วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566

ต่อยอดอาชีพโคนม นวัตกรรมยกระดับมูลโค เป็นวัสดุธรรมชาติ สินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียนจากฟาร์มโคนม ธุรกิจกระแสใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


 

โครงการนวัตกรรมการผลิตอิฐบล็อกประสานและกระถางต้นไม้จากมูลโคเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโครงการที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยในปีงบประมาณ 2565 โดยมี ดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการ 7 ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับนักวิจัยจาก 3 สถาบัน ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ได้ดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งทำวิจัยร่วมกับฟาร์มโคนมในอำเภอมวกเหล็กจังหวัดสระบุรี มีนายสุกิจ สิงห์กลาง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าร่วมโครงการกับคณะนักวิจัย ความก้าวหน้าของโครงการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยคณะนักวิจัยให้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้



ผศ.ดร.ประชุม คำพุฒ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายว่า การนำมูลโคนมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชุมชนและสอดคล้องกับ BCG นั้นมีแนวคิดหลากหลายในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยในโครงการนี้ เลือกเทคโนโลยี (1) อิฐบล็อกประสานที่ใช้ก่อสร้างผนังอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งในอดีตชาวบ้านใช้มูลสัตว์ร่วมกับฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำยุ้งฉางเก็บเมล็ดพืช ใช้ทำที่อยู่อาศัย ทำบ้านดิน มีข้อดีที่ต้นทุนต่ำ เป็นธรรมชาติ ช่วยรักษาอุณหภูมิในห้องได้ดี นักวิจัยจึงได้นำมาพัฒนาสูตรใหม่ ให้มีความทันสมัย น่าใช้งาน แข็งแรง สวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) กระถางต้นไม้โดยนำมาผสมกับสารเชื่อมประสานและขึ้นรูปด้วยเครื่องอัด สามารถทำส่วนผสมได้ทั้งแบบย่อยสลายได้เพื่อใช้เพาะกล้าต้นไม้ทดแทนถุงเพาะพลาสติกที่เป็นขยะหลังจากใช้งานแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ในกระถางย่อยสลายได้จากมูลโคได้ระยะเวลาการเติบโตที่พอเหมาะแล้วก็สามารถนำไปปลูกลงดินได้ทันที และกระถางต้นไม้แบบไม่ย่อยสลายเพื่อเป็นกระถางปลูกต้นไม้ตกแต่งขนาดต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในท้องตลาด สามารถนำไปปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น แคคตัส ไม้อวบน้ำ และไม้ประดับอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยยังมีเป้าหมายทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากมูลโคเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม



