วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565

รัฐอย่าเพิกเฉย เร่งตรวจสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พ่อค้าคนกลาง


รัฐอย่าเพิกเฉย เร่งตรวจสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พ่อค้าคนกลาง

ผู้เขียน / อารดา ศตคุณ นักวิชาการด้านเกษตร

    ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยสัปดาห์ล่าสุดที่พุ่งสูงถึง 13 บาทต่อกิโลกรัม เป็นภาพสะท้อนต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างชัดเจน ยังไม่นับต้นทุนกากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้า ที่ตอนนี้ปรับราคาขึ้นไปถึง 23 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ส่วนข้าวสาลีที่เป็นธัญพืชใช้ทดแทนข้าวโพด ราคาก็ปรับไปที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม จากปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 8.91 บาทต่อกิโลกรัม  

    ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก “วิกฤตยูเครน” การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน สองประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายสำคัญของโลก ที่ผลักดันให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ภาวะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้เลี้ยง เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักของผู้เลี้ยง คิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด ปัจจุบันต้นทุนส่วนนี้ของภาคผู้เลี้ยงปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% แล้ว ยังมีต้นทุนค่าอาหารเสริม-วิตามิน-เกลือแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ล้วนมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30-40% 

    สำหรับประเทศไทยแม้ระยะทางจะห่างแต่จากสงครามที่เกิดขึ้น แต่ก็โดนหางเลขไม่ต่างจากประเทศอื่น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่ราคาพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ แม้จะมีปัจจัยจากผลผลิตข้าวโพดหลังนา ที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย จากผลกระทบของมรสุมที่พัดเข้ามา ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จึงไม่เอื้อต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรพืชไร่ รวมถึงกระทบกับคุณภาพข้าวโพด แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่บางคนอาจยังไม่รู้คือ ปริมาณข้าวโพดตอนนี้อยู่ในมือพ่อค้าคนกลางทั้งหมดแล้ว ข้าวโพดจากไร่เกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลางรวบรวมไว้ และเก็บสต๊อกเพื่อเก็งกำไร เรื่องนี้แดงขึ้นเพราะมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ร้องเรียนให้ภาครัฐเร่งตรวจสต็อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ของพ่อค้าพืชไร่ เนื่องจากสงสัยว่าปริมาณข้าวโพดในตลาดมีน้อยลงมากอย่างผิดปกติ แต่แทนที่หน่วยงานภาครัฐจะเข้าตรวจสต๊อกในมือพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้พ่อค้าคายสต๊อกออกมาให้หมด ซี่งจะช่วยลดความกดดันของราคาลงได้ แต่กลับเร่งตรวจสต็อกที่โรงงานอาหารสัตว์ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าโรงงานต้องรายงานสต็อกต่อกรมการค้าภายใน เป็นประจำทุก 10 วัน 



    คงลืมไปว่านิยามคำว่า “กักตุน” หมายถึงผู้ขายเก็บสินค้าเอาไว้ไม่ขายออกมา ดังนั้นควรตรวจสต๊อกผู้ขายอย่างพ่อค้าคนกลาง ไม่ใช่ผู้ซื้อผลผลิตเพื่อนำมาใช้งาน อย่างโรงงานอาหารสัตว์ ทั้งที่ปัญหานี้ควรเร่งแก้ไข กลับถูกรัฐเตะถ่วง ผลกระทบจึงตกที่คนเลี้ยงสัตว์ ที่จำต้องจ่ายเงินซื้อข้าวโพดราคาแพงต่อไป ที่สำคัญ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นสินค้าการเมือง ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องรับซื้อ ในราคาประกันขั้นต่ำ กก.ละ 8.50 บาท ที่ความชื้น 14.5% ตามราคาที่ภาครัฐประกันรายได้ไว้กับผู้เพาะปลูก แต่กลับไม่เคยมีเพดานราคาสูงสุด ผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ จึงไม่ใช่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืช แต่เป็นพ่อค้าพืชไร่คนรวบรวมผลผลิตที่แทบไม่มีความเสี่ยงใดๆ ซ้ำยังมีมาตรการ 3:1 ที่ภาครัฐกำหนดให้ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพดฯในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน มาตรการรัฐที่ช่วยอุ้มข้าวโพด 2 ชั้นนี้ กำลังจะทำให้เกษตรกรภาคปศุสัตว์อยู่ไม่ได้ เพราะขณะที่รัฐให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชไร่ ในทางตรงกันข้ามแล้ว รัฐกลับมีมาตรการคุมราคาสินค้าปศุสัตว์ ทั้งเนื้อไก่ และไข่ไก่เอาไว้ โดยใช้คำว่า ขอความร่วมมือตรึงราคา ที่เป็นคำสวยหรู แต่กลับทำร้ายเกษตรกรภาคปศุสัตว์อย่างเลือดเย็น เพราะไม่สามารถขายสินค้าในราคาที่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ นับเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดของเกษตรกรในเวลานี้

    สิ่งที่ภาครัฐควารดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ การเช็คสต๊อกผลผลิตให้ชัดเจน โปร่งใส ดำเนินการในทุกห่วงโซ่ อย่างเป็นธรรม เมื่อมีผู้ชี้เป้าชัดเจนเช่นนี้ การแก้ปัญหาคงไม่ยากนัก เว้นเสียแต่จะเพิกเฉยกับข้อมูลที่ได้รับ และต้องไม่ลืมหามาตรการช่วยเหลือภาคผู้เลี้ยงทั้งทางตรงด้วยการปล่อยกลไกตลาดให้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น และทางอ้อมด้วยการแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...