ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปางช้าง จำนวน 250 แห่ง ซึ่งมีการทำธุรกิจ เช่น การแสดงช้าง หรือการนำเที่ยวในปางช้าง โดยปางช้างส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้าง การทารุณกรรมช้าง รวมทั้งเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมจากมูลช้างและขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ซึ่งนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานปางช้างของประเทศไทย
ดร.จูอะดี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. จึงได้พิจารณาประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรฐานปาง (แคมป์) ช้างของประเทศไทย พ.ศ.2545 ของกรมปศุสัตว์ และมาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว และได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง (Good Practices for Elephant Facility) กำหนดให้มีรายละเอียดและวิธีการปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นไปตามหลักการปฏิบัติที่ดี โดยคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานและนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการปรับปรุงการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย
ดร.จูอะดี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปางช้าง ได้เสนอให้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานบังคับ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 โดยเสนอให้มีการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวกับปางช้างทุกขนาด จึงได้มีการจัดสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างขึ้น เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างมาตรฐานฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ก่อนนำร่างมาตรฐานดำเนินการตามขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานของ มกอช. ต่อไป รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง
“อย่างไรก็ดี ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ที่ได้ในครั้งนี้ จะนำไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งข้อคิดเห็นต่อการกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานบังคับ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาให้การรับรอง และประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น