วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566

นักวิจัย มรภ.สวนสุนันทา โชว์กลยุทธ์ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนตามอัตลักษณ์


    ผศ.ดร.ชลภัสสรณ์ สิทธิวรงค์ชัย คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และหัวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (
Fundamental Fund) ประเภท Basic Research Fund ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เดินหน้าดำเนินงาน โครงการนวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของผผลิตภัณฑ์ด้วยทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม สู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนพัฒนากลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวชุมชน สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดสมุทรสงคราม




    ผศ.ดร.ชลภัสสรณ์ กล่าวว่า “โครงการนวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงาร คือ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม สู่เศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งเป็นการพัฒนากลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวชุมชนไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จาการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ตลอดจนเป็นการบรูณาการนวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ด้วยทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสมุทรสงครามให้เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุมนักท่องเที่ยวโดยทั่วกัน




    ซึ่งการศึกษาและดำเนินงานในโครงการดังกล่าวครั้งนี้ ได้มีดำเนินการศึกษานวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในพื้นที่ ตำบลดอนมะโนรา และตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้รับความร่วมมือจาก ประชนชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชนตลอดจนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาทิ นายบุญรัตน์ ลิ้มไพบูลย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรสร้างสรรค์ และ นายสุชล สุขเกษม ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านสารภี ฯลฯ ในการสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินงานและได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแนววทางความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวชุมชน และยังนำไปถ่ายทอดต่อยังบุคคลที่สนใจ จนเห็นผลเป็นรูปธรรมสร้างประโยขน์ ให้ประชาชนในพื้นที่นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

    และจากข้อมูลและตัวชี้วัดของผลการดำเนินโครงการฯดังกล่าวในครั้งนี้ พบว่า สามารถลดต้นทุนรายจ่ายจากการนำเข้าวัตถุดิบในชุมชนเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ได้ถึงร้อยละ2 อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในชุมชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มีการถ่ายทอดนวัตกรรมมาสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่และชุมชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 นอกจากนี้ที่สำคัญยังพบว่ามีการนำนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ” ผศ.ดร.ชลภัสสรณ์ กล่าว

 

นักวิจัย มรภ.สวนสุนันทา พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรเทาผื่นคัน ลดการอักเสบ จากต้นเหงือกปลาหมอ


   
 จากการสำรวจข้อมูลผักและสมุนไพรพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามของทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในพื้นที่ในการเก็บรวบรวมตัวอย่างพืช จากนั้นจึงทำการการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของผัก และสมุนไพรตัวอย่าง พบว่าภาครัฐ และภาคประชาชนผู้ผลิต ยังมีทัศนคติที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยภาครัฐจะเน้นด้านมาตรฐานการผลิต ส่วนภาคประชาชนจะเน้นการกล่าวอ้างสรรพคุณ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ จากการเก็บผัก และสมุนไพรตัวอย่าง มาทำการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ น้ำ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร แคลเซียม เบต้าแคโรทีน และวิตามินซี ซึ่งพบว่าผักท้องถิ่นบางชนิดมีศักยภาพที่สามารถแปรรูป เป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเหงือกปลาหมอซึ่งเป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่พบว่าขึ้นอยู่ในพื้นที่ชายน้ำหรือชายเลน สรรพคุณทางยาสามารถนำมาใช้บรรเทาการอักเสบบริเวณผิวหนังได้ ที่โดดเด่นมากก็คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก และเมล็ด 



    ดร.นรินทร์ กากะทุม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเจลกันแดดผสมสารสกัดใบเหงือกปลาหมอเพื่อยับยั้งอนุมูลอิสระและการจัดตั้งสปาชุมชนครั้งนี้ได้ทำการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ต.บางจะเกร็งอ.เมืองสมุทรสงครามและต.ดอนมะโนราอ.บางคนทีจ.สมุทรสงครามโดยมีที่มาจากชื่อบางจะเกร็งที่แปลว่าต้นเหงือกปลาหมอ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าใบเหงือกปลาหมอมีปริมาณสารสกัด2.8625%เมื่อนำมาใส่ในส่วนประกอบเจลสามารถขึ้นรูปเป็นเนื้อเจลได้ ในการทดสอบความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ในสภาวะเราง พบว่าผลิตภัณฑ์เจลกันแดดผสมสารสกัดใบเหงือกปลาหมอไม่แยกชั้น ผลการทดสอบการระคายเคืองในอาสาสมัครจำนวน 10 คน หลังใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง พบว่าไม่มีอาการแพ้ อาการคัน หรือระคายเคือง ผลการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ



