กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่
วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ใน 2 ช่วงเวลา ช่วงที่ 1 : ระหว่าง
วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม และช่วงที่ 2 : ระหว่างวันที่
1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2563 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี
สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร
สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา
และชลบุรี...เผยผลการศึกษาทางวิชาการยืนยันได้ว่า มาตรการฯ ที่บังคับใช้ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู
สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์
โปรดปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศให้เกิดความยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า
กรมประมงประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2563 จำนวน 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่
1 : วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2563 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน
ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง
จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร
ช่วงที่ 2 : วันที่ 1 สิงหาคม –
30 กันยายน 2563
ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร
สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร โดยมีการกำหนดให้ใช้เครื่องมือและวิธีทำการประมงที่สามารถทำการประมงได้
ดังนี้
1. อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า
20 ตันกรอส
ให้สามารถทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง 2. อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10
ตันกรอส มีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป
ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติดตา หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
3. อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก 4. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
(เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 5. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่
2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ
สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้ 6. ลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ
ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงเกินกว่า 300 ลูก ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบการทำประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. เครื่องมือคราดหอย
โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเครื่องมือทำการประมง
รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอย
ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำร่วมด้วย 10. เครื่องมืออวนรุนเคย
โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ
ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้
บริเวณพื้นที่
และระยะเวลาในการทำการประมงที่ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติร่วมด้วย
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก 12.
เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง 13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส
ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า
โดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือทำการประมงบางประเภทที่ถูกกำหนดเป็นประมงพาณิชย์ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ
ที่ออกตามความในมาตรา 5
และต้องมิใช่การใช้เครื่องมือทำการประมงอวนครอบ อวนช้อน
หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) รวมทั้งเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ
ที่ออกตามมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับการใช้เครื่องมือในข้อ 2 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ฯ ที่กำหนด
และเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงต้องไม่ใช้เครื่องมือที่กำหนดห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา
67 มาตรา 69 หรือ มาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในส่วนของบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน
ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 30 ล้านบาท ตามขนาดของเรือประมง
หรือปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
และเครื่องมือประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตว์น้ำ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด
หรือได้มาโดยการกระทำผิดจะถูกริบและต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
ทั้งนี้
เมื่อปีที่ผ่านมาจากข้อมูลการศึกษาและสำรวจปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำหลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว
ก ผลการจับปลาเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมาตรการ
โดยกลุ่มปลาเศรษฐกิจ ที่พบมาก 3 อันดับแรก
ได้แก่ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว
และปลาทู แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของปลาทู
ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น
จะเห็นได้ว่าผลผลิตโดยรวมสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ
ที่อพยพตามห้วงเวลาในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ
ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี
ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในมีสัตว์น้ำขนาดก่อนเริ่มสืบพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
จากผลการสำรวจทางวิชาการพบปลาทูในเขตอ่าวไทยรูปตัว ก ฝั่งตะวันตก
(พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 1) มีขนาดเฉลี่ย 13 – 14 เซนติเมตร หรือ ที่ชาวประมงเรียก ปลาสาว
ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้
ซึ่งปลาทูกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ตอนเหนือ
(พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 2) และพบว่ามีขนาดเฉลี่ย 16-18 เซนติเมตร
ถือว่าเป็นแม่ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์และจะกลับลงไปวางไข่ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง
(มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง) ในปีถัดไป
ดังนั้น
จึงควรมีการคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้มิให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่
หรือถูกจับก่อนวัยอันควร เพื่อเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและมูลค่าของสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ที่สำคัญจะส่งผลให้ปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม
รองอธิบดีฯ
กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา
กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติตามในมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว
ก จนกระทั่งท้องทะเลฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อน
จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่
วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก)
นั้นมีส่วนช่วยทำให้ประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเล อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ
เรื่องของความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ
เมื่อภาครัฐดำเนินการและภาคประชาชนขานรับให้การสนับสนุนจะนำไปสู่ความสำเร็จ การขับเคลื่อนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความสมดุลกับกำลังการผลิตของธรรมชาติ
สัตว์น้ำ และเกิดความยั่งยืนของการประกอบอาชีพประมง ถึงแม้ในปีนี้
กรมประมงจะไม่ได้ประกอบพิธีประกาศใช้มาตรการฯ เนื่องจากการเกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 แต่การใช้มาตรการฯ ยังคงเป็นไปตามเดิม
จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังการทำการประมง
โดยให้ใช้เฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้สามารถทำการประมงได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ
นอกจากชนิดหรือประเภทที่กำหนดไว้ในประกาศ ห้ามใช้ทำการประมงโดยเด็ดขาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น