ด้าน ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รับผิดชอบในการออกแบบโซ่คุณค่า พัฒนาแบรนด์ และโมเดลธุรกิจร่วมกับทีมนักวิจัยอีก 3 ท่าน คือ  ผศ. ดร. ศศรส  ใจจิตร์ (วิศวะอุตสาหการ) ดร. พิธาลัย ผู้พัฒน์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) และ ผศ.ดร.อภิญญา ลีลาวณิชกุล (การสร้างช่องทางตลาดออนไลน์) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้ประยุกต์ใช้หลักการออกแบบโครงสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้สามารถลงทุนต่อขยายโซ่คุณค่าของกิจการขายน้ำนมดิบของกลุ่มสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองให้นวัตกรรมอิฐและกระถางจากมูลโคเติบโตเป็นธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งแบรนด์ ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแรก ที่อายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน มีวิถีชีวิตคนเมือง ใช้บริการคาเฟ่ ปลูกพืช ท่องเที่ยว ทำครัวและถ่ายรูปบนสื่อสังคมออนไลน์ (กลุ่ม Y2K) โดยกลุ่มเป้าหมายนี้ มีพฤติกรรมสร้างสมดุลการใช้ชีวิต สนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีอัตลักษณ์หรือเป็นสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ จึงเป็นเครือข่ายเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้เป็นระบบลูกค้าสัมพันธ์ ที่ช่วยสื่อสารเพื่อขยายตลาด เป็นตัวแทนในการหาประเด็นนวัตกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอาจสนใจร่วมหลักสูตรจากศูนย์เรียนรู้ และยกระดับเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการ ที่เกิดจากนวัตกรรมการผลิต อิฐกระถาง และกิจการต่อขยายจากคาเฟ่  โดยนักวิจัยได้ร่วมทำงานกับ หัวหน้าโครงการ และเกษตรกรเจ้าของฟาร์มโคนม ในการออกแบบโรงงานต้นแบบการผลิตอิฐกระถางที่ใช้พลังงานโซล่าเซล และก๊าซชีวภาพจากมูลโค รวมทั้งใช้วัสดุหมุนเวียนทั้งอิฐก่อผนังและวัสดุมุงหลังคาซึ่งเป็นส่วนประกอบของโรงงานต้นแบบ  รวมทั้งการออกแบบระบบผลิตร่วมกับนักวิจัยด้านวัสดุและสูตรอิฐกระถางที่มีมูลโคเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหลังจากโรงงานต้นแบบและกระบวนการผลิตเริ่มผลิตต่อเนื่อง ต้นแบบโมเดลธุรกิจและการสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์จะถูกพัฒนาและทวนสอบต่อไปเพื่อให้ธุรกิจเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนและประเมินการเติบโตต่อไป




ผศ.ดร.สุทธิจิตต์ เชิงทอง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ให้ข้อมูลว่า กากมูลโคเป็นผลพลอยได้จากการใช้เทคโนโลยีเครื่องแยกกาก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้จัดการน้ำทิ้งและมูลโคของฟาร์มโคนมตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ก่อให้เกิดผลพลอยได้หลักสองชนิดคือก๊าซชีวภาพ และกากมูลโค จากลักษณะของโครงสร้างที่มีเนื้อละเอียดของกากมูลโคที่ได้ จึงเหมาะแก่การนำไปเป็นกระถางปลูกพืชและอิฐบล็อกประสาน ผลประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มที่เหนือกว่าการจำหน่ายในรูปแบบของปุ๋ยมูลโคมากน้อยเพียงใด  จะถูกนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มตามโมเดลต้นแบบที่ออกแบบในรูปของระบบธุรกิจที่เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรในการผลิตผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานและกระถางจากมูลโค ตลอดจนการสร้างตราสินค้าของวิสาหกิจชุมชน เพื่อทราบถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในภาพรวมของระบบการผลิตและการตลาดที่ออกแบบเพื่อการศึกษาครั้งนี้ ความคุ้มค่าของโมเดลต้นแบบในการผลิตผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานและกระถางจากมูลโค จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566

สศก. แถลง จีดีพีเกษตร ไตรมาส 1 ระบุ น้ำดี อากาศอำนวย บวกเศรษฐกิจฟื้นตัว ดันจีดีพีโต 5.5%

 


    นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2566 (มกราคม – มีนาคม 2566) ว่า ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการผลิต ประกอบกับการสนับสนุนการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการพัฒนา อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชนิดสินค้า การบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติอย่างทันท่วงที การเฝ้าระวังโรคพืชและสัตว์ การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และการขยายช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากกิจกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยสาขาพืช ยังคงเป็น



    สาขาหลักที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ ในไตรมาส 1 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเช่นกัน ส่วนสาขาประมง หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง 

    สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และ เงาะ ภาพรวมเนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ประกอบกับราคาที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงดูแล อีกทั้งการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราลดลง ส่งผลให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มไม้ผล นอกจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผลแล้ว ทุเรียนที่ปลูกแทนในพื้นที่ยางพาราและไม้ผลอื่น เมื่อปี 2561 และลำไยที่ปลูกแทนในพื้นที่ลิ้นจี่ มะนาว และไม้ผลอื่น เมื่อปี 2563 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ อย่างไรก็ตาม พืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดการบำรุงดูแลรักษาจากต้นทุนด้านราคาปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่สูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ขณะที่มันสำปะหลัง ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2565 บางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนักและประสบอุทกภัย ทำให้น้ำท่วมขัง  พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้ผลผลิตในไตรมาสนี้ลดลง 



    สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.8 สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และประเทศผู้ผลิตหลายประเทศประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์มสุกรมากขึ้น ทำให้มีจำนวนแม่พันธุ์สุกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการปริมาณการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการบริโภคและ น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลโคนมที่ดีขึ้น ประกอบกับการควบคุมโรคลัมปีสกินที่ดี ส่งผลให้มีจำนวนแม่โคให้นมเพิ่มขึ้น 

    สาขาประมง หดตัวร้อยละ 0.5 โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง และลดปริมาณการปล่อยลูกปลา ส่วน กุ้งขาวแวนนาไม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง และปรับเพิ่มจำนวนลูกพันธุ์และลงลูกกุ้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา  



    สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.0 ของปี 2565 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับในปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกและดูแลเอาใจใส่การผลิตมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  

    สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นและจีน ครั่ง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมถึงมีการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศเพิ่มขึ้น รังนก เพิ่มขึ้นตามความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก และยังมีการส่งออกไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และมีการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น  

    ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง การดำเนินนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือ

เยี่ยมแหล่งปลูกผักกาดเขียวปลีและแหล่งผลิตผักกาดดอง แหล่งใหญ่ของประเทศ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี



            อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นแหล่งปลูกผักกาดเขียวปลีแหล่งใหญ่ของประเทศมายาวนานหลายสิบปี ที่นี่จึงเป็นแหล่งผลิตผักกาดดองแหล่งใหญ่ที่ส่งป้อนตลาดทั่วประเทศเช่นกัน ภูมิปัญญาการทำผักกาดดองที่นี่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ผักกาดดองที่นี่มีรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรปลูกผักกาดดองมีการรวมกลุ่มเพื่อเดินไปในแนวทางเดียวกันทั้งการผลิตและการตลาด สร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพปลูกผักกาดเขียวปลีและการทำผักกาดดองให้พัฒนา เติบโต เข้มแข็งและยั่งยืนเพื่อส่งต่ออาชีพสู่ลูกหลานต่อไป 



            วันนี้เราไปเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาหารแปรรูปเกษตรกรแม่กลอง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ของ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีสมาชิกกว่า 100 ราย พื้นที่ปลูกผักรวมกว่า 400 ไร่  โดยผักที่ปลูกเป็นหลักก็คือ ผักกาดเขียวปลี  มีผักอย่างอื่นเสริมบ้าง เช่น กระเพรา โหระพา ผักชี  เผือก ผลผลิตผักกาดเขียวปลีจากกลุ่มเกษตรกรที่นี่ปีหนึ่งมีผลผลิตมากกว่าแสนตันต่อปีเลยทีเดียว ส่งจำหน่ายทั่วประเทศ ผลผลิตที่ส่งจำหน่ายจะมีทั้งผักสดและผักกาดดอง



             คุณวาริช เอี่ยมต่างแดน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่เราไปเยี่ยมแปลงวันนี้ เล่าว่า ปลูกผักกาดเขียวปลีมานานกว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูก 13 ไร่ ปีนี้แบ่งพื้นที่  3 ไร่ มาปลูกกระเพรา โหระพาและเผือกเสริมรายได้ พืชหลักยังเป็นผักกาดเขียวปลี เพราะปลูกมานานและเป็นพืชผักที่ทำรายได้ดี มีตลอดรองรับแน่นอน โดยปีหนึ่งจะปลูกผักกาดเขียวปลีได้ 3-4 รอบ 

