 ที่กำหนดให้ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศก่อน 3 ส่วน จึงจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน ซึ่งวันนี้ไม่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดแล้ว เท่ากับไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อ นั่นคือไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ไปโดยปริยาย ส่วนจะหันไปพึ่งพากากถั่วเหลืองนำเข้า ก็สุดจะสู้กับราคามหาโหด ที่ปรับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 23 บาทแล้ว และยังมีอุปสรรคจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 2% ด้วย นั่นหมายความว่า ภาคผู้ผลิตต้องมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับราคาขายอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ที่ถูกภาครัฐตรึงไว้ ไม่สามารถขายในราคาสะท้อนต้นทุนได้ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อเนื่อง มาตั้งแต่กลางปี 2563 แต่เสียงเกษตรกรไม่ดังพอที่จะทำให้ภาครัฐเห็นใจได้



ข้อกังวลสำคัญในเรื่องนี้คือ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน ที่สุดแล้วโรงงานอาหารสัตว์หลายแห่งอาจต้องหยุดไลน์การผลิต เพราะไม่มีวัตถุดิบเข้าโรงงานด้วยปัญหาขาดแคลนและราคาที่ไม่สามารถจับต้องได้ ย่อมกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ซึ่งจำต้องหยุดการเลี้ยง ผลผลิตเนื้อสัตว์ย่อมน้อยลง และราคาจะขยับสูงขึ้น หรืออย่างที่เลวร้ายที่สุด คือทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรพากันเลิกกิจการทั้งหมด สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ คือการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ  เพื่อลดภาระต้นทุนอาหารสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ ทั้งการยกเลิกมาตรการ 3:1 ที่ใช้ควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%  พิจารณาเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO และ AFTA โดยยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียม ให้สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณขาดแคลนในปี 2565 และรัฐต้องเร่งระงับการส่งออกเสรีข้าวโพดและกากถั่วเหลือง เพื่อรักษาปริมาณวัตถุดิบในประเทศ

ทั้งหมดนี้ต้องทำทันที เพราะปริมาณผลผลิตในปัจจุบันนั้นเพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์เพียงแค่ไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น หากไม่อยากให้คนไทยเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และปัญหาข้าวยากหมากแพง รัฐต้องตัดสินใจ ฟันธงแก้ปัญหาอย่างไม่รีรอ ก่อนจะสายเกินแก้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...