     จึงเป็นสิ่งยืนยันผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญาท้องถิ่นได้ว่า เจลกันแดดผสมสารสกัดใบเหงือกปลาหมอ สามารนำมาเป็นส่วนช่วนในผลิตภัณฑ์ได้ดี ซึ่งได้ผลดีดังสรรพคุณตามทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ จึงได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการผื่นคันและลดการอักเสบจากเหงือกปลาหมอ  ภายใต้แผนงานวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรท้องถิ่นเอกลักษณ์ จังหวัดสมุทรสงคราม  ผศ.ดร.ยุทธนา สุดเจริญ เป็นหัวหน้าโครงการ และในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Fundamental Fund) ประเภท Basic Research Fund ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวจนสำเร็จโดยดี

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566

กรมการข้าว นำทีม สื่อมวลชนดูงาน " โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ณ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช"


  

     นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง นำทีมสื่อมวลชนดูงาน "โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน " เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 26-27 ม.ค. 2565 ณ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช



     ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นองค์กรชาวนาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใด้สนับสนุนการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชน ภายใต้การกำกับดูแล โดย กรมการข้าว ซึ่งได้วางระบบร่วมกันกับผู้แทนของศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อให้ศูนย์ข้าวชุมชนสามารถเสริมสร้างศักยภาพการผลิดเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาในชุมชนและของประเทศ ตลอดจนการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบ 



     ว่าที่ร้อยตรีหญิงศาตนันทน์ สุจิตโต นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง  กล่าวว่า สำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน  ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้มีการดำเนินงานในการ ส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้าง ในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าวสู่เกษตรกรพร้อมองค์ความรู้  เผื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และกระจายพันธุ์คุณภาพดีให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้



    โดยนายอำมร สุขวิน ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้าง ตำบลพนางตุง อำเภอควรขนุน จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้าง มีสมาชิกทั้งสิ้น 20 ราย พื้นที่การปลูก จำนวน 200 ไร่ ทำการปลูกข้าว ปีละ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตครั้งละ 20 ตัน / รอบ สำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนได้ดำเนินการแปลงเมล็ดพันธุ์ เพื่อบริการกระจายเมล็ดพันธุ์ ให้สมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อผลิตข้าวที่ได้คุณภาพมาตรฐานตรงตามกรมการข้าวกำหนดอย่างครบวงจร อาทิ ข้าวพันธุ์ กข 41 กข 47 กข 29 กข 61 และกข 81 นอกจากนี้ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้างได้มีการต่อยอด ปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์สังข์หยดพัทลุง เพื่อต่อยอด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สบู่บำรุงผิว น้ำมันรำข้าว คุกกี้  ข้าวยำกรอบ ผงโรยข้าว ภายใต้      แบรนด์โนชร่า เป็นต้น นับว่าเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลชนะเลิศผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น ระดับภาคใต้อีกด้วย



    ด้านนายจำรัส คงนุ้ย ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า เดิมทีตนและ สมาชิกกลุ่ม จำนวน 17 คน พื้นที่ 180 ไร่ เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ดี พันธุ์ข้าว หอมมะลิปทุม และ กข79 แต่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วม และสถานการณ์โควิด จึงไม่สามารถ ดำเนินการต่อได้ เนื่องจากได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  เว้นช่วงไป ในระยะ 2 ปี แต่ปัจจุบัน กรมการข้าวได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้เข้ามาส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านแหลม ภายใต้ "โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน " เพื่อฟื้นฟู ให้เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความเข้มแข็ง สามารถต่อยอดและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่สมาชิกและเกษตรพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

 

 

 

รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ การจัดงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการลดต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว จ.นครศรีธรรมราช

        บ่ายวันนี้ (27 ม.ค.66)  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินงานจังหวัดนครศรีธรรมราช   นำโดยนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมนายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมพี่น้องเกษตรกร ให้การต้อนรับ ในงาน “ถ่ายทอดเทคโนโลยี การลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่  ปี 2566 ”  ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช



            ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับ“การจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี ๒๕๖๖”  ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับนโยบาย “ ตลาดนำการผลิต ” โดยนำแนวทางของโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน และสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้สามารถควบคุมผลผลิตและราคาได้ รวมถึงผลักดันให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกร ในการเรียนรู้และวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ยกระดับมาตรฐานผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถกำหนดชนิดผลผลิตตามความต้องการของตลาดได้    ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการแปรรูปผลผลิตเกษตรให้มีมูลค่าสูง และใช้การตลาดสมัยใหม่ เป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อย ทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย 



           โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2565/66 มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้ประมาณ 95,000 ตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของทั้งประเทศ ที่อยู่ประมาณ 1.33 ล้านตัน “ศูนย์ข้าวชุมชน” จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่มีความสำคัญยิ่ง และใกล้ตัวเกษตรกรที่สุดที่จะมาเติมเต็มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ที่ยังขาดแคลน ดังนั้นศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้ร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 11 ศูนย์ มีเป้าหมาย การผลิตเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวที่กำหนด 



         อีกทั้งกิจกรรมภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิต การใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวคุณภาพดี ให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และการบรรยายให้ความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในการลดต้นทุนการผลิตข้าวมาปรับใช้ในศูนย์ข้าวชุมชน โดยวิทยากรผู้มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ และยังมีการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยเกษตรกรในพื้นที่         

          นอกจากนี้ กรมการข้าวยังได้ให้ความสำคัญ นำคณะสื่อมวลชนและ กลุ่มเกษตรกรจากศูนย์ข้าวชุมชนอาทิ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลแหลม จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมกิจกรรม “ การจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี ๒๕๖๖”  ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรับทราบ และเข้าใจข้อมูลองค์ความรู้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่และนวัตกรรมการผลิตด้านการเกษตร สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าวในการประกอบอาชีพทำนา เพื่อให้เกษตรกร  ผู้ปลูกข้าวมีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืนสืบไป.

 

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2566

รมช.มนัญญา’ รุดแก้ปัญหาผลผลิตปาล์มล้นตลาด จ.กระบี่ ดันสหกรณ์รับซื้อปาล์มน้ำมันช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาความเดือดร้อน ราคาเป็นธรรม


 

    นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมี นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมชาย เทพจิตร ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด สมาชิกชุมนุมสหกรณ์ฯ เข้าร่วม ณ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ตำบลคลองยา อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ว่า ปาล์มน้ํามันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญในเขตภาคใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีแนวทางในการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ํามันในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยใช้กลไกสหกรณ์ขับเคลื่อน ผ่านชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด  ซึ่งขณะนี้พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ และมีปัญหาการลักลอบปาล์มนอกโควต้าเข้ามาในประเทศไทย จึงได้ขอความร่วมมือให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ดำเนินการรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรและสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากพบว่า ลานเทของเอกชนในพื้นที่หลายแห่งปิดการรับซื้อ ดังนั้น ขอให้สหกรณ์เป็นที่พึ่งของเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน



    ทั้งนี้ จากรายงานของประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ได้รายงานว่า ขณะนี้ราคารับซื้อผลปาล์มดิบ ณ ปัจจุบัน วันที่ 20 ม.ค.66 อยู่ที่ 4.80 บาทต่อกิโลกรัม และพร้อมจะขยับราคารับซื้อเพิ่มเป็น 5 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือสมาชิกตามที่ได้ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะดังกล่าว จึงเป็นการตอกย้ำว่าระบบสหกรณ์เป็นที่พึ่งของสมาชิกเกษตรกรอย่างแท้จริง และเป็นสถาบันที่จะช่วยถ่วงดุลทางการตลาดกับภาคเอกชน

     “จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ที่ลานเทเอกชนปิดการรับซื้อด้วยสาเหตุใดก็ตาม สหกรณ์ก็ยังขับเคลื่อนได้เพื่อช่วยเหลือสมาชิก จึงขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง นอกจากนี้ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตร ตรวจจับการนำเข้าอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม เรื่องการหยุดรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง เพราะเชื่อว่าไม่มีใครเอาความเดือดร้อนของเกษตรกรมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง สำหรับกรณีปัญหาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาอำเภอคลองท่อม ซึ่งเคยอยู่ในการดูแลของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ที่มีปัญหาเรื่องการจัดทำสัญญาซื้อขายโรงงานที่ไม่ชอบธรรม ขณะนี้ได้รับการประสานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เบื้องต้นจะมีการหารือกับกรรมการสหกรณ์ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เพื่อช่วยแก้ไขและนำโรงงานสกัดแห่งนี้กลับเข้ามาอยู่ในความดูแลของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว 



    ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้สหกรณ์หามืออาชีพมาช่วยในการบริหารจัดการสหกรณ์ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก รวมถึงได้เน้นย้ำเรื่องการส่งออกซึ่งปาล์มจะต้องมีคุณภาพเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ และผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มเข้าสู่ระบบมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศเข้ามาสู่ระบบนี้เพิ่มมากขึ้น

    จังหวัดกระบี่ มีเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 41,156 ราย พื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1,151,415 ไร่ ผลผลิตที่ได้ 3,345,467 ตันต่อปี ผลผลิตเฉลี่ย 3 ตันต่อไร่ มีสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันจำนวน 14 แห่ง สำหรับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด จดทะเบียนสหกรณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 ด้วยทุนจดทะเบียน 60,000 บาท อีกทั้ง ประธานชุมสหกรณ์ฯ ได้รายงานว่า ปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์ฯ มีทุนดำเนินงานเพิ่มเป็น 391.18 ล้านบาท มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวน 2 แห่ง คือ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาอำเภออ่าวลึก ขนาดกำลังการผลิต 90 ตันทะลายต่อชั่วโมง สามารถรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ 2,000 – 2,200 ตันต่อวัน และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาอำเภอคลองท่อม ขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง สามารถรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ 1,200 – 1,400 ตันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง



    สำหรับผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2565 ในส่วนของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาอำเภออ่าวลึก สามารถรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งสิ้น จำนวน 190,393.25 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,441.34 ล้านบาท สามารถจำหน่ายสินค้าที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตปาล์มน้ำมัน ดังนี้ 1) น้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 32,020.43 ตัน มูลค่า 1,282.14 ล้านบาท 2) เมล็ดใน จำนวน 10,058.90 ตัน มูลค่า 205.95 ล้านบาท 3) กะลาปาล์ม จำนวน 6,257.35 ตัน มูลค่า 22.86 ล้านบาท 4) ทะลายเปล่า จำนวน 36,962.98 ตัน มูลค่า 5.25 ล้านบาท

    จากนั้น รมช.มนัญญา เดินทางเยี่ยมชมแปลงสาธิตการผลิตปาล์มน้ำมันของนายจรัส ปทุมสุวรรณ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ต้นแบบ (ปาล์มนํ้ามัน) สหกรณ์นิคมอ่าวลึก ณ ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ซึ่งได้รับใบรับรองมาตรฐาน RSPO โดยดำเนินกิจกรรมปลูกปาล์มและยังปลูกพืชร่วมและพืชแซมในสวนปาล์ม ทําให้สามารถจําหน่ายเป็นรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เช่น การปลูกสละร่วมในสวนปาล์มน้ํามัน โดยในพื้นที่ 3 ไร่ สามารถจําหน่ายสละได้ 90,000 บาทต่อปี สร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี.

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566

กระทรวงเกษตรฯ เปิดหลักสูตร วิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.)” รุ่นที่ 3 รวมแวดวงภาครัฐ เอกชน Smart Farmer เข้าร่วม หวังยกระดับและพัฒนาวงการเกษตรไทย


 


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายทองเปลว กองจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง(วกส.) ด้านวิชาการ รุ่นที่ 3 จัดประชุมและแถลงเปิดหลักสูตร ร่วมกับนายอนันต์ สุวรรณรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิเกษตราธิการ ที่ปรึกษาฯ (ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ) และนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองประธานอนุกรรมการฯ และดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์   คณะทำงาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



นายทองเปลว กล่าวว่า กระทรวงเกษตร ฯ ได้ใช้หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) เพื่อเชื่อมโยงบุคลากรภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตรให้ ไปในแนวทางเดียวกัน พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาล เล็งเห็นว่าหากใช้การเกษตรรูปแบบเดิมทำให้การสร้างผลผลิตรายได้ที่น้อย และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เมื่อปรับมาดูแลรักษาด้านสิ่งแวดล้อม และในรูปแบบที่ทำน้อยได้มาก สร้างโอกาสให้มีรายได้ที่สูงขึ้น ในรูปแบบ BCG ก็จะช่วยพัฒนาวงการเกษตร สร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น