            ผักกาดเขียวปลีเป็นผักที่ปลูกและดูแลไม่ยาก โรค แมลงก็ไม่มาก ใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 45-55 วันก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว การปลูกจะใช้วิธีหยอดเมล็ดไปบนแปลงปลูกเลย โดยหยอดเป็นหลุม อย่างขนาดแปลงกว้าง 1-1.20 เมตร จะหยอด 5 หลุม  แต่ละหลุมห่างประมาณ  20-25 ซม. ตามแนวกว้างของแปลง ส่วนความยาวของแปลงตามพื้นที่ เมื่อผักงอกอายุประมาณ 10 กว่าวัน ก็จะมาถอนแยกหรือทิวต้นออกให้เหลือเพียงต้นเดียวต่อหลุม การใส่ปุ๋ยหนึ่งฤดูจะใส่เพียง 2 ครั้ง ช่วงอายุ 15 วัน (หลังทิวต้นออกแล้ว) จะหว่านยูเรีย (46-0-0) ไร่ละ 1 กระสอบ จากนั้นจะมาใส่ช่วงอายุ 45 วันอีกรอบ ใช้สูตรและอัตราเดิม ถ้าผักไม่งามจะเพิ่มรอบใส่ปุ๋ยเพิ่มอีกรอบในช่วงอายุ 1 เดือน เป็น 3 รอบ ส่วนโรค แมลงก็จะพ่นสารเคมีเมื่อเจอการระบาด ส่วนน้ำจะรดทุกวัน 



            ในส่วนของผลผลิตนั้นจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล ช่วงต้นปี อากาศดี ผักงามก็จะได้ผลผลิตสูง 12-13 ตัน/ไร่ ราคาช่วงนั้นก็จะถูกตามไปด้วย ถ้าช่วงปกติก็จะได้ผลผลิต 7-8 ตัน/ไร่  

            ราคาผักกาดเขียวปลีจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลเช่นกัน ช่วงที่อากาศดี ผักงาม ผลผลิตต่อไร่สูง ราคาก็จะถูกลงตามไปด้วย ราคาช่วงถูกก็จะอยู่ที่ 2-4 บาท ถูกสุดจะเป็นต้นปี ราคาเพียง 2 บาท อย่างช่วงนี้ (เดือนมีนาคม) ราคาอยู่ที่ 3.50 บาท แต่ถ้าช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงฝน โอกาสที่ผักเสียหายมีสูง ทั้งจากฝนที่ตกจนน้ำท่วมขังแปลงเสียหาย ทั้งจากโรคจากเชื้อราที่ระบาดตามสภาพอากาศก็จะทำให้ผักมีราคาแพง ราคาช่วงนั้น  5-6 บาท แต่ชาวบ้านที่นี่จะปลูกผักตลอดทั้งปี เรียกว่าแปลงนี้เก็บเกี่ยวเสร็จก็ปลูกต่อเลย ส่วนใหญ่จะแบ่งพื้นที่ปลูกเพื่อให้ผักเก็บเกี่ยวเป็นรุ่นๆไป เพราะผักกาดเขียวปลีจะใช้เวลาประมาณ 55-60 วัน เพื่อให้พื้นที่แต่ละรุ่นไม่มากจนเกินไป สามารถดูแลได้ทั่วถึงตามกำลัง

            คุณวาริชบอกว่า ต้นทุนการผลิตผักกาดเขียวปลี จะอยู่ประมาณไร่ละ 5,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเจอโรค แมลงระบาดแค่ไหน ซึ่งจะเป็นส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รอบที่แล้วพื้นที่ 6 ไร่ ลงทุนไปเกือบ 3 หมื่นบาท ตัดผักขายได้เงิน 7 หมื่นกว่าบาท กำไรเกือบ 4  หมื่นกว่าบาท ก็ถือว่าดีทีเดียว 

กระเพรา โหระพาที่แบ่งพื้นที่มาปลูก 3 ไร่ ช่วงนี้ก็เก็บขายทุกวัน ช่วงนี้ราคาไม่แพง 15-20 บาท/กก. ถ้าเป็นช่วง ส.ค.-ต.ค.ช่วงนั้นราคาจะแพง 70-80-100 บาท/กก.เลยทีเดียว

