อธิบดีกรมประมง ได้เปิดเผยนโยบายการบริหารหลายเรื่องที่เป็นเรื่องหลัก และหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องกระจายสินค้าประมงของเกษตรกรไปสู่ตลาด ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และได้ยกตัวอย่างในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ
“อย่างเช่นปลานิลเราก็สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ปัจจุบันนี้เราเน้นบริโภคในประเทศมีกำลังผลิต 250,000 ตันต่อปี ตัวที่ 2 กุ้งก้ามกราม เรากำลังขอนำส่งกุ้งก้ามกรามมีชีวิตเพื่อส่งออกประเทศจีน ซึ่งถ้าเข้าไปได้ก็จะมีมูลค่าที่ค่อนข้างสูง เพราะว่านักท่องเที่ยวที่เคยมาประเทศไทย ในช่วงนี้จีนอาจจะยังมาไม่เต็มที่ เพราะอาจจะยังติดขัดเรื่องโควิด แต่ถ้าเราสามารถเปิดตลาดนำกุ้งก้ามกรามมีชีวิตเข้าไปได้ก็จะเป็นโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการทำต้มยำกุ้ง เมนูย่างกุ้ง ที่เขาชื่นชอบเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย ต่อไปถ้าเราส่งไปสู่ร้านอาหารภัตตาคารของจีนได้ก็จะเป็นโอกาสเพิ่มช่องทางการตลาด ตอนนี้เราได้เสนอต่อ GACC (กระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน General Administration of Customs People's Republic of China ; GACC) ขอเพิ่มวัตถุประสงค์ในการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตเพื่อการบริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา..
ในขณะเดียวกันปลากะพงขาวที่เคยมีปัญหาว่าเราจะขยายตลาดส่งออกที่จะช่วยระบายในช่วงที่เจอโควิดไม่ได้ ตอนนี้เรื่องก็อยู่ระหว่างการขั้นตอนการพิจารณาของจีนเช่นกัน เขาได้ขอระบบประเมินการรับรองของประเทศไทย ทั้งภาคผู้เลี้ยง โรงงานแปรรูป แล้วก็หน่วยงานรับรองก็คือ กรมประมง ก็จะขออนุญาตนำความคืบหน้ามารายงาน เรามีผู้เลี้ยงที่เข้มแข็ง มีโรงงานที่พร้อมจะแปรรูปปลากะพงขาวไปจีน รวมทั้งเรื่องของกรมประมงก็มีความเข้มแข็งในการตรวจรับรองระบบประเมินมาตรฐาน ตอนนี้อาจจะมีความยุ่งยาก ในเรื่องของ Zero covid ที่จีนเขาเข้มงวด ทางโรงงานเราก็ตรวจประเมินระบบ อันนี้ก็คือเรื่องของความคืบหน้าเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่มีโอกาสส่งออกได้
ส่วนปลาชนิดอื่นๆ ก็มีอนาคตที่ดี อย่างเช่น ปลาหมอ หรือปลาสวายที่เราคิดว่าเราบริโภคกันปกติประจำวัน วันนี้เมื่อเปิดตลาดทางตะวันออกกลางได้ก็จะเป็นโอกาส ทางตะวันออกกลางสั่งซื้อปลาสวายรมควันเราค่อนข้างเยอะ รวมทั้งปลาหมอ ทั้งแช่เย็นแช่แข็ง วันนี้ซาอุดิอาระเบียเปิดตลาดให้เรา ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้ไปที่ดูไบไปเรื่องเจรจาเปิดตลาดสินค้าเกษตรก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ปลาน้ำจืดของเราจะได้เพิ่มเติมเข้าไปด้วย”
ในตอนท้ายอธิบดีกรมประมง ยังได้พูดเรื่องอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันได้เน้นย้ำในเรื่องการดูแลเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในชุมชน รวมทั้งโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่ทุรกันดาร รวมทั้งการขยายในพื้นที่ใกล้เคียง ดูแลตั้งแต่ยอดเขาที่สูงจนถึงพื้นที่ราบ เป็นแนวทางที่ตนเองจะดำเนินการตามอย่างเข้มข้น
“ฟังดูอาจจะเยอะแต่เวลาผมไม่เยอะแค่ 18 เดือน แต่ว่าทุกการทำงานมีทีมงาน มีทั้งรองอธิบดีที่จะมาช่วยขับเคลื่อน ใน 3-4 คลัสเตอร์ที่พูดถึง แล้วก็มีผู้อำนวยการกองที่ดูแลรับผิดชอบ ผู้ตรวจเรียกว่าจะเป็นมือไม้ของผมในภูมิภาคเพื่อกระชับการทำงานของภูมิภาคให้ดำเนินตามที่ได้มอบนโยบายไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าในช่วงเวลาที่ผมอยู่ อาจจะมีเรื่องเครียดบ้างบกพร่องบ้าง(วันนี้แถลงพร้อมกับเรื่อง กรณีพนักงานราชการถูกจับคาด่าน เหตุใช้รถหลวงลักลอบขนแรงงานต่างด้าว) แต่การทำงานก็จะเต็มที่ครับ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น