วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. เกษตร ผลิต ‘เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU’ เวอร์ชั่นล่าสุด เครื่องมือสร้างอาชีพที่ยั่งยืน



อาหารปิ้ง ย่าง เป็นอาหารการกินที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และได้รับความนิยมทุกระดับกลุ่มผู้บริโภค ร้านอาหารปิ้ง ย่าง มักจะเลือกใช้เตาปิ้งย่างที่ใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะได้กลิ่นหอมจากถ่าน แต่ปัญหาที่พบคือ ถ่านเชื้อเพลิงกระจายตัวในเตาไม่สม่ำเสมอ ทำให้การสุกของอาหารแต่ละชิ้นสุกไม่พร้อมกัน “เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU” เวอร์ชั่นล่าสุด ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการ และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ผลงานวิจัยและพัฒนาของ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิต และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยได้แก่ นายธนัตถ์ ศรีสุขสันต์ และน.ส.ต้องใจ สัตราศรี ซึ่งทำการพัฒนาทุกองค์ประกอบตั้งแต่ การพัฒนาสูตรหมักไก่ย่าง กระบวนการใช้งานเตา การพัฒนาสูตรน้ำจิ้มไก่ย่าง และปลาเผา ไปจนถึงการทดลองประกอบธุรกิจจริง (ออกขายอาหารปิ้งย่าง ตามตลาดนัด) รวมถึงการออกงานเพื่อการเผยแพร่ผลงานและทดสอบการตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค


            ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU ประกอบด้วย แผ่นสเตนเลส ฉนวนความร้อน สำหรับห่อหุ้มสเตนเลส (ฉนวนเส้นใยเซรามิคทนความร้อนได้มากกว่า 600 องศาเซลเซียส) กระจกสำหรับปิดเตาย่าง (กระจกทนความร้อน 500 องศาเซลเซียส) มอเตอร์ไฟฟ้า และพัดลมดูดอากาศ ทำการออกแบบเป็นถังรูปทรงกระบอก ขนาด กว้างxยาวxสูง = 844 x 890 x 1,640 มิลลิเมตร ด้านนอกเตาย่าง หุ้มด้วยฉนวนกันความร้อน พร้อมติดระบบดูดควันสำเร็จรูปในตัวมีฝาปิดไม่ให้ ควันออก ตัวเตาย่างจะวางขนานกับพื้น ตั้งอยู่บนขาตั้งที่แยกออกจากกันได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้าย ภายในเตาย่างทรงกระบอก จะมีวงล้อที่มีเดือย 6 รู รอบวง เพื่อรองรับการเสียบของแกนเหล็กสเตนเลสสำหรับใส่อาหารที่จะย่าง คือ ไก่ หรือ ปลา ในเตานี้จะมีแกนเหล็กทั้งหมด 6 แกน 1 แกนเหล็ก จะใส่ไก่ได้ 2 ตัว สามารถย่างไก่ได้ครั้งละ 12 ตัว (ปลาเผา 1 ตัว ต่อ 1 แกนเหล็ก) โดยวงล้อจะหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า



             นอกจากนี้ ยังมีถาดสำหรับใส่ถ่านเชื้อเพลิง 2 ถาด ภายในเตาย่างมีถาดใส่ถ่านเชื้อเพลิง 1 ถาด พร้อมล้อเลื่อนเพื่อความสะดวกในการดึงออกมาเปลี่ยนถ่านเชื้อเพลิง โดยจะอยู่ตรงแกนกลางของเตาย่างทรงกระบอก ส่วนอีก 1 ถาดสำหรับใส่ถ่านเชื้อเพลิงจะอยู่ด้านล่างนอกเตาย่าง เวลาย่างไก่จะได้รับความร้อนและสุกพร้อมกัน ทั้ง 2 ด้าน โดยไม่เสียเวลาในการพลิกไก่

การทำงานของ เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU’ ขณะย่างไก่ เมื่อไก่หมุนมาอยู่ในตำแหน่งแนวดิ่ง น้ำมันจากไขมันของไก่ในช่วงนี้ จะหยดใส่ผนังเตา แล้วน้ำมันจะไหลลงไปยังร่องเอียง เพื่อลำเลียงน้ำมันไปในถังใส่น้ำมันทั้ง 2 ด้านของเตา โดยน้ำมันดังกล่าวจะไม่หยดใส่ถ่านเชื้อเพลิงที่อยู่นอกเตาย่าง ทำให้ไม่มีควัน ส่วนฝาปิด-เปิดเตาทำด้วยกระจกจึงมองเห็นไก่ย่างภายในเตา เพื่อสังเกตอาหารที่ย่างว่าสุกหรือยัง มีปุ่มสวิตช์สำหรับปิด-เปิดพัดลมดูดอากาศ และมีปุ่มสวิตช์สำหรับปิด-เปิดมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อหยุดการหมุนของวงล้อ เพื่อที่จะดึงแกนเหล็กนำไก่ที่สุกแล้วออกจากเตา หรือนำไก่ดิบเสียบในแกนเหล็กใส่เข้าไปในเตาย่าง ส่วนระบบดูดควันสามารถดูดควันได้เกือบ 100% และสามารถต่อท่อดูดควันออกไปนอกร้านได้


             จุดเด่นของ “เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU” สามารถย่างไก่สุกทั่วถึงภายในโดยที่ยังคงความชุ่มฉ่ำและมีรสชาติดี หนังกรอบ ที่สำคัญไม่เกิดรอยไหม้ ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารย่างที่สดใหม่ต่อเนื่องทุก 6 - 8 นาที ประหยัดถ่านเชื้อเพลิงได้มากกว่าเตาย่างแบบเปิดทั่วไป 2 - 3 เท่า โดยไก่ย่างจะใช้เวลาในการย่าง 30 - 45 นาที ส่วนปลานิลเผา ใช้เวลา 10 - 12 นาที สามารถย่างไก่และปลาเผาได้ 20 ตัว / ชั่วโมง และที่สำคัญคือ ลดการใช้แรงงานมีความสะดวกสบาย ลดความร้อน และขนย้ายสะดวก

ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ “เตาย่างกึ่งอบไร้ควัน KU” สำหรับย่างไก่ ปลา และอาหารอื่น ๆ ติดต่อได้ที่ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทรศัพท์ 08 1927 0098 และคุณธนัตถ์ ศรีสุขสันต์ โทรศัพท์ 08 3030 6609



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...