            ข้อมูล คุณวาริช เอี่ยมต่างแดน 71/4 ม.2 ต.ท่องทอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี 0959128554

ชาวไร่ยาสูบวอนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล จากปัญหาโครงสร้างภาษีและร่างกฏหมายแบนส่วนประกอบของบุหรี่ ก่อนอาชีพการปลูกยาสูบจะหายไปจากประเทศ


 

จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นแหล่งปลูกยาสูบแหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หล่มสัก ยาสูบเป็นพืชสร้างอาชีพ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรที่นี่มายาวนานมากกว่า 40 ปี นับตั้งแต่โรงงานยาสูบ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย) เข้ามาส่งเสริมปลูก การปลูกยาสูบ อาชีพยาสูบมีการพัฒนาและเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนก่อตั้งสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 850 คน พื้นที่ปลูกเกือบ 3,000 ไร่



นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ทำนาเป็นอาชีพหลัก หลังฤดูทำนาก็จะปลูกยาสูบเป็นพืชหลังนา แต่รายได้จากยาสูบสูงกว่าทำนาหลายเท่าตัว โดยฤดูกาลปลูกยาสูบจะเริ่มในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ธ.ค. ที่นี่จะปลูกยาสูบสายพันธุ์เบอร์เลย์เป็นหลัก โดยในแต่ละปีเกษตรกรจะไปขอโควตาเพื่อกำหนดพื้นที่และปริมาณการปลูก พื้นที่ปลูกยาสูบแต่ละปีประมาณ 2,000-3,000 ไร่ แต่ละรายจะปลูกกันตั้งแต่ 3 ไร่ 5 ไร่ ไปจนถึง 10 ไร่ ยาสูบเป็นพืชที่มีตลาดรองรับและมีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอนจากการยาสูบฯ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสี่ยงกับตลาด โดยราคารับซื้อปัจจุบันอยู่ที่ 76.10 บาท/กก.(แห้ง) เพิ่งปรับราคารับซื้อในปีนี้ตามราคาปัจจัยการผลิตและค่าแรงที่สูงขึ้น ก่อนหน้านี้ราคารับซื้อยาสูบอยู่ที่ 69 บาท/กก. มายาวนานเกิน 10 ปี แม้เกษตรกรก็ยังพอมีกำไรแต่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนชาวไร่มีการเรียกร้องขอปรับราคารับซื้อไปหลายครั้ง จนได้ปรับราคาในปีนี้

ยาสูบนับว่าเป็นพืชระยะสั้นที่สร้างรายได้ที่ดี โดยใช้เวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวได้เพียง 70 วันเท่านั้น ใช้เวลาเก็บเกี่ยวใบยาสูบประมาณ 30-40 วัน ก็จะหมดฤดูกาล โดยผลผลิต 1 ไร่ ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 400 กก./ไร่(น้ำหนักแห้ง) แปลงไหนที่ดูแลดี ผลผลิตจะสูงขึ้นเป็น 500-600 กก./ไร่ เลยทีเดียว นอกจากนี้ยาสูบยังเป็นพืชที่มีโอกาสเสียหายจากโรค-แมลงน้อย การดูแลจัดการก็ต่ำ เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยเพียง 3-4 ครั้งต่อฤดูกาล และให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง หากมีปัญหาโรค-แมลงก็จะพ่นสารเคมีบ้าง แต่ก็ถือว่าไม่มาก โดยมีต้นทุนการผลิตประมาณ 12,000-15,000 บาทต่อไร่ มีรายได้ 20,000-22,000 บาท/ไร่ ซึ่งก็นับว่าเป็นพืชที่สร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรมาโดยตลอด



แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาชีพการปลูกยาสูบได้รับผลกระทบจากหลายปัญหา จนทำให้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนและมีการรวมตัวเพื่อขอความช่วยเหลือและเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อาชีพการปลูกยาสูบได้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชาวไร่ต่อไป ก่อนที่ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้ชาวไร่ไม่สามารถปลูกยาสูบได้อีกต่อไปและยาสูบจะหายไปจากประเทศไทย