ขณะที่นายอนันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับผลสำเร็จของหลักสูตรตั้งแต่รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 มาแล้ว เป็นการเชื่อมโยงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ทั้งภาครัฐและเอกชน สมาร์ทฟาร์มเมอร์เกษตรกรรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆให้สามารถนำไปต่อยอดการเกษตรยุคใหม่ที่ทันสมัยได้ดีมากยิ่งขึ้น 

เช่นเดียวกับนายสุวิทย์ ระบุว่า หลักสูตรนี้มีวิทยากรผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้รวมถึงผู้เข้าอบรมหลักสูตรมาจากทุกภาคส่วน ที่อยู่ในซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่อุปทาน ของภาคการเกษตรทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  มีตั้งแต่ภาคการเกษตรระดับพื้นที่ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตร ระบบโลจิสติกส์และการส่งออก ซึ่งมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกัน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้มีศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น



ทั้งนี้หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.)” เป็นหลักสูตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติด้วยวิทยาการเกษตรเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ภายใต้หลักการ การตลาดนำการผลิตและเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสมดุล มั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิสัยทัศน์และประสบการณ์ ระหว่างผู้นำ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในด้านการพัฒนาพัฒนาการเกษตรวิถีใหม่ระหว่างกัน และขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย ให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติด้วยวิทยาการเกษตรเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ในรูปแบบ “ประชารัฐ”



มก. ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยจัดฝึกอบรม วสก3 โดยภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร ซึ่งจะให้นิสิต คณาจารย์ มก ได้เข้าไปร่วมในการฝึกอบรม ดังกล่าว ด้วย อีกทั้งเพื่อเป็นการพัฒนานิสิต ไปพร้อมด้วย ทั้งนี้ มก.พร้อมสนับสนุนการจัดหลักสูตร ทั้งวิชาการ สถานที่  อ.จงรัก กล่าว

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2566

ซีพีเอฟ ประกาศความสำเร็จยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% กิจการในประเทศไทย พร้อมเปิดโรดเแม็ปสู่ Net-Zero


    บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด  (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  เปิดโรดแม็ปเส้นทางขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  (
Net-Zero) พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 %  สำหรับกิจการในประเทศไทย บรรลุตามเป้าหมาย Coal Free 2022 เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร



    นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ  นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร และ นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ซีพีเอฟ แถลงข่าวแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  (Net-Zero) พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จตามเป้าหมาย Coal Free 2022 ณ  อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์  สีลม    

    นายประสิทธิ์  กล่าวว่า การขับเคลื่อนองค์กรสู่  Net-Zero เป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนของ CPF ที่ยึดตามแนวทางด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์  และเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals:SDGs) ซึ่งบริษัทฯ กำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผลิตอาหารอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์  Food Safety การผลิตอาหารที่ดีต่อร่างกาย มีคุณค่าโภชนาการ เสริมสร้างสุขภาพที่ดี ให้คำหนึ่งคำที่ทานมีคุณค่ามากขึ้น ได้ความอร่อยและมีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง Food Security เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร     



    นอกจากนี้  ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงภารกิจของการเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ที่มุ่งมั่นดูแลการผลิตอาหารให้เพียงพอรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤต พร้อมทั้งมีส่วนร่วมสนับสนุนเป้าหมายของโลกในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)โดยได้ประกาศเป้าหมายสู่ Net-Zero ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในไทย ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การเปลี่่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 



    ด้าน นายพีรพงศ์ กล่าวว่า  ความสำเร็จในการยกเลิกใช้ถ่านหิน 100%  สำหรับกิจการในประเทศไทย ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯอยู่ที่ประมาณ 30 % ของการใช้พลังงานทั้งหมด นับเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด  ประกอบด้วย พลังงานจากก๊าซชีวภาพ30 % พลังงานชีวมวล 68 % และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในอนาคต ซีพีเอฟมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50 %  ภายในปี  2030 และ เพิ่มเป็น100 % ในปี 2050 นอกจากนี้  การบรรลุเป้าหมายในการยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในประเทศไทย  จะเป็นต้นแบบให้กับกิจการในต่างประเทศด้วย  

    นางกอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมถึง  นอกจากซีพีเอฟมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงแล้ว ยังดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งส่งผลทางอ้อมจากการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้   โดยบริษัทฯดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน  ภายใต้แนวคิด "ความมั่นคงทางอาหาร จากภูผาสู่ป่าชายเลน"ได้แก่  โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี” ซึ่งนอกจากจะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นโครงการที่ดูแลคุณภาพของน้ำและชุมชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โดยต่อยอดสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีชุมชน ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โครงการฯ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไปแล้ว รวม 14,000 ไร่ และมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 20,000 ไร่ ในปี 2030 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังผนึกกำลังกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้า "โครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.) สนับสนุนต้นไม้ 100,000 ต้น หนุนเพิ่มพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่น ในโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ของ กทม.

‘รมช.มนัญญา’ ลงพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับปัญหาปชช.เรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่สหกรณ์


    

    นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด และพบปะสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประยูร พะมะ สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนิตย์ ตั่นอนุพันธ์ ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และประชาชนให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า ปัญหาที่ดินทำกินในสหกรณ์นิคมบางสะพานเป็นปัญหาที่มีมานานกว่า 40 ปี กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเครือข่ายนิคมสหกรณ์ 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565  ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพราะการสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเป็นเรื่องที่ดี  แต่จะให้เกษตรกรที่เดือดร้อนเหล่านี้มีสถานะทางที่ดินอย่างไร ต้องให้ภาครัฐเร่งหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะแต่ละพื้นที่สภาพปัญหาต่างกัน จะต้องมีการร่างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน



    “เราในฐานะรัฐมนตรีช่วยฯ ที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์  ไม่นิ่งเฉยกับความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร หลังจากนี้จะลงพื้นที่เพื่อติดตามและรับฟังความเดือดร้อนในอีก 9 จังหวัดที่มีปัญหา เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลสำเร็จ เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ เวลาเกิดความเดือดร้อนประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือทันที แต่หากไม่มีกรรมสิทธิ์การช่วยเหลือจากภาครัฐก็จะล่าช้า ซึ่งในวันนี้ได้ลงมาดูพื้นที่จริงเพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และจะรวบรวม นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อพิจารณาต่อไปซึ่งจะต้องเร่งหารือเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน” รมช.มนัญญา กล่าว



    ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามนโยบายของ รมช.มนัญญา สำหรับความคืบหน้า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำลังรวบรวมหนังสือที่เครือข่ายสหกรณ์นิคม 4 ภาค 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการทำเรื่องไปถึงกรมป่าไม้ เพื่อแสดงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และจะหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน อีกทั้ง เพื่อให้พื้นที่นี้ ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นรูปแบบนิคมสหกรณ์ไว้แล้ว สามารถไปสู่การจัดตั้งนิคมตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511    โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอต่อคทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง  เพื่อความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และเป็นหลักประกันในการยื่นสินเชื่อมาประกอบอาชีพ และได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจากภาครัฐ

    ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2513 และวันที่ 13 สิงหาคม 2517 ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนที่เสื่อมโทรม คือในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาไชยราช และป่าคลองกรูด-ป่าพุน้ำเค็ม อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย เนื้อที่ 156,078 ไร่ 1 งาน 53 วา ไปบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสหกรณ์นิคม   โดยมีนิคมสหกรณ์บางสะพานเป็นผู้รับผิดชอบการจัดพื้นที่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ตั้งแต่ปี 17 โดย พื้นที่สหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิกใน 2 อำเภอ คือบางสะพาน และบางสะพานน้อยรวม 10 ตำบล มีพื้นที่ 160,000 ไร่ มีเกษตรกร 7,000 กว่าราย ประกอบอาชีพในที่ดิน 9,000 กว่าแปลง ต่อมาปี 2562 สิ้นอายุสัญญาอนุญาตของกรมป่าไม้  ทางนิคมสหกรณ์จึง ได้ประสานหมู่บ้านต่าง ๆ ทำประชาคมเพื่อทำเรื่องขออนุญาตใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงนามส่งหนังสือถึงกรมป่าไม้ ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อขออนุญาตใช้เป็นหนังสือ ป.ส.23 ต่อมาได้มีมติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่การแก้ไขปัญหาพื้นที่นิคมสหกรณ์ 13 นิคม 14 ป่า ภายใต้การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.)



    จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปพบปะสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด จำนวน 3 หลังคาเรือน ได้แก่ บ้านนายลด วงศ์เณร หมู่ที่ 6 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านนายวัน วงค์จันทร์ทอง หมู่ ที่ 6 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบ้านนายลำดวน หนูยิ้มซ้าย หมู่ที่ 4 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาของสมาชิกสหกรณ์นิคม

 

 

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

รมช.มนัญญา เปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพสหกรณ์จังหวัด ย้ำร่วมกันสร้างระบบป้องกันการทุจริต เดินหน้าขับเคลื่อนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรไปสู่ความเข้มแข็ง


    รมช.มนัญญา เปิดประชุมพัฒนาศักยภาพการทำงานให้สหกรณ์จังหวัด สร้างความเข้าใจทิศทางการขับเคลื่อนงาน มีความพร้อมปฏิบัติงานตอบสนองนโยบายแผนงานโครงการของกรมฯ ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งผลักดันสหกรณ์ให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และพร้อมบริหารงานด้านส่งเสริมสหกรณ์ ฟื้นฟู พัฒนา กำกับการดำเนินงาน สร้างระบบป้องกันการทุจริต ผลักดันให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล เป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกได้



​    วันนี้ (16 ม.ค. 66) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารเพื่อการบริหารงานสำนักงานสหกรณ์จังหวัด” รวมถึงมอบนโยบาย “ภาพรวมนโยบายด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับสหกรณ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ รวม 45 คน  โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร ซึ่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังว่า สหกรณ์จังหวัด เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำ ส่งเสริม และพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยตรงในพื้นที่ เป็นผู้นำนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสหกรณ์ทั้งของตนเองและในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นหลักในการสนับสนุน ช่วยเหลือและบริการให้กับสมาชิกนำมาสู่การพัฒนาและต่อยอดในกระบวนการส่งเสริมสหกรณ์ให้ทัน กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

    ​“สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรถือเป็นองค์กรหลักของภาคเกษตรกรในระดับฐานราก และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขอให้สหกรณ์จังหวัดช่วยกันผลักดันและดำเนินโครงการสำคัญให้สำเร็จผล เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรสามารถช่วยเหลือมวลสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว เช่น โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โครงการส่งเสริมการจัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โครงการพัฒนาอาชีพสมาชิกสหกรณ์ โครงการตลาดนำการผลิต โครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านหนี้สินของสมาชิก รวมทั้งช่วยกันกำกับ ดูแลและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สหกรณ์เกี่ยวกับกฎ ระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ร่วมกันช่วยกันสร้างระบบการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์โดยร่วมมือและบูรณาการร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ด้วย” รมช.มนัญญา กล่าว      


  

    นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำการนำนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พัฒนาสหกรณ์ ฟื้นฟู เสริมสร้าง กระจายความเข้มแข็งสู่เกษตรกรเพื่อความมั่นคง ตลอดจนส่งผลให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภารกิจที่สำคัญของสหกรณ์จังหวัด จะต้องมีความรอบรู้ มีความพร้อมในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ และเข้าใจหลักการบริหารอย่างแท้จริง ทั้งบุคลากรในองค์กร บริหารงบประมาณที่ได้รับอย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด บริหารแผนงานโครงการให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัด และบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม เพื่อส่งผลให้การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด



    ทั้งนี้ นโนบายสำคัญที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยดูแลความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรถือเป็นองค์กรกรหลักของภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการนำระบบสหกรณ์เป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ โดยคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีนโยบายเร่งดำเนินการฟื้นฟู พัฒนาสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์ พัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีกำไร ส่งเสริมอาชีพสมาชิกโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น กำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ ตรวจการสหกรณ์โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับกฎหมายสหกรณ์และกฎหมายอื่น มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิก เพิ่มเงินออม มีการให้สินเชื่อที่ดี รวมทั้งยกระดับการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร พัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีกำไร ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสมาชิก รักษาฐานเดิมของลูกค้า ขยายผลการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์กับสหกรณ์ภาคการเกษตร รวมทั้งเพิ่มคุณภาพในการจัดตั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ในด้านการส่งเสริมและพัฒนา ด้านกำกับดูแลสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นองค์กรหลักของภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมประเทศต่อไป

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...