วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ไทยเข้ม ปราบปรามสารเร่งเนื้อแดง ยกระดับอุตสาหกรรมหมู สร้างอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค


 ผู้เขียน : ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย



ปฏิบัติการ หมูสะอาดของกรมปศุสัตว์ ด้วยการดำเนินการเชิงรุกของคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ และคณะทำงานปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกรและโคขุน ทำให้การใช้สารเร่งเนื้อแดง ที่เป็นสารอันตรายในการเลี้ยงสัตว์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเมื่อปี 2557 พบสารเร่งเนื้อแดงในปัสสาวะสุกร ร้อยละ 3.5 ขณะที่ปี 2563 นี้ พบเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น ที่สำคัญกรมปศุสัตว์ยังปักหมุด ให้ไทยจะก้าวสู่การเป็น ประเทศปลอดสารเร่งเนื้อแดงและคาดว่าจะสามารถประกาศความสำเร็จได้ภายในปี 2564

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการเร่งปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงทั้งระบบ ในสุกรและโคขุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สารอันตรายนี้หมดไปจากประเทศ เริ่มตั้งแต่นโยบายหลัก ของกรมปศุสัตว์ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย (Food Safety) สู่ผู้บริโภค ด้วยการปราบปรามแบบ 360 องศา ทั้งการนำเข้าเคมีภัณฑ์ การลักลอบใช้ การผสมสารในอาหารสัตว์ที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ตามปฏิบัติการปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ



กรมปศุสัตว์ใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หากเข้าตรวจพบการกระทำความผิด จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1-3 ปี หรือปรับ 60,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องปิดกิจการ ควบคู่กับการส่งชุดเฉพาะกิจสารวัตรกรมปศุสัตว์ และชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว บุกสุ่มตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์และฟาร์มเลี้ยง ที่ต้องสงสัยว่าจะมีการกระทำผิดในทุกพื้นที่ทั่วไทย ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดน้อยลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังมุ่งยกระดับการเลี้ยงสุกรที่ได้มาตรฐาน ทั้ง GAP ในฟาร์มขนาดใหญ่ และการยกระดับการเลี้ยงในฟาร์มขนาดเล็กสู่มาตรฐาน GFM ที่เน้นการจัดการให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity อย่างเข้มงวด



ทั้งหมดดำเนินการไปพร้อมกับการที่ กรมปศุสัตว์ ร่วมมือกับภาควิชาการ มหาวิทยาลัย สมาคมผู้เลี้ยงสุกร สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เดินหน้าให้ความรู้ถึงอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงเพื่อป้องกันตนเองจากพิษภัยของสารเร่งเนื้อแดงได้ โดยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีมาตรฐาน จากแหล่งผลิตและจำหน่ายที่เชื่อถือได้ด้วยการสังเกตเนื้อหมูที่ต้องไม่มีสีแดงจนเกินไป เมื่อกดชิ้นเนื้อจะมีสัมผัสนุ่ม ลักษณะยืดหยุ่น ไม่แข็งกระด้าง หรือสังเกตง่ายๆจากเครื่องหมาย ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ที่ปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายเข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK แล้วทั้งสิ้นกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทั้งสถานที่จำหน่ายทั่วไป ตลาดสด และห้างสรรพสินค้า Modern trade สัญลักษณ์นี้ บ่งบอกว่าเนื้อสัตว์ที่จำหน่าย ผ่านการรับรองว่าไม่มีสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะตกค้าง ที่สำคัญยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาทั้งโรงฆ่าและฟาร์มเลี้ยงที่ต้องได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์เช่นกัน

ความสำเร็จในการปราบปรามสารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง กระทั่งไทยจะก้าวเข้าสู่ ประเทศปลอดสารเร่งเนื้อแดงในเวลาอันใกล้นี้ และการให้ความรู้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานเนื้อหมูที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...