ปัญหาร่างกฎหมายการแบนส่วนประกอบของบุหรี่

กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้สั่งห้ามมิให้มีการเติมส่วนประกอบและสารปรุงแต่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการผลิตบุหรี่ รวมถึงเมนทอลอย่างเด็ดขาด ซึ่งหากร่างฯ ดังกล่าวผ่านออกมาเป็นกฎหมายการผลิตบุหรี่แบบทุกวันนี้จะไม่สามารถทำได้ ก่อให้เกิดผลทางลบอย่างมากต่ออาชีพของชาวไร่เพราะความต้องการใบยาของการยาสูบฯ ก็จะหมดไป ชาวไร่และพนักงานการยาสูบฯ หมดอาชีพแน่นอน ชาวไร่ยาสูบได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานต่างๆก็เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นร่างกฎหมายที่สร้างผลกระทบกับสังคม ก่อนหน้านี้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีได้เล็งเห็นในปัญหาของร่างฯ จนมีการตีกลับร่างฯมาแล้ว จนถึงตอนนี้หน่วยงานที่จัดทำร่างฯ ได้มีการส่งร่างฯ กลับมาพิจารณาทั้งๆที่ยังไม่มีการแก้ไขตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เสนอแนะไป รวมทั้งไม่เคยได้มาพูดคุยรับฟังชาวไร่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเลย ตอนนี้เรื่องกลับไปรออยู่ที่สำนักเลขาธิการนายกฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อเสนอของภาคีชาวไร่ยาสูบ

ในฐานะภาคยาสูบที่ต้องปกป้องอาชีพการปลูกยาสูบ ภาคีชาวไร่ยาสูบขอคัดค้านร่างฯฉบับที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนี้ ให้มีการบังคับใช้ เพราะหากมีการบังคับใช้แล้วจะส่งผลต่ออาชีพของชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว จะต้องสูญสิ้นอาชีพในทันทีที่มีการประกาศใช้ร่างฯฉบับนี้



ปัญหาโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่

ภาษีสรรพสามิตยาสูบปี 2560 ที่มีการบังคับใช้ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบหดตัวลงอย่างมาก ผลที่ได้คือรัฐบาลเก็บรายได้ภาษียาสูบได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2560 ที่เก็บได้ 6.8 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดแล้วว่าภาษีสรรรพสามิตแบบ 2 อัตรานั้น ทำให้ การยาสูบฯ ไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่นอกได้ เพราะราคาบุหรี่มากระจุกตัวกันอยู่ในช่วงราคาเดียวที่ 66-70 บาท ส่งผลให้ผลกำไรของการยาสูบฯ ลดลงกว่า 98% โดยในปี 2560 มีกำไร 9 พันล้านบาท ลดลงเหลือเพียงประมาณ 100 ล้านบาทในปี 2565 ชาวไร่ยาสูบก็ได้รับผลกระทบไปด้วยจากการที่การยาสูบฯขายได้น้อยลงจึงได้มีการสั่งลดโควต้าการรับซื้อจากชาวไร่ยาสูบลงเช่นกัน อีกทั้งยังไม่สามารถหาเงินมาช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตของชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบได้เต็มจำนวน จนต้องมีการทำเรื่องขอเงินสนับสนุนจากงบกลางจากรัฐบาล นอกจากนี้การขึ้นภาษียาสูบยังเป็นปัจจัยหลักที่มีการนำเข้าบุหรี่หนีภาษีเพิ่มมากขึ้นโดยปัจจุบันมีบุหรี่หนีภาษี/บุหรี่เถื่อน/บุหรี่ปลอม มากกว่า 10% ของบุหรี่ที่ขายในท้องตลาด

