จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564
ที่มีกลุ่มเรือประมงผิดกฎหมายจากพื้นที่คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี หลายสิบลำ
เข้าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าตรวจการประมง ด้วยการล้อมเรือ
และขับเรือพุ่งชน ขณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล ชลบุรี กำลังเข้าตรวจสอบเหตุลักลอบทำการประมงหอยแครง
บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้เรือตรวจการประมงเสียหาย
และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว
หน่วยงานของกรมประมง ได้รับรายงานว่ามีเรือประมงกว่า 20 ลำ
กำลังทำการประมงลูกหอยแครง บริเวณเขตทะเลชายฝั่ง ด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย
ทั้งเครื่องมือคราดลูกหอยแครง อวนลากคานถ่าง ที่ใช้มุ้งทำถุงอวนลากเก็บลูกหอยแครง
เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตนเข้าตรวจสอบ และแจ้งให้เรือหยุดทำการประมง
แต่เรือเหล่านั้นกลับไม่ยอมหยุด และพยายามขับเรือพุ่งชนเรือของเจ้าหน้าที่
จนเป็นเหตุให้เรือตรวจการประมง 106 ได้รับความเสียหาย
น้ำรั่วเข้าภายในตัวเรือ
และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย หลังจากนั้น ศูนย์ประสานการปฏิบัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ภาค 1 (ศรชล. ภาค 1) ได้ส่งเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง
268 พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง
ซึ่งพบกลุ่มเรือประมง ประมาณ 40 – 50 ลำ ทั้งจากพื้นที่คลองตำหรุ
จังหวัดชลบุรี แสมขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
และคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม หลายสิบลำ พร้อมลูกเรือกว่า 100 คน ที่พยายามขับไล่และล้อมเรือของเจ้าหน้าที่
และพยายามที่จะขอเจรจาทำประมงต่อ
แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันให้หยุดทำการประมงดังกล่าว
เนื่องจากเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
และยังเป็นการทำประมงที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณกลางอ่าวบางปะกง
จังหวัดชลบุรีนี้
เป็นพื้นที่ชุกชุมของลูกหอยแครง
เพราะดินบริเวณชายฝั่งทะเลมีสภาพเป็นหาดโคลนหรือพื้นดินเลนละเอียด ซึ่งเป็นแหล่งที่หอยแครงชอบฝังตัว
โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่า หอยแครงสามารถวางไข่ได้ตลอดปี แต่ช่วงที่วางไข่มาก
จะอยู่ระหว่างช่วง ต.ค. – ธ.ค. และช่วง มี.ค. – ส.ค.
ซึ่งเมื่อวางไข่แล้วลูกหอยแครงจะมีโอกาสแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำที่พัดพาในรัศมี
10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ
และจะตกลงพื้นเคลื่อนตัวเพื่อหาแหล่งอาหารหรือสภาพที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตเพื่อเติบโตเป็นหอยแครงเต็มวัยต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบัน
ชาวประมงพื้นบ้านจะมีการเก็บรวบรวมลูกหอยแครงขนาด 18,000 - 20,000 ตัว/กิโลกรัม ขายเพื่อนำไปเลี้ยงต่อ 8 เดือน –
1 ปี จนตัวเต็มวัยแล้วจึงส่งขายตลาด โดยราคาลูกหอยแครง
จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 800 – 1,000 บาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น การทำประมงลูกหอยแครงจึงเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน
แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด โดยมาตรการในการอนุรักษ์หอยแครง
เดิมเป็นมาตรการที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้กำหนดห้ามมิให้ทำการประมงคราดหอยประกอบเรือกล ในเขต 3,000 เมตร นับจากฝั่ง และห้ามจับลูกหอยแครง ที่มีขนาดต่ำกว่า 6 มิลลิเมตร ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม
แต่เมื่อมี พระราชกำหนดการประมง
พ.ศ. 2558 ออกมาบังคับใช้
ได้มีการกำหนดให้สามารถทำการประมงหอยแครงในเขตทะเลชายฝั่งได้โดยการจับด้วยมือหรือเครื่องมือที่ไม่ใช้ประกอบเรือกล
แต่ ยังคงห้ามเครื่องมืออวนลากหรือคราดหอยในเขตทะเลชายฝั่ง
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงเช่นเดิม
ส่วนในเขตทะเลนอกชายฝั่งให้ใช้คราดหอยประกอบเรือกลได้
แต่ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงประมงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งเป็นการผ่อนผันให้มีความสอดคล้องกับวิถีประมงในปัจจุบัน
และสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำของลูกหอยแครง
ที่จำเป็นต้องมีวิธีการกระจายปริมาณลูกหอยแครงไปยังแหล่งต่างๆ
จึงจะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากลูกหอยแครงได้อย่างสูงสุด
โดยใช้กฎหมายควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทำให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรอย่างทั่วถึง
ดังนั้น การที่กลุ่มชาวประมง
ซึ่งมีเรือประมงพื้นบ้านที่ทำผิดกฎหมาย
อยู่ประมาณ 50 ลำ ซึ่งไม่ถึง 1% ของจำนวนเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมด ประมาณ 6,200 ลำ
ที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายในเขตพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา
สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี)
พยายามให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนในเชิงลักษณะกล่าวหาว่ากฎหมายประมงสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงนั้น
จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาชี้แจงกัน
ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วานนี้
(วันที่ 25 มกราคม 2564) สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี
ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศรชล.ภาค 1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพื้นที่ ชาวประมงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
มาร่วมประชุมหารือและได้ข้อสรุปว่า
จะมีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงอย่างยั่งยืน
โดยใช้รูปแบบการขับเคลื่อนของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในการกำหนดมาตรการต่างๆ
เช่น การกำหนดเครื่องมือ วิธี และพื้นที่ทำการประมงให้เหมาะสม
ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 อีกทั้ง
จะมีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในชุมชน
และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย พรก.ประมง 2558
เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรลูกหอยแครงในธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม....รองอธิบดี
กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น