วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566

ชาวไร่ยาสูบวอนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล จากปัญหาโครงสร้างภาษีและร่างกฏหมายแบนส่วนประกอบของบุหรี่ ก่อนอาชีพการปลูกยาสูบจะหายไปจากประเทศ


 

จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นแหล่งปลูกยาสูบแหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หล่มสัก ยาสูบเป็นพืชสร้างอาชีพ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรที่นี่มายาวนานมากกว่า 40 ปี นับตั้งแต่โรงงานยาสูบ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย) เข้ามาส่งเสริมปลูก การปลูกยาสูบ อาชีพยาสูบมีการพัฒนาและเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนก่อตั้งสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 850 คน พื้นที่ปลูกเกือบ 3,000 ไร่



นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ทำนาเป็นอาชีพหลัก หลังฤดูทำนาก็จะปลูกยาสูบเป็นพืชหลังนา แต่รายได้จากยาสูบสูงกว่าทำนาหลายเท่าตัว โดยฤดูกาลปลูกยาสูบจะเริ่มในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ธ.ค. ที่นี่จะปลูกยาสูบสายพันธุ์เบอร์เลย์เป็นหลัก โดยในแต่ละปีเกษตรกรจะไปขอโควตาเพื่อกำหนดพื้นที่และปริมาณการปลูก พื้นที่ปลูกยาสูบแต่ละปีประมาณ 2,000-3,000 ไร่ แต่ละรายจะปลูกกันตั้งแต่ 3 ไร่ 5 ไร่ ไปจนถึง 10 ไร่ ยาสูบเป็นพืชที่มีตลาดรองรับและมีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอนจากการยาสูบฯ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสี่ยงกับตลาด โดยราคารับซื้อปัจจุบันอยู่ที่ 76.10 บาท/กก.(แห้ง) เพิ่งปรับราคารับซื้อในปีนี้ตามราคาปัจจัยการผลิตและค่าแรงที่สูงขึ้น ก่อนหน้านี้ราคารับซื้อยาสูบอยู่ที่ 69 บาท/กก. มายาวนานเกิน 10 ปี แม้เกษตรกรก็ยังพอมีกำไรแต่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนชาวไร่มีการเรียกร้องขอปรับราคารับซื้อไปหลายครั้ง จนได้ปรับราคาในปีนี้

ยาสูบนับว่าเป็นพืชระยะสั้นที่สร้างรายได้ที่ดี โดยใช้เวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวได้เพียง 70 วันเท่านั้น ใช้เวลาเก็บเกี่ยวใบยาสูบประมาณ 30-40 วัน ก็จะหมดฤดูกาล โดยผลผลิต 1 ไร่ ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 400 กก./ไร่(น้ำหนักแห้ง) แปลงไหนที่ดูแลดี ผลผลิตจะสูงขึ้นเป็น 500-600 กก./ไร่ เลยทีเดียว นอกจากนี้ยาสูบยังเป็นพืชที่มีโอกาสเสียหายจากโรค-แมลงน้อย การดูแลจัดการก็ต่ำ เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยเพียง 3-4 ครั้งต่อฤดูกาล และให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง หากมีปัญหาโรค-แมลงก็จะพ่นสารเคมีบ้าง แต่ก็ถือว่าไม่มาก โดยมีต้นทุนการผลิตประมาณ 12,000-15,000 บาทต่อไร่ มีรายได้ 20,000-22,000 บาท/ไร่ ซึ่งก็นับว่าเป็นพืชที่สร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรมาโดยตลอด



แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาชีพการปลูกยาสูบได้รับผลกระทบจากหลายปัญหา จนทำให้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนและมีการรวมตัวเพื่อขอความช่วยเหลือและเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อาชีพการปลูกยาสูบได้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชาวไร่ต่อไป ก่อนที่ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้ชาวไร่ไม่สามารถปลูกยาสูบได้อีกต่อไปและยาสูบจะหายไปจากประเทศไทย

ปัญหาร่างกฎหมายการแบนส่วนประกอบของบุหรี่

กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้สั่งห้ามมิให้มีการเติมส่วนประกอบและสารปรุงแต่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการผลิตบุหรี่ รวมถึงเมนทอลอย่างเด็ดขาด ซึ่งหากร่างฯ ดังกล่าวผ่านออกมาเป็นกฎหมายการผลิตบุหรี่แบบทุกวันนี้จะไม่สามารถทำได้ ก่อให้เกิดผลทางลบอย่างมากต่ออาชีพของชาวไร่เพราะความต้องการใบยาของการยาสูบฯ ก็จะหมดไป ชาวไร่และพนักงานการยาสูบฯ หมดอาชีพแน่นอน ชาวไร่ยาสูบได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานต่างๆก็เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นร่างกฎหมายที่สร้างผลกระทบกับสังคม ก่อนหน้านี้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีได้เล็งเห็นในปัญหาของร่างฯ จนมีการตีกลับร่างฯมาแล้ว จนถึงตอนนี้หน่วยงานที่จัดทำร่างฯ ได้มีการส่งร่างฯ กลับมาพิจารณาทั้งๆที่ยังไม่มีการแก้ไขตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เสนอแนะไป รวมทั้งไม่เคยได้มาพูดคุยรับฟังชาวไร่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเลย ตอนนี้เรื่องกลับไปรออยู่ที่สำนักเลขาธิการนายกฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อเสนอของภาคีชาวไร่ยาสูบ