ข้อเสนอของภาคีชาวไร่ยาสูบ

รัฐบาลควรมีนโยบายแก้ไขโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ทบทวนภาษีแบบ 2 อัตรา ว่ายังเหมาะสมหรือไม่หรือควรปรับไปใช้อัตราเดียวแบบตามที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เสนอแนะกันตามที่ปรากฏในข่าวสื่อมวลชน และควรหยุดขึ้นภาษียาสูบไปก่อนจนกว่าการยาสูบฯจะฟื้นตัวได้



การจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลชาวไร่ยาสูบ

ชาวไร่ยาสูบรวมทั้งการปลูกยาสูบไม่มีหน่วยงานที่สามารถดูแลเราได้อย่างเต็มที่ เพราะพืชยาสูบไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีความถนัดในเรื่องปัญหาด้านการเกษตร แต่อยู่ภายใต้การดูแลของการยาสูบฯ กระทรวงการคลังที่มีความชำนาญในเรื่องของการเงิน การเก็บภาษี พอประสบปัญหาต่างๆทั้ง ภัยธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการควบคุมยาสูบและการจัดทำโครงสร้างภาษีบุหรี่ จึงไม่มีหน่วยงานไหนที่เข้ามาดูแลชาวไร่ยาสูบโดยตรง อีกทั้งยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนชาวไร่ยาสูบที่เป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลให้ชาวไร่ยาสูบต้องออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลโดยตรงเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือปัญหาของชาวไร่ยาสูบ

ข้อเสนอของภาคีชาวไร่ยาสูบ

ขอเสนอให้มีการแบ่งเงินจากกองทุนต่างๆ มาดูแลชาวไร่ยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลชาวไร่ยาสูบและไม่ต้องขอแบ่งเงินจากงบกลางของรัฐบาลที่จะต้องนำไปใช้ในเรื่องจำเป็นอื่นๆอีกต่อไปในอนาคต

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566

สสก.2 ราชบุรี แถลงงข่าวโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2566


 

                    สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี (สสก.2 รบ.) จัดกิจกรรมแถลงข่าวโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2566 ระดับเขต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่เกษตรภาคตะวันตก



                    นางธัญธิตา บุญญมณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ว่า สสก.2 รบ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ร่วมกับ 8 จังหวัดภาคตะวันตก ตามโมเดลเกษตรเขต 2 ภายใต้การดำเนินงาน BCG Model และระบบส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที โดยสสก.2 รบ. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน BCG Model ในแปลงใหญ่โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง 



                   นางสาวสุจิรา กิจเจริญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในระดับพื้นที่ ว่า จังหวัดเพชรบุรี ได้ขับเคลื่อนแปลงใหญ่ โดยมีการเตรียมความพร้อม หาความต้องการของเกษตรกรก่อนมีการจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่  โดยผ่านที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด



                   นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวยังมีนิทรรศการแสดงผลความสำเร็จการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ของสสก.2 รบ. ได้แก่ 1) นิทรรศการการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรภายใต้โมเดลเกษตรเขต 2 2) นิทรรศการการขับเคลื่อน BCG Model ในพื้นที่เกษตรภาคตะวันตก 3) นิทรรศการแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศ ประจำปี 2565 แปลงใหญ่มะพร้าว หมู่ 2 ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4) นิทรรศการ BCG Model กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าว น้ำหอม จังหวัดราชบุรี และ5) นิทรรศการวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ โมเดลเศรษฐกิจ BCG วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม

                  โดยภายหลังงานแถลงข่าวยังได้มีการจัดกิจกรรมารประกวดพริกบางช้าง และพริกพื้นถิ่นอื่น ๆ  ภายใต้โครงการสวนเกษตรตามแนวพระราชดำริ อุทยาน ร.2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566



                 นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประกวดพริกบางช้าง และพริกพื้นถิ่นอื่น ๆ ภายใต้โครงการสวนเกษตรตามแนวพระราชดำริ อุทยาน ร.2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โดยกล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เข้าร่วมงานที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดขึ้น ซึ่งเป็นโครงการภายใต้งานเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ อุทยาน ร.2 เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปะอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติและได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 

