วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กรมประมงจัดแข่งขันตกปลาในแหล่งน้ำปิด สร้างความสมดุลของธรรมชาติ ลดปัญหาปลานักล่าทำลายปลาเศรษฐกิจ


             เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ณ เขื่อนชลประทานปราณบุรี หมู่ที่ 8 ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง เป็นประธานพิธีปิดการแข่งขันตกปลา "PRANBURI FISHING GAME PROFESSIONAL START UP" ครั้งที่ 2 พร้อมมอบถ้วยรางวัลจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้วยรางวัลจากผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท ให้กับนักกีฬาผู้ชนะการแข่งขันกิจกรรม



ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาแนวทางในการบริหารแหล่งน้ำปิดที่ขาดความสมดุลของธรรมชาติจากการมีปลานักล่าเป็นจำนวนมากส่งผลทำให้ปลาเศรษฐกิจในธรรมชาติลดจำนวนลง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานพบว่าบริเวณเขื่อนปราณบุรีมีปลาชะโด ปลากระสูบ (ปลานักล่า) แพร่กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก กิจกรรมดังกล่าวจึงถูกกำหนดจัดขึ้นเพื่อช่วยลดความหนาแน่นของปลาดังกล่าวและเป็นการช่วยเพิ่มอัตรารอดให้กับลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักตกปลาและชาวเรือในเรื่องเรือ-การตกปลา ตลอดจนเป็นการยกระดับกีฬาและนักกีฬาตกปลาของไทยให้ก้าวสู่การเป็นมืออาชีพและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย




สำหรับกิจกรรมได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2563 ณ เขื่อนปราณบุรี โดยมีนักกีฬาตกปลาโดยมีเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น จำนวน 95 คน เรือจำนวน 64 ลำสามารถจับปลาชะโดและปลากระสูบขึ้นจากแหล่งน้ำได้จำนวนทั้งสิ้น 65.6 กก. และในปีงบประมาณ 2563 กรมประมงได้มีแผนการปล่อยสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาทิ กุ้งก้ามกราม ปลาตะเพียน ปลายี่สก ฯลฯ ลงบริเวณเขื่อนฯ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ตลอดจนการดำเนินการตามแผนการควบคุมการทำประมงในช่วงฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน (1 มิถุนายน-31 สิงหาคม ของทุกปี)




อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับกติกาการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ที่ต้องเคียงคู่กับมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ  อาทิ  การกำหนดขนาดความยาวสัตว์น้ำ ปลาชะโดความยาว 45 ซม. ขึ้นไป ปลากระสูบความยาว 20 ซม. ขึ้นไป โดยผู้แข่งขันจะต้องมีคลิปวิดีโอยืนยันการจับในทุกขั้นตอน มีการกำหนดห้วงเวลาในการจับที่ชัดเจน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป

                                     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...