นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต) เป็นประธานการประชุม ณ
กรมส่งเสริมการเกษตร
เพื่อรับทราบรายงานผลการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่และลำไย)
ครั้งที่ 3/2563 สถานการณ์การเก็บเกี่ยว
รวมทั้งแผนบริหารจัดการลิ้นจี่และลำไย ปีการผลิต 2563
จากคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ สำหรับลิ้นจี่ใน 4
จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน ผลผลิตปีนี้มีจำนวน 28,676 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีผลผลิตรวม 26,278 ตัน ขณะนี้ผลผลิตเก็บเกี่ยวใกล้หมดแล้วภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด
(คพจ.) เป็นแกนหลัก วางแผนบริหารจัดการเชิงปริมาณ แบ่งเป็น
กระจายผลผลิตภายในประเทศ 24,029 ตัน ได้แก่ ล้งในประเทศ
วิสาหกิจชุมชน ส่งตลาดภายในจังหวัด/สถานที่ท่องเที่ยว สหกรณ์การเกษตร ตลาดอื่น ๆ
อาทิ รถเร่ รถขนส่งสินค้านิคมอุตสาหกรรม ตลาดไท ตลาดต่างจังหวัด Modern
Trade จำหน่ายผ่านไปรษณีย์ไทยและตลาดออนไลน์ แปรรูป 2,854 ตัน เป็นลิ้นจี่กระป๋อง น้ำลิ้นจี่ และอื่น ๆ เช่น ลิ้นจี่อบแห้ง
และลิ้นจี่แช่แข็ง และส่งออก 1,793 ตัน
การจัดการเชิงคุณภาพเน้นส่งเสริมผลิตตามมาตรฐาน GAP การห่อผลลิ้นจี่ก่อนเก็บเกี่ยว
การให้คำแนะนำทำลิ้นจี่คุณภาพ ส่งเสริมการดำเนินงานในรูปแบบแปลงใหญ่
ให้ความรู้ด้านการจัดการผลผลิตและเชื่อมโยงตลาด ประชาสัมพันธ์ลิ้นจี่คุณภาพ
รวมทั้งสร้างเว็บเพจซื้อขายออนไลน์
โดยเฉพาะปีนี้การขายผ่านออนไลน์มียอดสั่งซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยสูงขึ้น
เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนต้องอยู่บ้านตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผลผลิตมีคุณภาพดี เกษตรกรมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (packaging)
พร้อมจัดเรียงผลผลิตเพื่อป้องกันความเสียหายได้ดีขึ้น
ส่วนลำไยแหล่งผลิตหลักอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ
ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ และตาก
คาดการณ์ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 635,394 ตัน
เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ให้ผลผลิต 620,379 ตัน หรือร้อยละ 2.42 แบ่งเป็นผลผลิตในฤดู 386,065 ตัน (ร้อยละ 60.76)
และผลผลิตนอกฤดู 249,329 ตัน (ร้อยละ 39.24)
โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม คิดเป็นร้อยละ 35.41 ของผลผลิตทั้งปี
ด้านผลผลิตต่อไร่ของลำไยเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม
โดยช่วงที่ลำไยติดดอกมีความหนาวเย็นพอเหมาะ
ส่งผลให้ลำไยปีนี้ออกดอกและติดผลมากกว่าปีที่แล้ว
สำหรับแผนบริหารจัดการลำไยจังหวัดได้วางแผนการบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง
ผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด
(คพจ.) ในเชิงคุณภาพตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยวจนถึงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่
โครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ ปี 2563 โดยมีกิจกรรมสำคัญ
เช่น การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่สำคัญ
5 ด้าน คือ การเตรียมต้นให้สมบูรณ์ การตัดแต่งช่อผล
การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย และการปรับปรุงคุณภาพสีผิว รวมทั้งการจัดทำแปลงเรียนรู้
ส่งเสริมการรวมกลุ่มพัฒนาคุณภาพผลผลิตและการตลาด ถ่ายทอดความรู้การผลิตลำไยคุณภาพในรูปแบบแปลงใหญ่
จนถึงคำแนะนำการเตรียมต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
ส่วนเชิงปริมาณลำไยภาคเหนือจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน ช่วงที่ให้ผลผลิตมาก (ช่วง Peak) ต้องเฝ้าระวังในสัปดาห์ที่
3 ของเดือนสิงหาคม ซึ่งทั้ง 8
จังหวัดได้เตรียมการบริหารจัดลำไยในฤดูรวม 386,065 ตันแล้ว
ทั้งการประชุมเชื่อมโยงตลาดลำไยล่วงหน้า การสนับสนุนให้มีจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยและกระจายผลผลิต
จัดเตรียมข้อมูลความต้องการรับซื้อผลผลิตของผู้ประกอบการลำไยโดยประสานความร่วมมือกับพาณิชย์และอุตสาหกรรมจังหวัด
สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตมีดังนี้ บริโภคสดภายในประเทศ 69,102 ตัน ด้วยวิธีกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน
สหกรณ์การเกษตร ตลาดภายในจังหวัดและท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้ง Modern Trade และตลาดออนไลน์/ไปรษณีย์ แปรรูป 269,021 ตัน
ด้วยวิธีการอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง แปรรูป เช่น
การทำน้ำลำไยสกัดเข้มข้น ลำไยกระป๋อง และการส่งออกลำไยสด 47,942 ตัน ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้เตรียมเสนอแนวทางการกำกับ ติดตาม
เฝ้าระวังผลผลิตลำไยปริมาณมาก (ช่วง Peak) ปี 2563 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ให้ความเห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น