นอกจากนี้ยังมีการประกวดพริกบางช้างซึ่งเป็นพริกอัตลักษณ์พื้นถิ่นรวมถึงพริกชนิดอื่นๆ 

          ในด้านของพริกบางช้างทางกรมส่งเสริมได้สนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ที่ได้ทรงมีพระราชปณิธานมอบหมายให้กับส่วนราชการในการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่สำคัญ ในส่วนของพริกบางช้างเป็นพริกพื้นถิ่นที่มีประวัติอันยาวนาน ทางด้านกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมและสร้างการรับรู้ประวัติของพริกบางช้าง จึงนำมาสู่การประกวดและแข่งขันขึ้น ซึ่งไม่ได้มีแค่พริกบางช้างยังมีพริกอื่นๆที่ดีอีกหลายชนิด คาดว่าในการจัดงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป



          นอกจากการประกวดแล้วยังมีการจัดนิทรรศการ ซึ่งนำเอาพืชและผลผลิตของเกษตรกรรวมถึงผลผลิตและความสำเร็จของพี่น้องเกษตรกรที่เรียกว่า Young Smart Farmer มาจัดแสดง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าของเกษตรกรในพื้นที่ 8 จังหวัดที่อยู่ในเขตการดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรีอีกด้วย

วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566

เฉลิมชัย' บุกเมืองสุพรรณฯ เดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ดี หวังเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อสร้างเงิน สร้างรายได้ แก่พี่น้องชาวนา

       ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิด "งานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติได้จริง" ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กิจกรรมหลักสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์ข้าว โค-กระบือ ท่อนพันธุ์นาหญ้า หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (... 4-01) สินเชื่อ พันธุ์ปลา จำนวน 50,000 ตัว ปัจจัยการผลิต พันธุ์ผัก ให้แก่เกษตรกร เยี่ยมชมนิทรรศการและพบปะเกษตรกร โดยมี นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูรอินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม  ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี




       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว มุ่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพ ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้มีความรู้ความเข้าใจ และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสม และสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทนจากการผลิต ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ประกอบกับราคาที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตข้าวมีความผันผวน การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาข้าวสู่การปฏิบัติในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ



       อย่างไรก็ตาม ข้าวคุณภาพดีส่วนหนึ่งจะต้องมาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยนอกจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว ที่ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว ยังสนับสนุนให้ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญและใกล้ตัวเกษตรกรที่จะมาเติมเต็มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ยังขาดแคลน ให้ถึงมือเกษตรกรโดยตรงด้วย



       ทั้งนี้ จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น3.3 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 1.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ39 ของพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ปลูกข้าวอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ร้อยละ 84 ของพื้นที่ปลูกข้าว ผลผลิตเฉลี่ย(ข้าว) 736 กิโลกรัมต่อไร่ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 40,000 ราย

       "รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงพื้นที่ในวันนี้ เพราะจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญ จึงนำผู้บริหารมาทั้งกระทรวงเพื่อมารับฟังปัญหาจากพี่น้องชาวนาโดยตรง ซึ่งพี่น้องชาวนาถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ จึงพยายามเข้ามาดูว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่ขาดไปคือการพัฒนาพันธุ์ข้าว กรมการข้าวจึงต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ และนำงานวิจัย นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้พี่น้องชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หัวใจของการดำเนินการจึงต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยศูนย์ข้าวชุมชนจะเป็นพี่เลี้ยง และรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนปัจจัยต่าง ๆเพื่อเพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงไม่เคยเสียดายงบประมาณที่จะมาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรซึ่งเชื่อว่านโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก จะเป็นเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงเกษตรฯ ยุคนี้จะเปรียบเสมือนคนในครอบครัว และเป็นมิตรแท้ของพี่น้องเกษตรกรอย่างแน่นอน" ดร.เฉลิมชัย กล่าว

 

 

 


 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...