วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยา เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก


โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยพะเยา แก่ผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเป็นเส้นขนมจีนอบแห้งของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บจ.พะเยา ในโครงการ การพัฒนาระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเส้นขนมจีนอบแห้งสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรไทย และมีคุณภาพถูกต้องตามหลักอาหารปลอดภัย

รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา


รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายสำคัญของโลก ทั้งในรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ซึ่งอย่างหลังพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะมีผู้ประกอบการรายเล็กในขนาด small และ very small ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.พะเยา มีจำนวนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เกษตรและแปรรูปรายเล็กเป็นจำนวนมากเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นกิจการแบบธุรกิจเจ้าของคนเดียว หรือการรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ต่างประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนต้นทุนพลังงานและสาธารณูปโภค และยังมีโจทย์ความต้องการในการแก้ไขปัญหากระบวนการผลิตและแปรรูปที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการนำเทคโนโลยีที่มีฟังก์ชั่นการทำงานไม่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบรายปีไม่สูง เข้ามาปรับใช้ในกิจการ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจท้องถิ่นรายเล็ก ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง และเหมาะสมกับการนำมาใช้ในสภาวะภูมิอากาศของประเทศไทย โดยผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาระบบ IoT  ที่เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน และสามารถควบคุมกระบวนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการพัฒนาท้องถิ่นตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน (Wisdom for Community Empowerment)” อย่างแท้จริง

นางวารัทชญา อรรถอนุกูล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ


ด้านผู้ประกอบการ นางวารัทชญา อรรถอนุกูล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ กล่าวว่า ขนมจีนเป็นอาหารคาวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของคนไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานแต่เดิมในกระบวนการแปรรูปเส้นขนมจีนจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขนมจีนแป้งหมัก และขนมจีนแป้งสด ซึ่งในการผลิตขนมจีนดังกล่าว มีลักษณะการผลิตที่นานและเสียง่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ จึงมีการประยุกต์ดัดแปลงพัฒนาเส้นข้าวโพดอบแห้ง ที่ผลิตจากแป้งข้าวโพด ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งอาหารคาวและหวาน เช่น นำไปใช้แทนเส้นขนมจีนในเมนูขนมจีน หรือน้ำเงี้ยว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูไส้อั่ว ปอเปี๊ยะทอด หรือนำไปใช้ทำเมนูของหวาน เช่น สลิ่มในน้ำกะทิได้ ซึ่งหลังจากได้เข้าร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP ม.พะเยา และทำการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ช่วยให้กิจการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเส้นข้าวโพดได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเส้นข้าวโพดแบบเดิมที่ต้องตากเส้นไว้กลางแจ้ง ซึ่งหากเป็นวันที่มีฝนตกจำเป็นต้องหยุดการผลิต หรือในวันที่สภาพอากาศมีเมฆมาก จะทำให้เส้นข้าวโพดไม่เรียงตัวเป็นเส้นตรงสวยงาม การตากเส้นข้าวโพดแบบเดิมจะใช้เวลา 1 - 2 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่เมื่อนำเส้นข้าวโพดไปอบในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาเพียง 3 - 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ มีความสะอาด ไม่ปนเปื้อนจากฝุ่นหรือแมลงวัน รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าของกิจการได้อีกด้วย เช่น พริก ดอกอัญชัน ดอกงิ้ว ขมิ้น เป็นต้น




ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ (ซ้าย) และ นายสุรศักดิ์ ใจหลัก (ขวา)


ในส่วน ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลังงานทดแทน และ นายสุรศักดิ์ ใจหลัก นักวิจัย คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวร่วมกันว่า โปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยา ได้ให้ความช่วยเหลือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ ในด้านการออกแบบและการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมาตรฐาน ศึกษาต้นแบบจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะการปฏิบัติงานในพื้นที่ของผู้ประกอบการ และมีความเหมาะสมสำหรับกระบวนการแปรรูปเส้นข้าวโพดอบแห้งที่มีส่วนผสมของพืชผลทางการเกษตรท้องถิ่น เช่น ข้าวหอมมะลิพะเยา ข้าวโพด มันม่วง ขมิ้น เป็นต้น โดยเฉพาะระบบการระบายความชื้นได้ทำการติดตั้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมการระบายความชื้น เพื่อให้มีความเหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบที่นำมาอบแห้ง โดยมี นายศุภฤกษ์ ขาวแดง ที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) เป็นตัวกลางสำคัญประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลไกการให้ความช่วยเหลือจาก ITAP รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการลดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีระว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ




การดำเนินโครงการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตเดิม เป็นผลจากการลดความชื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งมีอุณหภูมิของโรงอบอยู่ระหว่าง 45 - 55 องศาเซลเซียส ซึ่งในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ พัดลมระบายอากาศหรือระบายความชื้น เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในการควบคุมอุณหภูมิของอากาศในโรงอบ ผลการดำเนินโครงการ พบว่า ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาในการอบที่น้อยกว่าแบบเดิมจากการตาก 1 - 2 วัน เหลือไม่เกินครึ่งวัน อีกทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า และยังได้คุณภาพของสินค้าที่ไม่ต่างจากแบบเดิม ทำให้ หจก. สามารถพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีที่ช่วยในกระบวนการผลิตเส้นข้าวโพดอบแห้ง เพิ่มศักยภาพ และมีความเหมาะสมกับการผลิตเส้นอบแห้ง ทดแทนการตากแห้งแบบดั้งเดิม ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสะอาด สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค รองรับการขอรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เส้นอบแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ทั้งนี้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ระยะถัดไป จะเป็นการประยุกต์ใช้ระบบ Internet of Things (IoT) ร่วมกับระบบระบายความชื้น ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นและอุณหภูมิ ซึ่งระบบสามารถทำงานได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการแสดงผลข้อมูลผ่าน Web application และ Mobile Application รวมถึงหน้าจอแสดงผลบนกล่องควบคุมการทำงาน ที่เหมาะสมกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ม.พะเยา กล่าว

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...