ในฐานะภาคยาสูบที่ต้องปกป้องอาชีพการปลูกยาสูบ ภาคีชาวไร่ยาสูบขอคัดค้านร่างฯฉบับที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนี้ ให้มีการบังคับใช้ เพราะหากมีการบังคับใช้แล้วจะส่งผลต่ออาชีพของชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว จะต้องสูญสิ้นอาชีพในทันทีที่มีการประกาศใช้ร่างฯฉบับนี้



ปัญหาโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่

ภาษีสรรพสามิตยาสูบปี 2560 ที่มีการบังคับใช้ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบหดตัวลงอย่างมาก ผลที่ได้คือรัฐบาลเก็บรายได้ภาษียาสูบได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2560 ที่เก็บได้ 6.8 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดแล้วว่าภาษีสรรรพสามิตแบบ 2 อัตรานั้น ทำให้ การยาสูบฯ ไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่นอกได้ เพราะราคาบุหรี่มากระจุกตัวกันอยู่ในช่วงราคาเดียวที่ 66-70 บาท ส่งผลให้ผลกำไรของการยาสูบฯ ลดลงกว่า 98% โดยในปี 2560 มีกำไร 9 พันล้านบาท ลดลงเหลือเพียงประมาณ 100 ล้านบาทในปี 2565 ชาวไร่ยาสูบก็ได้รับผลกระทบไปด้วยจากการที่การยาสูบฯขายได้น้อยลงจึงได้มีการสั่งลดโควต้าการรับซื้อจากชาวไร่ยาสูบลงเช่นกัน อีกทั้งยังไม่สามารถหาเงินมาช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตของชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบได้เต็มจำนวน จนต้องมีการทำเรื่องขอเงินสนับสนุนจากงบกลางจากรัฐบาล นอกจากนี้การขึ้นภาษียาสูบยังเป็นปัจจัยหลักที่มีการนำเข้าบุหรี่หนีภาษีเพิ่มมากขึ้นโดยปัจจุบันมีบุหรี่หนีภาษี/บุหรี่เถื่อน/บุหรี่ปลอม มากกว่า 10% ของบุหรี่ที่ขายในท้องตลาด

ข้อเสนอของภาคีชาวไร่ยาสูบ

รัฐบาลควรมีนโยบายแก้ไขโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ทบทวนภาษีแบบ 2 อัตรา ว่ายังเหมาะสมหรือไม่หรือควรปรับไปใช้อัตราเดียวแบบตามที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เสนอแนะกันตามที่ปรากฏในข่าวสื่อมวลชน และควรหยุดขึ้นภาษียาสูบไปก่อนจนกว่าการยาสูบฯจะฟื้นตัวได้



การจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลชาวไร่ยาสูบ

ชาวไร่ยาสูบรวมทั้งการปลูกยาสูบไม่มีหน่วยงานที่สามารถดูแลเราได้อย่างเต็มที่ เพราะพืชยาสูบไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีความถนัดในเรื่องปัญหาด้านการเกษตร แต่อยู่ภายใต้การดูแลของการยาสูบฯ กระทรวงการคลังที่มีความชำนาญในเรื่องของการเงิน การเก็บภาษี พอประสบปัญหาต่างๆทั้ง ภัยธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการควบคุมยาสูบและการจัดทำโครงสร้างภาษีบุหรี่ จึงไม่มีหน่วยงานไหนที่เข้ามาดูแลชาวไร่ยาสูบโดยตรง อีกทั้งยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนชาวไร่ยาสูบที่เป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลให้ชาวไร่ยาสูบต้องออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลโดยตรงเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือปัญหาของชาวไร่ยาสูบ

ข้อเสนอของภาคีชาวไร่ยาสูบ

ขอเสนอให้มีการแบ่งเงินจากกองทุนต่างๆ มาดูแลชาวไร่ยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลชาวไร่ยาสูบและไม่ต้องขอแบ่งเงินจากงบกลางของรัฐบาลที่จะต้องนำไปใช้ในเรื่องจำเป็นอื่นๆอีกต่อไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...