สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP:ไอแทป)
ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
พัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ระบบอาหารเหลว และนำเอาระบบไบโอรีแอคเตอร์
(Bioreactor) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตต้นพันธุ์ของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
เพื่อลดต้นทุน แรงงาน และระยะเวลาในการพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี
ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
ปัญหาอย่างหนึ่งในการผลิตพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยคือ
การขยายต้นกล้าพันธุ์ดีจากภาครัฐและภาคเอกชนออกไปสู่เกษตรกร
ถ้าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอายุสั้น จะมีการเจริญเติบโตทางยอดของต้นได้ง่าย
สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมหรือเมล็ดพันธุ์แท้ออกสู่ตลาดได้เลย
ทำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในประเทศได้ไม่ยากนัก
แต่หากเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตช้า อย่างพืชตระกูลปาล์ม เช่น
ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และอินทผาลัม แม้จะผลิตเมล็ดได้
แต่ยังมีข้อจำกัดในการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดลูกผสม
เพราะนอกจากต้นจากการเพาะเมล็ดจะมีลักษณะการกระจายตัวสูงแล้ว ยังใช้เวลานาน
ใช้พื้นที่ และแรงงานในการจัดการดูแลสูง
จำนวนต้นกล้าพันธุ์ดีที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรกรผู้ผลิต
นอกจากนั้น ในพืชที่มีลักษณะแยกเป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย เช่น อินทผาลัม
การใช้ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดมีความเสี่ยงสูงในการที่จะได้ต้นตัวผู้มากกว่าต้นตัวเมีย
ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตอินทผาลัมเกิดความเสียหายเนื่องจากได้ผลผลิตไม่เป็นไปตามความคาดหมาย
ดร.ยี่โถ
ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร
ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช.
นำเอาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่มีอายุยาว
เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว อยู่แล้ว โดยจะเลือกใช้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อพืชที่กำลังมีการพัฒนา
ได้แก่ เนื้อเยื่อเจริญ ใบอ่อน ช่อดอกอ่อน ตาข้าง มาฟอกฆ่าเชื้อ
และเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งมีธาตุอาหารและสารควบคุมการเจริญเติบโต
ซึ่งปกติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่จะใช้ระบบอาหารแข็งในการชักนำให้เกิดกลุ่มเซลล์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นต้นอ่อนได้
เรียกว่า แคลลัส (callus) และจึงพัฒนาเป็นต้นอ่อนสมบูรณ์ในสภาพปลอดเชื้อเพื่อออกสู่เกษตรกรต่อไป
ปัจจุบันคณะนักวิจัยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
โดยได้พัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันและมะพร้าว
โดยใช้ระบบอาหารเหลวและนำเอาระบบไบโอรีแอคเตอร์มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ซึ่งระบบนี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้รวดเร็วกว่าวิธีการใช้อาหารแข็งปกติประมาณ
3 - 4 เท่า
นอกจากจะสามารถร่นระยะเวลาในการผลิตต้นอ่อนจากต้นแม่สายพันธุ์ดีให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดต้นกล้าแล้ว
ระบบไบโอรีแอคเตอร์นี้ยังสามารถควบคุมสารอาหารเพื่อกระตุ้นให้เกิดสารออกฤทธิ์ตามที่เราต้องการในพืชสมุนไพรบางชนิดได้เป็นอย่างดี
ซึ่งจะเป็นลดต้นทุน แรงงาน และเวลา
รวมถึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดดได้ในอนาคต
นอกจากนี้
วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบไบโอรีแอคเตอร์
ยังสามารถนำไปปรับใช้กับพืชชนิดอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ
การขยายพันธุ์พืชสมุนไพรหลาย ๆ ชนิด
ซึ่งในปัจจุบันทางคณะผู้วิจัยกำลังพัฒนาระบบการขยายต้นพันธุ์ขมิ้นชัน
รวมถึงพืชในตระกูลขมิ้นอื่น ๆ เช่น ว่านมหาเมฆ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย
ขมิ้นขาว และพืชสมุนไพรประเภทเหง้าหรือหัว เช่น กระชายดำ เป็นต้น
โดยวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์สายพันธุ์พืชสมุนไพร
โดยเฉพาะว่านต่าง ๆ ซึ่งเริ่มหายากแล้ว
รวมถึงส่งผลให้เกษตรกรมีต้นพันธุ์เพื่อใช้ปลูกได้ตลอดทั้งปี
เพราะพืชที่มีหัวเป็นเหง้าแบบนี้จะมีการพักต้นตามฤดูกาล
ทำให้ไม่สามารถปลูกได้ทั้งปี และในอนาคตยังสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยไบโอรีแอคเตอร์ในการกระตุ้นสารออกฤทธิ์ทางยาได้
ซึ่งจะต้องมีการวิจัยและพัฒนากันต่อไป
คาดว่าจะมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต
กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น