รมช.มนัญญา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด มอบอุปกรณ์การตลาดมูลค่ามากกว่า 65 ล้านบาท พร้อมหนุนสหกรณ์เป็นศูนย์กลางรวบรวมแปรรูปสร้างรายได้ให้สมาชิก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายทรงศักดิ์ วลัยใจ นายอำเภอพร้าว นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ นายไพโรจน์ มหาวัน ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด ตำบลโหล่งขอดสามัคคี อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบอุปกรณ์การตลาด สิ่งก่อสร้าง อาทิ รถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ เครื่องอบลดความชื้นพร้อมโรงคลุม เครื่องชั่งรถบรรทุกพร้อมอุปกรณ์และห้องควบคุม รถตักล้อยาง รถยกพาเลท โกดัง และลานตากคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม การแปรรูป ของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร ปีงบประมาณ 2564 ให้แก่สถาบันเกษตรกร 8 แห่ง ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด สหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด สหกรณ์โคนมสันกำแพง (ป่าตึงห้วยหม้อ) จำกัด สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ด จำกัด สหกรณ์การเกษตรฝาง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด รวมมูลค่า 65,602,783 บาท
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด ได้ขับเคลื่อนงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อก่อสร้างลานตาก คอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,200 ตารางเมตร เพื่อใช้รวบรวมผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว มันฝรั่ง ลำไย มะม่วงของสมาชิกสหกรณ์และเกษตรทั่วไป ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างหมุนเวียนตลอดทั้งปี ส่งผลให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งมีการวางแผนการใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างให้มีความคุ้มค่าสูงสุด ช่วยเหลือสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงต่อไป
“ขอชื่นชมสหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด และสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายที่สำคัญของกรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วยดีเสมอมา สหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญและงานเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลได้หลายเรื่อง เช่นโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้สหกรณ์แม่ข่าย สหกรณ์ลูกข่ายขั้นกลาง และขั้นต้น เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมจัดเก็บและแปรรูป จำหน่าย กระจายผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน มีการให้บริการสมาชิกเพื่อลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงลดการใช้สารเคมีอันตรายและส่งเสริมให้มีการผลิต การตลาด สินค้าเกษตรปลอดภัย โครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ หรือบุคคลทั่วไปที่ไปประกอบอาชีพต่างจังหวัดกลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด โดยมีสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนการจัดหาตลาดรองรับ นโยบายตลาดนำการผลิตเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของตลาด หรือผู้บริโภคปลายทาง โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมถึงเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกันเอง ขอเชิญชวนสหกรณ์ทุกแห่งร่วมกันพัฒนาสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็ง ช่วยกันส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย มีคุณภาพ ลดการใช้สารเคมี ช่วยกันขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มและมีความมั่นคงในอาชีพ อีกทั้งให้มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ จากโครงการที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนให้เต็มศักยภาพ” รมช.มนัญญา กล่าว
จากนั้น ได้พบปะหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ที่มารอต้อนรับ และเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ฯ และบูธจัดแสดงสินค้าทางการเกษตรของกลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ และพบปะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพทางการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 ราย นำโดย นายสถาพร คิดไชย อายุ 47 ปี นำผลผลิต ปลากดหลวงรมควัน ผักผลไม้อินทรีย์ ซึ่งผลผลิตได้รับรอง PGS (Participatory Guarantee Systems) เป็นระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม รับรองคุณภาพที่มุ่งเน้นการรับประกันคุณภาพในท้องถิ่น ตนเองเริ่มทำเกษตรปี 2557 ทำไร่นาสวนผสม อาทิ มันเทศญี่ปุ่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวจ้าวมะลิ 105 คะน้า ผักกาด ลำไย มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง และประมงน้ำจืด เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกระบือ ทำเกษตรแบบอินทรีย์มีตลาดและสามารถจำหน่ายผ่านบูท งานแสดงสินค้า ตลาดออนไลน์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรและประมง สร้างรายได้พอเพียงตลอดปี
ด้านนางสาวพัฒนา ขจรศรี อายุ 45 ปี นำสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูป ได้แก่ มะม่วง มัลเบอรี่ผลสด แยมผลไม้ ชาผลไม้ มาร่วมจัดจำหน่าย ตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตรในอำเภอพร้าว ทำการปลูกพืชผสมผสานสลับหมุนเวียน ปลูกข้าวจ้าวไร่ พืชผักสวนครัว ลำไยอีดอ ลำไยสีชมพู มะม่วงแก้วขมิ้น มะม่วงงาช้างแดง และแปรรูปสินค้าการเกษตรจากผลผลิตในสวน ปัจจุบันมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตในสวนให้มีราคาตามที่ตลาดต้องการ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ยังมีผลผลิต หน่อไม้ฝรั่ง ลูกหมูดำ หมูแม่พันธ์ ของนางสาวทิพวรรณ นาวิเคาะ ผลผลิต ข้าวเหนียวหอม ผักอินทรีย์ มะม่วง ของนายสมบัติ มั่งคำ และผลผลิต กระเทียมดอง มะม่วงแช่อิ่ม ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน อย. ของนายวรชัย ทองคำฟู จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ อาทิ การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง ของสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร นิทรรศการผลิตภัณฑ์กาแฟ จากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด นิทรรศการของสหกรณ์ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม การแปรรูป ของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของดีอำเภอพร้าว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปมันฝรั่ง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หอมหัวใหญ่ ผักอินทรีย์ ข้าวหลาม และการถักทอตะกร้า
สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ปัจจุบันมีสมาชิก 352 ราย มีทุนการดำเนินงานมากกว่า 15 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ข้าวเปลือกและมันฝรั่ง และธุรกิจให้บริการ ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเงินอุดหนุนตามโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตรฯ (พรก.โควิด 19) สร้างลานตากคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 3,200 ตารางเมตร โดย กรมฯ อุดหนุนเป็นเงิน 1,705,000 บาท สหกรณ์สมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นเงิน 189,500 บาท รวมทั้งสิ้น 1,895,000 บาท สหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก สหกรณ์ฯ ยังดำเนินการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิกในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จัดหาปัจจัยการผลิตที่ได้คุณภาพ และจัดหาหัวพันธ์มันฝรั่งสปุนต้าแอตแลนติกมาบริการสมาชิกอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น