สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กลายเป็นวิกฤตที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะผลทางตรงจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น เรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นห่วงต่อสถานการณ์โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ที่จะมีผลต่อต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตสินค้า รวมทั้งราคาสินค้าในอนาคต
ขณะที่ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ไทย อาจต้องประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอนาคตอันใกล้ ประเด็นนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ข้อมูลว่า การสู้รบของสองประเทศ กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตอาหารของไทย โดยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก
ทันทีที่เกิดสงครามได้ผลักดันให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นเป็น 12.75 บาท/กก. จากราคา 8.91 บาท/กก. ในปี 2564 ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยพุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กก. ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดอยู่ที่ 7.98 ล้านตัน แต่ตอนนี้ไม่มีผลผลิตข้าวโพดเข้าสู่ตลาดแล้ว เกิดการขาดแคลนผลผลิตถึง 3.18 ล้านตัน
ขณะที่ รัฐบาลมีมาตรการ 3:1 โดยต้องซื้อผลผลิตข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าได้ 1 ส่วนได้ แต่วันนี้ไม่มีข้าวโพดให้ซื้อแล้ว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลืองในอัตรา 2% เป็นภาระต้นทุนซ้ำเติม ทั้งที่การงดภาษีนำเข้าดังกล่าว ไม่กระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองไทย เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้ หรือแม้จะหามาได้แต่ต้องขายในราคาขาดทุน ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์หลายแห่งจึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตลงบางส่วน
ผลกระทบอย่างรุนแรงรอบด้าน เป็นไปได้ที่ปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 17-18 ล้านตัน จากการผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละปีที่เคยมีประมาณ 22 ล้านตัน หรือหายไปกว่า 4-5 ล้านตัน เป็นผลกระทบต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่ปศุสัตว์ ทำให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรต้องงดการเลี้ยง ผู้บริโภคต้องขาดแคลนเนื้อสัตว์ กลายเป็นวิกฤตอาหารซ้ำเติม
แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เสริมว่า เมื่อปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ย่อมมีผลต่อต้นทุนการเลี้ยงสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นสัดส่วนสูงถึง 60-70% ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์มีทิศทางราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา เมื่อผนวกกับปัญหาความขัดแย้งของสองประเทศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ยิ่งกดดันให้ราคาธัญพืชหลักทั้งหมดปรับตัวขึ้นทั่วโลก รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
จากความกังวลว่าจะไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์อาจจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิต ย่อมกระทบกับภาคผู้เลี้ยงสัตว์ ความไม่แน่นอนในปริมาณของวัตถุดิบอาหารสัตว์ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นความกังวลแก่ผู้เลี้ยงไก่ ทำให้หลายคนอาจพักการเลี้ยงไว้ก่อน ดีกว่าต้องมาเสี่ยงแบกรับภาระขาดทุน นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากการที่ภาครัฐตรึงราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มเอาไว้ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ขณะที่ น้ำมัน ทองคำ ปรับขึ้นรายวันไม่มีทีท่าจะหยุด แม้แต่เครื่องดื่มชูกำลังก็จ่อขึ้นราคายกแผง ขณะที่วันนี้ต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่พุ่งขึ้นจนเกือบจะทะลุราคาขายที่รัฐกำหนดอยู่แล้ว เกษตรกรจึงต้องการให้ปลดล็อกกราคาที่ตรึงเอาไว้ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด และภาครัฐควรเร่งพิจารณาจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีอย่างเพียงพอในช่วงวิกฤติการณ์ในขณะนี้ หากไม่ตัดสินใจวันนี้ราคาวัตถุดิบยิ่งจะเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นอุปสรรคในอุตสาหกรรมทั้งหมด
สอดคล้องกับ ความคิดเห็นของ ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ย้ำว่าต้นทุนการผลิตเนื้อไก่สูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา แต่ราคาเนื้อไก่รวมถึงไข่ไก่กลับถูกตรึงไว้ ไม่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น หากวัตถุดิบทุกชนิดมีราคาสูงเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เกษตรกรไม่มีทางอยู่รอดได้ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาวัตถุดิบจากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครน ก็ควรปล่อยให้ราคาไก่และไก่ไข่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับราคาหมูที่ลดลงเพราะกลไกตลาดทำงานอย่างเสรี การยุติการตรึงราคาไก่และไข่ จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป
วิกฤตยูเครน ส่งผลกับเกษตรกรไทยแล้ว วันนี้ภาครัฐต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เกษตรกรจะม้วนเสื่อเลิกเลี้ยง ย่อมส่งผลกับความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด./
เรื่องโดย กันย์สินี ศตคุณ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น